SIDE STAND | เจน ชาลินี : ช่างภาพหญิงแกร่งที่ปรับจังหวะชีวิตด้วยการออกกำลังกาย

SIDE STAND | เจน ชาลินี : ช่างภาพหญิงแกร่งที่ปรับจังหวะชีวิตด้วยการออกกำลังกาย

SIDE STAND | เจน ชาลินี : ช่างภาพหญิงแกร่งที่ปรับจังหวะชีวิตด้วยการออกกำลังกาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เจน ชาลินี คือ ช่างภาพกีฬาผู้หญิงคนแรกๆของเมืองไทย แม้เธอจะมีโครงสร้างร่างกายที่แตกต่างกับผู้ชาย แต่เธอก็พิสูจน์ให้เห็นว่าทั้ง ฝีมือในการถ่ายภาพ และความแข็งแรงของร่างกาย ไม่ได้เป็นรองผู้ชายแม้แต่น้อย

เล่าโดย : ชาลินี ถิระศุภะ

“ในตอนนั้น เราเป็นช่างภาพผู้หญิงเพียงคนเดียวในสายกีฬา เคยโดนดูถูกเหมือนกันว่า ‘เราจะสามารถทำงานแบบนี้ได้ไหม’ เพราะการเป็นช่างภาพกีฬา คุณต้องใช้ร่างกายมากพอสมควร ในการเคลื่อนไหว และแบกอุปกรณ์หลายชิ้น อย่างของเรา มี บอดี้กล้อง 2 ตัว เลนส์ 4 ตัว โน๊ตบุค 1 ตัว ที่ต้องยกไปด้วยตลอด ไม่สามารถวางทิ้งได้”

1

“ถึงเราจะเป็นคนที่เล่นกีฬามาตั้งแต่สมัยเรียน แต่เราเล่นเฉพาะกีฬาประเภททีม เราไม่ค่อยเล่นกีฬาหรือการออกกำลังกาย ที่ต้องทำด้วยตัวคนเดียว พอเข้าสู่วัยทำงาน เราก็ห่างหายจากการออกกำลังกาย ไม่ได้ดูแลตัวเอง”

“จนมาถึงจุดหนึ่ง เราเริ่มมีปัญหาสุขภาพ ปวดคอ บ่า ไหล่ เหมือนกล้ามเนื้อมันกดทับ บางวันต้องถ่ายรูปทั้งที่คอเอียงไปข้างหนึ่ง ก็ลองทำทุกวิถีทาง ตั้งแต่ซื้อหมอนอบสมุนไพรที่เขาว่าดี กินยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งมันก็ช่วยได้แค่ระยะหนึ่ง สักพักอาการปวดก็กลับมาอีก”

 3

“เคยไปให้หมอนวดประจำทีมฟุตบอล (บีจี ปทุม ยูไนเต็ด) ช่วยนวดให้หน่อย อาการก็ดีขึ้นแต่ไม่หายขาด เคยไปทำกายภาพที่ศูนย์กายภาพฯ เพราะเราไม่อยากกินยาแล้ว ไปมาสองครั้ง มันทรมานมาก ไม่อยากไปอีก จึงเริ่มหาข้อมูลในอินเตอร์เนต และได้พบว่าการทำ เวท เทรนนิ่ง เพื่อเสริมกล้ามเนื้อเฉพาะจุด มันสามารถช่วยได้”

 6

“เราจึงเริ่มหันมาออกกำลังกาย โดยเริ่มจากการเล่น เวท เทรนนิ่ง พอเล่นไปได้สักระยะ เรารู้สึกร่างกายฟิตขึ้น อาหารปวดคอ บ่า ไหล่ หายไป และไม่เคยกลับมาเป็นอีกเลย แถมยังช่วยให้ เข่า สะโพก หลัง แข็งแรงขึ้น เพราะกล้ามเนื้อทุกส่วนมันสัมพันธ์กัน ทำให้เราทำงานได้ง่ายขึ้น คล่องตัวขึ้น”

 10

“อย่างการถ่ายภาพฟุตบอล ในหนึ่งเกม ช่างภาพทุกคนมีเวลาเท่ากันคือ 90 นาทีในสนาม แต่เราจะทำอย่างไรให้ตัวเองสามารถเก็บภาพได้ครบถ้วน ทั้งมุมบน มุมล่าง ด้านข้าง รวมถึงบรรยายกาศกองเชียร์ ไม่ใช่แค่ถ่ายภาพแอคชั่นในสนามอย่างเดียว ถ้าเป็นช่วงก่อนที่เราจะหันมาออกกำลังกาย เราใช้เวลาเดินขึ้นด้านบนสุดของอัฒจันทร์ประมาณ 15-20 นาที แต่ทุกวันนี้เราเดินขึ้นสบายๆเลย 5 นาที ทำให้มุมภาพของเรามีความหลากหลายขึ้น”

 15

“สำหรับเรา ขั้นตอนที่ยากสุดในการออกกำลังกาย คือ ช่วงเริ่มต้น เพราะเป็นการต่อสู้ระหว่างสิ่งที่ถูกต้อง กับสิ่งที่ถูกใจ บางครั้งเราต้องยอมทำในสิ่งที่ตัวเองไม่ชอบบ้าง”

“เช่น การตื่นเช้ามาออกกำลังกาย การต้องอดทนกับความเหนื่อย หรือเรื่องการกิน บางทีเราก็อยากกินของมัน ของทอด แต่เราต้องหักดิบเลิกกินพวกนั้น เลิกกินขนมหวาน น้ำอัดลม ทำอาหารกินเอง ปรับเวลานอนทุกอย่าง เราต้องทำให้มันกลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเรา แล้วจะเริ่มชิน ไม่ได้รู้สึกฝืน”

 18

“หลังจากนั้น เราเริ่มหันมา วิ่ง  แม้เราจะเปลี่ยนมาทำงานเป็น ช่างภาพข่าว และช่างภาพฟรีแลนซ์ ซึ่งเป็นอาชีพที่มีเวลาว่างไม่แน่นอน ตามสถานการณ์ และเหตุการณ์แต่ละวัน ยากที่จัดตารางโปรแกรมการฝึกซ้อมได้เหมือนพนักงานบริษัท ที่เขารู้ว่า 4 โมงเย็นเป็นเวลาเลิกงาน”

“เราเลือกที่ปรับโปรแกรมตามงานในแต่ละวัน เช่น ถ้าเรามีงานตอน 8-9 โมงเช้า เราก็จะตื่นมาประมาณตี 5 ครึ่ง เพื่อเตรียมออกไปวิ่งสัก 10 กิโลเมตร ถ้าไม่ได้จริงๆ ต้องไปทำงานต่างจังหวัด ก็ทำบอดี้ เวท ในห้อง แม้แต่ออกกำลังกายตอนกลางวัน เราก็เคยทำมาแล้ว เพราะมีงานเช้า กับเย็น ว่างแค่ตอนกลางวันจริงๆ คนทุกคนมีเวลาว่าง ขึ้นอยู่กับการจัดสรรเวลา”

20

“อย่างคนที่เป็นมือใหม่ ก็ไม่จำเป็นต้องออกกำลังกายหนักๆ ลองวิ่งสัก 3-5 กิโลเมตร ควบคุมอาหารให้ดี หรือออกกำลังกายอย่างน้อยวันละ 15-20 นาที ก็ยังดีกว่าไม่ทำอะไรเลย เราเชื่อว่าหากเขาทำอย่างสม่ำเสมอ เขาจะได้เห็นความแตกต่าง และมีสุขภาพที่ดีขึ้น”

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ

อัลบั้มภาพ 20 ภาพ ของ SIDE STAND | เจน ชาลินี : ช่างภาพหญิงแกร่งที่ปรับจังหวะชีวิตด้วยการออกกำลังกาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook