ต้นตอจากประวัติศาสตร์ : ทำไม บราซิล-อาร์เจนตินา ถึงเกลียดกัน?

ต้นตอจากประวัติศาสตร์ : ทำไม บราซิล-อาร์เจนตินา ถึงเกลียดกัน?

ต้นตอจากประวัติศาสตร์ : ทำไม บราซิล-อาร์เจนตินา ถึงเกลียดกัน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

กล่าวถึงสองชาติที่ประสบความสำเร็จมากที่สุดบนโลกฟุตบอล ชื่อของ “บราซิล” และ “อาร์เจนติน่า” คงเข้ามาในหัวอย่างไม่ต้องสงสัย มหาอำนาจลูกหนังจากทวีปอเมริกาใต้ ที่รูปแบบการเล่นสวยงาม และนักเตะความสามารถไม่เหมือนใคร

แม้ทั้งสองประเทศ จะสร้างความสุขแก่แฟนบอลทั่วโลก ในทุกครั้งที่ลงสนาม แต่ทุกครั้งที่พวกเขาห่ำหั่นกันเอง ความดุเดือดเพิ่มทวีคูณราวกลับเป็นสงคราม ความเกลียดชังของแฟนบอลแผ่กระจายออกไปนอกสนามแข่งขัน

 

Main Stand ขอพาคุณย้อนรอยไปดูความบาดหมางที่เกิดขึ้นระหว่างสองประเทศ ความเกลียดชังมาจากฟุตบอลจริงหรือไม่? ภาษาที่แตกต่างแบ่งแยกพวกเขาออกจากกันมากแค่ไหน?

ติดตามเรื่องราวทั้งหมดไปพร้อมกับเรา…

อาณานิคมต่างภาษา

แม้ บราซิล และ อาร์เจนติน่า จะเป็นมหาอำนาจในทวีปอเมริกาใต้ แต่ทั้งสองประเทศ เพิ่งประกาศตั้งเป็นประเทศที่ได้การยอมรับจากนานาชาติ ในช่วงศตวรรษที่ 19 เนื่องจากช่วงเวลาก่อนหน้า ทั้งคู่ตกเป็นรัฐอาณานิคมของมหาอำนาจจากยุโรป ในยุคแห่งการสำรวจและค้นพบดินแดนใหม่

 1

ประเทศอาร์เจนติน่า ประกาศตัวเป็นเอกราชจากจักรวรรดิสเปน ในวันที่ 25 พฤษภาคม 1810 ขณะที่ ประเทศบราซิล ประกาศตัวเป็นเอกราชจาก สหราชอาณาจักรโปรตุเกส บราซิล และแอลการ์ฟ เมื่อวันที่ 7 กันยายน 1822

เมื่อมองให้ลึกลงไปในช่วงเวลาที่ บราซิล และ อาร์เจนติน่า ยังมีสถานะเป็นรัฐอาณานิคม ทั้งสองดินแดนไม่มีปัญหาต่อกัน เนื่องจากอยู่ภายใต้การปกครองของเจ้าอาณานิคมชาวยุโรป ที่มีการแบ่งพื้นที่ภายใต้ข้อตกลงของ "สนธิสัญญาตอร์เดซิยาส" (Treaty of Tordesillas) รับประกันว่าทั้งสองฝ่าย จะไม่ทำสงครามเพื่อแย่งชิงแดนอาณานิคมกัน

 2

สนธิสัญญาแบ่งโลกของ โปรตุเกส และ สเปน ส่งผลให้โปรตุเกสเข้ายึดดินแดนอเมริกาใต้ฝั่งตะวันออก หรือ ประเทศบราซิล และปลูกฝังการใช้ภาษาโปรตุเกส เข้าไปในพื้นที่นั้น ทางฝั่ง สเปน ที่เข้าดินแดนอเมริกาใต้ฝั่งตะวันตก หรือ ประเทศอาร์เจนติน่า ได้นำภาษาสเปนเข้ามาใช้ในพื้นที่ดังกล่าว

ความแตกต่างทางวัฒนธรรมของ สเปน และ โปรตุเกส ถูกฝังไว้เป็นระเบิดเวลา รอวันสร้างความร้าวฉานระหว่างสองประเทศ ให้เกิดขึ้น เมื่อภายหลังการประกาศเอกราชของทั้ง บราซิล และ อาร์เจนติน่า เกิดดินแดนทับซ้อนให้แย่งชิงเป็นเจ้าของมากมาย อันส่งผลให้เกิดสงครามระอุขึ้นทั่วทวีปอเมริกาใต้ ตลอดช่วงศตวรรษที่ 19

ศตวรรษแห่งสงคราม

ความบาดหมางครั้งแรกของ บราซิล และ อาร์เจนติน่า เกิดขึ้นใน สงครามซิสพาทีน (Cisplatine War) หรือ สงครามอาร์เจนติน่า-บราซิล จากการแย่งชิงพื้นที่บริเวณปากแม่น้ำริโอ เดอ ลา พลาตา ฝั่งตะวันออก ที่แต่เดิมตกอยู่ในการปกครองของจักรวรรดิบราซิล หลังการประกาศเอกราช

 3

อย่างไรก็ตาม ผู้คนในจังหวัดซิสพาทีน ส่วนใหญ่พูดภาษาสเปน เรื่องดังกล่าวเปิดช่องว่างให้สหจังหวัดริโอ เดอ ลา พลาตา หรือ อาร์เจนติน่า เข้าไปกระตุ้นให้คนในท้องถิ่น ลุกฮือต่อต้านอำนาจอันกดขี่ของบราซิล และเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสหจังหวัดริโอ เดอ ลา พลาตา แทน

ด้วยเหตุนี้ ปี 1825 กลุ่มกบฏจึงประกาศให้ดินแดนฝั่งตะวันออกของแม่น้ำอุรุกวัยเป็นเอกราช และเข้าเป็นส่วนหนึ่งของให้สหจังหวัดแห่งริโอ เดอ ลา พลาตา ส่งผลให้จักรวรรดิบราซิล ประกาศสงครามอย่างเป็นทางการต่ออาร์เจนติน่า

การสู้รบเพื่อแย่งชิงดินแดนดังกล่าว ดำเนินยาวนานจนถึงปี 1828 อาร์เจนติน่าที่ยึดดินแดนพิพาทได้เป็นส่วนใหญ่ ต้องการยุติสงครามจากปัญหาเศรษฐกิจ ส่วนบราซิลที่ตกเป็นรองถูกกดดันจากประชาชนให้ยุติสงครามเช่นกัน

ผลสุดท้าย ทั้งสองฝ่ายลงนามสงบศึกภายใต้สัญญา “สนธิสัญญามอนเตวิเดโอ” (Treaty of Montevideo) และปลดปล่อยจังหวัดซิสพาทีนให้เป็นเอกราช และกลายเป็นประเทศอุรุกวัยในปัจจุบัน

การประกาศเอกราชของอุรุกวัย ยังส่งผลถึงความสัมพันธ์ของบราซิล และ อาร์เจนติน่า ไปอีกหลายสิบปี

เริ่มที่ปี 1850 เมื่อ ฮวน มานูเอล เด ลา โรซาส (Juan Manuel de Rosas) ผู้นำเผด็จการแห่งสมาพันธรัฐอาร์เจนติน่า ทำการสนับสนุนพรรคฝ่ายขวาในสงครามกลางเมืองอุรุกวัยอย่างลับๆ เพื่อเป้าหมายการรุกคืบยึดดินแดนอ่าวปลาติเน คือ ประเทศอุรุกวัย, โบลิเวีย และ ปารากวัย ไว้ทั้งหมด

ปี 1851 สงครามกลางเมืองอุรุกวัย ลุกลามใหญ่เป็น สงครามอ่าวปลาติเน่ (Platine War) เมื่ออาร์เจนติน่าบุกดินแดนดังกล่าวเต็มตัว อุรุกวัยจึงหันไปจับมือกับศัตรูเก่าอย่าง บราซิล เป็นพันธมิตรชั่วคราวในสงครามดังกล่าว เพื่อขับไล่อำนาจเผด็จการจากตอนใต้ ออกไปจากพื้นที่ประเทศอุรุกวัย

 4

สงครามอ่าวปลาติเน่จบลงอย่างรวดเร็วในปี 1852 ด้วยความพ่ายแพ้ของสมาพันธรัฐอาร์เจนติน่า โรซาสร่วงจากอำนาจเผด็จการ ในทางกลับกัน จักรวรรดิบราซิล ก้าวขึ้นเป็นหมายเลขหนึ่งของอเมริกาใต้ จากชัยชนะในสงคราม ที่ช่วยให้สภาพเศรษฐกิจและการเมืองของบราซิล มั่นคงกว่าประเทศใดในอเมริกาใต้

ความแข็งแกร่งของบราซิล แสดงออกมาอย่างชัดเจน ใน สงครามปารากวัย (Paraguayan War) ช่วงปี 1864 – 1870 เมื่อบราซิลร่วมมือเป็นพันธมิตรกับอาร์เจนติน่า และอุรุกวัย ตอบโต้การรุกรานของปารากวัยต่อทั้งสามประเทศ

แม้สงครามดังกล่าวจะไม่ได้เป็นการปะทะโดยตรงของ บราซิล และ อาร์เจนติน่า แต่การคว้าชัยชนะโดยง่ายในสงครามปารากวัย ภายใต้การนำทัพของจักรวรรดิบราซิล ผลักดันให้พวกเขาเป็นมหาอำนาจของภูมิภาคอย่างเต็มตัว ขณะที่อาร์เจนติน่าทำได้เพียงสร้างรายได้ให้ประเทศ จากการเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของสงคราม

การเมืองขับเคลื่อนประเทศ

เรื่องราวในศตวรรษที่ 19 ของ บราซิล และ อาร์เจนติน่า มองผ่านดูเต็มไปด้วยการแข่งขัน ไม่แตกต่างจาก ไทย และ เมียนมา แย่งชิงความเป็นหนึ่งบนแผ่นดินเอเชียอาคเนย์ แต่หากลงลึกไปในรายละเอียด ทั้งสองประเทศไม่ได้ล้างผลาญกันเอาเป็นเอาตาย

 5

ทั้ง สงครามซิสพาทีน, สงครามอ่าวปลาติเน และ สงครามปรากวัย ทั้งสองประเทศต่างเข้าสู่สงครามที่มีมือที่สามเข้าร่วมทั้งสิ้น และไม่มีครั้งไหนที่ทั้งคู่จะเปิดศึกกันอย่างจริงจัง จากปัญหาที่ก่อขึ้นด้วยตัวเอง

ความสัมพันธ์ของบราซิล และ อาร์เจนติน่า จึงแปรผันไปตามสภาพสังคมทวีปอเมริกาใต้โดยรอบ เป็นได้ทั้งมิตร และ ศัตรู ในเวลาห่างกันไม่กี่สิบปี เนื่องจากทั้งสองประเทศต้องปรับตัวไปตามความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อรักษาอำนาจของตัวเองในภูมิภาคเอาไว้

ภาพดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้นในศตวรรษที่ 20 เมื่อประเทศบราซิล กำลังเรืองอำนาจจากเศรษฐกิจที่รุ่งเรือง แต่ด้อยพลังทางการทหาร ขณะที่ อาร์เจนติน่า ก้าวเป็นหนึ่งในประเทศที่มีกำลังทหารเรือแข็งแกร่งที่สุดในโลก พร้อมนโยบายในประเทศที่แสดงถึงความเกลียดชังต่อชาวบราซิลชัดเจน

ในช่วงเวลา 1930s อาร์เจนติน่ามีการปลูกฝังทางความคิดแก่ทหารเรือให้มองชาวบราซิล เป็นชนชาติที่ต่ำกว่า พร้อมทั้งคัดคนที่พูดภาษโปรตุเกสในประเทศ ออกจากกลุ่มคนทั่วไปซึ่งพูดภาษาสเปน

 6

ขณะเดียวกัน ทางฝั่งบราซิล ผู้นำเผด็จการบราซิลอย่าง เกตูลีโอ วาร์กัส (Getúlio Vargas) ได้สั่งห้ามพูดถึงประวัติศาสตร์ความพ่ายแพ้ต่ออาร์เจนติน่า ในสงครามซิสพาทีน ไม่มีโรงเรียนไหนในบราซิลสอนเรื่องราวนี้ เพื่อลบภาพที่บราซิลเคยเป็นรองอาร์เจนติน่าออกไป

แม้ความตึงเครียดของทั้งสองฝ่ายจะมีสูง ถึงขั้นสนับสนุนคนละฝ่ายในสงครามโลกครั้งที่ 2 แต่กลับไม่มีการเปิดศึกยิงใส่กันแบบศตวรรษที่ 19 แต่อย่างใด

อันเนื่องจากอำนาจเผด็จการที่กัดกินทั้งสองประเทศ เกตูลีโอ วาร์กัส ยังวุ่นกับการต่อรองอำนาจแก่สหรัฐอเมริกา เพื่อรักษาสิทธิชอบธรรมของประธานาธิบดีบราซิล

ส่วนอาร์เจนติน่าจมอยู่กับทศวรรษที่น่าอับอาย หรือ Infamous Decade ในช่วงปี 1930 – 1943 เมื่อกองทัพชักใยรัฐบาลอยู่เบื้องหลัง และไม่ยอมให้มีการเลือกตั้ง ทำให้พวกเขาวุ่นเกินกว่า จะเปิดสงครามกับฝ่ายใดได้จริงจัง

อย่างไรก็ตาม ลัทธิชาตินิยมที่ยังไหลเวียนในบราซิล และ อาร์เจนติน่า ทั้งจากรัฐบาทหาร และ รัฐบาลประชาชน ทั้งสองฝ่ายยังคงแข่งขันประกาศความยิ่งใหญ่ และเป็นหนึ่งของภูมิภาค ผ่านการแข่งขันบนสนามฟุตบอล ที่ไม่มีใครยอมใครยิ่งกว่าสงครามจริงเสียอีก

เพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่ง

เส้นทางสู่ความเป็นเลิศของประเทศบราซิล บนเวทีลูกหนังโลก เริ่มต้นขึ้นในปี 1950 เมื่อพวกเขาได้รับความไว้ให้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก หลังปี 1946 บราซิลเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุมสภาฟีฟ่า

 7

เพื่อแสดงให้โลกรู้ว่าพวกเขามีศักยภาพมากเพียงใด บราซิล เนรมิตสนามมาราคานา สเตเดียม (Maracanã Stadium) ที่จุผู้ชมได้เกือบสองแสนคน ในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลโลก 1950

แม้บราซิลจะไม่สามารถคว้าแชมป์ได้ในการแข่งขันดังกล่าว หลังพ่ายแพ้แก่อุรุกวัยในการแข่งขันนัดสุดท้าย แต่พวกเขาแสดงให้โลกเห็นถึงความคลั่งไคล้ในกีฬาฟุตบอล ก่อนประกาศตัวเป็นราชาลูกหนัง จากการคว้าแชมป์โลกในปี 1958, 1962 และ 1970 พร้อมให้กำเนิดนักเตะที่ดีที่สุดในโลก “เปเล่”

 8

สวนทางกับเพื่อนบ้าน ประเทศอาร์เจนติน่า กลับไปสู่การปกครองแบบเผด็จการอีกครั้งในปี 1955 ก่อนเว้นว่างสู่การเลือกตั้ง และกลับเข้าสู่ระบบเผด็จการอีกครั้งในปี 1966 ด้วยเหตุการณ์ที่เรียกว่า “ปฏิวัติอาร์เจนไตน์” (Argentine Revolution)

 9

กว่าจะรู้ตัวว่าบราซิลนำโด่งด้านฟุตบอลไปไกล อาร์เจนติน่าต้องรอถึงปี 1978 ที่ได้รับโอกาสจัดการแข่งขันฟุตบอลโลก ซึ่งพวกเขาสร้างเรื่องอื้อฉาวตั้งแต่ยังไม่ทันได้ลงเตะ

เมื่อปี 1976 เกิดการยึดอำนาจของรัฐบาลทหารอีกครั้ง และ มีความต้องการจะเปลี่ยนโลโก้ของการแข่งขันในทันที เนื่องจากโลโก้ดังกล่าวดัดแปลงจากท่าประจำตัวของ ฮวน เปรอน (Juan Perón) ประธานาธิบดีขวัญใจชาวอาร์เจนติน่า ที่รัฐบาลของเขาเพิ่งถูกโค่นจากอำนาจมาหมาดๆ

ถึงการแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งดังกล่าว จะถูกกล่าวขานว่าเป็นฟุตบอลโลกที่สกปรกที่สุด แต่การยันเสมอบราซิล 0-0 จนตีตั๋วเข้ารอบต่อไป และคว้าแชมป์ได้ในท้ายที่สุด ถือเป็นสุดยอดความภาคภูมิใจของชาวอาร์เจนติน่า เมื่อพวกเขาวิ่งตามบราซิลได้ทัน ทั้งในฐานะเจ้าภาพการแข่งขัน และ แชมป์โลก

 10

ปี 1986 อาร์เจนติน่าก้าวสู่จุดสูงสุดในโลกฟุตบอล ด้วยการคว้าแชมป์โลกเป็นสมัยที่สอง พร้อมกับเปิดตัวนักเตะที่ดีที่สุดในโลกของตัวเอง “ดีเอโก มาราโดน่า” ขณะที่บราซิลห่างหายไปจากความสำเร็จยาวนาน 24 ปี จากอิทธิพลของรัฐบาลทหารที่กัดกินประเทศตั้งแต่ปี 1964

 11

ถึงในสนามฟุตบอลทั้งสองประเทศจะแข่งขันอย่างไม่มีใครยอมใคร แต่หลังจาก บราซิล และ อาร์เจนติน่า กลับเป็นประชาธิปไตยเต็มใบในปี 1985 และ 1983 พวกเขายุติความขัดแย้งระหว่างกัน หลังรู้ว่าศัตรูที่แท้จริงและกัดกินประเทศมาอย่างยาวนาน เกิดขึ้นจากคนในชาติตัวเอง

เวลาผ่านมาเกือบ 200 ปี นับแต่ครั้งแรกที่ บราซิล และ อาร์เจนติน่า ยกปืนต่อสู้กันในศึกสงคราม เรื่องราวบางอย่างหายไปจากประวัติศาสตร์ เหลือเพียงความบาดหมางบนโลกฟุตบอลที่ยังคงเด่นชัด จนหลายฝ่ายเข้าใจผิดว่าความเกลียดชัง มาจากเรื่องบนสนามหญ้าล้วนๆ

ในความเป็นจริงแล้ว บราซิล และ อาร์เจนติน่า มีประวัติศาสตร์ยาวนานร่วมกันมาตั้งแต่วันแรกที่ประกาศเอกราช ทั้งแง่ของการเป็นพันธมิตรร่วมสงคราม หรือ ศัตรูคู่อาฆาต

 12

แต่ไม่ว่าสถานะพวกเขาจะเป็นรูปแบบใด ทั้งสองประเทศต่างแข่งขันเพื่อชิงความเป็นหนึ่งของทวีปอเมริกาใต้ตลอดเวลา เพียงแค่เปลี่ยนวิธีการ ไปตามความเหมาะสมของสังคมในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อสงครามถูกต่อต้าน การชิงดินแดนเป็นเรื่องไร้สาระ ชาวบราซิล และ ชาวอาร์เจนติน่า ทุกคน คงเห็นพ้องต้องกันว่า คงไม่มีเวทีไหนที่จะปล่อยให้พวกเขาแย่งชิงความเป็นหนึ่ง และประกาศความเป็นผู้ชนะได้สะใจ ไปมากกว่าการการคว้าชัยบนเวทีฟุตบอลอีกแล้ว

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ต้นตอจากประวัติศาสตร์ : ทำไม บราซิล-อาร์เจนตินา ถึงเกลียดกัน?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook