เมื่อค่าแฟรนไชส์เกมดังสูงถึง 1,500 ล้านบาท แล้วแต่ละทีมหาเงินจากไหนมาบริหาร?

เมื่อค่าแฟรนไชส์เกมดังสูงถึง 1,500 ล้านบาท แล้วแต่ละทีมหาเงินจากไหนมาบริหาร?

เมื่อค่าแฟรนไชส์เกมดังสูงถึง 1,500 ล้านบาท แล้วแต่ละทีมหาเงินจากไหนมาบริหาร?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

อีสปอร์ตส์ หรือการแข่งขันเกม คืออุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตอย่างไม่ต้องสงสัย เมื่อมีการจัดการแข่งขันเกมต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงองค์กรใหญ่ๆ ระดับโลกหลายรายก็กระโดดเข้าสู่เวทีแห่งนี้ จนหลายฝ่ายมั่นใจว่า เม็ดเงินทั้งองคาพยพจะทะลุหลัก 1,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 30,000 ล้านบาท ไม่ภายในปี 2019 นี้ ก็ไม่เกินปี 2020

แต่ท่ามกลางการแข่งขันที่มีอยู่มากมาย Overwatch League ลีกอีสปอร์ตส์ของเกม Overwatch เกมแนวยิงบุคคลที่หนึ่งหรือ FPS กลับเป็นลีกที่มีความโดดเด่นไม่เหมือนใคร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าแฟรนไชส์ หรือเงินที่ต้องจ่ายเพื่อให้ได้สิทธิ์ส่งทีมลงแข่งขัน

ไม่ต้องสงสัย ตัวเลขดังกล่าวช่างมากมายมหาศาลเสียจนหลายคนสงสัยว่า แล้วแต่ละทีมจะเอาเงินจากไหนมาใช้จ่ายเพื่อให้ทีมอยู่รอดและสร้างกำไรได้กัน?

ค่าแฟรนไชส์แพงขนาดไหน?

ปกติทั่วไป การทำทีมอีสปอร์ตส์ลงแข่งรายการต่างๆ นั้นก็ไม่ต่างอะไรกับการส่งทีมกีฬาลงแข่งขันสักรายการ ขอแค่มีเงินทุน, นักกีฬา ตลอดจนอุปกรณ์ที่จำเป็นในการฝึกซ้อมและลงแข่งขัน ก็สามารถเริ่มต้นได้ บางรายการอาจจะสมัครฟรี บางทีก็ต้องเสียค่าสมัครเป็นธรรมดา และถ้าหากหานายทุน มีสปอนเซอร์สนับสนุนได้ก็จะยิ่งเลิศเลอเพอร์เฟ็กต์ เพราะนั่นหมายถึง เงินทุนในการทำทีมที่มากขึ้นตามไปด้วย


Photo : www.abacusnews.com

ทว่าสำหรับ Overwatch League (ต่อจากนี้จะเรียกว่า OWL) นั้น Blizzard Entertainment บริษัทผู้สร้างเกม Overwatch กลับทำในสิ่งที่แตกต่าง เพราะนอกจากแต่ละทีมจะต้องเตรียมเงินทุนไว้ทำทีมของตัวเองแล้ว พวกเขายังต้องจ่ายค่าแฟรนไชส์ หรือสิทธิ์ในการส่งทีมลงแข่งรายการนี้ด้วยจำนวนเงินที่สูงเอามากๆ

เพราะในซีซั่น 1 ซึ่งเป็นซีซั่นแรกของ OWL เมื่อปี 2018 นั้น 12 ทีมที่ลงแข่งขันในฤดูกาลปฐมฤกษ์ต้องเสียค่าแฟรนไชส์สูงถึงทีมละ 20 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 600 ล้านบาท และในซีซั่น 2 ในปี 2019 ที่มีการเพิ่มทีมอีก 8 ทีมนั้น ทีมหน้าใหม่กลับต้องเจอกับค่าแฟรนไชส์ที่มหาโหดกว่าเดิม โดยประมาณการว่าพวกเขาต้องจ่ายเงินถึงทีมละ 50 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,500 ล้านบาทเลยทีเดียว

โมเดลที่แตกต่าง

โดยปกติทั่วไปแล้ว การแข่งขันอีสปอร์ตส์ส่วนใหญ่นั้นจะเป็นในรูปแบบทัวร์นาเมนต์ แข่งจบแล้วก็จบกันว่ากันใหม่ทัวร์นาเมนต์หน้า แต่ก็มีอยู่บ้างเช่นกันที่ใช้ระบบสโมสร มีการเลื่อนชั้นตกชั้นเหมือนการแข่งขันกีฬาประเภททีมโดยทั่วไป ยกตัวอย่างง่ายๆ ก็ Toyota E-League ลีกอีสปอร์ตส์เกม Pro Evolution Soccer ของสโมสรในศึก โตโยต้า ไทยลีก ที่เปลี่ยนรูปแบบการแข่งขันจากเมื่อปี 2018 ที่เป็นระบบทัวร์นาเมนต์ สู่ระบบลีกในปี 2019 โดยหลังการแข่งขันจบ ก็จะมีทีมที่ต้องตกไปเล่นในรอบทัวร์นาเมนต์ เพื่อคัดทีมเข้าสู่ระบบลีกที่จะมีขึ้นอย่างต่อเนื่องต่อไป


Photo : Chonburi E-Sports

ทว่า Blizzard ได้ดีไซน์ระบบของ OWL ให้มีความแตกต่าง ด้วยการนำระบบแฟรนไชส์ แบบเดียวกับวงการอเมริกันเกมส์มาใช้ ซึ่งสาเหตุที่ต้องตั้งค่าแฟรนไชส์ไว้สูง แม้จะเป็นการจ่ายเพียงครั้งเดียวแล้วก็ไม่ต้องจ่ายอีกนั้น ก็เพื่อเป็นหลักประกันว่า กลุ่มทุนที่จะส่งทีมลงแข่งขันต้องมีความตั้งใจจริง ไม่ใช่ทำทีมเพียงประเดี๋ยวประด๋าวก็ทิ้งทุ่นไปนั่นเอง

นอกจากค่าแฟรนไชส์ที่เรียกเก็บจากทุกทีม ซึ่งทำให้มีทุนรอนในการจัดการแข่งขันเบื้องต้นระดับหลายร้อยล้านดอลลาร์สหรัฐฯ แล้วนั้น Blizzard ยังมีพันธมิตรมากมาย ไม่ว่าจะเป็น OMEN by HP, Intel, T-Mobile, Coca-Cola, Toyota และ State Farm ซึ่งทุกเจ้าที่กล่าวมาล้วนแต่เป็นบริษัทยักษ์ใหญ่ระดับโลก ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีการถ่ายทอดสดผ่าน Twitch แพลตฟอร์มออนไลน์ที่ถือเป็นเบอร์ 1 ของวงการสตรีมมิ่งเกมอีกด้วย


Photo : www.reddit.com

ส่วนเงินที่ได้จากการทำสัญญากับสปอนเซอร์ทั้งหลาย พูดให้เห็นภาพสั้นๆ ก็คือ มหาศาลกว่าที่คุณคิด เพราะอย่างการถ่ายทอดสดนั้น Twitch ก็ยอมจ่ายเงินสูงถึง 45 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1,400 ล้านบาทต่อปี ไม่เพียงเท่านั้น Blizzard ยังได้ส่วนแบ่งรายได้จากการขายไอเทมต่างๆ ที่เกี่ยวกับ OWL อีกด้วย ขณะที่พันธมิตรรายอื่นๆ ก็พร้อมจ่ายเงินเพื่อให้แบรนด์สินค้าของตนมาปรากฎในการแข่งขันเช่นกัน

ไม่เพียงเท่านั้น Blizzard ยังมีช่องทางในการหารายได้อื่นๆ ทั้งการขายบัตรเข้าชมการแข่งขัน ซึ่งเกมการแข่งขันส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นภายใน Blizzard Arena มหานคร ลอส แอนเจลิส รวมไปถึงสินค้าที่ระลึก ที่ไม่ว่าคุณจะเชียร์ทีมไหน โปรเกมเมอร์คนใด ก็สามารถหาซื้อได้ในช็อปอย่างเป็นทางการของ OWL

Take & Give

สิ่งที่ได้กล่าวไปข้างต้นคงพอจะทำให้เราเห็นภาพแล้วว่า ช่องทางหารายได้เข้าสู่ OWL นั้นมาจากไหน แต่แน่นอนว่า ทุกแฟรนไชส์ที่ส่งทีมลงแข่งขัน ย่อมต้องใช้เงินในการจัดการสิ่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ค่าเหนื่อยผู้เล่น ซึ่ง Blizzard บังคับว่าผู้เล่นทุกคนจะต้องได้รับเงินค่าจ้างขั้นต่ำที่ 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 1.5 ล้านบาทต่อปี ยิ่งฝีมือเก่ง หรือสามารถสร้างฐานแฟนคลับได้ ค่าตัวก็ยิ่งสูงตามไปด้วย


Photo : www.express.co.uk

ไม่เพียงเท่านั้น เงินรางวัลจากการแข่งขัน OWL นั้นยังถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับการแข่งขันอีสปอร์ตส์รายการใหญ่ เพราะเงินรางวัลรวมตลอดการแข่งซีซั่น 2 ของ OWL ที่เปิดเผยจากทาง Blizzard เองนั้นอยู่แค่ 5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 150 ล้านบาทแค่นั้นเอง ยิ่งเมื่อเทียบกับ The International หรือ TI ศึกเกม Dota 2 การแข่งขันอีสปอร์ตส์ที่ชิงเงินรางวัลสูงสุดในโลกแล้วก็ยิ่งเทียบไม่ติด

เพราะศึก TI8 ในปี 2018 เงินรางวัลรวมของการแข่งขันนั้นสูงถึง 25,532,177 ดอลลาร์สหรัฐฯ หรือราว 800 ล้านบาทเข้าให้แล้ว แถมศึก TI9 ในปี 2019 ก็ดูท่าจะทำลายสถิติเดิมราบคาบ เพราะแค่เปิดขาย Battle Pass แหล่งสำคัญเพื่อระดมทุนเงินรางวัลไปได้เพียง 1 เดือน เงินรางวัลรวมก็เทียบเท่ากับ 65% ของเมื่อปีก่อนแล้ว และเมื่อเทียบเวลาเท่ากัน TI9 สามารถระดมทุนเงินรางวัลได้สูงกว่า TI8 เสียอีก

คำถามก็คือ แล้วพวกเขาจะเอาเงินจากไหนมาทำทีม ทั้งๆ ที่ต้องเสียเงินตั้งต้นถึงหลักร้อยหลักพันล้านบาทไปแล้ว?

คำตอบแรกนั้นก็ต้องย้อนกลับไปที่ตัวลีกเอง เพราะอย่างที่เราบอกไปข้างต้นว่า OWL เป็นลีกที่ยกระบบของแฟรนไชส์ในวงการอเมริกันเกมส์มาใช้แทบจะทั้งดุ้น ซึ่งนั่นหมายความว่า โมเดลการหาและแบ่งสรรปันส่วนรายได้ก็ถูกนำมาใช้ด้วยเช่นกัน


Photo : overwatchleague.com

พูดง่ายๆ ก็คือ เงินที่ Blizzard ได้จากผู้สนับสนุน, ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด, รายได้บัตรเข้าชมการแข่งขัน ตลอดจนรายได้จากสินค้าที่ระลึกส่วนหนึ่ง จะกลายเป็นส่วนแบ่งให้กับทีมที่ลงแข่งขัน อย่างถ้าคุณซื้อเสื้อแข่งทีม Dallas Fuel ที่ปักชื่อและเบอร์ของ "Mickie" ปองภพ รัตนแสงโชติ โปร Overwatch ชั้นแนวหน้าของไทยที่ช็อปอย่างเป็นทางการของ OWL เงินส่วนหนึ่งจากที่คุณจ่ายเพื่อซื้อเสื้อ ก็จะกลับสู่ต้นสังกัดของ Mickie ด้วย เหมือนกับเวลาที่คุณซื้อเสื้อแข่งของ ดัลลัส คาวบอยส์, ชิคาโก้ บูลส์ หรือแม้แต่ ลอส แอนเจลิส แกแล็คซี่ นั่นแหละ

ขุมทองที่ค่อยๆ เติบโต

แม้จะมีส่วนแบ่งรายได้จากทางลีกมาช่วยแล้ว แต่ก็ต้องยอมรับว่า การทำทีมอีสปอร์ตส์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในลีกที่มีกฎเกณฑ์กำหนดอย่างเคร่งครัดเช่น OWL ก็มีต้นทุนที่สูงอยู่ไม่น้อย แล้วจะมีแหล่งทุนใดที่ช่วยซัพพอร์ตได้อีกบ้าง?


Photo : medium.com

คำตอบนั้นก็คือ จากกลุ่มนายทุนนั่นเอง ซึ่งเรื่องดังกล่าวก็เริ่มต้นตั้งแต่การสร้างทีมแล้ว เพราะด้วยค่าแฟรนไชส์ที่สูง ในทางกลับกันมันก็เป็นการคัดกรองกลุ่มนายทุนเจ้าของทีมไปด้วยโดยปริยาย และด้วยเหตุนี้ เจ้าของทีมใน OWL หากไม่เป็นทีมอีสปอร์ตส์อาชีพที่มีโครงสร้างองค์กรดี อย่าง London Spitfire ซึ่งมีทีม Cloud9 เป็นเจ้าของ กับ Dallas Fuel ทีมของ Mickie ที่บริหารโดย Team Envy ก็มักจะเป็นกลุ่มนายทุนอเมริกันเกมส์ที่ต้องการเปิดตลาดหาฐานแฟนคลับใหม่ๆ ยกตัวอย่างก็ทีม Boston Uprising ที่มีเบื้องหลังคือ โรเบิร์ต คราฟท์ เจ้าของ นิวอิงแลนด์ เพเทรียตส์ ทีมดังแห่งศึกอเมริกันฟุตบอล NFL รวมถึง Los Angeles Gladiators ซึ่งมี สแตน โครเอนเก้ เจ้าของทีม ลอส แอนเจลิส แรมส์ แห่งศึก NFL และ อาร์เซน่อล ในศึกพรีเมียร์ลีกเป็นเจ้าของ

และอย่างที่เราได้กล่าวไปว่า อีสปอร์ตส์ คือธุรกิจที่กำลังเติบโต เราจึงได้เห็นกลุ่มนายทุน, เซเลบริตี้ หรือแม้แต่นักกีฬา หอบเงินเข้ามาลงทุน สนับสนุนทีมอีสปอร์ตส์อย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น "แชค" ชาคีล โอนีล, อเล็กซ์ โรดริเกซ, มาร์ชอว์น ลินช์ 3 ดาวดังแห่งวงการอเมริกันเกมส์ ที่ลงทุนใน NRG Esports ซึ่งเป็นทีมแม่ของ San Francisco Shock ในศึก OWL ซึ่งช่วยเสริมความมั่นคงทางการเงินให้กับทีมยิ่งขึ้นไปอีก

ไม่เพียงเท่านั้น ทาง Blizzard เองก็ยังเปิดโอกาสให้แต่ละทีมสามารถหาผู้สนับสนุนได้เอง ด้วยเหตุนี้เราจึงได้เห็นโลโก้ของแบรนด์ต่างๆ ที่ไม่ใช่ผู้สนับสนุนของลีกปรากฎอยู่บนชุดแข่งของแต่ละทีม และตั้งแต่ฤดูกาล 2019 Blizzard ยังเริ่มโครงการนำร่องให้เมืองอย่าง ดัลลัส, แอตแลนต้า และ ลอส แอนเจลิส สามารถหาสถานที่เพื่อทำเป็นสนามเหย้ารองรับการแข่งขัน เพื่อสร้างฐานแฟนคลับและรายได้จากคนท้องถิ่นอีกด้วย


Photo : dotesports.com

การเกื้อหนุนแบบซึ่งกันและกันระหว่างลีกกับแฟรนไชส์ที่ส่งทีมแข่งขัน, การสนับสนุนจากกลุ่มนายทุนต่างๆ รวมถึงพลังจากแฟนคลับ คือเหตุผลสำคัญที่ทำให้แฟรนไชส์ต่างๆ ใน OWL ยังสามารถยืนหยัดได้อย่างมั่นคงแม้ต้องเสียค่าแรกเข้าเป็นจำนวนมหาศาล

ซึ่งสิ่งที่ฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับวงการอีสปอร์ตส์อยากเห็นจาก OWL หลังจากนี้ คงเป็นการสร้างรายได้ที่มั่งคั่งกว่าเดิม เพื่อให้ Blizzard เพิ่มเงินรางวัลให้สูงขึ้น ซึ่งไม่ต้องสงสัยเลยว่า จะช่วยให้กระแสของ OWL และเกม Overwatch ฮิตติดลมบนอย่างต่อเนื่องเหมือนกับรายการของเกมอื่นๆ ในอนาคต

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook