พจนานุกรม "เซปักตะกร้อ" ที่คุณควรรู้

เซปักตะกร้อ เป็นกีฬาที่เชื่อว่า ชายไทย ทุกคนย่อมต้องเคยสัมผัสไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อีกทั้งประเทศไทย ยังถือเป็นชาติเบอร์ 1 ของโลกในกีฬาลูกหวาย
แต่ในกีฬาที่คุ้นเคย ก็ยังมีคำศัพท์เฉพาะทางบางอย่างที่น่าสนใจ และเช่นเคย Main Stand ชวน ศิรกานต์ ผาเจริญ เจ้าของเพจ สนามตะกร้อ หยิบเอาศัพท์เหล่านี้มาฝากผู้อ่าน
เปิดลูก
เปิดลูก เป็นทักษะที่เกี่ยวข้องกับการรับลูกตะกร้อในจังหวะแรก หลังถูกฝ่ายตรงข้ามเสิร์ฟมา ฝ่ายรับจำเป็นต้อง เปิดลูก เพื่อชะลอความเร็ว และตั้งลูกไว้สำหรับเล่นจังหวะที่ 2-3 ก่อนโจมตีกลับ
โดย การเปิดลูก สามารถใช้ได้ทั้ง ศีรษะ ช่วงตั้งแต่หน้าผาก จนถึงเกือบกลางศีรษะ, ฝ่าเท้าด้านใน หรือ บริเวณเหนือเข่า
เปิดแตก
เปิดแตก ใช้อธิบายเวลาที่ฝ่ายรับลูกเสิร์ฟ ทำเสียตั้งแต่จังหวะแรก จนไม่สามารถเล่นต่อได้ และต้องมอบตัวเสียคะแนนไปโดยดี
ตัวชง
ตัวชง ส่วนมากใช้เรียกผู้เล่นหน้าซ้าย ที่อาจไม่ได้มีลีลาหวือหวามากนัก แต่เป็นตำแหน่งที่สำคัญ เพราะเป็นคนที่ทำหน้าที่ปิดทองหลังพระ บรรจงป้อนลูกสวยๆ ให้ตัวฟาดทำคะแนน และผู้เล่นตำแหน่งนี้จำเป็นต้องมีทักษะที่ดีสุดในทีม
เตะครบรอบ
ครบรอบ เป็นคำที่เรียก การตีลังกาลูกตะกร้อ (Somersault Kick หรือ Roll Sprike) ที่เป็นท่าทำแต้มยอดนิยมของคนไทย โดย ผู้เล่นจะเหวี่ยงตัวขึ้นบนอากาศ แล้วใช้หน้าเท้าเตะลูกตะกร้อ ซึ่งลักษณะเหมือนการตีลังกาครบรอบ
Back
Back เป็นคำเรียกผู้เล่นแนวหลัง หรือ ตัวเสิร์ฟ ที่คอยทำหน้าที่เสิร์ฟ และเปิดลูกในบางจังหวะ โดยมากนิยมใช้ผู้เล่น ที่มีรูปร่างสูงใหญ่ ส่วนคำว่า Back ก็มีที่มาจากคำแปลตรงว่า ด้านหลัง นั่นแหละ
Sun Back
Sunback คือท่าทำคะแนนที่มีต้นกำเนิดมาจาก ประเทศมาเลเซีย โดยท่านี้มีความแตกต่างกับ การฟาด ตรงที่ ไม่ได้มีการหมุนตัว แต่ใช้การหันหลัง แล้วยกขาขึ้นมาให้สูง เพื่อใช้ข้างเท้า หรือหน้าเท้า ตบลูกตะกร้อไปยังทิศทางที่ต้องการ
ซึ่งเป็นท่าที่ชาวต่างชาตินิยมใช้ แม้พลังในการฟาดจะไม่รุนแรงเท่ากับ การฟาดของไทยก็ตาม
ค้ำฟาด
ค้ำฟาด หรือ ล้อเกวียน เป็นอีกท่าหนึ่งของการทำคะแนน โดยท่านี้มีความคล้ายคลึงกับ การฟาดแบบตีลังกา ที่มีการหมุนตัวตีลังกา แต่ใช้ฝ่ามือยันพื้น แล้วตบลูกด้วยหลังเท้า
ลักษณะของท่านี้จึงมีความเป็นวงกลม เหมือนกับ กงล้อเกวียน แต่ท่านี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมมากนัก ในการแข่งขันระดับสูง เนื่องจากความรุนแรงไม่เท่ากับ การฟาดแบบครบรอบ
เสิร์ฟหัวห้อย
แม้การเสิร์ฟตะกร้อ จะมีวิวัฒนาการจากเดิมที่ใช้การแปด้วยข้างเท้า มาเป็น การยกขาสูงเพื่อเสิร์ฟด้วยหน้าเท้า (Horse Kick Serve) ให้มีความรุนแรงมากขึ้น แต่ท่าที่ค่อนข้างมีความเฉพาะตัวและพลังที่มากกว่า คือการเสิร์ฟแบบหลังเท้าหัวห้อย หรือ เสิร์ฟหัวห้อย
เพราะปกติ เวลาที่เสิร์ฟ ลำตัวและขาของตัวเสิร์ฟ จะติดกัน แต่การเสิร์ฟหัวห้อย ลำตัว กับ ขาของผู้เล่น จะแยกจากกัน ทำให้ได้พลังและน้ำหนักที่มากกว่า การเสิร์ฟแบบหน้าเท้าธรรมดา
สามล้อ
ศัพท์นี้เป็นคำสแลง ในการเล่นตะกร้อ ที่หมายถึง ผู้เล่นฝ่ายรับที่เล่นแค่จังหวะเดียว แล้วโต้กลับมา ว่าเป็นการเล่นจังหวะแบบ “สามล้อ” ซึ่งเป็นคำเชิงเปรียบเทียบ เหมือนคนขับสามล้อ ที่เล่นตะกร้อ แต่ไม่ได้มีพื้นฐานทักษะดีมาก จึงเล่นแค่จังหวะเดียว