วิชาชีวิตของ "รุย ฮาจิมูระ" : นักบาส NBA ชาวญี่ปุ่นที่สื่ออเมริกันเปรียบกับ "คาวาย"

วิชาชีวิตของ "รุย ฮาจิมูระ" : นักบาส NBA ชาวญี่ปุ่นที่สื่ออเมริกันเปรียบกับ "คาวาย"

วิชาชีวิตของ "รุย ฮาจิมูระ" : นักบาส NBA ชาวญี่ปุ่นที่สื่ออเมริกันเปรียบกับ "คาวาย"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

การเป็นลูกครึ่งในญี่ปุ่นนั้นเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเจอกับการโดนรังแกและโดนเหยียดเชื้อชาติอยู่เป็นประจำ ยิ่งหากสีผิวต่างจากชนส่วนใหญ่ของประเทศชีวิตมันก็ยิ่งยากขึ้น... หลายคนไม่สามารถรับมือได้ไหว แต่ก็มีอีกมากที่สามารถเอาชนะการดูถูกและต่อต้านเหล่านั้นได้

นี่คือเรื่องราวของนักบาสเกตบอลลูกครึ่ง ญี่ปุ่น-เบนิน ที่เจอสายตาเย็นชาจากเพื่อนร่วมห้อง และโดนต่อต้านจากการให้เข้าสนามบาสท้องถิ่น ชายเชื้อสายแอฟริกันผู้คิดว่าตัวเองเป็นคนญี่ปุ่น แต่กลับคิดว่าประเทศญี่ปุ่นไม่ได้เหมาะกับคนอย่างเขา

 

รุย ฮาจิมูระ เจ้าของดราฟต์รอบแรก อันดับ 9 ใน NBA ฤดูกาล 2019 ที่ถูกสื่อใหญ่อย่าง ESPN บอกว่าเหมือนกับ คาวาย เลียวนาร์ด MVP ในรอบชิงชนะเลิศฤดูกาลที่ผ่านมาไม่มีผิด

เรื่องราวของเขาทรงพลังพอที่จะให้นักข่าวจากญี่ปุ่นหลายสิบชีวิตยอมเดินทางไกลหลายพันกิโลเมตรเพื่อมาทำข่าวความสำเร็จของเขาถึงสหรัฐอเมริกา... รุย ผ่านเรื่องราวทั้งหมดนั้นมาได้อย่างไร ติดตามได้ที่นี่

ฮะฟุ... 

ชีวิตลูกครึ่งในสังคมญี่ปุ่นถือว่าเป็นอะไรที่แตกต่างจากชาติในเอเชียอื่นๆ เพราะที่นี่มีถึง 98.5% ของประชากรทั้งหมดที่เป็นเชื้อชาติญี่ปุ่น ดังนั้นอีก 1.5% ที่เหลือนั้นคือพลเมืองที่ถูกมองว่าแปลกแยกแตกต่าง และในความแตกต่างนี้เองที่ทำให้ชีวิตของเหล่าลูกครึ่งไม่ถูกยอมรับจากคนส่วนใหญ่

 1

หากโตขึ้นมาหน่อยและเข้าใจสัจธรรมที่แท้จริงว่าทุกคนคือคนเหมือนกันมันก็คงไม่รู้สึกแย่อะไรนัก แต่สำหรับเด็กลูกครึ่งที่กำลังเปลี่ยนวัยจากวัยเด็กเข้าสู่วัยรุ่นมันเลี่ยงไม่ได้เลยที่เขาจะตกเป็นเป้าสายตา และมักจะโดนรังแกเป็นประจำ ซึ่งตัวของ รุย ฮาจิมูระ ว่าทีนักบาส NBA คนนี้ก็หนีไม่พ้น

รุย คือลูกชายของ มากิโกะ แม่ชาวญี่ปุ่นและ ซาการี่ พ่อที่เป็นชาวเบนินจากทวีปแอฟริกา เขาลืมตาดูโลกในปี 1998 ซึ่งถือว่าเป็นปีที่สังคมยังเป็นระบบอนาล็อกไม่เปิดกว้างเหมือนกับทุกวันนี้ ดังนั้นพ่อและแม่ของเขาจึงตั้งชื่อว่า "รุย" ซึ่งในภาษาญี่ปุ่นมีความหมายว่า "ป้อมปราการ" ชิวิตของเด็กน้อยคนนี้ได้สะท้อนออกมาตั้งแต่ชื่อที่พ่อแม่ตั้งให้แล้ว เพราะเจ้าหนูป้อมปราการคนนี้จะต้องเจอกับการเหยียดเชื้อชาติทันทีที่จำความได้  

"ผมคิดว่าพ่อผมเป็นคนดำคนเดียวในประเทศญี่ปุ่น เพราะเราดูแปลกมาก 'แกมันคนดำนี่หว่า ไสหัวไปเลยนะ' นี่คือคำที่ผมได้ยินตอนที่ผมจะไปขอเพื่อนๆเล่นบาสเกตบอลด้วย" เขาเล่าชีวิตวัยเด็กให้กับ Bleacher Report  

"พวกเขาอาจจะมองผมแตกต่าง แต่ช่างเถอะผมชินกับมันแล้ว คงเป็นเพราะพวกเขาไม่เคยเห็นคนผิวสีอย่างผมมากนัก แต่ประสบการณ์ในช่วงมัธยมที่ดีๆก็มี ทุกคนดีกับผมมากเหมือนกัน"

 2

ไม่ว่าจะคนดังคนใดก็ตามที่มีเชื้อสายแอฟริกันในญี่ปุ่นพวกเขามักจะเล่าไปในทิศทางเดียวกันหมด คนกลุ่มนี้จะถูกชาวญี่ปุ่นเรียกกันว่าพวก "ฮะฟุ" (Hafu) และส่วนใหญ่ ฮะฟุ จะเป็นเป้าสายตาดึงดูดสิ่งต่างๆ เสมอ...

หากยังจำกันได้ในปี 2015 ที่ อาเรียนา มิยาโมโตะ ผู้เข้าประกวดนางงามจักรวาลของญี่ปุ่นที่เป็นลูกเสี้ยวแอฟริกัน-อเมริกัน ยังเคยเล่าว่าแม้เธอจะเป็นเด็กผู้หญิงแต่การโดนรังแกก็ไม่ต่างกับการที่เป็นเด็กผู้ชายเลย หนำซ้ำเด็กผู้ชายนี่แหละที่เป็นฝ่ายแกล้งเธอเสียส่วนใหญ่ ไม่ใช่ผู้หญิงด้วยกัน... 

"ฉันเคยถูกกลั่นแกล้งมาตั้งแต่เด็ก ฉันต้องมีจิตใจที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นไว้คอยปกป้องฉัน ตอนฉันยังเด็ก ฉันดูต่างจากคนอื่นๆ และรู้สึกว่าตัวเองจะต้องเข้ากับทุกๆคนให้ได้ ฉันพยายามที่จะไม่ตกเป็นจุดสนใจ... ฉันต้องการจะปฎิวัติเรื่องนี้" มิยาโมโตะ กล่าว  

การจะก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ได้เด็กๆ ฮะฟุทั้งหลายจะต้องมีสถาพจิตใจที่แข็งแกร่งเป็นสารตั้งต้น จากนั้นตามด้วยการใช้สิ่งที่ตัวเองมีทำให้มันเป็นสิ่งที่เหลือเชื่อจนคนที่เคยเหยียดทั้งหลายอดรนทนไม่ไหวที่จะลุกปรบมือให้ ซึ่งตัวของรุยนั้นเข้าใจตรงจุดนี้ดี เขาต้องการหาที่พึ่งสักทางเพื่อใช้มันกลายเป็นอาวุธในการรับมือการปฎิบัติที่ไม่ควรเกิดขึ้นนี้ 

แรกเริ่มเดิมทีเขาเป็นแฟนเบสบอลเหมือนกับคุณตาของเขา มันจึงทำให้เขาหัดเล่นในตำแหน่งพิทเชอร์ก่อน ทว่าหลังจากนั้นไม่นาน เมื่อเขาได้หนังสือการ์ตูนเรื่อง "สแลมดังค์" ซึ่งพอเขาเริ่มเปิดอ่านก็เริ่มหลงรักกีฬาบาสเกตบอลในทันที และที่สำคัญคือเขาอยากจะเป็นนักบาสจริงๆ ขึ้นมาด้วย

เก่งให้ถึงที่สุด

ร่างกายของเขาสูงใหญ่ตามแบบฉบับคนแอฟริกัน ตัวของรุยนั้นได้เริ่มเข้าทีมบาสของโรงเรียนโทยามะสมัยมัธยมต้น และท็อปฟอร์มจนถูกโรงเรียน ม.ปลายเมเซ ดึงตัวไปร่วมทีม 

 3

ครั้งแรกในการซ้อมระดับไฮสคูล โค้ชโจจิ ซากาโมโตะ เห็นลีลาของรุย และรู้สึกทึ่ง หลังจากการซ้อมทีมครั้งแรกเสร็จสิ้นลง เขาเดินไปชี้หน้าของรุยและพูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า "แกจะได้ไปเล่น NBA"

แม้จะเป็นคนเชื้อสายแอฟริกัน แต่สำหรับตัวของรุยนั้น เขาคือชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งนั่นแหละ... เขามีความเชื่อที่ว่า NBA เป็นลีกที่มาตรฐานสูงมาก และในประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่นก็มีรุ่นพี่ที่เคยไปถึงระดับ NBA เพียงแค่ 2 คนเท่านั้นนั่นคือ ยูตะ ตาบุเสะ ที่เคยเล่นให้กับทีมฟีนิกซ์ ซันส์ เมื่อ 10 กว่าปีก่อน และ ยูตะ วาตานาเบะ ที่เล่นให้กับเมมฟิส กริซลี่ย์ส ความที่ทั้งสองไม่ได้โดดเด่นอะไรนักในลีกอันดับ 1 ของโลก เขาจึงมีความคิดว่าคงยากเกินกว่าที่จะไปถึง... แต่ก็ไม่เสียหายอะไรที่จะลองดู

"โค้ชชี้มาที่ผมและบอกว่าผมจะได้ไปเล่นใน NBA ตอนนั้นผมยังโง่อยู่และผมก็เชื่อที่เขาบอก แต่สำหรับโค้ชโจจินั้นเขาเอาจริงเอาจังกับสิ่งที่พูดแบบสุดๆ เขาซีเรียสกับพัฒนาการของผม และมันทำให้ผมจำเป็นต้องเชื่อเขาแบบสุดหัวใจ ทั้งๆที่มันเป็นเรื่องที่บ้ามากๆ" เขาเปิดใจแบบที่ยังไม่อยากจะเชื่อตัวเอง

 4

ท้ายที่สุด เมื่ออยู่กับโค้ชที่บ้าพอและเขาก็พร้อมจะบ้าตาม รุย ฮาชิมุระ พัฒนาการเล่นของตัวเองได้ไวมาก ทั้งๆที่หัดเล่นบาสตอนอายุ 13 ปี ช่วงเวลาหลังจากนั้นเขาก็สามารถกลายเป็นผู้เล่นประวัติศาสตร์ของโรงเรียนเมเซ ที่สามารถพาทีมคว้าแชมป์รายการชิงแชมป์ประเทศ หรือ "อินเตอร์ไฮ" ได้ถึง 3 สมัยซ้อน ซึ่งการได้แชมป์รายการนี้เป็นเหมือนการไล่ตามฝันของตัวเองสำเร็จแบบกลายๆ เพราะในเรื่องสแลมดังค์นั้น "อินเตอร์ไฮ" คือรายการทีมทีมโรงเรียนตัวเองของเรื่องอย่าง โชโฮคุ ทุ่มเททุกสิ่งที่มีเพื่อไปให้ถึงจุดนั้น แม้ในที่สุดแล้งทีมโชโฮคุจะพลาดเป้าไปพร้อมกับการตัดจบก็ตาม

ในช่วงเวลาแห่งความสุขและการเป็นผู้เล่นแถวหน้า แต่เรื่องของการเหยียดเชื้อชาติและเหยียดผิวในสังคมญี่ปุ่นก็ยังคงมีให้เห็น รุยต้องเจอกับสายตาที่แปลกประหลาดอยู่เสมอ แต่ถึงอย่างนั้นเรื่องมันก็ไม่ได้ทำร้ายเขาเรื่องความรู้สึกอะไรมากมายนัก เพราะรุยมีภาพจำในสมองอยู่ตลอดกาลถึงที่ที่เขาควรจะไปล่าความยิ่งใหญ่ และเขาคิดว่ามันจะเหมาะกับเขาที่สุด... ไม่ใช่ญี่ปุ่นไม่ดี แต่ที่นี่คือที่ที่จำเป็นต้องไป และที่แห่งนั้นคือมหานครนิวยอร์ค สหรัฐอเมริกา ดินแดนแห่งเสรีภาพและเปิดกว้างในทุกความหลากหลาย

12 ขวบ ณ นิวยอร์ค 

รุย เริ่มหัดเล่นบาสตอนอายุ 13 ปี ทว่า 1 ปีก่อนหน้านั้นเขาได้ไปที่นิวยอร์ค และมันเปิดโลกทัศน์ของเขาอย่างแท้จริง นี่คือมนุษย์ทุกเชื้อชาติเดินผ่านกันไปเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น ทุกคนเป็นคนเหมือนกัน... ไม่ว่าจะผิวสีอะไร และหน้าตาแบบไหนก็ตาม

 5

รุย เดินทางไปพักร้อนที่นิวยอร์คกับครอบครัว ในวันแรกพวกเขานั่งแท็กซี่ชมรอบเมืองนี้ แสงไฟและวิถีชีวิตทำให้รุยตาลุกวาว เมื่อถึงที่พัก ครอบครัวของเขาจะพักผ่อนสักงีบหลังเดินทางมาร่วม 20 ชั่วโมง แต่ตัวของรุยตื่นเต้นเกินกว่าจะหลับตาลงได้ แม้จะอ่อนเพลียแค่ไหนเขาจะต้องไปสัมผัสชีวิตนิวยอร์คเกอร์ด้วยตนเองสักครั้ง... เขาเดินออกจากห้องและเริ่มเร่งฝีเท้าขึ้นเรื่อยๆ โดยเป้าหมายของเขาอยู่ที่ "ไทม์สแควร์" โลเคชั่นระดับไฮไลต์ของนิวยอร์ค 

เมื่อมายืนใจกลางไทม์สแควร์ เขาเพิ่งเข้าใจว่าเขาไม่ได้ตื่นเต้นกับดวงไฟสวยๆอะไรพวกนั้นหรอก เพราะที่ญี่ปุ่นเองก็มีย่านเมืองที่พลุกพล่านแบบบนี้ แต่เมื่อคนแล้วคนเล่าเดินผ่านเขาไปแบบไม่ได้สนใจเขา เมื่อนั้นเองมันทำให้เขารู้สึกสบายใจอย่างประหลาด เพราะหากเป็นที่ญี่ปุ่นเมื่อเขาเดินผ่านใครสักคน ส่วนใหญ่คนๆนั้นจะมองเหลียวหลัง ซึ่งพวกเขาคิดอย่างไรในใจนั้น ตัวของรุยก็ไม่ทราบ แต่เขาแค่รู้สึกว่ามันอึดอัดเกินไปเท่านั้นเอง

"ผู้คนในนิวยอร์คมีความหลากหลายทางเชื้อชาติมากๆ คนญี่ปุ่นคล้ายๆกันหมด แต่ที่นิวยอร์คทุกคนแตกต่าง แต่สามารถอยู่ร่วมกันได้ เอาจริงๆ ผมแค่เดินไปตามถนนผมก็สนุกแล้ว มันคือสิ่งที่ใหม่สำหรับผมมากๆเลย" รุยเล่าถึงตัวเองตอนอายุ 12 ปี และตั้งแต่ตอนนั้นเขาคิดว่าไม่ทางใดก็ทางหนึ่งเขาจะต้องกลับมาอเมริกาให้ได้อีกสักครั้งในอนาคต

 6

ตัวของรุยเองนั้นหลังจากกลับมาก็พยายามที่จะยิ้มแย้มและอัทธยาศัยดีกับทุกคน แต่ภายใต้รอยยิ้มเขารู้ว่าคนอื่นๆ รู้สึกเย็นชากับเขาตลอด สิ่งเหล่านี้มันเป็นอะไรที่สามารถสัมผัสได้แม้ไม่มีคำพูดอธิบาย มันเกิดขึ้นจากหลายๆคน ไม่ว่าจะเป็นเพื่อนร่วมห้อง หรือแม้แต่ตอนที่เขากลายเป็นนักบาสเกตบอลดาวรุ่งอันดับ 1 ของประเทศก็ตาม 

"สายตาผู้คนมากมายยังคงมองผมเหมือนเป็นตัวอะไรสักอย่าง และมันคือส่วนหนึ่งที่ทำให้ผมอยากจะไปล่าฝันที่อเมริกาด้วยตนเอง เพราะที่อเมริกาทุกคนแตกต่างกันหมด แต่สามารถอยู่ด้วยกันได้ และผมคิดว่านั่นแหละคือที่ของผม" 

ในวันที่เขาคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมของประเทศญี่ปุ่น ฝันของเขาก็เดินทางมาหาแบบไม่ได้ตั้งตัว โค้ชโยสุเกะ ทากาฮาชิ บอกว่าทางมหาวิทยาลัยกอนซาก้า ต้องการดึงตัวเขาไปร่วมทีม... คำแรกที่รุยถามคือ "อะไรคือกอนซาก้า?" เขาไม่รู้จริงว่ามันคือโรงเรียนใดในประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งโดนเฉลยว่า "ทีมมาจากมหาวิทยาลัยในอเมริกา" เท่านั้นแหละ รุยแทบจะเก็บกระเป๋าพร้อมบินตั้งแต่คืนนั้นเลยทีเดียว

วิชาชีวิต 

รุยเดินทางมาถึงรัฐวอชิงตันทางตะวันตกเฉียงเหนือของอเมริกาในปี 2016 ที่แห่งนี้เขาได้พบกับคนอื่นๆที่เหมือนกับตัวเขามากมาย ทว่าเมื่อลองใช้ชีวิตในต่างแดนดูแล้วเขาก็รู้สึกว่ามันไม่ได้ง่ายเลย

 7

ตัวของรุยนั้นพอพูดภาษาอังกฤษได้ แต่มันเป็นการพูดและคุยด้วยคำศัพท์ง่ายๆ และกำแพงภาษาถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะแค่กระดาษกรอกใบสมัครเพียงใบเดียวที่คนอื่นใช้เวลาเพียง 10 นาทีก็กรอกเสร็จแล้ว แต่สำหรับตัวของรุย เขาใช้เวลาถึง 4 ชั่วโมงเพื่อกรอกข้อมูลครบทุกช่อง

เขาบอกว่าเจอคำศัพท์เฉพาะทางอย่างคำศัพท์ทางการแพทย์เช่น "Family history of cardiovascular disease" (มีสมาชิกคนไหนในครอบครัวที่มีประวัติเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือดหรือไม่) เป็นต้น อย่างไรก็ตาม รุยยังพอโชคดีอยู่บ้างที่ในเวลาไล่เลี่ยกันทีมกอนซาก้า บูลด็อกส์ รับสมัครพนักงานจัดการเรื่องวีดีโอมาใหม่ และเขาคนนั้นดันเป็นลูกครุึ่งญี่ปุ่น-อเมริกัน ที่พูดได้คล่องแคล่ว 2 ภาษาพอดี จึงทำให้รุยได้เรียนรู้อะไรจาก "เคน นากาซาว่า" เจ้าหน้าที่ของทีมคนนี้เยอะมาก 

นากาซาว่า เกิดที่แอลเอ ด้วยความที่คล่องทั้งภาษาพ่อและภาษาแม่ เขาก็อาสาเป็นพี่เลี้ยงให้กับรุย เพราะเขาเชื่อว่าการจะเอาตัวรอดในการแข่งขันบาสของอเมริกาได้ ทักษะทางภาษาของรุยที่ใช้ได้แต่ภาษามือและคำที่แปลมาจาก Google นั้นคงไม่พอ และไม่แคล้วจะต้องกลับญี่ปุ่นแต่หัววันแน่นอน 

ทั้งคู่ทำงานร่วมกันอยู่พักใหญ่ มันนานจนรุยสามารถเดินไปตามท้องถนนเพื่อหากินเบอร์เกอร์ หรือพิซซ่าอร่อยๆ กินเองได้ด้วยตัวเดียว และตัวของนากาซาว่า ยังบอกกับรุยเสมอว่า อยู่ที่นี่จงอย่าทำเป็นเล่นเด็ดขาด และจงเป็นส่วนหนึ่งของทีมให้ได้ 

 8

รุยเองไม่ใช่คนเข้าใจอะไรยากและเป็นเด็กที่อยากจะพิสูจน์ตัวเองอยู่แล้ว เขาจึงมีวินัยมากเป็นพิเศษมากกว่าใครๆในทีม โดยเขาจะตื่นตั้งแต่ 7 โมงเช้าเพื่อมาเล่นเวทเทรนนิ่งจนกระทั่งเข้าเรียนคาบแรกตอน 9 โมงเช้าถึงเที่ยง หลังจากนั้นบ่ายโมงถึงบ่าย 3 จะเป็นการลงซ้อมในสนาม ซึ่งแรกๆ รุยยอมรับว่าโค้ชมาร์ค ฟีว ตะโกนใส่หน้าเขาทั้งวัน แต่เขาก็ผ่านมันมาได้ ไม่ใช่เพราะว่าเขายอมรับคำด่าและเอาแก้ไขได้ทั้งหมดหรอก แต่มันเป็นเพราะบางครั้งเขาก็โดนด่ารัวจนแปลไม่ทันว่าโค้ชด่าอะไรเขากันแน่

หลังจากซ้อมเสร็จ เขาจะเริ่มกินข้าวเย็นให้เรียบร้อย เพื่อกลับมาซ้อมคนเดียวอีกครั้งในช่วง 3 ทุ่มถึง 4 ทุ่ม ตารางชีวิตแบบนี้ถือว่าหนักหนาสาหัสมาก เขาต้องเรียนไปด้วย เล่นกีฬาไปด้วย และฝึกวิชาชีวิตไปพร้อมๆกัน สิ่งที่รุยทำนั้นถูกสังเกตโดย สเตฟฟานี่ กัลเบรธ ผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการของทีมนักกีฬามหาวิทยาลัยเข้าอย่างจัง และเธอก็รู้ด้วยว่ารุยเหนื่อยมาก ถ้าหากไม่ได้รับการช่วยเหลือ เด็กหนุ่มคนนี้จะต้องหมดความอดทนไม่ในวันใดก็วันหนึ่ง เธอจึงอนุญาตให้เขาดูรายการ Terrace House ซึ่งเป็นเรียลริตี้โชว์ของญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียง โดยแลกการดู 1 เทป ต่อการเข้าเรียนครึ่งชั่วโมง เหตุผลที่เธอช่วยนั้นง่ายนิดเดียว...

"รุยเป็นนักเรียนต่างชาติที่มีค่าที่สุดที่เราเคยมี เขาพัฒนาขึ้นมากจริงๆ จากวันแรกที่เขามาถึง" สเตฟฟานี่ กล่าว  

ไม่ใช่แค่ผู้ใหญ่เท่านั้นที่ยอมรับเขา เพื่อนๆทุกคนในทีมต่างเห็นเขาเป็นคนสำคัญ เนืองจากตัวเขาเองที่เลือกเข้าหาเพื่อนๆ แม้จะสื่อสารได้บ้างไม่ได้บ้าง แต่เมื่อเป็นเพื่อนกันแล้ว มิตรภาพก็กลายเป็นครูฝึกภาษาชั้นดีให้กับเขา โดยมีอุปกรณ์ช่วยฝึกชิ้นสำคัญอย่างดนตรีแร็ป...

 9

"เราพยายามช่วยเหลือฮาจิมูระ เราบอกให้เขาลองเรียนภาษาอังกฤษจากการฟังเพลงแร็ป, ดู Netflix แล้วก็เล่นวีดีโอเกมมากๆเข้า" จอช เพอร์กิน เพื่อนร่วมทีมและเพื่อนร่วมชั้นเรียนกล่าว

"พวกเราทุกคนพยายามเอารุยมาอยู่ให้ใกล้ชิดกับเพื่อนๆให้มากที่สุด เพราะมันคือวิธีที่ดีที่สุดที่คุณจะสื่อสารกับใครสักคน ผมบอกให้เขาฟังเพลง 21 Savage แล้วก็ Drake แล้วเขาจะได้รู้ถึงความหมายของแต่ละคำจริงๆ ซึ่งตอนนี้ผมว่าเขาน่าจะพูดอังกฤษได้เก่งกว่าผมแล้วนะ"

นอกจากภาษาแล้ว รุยยังเจอเซอร์ไพรส์อีก 1 เรื่อง นั่นคือการมาที่อเมริกาทำให้เขาได้เรียนรู้วัฒนธรรมของชาวแอฟริกัน-อเมริกัน อย่างแท้จริง สิ่งเหล่านี้เขาไม่เคยเจอเลยที่ญี่ปุ่น ที่อเมริกามันแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

"ผมเริ่มชอบดนตรี, อาหาร หลังจากนั้นไม่นานนัก ชาวแอฟริกัน-อเมริกันมีความมั่นใจเป็นธรรมชาติ สิ่งนี้เองที่มันทำให้ผมปรับตัวได้ดีอย่างไม่น่าเชื่อ"

วิชาผู้ชนะ 

พรสวรรค์คงไม่มีอะไรเลยหากปราศจากซึ่งความอดทน รุยเองน่าจะเข้าใจเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะฤดูกาลแรกกับกอนซาก้า เขาทำแต้มเฉลี่ยได้แค่เกมละ 2.6 คะแนน และมีเวลาเล่นเฉลี่ยเพียงแค่ 4.6 นาทีต่อเกมเท่านั้น แม้เขาจะไม่ได้ออกฉากกลางสปอตไลท์ แต่ก็เริ่มมีนักข่าวจากญี่ปุ่นเดินทางข้ามทวีปมาทำข่าวเขามากขึ้นเรื่อยๆ  

 10

ผู้ช่วยโค้ชอย่าง ทอมมี่ ลอยด์ พยายามบอกกับรุยเสมอว่าอดทนเข้าไว้ อย่าเครียดกับสิ่งที่เกิดขึ้น สิ่งที่ทีมต้องการคือแชมป์ของประเทศอเมริกา ดังนั้นจงรักษาตัวไว้ให้ดี วันไหนที่เขาพร้อมที่สุด ทีมก็จะต้องการเขามากที่สุดเช่นกัน 

สตีฟ มิลส์ ประธานของทีมนิวยอร์ค นิคส์ ยืนยันว่าเขาเป็นอีกคนที่ตามติดสถานการณ์ของรุยมาพอสมควร ในปีแรกๆ เขามีความคิดจะเลือกดราฟต์รุยเข้าทีม แต่ที่สุดแล้วเขายังเชื่อว่ามันยังไม่ถึงเวลาอันสมควร รุยจะต้องพร้อมให้มากที่สุดเหมือนที่โค้ชของกอนซาก้าบอก

"รุยดีขึ้นทุกปีเลย แต่ยังไม่ได้มาตรฐานที่เราต้องการ เขามีการรับรู้กับเกมที่สุดยอดและเป็นเพลย์เมคเกอร์รวมถึงตัวถือบอลที่ดี แต่เขายังต้องดีมากกว่านี้อีกในอนาคต ผมว่าเขาเล่นใน NBA ได้แน่" มิลส์ กล่าว 

และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ เมื่อเขาเริ่มพร้อมมากขึ้น "โค้ชฟีว" ก็ส่งเขาลงสนามมากขึ้น เขาเริ่มทำแต้มเฉลี่ยเพิ่มเป็น 11.6 แต้มต่อ 1 เกม และลงเล่นเกมละ 20 นาทีโดยเฉลี่ย ขณะที่ปีที่ 3 นั่นแหละความพีคก็บังเกิด ทั้งด้านรูปร่าง, ทักษะ และความเข้าใจเกม รุยมีส่วนสูงเพิ่มเป็น 203 เซนติเมตร และความเร็วกับความแข็งแกร่งของเขายังไม่ธรรมดาในระดับที่สามารถวัดกับทุกคนในรุ่นเดียวกันได้ แม้แต่ทีมมหาวิทยาลัยดุ๊ก ที่มีปีศาจตัวใหม่อย่าง ไซออน วิลเลี่ยมสัน ก็ยังเคยพ่ายแพ้ให้กับทีมกอนซาก้า ของ รุย ฮาจิมูระ มาแล้ว

 11

ชอนซีย์ บิลอัพส์ อดีตนักบาสระดับแชมป์ NBA และนักวิเคราะห์ของช่อง ESPN ที่ตามจับตาดูลีลาของรุยมาตลอดทั้งฤดูกาล ยอมรับว่าเขาทึ่งกับสิ่งที่ดาวรุ่งคนนี้ทำ แม้ราศีซูเปอร์สตาร์ของยุคจะตกเป็นของไซออน ที่ได้พื้นที่สื่อมากกว่า แต่บิลอัพส์ เชื่อว่าภายในตัวของ รุย ฮาจิมูระ คนนี้มีความแข็งแกร่งที่ยิ่งใหญ่ซ่อนอยู่ และจะแสดงออกมาในวันที่ทีมต้องการมันมากที่สุด เขาเชื่อว่านี่คือสิ่งเดียวกับที่เจ้าของรางวัล MVP ของ NBA ไฟนอลส์ อย่าง คาวาย เลียวนาร์ด เป็น 

"ใครเหมือนกับ รุย ฮาจิมูระ ที่สุดเหรอ? ผมพูดแบบไม่อายเลยนะ ผมขอเปรียบเทียบกับ คาวาย เลียวนาร์ด ก็แล้วกัน ไอ้หนุ่มคนนี้คือตัวที่เป็นที่สุดของรุ่นและคาวายก็คือคนที่ดีที่สุดที่ผมจะเปรียบเทียบได้"

ดราฟต์เดย์... วันประกาศความยิ่งใหญ่

ในวันดราฟต์ผู้เล่นของ NBA นั้น ไซออน วิลเลี่ยมสัน กลายเป็นประเด็นใหญ่ของงานที่สื่อทั่วโลกจับตา แน่ล่ะหมอนี่คือยอดผู้เล่นอย่างไม่ต้องสงสัย ตัวใหญ่ รวดเร็ว และมีออร่าความเป็นปีศาจในตัวแบบสุดๆ ทว่าในขณะเดียวกันสื่อญี่ปุ่นไม่ได้สนใจไซออนเลย พวกเขาเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมายังอเมริกาเพื่อชายเพียงคนเดียวเท่านั้น นั่นคือ รุย ฮาจิมูระ นักบาสตัวแทนของชาวอาทิตย์อุทัย ที่กลายเป็นดราฟต์รอบแรกอันดับ 9 ที่ได้ย้ายไปเล่นให้กับวอชิงตัน วิซาร์ดส์  

 12

ไม่เคยมีนักบาสญี่ปุ่นคนไหนที่ถูกทีมจาก NBA ดราฟต์ในรอบแรกมาก่อน และนั่นทำให้รุยคือประวัติศาสตร์ ตอนนี้เด็กญี่ปุ่นกำลังคลั่งไคล้ในตัวเขามากและกีฬาบาสเกตบอลกำลังจะกลับมาบูมอีกครั้งเพราะเขา ซึ่งสำหรับรุยแล้ว การเป็นที่ชื่นชมนั้นย่อมเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้ว แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือเขาได้พิสูจน์ตัวเองและทำให้ "ฮะฟุ" หรือเด็กลูกครึ่งผิวสีในญี่ปุ่นรู้ว่า อย่ายอมแพ้ต่อคำเหยียดหยาม พยายามเข้าไปทุกอย่างสามารถเปลี่ยนแปลงได้ด้วยพลังของพวกเขาเอง

"มีเด็กลูกครึ่งผิวสีที่ญี่ปุ่นหลายคนกำลังดูผมอยู่ ผมรู้แน่ว่าพวกเขาจะต้องดูผม เด็กๆพวกนี้มีเรื่องจะต้องท้าทายมากมาย โดยเฉพาะเรื่องของกีฬา ไม่ใช่แค่บาสเกตบอล แต่กีฬาอะไรก็ช่าง จงทำให้เต็มที่ "

"ผมรู้ว่าทุกวันนี้ยังมีการเลือกปฎิบัติต่อเด็กอย่างผม มันไม่ใช่เรื่องโลกแตกอะไรหรอก ผมอยากให้พวกเขาท้าทาย และที่สำคัญเลยคือ ไม่อยากให้พวกเขารู้สึกแย่กับตัวเองที่เกิดมาเป็นแบบนั้น ผมอยากให้พวกเขาสนุกกับชีวิต และสนุกกับกีฬาในประเทศญี่ปุ่นให้เต็มที่... ญี่ปุ่นมีนักกีฬาเก่งๆมากมาย และผมจะเป็นคนต่อไปสำหรับวงการบาสเกตบอล ผมอยากให้เด็กๆผิวสีที่ญี่ปุ่นมองมาที่ผมแล้วคิดในใจว่า สักวันพวกเขาจะต้องเป็นอย่างผมให้ได้" รุย ฮาจิมูระ กล่าวฝากไปถึงเด็กๆ ฮะฟุที่ต้องสู้เหมือนกับที่เขาเคยผ่านมา

 13

ไม่ว่าจะเกิดมาแบบไหน จงใช้การกระทำเป็นสิ่งแสดงจุดยืนของตัวเอง รุยเองเมื่อเข้าใจชีวิตแล้วเขาก็พบว่าการเป็นคนผิวสีในญี่ปุ่นไม่ใช่เรื่องยากเกินอะไร เขาก็แค่เกิดมาแบบนี้ และเขาระลึกเสมอว่าภูมิใจในสายเลือดอีกครึ่งที่เป็นแอฟริกัน และความแตกต่างนั้นเองที่ทำให้เขาก้าวข้ามสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นคนอื่นๆเคยทำได้ 

 14

"ผมภูมิใจเสมอที่เป็นลูกครึ่งญี่ปุ่น-แอฟริกัน คนอย่างผมหายากจะตาย และผมดีใจทุกครั้งที่ผมเกิดมาเป็นแบบนี้" ว่าที่ผู้เล่น NBA หน้าใหม่ในฤดูกาล 2019 กล่าวทิ้งท้าย 

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ วิชาชีวิตของ "รุย ฮาจิมูระ" : นักบาส NBA ชาวญี่ปุ่นที่สื่ออเมริกันเปรียบกับ "คาวาย"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook