"พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" : จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์กับฟุตบอลสเปน

"พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" : จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์กับฟุตบอลสเปน

"พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" : จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์กับฟุตบอลสเปน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เรอัล มาดริด, เรอัล โซเซียดาด, เอสปันญอล, เรอัล เบติส, เรอัล ซาราโกซา, เดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า ชื่อเหล่านี้ ล้วนเป็นที่คุ้นหูของแฟนบอลชาวไทย ในฐานะทีมฟุตบอลชั้นนำของประเทศสเปน หนึ่งในสุดยอดชนชาติที่เคยไปสู่จุดสูงสุดของโลกลูกหนัง ในฐานะแชมป์ฟุตบอลโลก

แต่รู้หรือไม่ว่า สโมสรที่กล่าวชื่อมาข้างต้น พวกเขามีสิ่งใดเหมือนกัน ?

สโมสรเหล่านี้คือทีมฟุตบอลในพระบรมราชูปถัมภ์จากสถาบันพระมหากษัตริย์ แห่งราชวงศ์สเปน ที่ให้การสนับสนุนวงการลูกหนังแดนกระทิงดุ มายาวนานกว่า 100 ปี

 

Main Stand จะพาไปย้อนดูความสัมพันธ์ระหว่างสถาบันกษัตริย์กับฟุตบอลสเปน มีจุดเริ่มต้นได้อย่างไร? เหตุใดงานพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ถึงเกี่ยวข้องกับกีฬาฟุตบอล? ทำไมบางสโมสรฟุตบอล ถึงได้รับการสนับสนุนโดยตรงจากสถาบันกษัตริย์ ขอเชิญร่วมขบคิด ไขข้อสงสัยไปพร้อมกับเรา

เหตุผลว่าด้วยเรื่องการเมือง

สำหรับประเทศสเปน การเมืองกับฟุตบอล ถือเป็นสิ่งที่แยกกันไม่ขาด เพราะตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน การแสดงออกทางการเมือง ผ่านกีฬาฟุตบอลเกิดขึ้นอยู่เสมอ ทำให้การเข้ามาสนับสนุนวงการฟุตบอลของราชวงศ์สเปน หนีไม่พ้นที่จะถูกตีความ ในความหมายทางการเมือง

 1

สโมสรที่ได้รับการสนับสนุน โดยถูกเชื่อว่ามีเหตุผลด้านการเมือง เข้ามามีส่วนในการตัดสินใจมากที่สุด คือ เรอัล มาดริด ยอดทีมฟุตบอลประจำกรุงมาดริด อันถิ่นพำนักของราชวงศ์สเปน

หากจะเข้าใจเหตุผล ที่มีสมมติฐานตั้งกันว่า ราชวงศ์สเปนเข้ามาสนับสนุนวงการฟุตบอลด้วยเหตุใด ต้องเข้าใจถึงสภาพการเมือง ของประเทศสเปนในตอนนั้น

ในช่วงรัชสมัยของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 (Alfonso XIII) ประเทศได้เกิดปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาด้านสงคราม เพราะประเทศสเปนพ่ายแพ้ในสงครามกับสหรัฐอเมริกา ในปี 1889

หลังจากนั้นในปี 1909 ประเทศสเปนได้บุกโจมตีประเทศโมร็อคโค เพื่อหวังยึดมาเป็นประเทศอาณานิคม แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ นอกจากนี้ทางแคว้นคาตาลูญญา ยังเกิดความวุ่นวายใหญ่ เมื่อประชาชนในเมืองบาร์เซโลนา เริ่มแพร่กระจายแนวคิดแยกประเทศ และตั้งรัฐบาลของตัวเองขึ้นมาใหม่

ความวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่หยุดในรัชสมัยของพระองค์ ทำให้ประชาชนชาวสเปนไม่พอใจกับช่วงเวลาที่ไม่สงบสุขของประเทศ ทำให้ราชวงศ์สเปนต้องหาทาง สร้างความสงบในหมู่ประชาชน และวิธีที่เลือกใช้คือ “ฟุตบอล”

เพราะในช่วงเวลายุค 10’s เรอัล มาดริด คือทีมฟุตบอลยอดนิยมของชาวมาดริด ซึ่งกรุงมาดริดด้วยความที่เป็นเมืองหลวง มีผู้คนอาศัยจำนวนมาก และมีความใกล้ชิดกับราชวงศ์สเปนมายาวนาน หากราชวงศ์สเปนต้องการเรียกความนิยม ความเชื่อมั่นกลับคืนมา การเอาใจชาวกรุงถือเป็นสิ่งสำคัญ

ทำให้ในปี 1920 พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงรับสโมสร มาดริด เอฟซี ให้เข้าเป็นสโมสรฟุตบอลในพระบรมราชูปถัมภ์ พร้อมทั้งพระราชทานชื่อใหม่ว่า “เรอัล มาดริด” รวมทั้งอนุญาตให้นำสัญลักษณ์มงกุฎของราชวงศ์สเปน เป็นส่วนหนึ่งของโลโก้สโมสร

 2

ผลตอบรับที่ได้กลับมาจากชาวมาดริด ถือว่าได้ผลเป็นอย่างดี เพราะในช่วงเวลานั้นเรอัล มาดริด กำลังประสบปัญหาระส่ำกับสภาพของสโมสรพอดิบพอดี การที่พระเจ้าอัลฟอนโซ่ที่ 13 ทรงพระบรมราชูปถัมภ์สโมสรแห่งนี้ ช่วยให้เรอัล มาดริด มีความมั่นคง และสร้างความภูมิใจให้กับแฟนบอลอย่างมาก จนแฟนบอลมาดริดในช่วงเวลานั้น ให้ฉายาทีมรักของพวกเขาว่า สโมสรฟุตบอลของราชวงศ์สเปน

นอกจากเรอัล มาดริด หลายทีมฟุตบอลทั่วประเทศ ต่างได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอัลฟอนโซ่ที่ 13 เช่น เรอัล เบติส จากแคว้นอันดาลูเซีย, เรอัล โซเซียดาด จากแคว้นบาสก์, เอสปันญอล จากแคว้นคาตาลุญญา, เดปอร์ติโบ ลา คอรุนญ่า จากแคว้นกาลิเซีย, เรอัล ซาราโกซา จากแคว้นอารากอน เป็นต้น

ทำให้ผู้ศึกษาการเมือง-ประวัติศาสตร์บางคน ตั้งข้อสงสัยว่าเหตุผลที่พระเจ้าอัลฟอนโซ่ที่ 13 ทรงพระบรมราชูปถัมภ์ทีมฟุตบอลทั่วประเทศ เป็นเพราะเหตุผลทางการเมือง ที่ต้องการแสดงความเป็นหนึ่งของสเปน ท่ามกลางปัญหาแบ่งแยกดินแดน จากแคว้นบาสก์และคาตาลุญญา

 3

อย่างไรก็ตาม หากพระเจ้าอัลฟอนโซ่ที่ 13 หวังผลทางการเมืองเป็นหลัก ถือว่าเป็นการลงทุนที่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสุดท้ายความไม่พอใจในหมู่ประชาชนยังคงมีอยู่ เนื่องจากปัญหาหลักของประเทศคือเศรษฐกิจตกต่ำ ไม่ได้รับการแก้ไข จนนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองเป็นระบอบสาธารณรัฐในปี 1931

การให้การสนับสนุนทีมฟุตบอลโดยราชวงศ์สเปน จะได้รับความนิยมในหมู่แฟนบอลก็จริง แต่คำกล่าวของแฟนบอลเรอัล มาดริด รายหนึ่งอาจเป็นคำตอบได้ว่า เหตุใดการความนิยมของราชวงศ์สเปน ในหมู่แฟนบอลเรอัล มาดริด ถึงไม่มีผลต่อเรื่องราวทางการเมือง ของประเทศสเปน

“เรอัล มาดริด คือสโมสรที่มีอำนาจเยอะมากสโมสรหนึ่งของโลก พวกเรามีคอนเนคชันที่หลากหลาย แต่เชื่อผมเถอะ ไม่มีแฟนบอลเรอัล มาดริด แม้แต่คนเดียวที่อยากให้สโมสรนี้ไปยุ่งเกี่ยวกับการเมือง”

“เรอัล มาดริด ไม่ใช่สัญลักษณ์ทางการเมือง ไม่ว่าใครจะต้องการใช้สโมสรแห่งนี้เป็นเครื่องมือทางการเมือง ไม่ว่าพวกเขาจะสำคัญกับสโมสรนี้แค่ไหน ผมบอกได้ว่ามันจะไม่เป็นผลสำเร็จ” หลุยส์ แคมป์ แฟนบอลทีมราชันชุดขาว แสดงความเห็นกับสำนักข่าว อัล-จาซีรา เมื่อถูกถามถึงบทบาทของเรอัล มาดริด กับเรื่องราวทางการเมือง

แค่ความรักในกีฬาลูกหนัง

ถึงจะมีการตีความทางการเมืองไปหลากหลาย ถึงการเข้ามาสนับสนุนกีฬาฟุตบอลของราชวงศ์สเปน แต่หากมองในอีกแง่มุม เหตุผลที่พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงพระบรมราชูปถัมภ์กีฬาฟุตบอลในประเทศของตัวเอง ไม่ได้มีเหตุผลซับซ้อนมากไปกว่า พระองค์ทรงโปรดกีฬาฟุตบอลเป็นการส่วนตัว

 4

ไม่มีบันทึกเป็นคำพูดที่แน่ชัด ว่าพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ทรงโปรดกีฬาฟุตบอลมากแค่ไหน แต่พระองค์ทรงโปรดกิจกรรมความบันเทิง โดยเฉพาะการท่องเที่ยวเป็นอย่างมาก รวมถึงความบันเทิงทางด้านอื่นเช่นกีฬาด้วยเช่นกัน

ทำให้บางสโมสร ได้รับการสนับสนุนจากราชวงศ์สเปน ด้วยเหตุผลความชอบส่วนตัวเป็นหลัก มากกว่าจะพิจารณาถึงเหตุผลทางการเมือง

สโมสรเรอัล โซเซียดาด ได้รับพระราชทานชื่อ “เรอัล” ในปี 1910 ซึ่งมาจากเหตุผล ที่ได้รับการบันทึกว่า พระเจ้าอัลฟอนโซพระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปทรงพักผ่อนในฤดูร้อนของทุกปี ที่เมืองซาน เซบาสเตียน ซึ่งเป็นที่ตั้งของสโมสรเรอัล โซเซียดาด

ทำให้พระองค์ทรงรับทีมเรอัล โซเซียดาด เข้ามาเป็นทีมฟุตบอลในพระบรมราชูปถัมภ์ เพียงเพราะว่าซาน เซบาสเตียน เป็นเมืองโปรดของพระองค์

 5

หรือในกรณีของสโมสรเรอัล มาดริด การสนับสนุนของราชวงศ์สเปนกับทีมราชันชุดขาว อาจไม่มีเหตุผลทางการเมืองแอบแฝงอยู่ก็เป็นได้

เพราะมีบันทึกว่า คาร์ลอส ปาร์โดรส (Carlos Padrós) ประธานสโมสรเรอัล มาดริด ในช่วงปี 1905-1908 และเป็นบุคคลสำคัญที่ผลักดันกีฬาฟุตบอลให้เติบโตในสเปน มีความสนิทชิดเชื้ออย่างมากกับพระเจ้าอัลฟอนโซ่ที่ 13

ซึ่งทำให้พระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 และอีกหลายพระองค์ในราชวงศ์สเปน ทรงสนพระทัยในกีฬาฟุตบอล และกลายเป็นแฟนบอลของเรอัล มาดริด ก่อนให้การสนับสนุนในเวลาต่อมา

มีความเชื่อกันว่า ภายในราชวงศ์สเปน การสืบทอดความเป็นแฟนฟุตบอลถูกส่งต่อกันมายังรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะความเป็นแฟนบอลของทีมเรอัล มาดริด

พระเจ้าฆวน คาร์ลอสที่ 1 (Juan Carlos I) อดีตพระมหากษัตริย์แห่งประเทศสเปน ถือเป็นบุคคลสำคัญจากราชวงศ์สเปน ที่ประกาศตนว่า เป็นแฟนฟุตบอลของทีมราชันชุดขาว โดยพระองค์ทรงติดตามการแข่งขันถึงขอบสนาม ในเกมสำคัญของมาดริดอยู่เสมอ รวมถึงให้กำลังใจทีมโปรดของพระองค์อยู่เสมอ

 6

นอกจากนี้กษัตริย์องค์ปัจจุบัน ของประเทศสเปน อย่างพระเจ้าเฟลิเปที่ 6 (Felipe VI) ได้ประกาศตัวเป็นแฟนบอล ทีมคู่ปรับของเรอัล มาดริด อย่างอัตเลติโก มาดริด โดยพระองค์เปิดเผยว่า ได้ทรงชื่นชอบทีมตราหมี มาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ และพระองค์ยังให้การติดตามทีมฟุตบอลทีมโปรดอยู่เสมอ

 7

หากมองถึงความรักในกีฬาฟุตบอล ของราชวงศ์สเปน อาจทำให้เราตั้งสมมติฐานได้ว่า การสนับสนุนกีฬาฟุตบอลโดยราชวงศ์สเปน มาจากความรักในกีฬาชนิดนี้ มากกว่าการหวังผลทางการเมือง อย่างที่ใครหลายคน ตั้งข้อสังเกตเอาไว้

“เครื่องมือทางการเมือง” ที่แท้จริง?

ความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สเปนกับกีฬาฟุตบอล จะถูกตีความอย่างไร ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ว่าจะมองเป็นเรื่องของการเมือง หรือความชอบส่วนตัวกับการสนับสนุนกีฬาฟุตบอลจากราชวงศ์สเปน

แต่หากลองมองในมุมกลับกัน บางทีแล้ว อาจเป็นกีฬาฟุตบอลเอง ที่วิ่งเข้าหาราชวงศ์สเปนตั้งแต่แรก จนกลายเป็นความผูกพันที่แยกไม่ออก แบบในปัจจุบัน

 8

แม้ว่าจุดเริ่มต้นของกีฬาลูกหนังในดินแดนกระทิงดุ จะมีจุดเริ่มต้นไม่ต่างจากประเทศอื่น คือถูกเผยแพร่โดยชาวอังกฤษ ซึ่งเดินทางมากับเรือสินค้า แต่การแข่งขันฟุตบอลระดับชาติครั้งแรก เกิดขึ้นโดยการใช้เป็นการแข่งขัน เฉลิมฉลองพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 เมื่อปี 1902 ในชื่อรายการ โกปา เด ลา โกโรนาซิออน (Copa de la Coronación)

ผู้จัดงานฟุตบอลรายการนี้ คือ คาร์ลอส ปาร์โดรส เขาต้องการทำให้กีฬาฟุตบอลเป็นที่นิยมในประเทศสเปน ด้วยความสนิทที่เขามีต่อราชวงศ์สเปน เขาจึงอาสาใช้กีฬาฟุตบอล เป็นพิธีเฉลิมฉลองการขึ้นครองราชย์อย่างเป็นทางการ ของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 โดยมีทีมจากทั้งกรุงมาดริด, แคว้นคาตาลูญญา และแคว้นบาสก์ เข้าร่วมแข่งขัน

นอกจากนี้แล้ว ปาร์โดรส ยังต้องการให้สโมสรรักของเขา อย่างเรอัล มาดริด หรือชื่อมาดริด เอฟซี ในตอนนั้น ได้รับประโยชน์ ในช่วงเวลาที่กีฬาฟุตบอล เริ่มได้รับความสนใจจากราชวงศ์สเปน

เขาใช้โอกาสนี้จัดการแข่งขันชื่อ โกปา เด ลา แกรน เปญา (Copa de la Gran Peña) ขึ้นมาต่อจากรายการ โกปา เด ลา โกโรนาซิออน ซึ่งมาดริด เป็นแชมป์ในรายการนี้ ด้วยการเอาชนะเอสปันญอล ทีมจากแคว้นคาตาลูญญา ซึ่งการคว้าแชมป์ครั้งนี้ สร้างความนิยมให้กับมาดริดเป็นอย่างมาก จนมีแฟนบอลคอยติดตามสโมสรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และกลายเป็นทีมโปรดของคนมาดริดในที่สุด

ปาร์โดรส ประสบความสำเร็จอย่างสูง กับการนำเสนอกีฬาฟุตบอล ผ่านช่วงพระราชพิธีบรมราชาภิเษกของพระเจ้าอัลฟอนโซที่ 13 ฟุตบอลถูกนำเสนอในฐานะ กีฬาของสุภาพบุรุษ คนสเปนทุกชนชั้นสนใจในกีฬาชนิดนี้

ในปีถัดมา ปาร์โดรส จัดการแข่งขันฟุตบอล ชิงแชมป์ประเทศอย่างเป็นทางการครั้งแรก ภายใต้ชื่อซึ่งเกี่ยวข้องกับราชวงศ์สเปน เหมือนเช่นเคย นั่นคือรายการ โกปา เดล เรย์ (Copa del Rey) หรือที่แปลได้ว่า คิงส์ คัพ

 9

หลังจากนั้นในปี 1905 ปาร์โดรส ยังคงจัดการแข่งขันซึ่งเชื่อมโยงกับกษัตริย์สเปนต่อไป ในชื่อรายการ โคปา เด ซู มาเจสตาด เอล เรย์ อัลฟอนโซ XIII (Copa de Su Majestad El Rey Alfonso XIII)

มีการตั้งข้อสังเกตว่า ปาร์โดรสได้รับผลประโยชน์อย่างมาก จากนำเสนอฟุตบอล ด้วยการเชื่อมโยงกับราชวงศ์สเปน เพราะไม่กี่ปีถัดมาเขาได้รับเลือกให้เป็นประธานของเรอัล มาดริด และเขาก็มีอิทธิพลเพิ่มขึ้นมา ในวงการการเมืองท้องถื่น

ขณะเดียวกันกีฬาฟุตบอลได้รับความนิยมไปทั่วประเทศ และทำให้ราชวงศ์สเปนหันมาสนใจกีฬาลูกหนังอีกด้วย

วิล มากี (Will Magee) นักข่าวฟุตบอลชาวอังกฤษ ซึ่งศึกษาเรื่องราวฟุตบอลเชิงประติศาสตร์ เปิดเผยว่าในมุมมองของเขาแล้ว การจัดแข่งขันฟุตบอลในช่วงแรกเริ่ม ของประเทศสเปน เป็นเรื่องของผลประโยชน์ทางการเมือง มากกว่าแค่เรื่องของกีฬาแน่นอน

สุดท้ายแล้ว หากเราจะหาคำตอบที่แท้จริง ถึงความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สเปน กับกีฬาฟุตบอล เกิดขึ้นได้อย่างไร? หรือมีจุดประสงค์ใดแอบแฝง? อาจไม่ใช่คำตอบที่หาได้ง่ายดายนัก

 10

“มันมีเรื่องบางอย่างที่คุณไม่สามารถเล่าต่อไปได้” มาร์จาน สโตจ์เชฟ (Marjan Stojchev) แฟนบอลเรอัล มาดริด พันธ์ุแท้คนหนึ่งให้คำอธิบาย

“ผมศึกษาเรื่องราวของประเทศสเปน และฟุตบอลสเปน มาเป็นเวลานาน คุณไม่สามารถบอกได้ชัดเจนหรอก ว่าใครถูก หรือใครผิด สำหรับผมเรื่องพวกนี้ในฟุตบอลสเปน มันไม่มีขาว ไม่มีดำ”

“สเปนคือประเทศที่เต็มไปด้วยประวัติศาสตร์ และความแตกแยก เพราะประเทศนี้ ผู้คนมากจากหลากหลายแคว้น เพราะฉะนั้นแล้ว ทุกอย่างในประเทศนี้ ถูกตีความเป็นเรื่องของการเมืองเสมอ”

การหาคำตอบถึงจุดประสงค์ที่แท้จริง ของความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์สเปนกับฟุตบอล อาจเป็นเรื่องที่ต้องรอคอยต่อไป หากแต่ในอีกมุม ฟุตบอลสามารถเป็นเครื่องมือ ที่บอกเล่าเรื่องราว ทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และควรค่าต่อการศึกษาเรียนรู้ ไม่ให้เลือนหายไป จากหน้าประวัติศาสตร์

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "พระราชพิธีบรมราชาภิเษก" : จุดเริ่มต้นความสัมพันธ์สถาบันกษัตริย์กับฟุตบอลสเปน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook