"เจฟฟ์-แมตต์ ฮาร์ดี้" : เบื้องหลังลีลาผาดโผนที่แลกกับมาด้วยชีวิตสุดพังนอกเวที

"เจฟฟ์-แมตต์ ฮาร์ดี้" : เบื้องหลังลีลาผาดโผนที่แลกกับมาด้วยชีวิตสุดพังนอกเวที

"เจฟฟ์-แมตต์ ฮาร์ดี้" : เบื้องหลังลีลาผาดโผนที่แลกกับมาด้วยชีวิตสุดพังนอกเวที
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“พวกเขาเป็นขวัญใจวัยรุ่นในช่วงเวลานั้น ถ้าคุณอยากจะดูเจ๋ง คุณต้องเป็นอย่าง ฮาร์ดี บอยส์”

คำพูดของ บิ๊ก โชว์ (Big Show) ไม่แตกต่างจากความเป็นจริงบนเวทีแม้แต่น้อย

ในยุคที่มวยปล้ำยังดิบเถื่อน และเต็มไปด้วยความรุนแรง ต่างจากปัจจุบัน ไม่มีแท็กทีมไหน จะมีชื่อเสียงไปกว่า “ฮาร์ดี บอยส์” (The Hardy Boyz) คู่พี่น้องสุดห่าม เจ้าของท่าไม้ตาย ทวิสต์ ออฟ เฟท (Twist of Fate) และ สแวททอน บอมบ์ (Swanton Bomb) อันโด่งดัง

 

แมตต์ และ เจฟฟ์ ฮาร์ดี (Matt & Jeff Hardy) สถาปนาตัวเองเป็น ต้นแบบของการปล้ำแบบผาดโผนไม่กลัวตาย พวกเขา คือ ความเท่ ที่แฟนมวยปล้ำอยากเลียนแบบ แถมยังกล้าแตกต่างนักมวยปล้ำร่วมยุค ทั้ง การแต่งตัว, ทรงผม และ ภาษามือ

ไม่มีใครปฏิเสธว่า แมตต์ และ เจฟฟ์ ต่างเป็นขวัญใจของแฟนมวยปล้ำสายเอ็กซ์ตรีม

หากแต่ชีวิตนอกเวทีของทั้งคู่ กลับไม่ได้สวยงามเหมือนอย่างที่เห็นบนเวที ทั้ง แมตต์ และ เจฟฟ์ ต้องรับผลกระทบจากสไตล์การปล้ำของพวกเขาอย่างแสนสาหัส

พวกเขาสูญเสียการงาน สูญเสียความฝัน ไปจนถึงขั้นเกือบสูญเสียชีวิต...

อะไรคือสาเหตุที่ทำให้ แมตต์ และ เจฟฟ์ ฮาร์ดี กลายสภาพจากนักมวยปล้ำขวัญใจวัยรุ่น สู่ขี้ยาที่ต้องเข้ารับการบำบัดอย่างจริงจัง และพวกเขาเปลี่ยนชีวิตของตัวเองอีกครั้งได้อย่างไร?

เจ้าของสมาคมหลังบ้าน

สองพี่น้องตระกูลฮาร์ดี เติบโตขึ้นในไร่ยาสูบ ณ เมืองแคเมรอน รัฐนอร์ธ แคโรไลนา โดยมี กิลเบิร์ต ฮาร์ดี (Gilbert Hardy) ผู้เป็นพ่อ ทำงานอย่างหนัก เพื่อหาเงินเลี้ยงครอบครัว ทั้ง แมตต์ และ เจฟฟ์ จึงสนิทกับ รูบี ฮาร์ดี (Ruby Hardy) แม่บังเกิดเกล้าของพวกเขามากกว่า

 1

“แม่มีอิทธิพลในชีวิตของพวกเราทั้งคู่มาก เธอไม่ดื่มเหล้า ไม่สูบบุหรี่ ไม่เล่นยา ไม่พูดคำหยาบ พวกเราจึงไม่ทำเรื่องเหล่านั้นด้วยเหมือนกัน ทั้งหมดเป็นเพราะแม่ พวกเราได้รับอิทธิพลจากเธอ ผมไม่เคยดื่มเบียร์เลยจนอายุ 25 ปี” แมตต์ ฮาร์ดี ย้อนรำลึกถึงคุณแม่ของตัวเอง

โชคร้ายที่ทั้งคู่ต้องเสียคุณแม่ไปด้วยโรคร้ายในปี 1986 แมตต์ และ เจฟฟ์ จึงบรรเทาความเหงา ด้วยการวิ่งเล่นในไร่อันกว้างใหญ่ พ่อที่ยุ่งกับงาน จึงซื้อ แทรมโพลีน เพื่อเป็นพื้นที่ให้ลูกๆของเขา กระโดดเล่นกันแก้เบื่อหลังบ้าน

ใครเล่าจะคิดว่า อุปกรณ์ออกกำลังกายติดสปริงชนิดนี้ คือ จุดเริ่มต้นในกีฬามวยปล้ำของ ฮาร์ดี บอยส์

“เราเติบโตมาเป็นแฟนมวยปล้ำพันธุ์แท้ จนถึงจุดที่เรารู้สึกว่า นี่คือ สิ่งที่เจ๋งที่สุด นักมวยปล้ำเป็น ซูปอร์ฮีโร่ที่หายใจและมีชีวิตจริง มันคือสิ่งที่เราต้องการจะทำ เราเลยคุยกันว่า มาเริ่มปล้ำกันที่หลังบ้านเถอะ” แมตต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการเป็นนักมวยปล้ำของตัวเอง

“เจฟฟ์และผม สร้างเวทีมวยปล้ำขึ้นเองจากแทรมโพลีนที่หลังบ้าน เราเริ่มที่จะเลียนแบบท่ามวยปล้ำในทีวี มันบ้าเหมือนกับพวกมวยปล้ำหลังบ้าน (backyard-wrestling) ทุกวันนี้”

ปี 1993 แมตต์ และ เจฟฟ์ ร่วมมือกันตั้ง สมาพันธ์มวยปล้ำแทรมโพลีน (Trampoline Wrestling Federation) อันมีเวทีมวยปล้ำเป็นสนามแทรมโพลีนหลังบ้านตระกูลฮาร์ดี พวกเขาสามารถขายตั๋วให้เพื่อนบ้านมาดูโชว์ได้ เนื่องด้วยสไตล์การปล้ำที่ผาดโผน และ ตื่นตาตื่นใจกว่ามวยปล้ำอาชีพในทีวี

หลังประสบความสำเร็จจากสมาคมหลังบ้าน ฮาร์ดี บอยส์ เริ่มเดินสายปล้ำตามที่ต่างๆ จนได้พบกับ อิตาเลียน สตาเลียน (The Italian Stallion) อดีตนักมวยปล้ำอาชีพ ผู้ผลักดันพวกเขาเข้าสู่เส้นทางอาชีพอย่างจริงจัง

 2

“ช่วงเริ่มต้น เราปล้ำอย่างหนัก เดินทาง 12 ชั่วโมง เพื่อรับค่าจ้าง 20 เหรียญ ที่ทำไปทั้งหมด เพราะเรามีความหวังจะเป็นนักมวยปล้ำอาชีพ” แมตต์ย้อนถึงช่วงเวลาอันยากลำบากในการเริ่มต้นอาชีพ

“มันเป็นช่วงเวลาที่ย่ำแย่มาก เราขึ้นปล้ำสี่ถึงห้าโชว์ต่อสัปดาห์ เราใช้ชีวิตกันอยู่ในรถตู้ เดินทาง 13 หรือ 14 ชั่วโมง เราขับรถจากนอร์ธ แคโรไลนา ไปปล้ำที่นิวยอร์ค เซนต์หลุยส์ หรือทุกเมืองที่เราไปได้” เจฟฟ์กล่าวเสริม

เพื่อแก้ปัญหาการเดินทางไกล ที่ค่อยๆบั่นทอนจิตใจของพวกเขา แมตต์ และ เจฟฟ์ รวบรวมเงินทั้งหมดที่ได้มา เปิดสมาคมมวยปล้ำ โอเมกา (OMEGA) หรือในชื่อเต็ม Organization of Modern Extreme Grappling Alliance ที่เมืองคาเมรอน บ้านเกิดของพวกเขาเอง

“ปี 1997 เราก่อตั้งสมาคมโอเมกาขึ้นมา เพราะว่า เราไม่รู้จักใครในวงการ และ ตอนนั้นไม่มีค่ายมวยปล้ำมากนัก เราจึงเริ่มต้นมันในช่วงหยุดพัก มันเหมือนกับว่าเราต้องสร้างโอกาสให้ตัวเอง” แมตต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นของโอเมกา

“ทุกคนที่ทำงานให้กับโอเมกาเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน และโอเมกากลายเป็นค่ายมวยปล้ำที่ได้รับความนิยมจริงๆ หลายคนก้าวไปประสบความสำเร็จในสมาคมต่างๆ พวกเราเรียกตัวเองว่า โอเมกา พาวเวอร์”

หลังจาก สมาคมโอเมกาโด่งดัง ได้ไม่นาน เดือนเมษายน ปี 1998 ฮาร์ดี บอยส์ ได้รับการติดต่อจาก ดับเบิลยูดับเบิลยูอี (WWE) เพื่อเซ็นสัญญาเป็นนักมวยปล้ำอาชีพกับสมาคมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

“ผมคิดเสมอในตอนนั้นว่า ตราบใดที่เรายังเชื่อมั่นในสิ่งนี้ บางสิ่งอย่างดีจะเกิดขึ้น” เจฟฟ์พูดถึงความรู้สึก หลังได้เป็นนักมวยปล้ำอาชีพเต็มตัว

ราชาแห่งการปล้ำไต่บันได

แม้เปิดตัวในรายการระดับรองอย่าง ซันเดย์ ไนท์ ฮีท (Sunday Night Heat) แต่สไตล์การปล้ำแบบผาดโผนของ ฮาร์ดี บอยส์ ที่ทำสุดน่าตื่นเต้น อย่าง ทอร์นาโด ดีดีที, สปริงบอร์ด มูนซอลท์ หรือ สแวนทอน บอมบ์ ถูกนำมาใช้ ทำให้ฐานแฟนคลับของพวกเขาเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

 3

ปี 1999 ฮาร์ดี บอยส์ ถูกเลื่อนขั้นสู่รายการ รอว์ อิส วอร์ (Raw Is War) และคว้าแชมป์โลกแท็กทีมสมัยแรกมาครองได้สำเร็จ ทั้งที่ขึ้นปล้ำในสมาคมได้ไม่ถึงหนึ่งปี

“ฮาร์ดี บอยส์ คือ แฟนมวยปล้ำที่เดินตามความฝันของตัวเอง พวกเขามีความสุขทุกครั้งที่เดินขึ้นสู่เวที และผมเชื่อว่าแฟนมวยปล้ำสัมผัสได้ถึงเรื่องนั้น” คริสเตียน (Christian) คู่ปรับบนเวที และ เพื่อนซี้ในชีวิตจริงของฮาร์ดี บอยส์ เปิดใจกับสารคดี The Hardys: Woken

สำหรับฮาร์ดี บอยส์ แล้ว เป้าหมายที่พวกเขาต้องการทำในการปล้ำทุกคืน คือ การสร้างความประทับใจให้ทุกคนจดจำ แต่ทั้ง แมตต์ และ เจฟฟ์ รู้ดีว่าแค่สไตล์การปล้ำแบบผาดโผนธรรมดาไม่เพียงพอ พวกเขาต้องทำในสิ่งที่พิเศษมากกว่าเดิม

“เราต้องการจะปล้ำกับ เอดจ์ (Edge) และ คริสเตียน ในแมตช์ไต่บันได เจฟฟ์และผมเคยทำกันมาแล้ว ตอนที่เรายังปล้ำกันในสมาคมโอเมกา ส่วน เอดจ์ และ คริสเตียน ไม่เคยปล้ำไต่บันไดแม้แต่ครั้งเดียว แต่พวกเขาตกลงทำมัน เพราะสไตล์ของพวกเราเข้ากับแมตช์แบบนั้น” แมตต์เล่าถึงจุดเริ่มต้นการปล้ำไต่บันไดในดับเบิลยูดับเบิลยูอี

ศึก โน เมอร์ซีย์ (No Mercy) ปี 1999 ฮาร์ดี บอยส์ ขึ้นปล้ำในแมตช์ไต่บันได กับ เอดจ์ และ คริสเตียน ตลอดระยะเวลา 16 นาที 40 วินาที แฟนมวยปล้ำ 18,742 คน ได้เป็นพยานถึงความสร้างสรรค์และแปลกใหม่ ในการใช้บันไดเป็นอาวุธของ แมตต์ และ เจฟฟ์  จนคว้าชัยชนะในแมตช์ดังกล่าวมาครอบครอง

เมื่อการปล้ำแมตช์ดังกล่าวจบลง ในศึก รอว์ อิส วอร์ คืนถัดมา แฟนมวยปล้ำทั่วสนามทำการยืนปรบมือสดุดี ให้กับความกล้าและบ้าคลั่งของ ฮาร์ดี บอยส์ พวกเขาถูกเรียกเป็น “ราชาแห่งการปล้ำไต่บันได” นับแต่นั้น

 4

“ช่วงหลังมานี้ เราได้โอกาสให้ขึ้นปล้ำในแมตช์ใหญ่ มันเหมือนกับว่าความฝันของผมเดินต่อไปไม่สิ้นสุด และหวังอย่างยิ่งว่าเราจะทำให้ความฝันนี้ ก้าวไปสู่อีกระดับให้ได้”

เจฟฟ์ ฮาร์ดี กล่าวถึงเป้าหมายของตัวเอง และเขาทำในสิ่งที่พูดไว้ ฮาร์ดี บอยส์ ยกระดับความอันตรายบนเวที จากแมตช์ไต่บันไดธรรมดา กลายเป็นการปล้ำแบบ “โต๊ะ เก้าอี้ บันได” (Tables, Ladders, and Chairs) เพื่อก้าวข้ามขีดจำกัด ด้วยการทำในสิ่งที่นักมวยปล้ำคนอื่นไม่เคยคิดจะทำมาก่อน

วันแล้ววันเล่า แฟนมวยปล้ำทั่วโลกได้เห็น เจฟฟ์ และ แมตต์ กระโดดจากยอดบันได เพื่อฟาดตัวเองลงบนโต๊ะ, กระโดดจากบันไดเพื่อฟาดตัวเองลงกับบันได หรือ กระโดดทิ้งขาลงมาจากยอดกรงเหล็ก

แม้กระทั่ง ห้อยโตงเตงบนความสูง 20 ฟุต ก่อนจับฟาดลงมาจากอากาศสู่พื้นเวที พวกเขาเคยทำกันมาแล้ว เพียงเพื่อสร้างความสุขให้แฟนมวยปล้ำทุกคน

สไตล์การปล้ำดังกล่าวของ ฮาร์ดี บอยส์ ทำให้พวกเขาถูกผลักดันเป็นนักมวยปล้ำระดับสูงของสมาคม ปี 2008 ทั้งคู่ก้าวสู่จุดสูงสุดของอาชีพนักมวยปล้ำ แมตต์ คว้าแชมป์โลกอีซีดับเบิลยู (ECW) มาครองได้สำเร็จ ส่วน เจฟฟ์ ก้าวไปถึงการเป็นแชมป์โลกของดับเบิลยูดับเบิลยูอี

โบยบินจนติดยา

“พฤติกรรมแบบทุ่มเทสุดตัวในทุกแมตช์การปล้ำของเรา มันต้องใช้ความเร็วที่บ้าคลั่ง และมันทำร้ายร่างกายของคุณอย่างมาก” แมตต์เปิดเผยถึงราคาที่ต้องจ่าย ในการสร้างความสุขแก่แฟนมวยปล้ำ

 5

ปี 2009 เจฟฟ์ ฮาร์ดี รับบทเป็นดาวดังหมายเลขหนึ่งของค่ายสแมคดาวน์ (Smack Down) แต่ตัวเขาไม่มีความสุขกับมันแม้แต่น้อย เนื่องจากภาระของนักมวยปล้ำระดับสูงของ ดับเบิลยูดับเบิลยูอี คือ คุณต้องเดินทางไปตามเมืองต่างๆ เพื่อขึ้นปล้ำเหมือนไม่มีวันหยุดพัก

“ทั้งหมดที่เราทำมันมีราคา ทั้งการขึ้นไปปล้ำมวยปล้ำ ความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง และ ตารางงาน ผมรู้สึกว่าผมกำลังเสียตัวตนของผมไป มันค่อยๆกัดกินผมจากข้างใน” เจฟฟ์เล่าให้ฟังถึงความรู้สึกในช่วงเวลานั้น

ความเจ็บปวดจากการปล้ำ ก่อให้เกิดความเครียดในการทำงาน เจฟฟ์ตัดสินใจออกจาก ดับเบิลยูดับเบิลยูอี ในเดือนสิงหาคม ปี 2009 ท่ามกลางปัญหาอาการบาดเจ็บที่ คอ, กระดูกสันหลัง และ ต้นขา ที่เขาบรรเทาอย่างผิดวิธี ด้วยการใช้ยาแก้ปวดเกินขนาด

“ผมมีปัญหาใหญ่ในเรื่องใช้ยาแก้ปวด ผมใช้มันเยอะเกินไป และผมเริ่มจะหามันแบบผิดกฎหมาย เพราะมันเป็นทางเดียวที่ผมจะใช้มันได้แบบเยอะๆ” เจฟฟ์เล่าให้ฟังถึงช่วงเวลาที่เลวร้ายของชีวิต

 6

วันที่ 11 กันยายน ปี 2009 ตำรวจบุกค้นบ้านของเจฟฟ์ พบยาบรรเทาอาการปวด 262 เม็ด ยาคาริโซโพรดอล 180 เม็ด สเตอร์รอยด์ 555 มิลลิลิตร และ ผงโคเคนอีกจำนวนหนึ่ง เขาถูกจับด้วยความผิดหลายกระทง และ มีโอกาสติดคุกนานหลายปี

“ตำรวจพังประตูบ้านผมเข้ามา พวกเขาให้ผมและภรรยานอนลงกับพื้น ล็อคกุญแจมือไว้ด้านหลัง มันเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในชีวิตของผม ทุกอย่างเหมือนกับความฝัน ผมถามตัวเองว่า เรื่องนี้มันเกิดขึ้นจริงหรือ?”

ไม่ใช่แค่ เจฟฟ์ ที่ชีวิตพังเพราะยาแก้ปวด แมตต์ ที่ยังคงทำงานใน ดับเบิลยูดับเบิลยูอี ต่อไป ต้องฝืนปล้ำทั้งข้อมือหัก และ มีอาการบาดเจ็บเรื้อรังที่หลัง และ สะโพก แต่ปัญหาทางกายที่ แมตต์แบกรับ ยังไม่เท่าปัญหาทางใจที่เขาต้องพบเจอ

“ตลอดทั้งชีวิต เจฟฟ์จะอยู่กับผมเสมอ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ดังนั้น เมื่อเจฟฟ์ออกจากสมาคมไป ผมรู้สึกโดดเดี่ยวอย่างชัดเจน บวกกับสภาพร่างกายของผม มันทำให้ทุกอย่างแย่ยิ่งขึ้นไปอีก” แมตต์เผยความเปราะบางของจิตใจเมื่อไร้น้องชายเคียงข้าง

จากชายที่ไม่เคยดื่มเบียร์จนอายุ 25 แมตต์ ฮาร์ดี กลายเป็น นักมวยปล้ำติดยาแก้ปวด เขาหมดไฟในการออกไปสร้างสรรค์สิ่งใหม่บนเวที และ ปล่อยร่างกายของตัวเองให้อ้วนฉุ จนถูกแฟนมวยปล้ำล้อเลียนในชื่อ “ไอ้อ้วน ฮาร์ดี” (Fat Hardy)

 7

สุดท้าย ดับเบิลยูดับเบิลยูอี ไม่สามารถทนพฤติกรรมของ แมตต์ ฮาร์ดี ได้อีกต่อไป เขาถูกปล่อยตัวออกจากสมาคมในเดือนตุลาคม ปี 2010 หลังเมายาจนหลับ ระหว่างให้สัมภาษณ์ในสารคดีของตัวเอง

“แมตต์คือเพื่อนของผม แต่เขาโกหกเรื่องติดยาแก้ปวด ทุกครั้งที่ผมถามเขา แมตต์จะตอบกลับว่าสบายดี และผมจะบอกว่าเขาโกหก” คริสเตียนเล่าถึงจุดตกต่ำในชีวิตของของ แมตต์ ฮาร์ดี

“วันหนึ่ง แมตต์เข้ามาหาผมเอง และพยายามอธิบายกับผมว่าทำไมเขาถึงเหนื่อยล้า ทำไมเขาถึงทำแบบนั้น ทำแบบนี้ ผมเลยตัดบทเขาแล้วบอกว่า ไม่ว่านายจะหาข้ออ้างอะไรก็แล้วแต่ ทางเดียวที่เรื่องนี้จะจบลงคือความตายของนายเอง”

ดำดิ่งสู่เหวนรก

ระหว่างรอฟังคำตัดสินจากคดีที่ก่อ เจฟฟ์ ฮาร์ดี ตัดสินใจเซ็นสัญญากับสมาคมทีเอ็นเอ (TNA) เพื่อหวนคืนสู่เวทีมวยปล้ำอีกครั้ง

 8

“จริงๆแล้ว ทีเอ็นเอ ช่วยผมไว้มาก ผมได้กลับไปทำงานอีกครั้ง และ มีโอกาสขึ้นปล้ำในช่วงเวลาอันเลวร้ายของชีวิต ผมคิดว่าผมอาจเป็นคนที่เข้ามาช่วยให้สมาคมนี้โด่งดัง หรือ อะไรทำนองนี้” เจฟฟ์เล่าถึงความคิดแรกที่ได้กลับสู่วงการอีกครั้ง

“น่าเสียดายที่มันไม่ได้เป็นแบบนั้น”

ด้วยชื่อเสียงที่มากกว่านักมวยปล้ำทุกคนในค่าย เจฟฟ์ ฮาร์ดี ถูกผลักดันขึ้นเป็นแชมป์โลกทันที และเขาตอบแทนบุญคุณสมาคมนี้ ด้วยการสูบบุหรี่ออกทีวี, หายตัวไปก่อนการปล้ำเริ่มขึ้นไม่ถึงชั่วโมง หรือ ขึ้นปล้ำทั้งที่เมาค้างในญี่ปุ่น จนความสัมพันธ์ของ ทีเอ็นเอ กับ นิว เจแปน โปร เรสลิง (New Japan Pro-Wrestling) ต้องขาดสะบั้นลง

“ผมรู้ความจริงที่ว่า ผมเป็นคนดัง พวกเขาต้องการผม ดังนั้นแล้ว ผมจึงสามารถทำอะไรก็ได้ที่ผมต้องการ ผมกลายเป็นคนเห็นแก่ตัวมากๆในตอนนั้น”

วันที่ 13 มีนาคม ปี 2011 เจฟฟ์ ฮาร์ดี มีโปรแกรมขึ้นปล้ำในศึก วิคตอรี โรด (Victory Road) เพื่อป้องกันแชมป์โลกทีเอ็นเอ กับ สติง (Sting) ไอดอลในวัยเด็ก ผู้เป็นแรงบันดาลใจให้เขาเพนท์หน้าขึ้นสังเวียน

“ผมค่อนข้างตื่นเต้นกับมันนะ เพราะว่าผมกำลังจะได้ปล้ำกับ เจฟฟ์ ฮาร์ดี ผมคิดว่าเราจะออกไปที่นั่น และมีแมตช์ที่ดีด้วยกัน” สติงย้อนความคิดก่อนปล้ำกับดาวดังรุ่นน้อง

อย่างไรก็ตาม แมตช์ที่เกิดขึ้นจริงในคืนดังกล่าว ต้องจบลงในระยะเวลา 1 นาที 28 วินาที หลัง เจฟฟ์ ฮาร์ดี มาขึ้นปล้ำในสภาพเมาเละ และ สติงต้องแก้สถานการณ์ด้วยการใส่ท่าไม้ตาย สกอร์เปียน เดธ ดรอป (Scorpion Death Drop) จับกดเจฟฟ์ให้นับสามแบบนอกบททันที

“ผมไม่ได้รู้สึกโกรธอะไรเจฟฟ์เลยนะ แต่ผมรู้สึกผิดหวังในตัวเขามากกว่า ผมหมายถึง เราทุกคนผิดหวังในตัวเขา” สติงย้อนความรู้สึกถึงเหตุการณ์ในคืนดังกล่าว

จากเหตุการณ์ดังกล่าว เจฟฟ์ตัดสินใจเปลี่ยนตัวเองเป็นคนใหม่ เขาพักการปล้ำชั่วคราว และยอมเข้ารับการบำบัดอาการติดยา เพื่อรักษาเส้นทางบนอาชีพที่เขารักให้คงอยู่ต่อไป

“ผมคิดว่าด้านที่เลวร้ายในตัวผมได้ตายลงในคืนนั้น ผมรู้สึกแย่ทุกครั้งที่ผมย้อนกลับไปดูภาพเหล่านั้น มันคือจุดจบชีวิตอันเละเทะของผมเลย” เจฟฟ์เล่าถึงความผิดหวังของตัวเอง

“แต่สิ่งสำคัญที่ผมคิดในตอนนั้นคือ ขณะที่ชีวิตของผมเริ่มจะดีขึ้น อาการของแมตต์กำลังแย่ลงเรื่อยๆ”

 9

ชีวิตของเจฟฟ์ สวนทางกับพี่ชาย ในขณะที่เขาเริ่มกลับตัวเป็นคนใหม่ และกลับไปขึ้นปล้ำกับทีเอ็นเออีกครั้ง

แมตต์ ฮาร์ดี ยังคงใช้ชีวิตอย่างโลดโผนนอกเวทีมวยปล้ำ เขากินยาแก้ปวดเล่นเหมือนขนม ดื่มเหล้าจนเมาหัวทิ่มทุกวัน และเริ่มมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น อัดวิดีโอขณะขับรถด้วยความเร็วสูงสุด, กระโดดข้ามกองไฟขนาดใหญ่อย่างไร้เหตุผล หรือ โพสต์ข้อความลาตายในทวิตเตอร์ส่วนตัว

เมื่อแมตต์ควบคุมตัวเองไม่ได้อีกต่อไป เรบี สกาย (Reby Sky) ผู้เป็นภรรยาจึงทำทุกทางเพื่อให้สามีคนเดิมของเธอกลับมา ทั้งส่งแมตต์เข้ารับการบำบัดอาการติดยา หรือ เรียกตำรวจมาจับถึงบ้าน ในขณะที่แมตต์กำลังเสพยาเกินขนาด แต่ทุกอย่างไม่สามารถเปลี่ยนแมตต์ให้เป็นคนใหม่ได้เลย

“ผมเขาไปอยู่ในนั้นได้สองสามอาทิตย์ มีชายคนหนึ่งมาชวนผมให้ไปที่ห้องของเขา แล้วหลังจากนั้นเขาก็แอบเอาขวดวิสกี้ออกมา ผมบอกตัวเองว่า นี่มันการบำบัดแบบไหนกัน” แมตต์เล่าถึงชีวิตที่เจอในการบำบัดครั้งแรก

“ตอนนั้นผมรู้สึกว่า โอเค อย่างไรผมก็ต้องเลิกยาอยู่แล้ว ดื่มเหล้าสักหน่อยจะเป็นอะไร เรามาปาร์ตี้กัน ดังนั้น มันเป็นอีกครั้งที่เรื่องทุกอย่างเริ่มต้นจากตัวผม”

หลังถูกจับได้ว่าแอบดื่มเหล้าระหว่างการบำบัด และ การแก้ตัวว่าใช้เหล้าเพื่อล้างปากไม่เป็นผล แมตต์ถูกส่งตัวกลับบ้าน การกระทำของเขาในครั้งนี้ผิดคำสั่งศาล เขาถูกตำรวจจับกุมตัวทันทีเขาลงจากเครื่องบิน เมื่อถึงรัฐนอร์ธ แคโรไลนา และไม่มีใครเลยที่มาประกันตัวเขาออกไป

“ให้เขาติดคุกและคิดให้หนัก ฉันกำลังอ่านเรื่องตลกหลายอย่างในคืนนี้ เพื่อเคลียร์ทุกอย่างให้ชัดเจน ฉันสามารถประกันตัวเขาออกมาได้ และ ฉันไม่ทำ เขากำลังอยู่ในคุกและสนุกไปกับมัน” เรบี สกาย ภรรยาของแมตต์ ยืนยันว่านี่คือบทเรียนที่สามีของเธอควรได้รับ

“เขามีสิทธิที่จะหงุดหงิด แต่ไม่ใช่โกรธคนอื่นในเรื่องนี้ ฉันคิดว่าเขารู้ดีว่าไม่มีสิทธิจะทำแบบนั้นในตอนนี้”

จากความผิดดังกล่าว ศาลตัดสินปรับ แมตต์ ฮาร์ดี หนึ่งแสนดอลลาร์สหรัฐ และได้รับการปล่อยตัว เพื่อส่งเข้ารับการบำบัดอาการติดยาอีกครั้ง หากครั้งนี้เขาทำไม่สำเร็จ ศาลจะสั่งปรับเงินเพิ่มเป็น สองแสนห้าหมื่นดอลลาร์สหรัฐ รวมถึงพิจารณาโทษจำคุกใหม่

“ผมต้องการจะกลับเป็นแมตต์ ฮาร์ดี คนเดิมที่ทุกคนเคยรู้จัก กลับเป็นเด็กชายคนนั้นที่เพิ่มเริ่มขึ้นสังเวียนมวยปล้ำ กลับมามีสุภาพดี เต็มไปด้วยความฝัน และรักกีฬานี้เหมือนเดิม” แมตต์ ฮาร์ดี อัดวิดีโอถึงแฟนมวยปล้ำ ก่อนเข้ารับการบำบัดรอบสอง

“มันคือสิ่งที่ผมต้องการจะเป็นมากกว่าสิ่งใด แน่นอนว่าเส้นทางหลังจากนี้คงยากลำบาก แต่จิตใจของผมพูดไว้เสมอ ผมไม่อยากตาย เช่นกันกับจิตวิญญาณของผม”

พลิกวิกฤติเป็นโอกาส

หลังบำบัดอาการติดยาจนหายดี แมตต์ ฮาร์ดี กลับสู้เส้นทางนักมวยปล้ำ และได้โอกาสพิสูจน์ตัวเองในวงการอีกครั้ง จากการช่วยเหลือของเจฟฟ์ ที่แนะนำเขาให้เซ็นสัญญากับสมาคมทีเอ็นเอ

 10

“ผมกังวลกับมันในตอนแรก ผมกังวลว่าผมจะทำมันพังอีกครั้ง แต่ผมพูดคุยกับภรรยา และ เกลี่ยกล่อมตัวเองเราโตแล้ว เราเป็นผู้ใหญ่แล้ว มันช่วยสร้างความมั่นใจให้ผมได้มาก” แมตต์กล่าวถึงช่วงเวลาที่ได้เซ้นสัญญากับทีเอ็นเอ

แม้จะได้เซ็นสัญญากับค่ายมวยปล้ำขนาดใหญ่ แต่ข่าวร้ายคือ ทีเอ็นเอไม่มีบทบาทเตรียมไว้สำหรับเขา แมตต์ต้องสร้างคาแรกเตอร์และเรื่องราวของตัวเองขึ้นมา สำหรับนักมวยปล้ำหลายคน เรื่องนี้คือปัญหา แต่สำหรับ แมตต์ ฮาร์ดี มันคือโอกาส

“ผมถามตัวเองว่าต้องการทำอะไร มันทำให้ผมนึกไปถึงชีวิตที่ตกต่ำถึงขีดสุด ช่วงเวลาที่ทำให้ผมเป็นนักมวยปล้ำล้าสมัย ช่วงเวลาที่เกือบทำให้ผมหายไปจากวงการ”

“นักมวยปล้ำที่ถูกเผาไหม้ ทั้งทางร่างกาย จิตใจ และ อารมณ์ นั่นแหละคือจุดเริ่มต้นของคาแรกเตอร์ที่ผมสร้าง”

แมตต์ ฮาร์ดี เปิดตัวคาแรกเตอร์ “โบรคเคน” (Broken) นักมวยปล้ำที่มีพฤติกรรมผิดปกติ และ พูดภาษาผิดหลักไวยากรณ์ ในเดือนพฤษภาคม ปี 2016 นี่คือบทบาทที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์วงการมวยปล้ำ

ด้วยความแตกต่าง ความนิยมของคาแรกเตอร์โบรคเคนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว แมตต์ เปิดโอกาสให้คนรอบตัวเข้ามามีส่วนร่วม ไม่ว่าจะเป็น เจฟฟ์ ที่เสียสติตามพี่ชาย และเปลี่ยนชื่อเป็น “บราเธอร์ เนโร” (Brother Nero) หรือ ภรรยา, ลูกชาย และ พ่อตา ทุกคนในครอบครัวของเขา ก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในจักรวาลโบรคเคน

“เรารวมตัวและพูดคุยถึงไอเดียใหม่ๆตลอดเวลา เช่นว่า เราจะทำอะไรกันต่อไป แมตต์บอกว่าเขาต้องการสร้างแมตช์มวยปล้ำที่สู้กันไปทุกที่ จนสุดท้ายเราสร้างแมตช์ที่ชื่อว่า ไฟนัล ดีลีทชัน (The Final Deletion)” เจฟฟ์พูดถึงเบื้องหลังการสร้างแมตช์ที่แตกต่างจากมวยปล้ำทั่วโลก

แมตช์ไฟนัล ดีลีทชัน คือ การพา ฮาร์ดี บอยส์ กลับสู่รากเหง้าของตัวเองอีกครั้ง พวกเขาขึ้นปล้ำแบบไร้กฎกติกา เหมือนมวยปล้ำแบบหลังบ้านที่บ้าคลั่ง

มีการจุดไฟเผา และ ยิงพลุใส่คู่ต่อสู้, กระโดดลงมาจากต้นไม้ใส่เวทีหลังบ้านที่สร้างขึ้นมาแบบลวกๆ ทุกอย่างเหมือนตอนที่พวกเขาทำสมาพันธ์มวยปล้ำแทรมโพลีน เมื่อครั้งยังเป็นเด็กไม่ผิดเพี้ยน

“ผมคิดว่าเราสนิทกันขึ้นมาก จากประสบการณ์ทุกอย่างที่เราทำในจักรวาลโบรคเคน มันทำให้เรากลับมาสนุกอีกครั้ง ได้ทำในสิ่งที่เรารัก และนำเรื่องเหล่านั้นให้ทุกคนในโลกมวยปล้ำได้เห็น” เจฟฟ์เปิดเผยความรู้สึกที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของจักรวาลโบรคเคน

จากผลงานน่าประทับใจทั้งหมดที่ ฮาร์ดี บอยส์ ได้ทำในจักรวาลโบรคเคน พวกเขาทั้งคู่ได้รับการเซ็นสัญญากลับสู่ ดับเบิลยูดับเบิลยูอี อีกครั้ง และเซอร์ไพร์สแฟนๆทั่วโลก หลังถูกเพิ่มชื่อขึ้นชิงแชมป์รอว์แท็กทีม (Raw Tag Team Championship) แบบไต่บันได ในศึกเรสเซิลมาเนีย 33 (WrestleMania 33)ก่อนการปล้ำจริงเริ่มขึ้นไม่กี่นาที

“เราได้กลับมาบ้านของเราแล้ว เรากลับมายังดับเบิลยูดับเบิลยูอี และ คืนนี้เราคือผู้เข้าแข่งขันเซอร์ไพร์ส ในแมตช์ชิงแชมป์โลกแท็กทีม มันน่าตื่นเต้นมาก” แมตต์ ฮาร์ดี เปิดใจกับสารคดี The Hardys : Woken ก่อนขึ้นปล้ำต่อหน้าแฟนกว่าเจ็ดหมื่นคน

คลิปเปิดตัวของ แมตต์ และ เจฟฟ์ ในแมตช์ดังกล่าว มีการรับชมในยูทูปไปแล้วกว่า 31 ล้านครั้ง ที่สำคัญไปกว่านั้นคือ พวกเขาสามารถคว้าแชมป์แท็กทีมมาครองได้สำเร็จ ฮาร์ดี บอยส์ กลับสู่จุดสูงสุดของอาชีพอีกครั้ง

“ผมถามตัวเองว่า นี่มันไม่จริงใช่ไหม มันเป็นไปไม่ได้ ผมบอกตัวเองอย่างนั้น แต่ผมดันไปบอกแมตต์ว่า จดจำช่วงเวลานี้ไว้ เพราะว่ามันพิเศษจริงๆ” เจฟฟ์เปิดเผยความรู้สึกหลังคว้าแชมป์แท็กทีมมาครองได้สำเร็จ

ชีวิตที่ดำเนินต่อ

หากเรื่องราวทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นนวนิยาย เส้นทางของ ฮาร์ดี บอยส์ คงจบลงตรงนี้อย่างมีความสุข แต่ชีวิตจริงของมนุษย์ต้องดำเนินต่อไป และอุปสรรคมากมายยังรอพี่น้องคู่นี้อยู่เบื้องหน้า

 11

วันที่ 18 กันยายน 2018 เจฟฟ์ ฮาร์ดี เกิดอุบัติเหตุระหว่างการปล้ำ จนได้บาดเจ็บเส้นเอ็นไหล่ฉีกขาด (Rotator Cuff Tear) นี่คืออาการบาดเจ็บใหญ่ครั้งแรกในชีวิตนักมวยปล้ำของเขา และต้องพักรักษาตัวนานหลายเดือน

อย่างไรก็ตาม เรื่องดังกล่าวถือว่าไม่แย่เท่าใดนัก หากเทียบกับเหตุการณ์ที่ เจฟฟ์ ฮาร์ดี ถูกตำรวจจับในข้อหาเมาแล้วขับ จนก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ระหว่างช่วงพักรักษาอาการบาดเจ็บที่หัวไหล่ของตัวเอง

“ผมขับรถชน เพราะว่าผมดื่มเหล้าและขับรถ มันแย่ครับ เพราะผมกลับมาอยู่ดับเบิลยูดับเบิลยูอี และกำลังมีช่วงเวลาที่ยอดเยี่ยมจากการรับบทเป็นฮาร์ดี บอยส์ ทุกอย่างมันสมบูรณ์แบบมาก แต่สุดท้ายมันก็ไม่ได้เป็นแบบนั้น” เจฟฟ์ยอมรับถึงความผิดพลาดของตัวเอง

“หลังเกิดเหตุ ผมไม่ได้คุยกับเขาเป็นวัน เพราะผมโมโหมาก” แมตต์ ฮาร์ดี ย้อนเล่าความรู้สึกหลังได้รู้ข่าวร้ายจากน้องชาย

“ผมยังคงเป็นห่วงเขาอยู่เสมอ แม้ว่าเขาจะเลิกจากยาเสพติดแบบเด็ดขาดแล้ว แต่หลายครั้งที่เขาไม่สามารถเอาตัวเองออกจากความคิดในหัวได้”

“ไม่ว่าจะอย่างไร เขาคือน้องชายของผม ผมต้องการให้เขาสุขภาพดี ผมต้องการให้เขาปลอดภัย และผมต้องการให้เขามีชีวิตที่ดี”

แมตต์ ฮาร์ดี กำลังไปได้สวยกับเส้นทางการเป็นนักมวยปล้ำเดี่ยว จากการนำคาแรกเตอร์นักมวยปล้ำผู้เสียสติมาใช้อีกครั้ง แม้ไร้เจฟฟ์ที่ได้รับอาการบาดเจ็บ และมีคดีความติดตัว

ฮาร์ดีผู้พี่ ได้รับความนิยมอย่างมาก จนถูกผลักดันเป็นผู้ชนะการแข่งขัน อันเดร เดอะ ไจแอนท์ เมมโมเรียล แบทเทิล รอยัล (André the Giant Memorial Battle Royal) ในศึกเรสเซิลมาเนีย 34 (WrestleMania 34) และ คว้าแชมป์รอว์แท็กทีมมาครอง เขากำลังก้าวสู่จุดสูงสุดในชีวิตนักมวยปล้ำเดี่ยวของตัวเอง

น่าเสียดายที่ช่วงเวลาดังกล่าวจบลงอย่างรวดเร็ว แมตต์ ฮาร์ดี ประกาศพักการปล้ำแบบไม่มีกำหนด เนื่องจากปัญหาอาการบาดเจ็บที่กระดูกเชิงกราน อันเป็นผลกระทบจากการใช้ท่ากระโดดทิ้งขา หรือ Diving Leg Drop บนสังเวียนมวยปล้ำ ตลอดระยะเวลา 20 ปี ที่ผ่านมา

“มันเป็นเวลาที่ผมจะได้กลับบ้าน เพื่อทำหน้าที่พ่อและสามี ผมได้ทำหลายสิ่งในวงการนี้มากกว่าที่ผมเคยจินตนาการไว้ ขอบคุณที่เดินทางร่วมกันกับผม สุภาพบุรุษและสุภาพสตรีทั้งหลาย ผมรักพวกทุกคน” แมตต์โพสต์บอกลาแฟนๆผ่านทวิตเตอร์

เมื่อไร้พี่ชายเคียงข้าง เจฟฟ์ ฮาร์ดี ต้องรับบทเป็นนักมวยปล้ำเดี่ยวนานเกือบปี จนกระทั่งวันที่ 26 กุมภาพันธ์ ปี 2019 แมตต์ เซอร์ไพร์สแฟนมวยปล้ำ ด้วยการกลับคืนสังเวียนอีกครั้ง หลังหายจากวงการมวยปล้ำไปนาน 7 เดือน

“การได้กลับมารวมทีมกันอีกครั้ง มันยังคงเป็นสิ่งที่ทรงพลังเสมอ เราสามารถสื่อถึงกันได้อย่างที่เคยเป็นมา เพื่ออกไปสร้างความประหลาดใจให้กับแฟนๆทุกคน” เจฟฟ์ เผยความรู้สึกหลังได้กลับมาเป็น ฮาร์ดี บอยส์ อีกครั้ง

แต่ช่วงเวลาแห่งความสุขนั้นแสนสั้น หลังประกาศกลับมารวมทีมได้ไม่ถึงสามเดือน เจฟฟ์ ฮาร์ดี ได้รับอาการบาดเจ็บที่หัวเข่า และเข้ารับการผ่าตัด จนต้องสละแชมป์สแมคดาวน์แท็กทีม ที่พึ่งครอบครองได้เพียง 21 วัน

“เข่าของผมมันอ่อนแอมาได้สักพักแล้ว แต่เรื่องนั้นไม่ใช่ประเด็น ตอนนี้ผมรู้สึกเหมือนตกอยู่ในฝันร้าย เพราะผมอาจต้องพักนานถึง 9 เดือน” เจฟฟ์ให้สัมภาษณ์หลังประกาศสละแชมป์แท็กทีม

ครั้งล่าสุดที่เจฟฟ์บาดเจ็บจนพักยาว เขาก่อคดีเมาแล้วขับ และ สร้างความผิดหวังให้คนรอบข้าง เรื่องดังกล่าวคือบทเรียนสำคัญ ซึ่งเจฟฟ์ยืนยันว่ามันต้องไม่เกิดขึ้นอีก

“ผมแก้ปัญหาด้วยการเข้ารับคำปรึกษาสองครั้งต่อสัปดาห์ เพื่อสกัดความคิดด้านลบที่เกิดขึ้นในจิตใจ มันมีอีกหลายอย่างที่ผมต้องทำเพื่อรักษาตัวผมเอง และผมจะทำมันแน่นอน”

ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี ที่ แมตต์ และ เจฟฟ์ ฮาร์ดี เดินทางไปทั่วโลก เพื่อสร้างความสุขให้แฟนมวยปล้ำ พวกเขาเสี่ยงตายและกล้าทำในสิ่งที่แตกต่าง แม้ผลที่ตามมาคือความเจ็บปวดทั้งกายและใจ จนเกือบทำชีวิตของพวกเขาพังไม่เป็นท่า

แต่ไม่ว่าต้องเผชิญอุปสรรคและปัญหาเท่าไร เส้นทางบนสังเวียนของทั้งคู่ยังดำเนินต่อไป และตราบใดที่ แมตต์ และ เจฟฟ์ ยังมีลมหายใจ จิตวิญญาณและความรักในมวยปล้ำของพวกเขา ไม่มีวันสูญสลายไปอย่างแน่นอน

 12

“ชีวิตไม่ใช่สิ่งสมบูรณ์แบบ มนุษย์ทุกคนมีข้อบกพร่อง มนุษย์ทุกคนเคยทำผิดพลาด แต่มันไม่เคยสายเกินไปที่จะกลับมา คุณสามารถเปลี่ยนชีวิตคุณได้เสมอ” แมตต์ พูดถึงบทเรียนที่ได้จากเรื่องราวที่ผ่านมา

“ผมอยากให้แฟนมวยปล้ำทุกคนรู้ว่า ฮาร์ดี บอยส์ จะกลับมา และพวกเราจะดีกว่าที่เคยเป็นมา ผมจะยังคงปล้ำในสไตล์เดิมที่เคยทำมาทั้งชีวิต และหวังว่าจะสร้างแมตช์การปล้ำที่ดีกว่าเดิมได้” เจฟฟ์ฝากถึงแฟนมวยปล้ำก่อนเข้ารับการผ่าตัดต่อไป

“เราแค่เป็นในสิ่งที่เราเป็น เดินหน้าต่อไป และ ใช้ชีวิตอย่างที่ฝัน เพราะเรามีมันได้แค่ครั้งเดียว”

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ "เจฟฟ์-แมตต์ ฮาร์ดี้" : เบื้องหลังลีลาผาดโผนที่แลกกับมาด้วยชีวิตสุดพังนอกเวที

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook