"อาเม็ดสปอร์" : เหยื่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์กลางสนามฟุตบอลในตุรกี

"อาเม็ดสปอร์" : เหยื่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์กลางสนามฟุตบอลในตุรกี

"อาเม็ดสปอร์" : เหยื่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์กลางสนามฟุตบอลในตุรกี
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ท่ามกลางความหลากหลายของของชาติพันธุ์บนผืนแผ่นดินตุรกี ซึ่งมีพื้นที่ตั้งอยู่ระหว่างยุโรปและเอเชีย ความขัดแย้งจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

และหนึ่งในความขัดแย้งที่สำคัญที่สุดตลอดช่วงหลายสิบปี คือความไม่ลงรอยระหว่างรัฐบาลตุรกีและชาวเคิร์ด ชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดของประเทศ  

ความขัดแย้งดังกล่าวไม่ใช่เชิงการเมืองเท่านั้น แต่มันยังลุกลามไปถึง อาเม็ดสปอร์ สโมสรฟุตบอลที่เป็นตัวแทนของชาวเคิร์ด พวกเขากลายเป็นทีมที่ถูกปรับ ถูกแบนมากที่สุดในลีก กองเชียร์ของพวกเขา ถูกมองว่าเป็นตัวอันตรายที่ไม่มีใครอยากสุงสิงด้วย

 

อย่างไรก็ดี นั่นอาจจะเป็นมุมมองจากฝั่งรัฐบาลเพียงฝ่ายเดียว เพราะในทางกลับกัน พวกเขาอาจจะเป็นเพียงแค่เหยื่อภายใต้ความขัดแย้งนี้

ชนกลุ่มน้อยอันดับ 1 ของโลก

บนพื้นที่กว้างใหญ่ไพศาลทางตะวันออกเฉียงใต้ของยุโรป ติดกับพรมแดนของเอเชีย เป็นที่ตั้งของประเทศตุรกี พวกเขาคือดินแดนที่เก่าแก่แห่งหนึ่งของโลกและเคยเรืองอำนาจในฐานะจักรวรรดิไบเซนไทน์และอาณาจักรออตโตมัน

ด้วยความที่ภูมิประเทศตั้งอยู่ระหว่างสองทวีป (ยุโรปและเอเชีย) บวกกับประวัติศาสตร์อันยาวนาน ทำให้ตุรกี เป็นหนึ่งในประเทศที่มีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย นอกจากเติร์กที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ พวกเขายังมีชนกลุ่มน้อยอย่างลาซ เฮมซิน อาหรับ ยิว กรีก และอาร์เมเนียน แต่ไม่มีชนกลุ่มน้อยใดจะยิ่งใหญ่ไปกว่าชาวเคิร์ด ซึ่งมีจำนวนเป็นอันดับ 2 ของประเทศ

 1

อันที่จริงเคิร์ดคือชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมากที่สุดของโลก จากการเก็บข้อมูลของ Kurdish Institute of Paris เมื่อปี 2017 ระบุว่าปัจจุบันมีชาวเคิร์ดกระจายอยู่ทั่วโลกราว 36.4-45.6 ล้านคน โดยส่วนใหญ่อาศัยอยู่ใน อิหร่าน, อิรัก, ซีเรีย และประเทศอื่นๆ ในยุโรป แต่ที่มากที่สุดคือตุรกีที่อยู่ถึง 48 เปอร์เซ็นต์ของชาวเคิร์ดทั้งโลก

ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยเกือบได้รับการก่อตั้งเป็นประเทศหลังสงครามโลกครั้งที่ 1 หลังทำข้อตกลงอย่างลับๆ กับอังกฤษและฝรั่งเศส แต่สุดท้ายเกิดการปฏิวัติภายในอาณาจักรออตโตมัน และก่อตั้งประเทศตุรกีขึ้น ทำให้การก่อตั้งประเทศเคอร์ดิสถานหลงเหลือเพียงแค่การเป็นเขตปกครองตัวเองในชื่อ เคอร์ดิสถานแห่งตุรกีเท่านั้น (Turkish Kurdistan)

ดินแดนแห่งนี้ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกี โดยมีพรมแดนติดกับซีเรีย อิรักและอิหร่าน พวกเขามีอัตลักษณ์ของตนเองอย่างชัดเจน ทั้งภาษา ศาสนา และ วัฒนธรรม และเช่นกันพวกเขาก็มีสโมสรฟุตบอลเป็นของตัวเองในชื่อ อาเม็ดสปอร์

แต่น่าเศร้าที่มันต้องตกเป็นเป้าหมายแห่งความขัดแย้ง

สโมสรของกลุ่มก่อการร้าย?

อาเม็ดสปอร์ หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ อาเม็ด เอสเค ก่อตั้งขึ้นในปี 1990 ในชื่อ Diyarbakır Büyükşehir Belediyespor พวกเขามีฐานที่มั่นอยู่ที่เมืองดียาร์บาร์กี ก่อนจะเปลี่ยนมาใช้ชื่อปัจจุบันเมื่อปี 2014 โดยคำว่าอาเม็ด เอามาจากชื่อของชาวเคิร์ด

 2

แม้ว่าอาเม็ดสปอร์ จะไม่ใช่ทีมยักษ์ใหญ่ อยู่ในลีกระดับ 3 ของตุรกี แต่การแข่งขันของพวกเขามักจะถูกจับตามองเป็นพิเศษ จากการที่เป็นสโมสรของชาวเคิร์ดที่ถูกมองว่าเป็นพวกก่อการร้าย

เนื่องจากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ความรุนแรงในที่เกิดขึ้นในตุรกีล้วนมีชาวเคิร์ดมีส่วนเกี่ยวข้อง โดยเฉพาะการปะทะกันระหว่างพรรคแรงงานเคิร์ด (PKK) ที่ถูกตีตราว่าเป็นพรรคนอกกฎหมายและกองกำลังความมั่นคงของตุรกี นับตั้งแต่ทศวรรษที่ 1980 เป็นต้นมา มีคนเกือบ 40,000 รายต้องสังเวยชีวิตจากความขัดแย้งนี้

แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบัน จะพยายามสร้างความปรองดองหลังขึ้นสู่อำนาจ แต่พื้นที่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของตุรกีก็เกิดสันติเพียงไม่กี่ปี เพราะหลังจากปี 2015 ดียาร์บาร์กี และบริเวณโดยรอบ ก็กลายเป็นพื้นที่สู้รบระหว่างชาวเคิร์ดและกองกำลังความมั่นคง

ในช่วงเดือนกรกฏาคม 2015 - ธันวาคม 2016 รัฐบาลตุรกีได้ประกาศเคอร์ฟิวในพื้นที่ดังกล่าว พร้อมเพิ่มดีกรีการรักษาความปลอดภัย ทำให้กองกำลังของ PKK ต้องตอบโต้ด้วยการออกกฏหมายของตัวเองในหลายพื้นที่ ขุดหลุมหลบภัย และนำสิ่งกีดขวางมาวางบนท้องถนน

 3

จากการรายงานของ Office of the United Nations High Commissioner for Human Rights ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากความขัดแย้งดังกล่าวถึง 2,000 คน ในขณะที่ผู้คนกว่า 355,000 ชีวิตต้องละทิ้งที่อยู่อาศัยเพื่อหนีตาย

จึงไม่แปลกที่ อาเม็ดสปอร์ จะถูกเฝ้าระวังมากกว่าทีมอื่น จนทำให้พวกเขากลายเป็นทีมที่ถูกลงโทษทางวินัยมากที่สุดในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ตั้งแต่ถูกปรับ ห้ามแฟนบอลเข้าสนาม หรือแม้กระทั่งแบนนักเตะตลอดชีวิต

ปี 2017 เดนิส นากิ ผู้เล่นชาวเคิร์ด-เยอรมันของอาเม็ดสปอร์ถูกตั้งข้อหาเผยแพร่แนวคิดแบ่งแยกดินแดนและโฆษณาชวนเชื่อเชิงอุดมการณ์ลงโซเชียลเน็ตเวิร์ค เมื่อเขาโพสต์รูปรอยสัก “เคิร์ดเป็นอิสระ” พร้อมข้อความอุทิศให้ผู้เสียชีวิตลงในเฟซบุ๊คหลังทีมเอาชนะบูซาร์สปอร์ทีมในลีกสูงสุด

“แด่คนที่บาดเจ็บและล้มตายในความโหดร้ายที่เกิดขึ้นบนแผ่นดินของเราในช่วง 50 วันที่ผ่านมา” นากิระบุ

 4

เขาถูกลงโทษแบนตลอดชีวิต พร้อมถูกส่งขึ้นศาลในข้อหาก่อการร้าย ก่อนจะถูกลดโทษเหลือเป็นโทษแบน 12 นัดและปรับเงิน 6,000 ยูโร

หรือล่าสุดเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา มันซูร์ คาลาร์ ถูกตั้งข้อหาว่าใช้มีดโกนกรีดคอคู่แข่งในเกมพบกับ  ซากายาสปอร์ เมื่อวันที่ 2 มีนาคม จนเป็นข่าวโด่งดังไปทั่วโลก

นักเตะของทีมคู่แข่งอ้างว่าเขาโดนทำร้ายถึงสองครั้งตอนไปเช็คสนามและอบอุ่นร่างกาย และได้โพสต์รูปบาดแผลที่คอลงโซเชียลเน็ตเวิร์คหลังเกมนัดนั้น จากผลดังกล่าวทำให้ สมาคมฟุตบอลตุรกีสั่งแบนคาลาร์ตลอดชีวิต และปรับเงิน 25,000 ลิรา (ราว 130,000 บาท) ก่อนจะลดโทษลงมาเหลือเพียงแบน 20 เกม แต่ยังต้องถูกดำเนินคดีทางอาญาต่อไป

อย่างไรก็ดี คาร์ลา อ้างว่าไม่มีทางที่เขาจะทำแบบนั้นได้อย่างแน่นอน และนี่ก็เป็นเพียงการเล่นงานจากรัฐบาล ในฐานะที่พวกเขาเป็นพวกเรียกร้องเอกราช

เหยื่อทางการเมือง

“ผมคือเหยื่อของเครื่องมือทางการเมืองในการต่อต้านอาเม็ดสปอร์” คาร์ลาอธิบายกับ BBC ตุรกีหลังถูกกล่าวหาว่าเอามีดโกนไปกรีดคอคู่แข่งในสนาม

“มันไร้สาระสิ้นดี นักฟุตบอลจะพกมีดโกนลงไปและทำร้ายคู่แข่งได้ยังไง มันเป็นไปไม่ได้

“มันเป็นเหมือนดาร์บีสำหรับเรา จริงอยู่ผมอาจจะค่อนข้างดุดัน แต่แผลเป็นพวกนั้นเกิดจากเล็บของผม ไม่ใช่มีดโกน ผมกำลังเรียนกีตาร์ เล็บของผมจึงค่อนข้างยาว

“สิ่งที่ผมไม่ได้ทำกลายเป็นไวรัล เกินการควบคุมบนโซเชียลมีเดีย”

 5

หลังจากไม่สามารถก่อตั้งเป็นประเทศได้สำเร็จ ชาวเคิร์ดก็ถูกมองว่าเป็นหอกข้างแคร่ของรัฐบาลตุรกีมาโดยตลอด จากการที่พวกเขาพยายามเรียกร้องเอกราชและแยกตัวเป็นอิสระโดยสมบูรณ์

แน่นอนว่ามันส่งผลไปยัง อาเม็ดสปอร์ สโมสรฟุตบอลของพวกเขาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นอกจากการถูกจับตามองเป็นพิเศษจากสมาคมฯ แฟนบอลของพวกเขามักจะถูกเหยียดชาติพันธุ์อยู่เสมอ

“ฟุตบอลเป็นศูนย์กลางของการเมืองในตุรกี” อาลี คาราคัส ประธานสโมสรอาเม็ดสปอร์กล่าว

“บางกลุ่มใช้มันเป็นเครื่องแสดงความคิดทางการเมือง เนื่องจากมันสามารถดึงดูดคนหนุ่มสาวได้เป็นจำนวนมาก และในตุรกีวันนี้ ที่การเมืองถูกใช้ในเชิงเหยียดชาติพันธุ์นี่คือสิ่งที่สะท้อนในสนาม”

การพยายามเรียกร้องเอกราชของชาวเคิร์ด กลายเป็นสิ่งต้องห้ามในสายตารัฐบาล ทว่าในทางกลับกันการต่อต้านพวกเขาถือเป็นสิ่งที่ทำได้ ป้ายผ้าที่มีข้อความว่า “เคิร์ดออกไป ผู้ก่อการร้ายออกไป” และ “นี่คือตุรกีไม่ใช่เคอร์ดิสถาน” ในสนามฟุตบอลถือเป็นเรื่องชินตา

“เวลาที่เติร์กพูดมัน มันไม่เป็นปัญหา แต่แฟนอาเม็ดสปอร์ทำไม่ได้ แม้กระทั่งเขียนบนป้ายผ้า ทั้งๆที่สิ่งนี้เราไม่มีวันเปลี่ยนลักษณะเฉพาะของเรา ทางของเรา เรายังคงเดินในเส้นทางนี้ต่อไป เราเป็นแฟนสโมสรที่ถูกกฏหมายของทีมที่ถูกกฏหมาย” มาห์ซัม คาซิคซี แฟนบอลของอาเม็ดสปอร์กล่าว

 6

เดือนกุมภาพันธ์ 2016 นักเตะอาเม็ดสปอร์ได้ถือป้ายผ้าขนาดใหญ่เดินลงสนามโดยมีข้อความว่า “เด็กไม่ควรตาย พวกเขาควรได้มาชมเกมนี้” หลังความรุนแรงกำลังถึงขีดสุดในเคอร์ดิสถาน แต่กลับถูกตั้งข้อหาว่า โฆษณาชวนเชื่อการก่อการร้าย

พวกเขาถูกลงโทษห้ามแฟนบอลไปชมเกมทีมเยือนถึง 60 เกมนัดตลอด 3 ปี ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย และถูกมองว่าสโลแกนของพวกเขาคือการโฆษณาชวนเชื่อเชิงอุดมการณ์

ในปีเดียวกันบอร์ดบริหารของอาเม็ดสปอร์โดนทำร้ายโดยฝูงชนขณะพาทีมไปแข่งที่เมืองหลวง อังคารา ถูกห้ามใช้แบนเนอร์ในสนาม พวกเขาพยายามลบล้างสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความเป็นเคิร์ด มันคือการถูกกระทำซ้ำแล้วซ้ำอีก น่าเศร้าที่พวกเขาเริ่มชินกับมันแล้ว
 
“เราเคยมีประสบการณ์ในด้านลบค่อนข้างมากในทุกครั้งที่เป็นทีมเยือน นอกจากถูกทำร้ายร่างกาย เรายังต้องเจอกับการทำร้ายด้วยจิตวิทยา และการเหยียดชาติพันธุ์ และถูกด่าว่าจากแฟนของคู่แข่ง โชคร้ายที่เราค่อยๆ คุ้นชินกับมัน” อิห์ซาน เซตินคายา แฟนบอลจากกลุ่ม Direniş กล่าว

ต่อสู้ด้วยความอดทน

การถูกกดขี่จากรัฐบาลและชนชาติอื่นทำให้ อาเม็ดสปอร์ กลายเป็นสัญลักษณ์ในการต่อสู้ของพวกเขา การที่ทีมเอาชนะบูร์ซาสปอร์ ซึ่งอยู่ในลีกสูงสุด เมื่อปี 2016 จึงกลายเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของชาวเคิร์ด

 7

“ตอนที่อาเหม็ดสปอร์เอาชนะบูร์ซาสปอร์จากดิวิชั่นหนึ่งในบ้านเมื่อปีที่แล้ว ชาวเคิร์ดตั้งแต่ แบตแมนจนถึงฮักคารีต่างพากันฉลอง เพราะว่ามันคือทีมท้องถิ่นของพวกเรา อาเหม็ดสปอร์กลายเป็นพื้นที่ที่เป็นตัวตนของชาวเคิร์ด” โซรัน ฮัลดี โฆษกและทนายความของอาเหม็ดสปอร์กล่าว

“หลังจากความขัดแย้งอันยาวนานที่เมืองนี้ต้องเผชิญมาหลายปี ชัยชนะที่จับต้องได้ แม้ว่ามันจะเกิดขึ้นในสนามฟุตบอล ก็เป็นสิ่งที่ประเมินค่าไม่ได้สำหรับเมืองและแฟนบอล” ฟัตมา เซลิต ช่างภาพของสโมสรกล่าวเสริม

แม้ว่าพวกเขาจะถูกกดดันจากรัฐบาลและสมาคมฯ อย่างหนักจากความเป็นเคิร์ด แต่แฟนบอลก็ยังคงยืนหยัดกับอาเม็ดสปอร์ต่อไป และจะไม่เปลี่ยนวิถีการสนับสนุนทีมอย่างแน่นอน แม้อาจจะเสี่ยงที่จะถูกลงโทษก็ตาม

“เราเป็นแฟนที่ถูกกฏหมายของสโมสรถูกกฎหมายที่เล่นในลีกตุรกี” มาห์ซัม คาซิคกี กล่าว

“เราสนับสนุนทีมของเราในวิถีเดียวกันกับที่แฟนทีมอื่นทำ และเราจะทำแบบนี้ต่อไป”

เช่นเดียวกับ เอร์ดาล อัคเดเมีย หัวหน้าแฟนบอลของเมืองบาริคัตที่กล่าวว่า “เราเป็นพลเมืองของประเทศนี้ แต่เรามีภาษา วัฒนธรรม และตัวตนที่แตกต่างอย่างชัดเจน เราคือเคิร์ด และเราคือแฟนบอลชาวเคิร์ดของอาเม็ดสปอร์ ไม่มีใครควรละเลยเรา”

 8

อาเม็ดสปอร์ และชาวเคิร์ดยังคงต้องสู้ต่อไป และในวันที่ 23 มีนาคมที่ผ่านมา รอยยิ้มก็เกิดขึ้นบนดินแดนแห่งนี้บ้าง เมื่อแฟนบอลของพวกเขาได้รับอนุญาตให้เดินทางไปเชียร์ทีมถึงอิสตันบูลในเกมพบกับ อียุปสปอร์

การได้ออกไปเชียร์ทีมรักในฐานะทีมเยือนของพวกเขาถือเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี แม้อาจจะเป็นเรื่องเล็กๆ แต่มันคือจุดเริ่มต้นสำคัญในการต่อสู้ของพวกเขา ที่หวังว่าวันหนึ่ง จะเกิดสันติภาพในดินแดนแห่งนี้

“มันมีคำกล่าวที่ว่า ‘เราจะชนะด้วยความอดทน’” คาซิลิค แฟนเดนตายของสโมสรทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "อาเม็ดสปอร์" : เหยื่อความขัดแย้งทางชาติพันธุ์กลางสนามฟุตบอลในตุรกี

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook