แอฟริกาโคชิเอ็ง : เมื่อทีมโรงเรียนจาก "อูกันดา" อยากเป็นแชมป์โลกเบสบอล

แอฟริกาโคชิเอ็ง : เมื่อทีมโรงเรียนจาก "อูกันดา" อยากเป็นแชมป์โลกเบสบอล

แอฟริกาโคชิเอ็ง : เมื่อทีมโรงเรียนจาก "อูกันดา" อยากเป็นแชมป์โลกเบสบอล
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หลายคนเรียก อเมริกันฟุตบอล, บาสเก็ตบอล และ เบสบอล กีฬาประเภททีมเหล่านี้รวมกันว่า อเมริกัน เกมส์ เนื่องจากมีอยู่หนึ่งชาติที่ดูจะเก่งเกินใครและเล่นกันจริงจังอยู่ประเทศเดียวจนกลายเป็นมหาอำนาจของโลก… สหรัฐอเมริกา

ซึ่ง เบสบอล ถือเป็นหนึ่งในกีฬายอดฮิตที่ได้ค่าตอบแทนสูงไม่แพ้กีฬาชนิดไหน และแน่นอนว่ามีกลุ่มเยาวชนชาวอเมริกันจำนวนไม่น้อยที่พยายามฝึกฝนและพัฒนาตัวเองเพื่อให้ได้ไปเล่นในสุดยอดเวทีอย่าง เมเจอร์ ลีก รวมถึงการแข่งขัน เวิลด์ ซี่รี่ส์ ที่แม้จะเป็นศึกชิงแชมป์ของเมเจอร์ ลีก แต่ก็ยิ่งใหญ่ระดับโลก และเป็นเวทีที่นำมาซึ่งชื่อเสียงและเกียรติยศมากมาย

 

ทว่าไม่ใช่เด็กอเมริกันอย่างเดียวที่หวังเช่นนั้น ห่างไกลออกไปที่ทวีปแอฟริกา โรงเรียนแห่งหนึ่งในประเทศ อูกันดา พยายามจะทำให้เด็กๆ ของพวกเขาเติบโตบนเส้นทางนี้และกล้าฝันให้เหมือนกับที่เด็กอเมริกันเป็น แม้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของทั้ง  2 ประเทศจะห่างกันสุดขั้วโลก

ทำไมชาติที่จนติดท็อป 20 ของโลก อย่างอูกันดาจึงพยายามสอนให้เด็กๆ เล่นกีฬาที่ค่อนข้างจะเข้าใจยากอย่างเบสบอลกันแน่? นี่คือเรื่องราวของพวกเขา

Little League World Series 

สำหรับชาวไทยนั้นชื่อของลีกเบสบอลที่คุ้นหูคงมีเพียงแค่ "เมเจอร์ ลีก เบสบอล" ที่เป็นลีกอาชีพของสหรัฐอเมริกาเพียงลีกเดียวเท่านั้น จากการเป็นลีกที่ดีและมีมูลค่ามากที่สุดในโลก ทว่าก็มีการแข่งขันเล็กๆ อีกลีกหนึ่ง นั่นคือ "ลิตเติล ลีก เวิลด์ ซีรี่ส์" ซึ่งมีความแตกต่างอย่างชัดเจนทั้งรุ่นอายุและระดับการแข่งขันที่เข้มข้นน้อยกว่ามาก อย่างไรก็ตามบางครั้งเรื่องราวบางเรื่องก็ไม่จำเป็นต้องถูกบอกเล่าจากความเก่งกาจเพียงมุมเดียวเสมอไป

 1

"ลิตเติล ลีก เวิลด์ ซีรี่ส์" แค่ชื่อคงเดาเดาออกว่าน่าจะเล็ก ซึ่งก็ตามนั้น เพราะมันคือรายการแข่งเบสบอลระดับเยาวชนรุ่นอายุ 10-12 ปี ของสหรัฐอเมริกา แรกเริ่มเดิมทีนั้นมีเพียงทีมจากรัฐต่างๆ ในสหรัฐอเมริกาเท่านั้นที่ลงแข่งได้ ทว่าระยะหลังเมื่อมีหลายชาติจากอเมริกาเหนือและเอเชียอย่าง ญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ที่นิยมกีฬาชนิดนี้สนใจแข่งขันด้วย จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นการแข่งขันระดับ เวิลด์ซี่รี่ส์ หรือเปรียเทียบง่ายๆ ก็คือการแข่งขันชิงแชมป์โลกของระดับเยาวชนนั่นเอง

อย่างไรก็ตามแม้จะมีการแข่งแบบชิงแชมป์โลก ทว่า สหรัฐอเมริกา ที่เป็นต้นกำเนิดก็ยังเป็นชาติที่มีทีมแข่งขันในรายการนี้มากที่สุดอยู่ดี เพราะพวกเขาจะให้โอกาสทีมแชมป์จากรัฐต่างๆ ทั่วประเทศลงแข่งขันในรายการนี้ ขณะที่ประเทศอื่นๆ จะส่งเข้ามาแข่งขันกันในนามทีมชาติ ซึ่งจากจุดนี้แสดงให้เห็นถึงจำนวนบุคลากรและผู้เล่นเบสบอลของ อเมริกา ได้อย่างดีว่ามันมากจนชนิดที่ว่ามียอดฝีมือซ่อนอยู่ทั่วทุกมุมของประเทศ ... ทว่าความเก่งกาจนี้กลับเป็นแรงกระตุ้นอย่างดีสำหรับชาติเล็กๆ ที่อยากจะพิสูจน์ตัวเองหรืออย่างน้อยๆ ขอให้ได้ลองเข้ามาแข่งกับยอดฝีมือเหล่านี้สักครั้ง และหนึ่งในชาติที่ว่านั้นคือ ประเทศ อูกันดา ...

เรื่องที่เริ่มจากคนมึนๆ

ที่อเมริกานั้น การพาลูกเด็กเล็กแดงไปตามสวนสาธารณะเพื่อเล่นเบสบอลนั้นถือเป็นงานอดิเรกในช่วงเวลาว่างที่แทบไม่ใช่ต้นทุนอะไรเลย กลับกัน ประเทศในทวีปแอฟริกาอย่าง อูกันดา นั้นมีความแตกต่างกันแบบสุดขั้ว เพราะประชาชนส่วนใหญ่ในประเทศแทบไม่มีพื้นฐานด้านเบสบอลเลย ดังนั้นการจะออกไปถือไม้และหวดลูกกลมๆ และให้คนอื่นวิ่งไล่จับไล่ตะครุบนั้นจึงเป็นเรื่องที่ไกลตัวผู้คนที่นั่นสุดๆ ด้วยเหตุง่ายๆ เพียงอย่างเดียวนั่นคือความยากจนของประชาชนในประเทศ ดังนั้นการให้ซื้อไม้เบสบอล, หมวก หรือแม้กระทั่งการหาสนาม คงจะไม่ทำกันได้ง่ายๆ อย่างแน่นอน

 2

กีฬาที่ฮิตที่สุดในอูกันดามีอยู่ 3 ชนิด และมันเป็นกีฬาที่แทบจะสะท้อนให้เห็นสภาพเศรษฐกิจในประเทศนี้เป็นอย่างดี เพราะทั้ง ฟุตบอล, วิ่ง และ มวยสากล ต่างเป็นชนิดกีฬาที่แทบไม่ต้องมีต้นทุนอะไรมากนัก สารตั้งต้นของกีฬาทั้ง 3 ชนิดคือพละกำลังที่ต้องใช้การฝึกฝนขัดเกลาเพื่อให้ได้ทักษะและความชำนาญเท่านั้นเอง ... ทว่าเมื่อเป็นอย่างั้นแล้วทีมเบสบอลของ อูกันดา สามารถไปแข่งชิงแชมป์เยาวชนระดับโลกได้อย่างไรกัน? 

จุดเริ่มต้นของเรื่องนี้มันเล็กมากจนไม่น่าเชื่อว่ามันจะไปไกลถึงบั้นปลายได้ เพราะมันเริ่มจากครูสอนภาษาอังกฤษชาวอเมริกันคนหนึ่งที่ชื่อ อีแวน เพ็ตตี้ ที่บังเอิญเป็นคนที่ชอบความท้าทาย เขาเรียนจบจากมหาวิทยาลัย ซีราคิวส์ ด้วยเกรดระดับกลางๆ ไม่ได้โดดเด่นอะไรเลย เจ้าตัวอธิบายว่าการรับปริญญาของเขานั้นเป็นการเรียนจบไปงั้นๆ ซึ่งเขาเองก็งงอยู่เหมือนกันว่าจะเอาอย่างไรดีกับชีวิตที่ต้องเป็นผู้ใหญ่เต็มตัวหลักจากนี้ 

"ผมไม่รู้จะทำอะไรหลังจากนั้น (รับปริญญา) ผมเรียนจบคณะวารสารศาสตร์แต่ก็ไม่ได้เป็นคนขยันขันแข็งอะไร ความสามารถพิเศษก็ไม่มีด้วย ที่สำคัญคือผมเป็นคนที่ไม่ค่อยมั่นใจในตัวเองอีกต่างหาก" อีแวน เล่าถึงจุดเปลี่ยนในชีวิตที่ทำให้เขาหางานดีๆ ในอเมริกาทำไม่ได้ ดังนั้นก็อย่าอยู่มันเลยดีกว่า เขาจึงเปลี่ยนสายจากพนักงานออฟฟิศและเลือกที่จะเป็นครูในดินแดนที่ห่างไกลอย่าง อูกันดา

 3

"คือผมรู้อย่างเดียวว่าผมชอบเบสบอลมาก ผมคิดว่าผมจะลองไปสมัครเป็นครูในประเทศในยุโรปหรือที่ญี่ปุ่นเพื่อลองดูว่าจะทำอะไรกับความชอบเบสบอลของผมได้บ้าง ผมส่งใบสมัครไปทั่ว และสุดท้าย อูกันดา เป็นประเทศเดียวที่ติดต่อเข้ามา"

ใช่แล้ว ... โรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงกัมปาลา เมืองหลวงของ อูกันดา กำลังต้องการใครสักคนที่ทำ 2 หน้าที่ในเวลาเดียวได้ หน้าที่แรกคือการเป็นครูสอนภาษาอังกฤษ และหน้าที่รองคือการมองหาครูสักคนที่สามารถสอนเบสบอลเด็กๆ ได้ ... ดูเหมือนว่านี่คืองานที่ฟ้าประทานมาเพื่อ อีแวน อย่างแท้จริง เขาไม่เก่งพอที่จะเป็นพนักงานเงินเดือนที่ทำเงินได้มาก รวมถึงไม่ได้มีทักษะทางเบสบอลมากในระดับที่จะไปสอนเด็กๆ ระดับหัวกะทิในโรงเรียนดังได้ ดังนั้นการไป อูกันดา ก็ไม่เลวนักสำหรับคนธรรมดาโลกไม่จำอย่างเขา

พลังแฝงแห่งความยากจน

"เดอะ อัลเลน วีอาร์ สแตนลี่ย์" (The Allen VR Stanley) คือชื่อของโรงเรียนที่ได้กล่าวถึงไปข้างต้น ที่คือโรงเรียนระดับแถวหน้าของประเทศ อูกันดา ที่สร้างโดยนักธุรกิจชาวอเมริกัน ตัวเจ้าของโรงเรียนนั้นมีความคิดง่ายๆ ไม่ได้หวังอะไรไปไกล เขาแค่อยากต้องการให้เด็กๆ ได้รู้ว่า เบสบอล นั้นสนุกขนาดไหน ซึ่งนั่นคืออุดมการณ์เดียวกับ อีแวน เป๊ะ ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจนักที่เขาตกปากรับงานนี้

 4

อีแวน กระโดดขึ้นเครื่องและลงจอดที่ กัมปาลา สิ่งแรกที่่เขาเห็นคือโรงเรียนแห่งนี้มีสนามเบสบอลอยู่ 2 สนาม และมีเด็กๆ กำลังเล่นกันอยู่ไม่กี่คน สิ่งที่เขาเห็นในตอนนั้นไม่ใช่ทักษะที่โดดเด่นเหมือนกับที่เด็กอเมริกันมี แต่เขาเห็นพลังแฝงในตัวของเด็กๆ ชาวอูกันดากลุ่มนี้ 

ย้อนกลับไปที่ประเทศ อูกันดา กันสักนิด ทุกคนรู้ว่าพวกเขายากจนแต่ภายใต้คำว่า "ยากจน" นั้นมีบางสิ่งซ่อนอยู่นั่นคือความแข็งแกร่งของคนในประเทศนี้คืออันดับ 1 ของโลก ...

นี่ไม่ใช่เรื่องที่คิดไปเองเพราะแม้แต่ องค์การอนามัยโลกก็ยังให้ข้อมูลยืนยันว่า อูกันดาเป็นประเทศที่ผู้คนมีความ "ฟิต" ของร่างกายสูงที่สุดในโลก โดยมีกลุ่มประชากรวัยผู้ใหญ่ซึ่งอยู่นิ่งไม่ค่อยขยับออกกำลังกายเพียง 5.5% ซึ่งถือว่าน้อยที่สุดในโลก ส่วนที่เหลือนั้นต้องทำงานหนักรวมถึงพื้นฐานการใช้ชีวิตประจำวันที่ต้องเดินไปทำงาน, เลี้ยงสัตว์ และ เกษตรกรรม แม้ได้ค่าตอบแทนจากงานที่ทำน้อย แต่เครื่องจักรและเครื่องทุ่นแรงนั้นแทบไม่เป็นที่นิยมของชาวอูกันดาเลย เพราะอย่างที่ทุกคนรู้ เครื่องจักรเหล่านั้นต้องใช้เงินซื้อหา ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่ชาวอูกันดาไม่ค่อยจะมี งานไหนหรือสิ่งใดที่สามารถใช้แรงของตัวเองทำได้พวกเขาจะลงมือทำแบบไม่ลังเล 

แม้ กัมปาลา จะเป็นเมืองหลวงทีมีตึกรามบ้านช่องแออัดและหาที่ออกกำลังกายยาก แต่พวกเขาก็ยังมีกิจกรรมเพื่อสุขภาพตามสถานที่สาธารณะมากมาย รัฐบาลอูกันดาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ถึงขนาดที่ว่ามีการประกาศให้วันที่ 7 กรกฎาคม ของทุกปีเป็นวันออกกำลังกายแห่งชาติ นอกจากนี้ยังมีการเปลี่ยนการใช้ท้องถนนในเมืองหลวงใหม่ด้วยการทำเลนจักรยานในเมือง เพื่อให้บรรดานักปั่นได้ออกกำลังกายระหว่างเดินทางไปกลับจากที่ทำงานด้วย ... เอาล่ะทีนี้คุณคงเข้าใจแล้วว่าเด็กๆ ที่เล่นเบสบอลในสนามของโรงเรียนที่ อีแวน เห็นแสดงอะไรออกมาจากการขว้างและตีลูก นั่นทำให้ อีแวน รู้สึกว่างานนี้อาจจะไม่ใช่งานเช้าชามเย็นชามอย่างที่เขาเข้าใจอีกแล้ว

 5

"เด็กขว้างบอลกันแรงเว่อร์ และสวิงในการหวดไม้เบสบอลนั้นก็โหดเกินอายุไปมาก ส่วนเรื่องการวิ่งไม่ต้องพูดถึง เด็กที่นี่วิ่งเร็วจี๋อย่างกับจรวด ผมเห็นสิ่งที่เรียกว่าพรสวรรค์วิ่งไปทั่วสนามเลยให้ตายเถอะ" อีแวน สรุปสิ่งที่เขาได้พบเจอที่ อูกันดา ได้อย่างเรียบง่ายแต่ฟังแล้วช่างน่าตื่นเต้น

เกาให้ถูกที่คัน

อีแวน เห็นความสามารถของเด็กๆ แล้วจึงไล่เปิดประวัติของโรงเรียนย้อนหลัง เขาพบว่าโรงเรียนแห่งนี้เคยไปแข่งถึงระดับ ลิตเติล ลีก เวิลด์ ซีรี่ส์ มาแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทว่าไม่ประสบความสำเร็จเลยจึงทำให้นโยบายของโรงเรียนเปลี่ยนไป พวกเขายุบทีมเบสบอล และส่วนหนึ่งของสนามกับเงินทุนในการสร้างทีมได้กลายมาเป็นหอพักเพื่อให้นักเรียนประจำได้อาศัยหลับนอน 

 6

มันไม่ใช่แค่เรื่องของความสามารถและการฝึก สิ่งที่เป็นปัญหาอย่างมากในหลายประเทศในทวีปแอฟริกาคือเรื่องของเอกสาร ในปี 2011 ทีมจาก อูกันดา ผ่านเข้ารอบแต่ถูกปฎิเสธไม่ให้ร่วมแข่งขันเพราะผู้เล่นหลายคนไม่มีเอกสารยืนยันการเกิดจึงไม่สามารถทำวีซ่าเข้าสหรัฐอเมริกาได้ 

อีแวน ต้องทำงานร่วมกับ แบร์นาร์ด อาเดอี ซึ่งเป็นนักเบสบอลตำแหน่ง พิทเชอร์ ตัวทีมชาติ อูกันดา และรับบทเป็นเฮดโค้ช ทั้งคู่มีแนวคิดที่ตรงกันว่าการจะทำให้เด็กเข้าใจเกมได้แบบชัดเจนนั้น ต้องให้เด็กๆ ได้เห็นการแข่งขันจริงๆ อาเดอี เห็นด้วยกับเรื่องนี้เขาบอกว่าเด็กๆ มีทักษะพื้นฐานดีแต่ขาดความเข้าใจและแท็คติกเท่านั้น มันจึงทำให้พวกเขาไม่สามารถโยนลูกโค้งหรือลูกเทคนิคที่ล้ำไปอีกขั้นได้

"เด็กที่ อูกันดา ไม่ได้ดูเบสบอลมากนัก แต่ผมเนี่ยเรียนรู้มาเยอะจากการได้ดูบ่อยๆ โดยเฉพาะทีม เรด ซ็อก ถ้าคุณไม่ได้เห็นการแข่งระดับโลกมันก็ยากที่จะเรียนรู้ได้ภายในเวลาอันรวดเร็ว" อีแวน ว่าเช่นนั้นพร้อมๆ กับทำหน้าที่อัดเทปการแข่งขันเบสบอลระดับเมเจอร์ ลีก และเวิลด์ ซี่รี่ส์ ให้เด็กๆของเขาได้ดูทุกวันหลังการซ้อมตามโปรแกรม นี่คือสิ่งที่เด็กๆ ขาดและไม่ต้องสงสัยเลยว่ามันทำให้พวกเขาพัฒนาตัวเองขึ้นมากในเวลาอันสั้น 

อีแวน และ อาเดอี แท็กทีมกันอย่างเข้าขาลงตัว อาเดอี ทีเป็นนักเบสบอลอาชีพคือคนที่คอยสอนแท็คติกการเล่นรวมถึงลูกเล่นและทักษะในระดับสูง ขณะที่ อีแวน ทำหน้าที่เหมือนเป็นประธานเทคนิคที่คอยเก็บข้อมูล ชี้ให้เห็นจุดอ่อนจุดแข็ง และที่สำคัญที่สุดคือเขาเข้ามาทำหน้าที่เคลียร์เรื่องเอกสารด้วยตัวเองทั้งหมด ซึ่งตอนนี้ปัญหาที่เคยมีโดนแก้ไปทีละเปราะ จนกระทั่งสุดท้ายปัญหาใหญ่ที่สุดอย่าง "วีซ่า" ก็ถูกจัดการจนเด็กๆ ที่ อูกันดา พร้อมที่จะออกไปลุยในต่างแดนแล้ว

"งานเอกสารเป็นเรื่องที่ปวดหัวมากเลยในแอฟริกา" อีแวน ว่าไว้เช่นนั้น เพราะตัวเขามีตำแหน่งเป็นผู้ช่วยโค้ช ที่นอกจากจะสอนเรื่องการเล่นเป็นงานหลักแล้ว ายังต้องดูแลเรื่องเอกสารต่างๆ ในการแข่งขันด้วย   

ความสามารถ, พละกำลัง, แท็คติก, เอกสาร และความมุ่งมั่นของทีม อูกันดา ดีที่สุดในรอบหลายปีภายใต้การทำงานหนักของ 2 โค้ชต่างสัญชาติ พวกเขาประกอบทีมทีละเล็กทีละน้อย จนสุดท้ายทุกอย่างก็เข้าสู่เส้นทางที่ท่านประธาน ริชาร์ด สแตนลี่ย์ ได้วางเอาไว้นั่นคือการพาทีมกลับไปแข่งยังรายการ ลิตเติล เวิลด์ ซีรี่ส์ ให้ได้  

เมื่อทุกอย่างเริ่มไปในทิศทางของการเกาถูกที่คันจึงทำให้ สแตนลี่ย์ หันมาเทงบให้กับทีม เบสบอล เพิ่มขึ้นภายในระยะเวลาแค่ปีเดียว เขาพร้อมสนับสนุนทีมแห่งความหวังนี้เต็มที่ "ผมประทับใจมาก เด็กๆแสดงให้เห็นว่าสิ่งที่พวกเขาต้องการคือแค่ให้พวกเขาได้ลงเล่น สายตาของพวกเขาบอกกับผมว่า "ได้โปรดให้โอกาสผม ให้โอกาสพวกเราได้แข่งขันด้วย" นี่คือสายตาที่คุณไม่มีทางได้เห็นในอเมริกาแน่นอน" ริชาร์ด สแตนลี่ย์ ผู้ก่อตั้งโรงเรียนกล่าว 

 7

นอกจากการมีผู้ช่วยโค้ชคนใหม่ โค้ชคนใหม่ และงบประมาณก้อนใหม่แล้ว สิ่งที่จะขาดไปไม่ได้เลยคือแรงสนับสนุนจากครอบครัวของเด็กๆ ในโรงเรียนที่แทบไม่เคยได้รับมาก่อน อย่างที่รู้กัน พ่อ-แม่ ชาวอูกันดานั้นมีความฝันที่อยากให้ลูกๆ ของพวกเขาเติบโตเป็นเจ้าคนนายคน ทำงานที่ใช้ความรู้และได้รับเงินเดือนสูงๆ มากกว่าการเป็นนักกีฬาที่มีเพียงจำนวนหยิบมือเท่านั้นที่จะประสบความสำเร็จในบั้นปลาย ดังนั้นการซ้อมเบสบอลทำให้เด็กๆ ต้องเสียเวลาอ่านหนังสือไปบ้างในช่วงหลังเลิกเรียน 

และที่สำคัญที่สุดคือการต้องพาทีมไปแข่งรอบคัดเลือกที่ประเทศโปแลนด์นั้นเป็นปัญหาใหญ่ที่สุดเพราะที่ อูกันดา ไม่มีสถานทูตโปแลนด์ เด็กๆ ต้องนั่งรถบัสของโรงเรียนออกไปไกลอีกเป็นวันๆ เพื่อไปยังประเทศ เคนย่า เพื่อขอ วีซ่า ออกนอกประเทศ ซึ่งต้องขออนุญาตผู้ปกครองของเด็กๆสำหรับการเดินทางไกลขนาดนี้ และพวกเขาก็เลือกตอบ "ตกลง" เพราะมันเป็นเรื่องที่ใกล้ความจริงเข้าทุกขณะ ลูกๆ ของพวกเขากำลังจะได้ประสบการณ์สำคัญในแบบที่เงินซื้อไม่ได้

 8

ทีม อูกันดา เดินทางจากแอฟริกันข้ามไปยุโรปยังประเทศโปแลนด์ นี่คือการเดินทางมายังสถานที่ที่ทั้งโค้ชและผู้เล่นในทีมไม่เคยสัมผัสมาก่อน และเมื่อมาถึงสนาม เอ็ดเวิร์ด เจ พิสเซ็ก ซึ่งเป็นสังเวียนตัดสินหาก อูกันดา ชนะพวกเขาจะได้แข่งรอบสุดท้ายและเจอกับยอดทีมจากทั่วโลกที่ วิลเลี่ยมสัน สปอร์ตส์ ประเทศสหรัฐอเมริกา

อีแวน นั้นเข้าใจว่าเด็กอาจจะต้องกดดันและเกิดการสั่นเดิมพันกับศึกใหญ่ที่ไม่เคยเจอแบบนี้ ตอนประชุมทีมเขาคิดคำพูดที่จะมาปลุกใจเด็กๆ มากมาย ทว่าเมื่อถึงสถานการณ์จริงเขาไม่ต้องใช้มันเลยแม้แต่น้อย เพราะภาษากายของเด็กๆ ทุกคนแสดงออกอย่างชัดเจนว่า "เราพร้อมแล้ว"

 q

"เราทุกคนรู้ว่าจะต้องทำสิ่งต่างๆ มากมายเพื่อคนเบื้องหลังอีกหลายๆ คนและผู้ที่สนับสนุนเรื่องเงินที่ทำให้เรามาถึงจุดนี้ มันคือแรงจูงใจที่ยิ่งใหญ่มาก เรื่องนี้มันยากยิ่งกว่าการลงไปแข่งกับโปแลนด์ให้ชนะเสียอีก" อีแวน พูดแทนเด็กๆ ของเขา

และมันก็ง่ายจริงๆ อูกันดา ชนะ 5 เกมรวดที่โปแลนด์ สกอร์รวมคือ 64-2 พวกเขาจะได้ไปที่อเมริกาแล้ว แต่เด็กๆ ไม่ได้ฉลองกันจนลืมไปว่านี่คือก้าวแรก ไม่มีงานเลี้ยง ไม่มีพิธีมอบรางวัลอะไร พวกเขาแค่เฮให้สุดเสียงหลังชัยชนะ ขณะที่เด็กบางคนตีลังกากลับหลังเพื่อฉลองเท่านั้น เพราะพวกเขารู้ดีว่านี่คือมีอะไรรออยู่ที่อเมริกา

ไปโว้ยพวกเรา!

เมื่อถึงรอบสุดท้าย ณ วิลเลียมสัน สปอร์ตส์ ตามธรรมเนียมแล้วทุกทีมที่เข้าแข่งขันจะต้องเดินพาเหรดลงสนามเหมือนกับพิธีเปิดในการแข่งขันกีฬาระดับโลกทั่วไป 

 9

แม้มันจะเป็นสิ่งที่เรียบง่าย แต่สำหรับเด็กๆ ที่มาจากประเทศที่ยากจนระดับท็อป 20 ของโลกแล้วมันคือการเดินที่พวกเขารู้สึกเป็นผู้มีเกียรติและได้การยอมรับมากที่สุดในชีวิต ... และหลังจากพิธีจบลงเจ้าภาพอย่าง อเมริกา ต้อนรับทุกทีมด้วยน้ำอัดลม, ลูกกวาด และขนมที่เด็กๆ จาก อูกันดา ไม่เคยเห็น สิ่งนี้ต่างหากที่เป็นความตื่นเต้นของพวกเขายิ่งกว่าการลงแข่งขันเสียอีก

"เด็กๆ ดีใจกันมากในแบบที่ผมไม่เคยเห็นมาก่อน มันคือวินาทีที่ยิ่งใหญ่สำหรับผมแล้ว ทุกสิ่งหยุดเคลื่อนไหวเมื่อเห็นพวกเขาแสดงความรู้สึกแบบนั้นออกมา" อีแวน เล่าถึงเหตุการณ์ที่ทำให้เขารู้สึกว่าชีวิตนี้ช่างมีค่าเหลือเกินเมื่อได้รับผิดชอบงานนี้ 

ช่วงเวลาแห่งความดีใจเสร็จสิ้นลงอย่างรวดเร็ว อูกันดา ต้องเตรียมตัวเพื่อลงสนามในสังเวียนที่ทีมจากแอฟริกาไม่เคยเอาชนะใครได้ อีแวน เริ่มถามเด็กๆ ว่ารู้สึกอย่างไรเมื่อ ณ ตอนนี้คนหลายพันคนซื้อบัตรเข้าชมการเล่นของพวกเขา และการแข่งขันครั้งนี้จะถูกถ่ายทอดสดไปทั่วโลก ที่สำคัญที่สุดคือพวกเขากำลังจะเจอกับทีมแกร่งอย่าง สาธารณรัฐโดมินิกัน ประเทศที่นิยมเล่นเบสบอลและมีนักกีฬาเก่งๆ ในลีกของอเมริกาหลายคนทั้ง เดวิด ออร์ติซ, เปโดร มาร์ติเนซ และ แซมมี่ โซซ่า 

อัตราต่อรองในวันนั้นเรียกได้ว่า โดมินิกัน แทบจะปิดประตูแพ้ แต่ก่อนจะเริ่มแข่ง อาเดอี และ อีแวน ย้ำกับเด็กๆ ของพวกเขาให้เข้าใจอีกครั้งว่าทุกคนมาถึงจุดนี้ได้เพราะอะไร? และมาลงแข่งขันขั้นนี้เพื่อสิ่งใด? 

 10

"เรามาที่นี่ช็อคคนทั้งโลกเข้าใจนะทุกคน!" อีแวน เล่าให้ฟังถึงสิ่งที่เขาตะโกนปลุกเร้าเด็กๆ ทุกคน ... และลูกทีมของเขาตอบกลับด้วยปฎิกิริยาที่เหลือเชื่อ

"ผมบอกเด็กๆ ว่าคนจะดูเราเป็นพันคน เราจะออกทีวี และแน่นอนเราจะออกไปเล่นให้พวกเขาประทับใจ... ผมถามเด็กๆ ว่ากลัวไหม พวกเขาตอบว่า ไม่! พวกเขาไม่กลัวแม้แต่การจะออกไปทำอะไรที่มันผิดพลาดและน่าอาย แม้จะสู้ไม่ได้แต่พวกเขาแค่อยากจะลงไปแข่งขันเท่านั้น" อีแวน กล่าว 

ไม่ชื่อก็ต้องเชื่อ พลังจากความพยายามตลอดทั้งปีและแรงสนับสนุนที่มากแบบที่ไม่เคยมีมาก่อนทำให้เด็กน้อยจาก อูกันดา แสดงฟอร์มการเล่นในแบบที่แม้แต่ อีแวน และ โค้ชอาเดอี ต้องเซอร์ไพรส์ พวกเขาปูพรมถล่มหนึ่งในตัวเต็งอย่าง โดมินิกัน ไปเละเทะและจบการแข่งขันด้วยการเอาชนะถึง 4-1 เท่านั้นเองเรื่องราวของ อูกันดา ก็ถูกเขียนและปรากฎบนหน้าสื่อทั่วอเมริกา พวกเขามาเพื่อช็อคคนทั้งโลก และตอนนี้มันเป็นไปแล้ว 

สำนักข่าวใหญ่อย่าง ESPN จองคิวทำสกู๊ปของทีม อูกันดา เพื่อออกรายการดังอย่าง SportsCenter แทบจะทันที กองบรรณาธิการมั่นใจว่าเรื่องราวของทีมๆ นี้จะเป็นเรืองที่ยิ่งใหญ่มากกว่าใครจะเป็นแชมป์ในการแข่งขันครั้งนี้อีกด้วยซ้ำไป  

 11

เรื่องราวความยิ่งใหญ่ของเด็กๆ จากแอฟริกาถูกนำเสนอออกไปในทันที แม้จะไม่มีคนที่ อูกันดา บินตามมาเชียร์ถึง อเมริกา แต่ไม่จำเป็นอีกแล้ว เรื่องราวความเป็นนักสู้ของเด็กๆ ทุกคนประทับใจชาวอเมริกันเข้าอย่างจัง และในเกมที่พบกับ เวเนซูเอล่า เกมที่สอง เริ่มมีคนทำป้ายที่เขียนว่า "Go Go Uganda" (อูกันดา สู้ๆ) กันมากมายและยังมีเสียงเชียร์จากแฟนๆ ที่เข้ามาชมเกมนั้นดังตลอดทั้งเกมอีกด้วย

น่าเสียดายที่ปาฎิหาริย์เกิดขึ้นแค่หนเดียวใน "ลิตเติล ลีก เวิลด์ ซีรีส์ 2015" อูกันดา แพ้ให้กับ เวเนซูเอล่า ในเกมนั้น และอีก 2 วันต่อมาพวกเขาก็แพ้ให้กับ ไต้หวัน จนสุดท้ายก็ต้องตกรอบไป ... ทว่ามันเป็นการตกรอบไปพร้อมๆ กับรอยยิ้มและความภาคภูมิใจของเด็กๆ ทุกคน

"เด็กๆ ไม่ได้รู้สึกต่ำต้อยอะไรเลยในการตกรอบครั้งนี้ พวกเขารู้สึกเป็นเกียรติอีกต่างหากเพราะ ไต้หวัน เป็นทีมที่ดีมากๆ ในท้ายที่สุดแล้วทุกอย่างที่ผ่านมามันคือความภูมิใจของเรา" อีแวน รับหน้าที่ตอบผ่านสื่ออเมริกันแทนเด็กๆ ของเขา

"อย่าลืมนะว่าอย่างไรเสียพวกเขาก็เป็นแค่เด็ก นั่นแหละคือความสวยงามของการแข่งขัน ลิตเติล ลีก เวิลด์ ซีรีส์ มันเป็นอะไรที่เข้าใจง่ายสุดๆ พวกเขารักจะลงเล่นและเล่นได้ดีมากจริงๆ แม้ว่าที่สุดแล้วเด็กๆของเราไม่สามารถเฉิดฉายได้จนจบทัวร์นาเม้นต์ก็ตาม"

เท่านี้ก็ชนะแล้ว

หลังจากการเดินทางกลับเด็กๆ ทีเป็นตัวแทนของประเทศได้รับการต้อนรับจาก ชาวอูกันดา อย่างล้นหลาม ไม่ต่างอะไรกับฮีโร่เหรียญทองโอลิมปิก แม้ว่าจะไม่ได้แชมป์แต่เด็กๆ ก็ทำให้เกิดความหวังในกีฬาเบสบอลสำหรับชาวอูกันดามากขึ้น ซึ่งตัวของ อีแวน เรียกมันว่า "ภารกิจที่ยังไม่ลุล่วง" เพราะว่าทุกคนคาดหมายจะกลับไปแข่งในระดับโลกให้ได้อีกครั้ง

 12

อย่างไรก็ตามในปี 2016 ที่ อีแวน, อาดีอี และมิสเตอร์สแตนลี่ย์พยายามจะส่งทีมเข้าแข่งขันอีกครั้ง พวกเขากลับโดนปฎิเสธเนื่องจากมีกฎบางข้อที่เปลี่ยนไปจนทีมเขาไม่สามารถลงแข่งขันได้

เรื่องที่ว่านั้นก็คือ โรงเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านกีฬานั้นจะถูกฝ่ายจัดฯ ห้ามส่งทีม ซึ่งในกรณีของโรงเรียน เดอะ อัลเลน วีอาร์ สแตนลี่ย์ นั้นก็คงเป็นเรื่องที่ว่า ทั้งประเทศอูกันดา พวกเขาเก่งอยู่เพียงโรงเรียนเดียว และไร้คู่แข่ง มันจึงดูเป็นรายการคัดเลือกที่ไม่สมเหตุสมผลเมื่อเทียบกับตัวแทนจากชาติอื่นๆ

"เราต้องการจะชนะการแข่งขันในสักวันหนึ่ง แต่เราแทบไม่ต้องเหนื่อยทำวีซ่าเลยสำหรับปี 2016 เพราะฝ่ายจัดบอกว่า "ไม่" คำเดียว" 

"กฎก็คือกฎ ที่ อูกันดา ไม่มีที่ใดๆ สำหรับเด็กๆ ให้เล่นเบสบอลในก่อนหน้านี้ แต่เราก็ทำได้ เรามีผู้เล่นกว่า 150 คนที่มาเล่นในสนามที่โรงเรียนทุกๆ วัน" อีแวน เริ่มต้นประโยคด้วยความสดใสก่อนจะเปลี่ยนเข้าสู่โหมดของความผิดหวังว่า 

"แต่มันก็น่าเศร้าจริงๆ เราพยายามที่จะพัฒนาเบสบอลของที่นี่ และมันไม่ใช่งานแล้วแต่มันคือการตกหลุมรัก มันค่อนข้างน่ากังวลเพราะการแข่งขันระดับโลกนั้นทำให้เราสามารถพัฒนาไปจนถึงสิ่งที่เราหวังได้" 

 13

แท้จริงแล้วเหตุผลที่ อีแวน และกลุ่มผู้ใหญ่ในทีมทุกคนหวังไว้ไม่ใช่แค่การไปแข่งรายการระดับเยาวชน ลึกๆ แล้วแผนงานของทุกคนที่นี่คือการทำให้ทีม อูกันดา ผ่านรอบคัดเลือกไปแข่งขัน เบสบอล ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ดังนั้นการถูกตัดจากการแข่ง ลิตเติล ลีก เวิลด์ ซี่รี่ส์ แบบนี้ ก็เป็นเหมือนการหักบันไดขั้นสำคัญของทีม อูกันดา ทิ้งดีๆ นี่เอง

แท้จริงแล้วเหตุผลที่ อีแวน และกลุ่มผู้ใหญ่ในทีมทุกคนหวังไว้ไม่ใช่แค่การไปแข่งรายการระดับเยาวชน ลึกๆ แล้วแผนงานของทุกคนที่นี่คือการทำให้ทีม อูกันดา ผ่านรอบคัดเลือกไปแข่งขัน เบสบอล ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก 2020 ที่กรุงโตเกียว ดังนั้นการถูกตัดจากการแข่ง ลิตเติล เวิลด์ ซี่รี่ส์ แบบนี้ ก็เป็นเหมือนการหักบันไดขั้นสำคัญของทีม อูกันดา ทิ้งดีๆ นี่เอง

"เอาล่ะ แต่ผมยังพยายามทำทุกสิ่งเท่าที่จะทำได้ ... ผมไม่ยอมแพ้กับเรื่องแค่นี้หรอก ทุกคนรู้ว่ามันยากมากกับสิ่งที่เราพยายามทำ ทุกครั้งที่ผมกลับไปที่บ้าน (อเมริกา) ทุกคนในครอบครัวมักจะสงสัยในงานที่ทำและถามตลอดว่าสิ่งที่ผมทำอยู่นี้มันดีจริงหรือเปล่า?" จากบัณฑิตจอมมึนในอดีต อีแวน เพ็ตตี้ ถูก อูกันดา หลอมรวมและเปลี่ยนไปเป็นคนละคน ... นี่คือสิ่งที่มนุษย์ทุกคนมักจะถามตัวเองตลอดว่าเราเกิดมาเพื่ออะไร? แต่สำหรับ อีแวน คำตอบนี้ของเขาถูกเฉลยออกมาแล้ว

"แม้มันจะดูน่าเศร้าแต่ผมบอกว่า "ใช่ ผมจะทำ" ทุกครั้ง ผมอยากจะทำแบบที่ผมทำต่อไป อยู่ที่นี่เพื่อดูการเติบโตและช่วยเหลือทุกคนๆ เท่าที่จะทำได้" อีแวน กล่าวทิ้งท้าย 

 14

อย่างน้อยๆ ในตอนนี้เด็กๆ ในอูกันดาก็หันมาเล่นเบสบอลกันมากขึ้น จากมีตัวเลือกแค่หลักสิบ ทุกวันนี้พวกเขามีนักเบสบอลเยาวชนให้เลือกใช้ถึงหลักร้อยแล้ว แม้จะไม่ใช่จำนวนที่มากมายอะไรหากทีมกับชาติอื่นๆ แต่ทีมจาก อูกันดา ทีมนี้ที่เป็นศูนย์รวมตัวของเด็กๆ ที่มีภูมิหลังไม่ดี และต้องใช้ของบริจาคจากที่อื่นมาโดยตลอด แม้ถุงมือเบสบอลอันเดียวก็ยังต้องผลัดเปลี่ยนกันใช้ แต่แค่นี้ก็ถือว่าเป็นเรื่องราวที่ไม่มีใครคาดคิดแล้ว 

เหนือสิ่งอื่นใดคือเด็กๆ ทำให้เจ้าของโรงเรียนอย่าง มิสเตอร์สแตนลี่ย์ เข้าใจ เขาเป็นชายวัย 72 ปี ที่ผ่านโลกมาเยอะ เขาอาจจะไม่มองไปที่อารมณ์ร่วมเหมือนกับโค้ชหรือเด็กๆ แต่มุมมองของเขาก็มีประโยชน์และทำให้ทุกคนในทีม อูกันดา ยังเชื่อมั่นว่าสักวันจะต้องมีปาฎิหาริย์ครั้งที่ 2 เกิดขึ้นเหมือนกับในปี 2015 แน่นอน 

เขาคือชายที่บ้าเบสบอลมาตั้งยังเป็นวัยรุ่น เขายังจำได้ดีตอนที่เขายังหนุ่มเมื่อ 50 กว่าปีก่อน หากทีมใดใน เมเจอร์ลีก เลือกเซ็นสัญญาผู้เล่นจาก โดมินิกัน ทีมนั้นจะต้องโดนดูถูกหัวเราะเยาะเพราะตอนนั้น โดมินิกัน ถือว่าใหม่มากสำหรับโลกเบสบอล แต่ทุกวันนี้ทุกอย่างเปลี่ยนไป ผู้เล่น โดมินิกัน ในเมเจอร์ลีกมากขึ้นเรื่อยๆ และมีหลายคนที่มีฝีมือจริงๆ  

ท้ายที่สุด สิ่งที่สแตนลี่ย์เห็นและหวังจากเด็กๆ ที่ อูกันดา ของเขาก็คือ เขาไม่ต้องการให้เด็กเหล่านี้เป็นนักเบสบอลเก่งๆ เหมือนผู้เล่นอเมริกัน เขาขอแค่ให้ อูกันดา เริ่มผลิตผู้เล่นเบสบอลที่เล่นได้จริงๆ ขึ้นมาเรื่อยๆ เหมือนที่ โดมินิกัน เคยเป็นในอดีต และวันหนึ่ง อูกันดา จะไม่ใช่ประเทศที่ชนะการแข่งแค่ครั้งเดียวแล้วดังไปทั้งโลก แต่จะเป็นประเทศที่ใช้เบสบอลขับเคลื่อนความฝันที่จะมีชีวิตที่ดีสำหรับเด็กๆ ทั่วประเทศได้ 

"ผมคิดว่า อูกันดา สามารถเป็น "เน็กซ์ โดมินิกัน" ได้... ในสักวันหนึ่ง" มิสเตอร์สแตนลี่ย์ ทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ แอฟริกาโคชิเอ็ง : เมื่อทีมโรงเรียนจาก "อูกันดา" อยากเป็นแชมป์โลกเบสบอล

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook