จุดเริ่มต้นจากวิกฤติน้ำมัน : "ฮูลิแกน" กับบทบาทภาพสะท้อนสังคมอังกฤษในแต่ละยุคสมัย

จุดเริ่มต้นจากวิกฤติน้ำมัน : "ฮูลิแกน" กับบทบาทภาพสะท้อนสังคมอังกฤษในแต่ละยุคสมัย

จุดเริ่มต้นจากวิกฤติน้ำมัน : "ฮูลิแกน" กับบทบาทภาพสะท้อนสังคมอังกฤษในแต่ละยุคสมัย
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฮูลิแกน ชื่อนี้ไม่ใช่ชื่อที่แปลกใหม่ ของวงการฟุตบอล หรือหากใครไม่รู้จัก ฮูลิแกนคือคำที่ใช้เรียกแฟนฟุตบอล ที่นิยมการทะเลาะวิวาท การใช้ความรุนแรงในการเชียร์ฟุตบอล กับกองเชียร์ฝ่ายตรงข้าม

อังกฤษ คือชาติที่ขึ้นชื่อด้านฮูลิแกน ซึ่งกลายเป็นปัญหาสำคัญของ วงการลูกหนังแดนผู้ดี ตลอดยุค 70’s และ 80’s กับการปั่นป่วน โลกฟุตบอล ทั้งในและนอกประเทศ

การเกิดขึ้นของลัทธิฮูลิแกน ไม่ได้เริ่มต้น อย่างไร้เหตุผล แต่อีกด้านหนึ่ง คือภาพสะท้อนการเปลี่ยนแปลง ของสังคมอังกฤษ ตังแต่จุดเริ่มต้น ถึงจุดจบ ของลัทธิแฟนบอลรูปแบบนี้

 

Main Stand จะพาไปดูปัจจัยทางสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง ที่ขับเคลื่อนตัวตนของฮูลิแกน เหตุใดฮูลิแกนจึงเกิดขึ้นและได้รับความนิยม? ไปจนถึงวันที่พวกเขาต้องต่อสู้กับ มาร์กาเรต แธตเชอร์ และวันที่สิ้นสุดของยุคสมัย ของฮูลิแกน ขอเชิญติดตามไปพร้อมกับเรา

เมื่อเศรษฐกิจพังทลาย

การเกิดขึ้นของลัทธิฮูลิแกน เริ่มต้นในวงกว้างครั้งแรก ในยุค 60’s ที่ประเทศอังกฤษ อย่างไรก็ตาม การปะทะกันระหว่างแฟนบอล โดยการใช้ความรุนแรง ในยุคเริ่มต้น ไม่มีอะไรมากไปกว่า การปะทะกันของแฟนบอลที่ เป็นทีมคู่ปรับกัน เป็นส่วนใหญ่

 1

เมื่อเข้าสู่ยุค 70’s กระแสของลัทธิฮูลิแกน แพร่ขยายอย่างรวดเร็ว โดยมีจุดเริ่มต้นที่ลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ สองเมืองใหญ่แห่งภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ก่อนระบาดไปทั่วอังกฤษ ในฐานะโรคร้ายแห่งเกาะอังกฤษ (English Disease) ตามการขนานนาม ของสื่อแดนผู้ดี

แต่การแพร่ระบาด ของลัทธิฮูลิแกน ในอังกฤษ ยุค 70’s ไม่ได้เริ่มต้น แบบไม่มีเหตุผล แต่สภาพเศรษฐกิจโลกในตอนนั้น เป็นปัจจัยสำคัญ ที่ทำให้เชื้อร้าย ในวงการฟุตบอล เติบโตโดยไม่รู้ตัว

ปี 1973 เกิดวิกฤติการณ์น้ำมัน หรือ “Oil Shock” ซึ่งราคาพุ่งขึ้นสูงเป็นเท่าตัว อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจโลก พังทลาย ต้นทุนในการดำเนินธุรกิจเพิ่มสูงขึ้น ขณะที่รัฐบาลของแต่ละประเทศ ไม่สามารถอุ้มชูภาคธุรกิจ ของเอกชนได้อีกต่อไป จากค่าเงินที่เฟ้อสูงขึ้น มูลค่าของธนบัตรแต่ละใบ ลดลงอย่างน่าใจหาย

หนึ่งในชาติ ที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคืออังกฤษ รัฐบาลของแดนผู้ดี ซึ่งมีนโยบายรัฐสวัสดิการ อุ้มค่าใช้จ่ายหลายด้าน ให้กับประชาชน ทั้งด้านสาธารณสุข ที่อยู่อาศัย ค่าใช้จ่าย สาธารณูปโภคพื้นฐาน ไปจนถึง ให้เงินสนับสนุน ภาคเอกชน เพื่อกระตุ้นการจ้างงาน ในประเทศ ไม่สามารถแบกรับภาระได้อีกต่อไป

ขณะที่ฝั่งแรงงาน ต้องการค่าแรงที่สูงขึ้น เนื่องจาก ภาระค่าใช้จ่าย ราคาสินค้า ที่เพิ่มขึ้นไม่หยุด อันเป็นผลสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์น้ำมัน ที่ทำให้ของทุกสิ่งอย่าง ปรับตัวขึ้น ตามราคาน้ำมัน

สุดท้าย เพื่อแก้วิกฤตการณ์ ทางการเงิน อังกฤษจึงต้องเลือกแก้ปัญหา ด้วยการลดค่าใช้จ่ายของรัฐ เพื่อกดค่าเงินที่เฟ้อให้ลดลง ทำให้นโยบาย รัฐสวัสดิการ ที่สนับสนุนการว่าจ้างงาน ของประชาชนถูกลดลง

ผลลัพธ์ คือทั้งภาคเอกชน และภาครัฐ ลอยแพแรงงาน เพื่อรักษาระบบเศรษฐกิจ คนอังกฤษ 1,000,000 คน กลายเป็นคนว่างงาน ในปี 1975 และเพิ่มขึ้นเป็น 1,500,000 คน ในปี 1978 หลังเศรษฐกิจ แดนผู้ดี ยังคงย่ำแย่ต่อเนื่อง

ปลดปล่อยความโกรธแค้น

โชคร้าย ที่แรงงานจำนวนมาก ซึ่งตกงาน คือแรงงานหนุ่ม วัยกำยำ กลุ่มผู้ใช้แรงงาน (Blue Collar Workers) โดยเฉพาะในเมืองลิเวอร์พูล และแมนเชสเตอร์ ที่แรงงานส่วนใหญ่ เป็นคนงานในท่าเรือ และผลพวงจากวิกฤติเศรษฐกิจ ทำให้ท่าเรือต้องปิดตัว สภาวะของแรงงาน แปรเปลี่ยน เป็นคนตกงาน ในช่วงพริบตา

 2

“เมื่อท่าเรือปิดตัวลง คนจำนวนมากในภาคตะวันตกเฉียงเหนือ ของอังกฤษ ตกงานกันเยอะมาก พวกเขากลายเป็นคนหนุ่ม ที่ต้องการปลดปล่อยความโกรธแค้น เช่นที่ ลิเวอร์พูล อัตราการตกงานที่นี่สูงมาก ซึ่งนำไปสู่ การเกิดการเคลื่อนไหวใหญ่ ในโลกฟุตบอล อย่างลัทธิฮูลิแกน”

แดนนี ดายเออร์ (Danny Dyer) ผู้ดำเนินสารคดี เดอะ เรียล ฟุตบอล แฟ็คตอรี (The Real Football Factories) สารคดี เกี่ยวกับลัทธิฮูลิแกน ในอังกฤษ เปิดเผยถึงความเชื่อมโยง ระหว่างสภาพเศรษฐกิจ ของแดนผู้ดี ซึ่งนำไปสู่การเกิดปัญหา ในวงการลูกหนัง

“ในเวลานั้น อังกฤษ เต็มไปด้วยเด็กหนุ่ม ที่ไม่เป็นมิตร พวกเขาทั้งโกรธ และทั้งเกลียดโลกใบนี้” โรบิน แมนเซอร์ (Robin Manser) นักสังคมชาวอังกฤษ ช่วยขยายภาพ สิ่งที่เกิดขึ้นกับคนหนุ่มชาวอังกฤษ

“สุดท้ายพวกเขา เลือกใช้ฟุตบอล ในการปลดปล่อยตัวเอง ในการแสดงออก พวกเขาต้องการแสดงให้เห็น ถึงความรู้สึกข้างในของพวกเขา”

ฟุตบอลกับเด็กหนุ่มชาวอังกฤษ คือของคู่กัน ทุกสุดสัปดาห์ เหล่าวัยฉกรรจ์ ล้วนใช้เวลาว่าง ไปกับการตามเชียร์ ทีมฟุตบอล ที่พวกเขารัก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก ที่พวกเขาจะใช้ความเป็นแฟนบอล ในการแสดงออกตัวตน อีกรูปแบบหนึ่งออกมา ควบคู่ไปกับการเชียร์ทีมรัก ตัวตนความเป็นอันธพาล ที่ปลดปล่อยความเกลียดชัง ความโกรธแค้น ต่อเศรษฐกิจที่ล่มสลาย ต่อรัฐบาลที่ลอยแพพวกเขา ด้วยตัวตนความเป็นฮูลิแกน

ในยุค 70’s และ มีกลุ่มแฟนบอลฮูลิแกนเกิดขึ้นมากมาย ทั่วประเทศอังกฤษ ซึ่งจะถูกเรียกว่าเฟิร์ม (Firm) ไม่ว่าจะเป็น เรด อาร์มี (Red Army) ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด, ซุยไซด์ สควอร์ด (Suicide Squad) ของเบิร์นลีย์, ลีดส์ เซอร์วิส ครูว์ (Leeds Service Crew) ของลีดส์ ยูไนเต็ด ล้วนเป็นเฟิร์ม ที่ขึ้นชื่อด้านความรุนแรง ทั้งสิ้น

 3

แม้กระทั่ง ในตอนล่างของประเทศ ที่ไม่ใช่กลุ่มแรงงานโดยตรง เหมือนทางตอนเหนือ ลัทธิฮูลิแกนได้แพร่ระบาด ในพื้นที่นี้เช่นกัน โดยเฉพาะในเขตเมืองหลวง ที่มีกลุ่ม เฮดฮันต์เตอร์ (Headhunters) ของเชลซี, ยิด อาร์มี (Yid Army) ของท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์, อินเตอร์ ซิตี้ เฟิร์ม (Inter City Firm) ของเวสต์แฮม และที่โด่งดัง มากที่สุด บุชแว็คเกอร์ (Bushwackers) ของ มิลวอลล์

“ฮูลิแกน เป็นเหมือนการ ปลดปล่อยตัวตนดั้งเดิมของมนุษย์ออกมา พวกเขาอยู่กันเหมือนชนเผ่า ที่บูชาสิ่งสิ่งหนึ่ง ในที่นี้คือสโมสรฟุตบอล และได้แสดงออกตัวตน ของพวกเขา ตัวตนความเป็นวัยหนุ่ม ตัวตนของชนชั้นแรงงาน” ปีเตอร์ มาร์ช (Peter March) ผู้เชี่ยวชาญ ด้านฮูลิแกน ให้คำนิยาม ถึงความเป็น ฮูลิแกนของสังคมอังกฤษ

เครื่องแต่งกาย และการปิดบังแผลในใจ

ฮูลิแกน อาจขึ้นชื่อในเรื่องของความรุนแรง แต่ไม่ได้มีเพียงแค่ ความเสียหายต่อบ้านเรือน และสิ่งของ บาดแผลของการต่อสู้เท่านั้น ที่กลุ่มคนเหล่านี้ ทิ้งไว้ให้กับวงการฟุตบอล

 4

เพราะฮูลิแกนได้ให้กำเนิดวัฒนธรรมเฉพาะ (subculture) อีกรูปแบบหนึ่งขึ้นมา นั่นคือ แฟชั่นการแต่งตัวแบบ แคสชวล (casual) ซึ่งเป็นการใส่เสื้อผ้า แบรนด์หรู แบรนด์ดัง ไปชมเกมการแข่งขันฟุตบอล

แทนที่จะแต่งตัวใส่เสื้อบอล ผูกผ้าพันคอ เหมือนแฟนบอลทั่วไป ฮูลิแกนจัดหนัก ด้วยการแต่งตัว เครื่องแต่งกายราคาแพง ใส่แจ็คเก็ตของ Peter Storm, โปโลของ Lacoste หรือ Fred Perry, รองเท้า Adidas พร้อมกับนาฬิกา Rolex

ในสภาวะที่แฟนบอลแรงงานเหล่านี้ ตกงานกันเป็นนับล้านคน พวกเขาไปหาเครื่องแต่งกาย ราคาแพงเหล่านี้ มาจากไหน? คำตอบไม่ใช่เรื่องที่ยาก ในเมื่อฮูลิแกน ถนัดในการพังข้าวของอยู่แล้ว การบุกไปพังร้านเสื้อผ้า ไม่ถือเป็นงาน ที่ยากเกินไป

“มันเริ่มต้นจากแฟนบอลลิเวอร์พูล พวกเขาไปต่างประเทศ เพื่อดูเกมยุโรป และพวกเขากลับมาพร้อมกับเสื้อผ้าสุดหรู เปลี่ยนสนามบอล ให้กลายเป็นแคทวอล์ค แน่นอนว่าพวกเขาปล้นมา ทั้งที่สวิสเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส อิตาลี”

จิม ไวท์ (Jim White) นักข่าวกีฬาชื่อดัง กล่าวถึงความเป็นมา ของแฟชั่นแบบแคสชวล เช่นเดียวกับ แอนดี นิโคลส์ (Andy Nicholls) อดีตหัวโจกฮูลิแกนของเอฟเวอร์ตัน ที่ยืนยันด้วยตนเองว่า การปล้น แฟชั่น ความรุนแรง และฟุตบอล คือสิ่งที่สะท้อนผ่านตัวตน ความเป็นแฟนบอลฮูลิแกนออกมา

“แฟนบอลลิเวอร์พูล ปล้นเสื้อผ้าทุกอย่าง ทั่วยุโรป ทุกวันเสาร์ คุณจะเห็นแฟนบอลวัยรุ่น ใส่นาฬิกาโรลเล็กซ์ ทั้งที่พวกเขาไม่มีงานทำ คุณคิดว่าพวกเขาไปหามาจากไหนล่ะ แล้วพอเกมยุโรปมาถึง เขาก็จะขายนาฬิกา เพื่อเอาเงินไปตามเชียร์ทีม แล้วก็หาปล้นต่อไป”

พฤติกรรม ที่สร้างความปั่นป่วนไปทั้งสังคม ไม่น่าแปลกใจ ที่ฮูลิแกนจะถูกประนาม ให้เป็นโรคร้ายของอังกฤษ แต่หากมองให้ลึกลงมากกว่านั้น การที่พวกเขาต้องออกมาปล้น เพื่อแต่งตัวหรูโก้ ล้วนมีความหมายบางอย่าง ที่ฮูลิแกนต้องการสื่อ ให้สังคมได้รับรู้

“ผมยกตัวอย่าง เสื้อวอร์ม ของ เซอร์จิโอ ทัคชินี (Sergio Tacchini) ที่นิยมมากในหมู่ฮูลิแกน นี่เป็นชุดวอร์มเฉพาะกลุ่มนะ ก่อนหน้านี้ มีแค่ชนชั้นกลาง ในอังกฤษเท่านั้น ที่จะได้ใส่” จิม ไวท์เผย “วันหนึ่งแฟนบอลแรงงาน กลับมาพร้อมกับการแต่งตัวแบบนี้ มันต้องเป็นแฟชั่นแน่นอน สิ่งเหล่านี้เป็นเหมือน เข็มกลัดเกียรติยศ สำหรับแฟนบอล แบบฮูลิแกน”

“ธรรมชาติของมนุษย์ ล้วนแข่งขันกันเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของภาพลักษณ์ การแต่งตัว ว่าเราดูดี ดูเท่ ดูเจ๋ง เหมือนคนอื่นไหม” โรบิน แมนเซอร์ กล่าว “การแต่งตัวพวกนี้ มันคือการแสดงออกว่าเรามี ในสิ่งที่คุณไม่มี และเรามีในสิ่งที่คุณมีเหมือนกัน”

สุดท้ายแล้ว ที่ฮูลิแกนต้องออกปล้น แต่งตัวด้วยเสื้อผ้าราคาแพง ไม่ต่างอะไรกับการกลบบาดแผลในใจ ของพวกเขา กลบความจริงที่ว่า พวกเขาคือคนตกงาน ชนชั้นล่างที่ขาดรายได้ แรงงานที่ไม่มีค่าในสังคม ยุค 70’s ซึ่งมีเพียงตัวตน การเป็นฮูลิแกนเท่านั้น ที่จะช่วยเยียวยา พวกเขาได้ แม้ต้องการเป็นตัวร้าย ของคนทั้งประเทศ

ฮูลิแกน กับลัทธิแธตเชอร์

เข้าสู่ยุค 80’s สภาพเศรษฐกิจของอังกฤษ ยังคงไม่กระเตื้อง จำนวนฮูลิแกนเพิ่มสูง ขึ้นเป็นเท่าตัว การทะเลาะวิวาท ของแฟนบอลอังกฤษ กลายเป็นที่โจษจัน ทั่วยุโรป

 5

แม้ฮูลิแกนจะเติบโต อย่างต่อเนื่อง แต่เรื่องราวที่เกิดขึ้น ล้วนอยู่ในสายตาของ มาร์กาเรต แธตเชอร์ (Margaret Thatcher) นายกรัฐมนตรีหญิง ของอังกฤษ ที่เข้ารับตำแหน่งในปี 1979 ด้วยเป้าหมาย การพาอังกฤษกลับมาผงาดอีกครั้ง

แธตเชอร์ ตั้งตนเป็นปฏิปักษ์ กับแฟนฟุตบอล ตั้งแต่เริ่มต้น ในฐานะหัวหน้าพรรคคอนเซอร์เวทีฟ หรือ อนุรักษ์นิยม (Conservative Party) ที่ยืนอยู่ตรงข้ามกับ แฟนบอลฮูลิแกน ที่ส่วนใหญ่เป็นแรงงาน ซึ่งสนับสนุนพรรคแรงงาน (Labour Party)

แม้อาจจะอยู่คนละขั้วทางการเมือง แต่แท้จริงแล้ว แธตเชอร์กับฮูลิแกน มีความเชื่อมโยงกันอยู่ เพราะเชื้อสายตระกูลของเธอ มาจากลิเวอร์พูล ดินแดนต้นกำเนิดของฮูลิแกน

จากความเชื่อมโยงอันแสนประหลาด ทำให้ทั้งสองฝ่ายเหมือนรู้ไส้รู้พุง กันเป็นอย่างดี แธตเชอร์ปฏิวัติอำนาจของแรงงาน ด้วยการริดรอนสิทธิ ของสหภาพแรงงาน ไม่อนุญาตให้ลาหยุดงานตามใจ ใส่แนวคิดการบริหารงาน แบบบริษัท อำนาจจากบนลงล่างเข้าไป ในสังคมอังกฤษ

เมื่อความแข็งแกร่ง ของสหภาพแรงงานลดถอยลง สุดท้ายสหภาพแรงงานทั่วอังกฤษ ล้วนล่มสลาย ช่วงปี 1984-1985 คนว่างงานเพิ่มขึ้นเป็น 1,800,000 คน จากการล่มสลายของ สหภาพแรงงานเหมืองถ่านหิน ซึ่งเข้มแข็งที่สุด ในอังกฤษ

แต่นี่คือสิ่งที่แธตเชอร์ ต้องการ แม้คนจะตกงานเกือบ 2 ล้าน แต่ค่าเงินที่แข็งขึ้น ทำให้เศรษฐกิจของอังกฤษ ค่อยๆ ฟื้นตัว ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาท ในการดำเนินกิจการต่างๆ แทนที่จะเป็นรัฐบาล โชคร้ายก็แต่แรงงาน ที่หมดอำนาจ ไม่มีพื้นที่ต่อรอง ในสังคมอีกต่อไป

สุดท้าย แรงงานจึงต้องไปแสดงออกตัวตน ความโกรธแค้น ที่มากขึ้น ด้วยจำนวนเยอะขึ้น ที่สนามฟุตบอล และบริเวณใกล้เคียง ในฐานะฮูลิแกน

 6

แม้แธตเชอร์ จะมีมาตรการ การปราบปราม ที่เข้มข้นขึ้น แต่ฮูลิแกนมีวิธีการปรับตัวที่ยอดเยี่ยม การเดินทางอย่างเป็นระบบ การนัดสถานที่ และแผนการในการวิวาท อย่างเป็นแบบแผน ทำให้แธตเชอร์ ไม่สามารถไล่ฮูลิแกน ให้จนตรอกได้อย่างที่ต้องการ

“ช่วงต้นยุค 80’s มันน่าสนใจมากครับ ถ้าได้ดูว่าวัฒนธรรม ของฮูลิแกน เปลี่ยนไปยังไง จริงๆ แล้ว มันเหมือนกับเป็นภาพสะท้อน ของแนวคิดแบบแทตเชอร์ เลยครับ” แกรี บูเชล (Garry Bushell) นักหนังสือพิมพ์ชื่อดังกล่าว

“แม้แต่ในกลุ่มแฟนบอลฮูลิแกน ก็มีการวางแผน แบบองค์กรมากขึ้น เหมือนเป็นบริษัทธุรกิจหนึ่งเลยครับ แทนที่จะ เข้าผับไปกินเบียร์ กินพาย แล้วออกไปต่อยกัน พวกเขามีการจัดระเบียบ ที่ชัดเจน เพื่อให้รอดพ้น จากพวกตำรวจ”

สู่ยุคตกต่ำ

อาจเป็นยุคตกต่ำ ในฐานะแรงงาน แต่ในฐานะฮูลิแกน นี่คือยุคทอง แบบปฏิเสธไม่ได้ โดยเฉพาะการสร้างความปั่นป่วนและวุ่นวาย ให้กับรัฐบาลของแธตเชอร์ เป็นสิ่งที่พวกเขา ทำได้ดีที่สุด เพื่อล้างแค้น หญิงเหล็กชาวอังกฤษผู้นี้

 7

สื่ออังกฤษ มองเห็นว่า นี่คือสงครามกลางเมืองขนาดย่อม ระหว่างแธตเชอร์ กับฮูลิแกน ยิ่งแธตเชอร์อยู่ในตำแหน่งนานเท่าไหร่ พวกเขายิ่งสร้างปัญหา ให้รัฐบาลต้องวิตกกังวลมากเท่านั้น

แต่ยุคทองของฮูลิแกน ต้องมาถึงจุดสิ้นสุด เมื่อพวกเขา ไปสร้างวีรกรรมในโศกนาฏกรรมที่เฮย์เซล เมื่อแฟน ลิเวอร์พูล รุมยำแฟนบอล ยูเวนตุส คู่ชิงฟุตบอล ยูโรเปี้ยน คัพ ปี 1985 จนทำให้มีผู้เสียชีวิต 39 คน และบาดเจ็บมากกว่า 600 คน ยูฟ่าสั่งแบนห้ามทีมจากอังกฤษลงแข่งเกมยุโรประดับสโมสรทุกรายการ นานถึง 5 ปี (ลิเวอร์พูลถูกแบน 6 ปี ในฐานะแฟนบอลผู้ก่อเหตุ)

“ฉันหวังว่า ฉันจะจับคนพวกนั้นได้ ให้พวกเขาได้ขึ้นศาล ให้พวกเขาได้มารับผิดชอบ กับสิ่งที่เกิดขึ้น และลงโทษให้หนักที่สุด เพื่อที่จะหยุด พวกเขาทุกคน ที่ยังคิดจะเดินในเส้นทางสายนี้” แธตเชอร์กล่าว หลังเหตุการณ์ วันที่ 29 พฤษภาคม 1985 ที่เฮย์เซล สเตเดี้ยม (ปัจจุบันคือ คิง โบดวง สเตเดี้ยม) ประเทศเบลเยียม

แธตเชอร์ หวังใช้โอกาส ที่สโมสรฟุตบอลอังกฤษ โดนแบนในการปฏิวัติฮูลิแกน ด้วยการออกมาตรการรักษา ความปลอดภัยที่เข้มข้นยิ่งกว่าเดิม ในบริเวณสนามฟุตบอล เพื่อกีดกันไม่ให้ฮูลิแกนสร้างความปั่นป่วน ได้แบบในอดีต

ประกอบกับการเกิดโศกนาฏกรรม ที่ฮิลส์โบโร่ แม้จะไม่ใช่ความผิดของฮูลิแกน แต่การเกิดเหตุการณ์ที่ทำให้แฟนบอลลิเวอร์พูล เสียชีวิตถึง 96 คน กลายเป็นโอกาสสำคัญ ที่แธตเชอร์ จะได้ล้างฮูลิแกน ออกจากกระดานเสียที

วิธีที่แธตเชอร์นำมาใช้ กับการกวาดล้างฮูลิแกน คือวิธีเดียวกับที่เข้าใช้ ในการเปลี่ยนประเทศอังกฤษ คือการให้เอกชนเข้ามามีบทบาท ด้านกีฬา เปลี่ยนฟุตบอลให้กลายเป็นสนามการค้า ขณะที่แฟนบอลก็เหมือนแรงงาน สิทธิและเสียงของพวกเขาน้อยลง

แธตเชอร์สั่งไม่ให้มีอัฒจันทร์ยืน ในสนามฟุตบอลอีกต่อไป และบังคับให้สโมสรชั้นนำ ต้องปรับปรุงคุณภาพของสนาม มีการรักษาความปลอดภัยที่ดีขึ้น ยกระดับคุณภาพเกมฟุตบอล ไม่ให้เป็นพื้นที่ของอันธพาลอีกต่อไป

เมื่อสโมสรฟุตบอล ซึ่งถือครองโดยนายทุน ต้องลงทุนมากขึ้น เพื่อยกระดับคุณภาพสนาม และสิ่งอำนวยความสะดวก ค่าตั๋วเข้าชมเกม จึงเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัว

“นั่นคือสิ่งที่เกิดขึ้นจริง ในวงการฟุตบอลอังกฤษ โศกนาฏกรรม ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการกวาดล้าง และจัดระเบียบใหม่ ของสังคมฟุตบอล การตั้งราคาตั๋วที่แพงขึ้นมาก คือการกีดกันฮูลิแกน ออกจากสนามบอล ให้กลายเป็นกลุ่มคนที่ถูกลืม” จิม ไวท์ กล่าว

ค่าตั๋วที่แพงขึ้น ทำให้แฟนบอลแรงงาน อย่างฮูลิแกน ไม่สามารถซื้อตั๋วเข้าชมเกมในทุกสัปดาห์ หรือมีงบมากพอ ที่จะไปอาละวาดในทุกเกมเยือนได้อีกต่อไป เมื่อตัวตนของฮูลิแกน ตีออกห่างจากสนามฟุตบอล คุณค่าและความหมาย ของฮูลิแกนจึงยิ่งลดน้อย ถอยลงไป เพราะการเป็นฮูลิแกน ไม่สามารถสะท้อนถึงจิตวิญญาณ ของแรงงาน ในฐานะแฟนบอลได้อีก

ฮูลิแกนผู้พ่ายแพ้

แม้ว่าแธตเชอร์จะลงจากตำแหน่ง นายกรัฐมนตรีของประเทศอังกฤษ ในปี 1990 แต่สิ่งที่แธตเชอร์ทิ้งท้ายไว้ให้ ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวง กับ วงการฟุตบอลอังกฤษ

 8

แธตเชอร์ทำในสิ่งที่เธอเคยทำ กับประเทศอังกฤษ นำแนวคิดทุนนิยม แบบเสรีนิยมใหม่ (Neo Liberalism) เข้าสู่วงการลูกหนัง นายทุนเข้ามามีบทบาทในการขับเคลื่อน ด้วยกลไกตลาด ฟุตบอลถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้า

ฟุตบอลลีกอังกฤษ ไม่ใช่ฟุตบอลลีกธรรมดา แต่ถูกปรับเปลี่ยน เป็นพรีเมียร์ลีก ลีกฟุตบอลคุณภาพ ที่มีสนามมาตรฐาน การถ่ายทอดสด ทั่วประเทศ (และทั่วโลก ในเวลาต่อมา) นักเตะซุปเปอร์สตาร์ ถูกซื้อเข้ามาเล่นในลีก สร้างมูลค่าให้กับลีก เติบโตอย่างรวดเร็ว

สุดท้าย เมื่อฟุตบอลลีกอังกฤษ ถูกปรับเปลี่ยน ให้กลายเป็นลีกฟุตบอล ของคนทั้งโลก โดยไม่รู้ตัว ฟุตบอลกลายเป็นตลาดการค้ารอบด้าน ตามหลักแนวคิดแบบเสรีนิยมใหม่ ค่าตั๋ว ค่าเสื้อผ้า ค่าของที่ระลึก ถูกเพิ่มมูลค่า เพื่อขับเคลื่อนสโมสร และมีแฟนบอลทั่วโลก พร้อมจับจ่าย บินข้ามน้ำข้ามทะเล ไปเชียร์ทีมบอลทีมรัก

หากแต่ ฮูลิแกนหรือแฟนบอลแรงงาน กลับไม่เหลือพื้นที่ ในวงการลูกหนังอังกฤษอีกต่อไป แม้ความจริง ฮูลิแกนจะยังอยู่ แต่หากเทียบอัตราส่วน กับยุค 70’s และ 80’s ไม่สามารถเอาจำนวน ไปเทียบกันได้เลย

ความพ่ายแพ้ของฮูลิแกน คือการล้มเหลวอีกครั้ง ของแรงงานในอังกฤษ พวกเขาถูกลอยแพจากรัฐบาล ทั้งในยุค 70’s และ 80’s ทั้งแรงงาน และฮูลิแกน ถูกมองว่าเป็นปัญหา ในบริบทที่แตกต่างกัน และวิธีทางแก้ไข คือการตัดหางปล่อยวัด คนเหล่านี้

 9

เรื่องราวของฮูลิแกน ไม่ต่างอะไรกับการฉายภาพซ้ำ ของสิ่งที่เกิดขึ้น กับชีวิตในฐานะแรงงาน ของประเทศอังกฤษ นับตั้งแต่วันที่เกิดปัญหา การแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น ในรูปแบบเดียวกัน ด้วยการปรับเปลี่ยนโครงสร้าง ด้วยบทบาทของทุนนิยม จนถึงจุดจบ อันไร้ที่ยืน ของแรงงาน และฮูลิแกน

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ จุดเริ่มต้นจากวิกฤติน้ำมัน : "ฮูลิแกน" กับบทบาทภาพสะท้อนสังคมอังกฤษในแต่ละยุคสมัย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook