เมืองที่เร็วที่สุดในโลก : "อิเทน" เมืองเล็กๆ ที่สร้างนักวิ่งแชมป์โลกมากว่า 30 ปี
คำที่ถูกค้นบ่อย
    Sanook//s.isanook.com/sr/0/images/logo-new-sanook.png60060
    //s.isanook.com/sp/0/ud/190/953598/q.jpgเมืองที่เร็วที่สุดในโลก : "อิเทน" เมืองเล็กๆ ที่สร้างนักวิ่งแชมป์โลกมากว่า 30 ปี

    เมืองที่เร็วที่สุดในโลก : "อิเทน" เมืองเล็กๆ ที่สร้างนักวิ่งแชมป์โลกมากว่า 30 ปี

    2019-07-27T05:38:00+07:00
    แชร์เรื่องนี้

    ขอบคุณที่มาเยี่ยมเยือน… อิเทน บ้านของแชมเปี้ยน! นี่คือป้ายข้อความที่ติดอยู่บริเวณซุ้มประตูของ "อิเทน" เมืองเล็กๆ ในประเทศเคนย่าที่สร้างนักวิ่งระยะไกลระดับแชมป์โลกมามากมาย

    หลายคนอาจจะคิดว่าคนเชื้อสายแอฟริกันนั้นเกิดมาเพื่อเป็นนักวิ่งโดยธรรมชาติ ทว่าจะกล่าวอย่างนั้นมันก็ไม่ถูกเสมอไป เพราะนี่คือเรื่องที่เกิดขึ้นในดินแดนแห่งแชมเปี้ยน และมันคือเหตุผลที่พวกเขามีนักวิ่งสถิติโลกเต็มไปทั่วทุกตรอกถนน

     

    ไม่ใช่ยีนส์ ไม่ใช่พันธุกรรม และไม่ใช่สีผิวเท่านั้นที่เป็นต้นเหตุ… นี่คือเรื่องราวของ อิเทน

    วิ่ง = ชีวิต

    อิเทน ไม่ใช่เมืองใหญ่และมีความเจริญอะไรมากมายนัก เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในจังหวัดหนึ่งของประเทศเคนย่า (มี 47 จังหวัด) ที่มีชื่อว่า Elgeyo-Marakwet ด้วยความที่ตั้งอยู่ห่างไกลจากความเจริญและเมืองหลวงของประเทศอย่าง ไนโรบี ทำให้ อิเทน มีปัญหาในด้านการคมนาคมเป็นอย่างยิ่ง พวกเขาไม่มีรถประจำทางที่วิ่งรับผู้คนในเมืองไปส่งยังที่ต่างๆ และไม่มีแม้กระทั่งรถบัสสำหรับส่งเด็กๆ ไปโรงเรียนในตอนเช้า ... อ่านมาถึงตรงนี้คุณคิดว่าอะไรจะเกิดขึ้นต่อไป?

     2

    สิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตคือทัศนคติ ต่อให้สิ่งรอบตัวจะแย่และลำบากแค่ไหน แต่ถ้าเราสามารถมองหาแง่มุมดีๆ ได้ชีวิตก็จะง่ายขึ้นเยอะ และที่ อิเทน เต็มไปด้วยเด็กหนุ่มผู้พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส พวกเขาไม่มีรถมารับไปกลับ พวกเขาก็ต้องวิ่งไปโรงเรียนทุกวัน กว่าจะเรียนจนจบมัธยมก็ตีเสียว่าประมาณ 10 ปี  ตลอด 10 ปีนั้นพวกเขาวิ่งไปกลับอยู่อย่างนั้้นแทบทุกวัน

    ปัจจุบันแม้ความเจริญจะเข้ามาถึงบ้าง แต่สิ่งที่รายการเกี่ยวกับสารคดีการวิ่งของคนที่นี่นำเสนออยู่ตลอดคือภาพของเด็กชายและเด็กหญิงในชุดนักเรียนที่วิ่งไปหัวเราะไประหว่างทางเดินจากบ้านไปยังโรงเรียนด้วยเท้าเปล่า ทุกก้าวๆ ของเด็กๆ พวกนี้จะคล้อยหลังด้วยฝุ่นสีแดงจากดินลูกรัง และมันคือภาพที่สะท้อนวิถีชีวิตของคนที่นี่ได้เป็นอย่างดี

    สิ่งนี้ช่วยคุณได้จริงๆ เรื่องนี้มันเกิดขึ้นกับ อีเลียด คิปโชเก นักวิ่งชาวเคนยาดีกรีเหรียญทอง โอลิมปิก และนักวิ่งที่จบเส้นทางมาราธอน 42.195 กิโลเมตร ด้วยเวลาที่เร็วที่สุดในโลกภายในระยะเวลาแค่ 2 ชั่วโมง 1 นาที 39 วินาทีเองก็มีวัยเด็กเช่นนี้เหมือนกัน เขาวิ่งจากบ้านไปโรงเรียนไปกลับวันละ 4 กิโลเมตร ตั้งแต่อายุ 6-7 ขวบ การทำแบบนั้นทุกวันไม่ต่างกับการซ้อมวิ่งโดยไม่รู้ตัว ดังนั้นการจะบอกว่าคนแอฟริกันหรือเคนย่ามี ดีเอ็นเอ, ยีนส์ และพันธุกรรม ที่ได้เปรียบคนอื่นก็คงไม่ถูกนัก แต่มันคือวิถีชีวิตมากกว่าที่ทำให้พวกเขารวดเร็วและมีปอดที่มีพลังมหาศาลได้ขนาดนี้

    ก็อดฟาเธอร์แห่งการสร้างนักวิ่ง

    เมื่อมีพลังที่สามารถทำให้ทุกคนในเมืองเป็นนักวิ่งระยะไกลได้ ว่ากันว่าในประชากรทั้งหมด 4,000 คนนั้น มีถึง 500 คนที่สามารถเป็นนักวิ่งมาราธอนได้ ... จึงทำให้หลักสูตรการเรียนการสอนของโรงเรียน เซนต์ แพทริก ที่ก่อตั้งในปี 1961 โดยกลุ่มผู้เผยแพร่ศาสนาชาวไอริช ได้เล็งเห็นไปถึงการต่อยอดในความสามารถพิเศษและความพยายามโดยธรรมชาติของเด็กๆ ใน อิเทน เหล่านี้ โดยชายที่เป็นคนเริ่มให้เด็กๆ วิ่งอย่าง "ตั้งใจ" และมีจุดมุ่งหมายเป็นครั้งแรกมีชื่อว่า บาทหลวง คอล์ม โอคอนเนลล์ ที่เข้ามารับหน้าที่พร้อมกับตำแหน่งครูวิชาภูมิศาสตร์ชาวไอริช ที่ย้ายเข้ามาตอนปี 1970 ซึ่ง ณ เวลานั้น คอล์ม มีสัญญามาสอนในระยะสั้นเพียง 3 เดือนเท่านั้น ... แต่เมื่อได้ทำงานเกี่ยวกับการวิ่ง ก็ได้ใช้ชีวิตใน เคนย่า จนถึงทุกวันนี้

     3

    คอล์ม เล่าว่าเขามาโรงเรียนในวันแรกและได้เห็นเด็กๆ ในโรงเรียนวิ่งด้วยความเร็วที่เหลือเชื่อทั้งๆ ที่มันเป็นการวิ่งระยะไกล มันจึงเป็นเหุตผลให้เขาปิ๊งไอเดียอยากทำชมรมวิ่งขึ้นมาให้เป็นรูปเป็นร่าง ทั้งๆ ที่เขาเป็นพวกหนอนหนังสือ ไม่เคยเป็นนักกีฬาใดๆ หรือทำงานด้านโค้ชมาก่อนเลย ว่ากันง่ายๆ คือเมื่อเขาถูกส่งมาอยู่ในโรงเรียนแดนไกลนี้เขาเหมือนถูกโยนลงไปในแม่น้ำ ก่อนที่จะเคยเรียนว่ายน้ำเสียอีก

    "ผมไม่เคยจบการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือมีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาเลยแม้แต่น้อย ผมก็เรียนรู้จากโค้ชคนอื่นๆ ที่อยู่มาก่อนผม และคนที่พอรู้จักจากนั้นก็หยิบนั่นนิดนี่หน่อยของแต่ละครมาปรับปรุงมาเป็นแบบของผมเอง" คอล์ม เปิดใจถีงที่มาของเขา

    อย่างไรก็ตามการทำหน้าที่เป็นโค้ชทำให้เขาได้เจอสิ่งที่ชีวิตต้องการ คอล์ม เล่าว่าเขาชอบที่จะเห็นความสู้ของเด็กๆ ที่นี่ เขาบอกว่าด้วยการมองครั้งเดียวก็พอจะทำให้รู้ว่ามีเด็กคนไหนบ้างที่พร้อมจะเป็นแชมป์โลกในอนาคต โดยสิ่งที่เขาจะเห็นในตัวกลุ่มเด็กพิเศษพวกนั้นคือ "ความปรารถนาที่แรงกล้า" ที่ชัดเจนมากกว่าเด็กคนอื่นๆ

    "ไม่ใช่ทุกคนที่นี่หรอกนะที่จะเป็นยอดนักวิ่งได้ หลายคนฝึกกับผมและไปไม่ถึงระดับนั้นได้ ไม่ใช่ทุกคนหรอกที่มีพรสวรค์และมีความปรารถนาที่มากพอ ผมเองพัฒนาเรื่องความรู้สึกและความกระตือรือร้นในการกระตุ้นนักวิ่ง ผมไม่ได้บีบพวกเขาจนหายใจไม่ออก ผมให้ความสำคัญกับบุคลิกของนักกีฬาแต่ละคนมากกว่าการคอยจ้ำจี้จ้ำชัยให้พวกเขาทำในสิ่งที่ผมตีกรอบไว้"

    สำหรับ คอล์ม เขารู้ว่าชาวเมือง อิเทน หลายคนมีฐานะยากจน ดังนั้นมันจึงไม่ต่างอะไรกันมากหากวัดกันจากฐานะ ดังนั้นเรื่องของคาแร็คเตอร์ของแต่ละคนจึงสำคัญมากสำหรับเขา เพราะเขาเป็นคนที่สอนฟรี! ดังนั้นการจะสอนใครก็สมควรเลือกคนที่มีใจอยากจะฝึกจริงๆ  

     4

    "ผมยังจำได้ดีตอนที่เราคว้าเหรียญทองแรกได้ มันเซอร์ไพรส์มากเลย เราไม่ได้เตรียมเทปเพลงชาติ เคนย่า มาเพื่อเปิดในงานนี้ด้วยซ้ำ เด็กๆ ของผมต้องร้องเพลงชาติเองในการรับเหรียญทองครั้งนั้น หลังจากที่เด็กขิงผมได้แชมป์กรีฑาชิงแชมป์โลกระดับเยาวชนในปี 1986 หลายคนก็เริ่มสนใจเรา โลกภายนอกอยากจะรู้จักนักวิ่งเคนย่าว่าผ่านการฝึกอะไรมาบ้าง"  

    เด็กของ คอล์ม กลายมาเป็นแชมป์โลกได้จริงๆ หลังจากผ่านการลองผิดลองถูกกว่า 10 ปี เขาก็สร้างนักวิ่งระดับเหรียญทองโอลิมปิกได้สำเร็จอาทิ ลอร์นาห์ คิปลากัต แชมป์โลกนักวิ่งครอสคันทรี่ และ เดวิด รูดิชา นักวิ่งระยะกลางเจ้าของเหรียญทองโอลิมปิกและสถิติโลกระยะ 800 เมตร การผลิตแชมป์โลกและกลายเป็นบุคคลทรงอิทธิพลของ คอล์ม ทำให้เขาถูกเรียกว่า "ก็อดฟาเธอร์แห่งวงการวิ่ง" เลยทีเดียว และเหล่านักวิ่งของเขานี่เองที่นำชื่อเสียงกลับมาสู่ อิเทน จนกลายเป็นเมืองของแชมเปี้ยนในเวลานี้

    Run to Win

    หลังจาก อิเทน สร้างแชมป์โลกทั้งชายและหญิงมากมายตั้งแต่ยุค '90s ทำให้กลายเป็นกระแสในท้องถิ่นเข้าอย่างจัง เด็กๆ อยากเติบโตมาเป็นนักวิ่งที่มีชื่อเสียงและเงินทอง เพราะที่ อิเทน นั้นแต่เดิมเป็นเมืองที่ยากจนและต้องทำงานหนัก อาชีพมีให้เลือกน้อยมากเพราะไม่มีโรงงาน มีแต่การทำไร่ทำเกษตรกรเพื่อยังชีพเท่านั้น ทางเลือกที่ง่ายและทำได้โดยไม่ต้องใช้ต้นทุนเพื่อซื้ออุปกรณ์ใดๆ เลยก็มีเพียงอย่างเดียวนั่นคือการวิ่งนั่นเอง

     5

    ที อิเทน มีคำขวัญที่แพร่หลายในหมู่นักวิ่งว่า "Train hard, win easy" หรือ "ยิ่งฝึกหนักชัยชนะก็ยิ่งเป็นเรื่องง่าย" พวกเขาเชื่ออย่างนั้นและหลายคนแทบไม่ต้องใช้ความพยายามในการทำตามคำขวัญนี้เลย เพราะแรงใจในการเอาชนะความยากจนของนักวิ่งจาก อิเทน นั้นถือว่าสูงส่งอย่างไม่น่าเชื่อ

    The Globe and Mail สื่อจากแคนาดาพยายามค้นเรื่องนี้ว่าการฝึกของนักวิ่งเคนย่านั้นหนักแค่ไหน ทำไมพวกเขาจึงมีทั้งความเรีวและความอึดเป็นเบอร์ต้นๆ ของโลก พวกเขาไปยัง "The HATC" (High Altitude Training Centre) ที่ ลอร์นาห์ คิปลากัต ตำนานนักวิ่งหญิงเคนย่าได้สร้างขึ้นใน อิเทน ตั้งแต่ปี 2000 และค้นพบว่าการฝึกของที่นี่หนักจริงอย่างที่ว่า

    มันไม่ใช่แค่การลงไปวิ่งในสนามและจับเวลาอย่างที่ใครเข้าใจ เพราะการฝึกที่ อิเทน นั้นให้ความสำคัญไปถึงการพักผ่อน พื้นผิวของเส้นทางในการฝึกที่จะเป็นทางลูกรังที่นุ่มและมีประโยชน์สำหรับการลงน้ำหนักเท้าในการวิ่ง, การกินอาหารที่มีสารอาหารเพียงพอสำหรับการวิ่งในระยะต่างๆ และอย่างสุดท้ายคือการฝึกเรื่องสภาพจิตใจซึ่งเป็นเรื่องที่ยากที่สุด เพราะนักวิ่งจาก อิเทน จะต้องสู้กับตัวเองด้วยการแบกความรู้สึก 2 อย่างในเวลาเดียวกันนั่นคือการ "อย่ากังวล" จนมากเกินไป และอย่างที่สองคือเรามา "วิ่งเพื่อชัยชนะ" แม้จะเป็นสองสิ่งที่ต่างกันจนดูเหมือนทำมันพร้อมกันไม่ได้ แต่ชาว อิเทน จะบอกตัวเองอย่างนั้น พวกเขาจะมั่นใจฝีเท้าความเร็วของตัวเองและจะพยายามแบบสุดความสามารถเพื่อการได้เป็นผู้ชนะ

     6

    ว่ากันว่าหลากหลายรายการที่มีการแข่งขันวิ่งมาราธอน นักวิ่งจาก อิเทน หลายคนนั้นมักจะซื้อตั๋วเครื่องบิน ซึ่งมีราคาแพงมากในช่วง 20 ปีก่อน เพียงเที่ยวเดียวเท่านั้น เพราะเงินที่จะใช้ซื้อตั๋วบินขากลับคือเงินรางวัลที่พวกเขาเอาชนะในการแข่งขันได้ … ไม่รู้ว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องกุศโลบาย หรือเป็นเรื่องจริงมากน้อยแค่ไหน แต่ถ้าหากเป็นเรื่องจริง มันคือการสร้างโจทย์ที่กระตุ้นให้ร่างกายออยากเอาชนะได้ดีสุดๆ

    นอกจากจะชนะเพื่อตัวเองแล้วเหล่านักวิ่งจาก อิเทน นั้นยังต้องเอาชนะเพื่อครอบครัวด้วย ส่วนใหญ่นักวิ่งจากที่นี่เป็นลูกของเกษตรกร ดังนั้นการเอาชนะและคว้าชื่อเสียงและรางวัล เพื่อนำมาเปลี่ยนเป็นเงินที่จะทำให้พวกเขาสามารถเอามาใช้จ่ายและรักษาที่ดินกสิกรรมของตระกูลเอาไว้

    คนที่นี่มีแรงถีบเกินกว่าที่เราจะจินตนาการได้ ยิ่งปัจจุบันพวกเขามีแชมเปี้ยนตัวเป็นๆ ไว้ให้เป็นแบบอย่าง เด็กๆ ในอิเทนยิ่งมีฝันในการจะเป็นนักวิ่งมากขึ้น ณ เวลานี้ อิเทน มีประชากรประมาณ 4,000 คน และครึ่งหนึ่งของจำนวนนี้คือคนที่ปรารถนาจะได้ลงแข่งวิ่งในรายการระดับประเทศและระดับโลก

    ความสำเร็จที่พิสูจน์ได้

    ปัจจุบันด้วยความสำเร็จของการสร้างนักวิ่งระดับแชมป์โลกและเหรีญทองโอลิมปิกถึง 13 คน ทำให้มีความสนใจจากทั่วโลกที่อยากจะมาฝึกวิ่งในอิเทน ซึ่งตอนนี้ อิเทน ก็มีศูนย์ฝึกวิ่งมากมายที่พร้อมจะรับเหล่านักวิ่งจากทุกชาติมาร่วมวิ่งและก้าวไปพร้อมๆกับเหล่าแชมเปี้ยนของโลก และหลายคนก็ไปถึงระดับแชมป์จริงๆ

     7

    มีเรื่องเล่าจากเด็กหนุ่มฝาแฝดจากนิวซีแลนด์ที่ชื่อว่า เจค และ เซน โรเบิร์ตสัน ที่มีอายุแค่ 17 ปี เกิดความเชื่อที่ว่านักวิ่งจาก อิเทน ไม่ได้เป็นแชมป์เพียงแค่เพราะพวกเขาเป็นคนแอฟริกัน และมีพรสวรรค์มากกว่าใคร แต่มันเกิดจากวิถีชีวิตและการฝึกอย่างหนักต่างหาก ดังนั้นพวกเขาจึงเก็บข้าวของจากแดนกีวี่มาใช้ชีวิตแบบที่แชมป์โลกจาก อิเทน หลายคนเป็น ...

    "ผมเป็นนักวิ่งที่เร็วมากของโรงเรียนแต่พอไปแข่งระดับประเทศผมมักจะแพ้ ผมไม่ชอบความรู้สึกนั้น ตอนนั้นผมไปแข่งรายการชิงแชมป์โลกในปี 2005 แล้วผมก็แพ้อีก ผมเลยกลับไปดูการวิงของแชมป์จาก อิเทน อย่าง เบอร์นาร์ด ลากัด และ คิปโชเก้ ผมเลยอยากจะลองเป็นแบบพวกเขา ผมอยากไปโอลิมปิกมาก แล้วผมก็ได้เจอกับนักวิ่งเคนย่าในงานวิ่งครอสคันทรี่ชิงแชมป์โลกปี 2006 เขาบอกให้ผมมาฝึกซ้อมที่ เคนย่า ด้วยกันและยืนยันว่าที่นั่นปลอดภัยสำหรับทุกคน เพราะในมุมมองของคนนิวซีแลนด์ แอฟริกา คือสถานที่ที่อันตราย" เจค แฝดน้องเล่าถึงการออกจากครอบครัวมาใช้ชีวิตใน อิเทน

    สองพี่น้องโรเบิร์ตสันได้ฝึกเหมือนกับชาว อิเทน ทุกอย่าง ตื่นนอนตี 5 ไปโรงยิมออกกำลังกายเฉพาะส่วน จากนั้นก็เริ่มซ้อมวิ่งอย่างจริงจัง นอกจากนี้ทั้งคู่ไม่ได้แค่ซ้อมแบบ อิเทน แต่พวกเขายังอยู่แบบชาว อิเทน ทุกอย่าง โดยเฉพาะการไปขนน้ำจืดสัปดาห์ละ 135 ลิตร, ใช้ชีวิตในห้องที่มีแต่เตียงนอน, ซักผ้าล้างจานเองทุกอย่างทั้งๆ ที่ตอนอยู่ นิวซีแลนด์ เขาไม่เคยทำเลย และมันเป็นเหตุผลว่าทำไมพ่อและแม่ของพวกเขาจึงออกเงินค่าตั๋วเครื่องบินให้ทั้งขาไปและขากลับเพราะพวกท่านเชื่อว่าลูกๆ ของตัวเองจะไม่สามารถทนกับชีวิตแบบนี้ได้ ... แต่แล้วพ่อกับแม่ก็คิดผิด

    เพราะหลังจากได้มาฝึกที่ อิเทน เป็นเวลา 2 ปี พี่น้องโรเบิร์ตสัน สามารถทำได้ไม่ต่างกับชาว อิเทน มากนัก พวกเขาสามารถจบฮาล์ฟมาราธอนได้ในเวลาไม่ถึง 60 นาที นอกจากนี้เมื่อกลับไป นิวซีแลนด์ ทั้งคู่ก็กลายเป็นนักวิ่งทำระยะที่วิ่งได้เร็วที่สุดในประเทศ โดย เจค ทำสถิติวิ่ง 10,000 เมตรของแดนกีวี่ขึ้นใหม่ในการแข่งขันกีฬาเครือจักรภพอังกฤษที่เมืองโกลด์โคสต์ ด้วยการใช้เวลาเพียง 27 นาที 30.90 วินาทีเท่านั้น

     8

    นี่คือเรื่องเล่าสั้นๆ ที่บอกได้เป็นอย่างดีว่าวิถึชีวิตความเป็นอยู่ รวมถึงแรงกระหายในจิตใจล้วนแต่เป็นสิ่งที่นักวิ่งจาก อิเทน ควรได้รับความชื่นชมมากกว่าที่จะบอกว่ามันเป็นแค่พรสวรรค์และสีผิวของพวกเขา แม้ เจค และ เซน โรเบิร์ตสัน จะยังไม่ไม่ถึงระดับเหรียญทองโอลิมปิกเหมือนที่ชาว อิเทน หลายคนทำได้ แต่พัฒนาการของทั้งคู่หลังจากมาใช้ชีวิตกินอยู่ใน อิเทน ก็ดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด เพราะพวกเขาเคยลงแข่งวิ่งกับ โม ฟาราห์ นักวิ่งเหรียญทองโอลิมปิกจากสหราชอาณาจักรมาแล้ว

    ความสำเร็จในการวิ่งหรือสิ่งใดๆ ก็ตามในชีวิตไม่ได้มีหลักสูตรตายตัว และไม่มีข้อกำหนดว่า ความสำเร็จบางอย่างเหมาะสำหรับคนบางประเภทเท่านั้น แต่ทุกคนต่างมีโอกาสไปถึงจุดนั้นได้ทั้งหมดเพียงแต่ว่าแต่ละคนจะเอาจริงเอาจังกับชีวิตมากแค่ไหน

    อย่างที่ อิเทน นั้น การวิ่งเก่งไม่ได้มาจากโครงสร้างร่างกายและยีนส์เพียงอย่างเดียว แต่การวิ่งสำหรับพวกเขามันคือการดิ้นรนต่างหาก ยิ่งดิ้นมากเท่าไหร่ก็มีโอกาสประสบความสำเร็จมากเท่านั้น ... นี่คือสิ่งที่เมืองเล็กๆ ที่เร็วที่สุดในโลกเมืองนี้เป็น

    อัลบั้มภาพ 7 ภาพ

    อัลบั้มภาพ 7 ภาพ ของ เมืองที่เร็วที่สุดในโลก : "อิเทน" เมืองเล็กๆ ที่สร้างนักวิ่งแชมป์โลกมากว่า 30 ปี