อัจฉริยะสร้างได้ : สำรวจความคิดและเบื้องหลังชีวิต "น้องพิ้งค์" สุดยอดนักแบดมินตันวัย 12 ปี

อัจฉริยะสร้างได้ : สำรวจความคิดและเบื้องหลังชีวิต "น้องพิ้งค์" สุดยอดนักแบดมินตันวัย 12 ปี

อัจฉริยะสร้างได้ : สำรวจความคิดและเบื้องหลังชีวิต "น้องพิ้งค์" สุดยอดนักแบดมินตันวัย 12 ปี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากคุณเสิร์ช คำว่า “น้องพิ้งค์” ลงบนกูเกิล ผลลัพธ์ที่ได้กลับมา จากเว็บเสิร์ชเอ็นจิ้น ชื่อดัง คือรูปภาพของสาวน้อยหน้าหวาน และข่าว เกี่ยวกับเรื่องราวของนักแบดวัย 12 ปี จากจังหวัดเชียงใหม่ ที่ชื่อ พิชฌามลณ์ โอภาสนิพัทธ์ หรือที่สื่อเรียกเธอว่า น้องพิ้งค์

ชื่อเสียงของเธอ ได้รับการจับตามองไม่น้อย ในวงการแบดมินตันไทย หลังจากกวาดแชมป์ ในระดับเยาวชนมากมายหลายรายการ ทั้งในประเทศไทย และต่างประเทศ 

ความอยากรู้จักในตัวเธอ เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้เขียนจึงออกเดินทางจากกรุงเทพมหานครฯ สู่จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อพูดคุย กับเด็กสาวมหัศจรรย์คนนี้ 

ระหว่างนั่งรถมอเตอร์ไซค์ เพื่อออกจากตัวเมืองเชียงใหม่ ไปอีก 10 กิโลเมตร เพื่อพูดคุยกับเธอ ความกังวลใจ เกิดขึ้นในตัวของผู้เขียน การพูดคุยกับเด็กวัย 12 ปี บางครั้งไม่ใช่สิ่งที่ง่ายนัก เมื่อเปรียบเทียบกับผู้ใหญ่ ที่เติบโต และเข้าใจโลกใบนี้มากกว่า

 

ผู้เขียนพาตัวเอง มาหยุดที่สนามแบดฯ ขนาดเล็กแห่งหนึ่ง เมื่อเดินเข้าไปในสนามบิน จึงได้เห็นหญิงสาวหน้าใส กำลังมุ่งมั่นฝึกซ้อมอยู่ในคอร์ต ซึ่งเรารับรู้ได้ทันทีว่า เธอคนนั้นคือน้องพิ้งค์

เมื่อการสัมภาษณ์เริ่มต้น ผู้เขียนได้รับรู้ว่า อายุ 12 ปี เป็นเพียงแค่ตัวเลข เด็กคนนี้เติบโต มากกว่าที่คิดไว้ และกลายเป็นสาเหตุสำคัญ ที่ทำให้เธอก้าวขึ้นมาเป็นนักแบดมินตันที่น่าจับตาอีกคนหนึ่งของประเทศไทย

เด็กระเบิดแห่งวงการลูกขนไก่

“หนูเริ่มเข้าสนาม ตั้งแต่อายุ 1 ขวบค่ะ เพราะคุณพ่อของหนู (พิพัฒน์ โอภาสนิพัทธ์) เป็นโค้ชสอนแบดมินตันอยู่แล้ว ออกจากโรงพยาบาล ได้ไม่นาน คุณพ่อก็พามาที่สนามแบดเลยค่ะ” น้องพิ้งค์ ย้อนถึงจุดเริ่มต้นกับกีฬาแบดมินตัน

1

“หลังจากนั้น อายุประมาณสัก 2-3 ขวบ หนูเริ่มจับไม้มาตีเอง เพราะเห็นพี่ๆคนอื่นเล่นกัน แล้วรู้สึกว่า มันน่าสนุกดี หนูก็ตีเล่นๆ ทำท่าตีเลียนแบบพี่ๆ คนอื่นที่เขาเล่นกัน จับไม้มาตีลูกอัดกับกำแพงบ้าง ตีเล่นกับคุณพ่อบ้าง หลังคุณพ่อสอนแบดมินตันเสร็จ”

ความสนุก ในกีฬาแบดมินตัน ที่ก่อตัวข้างคอร์ตแบด ของน้องพิ้งค์ ไม่พ้นสายตาของคุณพ่อพิพัฒน์ เมื่ออายุน้องพิ้งค์นับขึ้นเลข 4 คุณพ่อจึงพาเธอมาเริ่มฝึกฝนตีแบดมินตันอย่างจริงจัง เหมือนนักแบดคนอื่นทั่วไป 

พรสวรรค์ ที่อยู่ในตัว บวกกับการฝึกสอนที่เข้มข้น ทำให้ฝีมือในการเล่นแบดมินตันของน้องพิ้งค์ พัฒนาอย่างรวดเร็ว ด้วยวัยเพียง 5 ปี น้องพิ้งค์จึงได้เริ่มต้นลงชิมลางการแข่งขันอย่างเป็นทางการ ครั้งแรก ที่จังหวัดเชียงใหม่

“หนูไม่ได้คิดถึงผลแพ้ชนะเลยค่ะ คิดแค่ว่าเราเล่นแบดมินตัน ลงไปเล่นให้สนุกก็พอ” น้องพิ้งค์ เล่าถึงความรู้สึก ที่ลงสนามแข่งขันเป็นครั้งแรก

“ตอนนั้นก็ซ้อมทุกวันนะคะ แต่ไม่ได้จริงจังอะไรมาก เพราะยังไม่รู้ว่าตัวเองจะไปได้ไกลแค่ไหน ช่วงแรกๆหนูแพ้บ่อยด้วย แพ้พวกรุ่นพี่ เพราะอายุแค่ 5-6 ขวบ ต้องแข่งรุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี”

2

เหตุผลที่น้องพิ้งค์ ต้องข้ามอายุ ลงเล่นในรุ่นอายุไม่เกิน 8 ปี เพราะนี่เป็นรุ่นอายุที่ต่ำที่สุด สำหรับการแข่งขันแบดมินตันในประเทศไทย อย่างไรก็ตามสำหรับน้องพิ้งค์ ความพ่ายแพ้ ไม่ใช่เรื่องที่แย่เสมอไป 

“เวลาที่เจอคนที่เก่งกว่า เราไม่จำเป็นต้องคิดว่า เราจะแพ้หรือชนะ เพราะมีแต่ผลดี ถ้าเราชนะ ก็ดีไป แต่ถ้าแพ้ เราก็ได้เรียนรู้ ได้เติบโตขึ้น เราไม่ต้องเครียด ไม่ต้องกดดัน ไปกับผลการแข่งขัน”

“พอตอนหนูอายุ 8 ขวบ หนูได้แชมป์สองรุ่น ทั้งอายุไม่เกิน 8 ขวบ กับ 10 ขวบ ตอนนั้นหนูเลยตัดสินใจ ฝึกซ้อมแบบเข้มข้น จริงจังค่ะ เพราะหนูรู้สึกแล้วว่า ตัวเราน่าจะมีความสามารถพอ ที่จะไปตามฝัน ไปได้ไกล ตามเป้าหมายที่หนูหวังไว้ คือ การไปแข่งขันชิงแชมป์โลก และกีฬาโอลิมปิก

3

“หลังจากได้แชมป์รุ่น 8 ขวบ ก็ค่อยๆขยับมาเป็นแชมป์รุ่น 10 ขวบ กับ 12 ขวบ พออายุ 11 ปี (ปี 2561) หนูก็ได้ไปแข่งแบดที่ต่างประเทศรายการแรก ชื่อว่า จายา รายา จูเนียร์ กรังด์ ปรีซ์ รุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ที่ประเทศอินโดนีเซีย และได้ตำแหน่งรองแชมป์” 

“มาปีนี้ ไปแข่งอีก ได้ตำแหน่งชนะเลิศ แล้วก็ไปชนะ การแข่งขันที่ญี่ปุ่น กับเกาหลีใต้ด้วยค่ะ”

อัจฉริยะต้องสร้าง

ด้วยรูปร่าง สรีระ ที่สูงใหญ่กว่าเด็กรุ่นราคราเดียวกัน ร่วม 170 เซ็นติเมตร ของน้องพิ้งค์ รวมถึงคำชมจากคนรอบด้าน ถึงพรสวรรค์ ในการใช้สกิลแฮนด์เวิร์ค (Handwork) ทำให้น้องพิ้งค์ ตีลูกได้แม่นยำ มีน้ำหนักที่ดี ซึ่งสามารถ สร้างความได้เปรียบ ในช่วงการแข่งขัน 

4

ด้วยพรสวรรค์ ที่ติดตัวมา ทำให้หลายคนมองว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกนัก ที่น้องพิงค์ จะประสบความสำเร็จ รวดเร็วขนาดนี้

“แต่หนูว่าการจะประสบความสำเร็จ มันอยู่ที่พรสวรรค์ และพรแสวง ถ้าไม่มีพรแสวง เก่งแค่ไหน เราก็ไปไม่ถึงเป้าหมาย” น้องพิ้งค์ แสดงความเห็น ที่แตกต่างออกไป ถึงที่มา ของความสำเร็จ

“ในหนึ่งสัปดาห์ หนูซ้อมทุกวันเลยค่ะ วันธรรมดาจะซ้อม 3 ชั่วโมง และวันเสาร์-อาทิตย์ จะซ้อมอีก 5 ชั่วโมง มีทั้งซ้อมตีลูกให้แม่นยำ ซ้อมลูกฝีมือ ที่จะให้เรามีทีเด็ด มากกว่าคนอื่น ซ้อมทักษะต่างๆ รวมถึงต้องฝึกวิ่ง ด้วยค่ะ เพื่อให้คล่องตัวในการเคลื่อนที่ เมื่อก่อนจะวิ่งสัปดาห์ละครั้ง แต่นับจากนี้ หนูจะวิ่ง เพิ่มเป็นสัปดาห์ละ สองครั้งแล้วค่ะ” 

“ถ้าถามหนูว่า ซ้อมหนักมากไหม หนักมากค่ะ” คำตอบของน้องพิ้งค์ ทำให้คุณพ่อพิพัฒน์ ที่นั่งอยู่ด้านข้าง ตอบกลับมาทันทีว่า “ไม่จริง พิ้งค์ซ้อมไม่หนักเลย ยังมีนักกีฬาแบดมินตัน อีกหลายคนซ้อมหนักกว่าพิ้งค์เยอะ”

5

ผู้เขียนให้เวลา พ่อ-ลูกนักแบด ถกเถียงเรื่องความหนัก ของการฝึกซ้อม อยู่ช่วงระยะหนึ่ง แต่การซ้อมทุกวัน อย่างน้อย 3 ชั่วโมง สำหรับเด็กหญิงคนหนึ่ง ตลอดช่วงหลายปี ถือว่าหนักไม่น้อย หากลองเปรียบเทียบกับ นักฟุตบอลอาชีพ ส่วนใหญ่ ในประเทศไทย ยังมีเวลาฝึกซ้อม เพียงแค่ 2 ชั่วโมงเท่านั้น

“กีฬาแบดมินตัน เป็นกีฬาที่ยากมากค่ะ ต้องใช้องค์ประกอบหลายอย่างของร่างกายในการเล่น ต้องมีความแข็งแรงของร่างกาย ความเร็วในการเคลื่อนที่ สภาพร่างกาย การใช้ความคิดในการอ่านเกม ฝีมือในการเล่นแบดมินตัน ก็ต้องมี ทั้งหมดนี้ต้องใช้รวมกัน ในการเล่นแบดมินตัน ก็ต้องฝึกหนักค่ะ” น้องพิ้งค์กล่าว ถึงเหตุผลที่เธอต้องซ้อมหนัก

6

กีฬาแบดมินตัน ไม่ได้เป็นเรื่องของกำลังเท่านั้น ความคิด คือ สิ่งสำคัญเช่นกัน ในกีฬาชนิดนี้ และเป็นเครื่องมือที่ใช้วัดความสามารถของนักแบดมินตันหลายคน รวมถึงตัวน้องพิ้งค์ ด้วยเช่นเดียวกัน

“ในกีฬาแบดมินตัน การใช้ความคิด สำคัญมากๆค่ะ เพราะจะช่วยให้การเคลื่อนที่น้อยลงมาก ถ้าเราอ่านเขาออก เราจะเคลื่อนที่น้อยลง เราคุมเกมได้ เราได้เป็นคนกำหนดเกม เราได้เปรียบ ถ้าเราอ่านไม่ออก เราก็เสียเปรียบ” 

“การเล่นแบดต้องแก้ปัญหา เฉพาะหน้า ให้เป็นด้วยค่ะ แบดมินตันคือกีฬา ที่ต้องใช้ความคิดเป็นระบบ คุณพ่อคุณแม่ บอกอยู่ตลอดว่า หนูต้องใช้ความคิดเยอะๆ”

7

“ตรงนี้หนูมองว่า เป็นเสน่ห์ของแบดมินตันนะคะ ทำให้หนูชอบแบดมินตัน เพราะช่วยเพิ่มความคิดสร้างสรรค์ให้เรา หนูต้องคิดตลอดเวลา ตอนเล่นแบด ต้องคิดล่วงหน้าตลอด ใช้ความคิดเยอะมาก หนูว่าแบดมินตัน ช่วยพัฒนา ความคิดของหนู ในทุกๆวัน”

“ถ้าถามว่า ความสำเร็จของหนู มาจากไหน หนูมองว่า ความสำเร็จของตัวหนูมาจากการฝึกซ้อม”

สิ่งที่สูญเสียไป

ในชีวิตประจำวันของน้องพิ้งค์ ไม่ได้มีบทบาทหน้าที่ เพียงแค่การเล่นกีฬาอย่างเดียว แต่รวมถึงภาระหน้าที่การเรียนหนังสือ ซึ่งเธอต้องเต็มที่ ไม่แตกต่างจากเด็กทั่วไป 

8

“หนูต้องแบ่งเวลาให้ดีค่ะ เวลาเรียนก็เรียน เวลาเล่นก็เล่น คุณพ่อบอกหนู ตั้งแต่เด็กว่า หนูต้องยอมเหนื่อยกว่าเด็กคนอื่น ถ้ามีการบ้าน ที่สั่งมาตอนเช้า ตอนเที่ยงหนูก็ต้องทำการบ้าน ต้องไม่ไปวิ่งเล่นกับเพื่อน”

“ส่วนการบ้านตอนเย็น ก็ค่อยๆทำช่วงที่มีเวลาว่าง หรือเก็บไปทำหลังซ้อมเสร็จ มีเวลาว่างช่วงไหน ต้องทำการบ้าน ค่อยๆทำ ค่อยๆเก็บไป จะไปวิ่งเล่นแบบคนอื่นไม่ได้ ต้องแบ่งเวลาทำงานให้ถูกต้อง”

สำหรับเด็กวัย 12 ปี การแบ่งเวลาชีวิต ไม่ต่างจากผู้ใหญ่วัยทำงาน เป็นภาระที่หนักหนาไม่น้อย ต้องมุ่งมั่นกับทั้งเรื่องเรียน และการเล่นกีฬา จนบางครั้ง หน้าที่ อันเกินวัยของเธอ ส่งผลให้ความเหนื่อย ความท้อใจ เข้าเป็นอุปสรรคของน้องพิ้งค์ 

9

“หลายๆครั้งค่ะ ที่หนูรู้สึกท้อกับแบดมินตัน จริงๆก็เป็นอยู่บ่อยๆ ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงสอบ ต้องอ่านหนังสือหนัก เรียนหนัก และก็ต้องซ้อมหนัก บางทีไปแข่งต่างประเทศ กลับมา หนูก็ต้องมาตามงานเยอะมาก”

“บางครั้ง หนูก็คิด ก็ถามตัวเองว่า ทำไมเราต้องซ้อมหนักขนาดนี้ ทำไมเราไม่มีเวลาไปวิ่งเล่น ไปสนุกสนาน กับเพื่อนคนอื่นบ้าง”

“หนูเคยไปถาม พ่อกับแม่ว่า ทำไมหนูไม่มีเวลาว่าง ไม่เวลาเล่น แบบคนอื่นบ้าง หนูอยากมีเวลา แบบนั้นบ้าง”

“หนูเคยถามตัวเองว่า เราเล่นแบดมินตันไปทำไม เล่นเพื่ออะไร บางทีหนูก็ไม่ได้คำตอบ แต่ทุกครั้ง หนูจะคิดถึงเป้าหมาย ของตัวเอง หนูอยากสร้างชื่อเสียงให้กับตัวเอง และประเทศชาติ ในฐานะนักแบดมินตัน คุณพ่อคุณแม่ก็บอกว่า เพราะหนูมีเป้าหมาย ที่ยิ่งใหญ่กว่าคนอื่น หนูจึงต้องยอมเสียสละ บางอย่างในวัยเด็ก”

10

บางเวลา แบดมินตัน ก่อให้เกิดความทุกข์ แก่น้องพิ้งค์ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะท้อขนาดไหน เด็กสาวคนนี้ ไม่เคยคิด จะเลิกเล่นกีฬาแบดมินตัน เพราะเธอรู้ดีว่า แบดมินตัน คือกีฬาที่เธอรัก และมอบความสุข ให้เธอได้อย่างแท้จริง 

“หนูใช้ความสุข เป็นแรงผลักดัน ในการเล่นแบดมินตัน หนูรักแบดมินตัน มากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เคยลดลง ยิ่งตี ยิ่งสนุกกับมัน แค่มีความสุขที่ได้เล่นแบดมินตันในทุกวันก็พอแล้ว”

“ถ้าสมมติ วันหนึ่ง หนูเกิดบาดเจ็บ เล่นแบดมินตัน ไม่ได้อีกแล้ว หนูคงจะเสียใจมากๆ”

การเรียนรู้ ไม่มีที่สิ้นสุด

“ตอนนี้ผมและทางโค้ชมองว่า น้องพิ้งค์ สามารถทำผลงานได้ดีมากแล้ว ในรุ่นอายุไม่เกิน 15 ปี ต่อไปหลังจากนี้ เราลองส่งน้องพิ้งค์ แข่งในรุ่นอายุไม่เกิน 17 ปี และ 19 ปี เพื่อวัดความสามารถของน้องพิ้งค์ ว่าอยู่ในจุดไหน ก่อนหน้านี้ ผมเคยส่งน้องพิ้งค์ ไปแข่งกับรุ่นผู้ใหญ่ปกติ มาแล้ว” คุณพ่อของน้องพิ้งค์ กล่าวถึงเป้าหมายต่อไป ของนักแบดรุ่นเยาว์ ในอนาคต

11

การแข่งขันข้ามอายุ ไม่ใช่เรื่องง่าย ที่จะได้รับชัยชนะ ในการแข่งขันกีฬาทุกประเภท แต่สำหรับน้องพิ้งค์ เธอมองเห็นบางสิ่ง ที่มีคุณค่ามากกว่าชัยชนะ

“แพ้หรือชนะก็ไม่เป็นไรค่ะ เราต้องได้รู้ตัวเองว่า เรามีความสามารถ มากแค่ไหน หาข้อบกพร่อง ปรับวิธีการเล่น พัฒนาตัวเองต่อไป”

“ทุกครั้งที่หนูไปแข่ง หนูจะพยายาม ดูข้อเสียของตัวเองอยู่ตลอด โดยเฉพาะเวลาที่แพ้ หนูไม่เคยท้อนะคะ เพราะเวลาหนูแพ้ มันจะยิ่งกลับมาเป็นแรงผลักดันให้ตัวเราเอง”

“ยิ่งเราแพ้ เรายิ่งต้องตั้งใจซ้อม แก้ไขข้อผิดพลาดของตัวเอง เพราะความผิดพลาดในอดีต เรากลับไปแก้ไขอะไรไม่ได้แล้ว แต่หนูต้องจดจำข้อบกพร่องตรงนั้น เอามาแก้ไขตัวเราเอง”

“หนูคิดว่า ตัวเราเอง แพ้บ้างก็ดีค่ะ ถ้าไม่แพ้ ก็ไม่รู้ข้อผิดพลาดของตัวเอง สิ่งสำคัญคือเราต้องตั้งใจ ฝึกซ้อม ไม่ว่าโค้ชจะให้โปรแกรมซ้อม โหดหนักขนาดไหน เราต้องทำหน้าที่ของเรา ตั้งใจซ้อมต่อไป”

12

“หนูมองว่า เส้นทางของหนู ตอนนี้หนูเพิ่งเริ่มต้นเท่านั้น มันยังอีกยาวไกล กว่าหนูจะเดินทาง ไปสู่ความฝันสูงสุด ของหนูได้จริงๆ”

“เป้าหมายในตัวเรา คือสิ่งสำคัญ ถ้าเราอยากประสบความสำเร็จ เพราะถ้าไม่มีเป้าหมาย เราก็ไม่รู้ว่าทำมันไปเพื่ออะไร”

“แต่ถ้ามีเป้าหมาย เช่น อยากเป็นนักแบดมินตัน แชมป์ประเทศ หรือแชมป์โลก ก็จะมีแรงผลักดันค่ะ”

“สำหรับตัวหนู ตอนนี้แค่ตั้งใจฝึกซ้อมต่อไป เพราะแบดมินตัน คือทุกสิ่งทุกอย่าง ที่หนูรัก”

13

การกระทำสำคัญกว่าคำพูด เมื่อการสัมภาษณ์จบลง น้องพิ้งค์ ยกมือไหว้ เพื่อเป็นการขอบคุณ และร่ำลาผู้เขียน ก่อนลุกจากเก้าอี้ หันไปหยิบไม้แบดข้างตัว หันหน้าเดินเข้าสนามแบด เพื่อเริ่มการฝึกซ้อมของเธอทันที

สิ่งที่ผู้เขียนเห็นในวินาทีแรก ที่เข้าสู่สนามแบดเล็กๆ ที่จังหวัดเชียงใหม่ จนถึงวินาทีสุดท้าย ที่เดินออกไป ความมุ่งมั่นในสีหน้า และแววตา ของน้องพิ้งค์ คือภาพเดิมไม่มีเปลี่ยนแปลง 

นิยามคำว่าอัจฉริยะ เหมาะสมแล้วกับน้องพิ้งค์ เพียงแต่เราต้องถามตัวเองให้แน่ใจว่า เธอเป็นอัจฉริยะ จากพรสวรรค์ ที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด หรือ อัจฉริยะจากพรแสวง ที่มาจากการฝึกซ้อมอย่างหนักกันแน่?

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ อัจฉริยะสร้างได้ : สำรวจความคิดและเบื้องหลังชีวิต "น้องพิ้งค์" สุดยอดนักแบดมินตันวัย 12 ปี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook