"มิดสะดา สายใต้ฟ้า" : ชีวิตและความเป็นอยู่จริงของนักบอลลาวใน จ.ปัตตานี

"มิดสะดา สายใต้ฟ้า" : ชีวิตและความเป็นอยู่จริงของนักบอลลาวใน จ.ปัตตานี

"มิดสะดา สายใต้ฟ้า" : ชีวิตและความเป็นอยู่จริงของนักบอลลาวใน จ.ปัตตานี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ตอนอยู่ที่ลาว ผมเคยได้ยินข่าวเหตุการณ์ระเบิดที่ปัตตานี ยอมรับว่ามีความรู้สึกกลัวมากๆ ใช้เวลาตัดสินใจอยู่ 2 สัปดาห์ กว่าจะตกลงย้ายมาเล่นที่นี่”

ฟุตบอลเป็นกีฬาสากลที่ไม่ว่าจะเป็นคนสัญชาติใด ก็สามารถเล่นได้ ขอเพียงมีลูกฟุตบอล 1 ใบ กับสองเท้าที่พร้อมวิ่งไล่

เมื่อเป็นเช่นนั้น พรมแดนของโลกฟุตบอล จึงไม่ได้ถูกปิดกั้นเพียงเพราะความต่างด้านเชื้อชาติ ภาษา หน้าตา ผิวพรรณ จนเป็นเรื่องปกติที่เราจะได้เห็นนักเตะจำนวนมากละทิ้งชีวิตความเป็นอยู่ในมาตุภูมิ เพื่อออกไปเล่นบอลยังต่างแดน 

อันที่จริง “ดา” มิดสะดา สายใต้ฟ้า (ມິດສະດາ ສາຍໃຕ້ຟ້າ) คงเป็นคนหนึ่งที่มีวิถีทางลูกหนัง เหมือนๆ กับผู้เล่นต่างชาติคนอื่นๆในลีกไทย ที่ลาจากถิ่นฐานบ้านเกิด ออกมาหากินในแผ่นดินสยาม… หากสโมสรที่เขาสังกัดอยู่นั้น ไม่ได้อยู่ใน “จังหวัดปัตตานี”

สำหรับคนไทยที่ไม่เคยมาที่จังหวัดปัตตานี เชื่อว่าย่อมมีความกังวล และหวาดกลัวอยู่บ้าง จากข่าวคราวเหตุการณ์ความไม่สงบ ที่ถูกนำเสนอผ่านสื่อ คำถามคือ ถ้าคนๆนั้นเป็นชาวลาว ชาติที่มีพรมแดนกับประเทศไทยล่ะ? พวกเขาจะรู้สึกเหมือนกับเราไหม 

และนี่คือความบอกเล่าจากปากของ นักฟุตบอลชาวลาว ที่ใช้ชีวิตอยู่ในเมืองปัตตานี เข้าปีที่ 2

สถานีต้นทาง : ปารีส - เวียงจันทน์ 

“สะบายดี ข้าพเจ้าชื่อ มิดสะดา สายใต้ฟ้า ข้าพเจ้าอายุ 32 ปี ข้าพเจ้าเล่นตำแหน่งกองกลาง ข้าพเจ้าเป็นนักเตะลาว” ประโยคแนะนำตัวที่มิดฟิลด์ตัวรับ ปัตตานี เอฟซี เอ่ยกับเรา ในช่วงสายของวันหนึ่ง

 1

เราเดินทางมายังร้านกาแฟแห่งหนึ่งภายในตัวเมืองปัตตานี เพื่อนัดพูดคุยกับมิดสะดา ซึ่งหากดูจากการตกแต่งภายในและบรรยากาศที่นี่ ก็แทบไม่ได้แตกต่างอะไรกับร้านกาแฟสวยๆ ที่เราเคยเห็นมาในกรุงเทพฯ  

ไม่นานนัก แหล่งข่าวสัญชาติลาว ก็หยิบยื่นน้ำใจ ด้วยการเลี้ยงกาแฟผู้สัมภาษณ์ จากนั้นเรื่องราวชีวิตของ นักฟุตบอลคนหนึ่ง ที่อยู่ในช่วงบั้นปลายอาชีพ ถูกฉายภาพออกมาบนโต๊ะกาแฟนี้

“ผมเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่อายุ 5 ขวบ เริ่มจากเตะกับเพื่อนในหมู่บ้าน และในโรงเรียน ไม่ได้จริงจังอะไร เพราะไม่เคยมีใครมาสอน พออายุ 15 ปี พ่อกับแม่ส่งผมไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส พร้อมกับพี่สาว เพราะที่ฝรั่งเศส ระบบการศึกษาดีกว่าประเทศลาว และสมัยเรียนที่ลาว เขาก็สอนให้เด็กรู้จักภาษาฝรั่งเศสด้วย”

“ผมอาศัยอยู่ที่เมืองปารีส บ้านเมืองเขาดีหมดทุกด้าน ผู้คนหลากหลายเชื้อชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้ แต่ตัวผมใช้ชีวิตยากลำบากมาก เพราะผมพูดภาษาฝรั่งเศสได้น้อยมาก เรียนหนังสือไม่รู้เรื่องเลย เพื่อนชาวลาวก็ไม่มี ผมจึงไม่กล้าสื่อสารกับใคร ประมาณ 1 ปี พอเวลาผ่านไป ผมเริ่มสื่อสารได้ จนอายุ 17 ปี มีเพื่อนคนหนึ่งชวนให้ไปคัดตัวเข้าอคาเดมีฟุตบอล”

 2

เซอด็อง (CS Sedan) คือทีมฟุตบอลแห่งหนึ่ง ที่จัดว่ามีชื่อเสียงในฝรั่งเศส และอคาเดมีแห่งนี้ ก็มอบโอกาสให้ เด็กหนุ่มชาวลาวเช่นเขา ได้ฝึกฝนฝีเท้า และเซ็นสัญญาเป็น นักฟุตบอลเยาวชน อยู่ 2 ปี 

ก่อนเจ้าตัวจะออกไปเริ่มต้นอาชีพนักฟุตบอล ในลีกระดับ 5 กับสโมสร เดอ บูร์จช (de Bourges หรือ Bourgers 18 ในปัจจุบัน) และขยับขึ้นเล่นลีกระดับ 4 กับสโมสร โรโมร็องทาร์ (Romorantins) ในปีถัดมา ควบคู่กับการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย 

“รายได้ของผมตอนอยู่ในอคาเดมี ถ้าตีเป็นเงินไทย ก็อยู่ประมาณ 25,000 บาท ช่วงเล่นในลีกระดับ 5 เงินเดือนอยู่ประมาณ 60,000 บาท ส่วนลีกระดับ 4 ผมได้เงินเดือนหลักแสนขึ้น แต่ค่าครองชีพที่นั่นสูงกว่าไทยมาก”

“ไม่ว่าจะยังไง ผมคิดว่าตัวเองพัฒนาด้านฟุตบอลเยอะมาก ในช่วงที่อยู่ฝรั่งเศส แถมยังได้เรื่องการดูแลร่างกายตัวเอง และเรื่องฟิตเนสติดตัวกลับมา สมมุติมีนัดซ้อม 4 โมงเย็น ทุกคนต้องถึงสนามก่อน บ่าย 3 โมง เพื่อมายืด ถ้าสมมุติมาสายสักบ่ายสามโมงครึ่ง โค้่ชจะไล่เรากลับบ้านเลย อีกอย่างที่ทีมให้ความสำคัญมากคือ เรื่องอาหารการกิน ที่เขาใส่ใจ นักเตะทุกคนห้ามกินของ จั๊งค์ ฟู๊ด (Junk Foods)” 

 3

มิดสะดา ปรับตัวเข้ากับฝรั่งเศสได้อย่างกลมกลืน จากเด็กชายวัย 15 ปีที่ไม่กล้าแม้แต่จะสื่อสาร เขาเติบโตเป็นคนหนุ่มเต็มตัว ที่หาเลี้ยงชีพด้วยการเล่นฟุตบอล แต่เส้นทางของเขาในฝรั่งเศส ก็ต้องสิ้นสุดลงอย่างรวดเร็ว เมื่อปี 2014

มิดฟิลด์ตัวรับสัญชาติลาว ได้รับบาดเจ็บเข่า เอ็นไขว้หน้าขาด ระหว่างการเล่นให้กับสโมสร เลอ พุย ฟุต 43 (Le puy foot 43) ทำให้เจ้าตัวต้องหยุดเล่นเป็นเวลา 1 ปี ก่อนตัดสินใจกลับบ้านเกิดมาทำงานในธุรกิจของครอบครัวที่มีฐานะความเป็นอยู่ระดับชนชั้นบนของประเทศ  

 4

“ตอนที่กลับมาอยู่ลาว ผมไม่ได้คิดถึงเรื่องฟุตบอลเลย คุณหมอก็บอกว่าผมคงกลับไปเล่นบอลอีกไม่ได้แล้ว เพราะผมไม่ได้ผ่าเข่ารักษา แต่ใช้การเล่นฟิตเนส 1 ปีแทน ตอนนั้นก็เลือกทำงาน ก็ทำอยู่หลายเดือน จนกระทั่งน้าบ่าว (น้าชาย) ที่เป็นผู้บริหารทีมล้านช้าง ยูไนเต็ด ชักชวนให้กลับมาเล่นฟุตบอลอีกครั้ง เลยกลับมาเรียกความฟิต และอยากลองดูอีกสักตั้ง”

“ภาพรวมของฟุตบอลลาว ยังค่อนข้างล้าหลังมาก แต่ถ้าเป็นแค่สโมสร ล้านช้าง ยูไนเต็ด ทุกอย่างดีไม่แพ้กับสโมสรในฝรั่งเศสที่เคยอยู่มา เทียบกับทีมระดับไทยลีก 1-2 ได้เลย มีห้องฟิตเนส สระว่ายน้ำ ทุกอย่างครบครัน ผมได้เงินเดือนอยู่ประมาณ 80,000 บาท ผมแฮปปี้มากที่ลงไปเล่นแล้วไม่มีอาการบาดเจ็บ จากนั้นผมก็ถูกเรียกติดทีมชาติลาว ตอนปี 2016 ดีใจมากๆ แต่ตอนนี้ผมไม่ได้เล่นให้ทีมชาติแล้ว”

สถานีกลางทาง : กรุงเทพ - ปัตตานี 

“ล้านช้าง ยูไนเต็ด 1-0 บุรีรัมย์ ยูไนเต็ด” กลายเป็นข่าวใหญ่ในช่วงต้นปี 2017 เพราะคงไม่มีใครคาดคิดว่า ทีมฟุตบอลจากประเทศลาว จะเป็นฝ่ายสามารถเอาชนะสโมสรยักษ์ใหญ่จากไทยในการแข่งขันโตโยต้า แม่โขง คลับ แชมเปียนชิพ 

 5

แต่สิ่งที่เซอร์ไพรส์มากกว่าชัยชนะนัดนี้ เกิดขึ้นในอีกเพียงไม่กี่วันต่อมา เมื่อสโมสรล้านช้าง ยูไนเต็ด แถลงการณ์ถอนทีมออกจากแข่งขันทุกรายการ เนื่องจากปัญหาเรื่องการตรวจสอบกรณีล้มบอลในประเทศ นั่นทำให้ มิดสะดา สายใต้ฟ้า เปลี่ยนสถานะเป็น นักฟุตบอลตกงานไปโดยปริยาย 

“ทุกคนตกใจหมดเพราะทีมกำลังไปได้ดี ยอมรับว่าช็อกมาก และเสียดายที่เราได้สิทธิ์ไปเล่นเอเอฟซี คัพ แต่ก็ต้องสละสิทธิ์ไป ตอนนั้นผมมีความคิดอยากลองไปเล่นฟุตบอลที่ไทยนะ เพราะมีเพื่อนนักฟุตบอลลาวหลายคน พูดถึงแต่เรื่องดีๆของเมืองไทย แต่ผมก็ไม่เคยไปเทสต์กับที่ไหนเลย ตลอด 3 เดือน ผมรอฟังข่าวจากที่ลาว”

“ตอนนั้นไทยลีก เปิดโควต้าอาเซียนพอดี ทางโค้ชโป้ง (กฤษณ์ สิงห์ปรีชา) ติดต่อให้ผมลองไปเทสต์ดู โดยส่งลงเล่นเกมอุ่นเครื่องกับอุดรธานี เขาก็พอใจฟอร์ม จึงได้เซ็นสัญญากับ บียู เดฟโฟ เอฟซี ทีมในไทยลีก 3 (ออมสิน ลีก โปร)”

 6

ดาวเตะวัย 30 ปี หอบหิ้วสตั๊ด ออกเดินทางไปค้าแข้งต่างแดนเป็นประเทศที่ 2 แต่คราวนี้อาจไม่ได้ยากลำบากเหมือนกับสมัยอยู่ที่ฝรั่งเศส เพราะวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ ภาษา รวมถึงสภาพแวดล้อมหลายๆอย่างในไทย มีความใกล้เคียงกับ ลาว แถมยังมีเพื่อนร่วมทีมเป็นคนชาติเดียวกันอย่าง คำแพง สายวุฒิ อีกด้วย 

ถึงกระนั้น มิดสะดา กลับไม่ได้ชื่นชอบชีวิตใน กรุงเทพปริมณฑล สักเท่าไหร่ แม้ที่นี่จะมีความศิวิไลซ์มากเพียงใดก็ตาม 

“เรื่องฟุตบอลผมไม่มีปัญหาเลย เล่นได้สบายๆ อาหารการกินก็หาทานได้ง่าย ผมชอบกินส้มตำใส่ปลาแดก (ปลาร้า) กินกับ ข้าวเหนียว, ไก่ย่าง”

“สนามซ้อมฟุตบอลก็ไม่ไกลจากที่พักมาก แต่ผมรู้สึกว่าที่นี่แออัดมากกว่าฝรั่งเศสเสียอีก ก็ทำให้ผมใช้ชีวิตยากพอสมควร แถมรถติดมาก ส่วนตัวผมเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ ชอบอยู่ต่างจังหวัดมากกว่า หลังจบฤดูกาล ผมหมดสัญญา ตอนแรกก็คิดจะกลับลาวเลยนะ แต่มีเพื่อนคนหนึ่งโทรมาหา” มิดสะดา กล่าว 

 7

“สนใจมาอยู่ปัตตานีไหม?” เสียงจากปลายสายของ คาร์ลอส ที่ทำเอาแข้งชาวลาวต้องคิดหนัก แม้เขาจะไม่ใช่คนไทย แต่ข่าวคราวเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ก็เคยผ่านหูผ่านตาเขามาเหมือนกัน 

“ตอนอยู่ที่ประเทศลาว ผมเคยได้ยินข่าวเหตุการณ์ระเบิดที่ปัตตานี ยอมรับว่ามีความรู้สึกกลัวมากๆ ครอบครัวผมก็เป็นห่วง อยากให้ผมเลิกเล่นเลย ผมใช้เวลาตัดสินใจอยู่ 2 สัปดาห์ จึงตอบตกลงไป เพราะผมยังอยากเล่นฟุตบอลต่อ ถ้าผมไม่เลือกปัตตานีในตอนนั้น ผมก็อาจไม่มีทีมเล่นเลย”

ในช่วงก่อนเปิดฤดูกาล 2018 มิดสะดา สายใต้ฟ้า ออกเดินทางมายังสนามบินหาดใหญ่ โดยมี วสันต์ สังขพันธ์ุ เฮดโค้ชเวลานั้น ขับรถมารับด้วยตัวเอง 

ระหว่างทางจากสงขลามายังปัตตานี ยิ่งทำให้นักฟุตบอลชาวลาวเช่นเขา รู้สึกกังวลและกลัวมากขึ้น เมื่อได้เห็น ด่านความมั่นคง ที่ตั้งเรียงรายอยู่มากมาย รวมถึงกำลังทหารที่คอยคุมพื้นที่ และตรวจตราความเรียบร้อย จากรถทุกคันที่สัญจรผ่านไปมา 

“ผมตกใจที่เห็นทหารเยอะแยะไปหมด ยิ่งเข้าใกล้เมืองปัตตานี ก็ยิ่งรู้สึกไม่ปกติ ผมไม่เคยเห็นอะไรแบบนี้มาก่อน จำได้ว่าพอมาถึง ปัตตานี ผมรู้สึกกลัวจนไม่อยากอยู่ที่นี่แล้ว เวลานอนก็นอนไม่ค่อยหลับ ตื่นเช้าก็จะรีบไปซื้อข้าว แล้วกลับเข้าห้อง เพื่อมานั่งกินคนเดียว ไม่กล้าออกไปไหนมาไหน ใช้ชีวิตอยู่แต่ในห้องกับสนามฟุตบอลแค่นั้น”

“แต่พออยู่ไปได้สัก 2 เดือน ความกลัวเริ่มหายไป ผมกลับชอบบรรยากาศของเมืองปัตตานีที่ไม่วุ่นวาย คนไม่เยอะ มีธรรมชาติสวยงาม อาหารการกินมีหลากหลาย ทั้ง อาหารอีสาน แต่คนที่นี่กินกันค่อนข้างหวานนะ ส่วนผมชอบกินเค็ม รวมถึงอาหารท้องถิ่น ผมได้ลองกินโรตี มะตะบะ รวมถึงซุปเป็นครั้งแรกตอนอยู่ที่นี่ จากที่เคยกลัว ก็กลายเป็นรู้สึกสบายใจ จนผมกล้าออกไปหากินอะไรในตอนกลางคืนแล้ว” 

 8

ในการเล่นตำแหน่งมิดฟิลด์ตัวรับ มิดสะดา สายใต้ฟ้า สามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม และปรับตัวเข้ากับทีมได้ดี จนกลายเป็นแข้งหลักที่ทีมขาดไม่ได้ ขณะที่ชีวิตนอกสนาม มิดสะดาก็เริ่มมีมุมมองที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จากวันแรกที่เข้ามาอยู่ 

หลังหมดสัญญา ตอนจบฤดูกาล 2018 มิดสะดาได้รับข้อเสนอจากสโมสรอื่นๆ ที่ให้เงินเดือนมากกว่า และอยู่ในพื้นที่ดูปลอดภัยกว่านี้ แต่เขากลับปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นเพื่ออยู่กับ ปัตตานี เอฟซี ต่อในฤดูกาลใหม่ 

“มีทีมจากเชียงใหม่ และทีมศุลกากร สนใจอยากได้ผม แต่เหตุผลที่ผมต่อสัญญากับปัตตานีอีกปี เพราะผมและเพื่อนนักฟุตบอลทุกคน มีเป้าหมายอยากช่วยให้ทีมเลื่อนชั้นขึ้นสู่ไทยลีก 3  อีกอย่าง ผมรู้สึกชอบเมืองปัตตานี และไม่ได้รู้สึกว่าการใช้ชีวิตที่นี่มันยากลำบากเลย”

สถานีปลายทาง : ปัตตานี 

หากเปรียบระยะเวลาในการเล่นฟุตบอลอาชีพ ของนักเตะคนหนึ่งเป็นดั่งขบวนรถไฟ บนเลขวัย 32 ปีของ มิดสะดา สายใต้ฟ้า อาจกำลังเข้าสู่ช่วงใกล้สถานีปลายทางเต็มที

 9

เขาอาจไม่ใช่นักฟุตบอลที่โด่งดังหรือมีชื่อเสียง แต่ประสบการณ์ตลอดสองข้างที่เขาเคยพบเจอ ก็เป็นอะไรที่น้อยคนนักจะได้สัมผัส ทั้งช่วงเวลาที่อยู่ในลีกล่างฝรั่งเศส, ลีกสูงสุดของลาว มาจนถึงการค้าแข้งให้สโมสรในกรุงเทพฯ และเมืองปัตตานี 

“ผมคิดว่า ลีกระดับ 4-5 ของฝรั่งเศส มีศักยภาพพอๆกับบางทีมในไทยลีก 1 หรือไทยลีก 2 เลยนะ แต่ที่ฝรั่งเศส ฟุตบอลที่นั่นจะเน้นเรื่องของความแข็งแรงด้านร่างกาย และต้องไม่ลืมเกมรับ แต่ผมพูดได้เลยนะว่า นักฟุตบอลไทยมีเทคนิคที่ดีกว่านักบอลลีกล่างของฝรั่งเศสเสียอีก”

“ส่วนไทยลีก 3-4 สองลีกนี้แทบไม่ได้มีความแตกต่างสักเท่าไหร่ อาจต่างกันเรื่องของเทคนิค เช่น ไทยลีก 3 อาจเทคนิคดีกว่าไทยลีก 4 นิดหน่อย แต่สุดท้ายทีมส่วนมาก ชอบเล่นแต่รุกเป็นหลัก ชอบวิ่ง ชอบบอลเร็ว แต่ค่อนข้างมีปัญหาเรื่องเกมรับ ลืมลงมารับตลอด บางทีก็ไม่ค่อยเล่นตามแท็คติก แต่ที่ฝรั่งเศสจะให้ความสำคัญมากเรื่องแท็คติก”

 10

บนขบวนไฟของอาชีพนักฟุตบอลของมิดสะดา เขาได้พบเจอผู้คนหลากหลายเชื้อชาติ ศาสนา ซึ่งสโมสรปัตตานี เอฟซี แห่งนี้ นักฟุตบอลส่วนมาก ล้วนมีภูมิลำเนามาจากสามจังหวัดชายแดนใต้ และคำหนึ่งที่เขายืนยันกับเราได้ก็คือ ผู้คนเหล่านี้ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่หลายคนคิด 

เช่นกันกับจังหวัดปัตตานี ที่อาจถูกมองและเข้าใจ จากคนต่างพื้นที่ในมุมที่น่ากลัว ทั้งที่หากได้มาสัมผัสจริง ก็อาจได้เห็นปัตตานีในอีกมุมด้วยตาของตัวเองเหมือนอย่างที่ มิดสะดา สายใต้ฟ้า ได้สัมผัสในสถานีท้ายๆ ของการค้าแข้ง  

 11

“ผมว่านักฟุตบอลท้องถิ่น เขาค่อนข้างเป็นมิตรนะ และนิสัยดี รักเพื่อนฝูง เวลาอยู่ในสนามก็เป็นพวกใจสู้ เล่นบอลด้วยกันแล้วสนุก ส่วนแฟนบอลปัตตานี เอฟซี ก็ดีมากๆ คอยให้กำลังใจอยู่ตลอด ผมประทับใจนะ”

“สำหรับผม ปัตตานีไม่ใช่เมืองที่น่ากลัว แต่เป็นจังหวัดที่อยู่แล้วสบายใจ ก็อยากให้ลองมาสัมผัสดู เพราะถ้าวันหนึ่งที่ผมเลิกเล่นฟุตบอล ผมก็อาจหาโอกาสกลับมาเที่ยว มาหาเพื่อนที่นี่อีก” 

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ

อัลบั้มภาพ 11 ภาพ ของ "มิดสะดา สายใต้ฟ้า" : ชีวิตและความเป็นอยู่จริงของนักบอลลาวใน จ.ปัตตานี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook