เมื่อ "ลูกชายกัดดาฟี" ทำลายสโมสรคู่แข่งอย่างย่อยยับเพียงเพราะชื่อเหมือนกัน..

“เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้” นี่คือสำนวนอมตะที่ใช้ได้เกือบทุกวงการ ไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล
ความขัดแย้งในเชิงฟุตบอล เป็นเรื่องปกติที่มีอยู่ทั่วทุกมุมโลก และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดดาร์บีแมตช์ขึ้นมากมาย ไม่ว่าจะเป็น เอล กลาซิโก ของสเปน (บาร์เซโลนา และ เรอัล มาดริด) แดงเดือดของอังกฤษ (แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และ ลิเวอร์พูล) หรือ ซูเปอร์กลาซิโก ของอาร์เจนตินา (โบคาร์ จูเนียร์ และ ริเวอร์เพลท) ซึ่งเบื้องหลังของความขัดแย้งล้วนเต็มไปด้วยหลากหลายเหตุผล
แต่ครั้งหนึ่งที่ลิเบีย เพียงเพราะ “ชื่อเหมือนกัน” ก็เคยถูกใช้เป็นเหตุผลของความขัดแย้ง แต่มันไม่จบแค่ในสนามเท่านั้น เมื่อเหตุผลนี้กลายเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้สโมสรหนึ่งถูกทำลายจากฝ่ายตรงข้ามอย่างย่อยยับ
ราชาแห่งฟุตบอลลิเบีย
หากพูดถึงลิเบีย ในยุคหนึ่งคงไม่มีใครยิ่งใหญ่ไปกว่า มูอัมมาร์ กัดดาฟี เขาคือผู้นำจอมเผด็จการที่ปกครองประเทศมาตั้งแต่ปี 1969 มีอำนาจล้นพ้นที่สามารถสั่งประหารได้ทุกคน แถมยังเคยเป็นต้นเหตุของการสังหารหมู่หลายต่อหลายครั้ง
มูอัมมาร์ ก็เป็นเหมือนผู้นำจอมเผด็จการทั่วไป เขาใช้ทุกวิธีในการรักษาความนิยมแก่ประชาชน ฟุตบอลก็เป็นหนึ่งในนั้น ในการแข่งขันฟุตบอลจึงมักจะเห็นฉากหลังเป็นภาพของท่านผู้นำ หรือในสนามผู้ประกาศหรือผู้บรรยายเกม จะได้รับอนุญาตให้เรียกนักเตะด้วยเบอร์เท่านั้น เพราะไม่อยากให้นักฟุตบอลเหล่านั้นได้รับความนิยมไปมากกว่ากว่าเขา
แม้ว่า มูอัมมาร์ จะไม่ได้ชื่นชอบฟุตบอลมากนัก แต่สำหรับ ซาอาดี ลูกชายคนที่ 3 ของเขาถือว่าคลั่งไคล้ และเช่นเดียวกับพ่อ ไม่ว่าใครก็ไม่ควรจะโด่งดังไปมากกว่าซาอาดี
“ซาอาดีเป็นกัปตัน และเขาอยากจะยิงประตู” โมอาตาส เบน อาเมอร์ อดีตกัปตันของ อัล อาห์ลีที่เคยเล่นทีมเดียวกับ ซาอาดี อยู่หนึ่งฤดูกาลกล่าว
“เขาจะหงุดหงิดถ้าบางคนส่งบอลมาให้เขาไม่ตรง และจะไปทำร้ายคนนั้น หรืออาจจะโกนหัวลงโทษผู้เล่นคนนั้นไปเลย บางครั้งเขาทำกับนักเตะเหมือนกับสุนัข”
ซาอาดี พยายามสถาปนาตัวเองขึ้นมาเป็นราชาฟุตบอลแห่งลิเบีย นอกจากได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกสมาคมฟุตบอลลิเบียตั้งแต่ช่วงปลายทศวรรษที่ 1990s แล้ว เขายังเป็นกัปตันทีมชาติ เจ้าของ, ผู้เล่น และผู้จัดการทีมของสโมสร อัล อาห์ลี ทริโปลี ทีมยักษ์ใหญ่แห่งลิเบีย แถมครั้งหนึ่งเขายังเคยไปค้าแข้งในเซเรียอาของอิตาลี กับ เปรูจา อูดิเนเซ และ ซามพ์โดเรีย แม้ว่าจะได้ลงเล่นไปเพียงแค่ 25 นาทีตลอด 4 ปีก็ตาม
เขาอาจจะเป็นตัวตลกในสายตาชาวโลก แต่ที่ลิเบีย เขามีอำนาจล้นพ้น เขาตั้งเป้าที่จะทำให้ ทริโปลี เป็นสโมสรที่ดีที่สุดของประเทศ หรือแม้กระทั่งแอฟริกา และยังมั่นใจว่าเขาคือสโมสรเดียวที่ควรคู่กับชื่อ อัล อาห์ลี ซึ่งเป็นคำดั้งเดิมที่แปลว่า “ชาติ”
แต่ปัญหาคือ อัล อาห์ลี ที่ลิเบียมันไม่ได้มีแค่สโมสรเดียว มันยังมีอีกทีมที่เก่าแก่กว่าพวกเขา
สิทธิ์ในชื่ออัล อาห์ลี
ห่างออกไปจากเมืองทริโปลี เมืองหลวงของลิเบียราว 1,000 กิโลเมตร มีเมืองท่าซึ่งเป็นเมืองที่ใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศตั้งอยู่ เบงกาซี คือชื่อของมัน และเมืองแห่งนี้มีสโมสรที่ชื่อ อัล อาห์ลี เช่นกัน
พวกเขาเป็นสโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศ ก่อตั้งขึ้นในปี 1937 โดยมีต้นกำเนิดมาจากชุมชนของ โอมาร์ มุคตาร์ ซึ่งเป็นนักการกีฬาและนักการเมืองที่เป็นแรงบันดาลใจให้เกิดการต่อต้านเจ้าอาณานิคม
พวกเขาอาจจะไม่ได้ประสบความสำเร็จเทียบเท่ากับ อัล อาห์ลี ทริโปลี แต่ก็มีแฟนบอลให้การสนับสนุนมากมาย แต่ละนัดของพวกเขามักจะมีผู้ชมเข้าไปชมเกมในสนามเกินกว่า 30,000 คน ซึ่งถือว่าไม่น้อยเมื่อเทียบกับประชากรทั้งประเทศที่มีเพียง 6 ล้านคน
แต่ครั้งหนึ่งเมื่อปี 2000 พวกเขาต้องกระเด็นไปอยู่ในโซนท้ายตาราง และเผชิญกับการหนีตกชั้นครั้งแรกของสโมสร เพียงเพราะชื่อดันไปเหมือนกับทีมของลูกชายท่านผู้นำ ...
ตลอดหลายปีที่ผ่านมา มีการโต้เถียงการใช้สิทธิ์ของชื่อ อัล อาห์ลี ระหว่าง ทีมที่ เบงกาซี และ ทริโปลี ซาอาดี มองว่าทีมของพวกเขาคือทีมเดียวที่สามารถใช้ชื่อนี้ได้ แต่ปัญหาคือเบงกาซีใช้ชื่อนี้มาก่อนตั้งแต่ปี 1937 ก่อนทีมที่ ทริโปลี จะถือกำเนิดถึง 3 ปี ทำให้ความพยายามของ ซาอาดี ไม่ประสบผลสำเร็จ
เมื่อไม่ได้ด้วยเล่ห์ ต้องเอาด้วยกล เมื่อไม่ได้ด้วยมนต์ ต้องเอาด้วยคาถา อาจจะเป็นความคิดของคนทั่วไป แต่สำหรับซาอาดี ที่มีอำนาจอยู่ในมือมันง่ายกว่านั้น
เสือสองตัวอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
เขาเริ่มต้นบ่อนทำลายคู่แข่ง ด้วยการควักเงินกว้านซื้อนักเตะที่เก่งที่สุดของ อัล อาห์ลี เบงกาซี มาร่วมทีม นอกจากนี้เขายังใช้อำนาจในฐานะนายกสมาคมฯ ติดสินบนและข่มขู่กรรมการให้เข้าข้างทีมคู่แข่งของ เบงกาซี
“มันเป็นเรื่องปกติ ทีมคู่แข่งมักจะได้จุดโทษอยู่เสมอ” ชาริฟา บินส์ไรตี ที่เคยคุมทีมอัล อาห์ลี เบงกาซี เกือบ 20 ปีย้อนความหลัง
ตลอดฤดูกาลปี 2000 อัล อาห์ลี มักจะเจอพิษกรรมการตัดสินอย่างผิดพลาดอยู่เสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเกมที่พบกับ อัล อาห์ลี ทริโปลี พวกเขาเสีย 2 จุดโทษปริศนา และเสียประตูจากลูกล้ำหน้า ซึ่งทำให้ผู้เล่นไม่พอใจอย่างมากจนวอล์คเอาท์ประท้วงออกจากสนาม แต่ก็ไม่สามารถเปลี่ยนผลการแข่งขันได้
“พวกเขา (นักเตะของ อัล อาห์ลี เบงกาซี) ไม่อยากกลับไปเล่น แต่บอดีการ์ดของซาอาดีและเจ้าหน้าที่บังคับให้พวกเขากลับไปเล่น” มอฟตาร์ อัล โทววี หนึ่งในเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของเบงกาซีกล่าว
ปกติแล้ว ผู้คนที่เบงกาซี รู้สึกไม่ชอบครอบครัวของกัดดาฟี เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เนื่องจากพวกเขามักจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมจากรัฐบาลกลาง เนื่องจากรัฐบาลมองว่าเมืองแห่งนี้คือแหล่งซ่องสุมของกลุ่มผู้ต่อต้านระบอบของพวกเขา แต่ในวันที่ 20 กรกฎาคม ความอดทนของพวกเขาก็ถึงขีดสุด
วันนั้นคือเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาล เบงกาซีต้องการเพียงแค่ผลเสมอพวกเขาก็จะรอดตกชั้น และเป็นอีกครั้งที่คู่แข่งได้จุดโทษอย่างน่ากังขา แฟนเบงกาซี ไม่พอใจอย่างมาก และบุกเข้าไปในสนามจนทำให้การแข่งขันต้องยกเลิก
“ทั้งสนามต่อต้านซาอาดี ทุกคนมีส่วนเชื่อมโยง หรือเพื่อนของเขาต้องติดคุก ทุกคนรู้ว่าบางคนอาจจะถูกฆ่าหรือถูกปล้นทรัพย์” บินส์ไรตี อธิบาย
“เบงกาซีเกลียดกัดดาฟี แต่วันนั้นความเกลียดกัดดาฟีมากเป็นพิเศษ”
เสียงโห่อื้ออึงไปทั่วทั้งสนาม คนนับร้อยออกไปชุมนุมบนท้องถนน ผู้คนที่โกรธแค้นพากันเผารูปของ กัดดาฟี และไปชุมนุม ณ ที่ทำการของสมาคมฟุตบอลลิเบียในเมือง บางคนแต่งตัวเป็นลาที่สวมชุดแข่งที่มีหมายเลขเสื้อของซาอาดี ซึ่งเป็นการล้อเลียนเขาที่มีใบหน้าคล้ายลา
หลังจากนั้นไม่นาน เจ้าหน้าที่ก็เข้าควบคุมสถานการณ์ แฟนบอลกว่า 80 คนรวมไปถึงเจ้าหน้าที่สโมสรถูกจับ เบงกาซี กลับคืนสู่ความปกติอีกครั้ง
แต่นั่นเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ...
การเอาคืนของเจ้าชาย
“กูจะทำลายสโมสรพวกมึง” ซาอาดี ประกาศกร้าว “กูจะทำให้มันเป็นเหมือนรังนกฮูก”
ซาอาดี รอจนถึงวันที่ 1 กันยายน 2000 ซึ่งเป็นวันครบรอบ 31 ปีของการปกครองของพ่อของเขา ในขณะที่หลายคนกำลังละหมาดอยู่ที่มัสยิดในวันศุกร์ซึ่งเป็นวันหยุดของชาวมุสลิม กองกำลังทหารจากกองทัพได้บุกเข้าไปทำลายที่ทำการสโมสรและสนามซ้อมของ อัล อาห์ลี เบงกาซี เพื่อเป็นของขวัญให้กับท่านผู้นำ
“พวกเขาทำลายตราสโมสรและประตูทางเข้า จากนั้นพวกเขาใช้รถแทรคเตอร์ 3 คันทำให้ทุกอย่างพินาศ” บินส์ไรตีกล่าว
“มันใช้เวลาราว 3-4 ชั่วโมง พวกเขาบังคับให้คนดูและเชียร์การทำลายนี้ด้วย พวกเขายังออกอากาศการทุบทำลายทางโทรทัศน์ในค่ำวันนั้น”
ทหารกลับมาอีกครั้งในวันรุ่งขึ้น พวกเขามาจัดการงานให้เสร็จด้วยการไล่ทุบกำแพงทุกฝั่งของสำนักงานอย่างไม่เหลือเค้าเดิม งานของพวกเขาคือเหลือทิ้งไว้ได้เพียงแค่ฝุ่นและเศษซากเท่านั้น
“ทั้งสถิติ ข้อมูล ถ้วยและเหรียญรางวัล ถูกทำลายไปจนหมดสิ้น” อาเหม็ด บาชุน อดีตนักเตะของ อัล อาห์ลี เบงกาซี ที่เคยทำงานกับสโมสรมานับ 10 ปีกล่าวกับ The Guardian
สโมสรที่เก่าแก่ที่สุดของประเทศเหลือเพียงแค่ซากปรักหักพัง และมันก็ไม่จบเพียงแค่นั้น ผู้เล่นและทีมงาน 31 คนถูกจับขังคุกที่ทริโปลี … อาบัด อัล ซาลัม ธาอู ก็เป็นหนึ่งในนั้น เขาเป็นชายผิวดำ ร่างกายกำยำ และเป็นผู้นำแฟนคลับในการประท้วงเมื่อปี 2010
ธาอู ถูกสั่งจับคุก 10 ปี และถูกทรมานทุกวันตลอด 3 เดือนแรกที่อยู่ที่นั่น จนในปากเขาไม่เหลือฟันให้เคี้ยวอาหารอีกแล้ว แต่ 5 ปีหลังจากอยู่ในนั้นเขาก็ได้รับการปล่อยตัว พร้อมกับผู้ประท้วงที่ถูกตัดสินประหารชีวิต ซึ่งเหลือรอดแค่เพียง 2 คนเท่านั้น หลังจากคนหนึ่งเจ้าหน้าที่อ้างว่าได้ฆ่าตัวตายขณะถูกคุมขัง
แต่สโมสรของเขา ต้องหยุดทำการไปตั้งแต่วันนั้น เพราะซาอาดีไม่เพียงบุกทำลายที่ทำการสโมสรเท่านั้น ยังได้สั่งแบน อัล อาห์ลี เบงกาซี ที่แม้จะตกชั้นไปแล้ว อย่างไม่มีกำหนดอีกด้วย
กลับไปไม่เหมือนเดิม
ปี 2005 ผ่านไป 5 ปีนับตั้งแต่เหตุการณ์วันนั้น ซาอาดี กัดดาฟี ได้ยกเลิกโทษแบนของ อัล อาห์ลี เบงกาซี พร้อมกับมอบที่ดินที่เต็มไปด้วยกองขยะ สำหรับสร้างที่ทำการสโมสรขึ้นมาใหม่อีกครั้ง
แม้จะดูจิตใจงาม แต่หลายฝ่ายมองว่าเขาไม่ใช่เพราะเขารู้สึกเสียใจกับการกระทำในอดีต แต่เนื่องจากถูกเพ่งเล็งจากชาติตะวันตก จากการที่นักฟุตบอลหลายรายถูกคุมขังเพราะเขา
ถึงจะได้ที่ดิน แต่สโมสรก็ไม่มีเงินทุนพอที่จะสร้างที่ทำการของพวกเขาให้กลับมาดังเดิม เนื่องจากในสมัยที่ระบอบกัดดาฟีเรืองอำนาจ บริษัทยักษ์ใหญ่อยู่ฝั่งเดียวกับกัดดาฟี ซึ่งไม่มีใครที่จะมาเป็นสปอนเซอร์ให้กับสโมสรที่ประกาศตัวเป็นปรปักษ์กับลูกชายของท่านผู้นำอย่างพวกเขา
แม้ก่อนหน้านี้ ซาอาดี จะเคยให้สัญญาว่าเขาจะมอบเงินทุนสำหรับสร้างสนามซ้อม แต่มันก็เป็นเพียงลมปาก เพราะนับจนถึงทุกวันนี้ มันมีเพียงอาคารเล็กๆ พร้อมกับสนามหญ้าที่ล้อมรอบไปด้วยรั้วเหล็กเท่านั้น
ส่วนที่ทำการเดิมของสโมสรเป็นเพียงแค่กองดินเก่าของซากปรักหักพัง เสาไฟสนามทั้ง 8 เสาหลุดออกไป เกือบทั้งหมดของส่วนที่เคยเป็นหญ้าแปรสภาพเป็นฝุ่นดิน สนามบาสเก็ตบอลในร่ม คอร์ทเทนนิส ที่เคยมีอยู่เป็นเพียงแค่อดีต
“ถึงตอนนี้เรายังไม่รู้ว่าทำไมกัดดาฟีถึงทำกับอัล อาห์ลีแบบนี้” โมอาตาส เบน อาเมอร์ กล่าวกับ The Guardian
“ฟุตบอลช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเยาวชนจากปัญหาใหญ่ๆอย่างการเมือง แต่กัดดาฟีไม่เคยเข้าใจมันเลย เขาทำให้เยาวชนเข้าใจเกี่ยวกับการเลือกปฎิบัติระหว่างที่นี่กับทริโปลี”
สองอัล อาห์ลี แห่งลิเบีย
ตลกร้ายที่ 11 ปีหลังจาก “การปฎิวัติฟุตบอล” ที่ไม่สำเร็จ ซาอาดี ต้องมาอยู่ที่ เบงกาซี ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์ ซึ่งเป็นวันที่ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิวัติลิเบีย มันเป็นวันเดียวกันที่ลูกชายของท่านผู้นำสั่งให้ทหารยิงใส่เข้ากลุ่มผู้ประท้วง เหมือนที่เขาเคยทำกับ อัล อาห์ลี เบงกาซี นั่นคือทำลายให้หมดสิ้น
หลังการปฎิวัติเริ่มขึ้น อัล อาห์ลี เบงกาซี ต้องถูกยุบอีกครั้ง ประธานสโมสรที่แต่งตั้งโดยกัดดาฟี หนีออกนอกประเทศท่ามกลางข่าวลือว่าเขาพยายามที่จะหยุดการปฏิวัติ โค้ชชาวตูนีเซียของทีมบินกลับบ้านเกิดทันที เช่นเดียวกับผู้เล่นต่างชาติของทีม แต่สำหรับผู้เล่นท้องถิ่น บางส่วนเข้าร่วมกับกลุ่มต่อต้าน เบน อาเมอร์ก็เป็นหนึ่งในนั้น
“เราไม่อยากเป็นเหมือนเดิมอีกแล้ว เราต้องการประชาธิปไตย ต้องการเสรีภาพ และอยากให้ฟุตบอลกลับมา” เบน อาเมอร์กล่าว
การสู้รบระหว่างรัฐบาลและฝ่ายกบฎกินเวลาอยู่ราวเกือบ 8 เดือน ก่อนที่ฝ่ายกบฎจะจับกุม ซาอีฟ อัล อิสลาม ลูกชายคนที่ 2 ซึ่งถูกวางตัวไว้เป็นผู้สืบทอดอำนาจของ มูอัมมาร์ กัดดาฟี ได้สำเร็จ ส่วนกัดดาฟี แม้หนีรอดไปได้ในตอนนั้น แต่ก็ถูกสังหารในท้ายที่สุด ปิดฉากระบอบการปกครองอันยาวนานกว่า 42 ปี
ด้าน ซาอาดี หลบหนีไปอยู่ในไนเจอร์หลังพ่อของเขาถูกสังหาร ก่อนจะถูกส่งตัวเป็นผู้ร้ายข้ามแดนกลับมาที่ลิเบียในปี 2014 และถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำจนถึงขณะนี้
ส่วน อัล อาห์ลี เบงกาซี ได้สิทธิ์ร่วมลงเล่นในลิเบียนพรีเมียร์ลีก ในปี 2013-2014 ซึ่งเป็นฤดูกาลแรกนับตั้งแต่สงครามสงบ แม้ว่าหลังจากนั้นจะเป็นฝ่าย อัล อาห์ลี ทริโปลี ที่สามารถคว้าแชมป์ได้ถึง 2 สมัย แต่อย่างน้อยนับตั้งแต่วันนั้น ทั้งสอง อัล อาห์ลี ก็สามารถลงชิงชังร่วมกันในลีกลิเบียได้
และไม่มีใครต้องถูกลบไปจากสารบบด้วยอำนาจที่มองไม่เห็นอีกแล้ว...
อัลบั้มภาพ 10 ภาพ