ฉีกข้อเสนอตั้งแต่เห็นซอง : ทำไม "วาติกัน" จึงปฎิเสธการเป็นสมาชิกของ FIFA ?
เมื่อพูดถึง นครรัฐวาติกัน ขึ้นมา เรื่องของศาสนาคริสต์ก็ต้องนำขึ้นมาเป็นอันดับหนึ่ง ที่แห่งนี้มีพระเจ้าเป็นศูนย์กลางของความศักดิ์สิทธิ์ และความเคารพของชาวคริสต์ที่มีกว่า 2,400 ล้านคน ซึ่งเป็นศาสนาที่มีผู้นับถือมากที่สุดในโลกอีกด้วย
อย่างไรก็ตามความยิ่งใหญ่และหน้าที่ในการเสริมสร้างและเผยแพร่ศาสนานั้นมีผลกระทบกับวงการฟุตบอลของ วาติกัน โดยตรง ... ใช่แล้ว พวกเขามีทีมฟุตบอล แต่ไม่สามารถส่งแข่งขันในระดับนานาชาติได้
มันไม่ใช่เรื่องของความพร้อมและทรัพยากร เพราะแม้แต่องค์กรที่ดูแลเรื่องฟุตบอลในทวีปยุโรปและในระดับโลกอย่าง ยูฟ่า และ ฟีฟ่า ยังชื่นชมและเชื้อเชิญให้ วาติกัน เข้าร่วมเป็นสมาชิกและส่งทีมเข้าแข่งขันอยู่หลายหน แต่คำตอบเดียวของพวกเขาคือ "ไม่" ทุกครั้งไป
ทำไม วาติกัน จึงปฎิเสธความช่วยเหลือที่จะมีผลต่อพัฒนาการต่อฟุตบอลในประเทศของพวกเขาแบบไม่คิดจะพิจารณาซ้ำสอง ติดตามเรื่องราวทั้งหมดได้ที่นี่...
ทางโลก และ ทางธรรม
วาติกัน คือรัฐอิสระที่ปกครองตัวเองแต่ตั้งอยู่ในกรุงโรม ประเทศอิตาลี ... ขนาดของนครรัฐวาติกันนั้นมีเนื้อที่แค่ 250 ไร่ สามารถขับรถชมเมืองจนทั่วได้ภายในเวลาเพียง 40 นาที อย่างไรก็ตามถึงแม้จะเล็กแค่ไหน แต่ที่นี่คือดินแดนศักดิ์สิทธิ์ เพราะเป็นที่ประทับของสมเด็จพระสันตะปาปา ประมุขสูงสุดของศาสนาคริสต์ นิกายโรมันคาทอลิก ที่มีผู้คนหลายล้านเดินทางมาเคารพบูชา
จุดเริ่มต้นของการปกครองตัวเองเกิดขึ้นในช่วงปี 1929 ที่เกิดการเซ็นสนธิสัญญาลาเตรัน (Lateran Treaty) ซึ่งเป็นการลงนามจาก 2 ผู้นำของแต่ละฝั่งในประเทศ ด้านแรก คือ เบนิโต มุสโสลินี ที่ลงนามในฐานะผู้แทนของ พระเจ้า วิคเตอร์ เอ็มมานูเอล ที่ 3 กษัตริย์อิตาลีในขณะนั้น กับ พระคาร์ดินัล ปิเอโตร กาสปาร์รี่ ผู้แทนของ สมเด็จพระสันตปาปา ปิอุส ที่ 11
เงื่อนไขของทั้งสองฝั่งคือ วาติกัน จะถูกสถาปนาเป็นนครรัฐวาติกัน เป็นอิสระในการปกครอง และ อิตาลี จะชำระหนี้ที่มีต่อสันตะสำนัก จำนวน 750 ล้านลีร์ ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ช่วงปี 1870 ทั้งหมด โดยทางอิตาลีได้ยื่นข้อเสนอเพิ่มเติมว่าสมเด็จพระสันตะปาปาจะต้องเป็นกลางในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และงดการไกล่เกลี่ยข้อถกเถียงต่างๆ ที่เกิดขึ้นระหว่างทั้ง 2 ฝั่ง ยกเว้นเสียแต่ว่าจะได้รับการร้องขอ
จะเห็นได้ว่าสนธิสัญญาฉบับดังกล่าวคือการแบ่ง อิตาลี ออกเป็น 2 ฝั่งระหว่างทางโลกกับทางธรรมโดยไม่ต้องก้าวก่ายกันในเรื่องของการเมืองการปกครองอีกต่อไป ดังนั้นรัฐบาลอิตาลีจะทำงานตามรูปแบบที่ตัวเองวางไว้อย่างเต็มที่ ขณะที่ นครรัฐวาติกัน เป็นเอกเทศ ได้รับการชำระหนี้ เริ่มฟื้นฟูสิ่งปลูกสร้างและสถาปัตยกรรมภายในรัฐ เพื่อเดินหน้าทำหน้าที่ทางศาสนาให้มีประสิทธิภาพและเป็นที่พึ่งทางใจของชาวคริสต์มากที่สุด
การแบ่งออกไป 2 ฝั่งแบบนี้ทำให้ วาติกัน กลายเป็นประเทศที่เล็กที่สุดในโลก ดังนั้นนอกจากการบริหารงานทางด้านศาสนาแล้ว การทำให้ส่วนอื่นๆ พัฒนาไประดับแนวหน้าคงเป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะเรื่องของกีฬานั้น วาติกัน อาจจะมีปัญหาเรื่องการส่งทีมกีฬาของประเทศแข่งขันตามรายการต่างๆ อย่าง โอลิมปิก, ชิงแชมป์โลก และ ชิงแชมป์ทวีป เพราะพวกเขามีประชากรน้อย และยังมีงบประมาณที่ไม่มากพอสำหรับส่วนนี้ด้วย
อย่างไรก็ตามแม้จะเดินทางธรรมและเผยแพร่ศาสนาเป็นงานหลัก แต่น้อยคนจะรู้ว่า วาติกัน มีกีฬาที่พวกเขาถนัดเหมือนกัน แถมเล่นกันมานานเป็นร้อยๆ ปีอีกด้วย
จาก กัลโช่ ฟิออเรนติโน่ สู่ ฟุตบอล
แม้ นครรัฐวาติกัน จะมีอายุเพียง 90 ปี แต่อย่างที่รู้กันพวกเขามีกลุ่มสังคมที่มีความเชื่อตรงกันมานานหลายร้อยปี และพวกเขามีกีฬาที่ชื่อว่า "กัลโช่ ฟิออเรนติโน่" ซึ่งเป็นกีฬาที่ดูแล้วมีความคลับคล้ายคลับคลากับฟุตบอลพอสมควร ที่สำคัญคือ พวกเขาเริ่มเล่นกันมาตั้งแต่ปี 1521 หรือเกือบ 500 ปีมาแล้ว
กัลโช่ ฟิออเรนติโน่ คือกีฬาที่แข่งกันระหว่าง 2 ทีม โดยจะมีผู้เล่นทีมละ 27 คน เป้าหมายของการแข่งขันนั้นง่ายนิดเดียว นั่นคือการใช้ส่วนไหนของร่างกายก็ได้ พาลูกฟุตบอลไปโยนให้เข้าประตูของอีกฝั่ง แต่ที่ยากคือผู้เล่นทั้งหมด 54 คนในสนามสามารถออกอาวุธใส่คู่แข่งได้อย่างเต็มที่ หมัด เข่า ศอก เปิดโอเพ่นให้ได้เลือกใช้กันตามสะดวก ด้วยความไม่มีกฎนี้ทำให้ผู้เล่นบางคนลงแข่งแบบ "มาเพื่อซัด" อย่างเดียวเลยก็มี ซึ่งปัจจุบันการแข่งขัน "กัลโช่ ฟิออเรนติโน่" ยังคงมีอยู่ และมีหลายประเทศแข่งขันกันด้วย การแข่งขันนี้สามารถหาดูได้ตามอินเตอร์เน็ตได้เพราะยังมีทั้งรูปภาพและคลิปวีดีโอให้ศึกษามากพอสมควรเลยทีเดียว
ความรุนแรงของ กัลโช่ ฟิออเรนติโน่ นั้นถูกลดทอนความสำคัญลงเรื่อยๆ เพราะความดิบเถื่อนไม่เหมาะกับโลกศิวิไลซ์ โดยหลังจากเข้าคริสต์ศศวรรษที่ 19 จึงเริ่มมีกีฬาฟุตบอลที่ใช้เท้าเตะแบบทุกวันนี้ขึ้นมา และเมื่อมีการแข่งฟุตบอลเข้ามา วาติกัน ก็เริ่มมีทีมฟุตบอลและการแข่งขันในรัฐเกิดขึ้นทันที โดยการแข่งขันฟุตบอลอย่างเป็นทางการนัดแรกของ วาติกัน เริ่มขึ้นในปี 1947 นักกีฬาที่ลงแข่ง คือพนักงานของรัฐที่รวมตัวกันส่งทีมเข้าแข่งขันกัน
ทว่าหลังจากเริ่มแข่งกันได้ไม่นานก็มีคำสั่งจากเบื้องบนให้ยุติการแข่งขันฟุตบอลในรัฐทันที เพราะมองว่าการแข่งขันนั้นเป็นการแข่งขันที่รุนแรงจนเกินไป จนต้องหยุดแข่งขันฟุตบอลใน วาติกัน ไปถึง 20 ปี จนกระทั่งโลกเริ่มเปิดกว้างขึ้นเรื่อยๆ จึงได้รับการอนุญาตให้กลับมาแข่งขันฟุตบอลกันได้ในช่วงปี 1966 และเริ่มสร้างลีกกันจริงจังจนได้ลีกฟุตบอลที่ชื่อ "คัมปิโอนาโต้ วาติกาโน่ เดอ กัลโช่" ถ้าหากเปรียบเทียบศักดิ์และศรีแล้วก็ถือว่าเทียบเท่ากับการแข่งขันฟุตบอล กัลโช่ เซเรีย อา ของเพื่อนบ้านอย่าง อิตาลี เลยทีเดียว
การสร้างลีกครั้งนั้นทำให้ชาววาติกันตื่นตัวเป็นอย่างมาก เพราะมีการส่งทีมเข้าแข่งขันถึง 7 ทีม จากเดิมที่มีแค่ 4 ทีมเท่านั้น นอกจากบอลลีกแล้วยังมีฟุตบอลถ้วยให้แข่งขันกันอีกด้วย เรียกได้ว่าถอดโมเดลจากลีกอื่นๆ ในทวีปยุโรปมาหมด
ในแง่ของความนิยมนั้นถือว่าได้รับเสียงตอบรับอย่างยอดเยี่ยม เพราะเนื้อแท้ของชาววาติกันก็คือชาว อิตาลี กลายๆ และกีฬาที่นิยมอันดับ 1 ของ อิตาลี คือ ฟุตบอล ดังนั้นเมื่อ วาติกัน มีฟุตบอลให้ดู ก็ทำให้ประชาชนของพวกเขามีทางเลือกในการเลือกเสพเยอะขึ้น ไม่ใช่แค่ฟุตบอลในหมู่คนธรรมดาเท่านั้น ในระยะหลังยังมีฟุตบอลของนักบวช ซึ่งเปิดให้กับเหล่าผู้รับใช้ศาสนามาร่วมแข่งฟุตบอลกัน โดยมีกลุ่มนักบวชกว่า 70 สัญชาติส่งทีมแข่งขันกันถึง 16 ทีมเลยทีเดียว
ทุกอย่างฟังดูดีมากจากสิ่งที่เห็น มีการแข่งขันฟุตบอลแบบจริงๆ จังๆ แถมยังได้รับความนิยมทั้งจากคนธรรมดาและนักบวช ดังนั้นในแง่ทรัพยากร นครรัฐวาติกัน ก็ถือว่าพอมีให้ใช้สอยได้เหมือนกัน นอกจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจากพระสันตะปาปาหลายๆ องค์อีกต่างหาก อาทิ โป๊ป จอห์น ปอล ที่ 2 ซึ่งเคยเป็นผู้รักษาประตูมาก่อนในช่วงวัยเด็กในประเทศโปแลนด์, โป๊ป เบเนดิกต์ ที่ 16 ซึ่งเป็นแฟนพันธุ์แท้ของบาเยิร์น มิวนิค เพราะท่านเป็นชาวเยอรมันและเติบโตมาจากแคว้นบาวาเรีย ซึ่งเป็นที่ตั้งของทัพเสือใต้มาแต่เด็กๆ
"กีฬาฟุตบอลสามารถเป็นสิ่งที่นำมนุษย์ไปสู่หลายสิ่งทั้งการศึกษา ความซื่อสัตย์ และการรวมกันให้เป็นปึกแผ่นราวกับเป็นพี่น้องกัน มันจะช่วยได้มากสำหรับกลุ่มคนรุ่นใหม่" โป๊ป เบเนดิกต์ ที่ 16 กล่าว
ดังนั้นทีมฟุตบอลของ วาติกัน ยังมีเกมลงเล่นอย่างสม่ำเสมอ แต่เป็นการแข่งแบบไม่ได้จริงจังอะไรมากด้วยการเชิญทีมบ้านใกล้อย่างพวก อันดอร์ร่า หรือ ซานมาริโน่ มาแข่งขันด้วย และยังมีการเชิญทีมจากรัฐอิสระอย่างโมนาโก มาเล่นเกมกระชับมิตรด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ โป๊ป เบเนดิกต์ ที่ 16 ยังมีการจับมือกับทีมอันโคน่า ทีมฟุตบอลในลีกรองของ อิตาลี (เซเรีย บี) โดย อันโคน่า มอบเสื้อหมายเลข 16 ให้ท่าน ซึ่งทำให้ทีม อันโคน่า เป็น "ทีมฟุตบอลผู้นำทางของศีลธรรม" โดยการนำเอาคำสอนต่างๆ มาปรับใช้ในการซ้อมของทีม
เรื่องทั้งหมดนี้ทำให้ สหพันธ์ฟุตบอลระหว่างประเทศ หรือ FIFA เล็งเห็นว่าจะเกิดประโยชน์เป็นอย่างมากหาก วาติกัน ส่งทีมฟุตบอลลงแข่งขันในรายการะดับนานาชาติดูบ้าง ซึ่งจะได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย
แม้จะดูประจวบเหมาะและง่ายดาย แต่เมื่อถึงขั้นตอนสุดท้ายนั่นคือการตอบ "โอเค" เพื่อเข้าร่วมกับ ฟีฟ่า เท่านั้นกลับกลายเป็นว่า วาติกัน กลับ "เซย์โน" เสียอย่างนั้น ... ด้วยเหตุผลที่ว่าฟุตบอลของที่นี่ ไม่เหมือนที่ไหน
จงรู้จักฟุตบอลของเรา
การเป็นสมาชิกของ FIFA นั้นจะได้สิทธิ์ต่างๆ มากมายทั้งการแข่งกับทีมเก่งๆ จากทั่วโลก ได้รับเงินสนับสนุนองค์กร ทว่า วาติกัน กลับบอกว่า "ไม่" ด้วยเหตุผลที่พวกเขาเชื่อว่าไปด้วยกันกับจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของฟุตบอลในประเทศไม่ได้
ในปี 2006 วิลเลี่ยม เกลลาร์ด โฆษกของ ยูฟ่า ในตอนนั้น ออกโรงสนับสนุนให้นครรัฐวาติกันส่งทีมฟุตบอลเข้าแข่งขันในระดับนานาชาติแบบจริงๆ จังๆ ด้วยเหตุผลด้านความพร้อมหลายอย่าง แม้ประชากรจะน้อยเพียง 30,000 คนเท่านั้น แต่หากมีความตั้งใจจะทำให้ฟุตบอลมีคุณภาพแล้ว สหพันธ์ฟุตบอลยุโรปก็พร้อมที่จะสนับสนุนเป็นประตูด่านแรกให้ ทีมชาติวาติกัน ได้เข้ามาร่วมวงไพบูลย์ ก่อนที่จะก้าวขึ้นมาเป็นสมาชิกของฟีฟ่าในวันที่ทุกอย่างพร้อมตามข้อกำหนด
"วาติกันมีพลเมืองถึง 30,000 คน นั่นคือจำนวนเดียวกับประเทศอย่าง ซาน มาริโน่, ลิกเตนสไตน์ และ อันดอร์ร่า เลยนะ วาติกัน ถือว่ามีความพร้อมและถ้าหากว่าพวกเขาต้องการจะเป็นหนึ่งเดียวกับเรานั้นก็แค่ยื่นใบสมัครเข้ามา ถ้าทุกอย่างตรงข้อกำหนดก็ไม่มีปัญหา วาติกัน จะได้รับการยอมรับอย่างแน่นอน" วิลเลี่ยม เกลลาร์ด กล่าวกับสื่อเพื่อเชื้อเชิญประเทศที่เล็กที่สุดในโลกมาเข้าร่วม
ทว่าพระคาร์ดินัล ผู้เป็นสมณศักดิ์ชั้นสูง และทำหน้าที่เป็นผู้ให้คำปรึกษาสำหรับพระสันตะปาปา อย่าง พระคาร์ดินัล ทาร์ซิสิโอ แบร์โตเน่ ยืนยันว่ามันเป็นไปไม่ได้ที่ฟุตบอลของ วาติกัน จะลงแข่งขันในระดับนานาชาติ เพราะจุดมุ่งหมายที่วางไว้คือการมีฟุตบอลให้แข่งขันในระดับสมัครเล่นเท่านั้น เพราะการแข่งขันฟุตบอลในระดับอาชีพที่ต้องชิงชัยกันอย่างเอาจริงเอาจังนั้นเป็นธุรกิจมากเกินขอบเขตของศาสนา
"ผมชอบการแข่งขันในแบบสมัครเล่น การเข้าร่วมกับ ฟีฟ่า นั้นมันเป็นอะไรที่อยู่ในแง่ของธุรกิจมากจนเกินไป" โดมินิโก รูเจริโอ ผู้ดำรงตำแหน่งประธานสมาคมฟุตบอลแห่งวาติกัน พูดถึงการเชื้อเชิญจากระดับนานาชาติ
"เราเล่นกีฬากันไปเพื่ออะไร? คีย์หลักของกีฬามันคือพื้นที่ของการแสดงความรักและสะท้อนให้เห็นถึงมิตรภาพในการแข่งขัน ดังนั้นกีฬาไม่ใช่ธุรกิจที่มือใครยาวสาวได้สาวเอาเหมือนที่ฟุตบอลปัจจุบันเป็นอยู่ มันไม่จำเป็นหรอกที่เราจะต้องไปแข่งขันกับใคร และต้องพยายามเพื่อเป็นผู้ชนะเท่านั้น ฟุตบอลของวาติกันคือตัวแทนแห่งมิตรภาพ ซึ่งขัดแย้งกับแนวทางในการเป็นสมาชิกของ ฟีฟ่า โดยตรงเลยทีเดียว"
คำพูดของประธานสมาคมฟุตบอลวาติกันอาจจะดูแปลกๆ เพราะต่อให้จะเป็นการแข่งเพื่อมิตรภาพจริง แต่ที่สุดแล้วฟุตบอลคือการเอาทีม 2 ทีมลงไปแข่งขันกันในสนามเพื่อหาผู้ชนะมิใช่หรือ? ... คำตอบคือใช่ แต่ไม่ทั้งหมด ฟุตบอลของ วาติกัน มีความพิเศษซ่อนอยู่ และน้อยคนนักที่จะรู้ถึงการแข่งขันของพวกเขา
ฟุตบอลของ วาติกัน มีการเปลี่ยนแปลงกฎเล็กๆ น้อยๆ เพื่อแสดงถึงความเป็นอัตลักษณ์ของพวกเขา หากแข่งกันครบเวลาที่กำหนดแล้วแต่ไม่สามารถหาผู้ชนะได้ จะไม่มีการต่อเวลาพิเศษและยิงจุดโทษเพื่อหาผู้ชนะ แต่จะใช้การจับฉลากเอา นอกจากนี้บทลงโทษในการทำฟาวล์ที่เป็นตัวแทนของความรุนแรงนั้นก็แตกต่างกันออกไป ในการแข่งขันฟุตบอลปกตินั้นจะได้รับใบเหลืองและใบแดงเป็นการลงโทษ แต่ที่นี่มีการแจก "ใบฟ้า" ให้กับผู้เล่นที่ทำผิดกติกา โดยผู้เล่นที่โดนใบฟ้านั้นจะต้องออกไปนั่งข้างสนามเป็นเวลา 5 นาที เพื่อสำนึกผิดในสิ่งที่พวกเขาลงไป ซึ่งการแจกใบฟ้านั้นไม่ต่างอะไรกับการเข้าพิธีสารภาพบาปของศาสนาคริสต์เลย พระเจ้าสามารถให้อภัยผู้ทำผิดได้ ซึ่งโดยปกติแล้วชาวคริสต์ต้องสารภาพบาปอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง และเมื่อสำนึกถึงบาปหนักที่เคยทำแล้วผู้นั้นจะได้กลับคืนดีกับพระเจ้าและพระศาสนจักรอีกด้วย
เห็นได้ชัดว่า วาติกัน นั้นมีฟุตบอลเพื่อเป็นสิ่งที่เสริมสร้างและสืบสานศาสนา มากกว่าความสำเร็จแบบที่หลายๆ ประเทศต้องการ นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมพวกเขาจึงไม่ต้องการที่จะเก่งกาจเพื่อเป็นมหาอำนาจที่ต้องผ่านการพยายามเอาชนะคู่แข่งให้ได้
เหนือสิ่งอื่นใดคือในโลกยุคใหม่นั้น บางครั้งความเชื่อในอดีตและคำสอนของศาสนาไม่ว่าศาสนาใดๆ ก็ตามก็จะถูกลดทอนความเข้มข้นออกไป อาทิ ผู้หญิงในตะวันออกกลางเรียกร้องสิทธิของพวกเธอ ให้สามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตัวเองต้องการโดยมีเรื่องของกีฬาเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย เช่นที่ประเทศซาอุดิอาระเบีย ได้อนุญาตให้สตรีสามารถเข้าชมเกมฟุตบอลในสนามแข่งขันได้จากที่แต่ก่อนมีเพียงผู้ชายเท่านั้นที่สามารถทำได้ ซึ่งศาสนาคริสต์เองก็เช่นกันที่มีหลายคำสอนถูกมองว่าล้าสมัยสำหรับโลกยุคใหม่
ในปี 2019 ที่ผ่านมา ทีมฟุตบอล "โฮลี่ ซี" ซึ่งเป็นทีมฟุตบอลหญิงของนครรัฐวาติกัน มีเกมฟุตบอลกระชับมิตรกับทีมท้องถิ่นของประเทศออสเตรียอย่าง เอฟซี มาเรียฮิล์ฟ ซึ่งเกมดังกล่าวทางสโมสรได้เชิญทีม โฮลี่ ซี มาแข่งในวาระครบรอบ 20 ปีที่ก่อตั้งสโมสร
อย่างไรก็ตามเกมนั้นก็ไม่ได้เริ่มเขี่ยฟุตบอล เพราะหลังจากกำหนดโปรแกรมไว้เบื้องต้นแล้ว มีกลุ่มผู้สนับสนุนการทำแท้งและกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) มาประท้วงก่อนแข่งขัน โดยกลุ่มผู้ประท้วงมองว่าคำสอนของศาสนาที่ต่อต้านเรื่องการทำแท้งเพราะมีเหตุผลว่า "พระเจ้าทรงรู้จักเราก่อนที่พระองค์จะได้ก่อร่างตัวเราที่ในครรภ์" (อ้างอิงจาก หนังสือเยเรมีย์ 1:5) และพระเจ้ามองว่าแม้ทารกจะอยู่ในครรภ์แต่พวกเขาก็สมควรมีชีวิตอยู่ เทียบเท่ากับผู้ใหญ่ ดังนั้นการทำแท้งจึงเป็นเรื่องของความเป็นความตายของมนุษย์ที่พระเจ้าทรงสร้างขึ้นมาตามพระฉายาของพระองค์ (ปฐมกาล 1:26-27; 9:6)
กลุ่มผู้ประท้วงหลายคนมาที่สนามของ มาเรียฮิล์ฟ และถอดเสื้อพร้อมเพนท์ข้อความว่า "My body my Rule" (ร่างกายของฉัน ฉันขอเลือกเอง) ซึ่งเป็นการแสดงออกเพื่อต่อต้านทีมฟุตบอลของ วาติกัน ที่เป็นเหมือนตัวแทนของศาสนาคริสต์ ซึ่งเหตุการณ์ครั้งนั้นทำให้เกมดังกล่าวไม่สามารถแข่งขันได้จนต้องประกาศยกเลิกไป เพราะแนวทางและมุมมองที่แตกต่างกันอย่างสุดขั้ว และสมาคมฟุตบอลแห่งวาติกันต้องเรียกนักฟุตบอลของพวกเขากลับประเทศทันที
"เราต้องขอโทษผู้เล่นทีม วาติกัน และผู้มาเยือนของเราเป็นอย่างยิ่งที่เกมดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้น อย่างไรก็ตามเราหวังว่าเกมนี้จะถูกจัดขึ้นใหม่อีกครั้ง" สโมสรจากออสเตรียประกาศผ่านเว็บไซต์ของสโมสร
เรื่องดังกล่าวเป็นการตอกย้ำให้นครรัฐวาติกันมั่นใจว่าสิ่งที่พวกเขาคิดและอัตลักษณ์ของฟุตบอลวาติกันนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้องตั้งแต่แรกแล้ว เพราะเมื่อพวกเขาพยายามเอาตัวเองออกไปเจอกับโลกภายนอก นอกจากจะต้องแข่งขันในสนามแล้ว พวกเขาจะต้องเจอกับเรื่องนอกสนาม ซึ่งในยุคนี้ผู้คนมีสิทธิ์ที่จะแสดงความคิดเห็นมากขึ้น และหากโต้เถียงขัดแย้งเกิดขึ้นแล้วก็จะนำมาซึ่งภาพลักษณ์ที่ไม่ดีกับความศักดิ์สิทธิ์ของนครรัฐวาติกันด้วย
"ผู้เล่นของทีมวาติกัน คาดหวังว่าเกมนี้จะเป็นเกมเล็กๆ ง่ายๆ แต่ทีมของพวกเขากลับตัดสินใจทำในสิ่งที่ยากและซับซ้อนมากกว่าเกมฟุตบอลธรรมที่คาดหวังไว้ว่าจะได้เห็นแต่ความปิติยินดี" อเลสซานโดร กิซ็อตติ โฆษกของวาติกันกล่าวถึงเรื่องนี้
ทุกคนล้วนมีความเชื่อเป็นของตัวเอง สำหรับเรื่องนี้คงไม่มีใครผิดไม่มีใครถูก... วาติกัน คือตัวแทนของศาสนาคริสต์ ดังนั้นหน้าที่ของพวกเขาคือการเผยแพร่มากกว่าการสร้างปัญหา การเล่นฟุตบอลแบบ "เตะกันเอง" ก็ไม่ใช่เรื่องอะไรที่เสียหายนักตราบใดที่พวกเขายังอยู่บนสิ่งที่พระเจ้าได้กำหนดมา และการเล่นฟุตบอลเพื่อความรักและมิตรภาพคือแชมป์ที่มีค่ามากกว่าแชมป์โลกในมุมมองของ วาติกัน
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ