เกียรติหมู่ 9 : ค่ายมวยภูธรในบุรีรัมย์ที่ปั้นเด็กข้างบ้านเป็นยอดมวยถ้วยพระราชทานถึง 2 คน

เกียรติหมู่ 9 : ค่ายมวยภูธรในบุรีรัมย์ที่ปั้นเด็กข้างบ้านเป็นยอดมวยถ้วยพระราชทานถึง 2 คน

เกียรติหมู่ 9 : ค่ายมวยภูธรในบุรีรัมย์ที่ปั้นเด็กข้างบ้านเป็นยอดมวยถ้วยพระราชทานถึง 2 คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ก่อนหน้าที่คนไทยทั้งประเทศจะรู้จัก “จ.บุรีรัมย์” ผ่านสโมสรฟุตบอล และสนามแข่งมอเตอร์สปอร์ตระดับโลก ที่ตั้งอยู่ในเมืองนี้… หลายคนรู้จักบุรีรัมย์ จากกีฬามวยไทย

ในวงการมวยไทยต่างยอมรับกันว่า “บุรีรัมย์” เป็นแหล่งผลิตนักมวยไทยฝีมือดี หลายยุค หลายสมัย ซึ่งหนึ่งในคณะที่ครองใจแฟนหมัดมวยได้จนถึงปัจจุบัน คือ ค่ายมวยไทยขนาดเล็ก ที่ตั้งอยู่ในตำบล ตะโกตาพิ อำเภอประโคนชัย นามว่า “เกียรติหมู่ 9”

“เกียรติหมู่ 9” เป็นค่ายมวยไทยภูธร ที่ยืนระยะมายาวนานกว่า 30 ปี โดยมี “ลุงใจ” สุดใจ ปุ่มประโคน เกษตรกรชาวนา เป็นหัวหน้าคณะ และอยู่เบื้องหลังการปลุกปั้นนักชกดาวดังมากมาย อาทิ สิงห์ดำ, รุ้งนารายณ์, ซุปเปอร์เล็ก, พนมรุ้งเล็ก, เพชรพนมรุ้ง, วันชัย, ศักดิ์ศรี ฯลฯ

ในขณะที่ ค่ายมวยไทยชั้นนำของประเทศ เกือบทั้งหมด ล้วนมีฐานที่ตั้งอยู่ในเมืองหลวง “เกียรติหมู่ 9” คือ ค่ายมวยต่างจังหวัด เพียงไม่กี่แห่ง ที่สามารถยืนหยัด และส่งออกนักชกสายเลือดคนบุรีรัมย์ เข้ามาสร้างชื่อเสียงในเวทีมาตรฐานที่กรุงเทพฯ ได้อย่างสม่ำเสมอตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา

ภายใต้หลังคาสังกะสี บรรยากาศโดยรอบค่ายมวย อาจดูไม่ค่อยทันสมัยนัก เหมือนอย่างค่ายมวยยักษ์ใหญ่ แต่ค่ายเกียรติหมู่ 9 ก็ผ่านช่วงเวลาของการต่อสู้มาไม่น้อยกว่าใคร

ดูได้จากหลักฐานบนผืนผ้าใบ ที่มีร่องรอยหยาดเหงื่อจาก นักชกเรือนหมื่น เรือนแสน เรือนล้าน มากหน้าหลายตา ที่ต่างเคยถูกเคี่ยวกรำฝึกซ้อม ในค่ายมวยภูธรแห่งนี้ จนกระทั่งประสบความสำเร็จในอาชีพนักมวย

คนเลี้ยงควายที่ทำมวย

“ตะโกตาพิ” ตำบลเล็กๆ มีทั้งหมด 11 หมู่บ้าน ในอำเภอประโคนชัย ห่างออกไปจากอำเภอบุรีรัมย์กว่า 50 กิโลเมตร สภาพแวดล้อมที่นี่ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ชาวบ้านจึงยึดอาชีพทำนาเป็นหลัก ส่วนบ้านเรือนมักปลูกติดๆกัน เช่นเดียวกับครอบครัวของ สุดใจ ปุ่มประโคน

ชีวิตในวัยหนุ่มของเขา ไม่ต่างกับชายหนุ่มทั่วไปในหมู่บ้าน ที่ต้องทำนา เลี้ยงวัว ควาย แต่สิ่งหนึ่งที่อาจแตกต่างกว่าคนอื่น คงเป็นความชื่นชอบใน “มวยไทย” ทุกครั้งที่ว่างเว้นจากภารกิจการทำงาน เขามักหาเวลาไปตระเวนดูการชกตามงานวัด งานบุญ และสถานที่ต่างๆ ทั้งใกล้และไกลที่มีจัดมวย

"หลังจากแต่งงาน มีลูกชายสองคน พอเขาอายุได้สัก 8-10 ขวบ ผมก็เริ่มจับมาหัดมวยไทยด้วยตัวเอง ซื้อกระสอบทรายมาแขวนไว้ใต้บันไดในบ้าน แต่ตัวผมเองไม่ได้มีความรู้เรื่องมวย ไม่เคยต่อยมวย ก็ใช้วิธีลักจำจากเขาบ้าง ไปแอบดูตามค่ายต่างๆว่า เขาสอนกันอย่างไร ตอนแรกไม่ได้คิดจะทำค่าย แค่อยากได้วิชามาฝึกลูกชายแค่นั้น”

“พอฝึกไปเรื่อยๆ ก็เริ่มส่งลูกชายไปต่อยตามภูธร ตอนนั้น หมู่บ้านที่ผมอยู่ เพิ่งแยกตัวออกจากหมู่ที่ 1 มาเป็นหมู่ 9 มีประชากรแค่หลักร้อย ก็เลยให้หมู่บ้านเป็นที่รู้จัก จึงเอาชื่อหมู่ 9 มาตั้งต่อท้าย คนพี่ใช้ชื่อ ชนะพล เกียรติหมู่ 9 คนน้องใช้ชื่อ เจิดจ้า เกียรติหมู่ 9”

“ผลงานของลูกชาย ก็ดีวันดีคืน กลายเป็น ยอดไอ้แอ๊ดในภาคอีสาน (นักมวยเด็กที่เก่ง) จนลูกชายเริ่มโตขึ้น น้ำหนักได้สัก 100 ปอนด์ เลยส่งเข้ามาต่อยที่กรุงเทพ ในศึกวันทรงชัย” สุดใจ อธิบายด้วยน้ำเสียงที่เนิบๆ ตามบุคลิก 

สุดใจ ปุ่นประโคน ยังจำประสบการณ์ในการพาบุตรชายไปชกที่ สนามมวยลุมพินี (เดิม) ด้วยความที่ครอบครัวไม่มีรถยนต์ส่วนตัว จึงต้องเหมารถของเพื่อนบ้าน และยืมหยิบเงินชาวบ้านส่วนหนึ่ง เพื่อเป็นค่าใช้จ่าย ในการทางเดินครั้งนั้น

ส่วนชาวบ้านที่ทราบข่าว ต่างพาตื่นเต้นกันยกใหญ่ เพราะจะได้เห็นลูกหลานในหมู่บ้านตนเอง ไปวาดลวดลายแม่ไม้มวยไทย ผ่านหน้าจอแก้ว

ทุกหลังคาเรือน ในหมู่ 9 จึงพากันเปิดทีวีเฝ้ารอชมมวย ซึ่งทั้ง ชนะพล และ เจิดจ้า ไม่ทำให้ชาวบ้านหมู่ 9 ต้องผิดหวัง เมื่อเป็นฝ่ายเอาชนะคู่ต่อสู้ ได้อย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะ ชนะพล ที่เก็บชัยชนะได้ 8 ไฟต์ติดต่อ จนเป็นดาวรุ่งศึกวันทรงชัย

น่าเสียดายที่ในเวลาต่อมา บุตรชายทั้งสองคนของ สุดใจ ปุ่มประโคน ต้องหันหลังให้การชกมวยไทยในกรุงเทพฯ เนื่องจากติดภารกิจด้านการเรียนระดับอุดมศึกษา ที่บ้านเกิด แต่ถึงกระนั้น สุดใจ ก็ไม่เคยล้มเลิกการทำมวย เพราะมีเด็กในหมู่บ้านอีกจำนวนไม่น้อย กำลังรอคอยให้เขาปลุกปั้น

“ก็แค่ค่ายมวยบ้านนอก”

หลังจากนั้น  สุดใจ ปุ่มประโคน พานักมวยในสังกัดเกียรติหมู่ 9 ย้ายจากศึกวันทรงชัย ไปชกในศึกเพชรยินดี ของ “เสี่ยเน้า” วิรัตน์ วชิรรัตนวงศ์ ในปี พ.ศ.2540

และนับเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะบรรดานักชกค่ายเกียรติหมู่ 9 ต่างมีรายการชกอย่างต่อเนื่อง จนชื่อเสียงของคณะเริ่มเป็นที่รู้จัก และค่อยๆได้รับการยอมรับมากขึ้น

โดยเฉพาะ สิงห์ดำ เกียรติหมู่ 9 ที่โด่งดังจากฟอร์มการชกที่ร้อนแรง จนก้าวขึ้นไปถึงรางวัล “ยอดมวย” หรือ นักมวยไทยยอดเยี่ยม ถ้วยพระราชทาน ประจำปี พ.ศ.2545 รวมถึง พนมรุ้งเล็ก เกียรติหมู่ 9 ที่ขึ้นแท่นมาเป็น มวยเอก ในยุคนั้น

“สมัยนั้นการจะไปได้ชกบนเวทีมาตรฐานที่กรุงเทพฯ สำหรับค่ายมวยเล็กๆ ในต่างจังหวัดอย่างเรา เป็นอะไรที่ยากมาก ต้องใช้ความอดทน และระยะเวลาเป็น 10 ปี กว่าที่ทุกคนจะให้ความเชื่อถือ ยอมรับ และครองใจแฟนมวยกรุงเทพฯ”

“ผมเจอกับอุปสรรคหลายอย่างมาก บางคนเขาก็มองว่า นักมวยเรามันบ้านนอก ไม่เคยผ่านค่ายใหญ่ จะเป็นมวยดีได้อย่างไร ต่อยกับใครก็หน้าเสื่อเป็นรองตลอด แต่ผมไม่เคยตอบโต้ ก็พัฒนามวยของเราไปเรื่อยๆ และทางเพชรยินดี ก็ให้เกียรติเรา นักมวยไม่เคยตกล็อก มีรายการต่อยตลอด อยู่ด้วยแล้วมีความสุข”

ผลจากความตั้งใจจริง ทำให้ เกียรติหมู่ 9 ได้รับเลือกให้คว้ารางวัล ค่ายมวยไทยอาชีพยอดเยี่ยม 2 ครั้ง ในปี พ.ศ.2546 และ พ.ศ.2556 ของชมรมผู้สื่อข่าวฯ และมักติดโผ 1 ใน 3 ค่ายมวยยอดเยี่ยม ในงานประกาศ เป็นเวลาหลายปี ท่ามกลางคู่แข่งนับร้อยค่าย

และทุกๆครั้งที่ โฆษกบนเวทีประกาศชื่อนักมวยจาก ค่ายเกียรติหมู่ 9 ความสงสัยในคุณภาพของค่ายนี้ ก็เริ่มจางหายไป เปลี่ยนมาเป็น ความเชื่อมั่นที่แฟนหมัดมวยมีให้เสมอมา

“ผมภูมิใจที่ตลอดชีวิตการทำมวยมา 30 กว่าปี ไม่มีสักครั้งเดียวที่ส่งนักมวยขึ้นไปชก แล้วโดนโห่ หรือกรรมการถูกไล่ลงเวที  มีแต่เด็กจะชกเต็มที่ อยากเอาชนะเพื่อจะได้มีค่าตัวเพิ่มขึ้น”

“แฟนมวยจึงให้การยอมรับ และเชื่อถือในค่ายของเรา นักมวยเราไม่เคยมีประวัติเสื่อมเสีย ไม่เคยเกเร เพราะผมดูแลและควบคุมเป็นอย่างดี ทุกอย่างต้องมีมาตรฐาน”

มาตรฐานบุรีรัมย์

การเป็นค่ายมวยต่างจังหวัด ที่มีหัวหน้าคณะเป็น เกษตรกร (ทุกวันนี้ยังประกอบอาชีพนี้อยู่) และมี บุตรชาย รับหน้าที่เป็นเทรนเนอร์ดูแลนักชก ภายใต้เงินทุนทำค่ายที่น้อยนิด แถมยังปราศจากสิ่งอำนวยความสะดวกที่เพียบพร้อมให้แก่นักมวย เรื่องเหล่านี้คงเป็นข้อจำกัดไม่น้อยสำหรับพวกเขา

แต่ดูเหมือนว่า เกียรติหมู่ 9 จะเอาชนะข้อจำกัดมากมาย จนสามารถสร้างนักชกคุณภาพ คนแล้วคนเล่า ขึ้นมาประดับวงการ

“ผมยังไม่เคยเจอเด็กเกเรนะ เพราะก่อนที่เราจะรับเขา ต้องดูก่อนว่าเด็กคนนั้น นิสัย จิตใจเป็นอย่างไร เด็กหลายคนมา เพราะพ่อแม่เอามาฝาก อยากให้ลูกฝึกหัดชกมวย แต่เราก็รับไว้ไม่ได้ ถ้าใจเด็กไม่ได้รัก ผมไปบังคับไม่ได้หรอก คนจะเป็นนักมวยได้ อันดับแรกใจต้องรักก่อน”

“ผมสอนเด็กทุกคนว่า เราเป็นแค่ค่ายมวยเล็กๆ พื้นเพทุกคนก็มาจากครอบครัวยากจน ฉะนั้นการฝึกซ้อมต้องดีที่สุดเท่านั้น ลุงจึงจะปล่อยขึ้นไปชกบนเวทีได้ เราไม่มีหน้าเสื่อ (ความน่าเชื่อถือของค่าย ที่มีผลกับราคาต่อรอง) เหมือนค่ายอื่น พวกเอ็งต้องขึ้นไปสู้เท่านั้น ถึงจะชนะ ถ้าพวกเอ็งแพ้บ่อยๆ ลุงก็ไม่มีกำลังใจทำมวยต่อ”

สุดใจ ให้ความสำคัญกับ เรื่องการฝึกซ้อม และเตรียมพร้อมก่อนชกมากที่สุด และนี่เป็นเหตุผลที่ กิจวัตรประจำวันของ หัวหน้าคณะเกียรติหมู่ 9 จึงเริ่มต้นวันด้วยการ ปั่นจักรยานทุกเช้า พานักมวยไปวิ่งในหมู่บ้านระยะทาง 10 กิโลเมตร

ต่อเนื่องด้วยการควบคุมการฝึกซ้อมช่วงเช้าถึง 9.00 น. และดูแลการฝึกซ้อม นักมวยต่อในช่วงเย็น ตั้งแต่เวลา 16.00น. จนถึงหัวค่ำด้วยตัวเองทุกวัน แบบไม่ให้คลาดสายตา เพื่อให้แน่ใจว่า นักมวยที่มีคิวขึ้นชกรายการต่างๆ ผ่านมาตรฐานที่เขาตั้งไว้

“ตอนนี้มีนักมวยที่ดูแลในบ้านประมาณ 10 คน ที่เหลือถ้าเป็นนักมวยที่อยู่บ้านใกล้ๆ ก็จะปล่อยเขานอนบ้านใคร บ้านมัน พอถึงเวลาเขาก็รู้หน้าที่ว่าต้องทำอะไร ไม่ต้องพูดกันเยอะ เรื่องอาหารการกิน เราก็กินปกตินี่แหละ กินแบบบ้านๆ ห้อยหลวงพ่ออะไรก็ไม่สู้ หลวงพ่อวิ่ง (หัวเราะ) บำรุงให้ดีแค่ไหน แต่ถ้าซ้อมไม่ดี อาบแบรนด์ซุปไก่ทั้งลัง ก็ไม่มีแรงเหมือนเดิม”

นอกเหนือจากเรื่องพละกำลังที่ นักชกจากค่ายเกียรติหมู่ 9 ฟิตเต็มถังพร้อมลุยจนครบ 5 ยกแล้ว ค่ายมวยแห่งนี้ ยังเน้นไปที่การสร้าง นักมวยประเภท มวยฝีมือ ด้วยเหตุผลที่มีมากกว่าแค่เรื่อง ผลแพ้-ชนะ บนเวที

“ผมเน้นทำมวยฝีมือ มากกว่ามวยบู๊ล้างผลาญ เพราะผมสงสารเด็ก ไม่อยากให้ต้องเจ็บ และอยู่กับเราได้ไม่นานต้องเลิกไป ผมจึงหันมาทำมวยฝีมือ ที่ใช้การออกแข้ง วงนอกก็ได้ วงในก็ไม่แพ้ใคร ส่วนมวยโหด ดุเดือด ผมไม่ทำ ถึงจะได้ใจแฟนมวยมากกว่ามวยฝีมือ แต่ผมเห็นใจเด็ก เราสอนให้เขาป้องกันให้เป็นดีกว่า"

จาก 0 ล้าน 1,000,000

ระหว่างที่เรากำลังสนทนากัน อัปกิริยาพร้อมคำอธิบายในช่วงหนึ่งของ สุดใจ ปุ่มประโคน ก็ทำให้เราประหลาดใจไม่น้อย ถึงสิ่งที่ผู้ชายคนนี้เลือกทำ เพราะเราไม่คิดว่าจะมี ค่ายมวยชั้นแนวหน้า ที่ไหนในโลกทำกัน ?

“นักมวยในค่ายส่วนใหญ่ ก็จะเป็นเด็กข้างๆบ้าน ที่อาศัยในละแวกนี้ ที่เราจับมาฝึก ตั้งแต่อายุ 7 ขวบ เด็กพวกนี้เราสร้างเองมากับมือ เป็นญาติๆ รู้จักกันหมดแหละ อย่าง สิงห์ดำ บ้านอยู่ตรงโน่น พนมรุ้งเล็ก เพชรพนมรุ้ง บ้านอยู่ตรงนี้, ซุปเปอร์เล็ก บ้านอยู่ตรงนั้น” สุดใจ พูดพร้อมกับชี้มือไปยังบ้านหลังต่างๆในหมู่บ้าน ที่เรามองเห็นได้ในระยะใกล้ ด้วยสายตา

“เด็กพวกนี้ มาจากครอบครัวที่ยากจน แต่มีชีวิตที่ดีขึ้นได้เพราะมวย อย่าง สิงห์ดำ ตอนเด็กๆ พ่อแม่เขาไม่มีบ้านอยู่อาศัย แต่เขาก็พัฒนาตัวเองจนได้เป็น ยอดมวย หรืออย่าง เพชรพนมรุ้ง (แชมป์โลก กลอรี่ คิกบ็อกซิง) คนนี้เป็นน้องชาย พนมรุ้งเล็ก ชกครั้งแรกได้ค่าตัว 100 บาท ตอนนี้ไฟต์หนึ่งเขาได้่ค่าตัว 1 ล้านบาท”

“การปั้นเด็กแถวบ้านให้เก่งขึ้นมาได้ มันยากกว่าไปหามวยเด็กเก่งๆจากที่อื่นหลายเท่า แต่สิ่งหนึ่งที่เด็กพวกนี้มี คือ ความเป็นคนใจสู้ และเขาเห็นตัวอย่างรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จ ก็มีความพยายาม จนมีวันนี้ อย่าง ซุปเปอร์เล็ก ตอนสิงห์ดำได้ยอดมวย เขายังเป็นเด็ก แต่ก็เห็นรุ่นพี่จัดงานเลี้ยงฉลองในหมู่บ้าน เขาก็ขยันตั้งใจฝึกซ้อม จนกลายเป็นมวยเงินแสน”

“คิดแล้วก็ภูมิใจในตัวเอง จากคนเลี้ยงวัว เลี้ยงควาย ไม่คิดว่าจะวันหนึ่งจะสร้างมวยค่าตัวหลักล้านได้ บางค่ายกว่าจะได้เข็มขัดสักเส้น ก็เหนื่อยแทบแย่ ลงทุนไปเยอะ แต่เราได้มาแล้ว 30 กว่าเส้น มานั่งคิดนอนคิดอยู่เหมือนกัน ถ้าวันนั้นผมไม่ได้ทำมวย ทุกวันนี้ก็คงนั่งเลี้ยงควายอยู่”

ในวัย 62 ปี สุดใจ ปุ่มประโคน ใช้เวลาเกือบครึ่งชีวิตให้กับการสร้างค่ายมวยไทยภูธร แม้ปัจจุบัน อาจมีนักมวยจากจังหวัดข้างเคียง มาอยู่กับอาศัยกับเขาบ้าง แต่เขาก็ยังคงได้รับการยอมรับ สรรเสริญจากคนในวงการมวยไทย รวมถึงผู้คนในหมู่บ้าน

ทุกๆปี บรรดาครอบครัวและตัวนักมวย จะเข้ามากราบไหว้เขา ในฐานะผู้มีพระคุณ และมอบโอกาสให้คนในหมู่บ้านเล็กๆแห่งนี้ จากการทำมวยของเขา สิ่งนี้นี่เอง คือ ความสุขที่ สุดใจ ปุ่มประโคน หัวหน้าคณะบอกกับเราว่า มีค่าเหนือกว่าเงินทอง ชื่อเสียง

“ผมอิ่มจนไม่รู้อิ่มยังไงแล้ว หัวหน้าค่ายมวยเป็นอาชีพที่อยู่กับความตื่นเต้นตลอด ไม่ใช่ว่าจะสุขใจเสมอไป เวลามวยชนะก็มีความสุข แต่พอแพ้ก็เสียใจมากเช่นกัน ทุกวันนี้ผมอยู่ในจุดที่ผมไม่ได้ซีเรียสแล้ว แพ้บ้างก็ได้ ชนะตลอดหาตัวต่อยยาก (หัวเราะ) แต่พูดไปอย่างนั้นแหละ พอขึ้นบนเวที ก็อยากให้เด็กเราชนะตลอด”

“ผมผ่านอะไรมาเยอะ จากแต่ก่อนต้องรับผิดชอบค่าใช้จ่ายมากมาย เดี๋ยวนี้มีผู้สนับสนุนหลายเจ้า ก็ไม่ต้องออกเงินซื้ออุปกรณ์แบบแต่ก่อน เคยมีนายทุนจากจีน ชวนให้ผมไปเปิดค่ายมวยที่กรุงเทพ เสนอเงินให้เท่านั้นเท่านี้  แต่ผมปฏิเสธไป ผมอยากอยู่เล็กๆของผมแบบนี้ แต่ทำแล้วได้มาตรฐาน แฟนมวยเชื่อถือ ไม่มีประวัติเสียหายดีกว่า”

ปัจจุบัน เกียรติหมู่ 9 ยังเป็นค่ายมวยภูธร ที่บริหารงานและดูแลทุกรายละเอียด โดย สุดใจ ปุ่มประโคน เหมือนอย่างที่เป็นมาตลอด 30 กว่าปี แม้อายุของเขาจะเพิ่มขึ้น และความนิยมในค่ายอาจลดลงไปบ้าง ตามวันเวลา

แต่หากพูดถึงคุณภาพ ค่ายมวยแห่งนี้ ยังคงรักษาระดับไว้อย่างที่เคยเป็นมา การันตีด้วย รางวัลยอดมวยถ้วยพระราชทานคนล่าสุดของประเทศไทยอย่าง รุ้งนารายณ์ เกียรติหมู่ 9 ที่ผ่านการเพาะบ่มมาจากผู้ชายคนนี้ 

“ลุงใจ” บอกกับเราว่า เขาไม่อาจรู้ได้ว่า ในอนาคต ค่ายมวยเกียรติหมู่ 9 จะเหลือไว้แค่เพียงตำนานเล่าขาน หรือกลับมาเป็น ค่ายมวยแถวหน้าเหมือนในอดีต แต่ชีวิตที่เหลือต่อจากนี้ เขาก็ยังจะทำเหมือนที่เคยทำมาตลอด 30 ปี ในการให้โอกาส ปลุกปั้นเด็กๆ ให้เติบโตและมีอนาคตที่ดี ในเส้นทางสายกำปั้น จนกว่าจะยอมแพ้ให้กับสังขารของตัวเอง

“เกียรติหมู่ 9 อยู่ถึงวันนี้ได้เพราะความดี กับทุกๆคน ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากไหน อายุเท่าไหร่ เราปฏิบัติตัวดีกับเขาเหมือนเดิม จนนักข่าวบางคนพูดว่า ‘พี่ใจเคยเป็นยังไง ก็เป็นเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนเลย’ เจอใครก็ยังทักทายได้เหมือนเมื่อก่อน ผมไม่เคยคิดว่าตัวเองเก่งหรือดี”

“ก็ยังปั่นจักรยานไปคุมเด็กซ้อมทุกเช้า นั่งดูเด็กซ้อมทุกเย็น นี่คือความสุขและความสบายใจของเรา ถ้าเด็กซ้อมดี ขึ้นไปยังไงก็ไม่หมดแรง ยังไงก็ต้องทำให้ได้มาตรฐาน ไม่อยากให้แฟนมวยตำหนิได้ ก็คงทำจนกว่าตัวเองจะรู้ว่ามันไปไม่รอด เมื่อนั้นก็คงต้องปิดตำนานไป”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook