"ออกซาน่า มาสเตอร์ส" : สาวน้อยนักสกีอมตะที่ "เชอร์โนบิล" ฆ่าไม่ตาย

"ออกซาน่า มาสเตอร์ส" : สาวน้อยนักสกีอมตะที่ "เชอร์โนบิล" ฆ่าไม่ตาย

"ออกซาน่า มาสเตอร์ส" : สาวน้อยนักสกีอมตะที่ "เชอร์โนบิล" ฆ่าไม่ตาย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ปี 2018 มีการแข่งขัน พาราลิมปิก ฤดูหนาว ที่เมืองพยองชาง ประเทศเกาหลีใต้ มันคือสังเวียนที่นักกีฬาคนพิการจากทั่วโลกมาแสดงฝีมือที่พวกเขามี และเหนือสิ่งอื่นใดคือประกาศให้โลกรู้ว่าพวกเขาสามารถเอาชนะอุปสรรคที่เจอมาตลอดชีวิตได้สำเร็จ จนมายืนอยู่ในเวทีแห่งเกียรติยศนี้

 

นี่คือเรื่องราวของ ออกซาน่า มาสเตอร์ส เจ้าของเหรียญทอง 2 เหรียญในกีฬาสกีคอสคันทรี่ประเภทนั่ง ซึ่งในช่วงขณะที่เธอขึ้นรับเหรียญเธอบอกว่าไม่เคยคิดว่าชีวิตจะมาถึงจุดนี้ได้ เพราะเมื่อครั้งยังอยู่ในสถานเด็กกำพร้า เธอต้องรอครอบครัวมาอุปถัมภ์ยาวนานหลายปี ขณะที่เด็กคนอื่นๆ ได้ครอบครัว แต่เธอกลับโดนเมินเฉยมาตลอด เพราะว่าเธอเติบโตมาจากสถานที่ที่หนึ่งที่อันตรายที่สุดในโลก... เชอร์โนบิล

เชอร์โนบิล ไดอารี่

ย้อนกลับไปหลายสิบปีก่อนสหภาพโซเวียตคือมหาอำนาจที่ยิ่งใหญ่ของโลกเมื่อครั้งอดีต หลายสิ่งหลายอย่างถูกสร้างขึ้นเพื่อชิงความเป็นหนึ่งในพื้นปฐพีแห่งนี้ ไม่ว่าจะเป็นการส่งยานอวกาศไปยังนอกโลก, การสร้างกองทัพที่แข็งแกร่ง และการสร้างพลังงานให้ประชาชนในประเทศให้ด้วยเทคโนโลยีที่ทรงพลังอย่าง "นิวเคลียร์"

 1

อย่างไรก็ตามเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝันขึ้นในปี 1986 ที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์เชอร์โนบิล ตั้งอยู่ที่นิคมเชอร์โนบิล ริมฝั่งแม่น้ำนีเปอร์ ใกล้เมืองพริเพียต แคว้นเคียฟ ทางตอนเหนือของยูเครน ใกล้ชายแดนเบลารุส (ขณะนั้นยูเครนและเบลารุสยังเป็นส่วนหนึ่งของสหภาพโซเวียต) ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเป็นอุบัติเหตุที่เกิดกับโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ที่ร้ายแรงที่สุดในประวัติศาสตร์ ไม่ว่าจะความเสียหายด้านชีวิตและทรัพย์สิน

ไม่ใช่แค่คนที่ตายไปเท่านั้นเพราะแม้แต่คนที่รอดตายก็ยังอยู่ไม่ได้เช่นกัน... เพราะปริมาณของรังสีที่แพร่กระจายออกมา มีอานุภาพมากกว่ารังสีจากระเบิดปรมาณูที่ถล่มใส่เมืองฮิโรชิม่าและนางาซากิถึงอย่างน้อย 100 เท่า ไม่ต้องสงสัยเลยว่ามนุษย์ไม่สามารถอยู่ได้ ประชาชนในพื้นที่และละแวกใกล้เคียงต้องหนีตายด้วยการอพยพในทันที แต่ถึงอย่างนั้นมันก็ไม่ทันการณ์ สารเคมีต่างๆ กระจายตัวไปทั่วพื้นที่ เข้าไปสู่บ้านเรือน, โรงเรียน, ป่าเขา, แม่น้ำ แม้แต่กระทั่งท้องฟ้า เพราะสารเคมีเหล่านั้นถูกผสมกลับลงมาเป็นน้ำฝน และเมื่อตกลงมาจากฟ้า ไม่มีใครที่รอดจากมันได้...

ฝนกรดจากกัมมันตรังสีแพร่กระจายไปไกลถึงไอร์แลนด์ โดยยูเครน, เบลารุส และ รัสเซีย เป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากหายนะภัยเชอร์โนบิลมากที่สุด คือมีพื้นที่ปนเปื้อนรังสีมากถึงร้อยละ 63 และที่ เชอร์โนบิล เกิดการเปลี่ยนแปลงในแง่ชีวภาพไปตลอดกาล เพราะสัตว์ที่หากินอยู่ในละแวก 30 กิโลเมตรโดยรอบโรงไฟฟ้าเชอร์โนบิล มีอัตราการตายก่อนอายุขัยสูงมากขึ้น มียีนผิดปกติมากขึ้น และมีอัตราการเกิดลดลง อันมีผลจากรังสีและเคมีต่างๆ สำหรับมนุษย์เองก็เช่นกัน เด็กที่เกิดใหม่จะมาพร้อมกับโรคแปลกที่หาได้ยาก อาทิโรคมะเร็งต่อมไทรอยด์ รวมถึงการมีข้อบกพร่องทางพันธุกรรมในระยะยาว อะไรก็ตามที่มีชีวิตล้วนได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ระเบิดนี้ทั้งสิ้น

 2

ไม่ใช่เรื่องของเวรกรรมแต่มันเป็นเรื่องที่วิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ ออกซาน่า มีอาการผิดปกติในร่างกายหลายจุดได้แก่ แขนและขาที่ยาวไม่เท่ากัน น่องของเธอมีพังผืดหนาจนแทบยืนไม่ได้ นิ้วมือของเธอมีไม่ครบเพราะขาดนิ้วก้อย ขณะที่นิ้วเท้าของเธอกลับมีทั้งหมด 6 นิ้ว นอกจากนี้รังสีต่างๆ สารพัดยังส่งผลให้อภัยวะภายในผิดปกติอีกด้วย… เธอโชคดีที่ยังมีชีวิต แต่ก็โชคร้ายในเวลาเดียวกันเพราะพ่อแม่ของเธอไม่รอด ...

สถานรับเลี้ยงเด็กที่ ออกซาน่า อยู่มีขนาดเล็กและไม่เพียงพอต่อจำนวนเด็กๆ ที่หลั่งไหลเข้ามาทุกๆ วัน ดังนั้นพวกเขาจะเปิดให้คนที่มีความพร้อมเข้ามารับอุปการะเด็กๆ จากที่นี่เพื่อชีวิตที่ดีกว่าและการดูแลเด็กๆ คนที่เหลืออย่างทั่วถึง

แน่นอนว่าสำหรับใครสักคนที่จะมารับเด็กๆ จากที่นี่ไปอุปการะ พวกเขาย่อมต้องเลือกเด็กๆ ที่มีสุขภาพพลานามัยสมบูรณ์ที่สุด ไม่มีใครอยากจะได้เด็กที่มีความผิดปกติแบบสุดขั้วเพราะนั่นอาจจะทำให้การรับไปอุปการะกลายเป็นการสร้างความลำบากให้กับตัวเอง ดังนั้นเด็กๆ คนอื่นที่มีร่างกายปกติจึงได้ออกไปใช้ชีวิตกับครอบครัวใหม่ก่อน ส่วนเด็กหญิง "ออกซาน่า อเล็กซานโดรน่า บอนดาร์ชุก" ต้องรอนานกว่าใครเพื่อนและต้องย้ายไปอยู่สถานที่เลี้ยงเด็กถึง 3 แห่งแบบโยนกันไปโยนกันมา

ความผิดปกติที่มากกว่าเด็กๆ คนอื่น บางครั้งแม้จะมีครอบครัวติดต่อมาแต่เมื่อเห็นสภาพของเธอพวกเขาจะบอกว่า "เราขอกลับไปคิดก่อน แล้วเราจะกลับมาใหม่" ... แทบไม่ต้องเดาต่อว่าหลังจากนั้นจะเป็นอย่างไร? พวกเขาไม่กลับมา และเมื่อครั้งยังเด็กเธอก็ไม่เข้าใจเหมือนกันว่ามันเป็นเพราะเหตุใด? อะไรทำให้เธอเป็นแบบนี้?

"ตอนฉันเป็นเด็กฉันไม่ได้รู้อะไรเกี่ยวกับ เชอร์โนบิล มากหรอก ฉันไม่เคยเข้าใจอะไรจนกระทั่งเมื่อได้โตขึ้นนั่นแหละฉันถึงรู้ว่ามันส่งผลกระทบไปทั่วพื้นที่แบบนี้"

 3

ร่างกายของ ออกซาน่า ไม่ค่อยดีนักแม้เวลาจะผ่านไป เธอมีพัฒนาการในการเจริญเติบโตที่ช้ามากเพราะขณะที่เธออายุ 7 ขวบ สมรรถภาพทางร่างกายของเธอยังเท่ากับเด็กอายุ 3 ขวบและเธอมีน้ำหนักแค่ 16 กิโลกรัมเท่านั้น ...

อย่างไรก็ตามในสถานการณ์ที่เลวร้ายสุดขีดก็เกิดเรื่องปาฎิหาริย์ขึ้น เกย์ มาสเตอร์ส หญิงหม้ายที่มีอาชีพเป็นคุณครูจากอเมริกา เดินทางมายัง ยูเครน และรับเธอเป็นลูกบุญธรรม

เธอผู้เปลี่ยนทุกอย่าง

เกย์ มาสเตอร์ส ไม่ใช่ผู้หญิงที่ร่ำรวยถึงขั้นมหาเศรษฐี แต่เธอไม่มีญาติมิตร ไม่มีสามี และเธอมีเหตุผลที่ง่ายๆ ที่เธอเลือก ออกซาน่า มาเป็นลูกสาว ซึ่งเธอใช้คำว่าถูกชะตา "ฉันรักทันทีเมื่อได้เห็นดวงตาของเธอ และฉันรับรู้ถึงจิตวิญญาณที่ยิ่งใหญ่ในตัวเธอในเวลาเดียวกัน" เกย์ มาสเตอร์ส เล่าผ่าน สารคดีเรื่อง Dear Oksana

 4

หลังจากย้ายมาอยู่ที่ บัฟฟาโล่ สหรัฐอเมริกา ออกซาน่า ได้เจอชีวิตที่ดีขึ้น อย่างน้อยเธอไม่ต้องหิวเหมือนเมื่อก่อน เธอได้กินอิ่มนอนหลับมีโอกาสออกไปเดินเล่นตามที่ต่างๆ สถานที่ธรรมดาๆ สำหรับคนอื่น แต่มันคือพื้นที่พิเศษสำหรับเธอ ...

"ฉันยังจำครั้งแรกที่ไปเดินห้าง วอลมาร์ท กับแม่ได้อยู่เลย เรานั่งเครื่องบินออกจาก ยูเครน กันตอน 6 โมงเย็น และฉันมาถึงอเมริกาในอีก 7 ชั่วโมง เราตื่นเต้นกันทั้งคู่ เธอพูดภาษายูเครนไม่ได้ แล้วฉันก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้เหมือนกัน แต่ที่จำได้คือแม่พาฉันไปซื้อเสื้อผ้า, ขนม และของเล่น แม่หยิบของใส่รถเข็นแบบไม่รู้จบ แสงไฟจากหลอกฟลูอออเรสเซนต์ส่องสว่างมากกว่าที่ฉันเคยเห็นมาทั้งชีวิต และสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้นคือความสวยงามที่สุดเท่าที่ฉันเคยเห็น" ออกซาน่า กล่าวถึงชีวิตใหม่ในอเมริกา

แม้จิตใจจะดีขึ้นแต่ร่างกายของ ออกซาน่า ยังต้องฟื้นฟูอีกมาก ควันหลงจากเชอร์โนบิลเล่นงานเธอรุนแรงเกินกว่าเด็กอายุ 7 ขวบจะรับได้ เมื่อเธอมาพบหมอที่อเมริกา การวินิจฉัยออกมาน่าตกใจ เธอต้องโดนตัดขาซ้ายทิ้ง และหลังจากนั้นอีกไม่นานต้องตัดขาขวาทิ้งอีกเพื่อรักษาชีวิตและเพื่อให้อยู่ได้ในระยะยาว  

 5

แน่นอนการที่เด็กอายุราวๆ 10 ปี อาจจะยังไม่ส่งผลอะไรมากนัก แต่เมื่อเธอโตเป็นสาว ต้องเข้าโรงเรียน และต้องมีกิจกรรมกับคนส่วนใหญ่ สภาพจิตใจเธอจึงย่ำแย่อีกครั้ง เพียงแต่รอบนี้ดีกว่าเก่า เพราะเธอไม่ได้สู้เพียงลำพัง แม่บุญธรรมได้แนะนำให้เธอรู้จักกับกีฬาหลากหลายชนิด โดยเริ่มจากการพายเรือเป็นอย่างแรก แรกๆ เธอเกลียดมันเพราะอายที่ต้องออกไปให้คนเห็นเธอในสภาพที่ไม่มีขา ทว่าหลังจากได้ลองแล้ว มันคืออีกด้านของชีวิตที่เธอไม่เคยรับรู้มาก่อนว่ามันดีกับเธอขนาดไหน

"ฉันตกหลุมรักการพายเรืออยู่บนแม่น้ำและได้เจอกับความสงบสุขที่แท้จริง ที่นี่มีเสรีภาพ บนเรือลำนี้ มันเป็นเรือของคุณแต่เพียงผู้เดียว การพายเรือคือการเยียวยารักษาร่างกายของฉัน" ออกซาน่า เล่าถึงการเปิดใจให้กับการเล่นกีฬาเป็นครั้งแรก ทว่าเธอไม่รู้ตัวหรอกว่าแม่ของเธอแอบใส่เลือดความเป็นนักสูัให้เธอตั้งนานแล้ว

 6

เมื่อครั้งที่ เกย์ มาสเตอร์ส ไปหา ออกซาน่า ครั้งแรกทั้งสองคนพากันไปตกปลา และแม่พยายามให้เธอเอาชนะให้ได้ เธอวางแผนให้ ออกซาน่า อยากจะสู้แม้ต้องแข่งกับผู้ใหญ่ และทุกวันหยุดที่มีโอกาส เกย์ มักจะหากิจกรรมสนุกๆ ที่ ออกซาน่า ไม่ทันรู้ตัวว่ามันคือกีฬาทำร่วมกันอาทิ เล่นสเก็ต, ว่ายน้ำ และ วอลเล่ย์บอล มันคือกิจกรรมหลังเลิกเรียนที่ทำให้ ออกซาน่า แอบมีทักษะนักกีฬาอยู่ในตัว

ไปลองเป็นแชมป์โลกดีไหม?

หลังจากอยู่ในบัฟฟาโล่ได้สักระยะ เกย์ ได้งานใหม่เป็นอาจารย์สอนในมหาวิทยาลัยเคนตั๊กกี้ 2 แม่ลูกหอบข้าวของพากันย้ายไปเคนตั๊กกี้ และจึงได้หากิจกรรมใหม่ทำนั่นคือการเล่นสเก็ตน้ำแข็ง

 7

ออกซาน่า เล่นสเก็ตน้ำแข็งได้ยอดเยี่ยมจนทางโรงเรียนติดต่อให้เธอเข้ากับสโมสร แต่เธอเองยังกลัวที่จะต้องแข่งกับเด็กที่ร่างกายปกติ เธอลังเลจนกระทั่งแม่ของเธอมาถามว่า "ครั้งเดียวเท่านั้น" ไปลองดูแล้วถามตัวเองว่าสนุกกับมันหรือไม่... ถ้าไม่ก็คือไม่ ไม่ต้องไปแข่งอีก ขอแค่ได้ลองก่อนก็พอ... เป็นอีกครั้งที่แม่รู้จุดอ่อนของ ออกซาน่า เพราะเมื่อเธอได้ลองแข่งแล้วเธอก็ต้องติดใจ เพราะเธอเป็นคนชอบเอาชนะ และมันเป็นอย่างนั้นเรื่อยมาจนกระทั่งเธอเป็นคนเสพติดออกกำลังกายและเป็นตัวแทนของอเมริกาไปเลยทีเดียว

แม้ร่างกายจะเสียเปรียบคนอื่นๆ ก็ตาม และเธอก็หัดเล่นสเก็ตตั้งแต่นั้นมา และไม่ใช่แค่สเก็ตเท่านั้น กีฬาอะไรก็ตามที่ร่างกายเธอไม่เป็นอุปสรรค เธอก็เล่นมันทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยาน, สกีครอสคันทรี่ และ สกีแบบนั่ง ซึ่งกีฬาทั้งหมดนี้ ออกซาน่า ทำได้ดีจนถึงขั้นเป็นตัวแทนของทีมชาติสหรัฐอเมริกาไปแข่งขันในรายการต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น พาราลิมปิกฤดูหนาว และ พาราลิมปิกฤดูร้อน โดยรายการแรกที่ได้เข้าร่วมคือการแข่งเรือพายใน พาราลิมปิก 2012 ที่กรุงลอนดอน จนกระทั่งมาถึงการคว้าเหรียญทองในสกีครอสคันทรี่ที่ พยองชาง เมื่อปีที่แล้ว

 8

"คุณจะไม่เคยชินกับการสูญเสียแขน สูญเสียขาได้หรอก แต่คุณเรียนรู้และปรับตัวกับมันได้เสมอ เมื่อมีบางสิ่งขาดหายไป มันก็ยากที่จะยอมรับ แต่จงคิดไว้ว่ามันไม่ได้กลับมาแล้ว ฉันรู้สึกขอบคุณตัวเองมากที่วิ่งเข้าหาโอกาสและโชคดียิ่งกว่าคือการมีแม่ที่พยายามสนับสนุนในการไล่ตามความฝัน"

ณ ตอนนี้เธอกลายเป็นกำลังสำคัญของ ทีม USA หรือทีมชาติสหรัฐอเมริกาในพาราลิมปิกไปแล้ว เธอได้รับการเชิญกลับไปเป็นวิทยากรให้กับเด็กๆ ในรัสเซียและยูเครน อีกทั้งตอนนี้ความฝันของเธอยังไม่จบ เธอกำลังซุ่มซ้อมเพื่อที่จะไปแข่งจักรยานในพาราลิมปิกที่ โตเกียว ปีหน้าอีกด้วย

 9

10

"ฉันลองแล้วลองอีกในหลายๆ สิ่งแม้ฉันไม่มีขา แต่ทุกครั้งที่ฉันเจ็บหรือโดดเดี่ยวเพราะมองไม่เห็นว่าชีวิตจะเดินไปต่อได้อย่างไร ฉันมักจะบอกตัวเองว่า "สู้หน่อย เดี๋ยวมันก็ดีขึ้น… และท้ายที่สุดมันมักจะเป็นเช่นนั้นเสมอ" ออกซานากล่าวทิ้งท้าย  

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "ออกซาน่า มาสเตอร์ส" : สาวน้อยนักสกีอมตะที่ "เชอร์โนบิล" ฆ่าไม่ตาย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook