พจนานุกรมกีฬา “วอลเลย์บอล” ที่คุณควรรู้

พจนานุกรมกีฬา “วอลเลย์บอล” ที่คุณควรรู้

พจนานุกรมกีฬา “วอลเลย์บอล” ที่คุณควรรู้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กีฬาวอลเลย์บอล ถือเป็นอีกกีฬาที่แฟนกีฬาชาวไทยชื่นชอบ ด้วยรูปเกมที่ตื่นเต้นเร้าใจ ผสานทั้งความสวยงามและความรวดเร็วรุนแรง ไม่เพียงเท่านั้น นี่ยังถือเป็นหนึ่งในกีฬาประเภททีมที่คนไทยสามารถพูดได้เต็มปากว่า เรามีทีมระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งทีมหญิงที่สามารถสู้กับทีมชั้นนำของโลกได้อย่างไม่อายใคร

ถึงกระนั้นเราเชื่อว่า แฟนๆ หลายคนอาจเกิดอาการสงสัยเวลาที่นักพากย์บรรยายจังหวะการเล่นต่างๆ หรือเวลาเพื่อนตะโกนสั่งในสนามแข่งขัน Main Stand จึงชวน ปลั๊ก - ภุมเรศ เอี่ยมเชย นักพากย์วอลเลย์บอลชั้นแนวหน้าของไทย มาอธิบายศัพท์กีฬาวอลเลย์บอลที่คุณควรรู้ เพื่อที่เวลาชมเกมตบลูกยาง หรือลงไปเล่นในสนามจะได้สนุกและเข้าใจมากขึ้น

Libero


Photo : Volleyballthailand

แฟนฟุตบอลยุคเก่าๆ อาจจะคุ้นเคยกับคำในภาษาอิตาลีที่แปลว่า "อิสระ" จากตำแหน่งที่ โลธาร์ มัทเธอุส หรือ มัทธีอัส ซามเมอร์ เล่น คือตำแหน่งปราการหลังตัวกลางที่สามารถขึ้นไปเล่นเกมรุกได้ตามจังหวะเกม แต่สำหรับกีฬาวอลเลย์บอล ตำแหน่งลิเบโร่ถูกนิยามว่า "ตัวรับอิสระ" ซึ่งความอิสระที่ว่านั้นก็คือ สามารถเปลี่ยนตัวเข้าออกได้ตลอดเวลาโดยไม่ต้องรอให้เกมหยุดเสียก่อน โดยเข้ามาเเทนใครต้องเปลี่ยนออกกับคนนั้น ลงมาเล่นก่อน 1 เเต้มจึงจะสามารถออกไปได้  ซึ่งช่วยให้ทีมสามารถปรับเกมรับได้ง่ายขึ้น ไม่ต้องเสียเวลาเปลี่ยนตัวบ่อยๆ

ถึงกระนั้นตำแหน่งลิเบโร่ของวอลเลย์บอลก็มีความแตกต่างจากฟุตบอลอย่างมาก โดยผู้เล่นตำแหน่งนี้ในกีฬาวอลเลย์บอลจะสามารถเล่นได้แค่เกมรับอย่างเดียว ไม่สามารถวนตำแหน่งไปอยู่แดนหน้าเหมือนตำแหน่งอื่นๆ เล่นเกมรุกไม่ได้ เสิร์ฟไม่ได้ ไม่สามารถขึ้นไปบล็อกหรือตบในแดนหน้าได้ แต่ยังสามารถเซตและยืนตบได้หากตัวอยู่ในแดนหลัง 

จุดเด่นอีกอย่างของผู้เล่นตำแหน่งนี้ก็คือ พวกเธอจะใส่เสื้อสีที่แตกต่างจากผู้เล่นคนอื่นๆ ในทีม ซึ่งตัวอย่างของตำแหน่งนี้ที่แฟนกีฬาชาวไทยคุ้นเคยก็หนีไม่พ้น ปิยะนุช แป้นน้อย, วรรณา บัวเเก้ว และ สุพัตรา ไพโรจน์

หัวเสา


Photo : Volleyballthailand

นี่คือคำเรียกภาษาไทยของตำแหน่งการเล่น Outside Spiker (OS) หรือ Wing Spiker (OS) ซึ่งหากจะแปลตรงตัวก็คือตำแหน่ง "ตัวตบด้านนอก" ซึ่งหากเรียกตำแหน่งนี้ว่า ตัวโค้ง ก็ไม่ผิด โดยมือเด็ดของไทยในตำแหน่งนี้คือ อรอุมา สิทธิรักษ์ กับ บุ๋มบิ๋ม - ชัชชุอร โมกศรี

ส่วนคำถามที่ว่าทำไมถึงเรียกผู้เล่นตำแหน่งนี้ว่า หัวเสา หรือ ตัวโค้ง ก็เนื่องมาจากลักษณะการเล่นนั้นจะเป็นการตี (หรือตบ) บอลโค้งมาลงบริเวณหัวเสา จุดซึ่งผู้ตัดสินที่ 1 ผู้ยืนทำหน้าที่บนแท่นนั่นเอง (ส่วนจุดที่ผู้ตัดสินซึ่งยืนเป่าด้านล่างทำหน้าที่ จะเรียกว่า หัวเสาล่าง)

บอลเร็ว


Photo : SPIN.ph

ศัพท์นี้คือคำเรียกในภาษาไทยของผู้เล่นตำแหน่ง Middle Blocker (MB) หรือ "ตัวบล็อกตรงกลาง" ซึ่งสาเหตุที่เรียกเช่นนี้ก็เพราะ ตำแหน่งนี้จะต้องคิดไวทำไว ตั้งรับและโจมตีด้วยความรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการบล็อกบอลตบ หรือตบบอลที่ลอยสั้นๆ มาจากมือเซ็ตอย่างว่องไว ซึ่งตัวอย่างผู้เล่นตำแหน่งนี้ที่คุ้นตาแฟนๆ ชาวไทยก็คือ หน่อง - ปลื้มจิตร ถินขาว อดีตกัปตันทีม (เจ้าของปลอกแขนในปัจจุบันคือ ซาร่า - นุศรา ต้อมคำ) และ ทัดดาว นึกแจ้ง

ด้วยตำแหน่งการยืนที่มักจะต้องยืนตรงกลางแถวหน้า ตลอดจนสไตล์การเล่น ตำแหน่ง MB หรือ บอลเร็ว จึงอาจเรียกว่า บอลกลาง หรือ บอลสั้น ก็ได้ ซึ่งทุกชื่อก็ความหมายเดียวกัน

บีหลัง


Photo : มลิกา กันทอง FC - Malika Kanthong Fanpage

นี่คือคำเรียกภาษาไทยของตำแหน่ง Opposite spiker (OS) หรือชื่อทางการคือ "ตัวตบตรงข้ามหัวเสา" โดยผู้เล่นที่ยืนในตำแหน่งนี้มักจะยืนทแยงมุม หรือไขว้กับตัวเซ็ต ซึ่งผู้เล่นของไทยที่แฟนกีฬาจำขึ้นชื่อในตำแหน่งนี้ก็คือ มลิกา กันทอง

จุดหนึ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของตำแหน่งนี้ก็คือ การเข้าทำมักจะเกิดขึ้นจากตำแหน่งหัวเสาฝั่งขวา หรือตำแหน่ง 2 ซึ่งถือเป็นหนึ่งในที่มาซึ่งทำให้ตำแหน่งดังกล่าวถูกเรียกว่าบีหลัง

ขุด


Photo : www.foxsports.ph

คำว่าขุด หากแปลเป็นภาษาอังกฤษก็คือ Dig ซึ่งเมื่อดูภาพจากในสนามแล้วก็ถือว่าตรงตัวจริงๆ โดยผู้เล่นจะต้องงัดลูกบอลที่ถูกตบจนเกือบลงขึ้นมาเพื่อเซ็ตแล้วตีโต้กลับไป ถือเป็นหนึ่งในการเล่นเกมรับที่สำคัญจนสหพันธ์วอลเลย์บอลนานาชาติหรือ FIVB ต้องบันทึกสถิติการขุดของผู้เล่นไว้ด้วย

ไหลหลัง


Photo : FocusDzign

ไหลหลัง นั้นคือชื่อเรียกสไตล์การเล่นบอลเร็ว ที่มีลักษณะการจ่ายบอลจากตัวเซตไหลออกไปทางด้านหลังหรือหน้าห่างจากตัวเซต ต่างจากบอลเร็วทั่วไปที่บอลจะอยู่ใกล้ๆ กับตัวเซต ซึ่งเพื่อนร่วมทีมจะต้องวิ่งตามไปตบทำคะแนน โดยผู้เล่นที่เล่นในสไตล์นี้ได้ดีของไทยก็คือ อำพร หญ้าผา และ ปลื้มจิตร์ ถินขาว ที่จับจังหวะกับตัวเซตอย่าง นุศรา ต้อมคำ แบบไม่ต้องมองตาก็รู้ใจ

บอลแทรก / บีแทรก


Photo : Tweets Volleyball

บอลแทรก หรือ บีแทรก คือรูปแบบการบุกที่ใช้ผู้เล่น 2 คนในการตบทำคะแนน ซึ่งจะมีคนหนึ่งเป็นตัวหลอก และมีอีกคนแทรกเข้ามาตี โดยตำแหน่งบอลเร็วจะเป็นตัวหลอก วิ่งไปทางด้านหน้าหรือด้านหลังของตัวเซตเพื่อให้เกิดช่องว่าง ที่ตัวตบซึ่งขยับมาจากข้างนอกจะแทรกเข้ามาตีตรงกลาง ซึ่งคนที่เล่นสไตล์นี้ได้อย่างโดดเด่นคือ กิ๊ฟท์ - วิลาวัณย์ อภิญญาพงศ์ อดีตกัปตันทีมชาติไทย

บอล X


Photo : Volleyballthailand

บอล X เป็นอีกรูปแบบของการเล่นเกมรุกบอลเร็ว ซึ่งลักษณะการขึ้นตบก็จะคล้ายกับบอลเร็ว แต่บอลประเภทนี้ จะให้ตัวเซตจ่ายแบบพุ่งๆ ไปยังตำแหน่งที่ตัวตบบอลเร็วรออยู่ห่างออกไป ซึ่งบางครั้งอาจจะจ่ายห่างจากตัวเซตถึง 2 เมตรเลยทีเดียว

บอล Y


Photo : www.fivb.com

บอล Y คือสไตล์การเล่นเกมบุกอีกแบบซึ่งจะเล่นตรงหัวเสาเป็นหลัก และแน่นอนว่าผู้เล่นตำแหน่งหัวเสาจะเป็นผู้รับผิดชอบหลัก โดยความแตกต่างของบอล Y จากบอลหัวเสาทั่วไปคือความสูงของบอล และการเดินทางของลูกที่ไวกว่าเดิม

นี่คือสไตล์การเล่นที่ทีมจากทวีปเอเชียส่วนใหญ่โดยเฉพาะ ไทย และ ญี่ปุ่น ชอบใช้ เนื่องจากจุดอ่อนทางสรีระซึ่งไม่อาจยกบอลสูงๆ สู้ตัวบล็อกใหญ่ๆ ได้ ก็อาศัยความว่องไว ปรับจังหวะการขึ้นตีให้เร็วขึ้นแทน

บอลสามเมตร


Photo : sportzcraazy.com

นี่คือการเล่นเกมบุกซึ่งตัวหลักจะอยู่ที่ผู้เล่นแดนหลัง โดยจะต้องกระโดดข้ามเส้นตรงกลางสนามของฝั่งตัวเองมาตบบอล เนื่องจากกฎข้อหนึ่งได้ระบุไว้ว่า ผู้เล่นในแดนหลังจะเล่นลูกเหนือตาข่ายในแดนหน้าไม่ได้ จึงต้องกระโดดข้ามเส้นดังกล่าวมาเพื่อไม่ให้ถูกจับฟาวล์นั่นเอง

อันที่จริง การบุกลักษณะนี้มีคำศัพท์นิยามของมันอยู่ว่า "บอลตบแดนหลัง" หรือ "บอลตบแถวหลัง" (Back row) แต่สาเหตุสำคัญที่ทำให้ในไทยเรียกกันว่า "บอลสามเมตร" หรือ "สามเมตร" ก็เนื่องมาจาก เส้นเเบ่งเเดนตรงกลางในฝั่งตัวเองจะมีระยะห่างจากตาข่าย 3 เมตร จนเรียกกันในอีกชื่อว่า เส้นสามเมตร นั่นเอง

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ

อัลบั้มภาพ 16 ภาพ ของ พจนานุกรมกีฬา “วอลเลย์บอล” ที่คุณควรรู้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook