"สนามตะกร้อ" - เพจของคนหนุ่มที่อยากทำให้กีฬาลูกหวายเข้าถึงคนรุ่นใหม่

"สนามตะกร้อ" - เพจของคนหนุ่มที่อยากทำให้กีฬาลูกหวายเข้าถึงคนรุ่นใหม่

"สนามตะกร้อ" - เพจของคนหนุ่มที่อยากทำให้กีฬาลูกหวายเข้าถึงคนรุ่นใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนสนามตะกร้อ รวบรวมมาให้คุณเข้าถึงง่ายบนหน้าจอ...

ประโยคดังกล่าว คือคำอธิบายของเพจเฟซบุ๊ก “สนามตะกร้อ” ที่เต็มไปด้วยคอนเทนต์น่าสนใจ และ สดใหม่ไม่เหมือนใคร โดยมีเนื้อหาหลักอยู่ที่กีฬาเซปักตะกร้อ ซึ่งถูกนำเสนอให้เข้าใจง่าย ผ่านมุกตลกที่สอดแทรกในโพสต์ต่างๆของเพจ

ด้วยความฮาที่มาพร้อมสาระ และ การนำเสนอกีฬาตะกร้อในรูปแบบที่เข้าถึงทุกเพศทุกวัย เพจสนามตะกร้อจึงมีผู้ติดตามมากกว่า 2 แสนคน ต่อให้ไม่ได้เป็นแฟนตะกร้อ เราเชื่อว่า คุณน่าจะเคยเห็นเรื่องราวในวงการลูกหวายจากเพจนี้มาแล้ว

 

ว่ากันด้วยความนิยม นี่น่าจะเป็นเพจกีฬาที่ได้รับความสนใจระดับต้นๆของประเทศไทย แต่กว่าจะมาถึงจุดนี้ได้ เพจสนามตะกร้อมีความเป็นมาอย่างไร และ สิ่งใดคือเป้าหมายที่แท้จริงของเพจ

เราชวนคุณมาพูดคุยกับ โบ๊ต - ศิรกานต์ ผาเจริญ นักข่าวหนุ่มวัย 29 ปี ผู้ก่อตั้งเพจสนามตะกร้อ ถึงเบื้องหลังความสำเร็จในการนำเสนอกีฬาลูกหวาย ให้คนรุ่นใหม่ได้หันมาสนใจ และปลุกกระแสกีฬาที่เคยซบเซา กลับมาเป็นที่สนใจของคนทั่วไปอีกครั้ง

เล่าถึงจุดเริ่มต้นของเพจ “สนามตะกร้อ” หน่อยครับ?

ชีวิตผมอยู่กับตะกร้อมาตั้งแต่เด็ก เริ่มเล่นตะกร้อตามคุณพ่อที่ท่านชอบเหมือนกัน เมื่อเราโตมากับอะไรสักอย่าง เราจะผูกพันกับมันโดยไม่รู้ตัว ผมรู้สึกแบบนั้นกับกีฬาตะกร้อ

 1

พอเรียนจบมหาวิทยาลัย ต้องย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ ผมพบว่า การหาสนามตะกร้อเล่น มันเป็นเรื่องที่ยากมาก ตรงนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เปิดเพจสนามตะกร้อขึ้นมา ด้วยจุดตั้งต้นว่า เพื่อช่วยเหลือคนที่หาสนามตะกร้อเตะ ใครรู้จักสนามตะกร้อตรงไหน ก็มาแชร์กันในเพจนี้

อะไรทำให้เกิดความแตกต่างของสนามตะกร้อในต่างจังหวัดกับกรุงเทพมหานคร?

ต้องพูดแบบนี้ว่า สำหรับคนต่างจังหวัด สนามตะกร้อคือพื้นที่ของครอบครัว ทุกสนามมันรวมตัวกันเป็นสังคม พวกเขาไม่ได้มาสนาม เพื่อเตะตะกร้ออย่างเดียว พวกเขามาเพื่อพบปะกับผู้คน ไม่มีใครเน้นว่ามาเล่นต้องชนะ ทุกคนมารวมตัวเพื่อชวนกันไปกินข้าว กินเหล้า ว่ากันไป ต่างจังหวัดแทบทุกที่ มันจึงมีสะนามตะกร้อ

แต่ในกรุงเทพฯ ลองไปเดินหาดูสิ หายากมาก ถ้าจะมีก็เป็นสนามตะกร้อไม่ได้คุณภาพ เอาตาข่ายมาขึงบนพื้นสกปรก เรื่องนี้สำคัญมากนะ เพราะคนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ พวกเขาต้องการเล่นตะกร้อ เพื่อเติมแรงใจในการใช้ชีวิต

คนเหล่านี้เดินทางจากบ้านเกิด เพื่อมาทำงานในเมืองหลวง ผมคุยกับหลายคน พวกเขาพูดเหมือนกันหมดว่า อย่างแรกที่เขาตามหาในกรุงเทพฯ คือ สนามตะกร้อ บางคนคิดแค่เย็นนี้ได้เล่นตะกร้อ ตื่นเช้าพรุ่งนี้ไปทำงาน แล้วตอนเย็นกลับมาเล่นตะกร้อต่อ ถ้าขาดตรงนี้ไป เขาอยู่ไม่ได้ มันมีความสำคัญถึงกับ เขาเลือกเช่าหอตรงนี้ ไม่ใช่เพราะอยู่ใกล้ที่ทำงาน แต่มันใกล้สนามตะกร้อ

สนามตะกร้อ มันจึงมีอิทธิพลมาก จากการดึงคนต่างจังหวัดเหล่านี้เข้ามาอยู่ด้วยกัน ได้มาพูดคุยกัน เป็นสังคมใหม่ขึ้นมา มันทำให้ชีวิตพวกเขาขับเคลื่อนไปได้

กีฬาตะกร้อเชื่อมคนต่างจังหวัดจากหลายพื้นที่ ให้กลายเป็นหนึ่งบนสนาม?

พี่แอ๊ด คาราบาว แต่งเพลงหนึ่งเกี่ยวกับตะกร้อ มันมีท่อนที่ร้องว่า กีฬาตะกร้อเป็นเกมกำลังใจ หลายคนสงสัยว่าทำไมเวลาเล่นตะกร้อ นักกีฬาต้องแตะมือ เรื่องนี้คือคำตอบ ตะกร้อเป็นกีฬาที่ทีมเวิร์คสำคัญมาก ถ้าไม่มีจุดนี้ เป็นไปไม่ได้เลยที่คุณจะประสบความสำเร็จ

 2

ตะกร้อไม่ใช่กีฬาที่คุณจะไปสนามตอนเย็น เล่นเสร็จแล้วกลับบ้าน โดยที่ไม่รู้จักใคร เพราะต่อให้คุณไม่รู้จักใคร เมื่อรวมกันสามคนเป็นทีมตะกร้อ คุณก็จะได้แตะมือกัน มันเป็นสิ่งเล็กๆแต่บอกชัดว่า ตะกร้อ คือ กีฬาที่ใช้ความสามัคคี รวมใจทุกคนในทีมเข้าเป็นหนึ่ง

สังคมตะกร้อจึงอยู่กันเป็นครอบครัว ไม่มีเรื่องทะเลาะอะไร สมมติว่า ผมเป็นหน้าใหม่ที่ไปสนามตะกร้อวันแรก ทุกคนจะชักชวนให้เรามาเล่น ให้การต้อนรับอย่างดี มันไม่มีเจ้าถิ่น แล้วระหว่างนั้น เขาจะคุยกับคุณตลอดว่า ทำงานที่ไหน ใช้ชีวิตอย่างไร มันสร้างความสัมพันธ์ให้กันได้จริง

เพจสนามตะกร้อช่วยเหลือคนเหล่านี้ เจอสนามแข่งขันในกรุงเทพฯ?

ไม่ขนาดนั้น เพราะถึงไม่มีเพจสนามตะกร้อ คนที่ชอบเล่นก็จะพยายามไปหาสนามตะกร้อเล่นเองอยู่แล้ว เพจของผมมีหน้าที่แค่ว่า ช่วยรวบรวมข้อมูลเหล่านี้ ปักหมุดให้คนทั่วไปได้รู้ที่อยู่ของสนามตะกร้อมีอยู่ที่ไหนบ้าง เขาจะได้ไม่ต้องไปเสียเวลาตามหาเอง เพราะว่ามันหายากจริงๆ

เพจสนามตะกร้อ จึงมีหน้าที่เอาข้อมูลมาอยู่บนโลกออนไลน์?

ใช่ แบบนั้นแหละ ผมทำให้สังคมตะกร้อที่มันมีอยู่แล้วก่อนหน้านี้ ขยับจากโลกแห่งความจริง มาอยู่บนโลกออนไลน์ ทำให้ภาพของกีฬาตะกร้อมันเด่นชัดขึ้น ทำให้มันถูกค้นพบได้ง่ายขึ้น เพราะทุกคนหาข้อมูลผ่านโซเชียลมีเดียอยู่แล้ว คุณแค่เข้ามาที่เพจสนามตะกร้อ แล้วไล่หาดูเลยว่าที่ไหนมีสนามตะกร้อให้เล่นบ้าง มันง่ายมาก

การตามหาสนามตะกร้อสักหนึ่งสนาม คุณเริ่มจากตรงไหน?

ผมลองไปหาดูตามชุมชน เพราะพื้นที่เหล่านี้ ผมเชื่อว่ามีลานกีฬาสาธารณะที่กรุงเทพฯทำไว้ให้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าทุกที่จะมีสนามตะกร้อนะ บางที่มันแปรสภาพเป็นสนามแบดมินตัน เพราะไม่มีใครเล่นตะกร้อก็มี

 3

สนามตะกร้อในชุมชนที่มันอยู่ได้ แค่มีคนเล่นอย่างเดียวไม่พอ ต้องเป็นสังคมที่เหนียวแน่นด้วย ซึ่งพอผมเข้าไปตรงพื้นที่นั้น ถามพวกเขาว่าแถวนี้มีสนามตะกร้อตรงไหนอีกบ้าง คนเหล่านี้จะตอบได้หมดว่าสนามตระกร้อแห่งอื่นอยู่ที่ไหน เป็นแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ

เรื่องนี้คือผลลัพธ์ของชุมชนที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเอง ผ่านการเล่นกีฬาตะกร้อตามท้องที่ต่างๆ สนามตะกร้อแต่ละแห่งมันเชื่อมหากัน กลายเป็นเครือข่าย แลกเปลี่ยนข่าวสารว่า มีแข่งขันที่ไหนบ้าง พวกเขาจะรู้กันเอง โดยไม่ต้องพึ่งช่องทางโซเชียลมีเดียเลย

จากศูนย์ข้อมูลสนามตะกร้อ กลายเป็นเพจสร้างความสนใจแก่คนทั่วไปได้อย่างไร?

ผมมองว่ากีฬาตะกร้ออยู่คู่คนไทยมานาน และประเทศเราเป็นที่หนึ่งมาตลอด แต่มันเป็นแค่เรื่องในสนาม เพราะไม่มีใครสนใจที่จะทำการเผยแพร่ ทำการประชาสัมพันธ์อย่างจริงจัง ผมมองว่าตะกร้อเหมือนกับฟุตบอลในประเทศไทย คือมีคนชอบกีฬาชนิดนี้เยอะมากในบ้านเรา แต่ยังไม่มีใครมาทำอะไรสักอย่างให้มันบูมขึ้น

 4

โชคดีที่ผมเรียนมาทางนิเทศศาสตร์ และ ทำงานเป็นนักข่าวสายกีฬา ผมจึงรู้สึกว่า ทำไมไม่มีใครทำข่าวตะกร้อเลย อย่างไรตัวผมเองก็มีเพจสนามตะกร้อ แถมทำงานด้านนี้อยู่แล้ว ผมจึงเริ่มเอาข่าวตะกร้อที่ได้มาลงในเพจ ผลปรากฏว่า คนสนใจกันมาก

หลังจากนั้น ผมเอาข่าวมาลงเพจเรื่อยๆ แต่กระแสมันยังไม่ดีมากเท่าไร จนกระทั่ง มีการแข่งขันตะกร้อทีมชาติ รายการคิงส์คัพ ผมก็ไปนั่งดูเพื่อทำข่าว แต่ระหว่างนั้นมันไม่มีอะไรทำ เลยคิดว่าถ่ายทอดสดไปเลยดีกว่า คิดแค่นั้นก็ทำเลย

ผมเอากล่องข้าวมาหนีบให้โทรศัพท์ตั้งไว้ แล้วถ่ายทอดสดลงเพจ บวกกับการพากย์แบบตลกๆ กระแสตอบรับดีเกินคาด ผมรู้สึกว่ามันทำแบบนี้แล้วได้ผลมาก เพราะคนมาดูถ่ายทอดสดสดตะกร้อเรื่อยๆ ยอดไลค์เพจจากหลักพัน มันก็เพิ่มเป็นหลักหมื่น จนตอนนี้เป็นแสนแล้ว

หมายความว่าจริงๆแล้ว คนนิยมกีฬาตะกร้อในประเทศไทยมีจำนวนมากแบบที่เราคาดไม่ถึง?

ตะกร้อในบ้านเรา มันเหมือนกีฬาฟุตบอลที่ประเทศบราซิล ถ้าเทียบสมการ ตะกร้อเท่ากับฟุตบอล ไทยก็เท่ากับบราซิล ประเทศเราคือเบอร์หนึ่งในกีฬานี้ คือระดับท็อปของโลก ผมเคยไปบราซิลมา คนที่นั่นเขาเตะฟุตบอลตั้งแต่ข้างถนนไปจนถึงเป็นอาชีพ ตะกร้อในไทยก็เหมือนกัน มันมีหลายระดับ

 5

ภาพที่มันติดตาคนส่วนใหญ่ คือ ตะกร้อในระดับชนบท กีฬาของคนต่างจังหวัด กีฬาของคนแก่ เพราะมันพบเห็นได้ง่าย พวกเขาย้ายเข้ามาทำงานในกรุงเทพฯ พวกเขายังเล่นตะกร้อ อายุเท่าไหร่ก็ยังเล่นตะกร้อ และคนเหล่านี้เขาไม่สนใจโซเชียลมีเดีย มันจึงกลายเป็นภาพลักษณ์ให้สังคมจำกีฬาตะกร้อแบบนี้

สิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้คือ ตะกร้อในไทยมันมีหลายระดับจริงๆ เล่นเพื่อออกกำลังกาย เล่นเป็นนักกีฬาเดินสาย เล่นเป็นนักกีฬาอาชีพให้สโมสร เล่นให้ทีมชาติ อย่างที่ผมบอก เหมือนกับฟุตบอล ไม่ต่างกัน แค่ภาพที่เด่นชัดที่สุดคือตะกร้อเป็นกีฬาของคนต่างจังหวัด แค่นั้นเอง

ช่วยอธิบายความแตกต่างของตะกร้อแต่ละระดับหน่อยครับ?

พูดให้เข้าใจง่ายๆ กีฬาตะกร้อมันแบ่งเป็นสองฝั่ง หนึ่งคือฝั่งที่เล่นเป็นอาชีพ สองคือฝั่งที่เล่นเพื่อความสนุกสนาน ภาพที่คนส่วนใหญ่เห็นมันมาจากฝั่งหลัง กลุ่มที่เล่นเพื่ออกกำลังกาย เตะตะกร้อเพื่อเดินสายเดิมพัน พวกเขาจะอยู่ฝั่งนี้

 6

ส่วนอีกฝั่งที่เป็นนักกีฬาอาชีพ ถูกปลูกฝังให้ตั้งใจซ้อมตั้งแต่เด็ก เพราะกีฬาตะกร้อจะทำให้ชีวิตคุณสบาย อย่าง พรชัย เค้าแก้ว นักกีฬาทีมชาติ เก็บเงินได้หลายสิบล้าน จากการเล่นตระกร้อสิบหกปี เพราะเขาได้เหรียญทองเยอะมาก ตรงนี้คือแบบอย่างให้เด็กตั้งใจเป็นนักกีฬาอาชีพ

ภาพมันจะแบ่งเป็นสองฝั่งชัดเจน คนหนึ่งเล่นเป็นอาชีพ เล่นเพื่อหาเงิน อีกคนเล่นเพื่อดำเนินชีวิต แต่พวกเขาไม่ได้ใส่ใจว่าคนข้างนอกจะมองอย่างไร ไม่รู้สึกว่าตัวเองถูกแบ่งแยกด้วย พวกเขาเลือกในสิ่งที่ตัวเองชอบ เลือกในสิ่งที่ตัวเองมีความสุขบนพื้นที่สนามตะกร้อของตัวเอง

ภาพลักษณ์ที่สังคมมองกีฬาตะกร้อ ผิดไปจากความเป็นจริง?

มันไม่ผิดสักทีเดียวนะ ผมลองคิดแบบคนทั่วไปว่า ตะกร้อไม่ใช่กีฬาที่ทุกคนเล่นได้ มันต้องใช้ทักษะ มันต้องใช้ร่างกาย แล้วการเล่นตะกร้อไม่ต้องใช้อุปกรณ์อะไร รองเท้าผ้าใบหนึ่งคู่ กางเกงขาสั้นหนึ่งตัว เสื้อไม่ต้องใส่ คุณก็เล่นตะกร้อในสนามได้แล้ว ผมไม่เถียงนะ ถ้าใครจะพูดถึงกีฬาตะกร้ออย่างไร เพราะภาพที่ออกมา มันเป็นแบบนั้นจริงๆ

แต่ทุกวันที่ผมทำเพจนี้ สิ่งที่ไม่อยู่ในหัวเลยคือ ภาพลักษณ์ของกีฬาตะกร้อ ผมแค่มองตะกร้อเป็นกีฬาชนิดหนึ่ง กีฬาที่คนไทยเราเก่งที่สุด กีฬาที่ต่างชาติให้ความสนใจ ผมว่าเราควรจะมองตะกร้อแบบนั้น

ผมถามตัวเองเสมอว่า ทำไมชาวต่างชาติถึงทึ่งกับการเล่นตะกร้อมาก แต่คนไทยรู้สึกเฉยๆ อาจเป็นเพราะว่าหลายคนโตมากับมัน แล้วเกิดความรู้สึกเกลียดตั้งแต่เด็ก เพราะตอนเรียนมัธยม หลายคนต้องเรียนตะกร้อ เพื่อไปสอบ แล้วมันเล่นยาก ความรู้สึกแบบนั้นมันติดมา คนไทยเลยไม่ได้สนใจกีฬาตะกร้อเท่าที่ควร

เพจสนามตะกร้อมีวิธีอย่างไร ให้คนไทยกลับมาสนใจกีฬาชนิดนี้อีกครั้ง?

ผมพยายามทำให้เพจสนามตะกร้อ นำเสนอเนื้อหาต่างๆอย่างครบรส ทั้งข่าว หรือ คลิปวิดีโอ ผมหาวิธีการทำให้มันน่าสนใจ ข้อแรกต้องเจาะลึก ข้อสองต้องสนุก เพราะคนยุคนี้ ต่อให้เขาไม่สนใจในกีฬาตะกร้อ แต่ถ้ามันดูสนุก คนจะหันเข้ามาดูเอง

 7

ก่อนหน้านี้ คนทั่วไปจะคิดว่า ตะกร้อมันเป็นกีฬาที่น่าเบื่อ แค่เตะข้ามไปข้ามมา สำหรับบางคนมันไม่สนุกเลย เขาจะถามว่าจุดพีคมันอยู่ตรงไหน แค่เตะไปให้แต้มมันครบ ผมก็ช่วยตรงนี้ด้วยการบรรยายระหว่างถ่ายทอดสด ให้ข้อมูลต่างๆ อาจจะเล่นตลกบ้าง มุกห้าบาทสิบบาท ว่ากันไป เพราะถ้ามันสนุก คนจะนั่งดูการแข่งขันจนจบสองชั่วโมง และเมื่อพวกเขาประทับใจ คนเหล่านี้จะติดตามกีฬาตะกร้อต่อไป

ผลลัพธ์ที่ผมได้ คือรู้ว่าคนรักตะกร้อในประเทศนี้มีเยอะ ทั้ง คนรักตะกร้อแต่เดิม และ กลุ่มที่เพิ่งเข้ามาสนใจจากการนำเสนอของเพจ ตอนที่ถ่ายทอดสดการแข่งขันในซีเกมส์ คนดูประมาณสี่หมื่นคน หรือ ถ่ายทอดสดการแข่งขันตะกร้อเดินสาย คนดูตั้งสามพัน ธีราทร บุญมาทัน ก็ยังเข้ามาดู เท่ากับว่า การแข่งขันตะกร้อเดี๋ยวนี้ ระดับไหนก็มีคนดู

แปลกใจไหม?

สำหรับผม ตะกร้อมันไม่เคยน่าเบื่ออยู่แล้ว ฟุตบอลน่าเบื่อกว่าอีก ยิงกันแต่ละลูกต้องใช้เวลา แต่การทำแต้มของตะกร้อ คุณสามารถสนุกกับมันได้ในทุกจังหวะการเล่น ถ้าเปรียบเทียบให้เห็นชัด ตะกร้อเหมือนสนามกีฬาที่เป็นสีขาวดำ แต่ไม่มีใครไปทาสีให้มัน เพจผมก็เขาไปทำหน้าที่ตรงนั้น

เป้าหมายของผม คือ อะไรที่กีฬาฟุตบอลมี ทั้ง คลิปไฮไลท์ หรือ คลิปการเล่นสวยๆ กีฬาตะกร้อต้องมีเหมือนกัน และให้มันมารวมอยู่ในเพจสนามตะกร้อ เพราะสิ่งที่เพจผมทำ ไม่ได้แค่ช่วยให้คนไทยหันมาติดตามกีฬาตะกร้อ แต่ทำให้ชาวต่างชาติหันมามองตรงนี้ด้วย เพราะผมเชื่อว่า ถ้ากีฬาตะกร้อก้าวไปสู่ระดับโลกได้เมื่อไร ผลดีจะกลับมาสู่คนไทยเอง

ชาวต่างชาติให้ความสนใจกีฬาตะกร้อมากแค่ไหน?

ตะกร้อเป็นกีฬาที่เขาไม่เคยเห็น ผมจำได้ว่า ปี 2012 ประเทศไทยได้เป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันฟุตซอลโลก มีนักเตะทีมชาติสเปนคนหนึ่ง มายืนดูคนเล่นตะกร้อในสนามข้างๆนานมาก มันเห็นชัดมากเลยว่า ตะกร้อมีความน่าสนใจ ไม่ใช่กีฬาที่คุณจะเดินผ่านไปโดยไม่หันมอง

ชาวต่างชาติทุกคนที่หันมาเล่นตะกร้อ พวกเขาบอกว่านี่คือกีฬาที่ท้าทายมาก ผมมีเพื่อนเป็นชาวออสเตรเลีย (อเล็กซ์ นิวแมน) เขาลาออกจากการเป็นวิศวกร เพื่อเดินทางมาเล่นตะกร้อที่ประเทศไทย ผมเห็นแบบนี้แล้วรู้สึกว่า เขาทำจริงจังนะ ถ้าได้ชาวต่างชาติมาช่วยทำลีกตะกร้อไทยน่าจะดี เพราะ ตะกร้อ ไทยแลนด์ ลีก ตอนนี้มีมา 18 ปี แล้ว แต่ไม่เคยพัฒนาไปไหนเลย

คุณจะบอกว่าปัญหาที่ลีกตะกร้อไทยไม่บูม เพราะคนไทยบริหาร?

ใช่ พูดตรงๆคือ กลุ่มคนที่ดูแลกีฬาตะกร้อในประเทศไทยเป็นคนรุ่นเก่า มองว่าตะกร้อเป็นกีฬาไทย เป็นกีฬาพื้นบ้าน อย่าง ตะกร้อ ไทยแลนด์ ลีก เขามองว่า จัดปีนี้จบ แล้วปีหน้ามาจัดใหม่ ไม่มีการพัฒนา ไม่รู้ว่าตะกร้อมีศักยภาพ สามารถพัฒนาเป็นกีฬาที่สร้างความบันเทิงแก่ผู้ชมทั่วไป

 8

ผมว่าคนรุ่นเก่ากับคนรุ่นใหม่ เราต้องไปด้วยกัน คนรุ่นเก่าเขาก็มีประสบการณ์ที่ผ่านมา สามารถบริหารจัดการทั้งระบบได้ดีกว่า ส่วนคนรุ่นใหม่ มีจุดเด่นนำเสนอแบบใหม่

ทุกวันนี้ คุณไม่สามารถให้คนแก่เดินมาบอกเด็กได้ว่า มาดูตระกร้อสิ แต่ถ้าใช้คนวัยเดียวกันที่เข้าใจกันมากกว่า มันสามารถชักชวนให้เด็กรุ่นใหม่หันมาดูตะกร้อได้ ด้วยวิธีการต่างๆที่ผมบอกไป มันง่ายกว่ามาก

เพจสนามตะกร้อจึงเป็นเพจของคนรุ่นใหม่ ที่ทำเพื่อคนรักตะกร้อรุ่นใหม่โดยเฉพาะ?

ใช่ เรื่องนี้แหละที่ผมบอก ถ้าคนทำเพจสนามตะกร้อเป็นคนแก่ เนื้อหาจะเดิมๆ ไม่มีเรื่องใหม่มานำเสนอ แต่ผมเป็นคนรุ่นใหม่ มองเห็นว่าทุกอย่าง สามารถนำมาเกี่ยวกับตะกร้อได้หมด เช่น มีมในเพจ 9gag ผมเอามาพลิกนิดเดียวให้มันเป็นเรื่องตะกร้อ คนแชร์กันเป็นพันแล้ว ตรงนี้มันเป็นศักยภาพของคนรุ่นใหม่ เราทำตรงนี้ได้

สุดท้ายตะกร้อมันเป็นเรื่องในสนาม ซึ่งมีผู้ใหญ่จัดการอยู่ เพจสนามตะกร้อเป็นแค่ส่วนเล็กๆในวงการ ที่ช่วยดึงคนรุ่นใหม่ให้เข้ามาสนใจกีฬานี้มากขึ้น

คนรุ่นใหม่ที่สนใจกีฬาตะกร้อ ถือเป็นจุดแข็งของเพจสนามตะกร้อไหม?

ผมมองว่าเพจสนามตะกร้อมี Engagement (การมีส่วนร่วม) จากลูกเพจที่เป็น Organic (เกิดจากธรรมชาติ) ของเพจจริงๆ มันเป็นเรื่องดีมาก ทุกคนติดตามเพจจากความชอบในกีฬาตะกร้อจริงๆ

 9

สำคัญที่สุด คือมันลบภาพว่าตะกร้อเป็นกีฬาของคนแก่ คนชนบทที่ไม่ทันสมัย เพราะลูกเพจสนามตะกร้อ มาจากคนทุกเพศ ทุกวัย ไม่จำกัดแค่วัยรุ่น เด็กหรือผู้ใหญ่ เพจนี้มีหมด ตะกร้อคือกีฬาของคนทั่วไป ทุกโฆษณาสามารถมาลงกับกีฬาตะกร้อได้หมด ต่อให้เป็นน้ำมันพืช ผมก็ขายให้เขาได้ และผมเชื่อว่ามันจะเป็นผลดีกับเขา เพราะเพจสนามตะกร้อเข้าถึงเป้าหมายจริงๆ

การที่มีโฆษณาเข้ามาช่วยเปลี่ยนภาพลักษณ์ของกีฬาตะกร้อ?

แน่นอน ผมเอานักตะกร้อมาเป็นพรีเซนเตอร์ให้สินค้า ภาพลักษณ์กีฬาตะกร้อจะดีขึ้น อย่างโฆษณาแบรนด์เสื้อผ้า ทุกคนจะได้เห็นนักตะกร้อแต่งตัวทันสมัย ลบภาพเก่าทิ้งไป ไม่มีความรู้สึกว่า คุณเป็นนักตะกร้อ คุณเป็นนักกีฬาที่ไม่เท่

จากจุดเริ่มต้นตรงนี้ ผมเชื่อว่ามันจะสร้างแรงกระเพื่อม ต่อไปถึงนักตะกร้อรุ่นใหม่ ให้พวกเขากระตุ้นตัวเอง สร้างภาพลักษณ์ตามตัวอย่างที่ทำให้ดูว่า การเป็นนักตะกร้อมันเท่ คุณใส่เสื้อผ้าแนวสตรีท แล้วสามารถกระโดดฉีกแข้งฉีกขาได้ มันเป็นความพิเศษของคุณเลยนะ

แต่ผมไม่เคยต้องการจะลบภาพเก่าๆอะไรออกไปเลยนะ ผมแค่อยากบอกว่า ตะกร้อไม่ใช่กีฬาที่เล่นแล้วน่าอาย เล่นแล้วล้าสมัย ทุกคนที่เล่นตะกร้อควรรู้สึกภูมิใจมากกว่า เพราะ มันเป็นกีฬาที่โคตรยาก ถ้าคุณเล่นได้คุณเท่มาก

ผมอยากบอกให้ทุกคนรู้ว่า กีฬาชนิดนี้มีค่า เพราะทุกครั้งที่ตะกร้อออกไปอยู่ต่างประเทศ อยู่ในสายตาชาวต่างชาติ มันคนละเรื่องกับที่เห็นในประเทศไทย มีหลายคนที่ออกจากบ้านเรา เพื่อเป็นไปเล่นตะกร้อยังต่างประเทศ และเขากลายเป็นดาวเด่น เหมือนนักบอลบราซิลที่มาเล่นในไทย ต่อให้คุณไม่เก่งแค่ไหนที่บ้านเกิด คุณก็คือตัวหลักของทีมที่ต่างประเทศ มันเหมือนกัน เราควรจะมองนักตะกร้อแบบนั้น นี่ไม่ใช่กีฬาที่ด้อยค่า

สิ่งที่เพจสนามตะกร้อพยายามบอกกับสังคมในทุกวัน คืออะไร?

ผมไม่อยากให้คนไทยมองว่า ตะกร้อคือกีฬากรรมกร เพราะคุณมองแค่สนามที่มันอยู่ในย่านชุมชน ล้อมรอบด้วยผู้ใช้แรงงาน ภาพคุณเห็นจึงเป็นแบบนั้น แต่ถ้าคุณได้ไปเห็นนักตะกร้อที่เล่นในสนามต่างประเทศ ตะกร้อก็ไม่ต่างจากฟุตบอล หรือกีฬาอื่นๆ

 10

สุดท้าย ผมไม่กล้าพูดหรอกว่า เพจสนามตะกร้อจะลบภาพลักษณ์เดิมของกีฬาตะกร้อได้ ผมไม่ต้องการเปลี่ยนความรู้สึกใคร ผมแค่อยากจะเพิ่มความรู้สึกใหม่ให้พวกเขา ทำให้คนที่ไม่เคยรู้จักกีฬาตะกร้อ ได้เห็นภาพลักษณ์ใหม่ที่เพจพยายามนำเสนอ เมื่อพวกเขาได้เห็นเรื่องราวแบบนี้มากขึ้น ภาพจำแบบเก่าของกีฬาตะกร้อจะหายไปจากสังคมเอง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook