มากกว่าแค่เรื่องเงิน : ไขปัจจัยทำ "แมนฯซิตี้ - ลิเวอร์พูล" ยิ่งใหญ่ในพรีเมียร์ลีกยุคใหม่

มากกว่าแค่เรื่องเงิน : ไขปัจจัยทำ "แมนฯซิตี้ - ลิเวอร์พูล" ยิ่งใหญ่ในพรีเมียร์ลีกยุคใหม่

มากกว่าแค่เรื่องเงิน : ไขปัจจัยทำ "แมนฯซิตี้ - ลิเวอร์พูล" ยิ่งใหญ่ในพรีเมียร์ลีกยุคใหม่
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พวกเราไม่ได้ทำอะไรผิดพลาด แค่คู่แข่งของเรามีฤดูกาลที่เหลือเชื่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับ” แอนดรูว์ โรเบิร์ตสัน กล่าวไว้หลังเกมนัดที่ 38 ของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ ฤดูกาล 2018-19 สิ้นสุดลง

ลิเวอร์พูล ที่มี 97 คะแนน จาก 38 นัด จบซีซั่น ด้วยตำแหน่งอันดับ 2 ของตาราง โดยทีมที่เป็นแชมป์อย่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ มีคะแนนเหนือพวกเขาแค่ 1 แต้มเท่านั้น

หลายๆคน ยกให้ ฤดูกาลนี้ เป็นการขับเคี่ยวแย่งชิง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ ที่สนุกสุด เท่าที่ลีกยอดนิยมอันดับ 1 ของโลกก่อตั้งมา

 

แม้แต่สุดยอดเฮดโค้ชผู้ประสบความสำเร็จมากสุด ในฟุตบอลยุคใหม่ อย่าง เป๊ป กวาดิโอลา ยังยอมรับว่า “นี่เป็นแชมป์ที่ยากสุดในชีวิตของเขา”

อย่างไรก็ดี ปัจจัยที่ส่งให้ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล กลายมาเป็นสองคู่แข่งยักษ์ใหญ่ใน พรีเมียร์ลีกยุคใหม่ ที่น่าจะกินระยะความยิ่งใหญ่ไปอีกหลายๆปี  หลังผ่านยุคที่ แมนฯ ยูไนเต็ด เคยเบียดแย่งชิงความสำเร็จกับ อาร์เซนอลและ เชลซี หรืออย่างยุคต่อมาที่เป็น เชลซี ฟัดกับ แมนฯ ซิตี้ ฯ

ไม่ได้มีเพียงแค่เรื่องการทุ่มเงินซื้อนักเตะบิ๊กเนม ค่าตัวมหาศาลเพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีส่วนประกอบอื่นๆที่ทั้งสองทีม ได้ทำลงไป.. และตอนนี้ก็เป็นเพียงแค่ก้าวแรก ของการเก็บเกี่ยว ในสิ่งที่พวกเขาควรได้รับเท่านั้น?

นักลงทุนผู้ชาญฉลาด

ช่วงเวลาเดียวกัน เมื่อสักประมาณ 10 ปีที่แล้ว “แมนเชสเตอร์ ซิตี้” จบฤดูกาล ด้วยอันดับ 10 ของตาราง จาก 50 คะแนนที่ทำได้ ตามหลังเพื่อนร่วมเมือง “แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด” เจ้าของแชมป์ซีซั่นนั้น มากถึง 40 แต้ม

1 ทศวรรษต่อมา เรือใบสีฟ้า ครองถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกถึง 4 สมัย เปลี่ยนแปลงเมืองแมนเชสเตอร์ จา่กสีแดง ให้กลายมาเป็น สีฟ้าสนิท  ทั้งหมดเกิดขึ้นภายใต้ร่มเงาของ ชีค มานชูร์ ซาเยด อัล นาร์ยาน ที่ได้ตั้ง ซิตี้ ฟุตบอล กรุ๊ป หรือ CFG ทำหน้าที่ดูแลสโมสรในเครือข่ายทั่วโลก

 1

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า ภาพจำของแฟนบอลที่มีต่อ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในอุ้งมือเจ้าของกิจการสัญชาติยูเออี ย่อมหนีไม่พ้นการเป็นทีมที่ “ใช้เงินซื้อความสำเร็จ” แบบทุนนิยมสุดตัว “เรือใบสีฟ้า” เดินหน้าซื้อนักเตะเข้ามาร่วมทีมอย่างบ้าคลั่งตลอดช่วง 5 ปีแรก

ผลประกอบการของเขา มีตัวเลขขาดทุนย่อยยับกว่า 491 ล้านปอนด์ หรือตีเป็นเงินไทยก็ประมาณ 2 หมื่นล้าน ได้ผลตอบแทนกลับมาเป็น แชมป์พรีเมียร์ลีก 2 สมัย, เอเอฟคัพ 1 สมัย, ลีก คัพ 1 สมัย, คอมมูนิวตี้ ชิลด์ อีก 1 ครั้ง

ณ ตอนนั้น คงไม่มีใครกล้าพูดได้เต็มปากว่า ความสำเร็จในระยะสั้น-กลางที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทำได้คุ้มค่า เมื่อเทียบเม็ดเงินที่ลงทุนไป ไม่หนำซ้ำ บางคนก็วิจารณ์ว่า ทีมนี้มีแต่แค่ใช้เงินเท่านั้น

ตุลาคม 2010 “เฟนเวย์ สปอร์ตกรุ๊ป” หรือ FSG โดย จอร์จ ดับเบิลยู เฮนรี นักธุรกิจ เจ้าของทีมเบสบอลชื่อดัง บอสตัน เรดซอกส์ เข้ามาเทคโอเวอร์กิจการสโมสร ลิเวอร์พูล ทีมยักษ์หลับ ที่ทำท่าจะชวดโควต้าไปเล่นถ้วยยุโรป ในปีนั้น

 2

ลิเวอร์พูล ในยุคบริหารของ เฟนเวย์ พบกับความยากลำบากตั้งแต่เริ่มต้น ทั้ง หนี้สินจากเจ้าของคนเก่า,  คุณภาพของผู้เล่นในทีม แถมกลุ่มทุนหน้าใหม่จากสหรัฐฯ ยังแสดงจุดยืนชัดเจนตั้งแต่วันแรกที่เข้ามาว่า ไม่ต้องการลงทุนซื้อนักเตะแพงๆ เหมือนอย่างแมนซิตี้ฯ  เพราะต้องการทำให้สโมสรแห่งนี้ ลงทุนอย่างสมเหตุสมผล และเติบโตอย่างยั่งยืน

เฟนเวย์ สร้างความแปลกใหม่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ ด้วยนำระบบการซื้อขายแบบอเมริกามาใช้ อย่างการตั้ง “คณะกรรมการซื้อขายนักฟุตบอล” (Transfer Committees) ที่มี ทีมงานสตาฟฟ์โค้ช, แมวมอง, ผู้บริหารสโมสร นั่งบนโต๊ะถกกันเพื่อตัดสินใจว่า จะซื้อหรือไม่ซื้อนักฟุตบอลคนใด?

ข้อดีของระบบดังกล่าว คือ ช่วยลดความเสี่ยงที่สโมสรต้องพบเจอ ในการลงทุนซื้อนักฟุตบอล แต่ข้อเสียก็อยู่ตรงที่ ขั้นตอนการดำเนินการบนโต๊ะประชุมนั้น ใช้เวลานาน จนมีโอกาสพลาดถูกสโมสรอื่นตัดหน้าคว้านักเตะเป้าหมายที่สโมสรต้องการ

นั่นทำให้ผลงานของลิเวอร์พูล ขึ้นๆลงๆ อยู่หลายปี ถ้วยแชมป์เดียวพวกเขาได้มา คือ ลีก คัพ ในปี 2011-12

กระนั้น สิ่งที่เหมือนกันของทั้ง FSG และ CFG นั่นคือ พวกเขาให้ความสำคัญอย่างมากต่อการลงทุนกับโครงสร้างสโมสร อันได้แก่ สาธารณูปโภคต่างๆ, การต่อเติมปรับปรุง สนามแข่งขัน, สนามฝึกซ้อม รวมถึงยกระดับ ศูนย์ฝึกเยาวชน ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งที่ FSG และ CFG ลงมือทำเป็นอันดับแรกๆ ด้วยซ้ำ

การลงทุน ที่ไม่เกี่ยวข้องกับการซื้อขายผู้เล่น จัดเป็นการลงทุนที่ไม่สามารถ หวังผลได้ในอนาคตอันใกล้ แต่เมื่อเวลาผ่านไป เม็ดเงินมหาศาลที่หมดไปกับเรื่องนอกสนาม จะสร้างผลประโยชน์ที่ต่อยอดมาได้ถึงผลงานในสนามได้ คิดภาพง่ายๆ ฟุตบอลในแบบของ แมนฯ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล นักฟุตบอลต้องใช้พละกำลัง การเคลื่อนที่ตลอดเวลา หากปราศจากระบบฟิตเนสที่ดี ย่อมไม่มีทางรักษาสภาพนักเตะมาได้ถึงขนาดนี้ 

137 ล้านปอนด์ คือตัวเลขที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทำกำไรได้จากการขายผู้เล่นเยาวชน ที่เป็นผลผลิตจากศูนย์ฝึกอคาเดมีของตัวเอง ซึ่งกลายเป็นแหล่งบ่มเพาะ นักเตะดาวรุ่งชั้นดีแห่งหนึ่งของโลก อาทิ จาดอน ซานโซ, เคเลชี อิเฮียนาโช, บราฮิม ดิแอซ, แอสกุน กันน์ เป็นต้น เช่นเดียวกับ ลิเวอร์พูล ที่ทำรายได้จากการขายผู้เล่นเยาวชนมาไม่น้อย

 3

เอาแค่เฉพาะ เทรนท์ อเล็กซานเดอร์ อาร์โนลด์ ที่เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังหลักในทีมชุดใหญ่ ตอนนี้ ก็คุ้มมากแล้ว ถ้าหากอยากรู้ว่า ระบบพัฒนาเยาวชนของ เรือใบสีฟ้า และ หงส์แดง แข็งแกร่งมากเพียงใด? ก็ลองเช็คดูว่าใครคือทีมที่ผ่านเข้าเล่นรอบชิงชนะเลิศ เอเอฟ ยูธ คัพ อังกฤษ ปีนี้

ใช่แล้ว! ลิเวอร์พูล เจอ แมนเชสเตอร์ ซิตี้

แต่โครงสร้างที่ดี ย่อมต้องมาพร้อมกับ ซีอีโอที่มีประสบความการณ์ ความรู้ความสามารถ และตอบโจทย์กับแผนการสร้างทีมระยะยาว  ด้วยเหตุนี้ ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ในยุคเจ้าของใหม่ จึงเซ็ททีมงานบริหาร อย่างถูกฝาถูกคน

เจ้าของทีมบางคนอา่จมองข้ามจุดนี้ไป แต่อย่าลืมว่าในโลกฟุตบอลทุนนิยม มีสโมสรของมหาเศรษฐีมากมาย ล้มเหลวกับลงทุนในวงการลูกหนังย่อยยับ เพียงเพราะเขาขาดแม่ทัพ ที่เข้าใจความต้องการ แนวทางการเล่นในสนามของทีม และเก่งเรื่องการทำธุรกิจนอกสนามของสโมสร ซึ่งสโมสรฟุตบอลระดับโลก จะขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้

ฝั่ง ลิเวอร์พูล ใช้รูปแบบการบริหารแบบ อเมริกัน อย่างที่พิมพ์ไปข้างต้น โดยมี ปีเตอร์ มัวร์ รับตำแหน่งซีอีโอ ผู้ผ่านชั่วโมงบินในบริหาร แบรนด์กีฬา Reebox , ค่ายธุรกิจเกี่ยวกับเกม SEGA, Xbox, EA ทำงานร่วมกับ ไมเคิล เอ็ดวูดส์ ผู้อำนวยการกีฬา และ ทอม เวอร์เนอร์ ประธานสโมสรที่ควบตำแหน่ง บอสใหญ่ทีมเบสบอล บอสตัน เรด ซอกซ์

ขณะที่ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ภายใต้การคอนโทรลของ CFG ใช้รูปแบบ “บรรษัทข้ามชาติ” (Multinational Corporation) มาบริหารสโมสรในพรีเมียร์ลีก พร้อมๆกับลงทุนซื้อสโมสรขนาดกลาง จากทั่วทุกมุมโลก 6 ทีมจาก 5 ทวีป เพื่อง่ายต่อการโอนย้ายถ่ายนักเตะและข้อมูล รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพของทีมฟุตบอล และโอกาสในการทำกำไรทางธุรกิจไปด้วย

เครือข่ายนี้ มีนักฟุตบอลอยู่รวมกันมากกว่า 400 คน ทำให้ แมนฯ ซิตี้ สามารถตระเวนหาเพชรเม็ดงามนำมาเจียระไน เพื่อนำมาปั้น และปล่อยขายสร้างกำไร  เช่น การซื้อทีมในอุรุกวัย เพราะพวกเขามองเห็นว่าประเทศเล็กๆแห่งนี้ เป็นชาติที่อัตราการส่งออกนักฟุตบอลต่อหัวประชากร มากสุดในโลก

หรือในเคสของ อารอน มอย ที่ขายได้ราคาเกือบ 20 เท่าให้กับ ฮัดเดิลฟิลด์ทาวน์ เมื่อเทียบกับ ค่าตัวที่ซื้อมาแสนถูกจาก เมลเบิร์น ซิตี้

สายพานดังกล่าวเกิดขึ้น โดยทีมบริหารที่แข็งแกร่ง นำโดย เฟอร์ราน โซริอาโน อดีตรองประธานสโมสรบาร์เซโลนา ที่ดูแลด้านการเงิน จนเปลี่ยนสถานะขาดทุนของทีมจากแคว้นกาตาลุญญา ให้กลายมาเป็นทีมที่ทำกำไร และประสบความสำเร็จ

ก่อนที่ในปี 2012 เขาจะโยกมารับตำแหน่ง ซีอีโอของแมนฯ ซิตี้  ทำงานร่วมกับ คัลดูน คาลิฟา อัล มูบารัค ประธานสโมสร ตัวแทนจากกลุ่ม CFG และ ซิกี เบกิริสไตน์ ผู้อำนวยการกีฬาสโมสร ที่ฝากฝีมือไว้กับการบริหาร บาร์เซโลนา เช่นกัน  

เมื่อทุกอย่างเริ่มเข้าที่เข้าทาง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ สามารถเปลี่ยนตัวเลขจาก ติดลบ มาเป็นกำไรได้สำเร็จ โดยนับตั้งแต่ฤดูกาล 2014-2015 ซิตี้ มีผลประกอบกำไรทุกปี โดยในปีที่ผ่านมา สโมสรมีรายรับเข้ามามากกว่า 500 ล้านปอนด์  

ถึงขั้นที่มีผลการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยลิเวอร์พูล (University of Liverpool’s Centre for Sports Business Group) ระบุว่า แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แซงหน้า แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ขึ้นมาเป็นทีมที่มีมูลค่าสูงสุดในพรีเมียร์ลีก อยู่ที่ 2,364 ล้านปอนด์

 4

ส่วน ลิเวอร์พูล แม้ตลอดหลายปีที่ผ่านมา พวกเขาจะต้องสูญเสียแข้งกำลังหลักออกไป อาทิ หลุยส์ ซัวเรส, ฟิลิปเป คูตินโญ (สองผู้เล่นที่ถูกซื้อและขายในยุค FSG บริหารทีม) แต่นั่นก็ไม่ได้ทำศักยภาพของ หงส์แดง ลดลง จนเสียโมเมนตั้มทีมไป เพราะผู้เล่นดึงมาใหม่ก็สามารถทดแทนได้ แถมยังซื้อมาถูกกว่าขายเสียอีก

นั่นทำให้ในฤดูกาล 2017-2018 ลิเวอร์พูล กลายเป็นทีมฟุตบอล ที่มีผลประกอบการทำกำไรมากสุดเป็นสถิติโลก ด้วยตัวเลขกำไร 125 ล้านปอนด์

ชีค มานชูร์ และ จอห์น ดับเบิลยู เฮนรี จึงไม่ใช่เพียงแค่ มหาเศรษฐีที่มีเงินซื้อ นักฟุตบอลแพงๆเพียงอย่างเดียว

แต่ในเวลาเดียวกัน เขาทั้งคู่ยังเป็น นักลงทุนที่อดทนมากพอ และชาญฉลาด ผู้มองเห็นโอกาส เม็ดเงิน กำไร ในระยะยาว มากกว่าแค่สร้างทีมไล่ล่าความสำเร็จในระยะสั้น ที่อาจถังแตกได้จากหนี้สะสม จนต้องเร่ขายทีมในที่สุด

จงลงทุนกับคนที่ใช่

8 ปี ของ FSG กับลิเวอร์พูล และ 10 ปี ของ CFG กับแมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทั้งสองสโมสรล้วนต้องผ่านช่วงเวลา ลองผิดลองถูก และไม่ใช่ว่าทุกๆการตัดสินใจของพวกเขาจะไม่มีความผิดพลาดเลย

 5

การบริหารทีมฟุตบอล ไม่ใช่สูตรคณิตศาสตร์ ที่สามารถจบทุกอย่าง ได้บนเครื่องเลข ดังนั้น ลิเวอร์พูล และ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จึงต้องผ่านช่วงเวลาในการตามหา เฮดโค้ช และนักฟุตบอลที่ใช่ สำหรับลีกที่โหดหินมากสุดแห่งหนึ่งในโลกอย่าง พรีเมียร์ลีก อังกฤษ

ตุลาคม 2015 ลิเวอร์พูล ประกาศปลด เบรนดอน รอดเจอร์ส เทรนเนอรผู้พาเข้าใกล้แชมป์พรีเมียร์ลีก มากสุด เมื่อฤดูกาล 2013-14 โดยในแถลงการณ์สโมสรระบุว่า ลิเวอร์พูล ต้องการผู้นำที่มีความทะเยอทะยาน และคว้าชัยชนะ เพื่อนำทีมไปประสบความสำเร็จ

“เจอร์เกน คล็อปป์” คือ โค้ชคนใหม่ที่ฝ่ายบริหาร สามารถโน้มน้าวใจเขามาร่วมงานได้ กุนซือชาวเยอรมันคนนี้ มีคุณสมบัติทุกอย่างตรงตามที่ ลิเวอร์พูล ต้องการ ทั้ง สไตล์การทำทีมเน้นเกมรุกดุดัน, คาแรกเตอร์ส่วนตัวที่มีความทะเยอทะยานสูง ดังเห็นได้จากการพา โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ กลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง

ในปี 2016 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ได้ผู้นำคนใหม่อย่าง เป๊ป กวาดิโอลาร์ เข้ามาทำหน้าที่เป็น เฮดโค้ช ต่อจาก มานูเอล เปเยกรินี

แน่นอนว่าทั้ง เป๊ป และ คล็อปป์ ต่างเป็น ผู้จัดการทีมรุ่นใหม่ ที่โลกฟุตบอลให้การยอมรับ แต่ปัญหาสำคัญอยู่ตรงที่ ทั้งคู่ต่างมีสไตล์การทำทีมที่ชัดเจน และต้องการผู้เล่นที่เข้ากับปรัชญาการทำทีมของเขา

 6

คล็อปป์ ต้องการนักเตะที่ความสามารถในการเกมรุก และวิ่งเพรสซิ่งกดดันคู่แข่ง ได้ตั้งแต่หน้าปากประตูคู่แข่ง เล่นเกมรับ-รุก ด้วยกันได้ทั้งหมด

ขณะที่ เป๊ป พกพาปรัชญาฟุตบอลที่สุดแสนจะสวยงาม และเฟอร์เฟค ที่เน้นการส่งบอลแม่นยำ รวดเร็ว และการเคลื่อนที่ตลอดเวลา ที่สำคัญเขาทั้งคู่ ต้องมาปรับตัวในลีกฟุตบอลที่เน้นความแข็งแรงด้านร่างกาย การปะทะที่่หนักหน่วง มีฟุตบอลถ้วยในประเทศ 2 รายการ ไม่มีพักเบรกหนีหนาว และต้องเล่นเกมเหย้าเยือนคู่แข่งในลีกอีก 19 ทีม

เป๊ป กวาดิโอลาร์ จบฤดูกาลแรกบนเกาะอังกฤษ แบบไม่มีถ้วยติดมือเป็นครั้งแรกในชีวิตการทำงาน เฮดโค้ช แม้จะลงทุนซื้อผู้เล่นมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น กาเบรียล เชซุส 28 ล้านปอนด์, จอห์น สโตน 50 ล้านปอนด์, เลรอย ซาเน 45 ล้านปอนด์, เคลาดิโอ บราโว 16 ล้านปอนด์, อิลคาย กุนโดกัน 24 ล้าน, โนลิโต 16 ล้านปอนด์ ฯ

“เราเรียนรู้จากประสบการณ์ ในการคว้าแชมป์ 2 ครั้งก่อนหน้านั้น ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา เราทุกคนทำงานอย่างหนัก เพื่อสร้างทีมขึ้นมาใหม่ สำหรับฤดูกาลต่อๆไป ด้วยขุมกำลังผู้เล่นดาวรุ่งฝีเท้าดี ที่มีอายุต่ำกว่า 26 ปี”

“เราคาดหวังที่เห็น เป๊ป พัฒนาทีมและผู้เล่นอายุน้อยเหล่านี้ เราดีใจที่ทุกฝ่ายในทีม รวมถึงผู้บริหาร ต่างมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน” คัลดูน อัล มูบารัค ปธ.สโมสรแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กล่าวถึง เป๊ป เมื่่อปี 2018

ส่วน เจอร์เกน คล็อปป์ ที่ใช้เงินซื้อนักฟุตบอลน้อยกว่า เป๊ป เกือบเท่าตัว ย่อมเจองานที่ยากกว่า แม้แรงกดดันไม่มากเท่า ในการปรับนักฟุตบอลที่มีอยู่ให้เล่นได้อย่างที่เขาต้องการ ในขณะที่การเสริมทัพแข้งบิ๊กเนม สามารถทำได้แค่ปีละ 2-3 คนเท่านั้น

ในช่วง 1-2 ฤดูกาลแรก มีหลายๆเกมที่ ลิเวอร์พูล เริ่มต้นได้ดีกว่า แต่สุดท้ายก็แผ่วปลาย ด้วยพละกำลัง และศักยภาพผู้เล่นที่มีอยู่ไม่เพียงพอ ดังนั้นไม่แปลกเลยหาก คล็อปป์ จะยังไม่มีความสำเร็จถ้วยแชมป์ติดมือ

แม้ผลงานของ เป๊ป (ในปีแรก) และ เจอร์เกน คล็อปป์ จะไม่ได้ถ้วยรางวัลการันตีอะไร แต่ความเชื่อมั่นที่สโมสรมีให้ต่อ 2 นายใหญ่ ส่งผลให้ เป๊ป กับ คล็อปป์ สามารถเดินหน้าสร้างทีมอย่างที่ตัวเอง วาดภาพไว้ได้ในระยะยาว

 7

เรื่องนี้สำคัญมาก เพราะอย่างที่ทราบดี เฮดโค้ช เป็นอาชีพที่ไม่ได้มีความมั่นคงมากนัก หากไม่ได้เจ้าของทีม ที่มองการณ์ไกลมากพอ หรือต้องการความสำเร็จระยะสั้น

โค้ชบางคน ต่อให้มีฝีมือมากแค่ไหน ก็มีสิทธิ์ตกงานได้ หากไม่สามารถนำความสำเร็จกลับคืนสู่สโมสร? ยกเว้ยเสียแต่ว่า คุณคือคนที่ใช่สำหรับทีมนั้นๆ ซึ่งทั้งเป๊ปและคล็อปป์ ต่างเป็นเช่นนั้นที่ แอนฟิลด์ และ เอติฮัต สเตเดียม

ในขวบปีที่สองของ เป๊ป กวาดิโอลา เขาใช้งบประมาณไปมากกว่า 200 ล้านปอนด์ ซื้อ 3 วิงแบ็กเพื่ออุดรอยรั่วด้านข้าง (เมนดี, วอล์กเกอร์, ดานิโล) ทุ่มเงินเป็นสถิติซื้อ เอแดร์สัน นายทวารที่ออกบอลและใช้เท้าได้อย่างยอดเยี่ยม มาเป็นมือ 1 คนใหม่, ใช้เงิน 50 กว่าล้านปอนด์ เสริม เอเมอริก ลาปอร์ต และดึง แบร์นาโด ซิลวา กองกลางร่างเล็ก มาขับเคลื่อนเกมตรงกลางสนาม

ผลที่ออกมา เป๊ป พา ซิตี้ เป็นแชมป์พรีเมียร์ลีกได้เร็วที่สุด และเก็บแต้มไปได้ 100 คะแนน เป็นสถิติใหม่ของลีก ขณะที่ เจอร์เกน คลอปป์ หลังจากที่ได้ เฟอร์มิโน และ ซาดิโอ มาเน มาก่อนหน้านี้ พวกเขาก็ยื่นซื้อ โมฮาเหม็ด ซาลาห์ ที่เคยล้มเหลวกับ เชลซี มายืนเป็น สามประสา่นกองหน้า ตามระบบที่เขาไว้  

ลิเวอร์พูล ชุดนั้นทำผลงานได้เกินคาด โดยเฉพาะใน ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก 2017-18 ลูกทีมของ คล็อปป์ ผ่านด่านเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศ แม้พลาดเป้าได้แค่รองแชมป์ถ้วยใหญ่ยุโรป แต่นั่นก็เป็นสัญญาณที่แสดงให้เห็นว่า ลิเวอร์พูล พร้อมที่ลงทุนเพื่อยกระดับทีม ในฤดูกาลหน้า

โดยเริ่มตั้งแต่ตลาดหน้าหนาว ก่อนจบซีซั่น ที่ทุ่มเงินเป็นสถิติโลกตำแหน่งกองหลัง ซื้อ เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค ราคา 84 ล้านยูโร ตามมาการเสริมทัพในตลาดซื้อขาย ฤดูกาลใหม่ ที่ได้ผู้รักษาประตู ราคา 62.5 ล้านยูโร อลิซซอน เบเกอร์ รวมถึง 2 ผู้เล่นอย่าง เซอร์ดาน ชากิรี 14.7 ล้านยูโร และ ฟาบินโญ 45 ล้านยูโร

 8

“เรารู้ตั้งแต่ฤดูกาลที่แล้ว และก็รู้ว่าในอนาคต ลิเวอร์พูล จะกลายเป็นคู่แข่งที่น่ากลัว” เป๊ป กวาดิโอลา กล่าว

“เราคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก ด้วยการทำ 100 แต้มเมื่อฤดูกาลก่อน ซึ่งปกติแล้ว มันมีแนวโน้มที่จะทำให้เราดร็อปลง แต่ลิเวอร์พูลช่วยเราให้อยู่ในระดับนั้นต่อไป นี่เป็นการคว้าแชมป์ลีกที่ยากที่สุดในอาชีพการคุมทีมของผมเลย”

“การคว้าแชมป์ครั้งนี้เราต้องชนะถึง 14 นัดติด เรารู้มาสองสามเดือนแล้วว่าเราจะทำแต้มหล่นไม่ได้เลยแม้แต่แต้มเดียว”

ในฤดูกาล 2018-19 แมนเชสเตอร์ ซิตี้ แชมป์เก่า เติมผู้เล่นบิ๊กเนมเข้ามาใหม่เพียงคนเดียวคือ ริยาด มาห์เรซ ราคา 60 ล้านปอนด์ เพื่อเพิ่มมิติตัวรุกด้านข้าง เพราะมีทีมที่ลงตัวจากปีก่อนอยู่แล้ว

 9

ส่วน ลิเวอร์พูล นักเตะหน้าใหม่ที่ถูกเติมเข้าในตำแหน่งที่เคยมีปัญหา สามารถทำงานสอดประสานงานกับผู้เล่นแกนหลักตัวเก่าได้อย่างลงตัวสุดๆ ทำให้พวกเขาออกสตาร์ท ทำคะแนนหนีห่าง แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ที่มีทีมเดิมที่ลงตัวอยู่แล้ว แต่พลาดสะดุดบ้างเล็กๆน้อยๆ

“มันไม่ใช่ค่ำคืนที่ดีของเรา เราเล่นกันได้ไม่ดีเลย จังหวะเราช้าไปหมด เราเสียบอลจังหวะสอง เราไม่ดุดันพอ และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมเราถึงไม่ชนะ มันยากที่จะทำใจ แต่เราต้องเดินหน้าต่อไป”

“ในโลกฟุตบอลอะไรก็เกิดขึ้นได้ ตารางคะแนนไม่สำคัญ! เราแค่ต้องทำในสิ่งที่เราควรทำ” เป๊ป หลังแพ้นิวคาสเซิล 1-2

ทั้งสองทีมต่างมีความพร้อม และศักยภาพดีพอที่จะเป็นแชมป์ พรีเมียร์ลีก ในฤดูกาลที่ทุกอย่างปกติ แต่เพราะซีซั่นนี้ทุกอย่างผิดแปลกออกไป เมื่อมี 2 ทีมที่ดีมากๆ และมีความพร้อมที่จะเป็นแชมป์ ยังไม่มีใครยอมออกเส้นทาง ทำให้การลุ้นแชมป์ลีกครั้งนี้ ต้องไปตัดสินถึงเกมสุดท้ายของฤดูกาล

ก่อนเกมนัดชี้ชะตา แมนฯ ซิตี้ มีคะแนนอยู่ที่ 95 แต้ม และ ลิเวอร์พูล มี 94 คะแนน แต้มที่สูงขนาดนี้ของทั้งคู่ คือ สิ่งที่บ่งบอกได้เป็นอย่างดี ว่า ลิเวอร์พูล และ แมนฯ ซิตี้ มีศักยภาพมากกว่าทีมคู่แข่งร่วมลีก มากขนาดไหน ?

 10

“สโมสรแห่งนี้กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ดีที่สุดในรอบนานหลายปี และมันจะไม่จบลงเพียงเพราะว่ามีอยู่หนึ่งทีมที่มีแต้มมากกว่าเราหนึ่งแต้มหรอก เราจะเดินหน้าต่อไปแล้วค่อยมาดูกันว่าเราจะได้อะไรติดมือบ้าง”

“ตราบใดที่ซิตี้ยังอยู่ ด้วยคุณภาพและพลังทางการเงินที่พวกเขามี ทีมอื่นคงผ่านพวกเขาไปไม่ได้ง่ายๆ คุณต้องทำได้ใกล้เคียงความสมบูรณ์แบบมากๆๆ ถึงจะคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกได้ แต่เรายกระดับขึ้นมามากอย่างเหลือเชื่อ และผมก็คาดหวังจริงๆ ว่าเราจะพัฒนามากขึ้นไปกว่านี้อีก” เจอร์เกน คล็อปป์ กล่าว

ความเป็นหนึ่งเดียว

ลาลีก้า สเปน ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เป็นตัวอย่างหนึ่งที่ดีมาก เมื่อลีกหนึ่งมี 2 สโมสร อย่าง เรอัล มาดริด และ บาร์เซโลนา มีความพร้อมจะเป็น แชมป์ ได้พอๆกัน ผลที่ตามมาก็คือ ทีมระดับบนของตาราง ต่างตื่นตัวและพยายามที่จะลดช่องว่างของตัวเองกับทีมชั้นนำ

 11

5 ฤดูกาลหลังสุด หากไม่นับซีซั่นนี้ สโมสรจากสเปน ประกอบด้วย เรอัล มาดริด, บาร์เซโลนา, เซบีญา และ แอตเลติโก มาดริด ต่างผลัดกันครองความยิ่งใหญ่ในระดับทวีป เป็นแชมป์ ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และ ยูโรป้า ลีก เกือบร้อยเปอร์เซนต์ มีเพียงแค่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด จากอังกฤษ ที่เบียดมาซิวแชมป์ ยูโรป้า ลีก ในปี 2017

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ ลิเวอร์พูล ไม่ได้พิเศษกว่าทีมอื่นร่วมลีก ตรงที่พวกเขามีนักเตะอย่าง เวอร์กิล ฟาน ไดจ์ค, โมฮาเหม็ด ซาลาห์, แบร์นาโด ซิลวา, เซร์จิโอ อเกวโร แต่สิงที่ทำให้พวกเขาแตกต่าง คือการที่ทั้งคู่ เป็นสโมสรเข้าใจกลไกของโลกฟุตบอลยุคใหม่ และปรับตัวได้ก่อน เพราะไม่ช้าก็เร็ว ทุกๆสโมสรบนโลก ล้วนต้องเผชิญ กับช่วงเวลาเปลี่ยนผ่าน

เมื่อปรับตัวได้ก่อนใคร มีความพร้อมด้านงบทุนทรัพย์ และมีขุมกำลังกับโค้ชที่ใช่ ?  หงส์แดง และ เรือใบสีฟ้า จึงเป็นทีมที่มีความลงตัว และส่งผลต่อมาตรฐานการเล่นของพวกเขา ในฤดูกาล 2018-19 ที่สูงขึ้นกว่าเดิมมาก

การยกระดับขึ้นมาของ เรือใบสีฟ้า และ หงส์แดง ส่งผลไปถึง ท็อตแนม ฮอตสเปอร์, เชลซี และ อาร์เซนอล ด้วย ที่พยายามก้าวให้ยาวกว่าเดิม เพื่อตามสองทีมผู้นำของตารางให้ทัน

 12

ในขณะที่ทีมจากสเปน อ่อนกำลังลงไปในถ้วยยุโรปปีนี้ ทีมจากอังกฤษ กลับผ่านเข้าไปสู่รอบชิงชนะเลิศ 2 รายการอย่าง ยูฟ่า แชมเปียนส์ลีก และ ยูโรปา ลีก ได้ทั้ง 4 ทีม

อีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ เราค่อนข้างมั่นใจว่า ลิเวอร์พูล กับ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ จะก้าวขึ้นมาเป็น 2 ผู้ท้าชิงแชมป์พรีเมียร์ลีก อย่างน้อยๆ 4-5 ปี คือ ความเป็นหนึ่งเดียวของทั้งสองสโมสร มีค่อนข้างสูง หากเทียบกับคู่แข่งทีมอื่นๆ

สเปอร์ส ดูเป็นทีมที่ใกล้เคียง 2 ทีมนี้มากสุด ในแง่ของความเป็นหนึ่งเดียว เมาริซิโอ โปเชตติโน ทำหน้าที่เฮดโค้ช ในช่วงที่ยากลำบากของสโมสร ที่ใช้เงินมหาศาลหมดไปกับการสร้างสนามแห่งใหม่ และไม่มีเงินให้เขาได้เสริมทัพ ตามที่ตัวเองต้องการ ในการแข่งขันลีกที่ต้องมีผู้เล่นคุณภาพ คอยหมุนเวียนกัน มากพอสมควร หากหวังยืนระยะจนถึงเกมสุดท้าย

อาร์เซนอล อยู่ในระหว่างการเปลี่ยนผ่าน สร้างทีมใหม่โดย อูไน เอเมอรี หลังสโมสรฝากทุกสิ่งทุกอย่างไว้กับ อาร์แซน เวนเกอร์ มา 2 ทศวรรษ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกพอสมควร เนื่องจากผู้เล่นที่มี จำนวนไม่น้อยเป็นนักเตะดาวรุ่ง

ส่วน เชลซี ศักยภาพผู้เล่นอาจไม่ได้มีปัญหา แตเรื่องความเป็นหนึ่งเดียวกันภายในทีม ยังเป็นเครื่องหมายคำถาม ? ขณะที่ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ปัญหาในสนาม ของพวกเขาหนักหนาพอสมควร และแฟนปีศาจแดงรู้ดีว่า ต้องใช้เวลานานหลายปี เพื่อล้างไพ่และสร้างทีมใหม่ขึ้นมา ท่ามกลางเงื่อนไขต่างๆมากมาย

ลิเวอร์พูล ไม่มีใครสงสัยในความเป็นผู้นำของ เจอร์เกน คล็อปป์ จิตวิทยา ความมุ่งมั่นที่ต้องการเป็นผู้ชนะ การกระตุ้นนักฟุตบอลไม่มีใครเกินเขา เมื่อทีมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่อให้อยู่ในสถานการณ์ที่ต้องชนะ บาร์เซโลนา 4-0 เพื่อเข้ารอบ พวกเขาก็ทำได้

 13

แมนเชสเตอร์ ซิตี้ ทุกส่วนในสโมสร เชื่อมั่นในความเป็่น มนุษย์อัจฉริยะ และคนที่ทำงานหนัก เพื่อให้นักฟุตบอลลงไปเล่นในสนามอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด ซึ่งการที่ทั้งสองทีมสามารถทำงาน หน้าบ้าน ได้อย่างราบรื่น ปัจจัยสำคัญมาจากการสนับสนุนที่ดีจาก หลังบ้านที่แข็งแกร่ง อันได้แก่ฝ่ายบริหาร ฝ่ายเทคนิค ที่รวมกันเป็นหนึ่งเดียวกันกับทุกส่วนในสโมสร

98 คะแนน ของ แมนเชสเตอร์ ซิตี้ และ 97 คะแนน ของ ลิเวอร์พูล คือตัวเลขควรค่าแก่จดจำ ถึงสิ่งที่พวกเขาทั้งคู่ ได้ต่อสู้กันมาตลอด 38 เกม สู้ด้วยร่างกาย จิตใจ สมอง การลงทุน การบริหารจัดการ ความสามารถของนักเตะ การฝึกซ้อม วางแผนแก้เกมของโค้ช รวมถึง เสียงเชียร์ของแฟนบอล

แม้การต่อสู้ในซีซั่นนี้ จะไม่มีวันเปลี่ยนแปลงผู้ชนะ ที่มีได้แค่ทีมเดียว แต่ใครเล่าจะลืม 2 ทีมอย่าง แมนฯซิตี้ และ ลิเวอร์พูล ในฤดูกาลนี้ได้ลงล่ะ ?

 14

“ลิเวอร์พูล มีฤดูกาลที่ยอดเยี่ยม และมีโอกาสที่ได้ชูถ้วยแชมป์พรีเมียร์ลีกเช่นกัน พวกเขาดีเกินกว่าจะเป็นอันดับ 2 แต่มันก็เป็นการต่อสู้ที่ดีของเรา เมื่อสถานการณ์ของเราหลังพิงฝา เราจะหาทางไปต่อให้ได้” แวงค์ซอง กอมปานี กัปตันทีมแมนเชสเตอร์ ซิตี้ กล่าว

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ มากกว่าแค่เรื่องเงิน : ไขปัจจัยทำ "แมนฯซิตี้ - ลิเวอร์พูล" ยิ่งใหญ่ในพรีเมียร์ลีกยุคใหม่

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook