คุยกับนักสังคมศาสตร์ : ทำไมฟุตบอลหญิงทำอย่างไรก็ไม่อาจได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอลชาย?

คุยกับนักสังคมศาสตร์ : ทำไมฟุตบอลหญิงทำอย่างไรก็ไม่อาจได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอลชาย?

คุยกับนักสังคมศาสตร์ : ทำไมฟุตบอลหญิงทำอย่างไรก็ไม่อาจได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอลชาย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ตลอดช่วงเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียกร้องสิทธิของสตรี คือหนึ่งในประเด็นทางสังคมที่ใหญ่และทรงพลังมากที่สุดเรื่องหนึ่ง

ในยุคนี้เราจะเห็นได้ว่า ผู้หญิง ก้าวเข้ามามีบทบาทในแวดวงต่างๆ มากขึ้น ทั้งในสายการเมือง, ธุรกิจ และสังคม จากการมีสตรีมากมายเติบใหญ่ ขึ้นเป็นผู้บริหารระดับสูงทั้งในรัฐบาล, สภา ตลอดจนองค์กรภาครัฐและธุรกิจต่างๆ ทั่วทุกมุมโลก

แต่สิ่งที่น่าสังเกตไม่น้อยก็คือ ในวงการกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กีฬาฟุตบอล เรื่องราวกลับดูจะไม่เป็นไปในทิศทางนั้น เมื่อฟุตบอลหญิงดูจะไม่สามารถเทียบเคียงกับฟุตบอลชายในด้านของความนิยมได้เลย

 

และนั่นทำให้ Main Stand ต้องขอชวน "อ.โจ้" อาจินต์ ทองอยู่คง อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านสังคมวิทยาและกีฬาฟุตบอล มาพูดคุยเพื่อหาคำตอบให้ชัดๆ กันไปว่า เหตุใดถึงเป็นเช่นนั้น? และพอจะมีทางใดบ้างที่ช่วยปลุกกระแสฟุตบอลหญิงให้ได้รับความนิยมมากขึ้น?

กีฬาเรื่องเพศ

"สิ่งหนึ่งที่ต้องยอมรับว่ามันเกิดขึ้นจริงก็คือ วงการกีฬาเนี่ย มันถูก Dominate หรือ ควบคุม, ครอบงำ โดยผู้ชาย อันนี้ไม่ใช่แค่เฉพาะกับฟุตบอลนะ กีฬาอื่นๆ ก็ไม่แตกต่างกันสักเท่าไหร่" อาจินต์ ทองอยู่คง เริ่มเปิดประเด็นสนทนากับ Main Stand

 1

เมื่อเราถามถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะดังกล่าว อ.โจ้ แห่งคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เล่าต่อว่า

"เริ่มแรกเลยก็คือ กีฬาเนี่ย มันมีความเป็นเพศอยู่ มันมีการแบ่งแยกว่า กีฬานี้เป็นกีฬาที่ผู้ชายเล่น กีฬานี้เป็นกีฬาที่ผู้หญิงเล่น ซึ่งเพศสภาพของกีฬาเนี่ย มันก็ถูกจัดตามสังคมวัฒนธรรมจากยุคสมัย และสถานที่"

"อย่างกีฬาฟุตบอล โดยเฉพาะฟุตบอลอาชีพ ตรงนี้เราจะเห็นภาพชัดเจนหน่อย เพราะตามหน้าประวัติศาสตร์ แม้กติกาของกีฬาฟุตบอลจะถือกำเนิดจากกลุ่มนักศึกษา แต่กลุ่มคนที่ทำให้มันเติบโตสู่การเป็นอาชีพได้คือชนชั้นแรงงาน ยิ่งในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคกำเนิดนั้น เป็นยุคสมัยที่มีการแบ่งแยกหน้าที่ตามเพศอย่างชัดเจน บทบาทของผู้หญิงคืออยู่ในบ้าน เป็นแม่บ้านแม่เรือน ส่วนผู้ชายนั้นจะมีบทบาทในภาคสังคม ในพื้นที่สาธารณะมากกว่า ทั้งในแง่ของการไปทำงาน และการเข้าสังคม ซึ่งแน่นอนว่า การไปดูฟุตบอลตามสนามต่างๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งในนั้น"

"อีกสิ่งที่ต้องพูดถึงด้วยเช่นกันก็คือ ในยุคเริ่มต้นของกีฬาต่างๆ โดยเฉพาะกีฬาฟุตบอลในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 19 'สิทธิสตรี' ไม่ได้เป็นสิ่งที่ถูกยกให้มีความสำคัญมากนัก ทำให้บทบาทในพื้นที่สาธารณะของพวกเธอมีอย่างจำกัดจำเขี่ย เมื่อมีการพัฒนาสู่ระบบอาชีพ ค่านิยมจากยุคสมัยนั้นก็ได้ถูกปลูกฝังถ่ายทอดลงมาด้วย มันเลยทำให้ฟุตบอลดูเป็นกีฬาของผู้ชาย ซึ่งแม้กาลเวลาจะเปลี่ยนไป ผู้หญิงเข้ามามีบทบาทในกีฬาฟุตบอลมากขึ้น จนกระทั่งเกิดเป็นกีฬาฟุตบอลหญิง ภาพจำของกีฬานี้ที่ดูเป็นกีฬาสำหรับผู้ชายมากกว่าก็เลยยังไม่เปลี่ยนแปลง"

 2

ถึงกระนั้น อ.โจ้ ยังเผยด้วยว่า "แม้กีฬาฟุตบอลโดยทั่วไป ของฝั่งผู้ชายจะได้รับความนิยมมากกว่าผู้หญิง แต่ก็มีเหมือนกันในบางสถานที่ อย่างเช่น สหรัฐอเมริกา ซึ่งฟุตบอลหญิงดูจะได้รับความนิยมมากกว่าที่อื่นๆ บางทีอาจจะสูสีหรือมากกว่าผู้ชายด้วยซ้ำ"

ซึ่งหากจะหาสาเหตุว่าเป็นเพราะอะไรนั้น? เราคงต้องมองที่ภูมิทัศน์ทางกีฬาของแดนมะกันกันสักนิด เพราะกีฬาของผู้ชายในสหรัฐอเมริกาส่วนใหญ่ถูกยึดครองโดยเหล่าอเมริกันเกมส์ เช่น อเมริกันฟุตบอล, บาสเกตบอล รวมถึง เบสบอล ไปแล้ว ยิ่งบวกกับการที่ทีมฟุตบอล หรือ ซอคเก้อร์ ของสหรัฐอเมริกาในประเภทหญิง ประสบความสำเร็จในการแข่งขันระดับโลก ด้วยการคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกหญิงในยุค 1990s ก็ทำให้ภาพจำของกีฬาฟุตบอลในสหรัฐอเมริกา มักจะถูกยึดโยงกับเพศหญิงไปด้วยโดยปริยายนั่นเอง

เมื่อสตรีเรียกร้องความเท่าเทียม

หนึ่งในประเด็นการเรียกร้องทางสังคมจากผู้หญิงที่โดดเด่นและเป็นที่กล่าวถึงตลอดช่วงหลายปีที่ผ่านมา คือการเรียกร้องให้ผู้หญิงได้รับเงินค่าจ้างในตำแหน่งต่างๆ ทัดเทียมกับเพศชาย ไม่เว้นแม้แต่ในวงการกีฬาอย่างเทนนิส ซึ่ง เซรีน่า วิลเลี่ยมส์ เป็นแกนนำในการเรียกร้อง หรือแม้แต่วงการฟุตบอลเอง ก็มีเรื่องที่นักเตะทีมชาติสหรัฐอเมริกา ยื่นฟ้องสหพันธ์ฟุตบอลสหรัฐอเมริกา หรือ US Soccer

 3

โดยสาเหตุที่เหล่าแข้งสาวแดนมะกันต้องนำเรื่องดังกล่าวขึ้นโรงขึ้นศาลก็เนื่องมาจาก พวกเธอถูกเลือกปฏิบัติอย่างไม่เท่าเทียมกันในหลายประการ ไม่เพียงแต่เบี้ยเลี้ยงและโบนัสที่ได้ไม่เท่ากับทีมชายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสถานที่ฝึกซ้อม, ทีมงานโค้ช, การรักษาทางการแพทย์ รวมถึงความสะดวกสบายในการเดินทางที่เทียบเคียงกับฝ่ายชายไม่ได้เลย แม้ทีมฟุตบอลหญิงของสหรัฐอเมริกาจะสามารถคว้าแชมป์โลกมาได้ถึง 3 สมัย กับเหรียญทองโอลิมปิก 4 สมัย ขณะที่ผลงานในระดับโลกที่ดีที่สุดของทีมชาย ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1930 กับการคว้าอันดับ 3 ฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์

ซึ่งเรื่องดังกล่าว อ.โจ้ มองว่า สาเหตุที่เราได้เห็นผู้หญิงออกมาเรียกร้องถึงความเท่าเทียมกันมากขึ้นแม้แต่ในวงการกีฬา ก็เนื่องมาจากค่านิยมทางสังคมที่เปลี่ยนไปตามยุคสมัยนั่นเอง

"ในระยะหลังมานี้ ทัศนคติ ค่านิยมของคนในสังคมเปลี่ยนไป สิทธิสตรีคือสิ่งที่ได้รับความสำคัญมากขึ้น เห็นได้จากการที่ผู้หญิงเริ่มออกนอกบ้านมาทำงาน มีบทบาทขับเคลื่อนสังคมมากขึ้น รวมถึงมีรายได้ที่มากขึ้นจนลงช่องว่างหรือถึงขั้นเทียบเคียงกับผู้ชาย"

"ประเด็นก็คือ สำหรับวงการกีฬาแล้ว เงินรายได้ของนักกีฬาหญิงยังคงถูกกดให้น้อยกว่าผู้ชาย แถมช่องว่างดูจะมากขึ้นกว่าเดิมด้วย อย่างนักฟุตบอล นักเตะชายมีค่าเหนื่อยที่มากขึ้นๆ ส่วนนักเตะหญิง แม้คนที่เก่งๆ จะได้ค่าเหนื่อยเพิ่มขึ้น แต่ก็ยังเทียบเคียงอีกเพศไม่ได้เลย"

ด้วยปัจจัยของเงินๆ ทองๆ นี้เอง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่เสียงเรียกร้องความเท่าเทียมทางเพศในวงการกีฬาจะดังขึ้นเรื่อยๆ ถึงกระนั้น อาจารย์จากคณะสังวิท มธ. ก็ชี้ว่า ความไม่เท่าเทียมกันทางเพศของกีฬา โดยเฉพาะอย่างยิ่งฟุตบอลนั้น มีสาเหตุสำคัญที่ไม่อาจมองข้ามได้เลยค้ำคออยู่ …

"เรื่องตลาดนี่แหละครับถือเป็นประเด็นสำคัญเลย เพราะอย่างที่เห็นว่า ตลาดผู้ชมกีฬาเขายัง Favor หรือชื่นชอบกีฬาของผู้ชายมากกว่า ซึ่งฟุตบอลเนี่ยเห็นชัด พอคนยังชอบดูฟุตบอลชายมากกว่า มูลค่าทางการตลาด, ลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสด อะไรต่างๆ ก็จึงยังไปในทิศทางของฟุตบอลชายมากกว่าฟุตบอลหญิงอยู่ดี"

 4

ซึ่งเรื่องดังกล่าว แม้แต่ ฟราน เคอร์บี้ ดาวดังในวงการฟุตบอลหญิงของ เชลซี และทีมชาติอังกฤษ ก็ยอมรับกับทาง BBC ด้วยเช่นกัน

"คือที่สุดแล้ว เราก็ทำงานเดียวกับพวกผู้ชายนะคะ แต่ก็นั่นแหละ เราไม่สามารถเรียกผู้ชมเข้ามาเต็มความจุของสนามได้ และนั่นทำให้เป็นเรื่องยากที่จะจุดกระแสฟุตบอลหญิง รวมถึงเรียกร้องความเท่าเทียมกันให้กับพวกเราเองด้วย"

ทางสองแพร่งสู่ความนิยมที่เพิ่มขึ้น

อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่า มูลค่าทางการตลาดที่แตกต่าง คือสาเหตุสำคัญที่ทำให้นักฟุตบอลหญิงไม่อาจได้ค่าเหนื่อยเทียบเคียงนักฟุตบอลชาย ถึงกระนั้น อาจินต์ ทองอยู่คง ก็ชี้ว่า อย่างน้อยๆ ในเวทีหนึ่ง ก็สามารถทำให้นักกีฬาหญิงได้เงินเท่ากับนักกีฬาชายได้ หากต้องการจะทำ...

 5

"ในแง่ฟุตบอลสโมสร เรื่องค่าเหนื่อยชายหญิงเท่ากันอาจทำได้ยากสักหน่อยจากปัจจัยทางการตลาด แต่สำหรับทีมชาติ ตรงนี้สามารถเริ่มต้นได้ เพราะหน่วยงานของภาครัฐไม่จำเป็นต้องไปอิงตามกลไกตลาด จึงสามารถจ่ายเบี้ยเลี้ยง, โบนัส รวมถึงการอำนวยความสะดวกต่างๆ ให้ทัดเทียมกันโดยไม่อิงเพศได้"

แต่แน่นอนว่า การจะทำให้ฟุตบอลหญิงทัดเทียมกับฟุตบอลชายได้ การเพิ่มฐานความนิยมและแฟนบอล คือสิ่งที่ต้องทำอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง ถึงกระนั้นบางแนวทาง อย่างเช่นที่ เซ็ปป์ แบล็ตเตอร์ อดีตประธานสหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ หรือ ฟีฟ่า เสนอให้เปลี่ยนดีไซน์ของชุดแข่งนักกีฬาฟุตบอลหญิงให้มี "ความเป็นผู้หญิง" อย่างเช่นมีขากางเกงที่สั้นลง ก็ดูเหมือนว่าจะทำให้นักกีฬากลายเป็น Sex Object หรือวัตถุทางเพศไปเสียแทน

 6

"เรื่องนี้จะว่าไปก็กลายเป็นปัญหาอีกรูปแบบ คือด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่า การจะทำให้ฟุตบอลหญิงได้รับความนิยมมากขึ้น ซึ่งก็จะช่วยให้นักกีฬาได้รับค่าเหนื่อยที่ทัดเทียมกันโดยไม่เกี่ยงเพศ การตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้คือสิ่งสำคัญ แต่บางแนวทาง มันก็ไปลดคุณค่าในตัวของนักกีฬาลง และบางเรื่อง อย่างสรีระ ความแข็งแกร่ง ก็เป็นสิ่งที่ผู้หญิงไม่อาจมีทัดเทียมเหมือนผู้ชายตามธรรมชาติได้อยู่แล้ว"

"เรื่องการเพิ่มความนิยมในกีฬาฟุตบอลหญิงเป็นสิ่งที่สำคัญ ขณะเดียวกัน สิทธิสตรีก็เป็นเรื่องที่ละทิ้งหลักการไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ เราก็ต้องหาจุดขายอื่นที่ช่วยสร้างความนิยมได้ อย่างเช่นอาจจะต้องขายรูปเกมการแข่งขันที่สูสี หรือแท็กติกการเล่นในแบบที่ไม่สามารถพบเจอได้ในฟุตบอลชาย"

"ซึ่งตรงนี้แม้แต่ผมเองก็คงบอกแบบชัดๆ ไม่ได้ ก็คงต้องเป็นหน้าที่ของทุกคนที่เกี่ยวข้องช่วยกันค้นหาครับ"

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ คุยกับนักสังคมศาสตร์ : ทำไมฟุตบอลหญิงทำอย่างไรก็ไม่อาจได้รับความนิยมเหมือนฟุตบอลชาย?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook