30 ปีแห่งยุคสมัย “เฮเซ” วงการกีฬาญี่ปุ่นประสบความสำเร็จขนาดไหน?

30 ปีแห่งยุคสมัย “เฮเซ” วงการกีฬาญี่ปุ่นประสบความสำเร็จขนาดไหน?

30 ปีแห่งยุคสมัย “เฮเซ” วงการกีฬาญี่ปุ่นประสบความสำเร็จขนาดไหน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

8 มกราคม ปี 1989 ประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนจากยุคสมัยที่ชื่อว่า "โชวะ" หลังสมเด็จพระจักรพรรดิฮิโรฮิโตะสวรรคต และเข้าสู่ยุค "เฮเซ" อันเป็น รัชสมัยของ สมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะ…

ปัจจุบัน “ยุคเฮเซ” ได้สิ้นสุดลงแล้วเมื่อวันที่ 30 เมษายน 2019 ภายหลังสมเด็จพระจักรพรรดิอะกิฮิโตะสละราชสมบัติ ปิดฉากยุคสมัย 30 ปีจากปี 1989 ถึงปี 2019 และประเทศญี่ปุ่นได้เข้าสู่ยุค "เรวะ" ซึ่งมีความหมายว่า "ความสันติปรองดองอันรุ่งเรือง" อย่างเป็นทางการแล้วในวันที่ 1 พฤษภาคม 2019 เมื่อสมเด็จพระจักรพรรดินารุฮิโตะเสด็จขึ้นครองราชย์

"เฮเซ" มีที่มาจากบันทึกประวัติศาสตร์และปรัชญาของจีนสองเล่ม คือ "ฉื่อจี้" และ "ชูจิง" และเมื่อนำความหมายของทั้งสองคำมารวมกัน "เฮเซ" จึงมีความหมายว่า "สันติสุขทุกหนทุกแห่ง" ยุคเฮเซเริ่มต้นทันทีในวันหลังการขึ้นครองราชย์ของสมเด็จพระจักรพรรดิอากิฮิโตะเมื่อวันที่ 7 มกราคม ค.ศ. 1989

ในยุคเฮเซนั้นญี่ปุ่นได้เผชิญกับภาวะเศรษฐกิจฟองสบู่และวิกฤติเศรษฐกิจแห่งเอเชียในปี 1997 รวมถึงภัยพิบัติแผ่นดินไหวกับสึนามิที่ภูมิภาคโตโฮคุในปี 2011 ทว่าก็เป็นการเปลี่ยนวิกฤติเป็นโอกาสด้วยการปฏิรูปเศรษฐกิจและประเทศในด้านต่างๆ จนมีความเข้มแข็งและประสบความสำเร็จอย่างที่เห็นทุกวันนี้

"สันติสุขทุกหนทุกแห่ง" ไม่ได้เกิดขึ้นกับด้านสังคมและเศรษฐกิจเท่านั้น เมื่อเข้าสู่ยุค "เฮเซ" วงการกีฬาของญี่ปุ่นเติบโตและยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่เคยมีมา ไม่ใช่แค่การเป็นแชมป์เมื่อส่งทีมไปแข่งขันรายใหญ่ๆตามที่ต่างๆเท่านั้น แต่ในยุค เฮเซ นี้ ญี่ปุ่น สร้างแรงบันดาลใจในกีฬาแทบทุกประเภทจนทำให้เยาวชนหรือผู้คนในยุคนี้มีความหวังและฝันจะเป็นที่สุดของโลกให้ได้ทั้งๆที่ในวันที่เริ่มต้นและเริ่มคิดนั้นมันจะดูห่างไกลต่อสิ่งที่ฝันเป็นอย่างมากก็ตาม  และนี่คือผลลัพธ์ที่วงการกีฬาแดนอาทิตย์อุทัยทำได้ในยุคเฮเซ ที่สิ้นสุดรัชสมัย ...

เริ่มต้นที่สร้างแรงบันดาลใจ

การสร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการกีฬาที่แท้จริงของประเทศญี่ปุ่นนั้นเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1980 กับมังงะเรื่องที่กลายเป็นตำนานของโลกอย่าง "กัปตันซึบาสะ" ผลงานของ โยชิอิ ทาคาฮาชิ ที่เริ่มเขียนมาตั้งแต่ปี 1981 โดยเนื้อเรื่องคือกลุ่มเด็กๆที่รักฟุตบอลและฝันจะพาทีมชาติญี่ปุ่นเป็นแชมป์ฟุตบอลโลก ซึ่ง ณ เวลานั้นประเทศญี่ปุ่นยังไม่มีลีกฟุตบอลอาชีพจริงๆจังๆเลยด้วยซ้ำ  

กัปตันซึบาสะ นี่เองที่สร้างแรงฟุตบอลฟีเวอร์ให้ติดไฟขึ้นมาในประเทศญี่ปุ่นและหลังจากเข้าสู่ยุค เฮเซ ได้ไม่นานก็มี เจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพ พร้อมการพัฒนาเรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้ 

เมื่อ ซึบาสะ กรุยทางมาจากยุค '80 แล้ว เข้าสู่ยุค เฮเซ มังงะ เกี่ยวกับกีฬาหลายเรื่องที่ถูกเขียนขึ้นและมีอิทธิพลอย่างมากกับวงการกีฬาญี่ปุ่น และนี่คือลิสต์ของมังงะที่เป็นมากกว่าความบันเทิงแต่มันมันคือจุดเปลี่ยนแห่งพัฒนาการอย่างแท้จริง

- 1989 ตีพิมพ์ Hajime no Ippo ก้าวแรกสู่สังเวียน  : มังงะเกี่ยวกับกีฬาชกมวยเรื่องราวที่ถูกเล่าเรื่องโดย มาโนกุจิ อิปโป เด็กหนุ่มลูกชาวประมงที่ฝันอยากจะเป็นนักมวย โดยเรื่องนี้ ถือเป็นหนังสือการ์ตูนญี่ปุ่นที่ขายดีเป็นอันดับที่ 15 ทำยอดขายไป 90 ล้านเล่ม

- 1990 ตีพิมพ์ Slamdunk : มังงะ บาสเก็ตบอล ระดับตำนานที่เขียนขึ้นในปี 1990  และจบในปี 1996 โดย สแลมดังค์ นั้นทำยอดขายไปได้ทั้งสิ้น 120 ล้านเล่ม เป็นรองเพียงการ์ตูนแฟนตาซีผจญภัยอย่าง One Piece เท่านั้น 

Photo : Viz

นอกจาก 3 เรื่องนี้ที่ถูกยกขึ้นหิ้งเป็นตำนานแล้วยังมีมังงะกีฬาเกิดขึ้นอีกมากมายในยุค "เฮเซ"  ในกีฬาฟุตบอลนอกจาก ซึบาสะ แล้วยังมี อิตโต้ นักเตะเลือดกังฟู หรือจะเป็น Viva Calcio และ Shoot เป็นต้น ส่วนกีฬาอื่นอย่างก็มีมังงะทรงอิทธิพลเช่นกันอาทิ เบสบอล ที่มีเรื่อง Rookies และ Kyojin no Hoshi (ดาวแห่งไจแอนท์) เป็นต้น 

- 1994 กำเนิด Winning Eleven : ต้นกำเนิดของ "วินนิ่ง" หรือ "PES" ในปัจจุบันนั้นต้องย้อนกลับไปในปี 1994 โดยมีเกมฟุตบอลที่ชื่อว่า Jikkyō World Soccer: Perfect Eleven ซึ่งเป็นผลงานแรกที่เกียวกับฟุตบอลของ บริษัทผลิตเกมอย่าง Konami  สำหรับเครื่องเล่น Super Famicom 

หากคิดว่ามันคือเกมมันก็แค่เกม แต่หากมองลึกๆแล้ว Perfect Eleven เป็นอีกแรงบันดาลใจในด้านฟุตบอลของประเทศญี่ปุ่น เพราะในปี 1994 นั้น ญี่ปุ่น แทบไม่มีบทบาทในโลกฟุตบอลมากมายนัก ฟุตบอลโลกก็ไม่เคยไปเล่น ดังนั้นการที่คนญี่ปุ่นได้เล่นเกมนี้และใช้ทีมชาติตัวเองเจอกับทีมระดับโลกอย่าง เยอรมัน,บราซิล และ อิตาลี เป็นการเติมเต็มจินตนาการให้เห็นภาพว่าสักวันหนึ่งเราต้องทำได้อย่างในวีดีโอเกม 

Photo : Konami

การสร้างแรงบันดาลใจนั้นสำคัญพอๆกับการลงมือทำ เพราะต่อให้มีเยาวชนหรือนักกีฬาที่มีฝีมือระดับสูงแต่ถ้าพวกเขาขาดแรงจูงใจและไม่อยากทำ พรวรรค์และอุปกรณ์ก็ไร้ความหมาย  เกมและการ์ตูนคือสิ่งที่เข้าถึงใจเด็กๆและทุกเพศทุกวัยได้ง่าย และสำหรับชาวญี่ปุ่นนี่ไม่ใช่เรื่องไร้สาระอย่างแน่นอน

ต่อยอดด้วยความเอาจริงเอาจัง

การอ่านหรือดูเพียงอย่างเดียวไม่อาจจะทำให้ความฝันบรรลุผลได้ ในยุคเฮเซ นอกจากจะมีแรงบันดาลใจที่ดีแล้ว ญี่ปุ่น ยังเริ่มเดินหน้าเสนอตัวเป็นเจ้าภาพรายการกีฬาใหญ่ๆสำคัญๆมากมาย จริงอยู่ที่ โอลิมปิก ฤดูร้อนเคยจัดแข่งขันที่ญี่ปุ่นมาแล้วในปี 1964 แต่เมื่อเวลาเดินหน้าพวกเขากลับเอาจริงเอาจังและสร้างความแตกต่างยิ่งกว่าที่เคยเป็น

- โอลิมปิกฤดูหนาวปี 1998 

ปี 1990 ญี่ปุ่น ประกาศชิงเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1998 โดยส่งเมือง นากาโนะ เป็นเมืองหลักที่ใช้จัดแข่งขัน ณ เวลานั้นมีอีก 5 ประเทศที่ท้าชิงการเป็นเจ้าภาพได้แก่ อิตาลี,สเปน,สวีเดน, สหรัฐอเมริกา กับ สหภาพโซเวียต และในรอบสุดท้ายนั้นเหลือเพียง 2 เมืองที่เข้าชิงกันคือ นากาโนะ กับ ซอลต์ เลก ซิตี้ (สหรัฐอเมริกา) ซึ่งญี่ปุ่นชนะไปในการโหวตเมื่อปี 1991 ด้วยคะแนน 46 ต่อ 42  และผลดังกล่าวทำให้ญี่ปุ่น ได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูหนาวเป็นครั้งที่ 2 (ครั้งแรกในปี 1972 ที่ ซัปโปโร)

- โอลิมปิกฤดูร้อน 2020 

การท้าชิงตำแหน่งเจ้าภาพโอลิมปิก 2020 เกิดขึ้นจากการแข่งขันกันของ 6 ประเทศได้แก่ ญี่ปุ่น (โตเกียว), ตุรกี (อิสตันบูล), มาดริด (สเปน), อาเซอร์ไบจาน (บากู), กาตาร์ (โดฮา) และ อิตาลี (โรม)  ก่อนที่สุดท้าย ญี่ปุ่น จะชนะ ตุรกี ไปด้วยคะแนน 60 ต่อ 36 และได้เป็นเจ้าภาพโอลิมปิกฤดูร้อนครั้งที่ 2 ของประเทศ (ครั้งแรกปี 1964) สำหรับการได้เป็นเจ้าภาพในครั้งนี้ ญี่ปุ่น ใช้เงินกองทุนสำรองถึง 4 แสนล้านเยน (มากกว่า 3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ) เพื่อเตรียมการทั้งด้านการจัดการการแข่งขัน, การคมนาคม และ การสร้างภาพลักษณ์เพื่อความประทับใจอีกด้วย 

- ฟุตบอลโลก 2002 

ปี 1996 สหพันธ์ฟุตบอลนานาชาติ (ฟีฟ่า) ประกาศให้ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ เป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลก 2002 โดยเอาชนะ เม็กซิโก ในการโหวต ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ที่ฟุตบอลโลกจะมาฟาดแข้งในทวีปเอเชีย แม้จะดูเป็นการรวมพลังของชาติเอเชียที่นำฟุตบอลโลกมาจัดแข่งขันในทวีปเป็นครั้งแรก ทว่าแรกเริ่มเดิมทีนั้นทั้ง ญี่ปุ่น และ เกาหลีใต้ ตั้งความหวังไว้ที่การเป็นเจ้าภาพเดี่ยวๆกันทั้งคู่ ทว่า เลนนาร์ท โยฮันส์สัน รองประธานฟีฟ่าชาวสวีดิช ประกาศว่า ฟุตบอลโลกจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศอย่างมหาศาล และทั้ง 2 ประเทศแสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่ามีศักยภาพมากพอที่จะจัดการแข่งขันได้ ซึ่งฟีฟ่าเองไม่ต้องการเลือกประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น การเป็นเจ้าภาพร่วมฟุตบอลโลกครั้งแรกในประวัติศาสตร์จึงเกิดขึ้นอย่างเป็นทางการ

ผลิดอกออกผล 

หลังจากมีการสร้างแรงบันดาลใจให้คนญี่ปุ่นกล้าคิดกล้าฝัน รวมถึงการลงมือสร้างโอกาสให้กับคนในประเทศได้เห็นถึงความยิ่งใหญ่ของโลกกีฬาจนมีการพัฒนาด้านศักยภาพเกิดขึ้นเป็นอย่างมากนับตั้งแต่เริ่มเข้าสู่ยุค เฮเซ ที่กีฬาหลากหลายชนิดเริ่มตบเท้าเข้าสู่เวทีการแข่งขันระดับโลกมากขึ้นเรื่อยๆ บางชนิดกีฬาพัฒนาไปจนถึงระดับแชมป์โลกเลยก็มี   

นับตั้งแต่เริ่มยุคเฮเซจนสิ้นสุดยุคสมัย วงการกีฬาญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างชัดเจนแบบไหนขึ้นบ้าง

- 1991 ทีมฟุตบอลหญิงแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรก

ทีมฟุตบอลหญิงของญี่ปุ่นได้เข้าแข่งขันฟุตบอลโลกเป็นครั้งแรกในปี 1991 ในการแข่งขันที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรกที่ประเทศจีนเป็นเจ้าภาพ ในการแข่งขันครั้งนั้นมีทีมเข้าแข่งทั้งหมด 12 ทีม และมีตัวแทนจากเอเชีย 3 ทีม (จีน,ญี่ปุ่น,ไต้หวัน) ครั้งแรกเป็นเหมือนการลองเข้าไปหยั่งฝีมือตัวเองดูว่าห่างจากทีมระดับโลกขนาดไหน สรุปคือ ญี่ปุ่น เป็นทีมที่อ่อนที่สุดใน 12 ทีม เพราะตกรอบแบ่งกลุ่มด้วยการมี 0 แต้ม ยิงประตูใครไม่ได้เลยแม้แต่ลูกเดียว และเสียไปถึง 12 ลูก  ว่ากันตามสถิติและผลงานในครั้งนี้พอจะวิเคราะห์ได้ว่า ญี่ปุ่น ยังเป็นรองแม้แต่ทีมอย่าง ไต้หวัน ที่เก็บได้ถึง 2 คะแนนอยู่ด้วยซ้ำไป

- 1993 เจลีก ลีกฟุตบอลอาชีพญี่ปุ่นเปิดตัว

ก่อนหน้าที่พวกเขาจะมีลีกอาชีพอย่างเต็มตัว สโมสรในประเทศญี่ปุ่นล้วนมาจาก 2 ประเภทหลัก คือทีมจากมหาวิทยาลัย และ ทีมของบริษัท แต่เมื่อไม่เป็นทีมอาชีพจึงยากที่จะพัฒนาให้ทันชาติอื่นๆได้นั่นจึงทำให้ เจลีกจึงได้ก่อตั้งขึ้นในปี 1992 และเริ่มแข่งขันครั้งแรกในปี 1993 โดยนัดเปิดสนามเป็นการพบกันของ เวอร์ดี คาวาซากิ (ปัจจุบันคือ โตเกียว เวอร์ดี) กับโยโกฮามะ เอฟ มารินอส ที่สนามกีฬาแห่งชาติ คาซูมิงาโอกะ ซึ่งการกำเนิดเจลีกส่งผลอย่างมากกับพัฒนาการที่ก้าวกระโดดภายในระยะเวลาอันรวดเร็วของวงการฟุตบอลญี่ปุ่นจนกลายเป็นทีมหัวแถวของเอเชียอย่างเต็มตัว

- 1994 คาซูโยชิ มิอุระ นักเตะญี่ปุ่นคนแรกในเซเรียอา

แม้จะไม่ใช่ปฐมบุรุษแห่งชาวญี่ปุ่นที่ได้ไปเล่นยุโรปเป็นคนแรก (ยาสุฮิโก โอคุเดระ ไปเล่นในเยอรมันกับ เอฟซี โคโลญจน์, แฮร์ธ่า เบอร์ลิน และ แวร์เดอร์ เบรเมน ปี 1977) แต่ คาซูโยชิ มิอุระ หรือ "คิงคาซู" คือผลผลิตที่ได้รับการต่อยอดจากการที่ เจลีก เป็นลีกอาชีพอย่างแท้จริงเพราะหลังจากไปเล่นใน บราซิล แต่ไม่ประสบความสำเร็จมากนักในช่วงปลายยุค '80 เขากลับมาเป็นนักเตะที่เก่งที่สุดในลีกญี่ปุ่นในสมัยเล่นให้ โตเกียว เวอร์ดี้ ก่อนจะถูก เจนัว ทีมจากลีกสูงสุดของอิตาลี ทาบทาม ไปร่วมท้พในปี 1994 ด้วยสัญญายืมตัว 1 ฤดูกาล นอกจากนี้ คาซู ยังทำสถิติเป็นผู้เล่นญี่ปุ่น (และเอเชีย) คนแรกที่ได้ลงสนามในเกมอย่างเป็นทางการและยังยิงประตูแรกซึ่งเป็นประตูประวัติศาสตร์ได้ในเกมที่เอาชนะ ซามพ์โดเรีย อีกด้วย

- 1998 ทีมฟุตบอลชายแข่งฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายครั้งแรก

7 ปีหลังปล่อยให้ทีมหญิงกรุยทางไปฟุตบอลโลกก่อน ในที่สุดทีมชายของญีปุ่นก็ได้ไปฟุตบอลโลกครั้งแรกในการแข่งขันปี 1998 ที่ฝรั่งเศส สาเหตุของก้าวสำคัญครั้งนี้คงหนีไม่พ้นการเป็นลีกอาชีพของ เจลีก ที่สร้างนักเตะระดับคุณภาพมากขึ้นยิ่งกว่าเดิม ผู้เล่นทั้ง 23 คนของญี่ปุ่นค้าแข้งในบ้านเกิดทั้งหมด แม้ว่าการแข่งขันทั้ง 3 เกม อาจจะไม่ประสบกับชัยชนะเลย แพ้รวด 3 นัด แต่ ญี่ปุ่น ก็ยิงได้ 1 ประตูจาก มาซาชิ นากายามะ ดาวยิงจาก จูบิโล่ อิวาตะ ที่ทำได้ในเกมแพ้ จาไมก้า 1-2  อย่างไรก็ตามเหนือกว่าการแข่งขันและความสำเร็จคือฟร้องค์ 98 เป็นเวทีที่ทำให้นักเตะทีมชาติญี่ปุ่นชุดนี้ ได้เริ่มสร้างประวัติศาสตร์ครั้งใหญ่ในภายหลัง โดยเฉพาะดาวเตะหมายเลข 8 ในทีมชุดนั้นที่ชื่อว่า ฮิเดโตชิ นากาตะ....

- 2001 ฮิเดโตชิ นากาตะ นักเตะญี่ปุ่นคนแรกคว้าแชมป์ เซเรีย อา

หลังจากจบฟุตบอลโลก 1998 "ฮิเดะ" ได้ย้ายจาก เบลมาเร่ ฮิราซึกะ (โชนัน เบลมาเร่ ในปัจจุบัน) ไปค้าแข้งใน อิตาลี กับ เปรูจา ทันที ก่อนจะสร้างผลงานให้โลกได้รู้ว่านักเตะญี่ปุ่นหรือเอเชียนั้นมีฝีเท้าไม่ธรรมดา เขาเล่นให้กับ เปรูจา 2 ปี ก็กลายเป็นนักเตะญี่ปุ่นที่มีค่าตัวถึง 21 ล้านยูโรหลังจากย้ายไปอยู่กับ โรม่า ตลาดซื้อขายฤดูหนาวปี 2000  นากาตะ ใช้เวลาเพียงปีเดียวเปลี่ยนตัวเองกลายเป็นแข้งกำลังหลักของ หมาป่ากรุงโรม ด้วยการพาทีมคว้าแชมป์ กัลโช่ เซเรีย อา ในฤดูกาล 2000-2001 เคียงข้างกับแข้งระดับโลกอย่าง กาเบรียล บาติสตูต้า,วินเซนโซ่ มอนเตลล่า และ ฟรานเชสโก้ ต็อตติ

- 2001 จุนอิจิ อินาโมโตะ นักเตะญี่ปุ่นคนแรกในพรีเมียร์ลีก

การมาและสร้างตำนานของ นากาตะ เป็นเหมือนการกรุยทางให้แข้งรุ่นหลังสำหรับการมาค้าแข้งในยุโรป และทำให้สโมสรในยุโรปเปิดใจกับนักเตะเอเชียที่มีคุณภาพ ซึ่งในปี 2001 จุนอิจิ อินาโมโตะ ก็ได้ย้ายไปอยู่กับ อาร์เซน่อล ทีมระดับหัวแถวของพรีเมียร์ลีก  แม้ อินาโมโตะ จะไม่ได้ลงเล่นในเกมลีกเลย แต่ก็ได้ลงในเกมยุโรปกับเอฟเอ คัพ ไปทั้งหมด 4 เกม ก่อนจะได้พิสูจน์ตัวเองในภายหลังกับทีมอย่าง ฟูแล่ม,เวสต์บรอมวิชฯ และ คาร์ดิฟฟ์ ซิตี้ 

- 2001 อิจิโร ซูซูกิ นักเบสบอลญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ตำแหน่ง MVP ของ MLB

แฟนกีฬาชาวไทยอาจจะไม่รู้จัก อิจิโร ซูซูกิ ในวงกว้าง ทว่าเขาคือไอค่อนแห่งวงการเบสบอลของชาวญี่ปุ่น เปรียบเทียบให้เห็นภาพก็ยิ่งใหญ่ไม่แพ้ คาซู หรือ นากาตะ เลย เพราะ อิจิโรคือนักเบสบอลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคเฮเซ (ตั้งแต่ปี 1989-2019) ชีวิตของ ซูซูกิ นั้นเจ้าตัวได้เปรียบเทียบตัวเองกับการ์ตูนเรื่อง Kyojin no Hoshi (ดาวแห่งไจแอนท์) มังงะเกี่ยวกับเบสบอลที่ตัวละครเอกทุ่มเทให้กับกีฬาอย่างหนักเพื่อเป็นที่ 1 จนก้าวข้ามความสนุกไปอีกระดับ  ซึ่งมันเป็นเหตุผลที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จทุกอย่างในการเล่นในประเทศญี่ปุ่น ก่อนจะย้ายไปลีกอันดับ 1 ของโลกอย่าง เมเจอร์ลีกเบสบอล(MLB) เพื่อเป็นการพิสูจน์ตัวเอง....หากถามว่าเขาทำสำเร็จหรือไม่ให้ดูกันที่ผลงานจะง่ายกว่า ปีแรกเท่านั้น ในสีเสื้อของ ซีแอตเทิล มาริเนอร์ส อิจิโร ก็สามารถประกาศศักดาคว้ามาได้ทั้งรางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และผู้เล่นยอดเยี่ยม (MVP) ซึ่งมีเพียง 2 คนในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำได้

- 2004 ยูตะ ตาบุเสะ นักบาสเกตบอลญี่ปุ่นคนแรกใน NBA 

บาสเก็ตบอลไม่ใช่กีฬาสำหรับพวกยุโรป หรือ แอฟริกัน-อเมริกัน เท่านั้น อย่างที่เรื่อง Slamdunk ได้สร้างแรงบันดาลใจกรุยทางเอาไว้ ยูตะ ตาบุเสะ ถือเป็นผู้เล่นสัญชาติญี่ปุ่นแท้ๆ คนแรกที่ได้ลงเล่นใน NBA กับทีม ฟีนิกซ์ ซันส์ แม้จะได้ลงเล่นเพียง 4 นัดก็ตาม แต่ชื่อเสียงที่สร้างมาตั้งแต่สมัยเล่นในระดับมัธยม รวมถึงยังเป็นนักแม่นห่วงจากแดนอาทิตย์อุทัยที่สามารถก้าวถึงระดับ NBA ได้ ทำให้เขาได้ฉายา ‘ไมเคิ่ล จอร์แดน แห่งญี่ปุ่น’ 

- 2005  กำเนิด "ปฏิญญา JFA 2050"

7 ปีหลังจากเข้าแข่งขันฟุตบอลโลกครั้งแรก และ 3 ปีหลังจากได้เป็นเจ้าภาพแบบไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ญี่ปุ่น จึงได้จัดแผนงานเพื่อพัฒนาวงการฟุตบอลเต็มรูปแบบ "The JFA Declaration" หรือ "ปฏิญญา JFA" การสร้างปฎิญญานี้คือมาไม่ใช่การวาดฝันและสร้างแรงบันดาลใจเหมือนกับการ์ตูน แต่มันคือการวางแผนเพื่อลงมือทำของจริง และเป้าหมายระยะยาวที่ต้องบรรลุก่อนปี 2050 คือ จำนวนแฟนบอลและบุคลากรที่เกี่ยวกับฟุตบอล ต้องมีจำนวน 10 ล้านคน รวมถึง ญี่ปุ่นต้องเป็นเจ้าภาพฟุตบอลโลกและได้แชมป์โลก! .... ย้อนกลับไปในตอนนั้นมันดูช่างห่างไกลความจริงเสียเหลือเกิน แต่ปัจจุบันทั่วโลกได้เห็นภาพชัดเจนขึ้นเรื่อยว่า "ปฏิญญา JFA 2050" ไม่ใช่การร่างนโยบายขายฝัน แต่เป็นการกำหนดทิศทางที่พวกเขากำลังเดินตามรอยจริงๆ

- 2011 ทีมฟุตบอลหญิงคว้าแชมป์โลก

หลักฐานที่ชัดเจนของการสร้างปฎิญญา JFA 2050 เพราะเพียง 6 ปีให้หลังเท่านั้นแชมป์ฟุตบอลโลกถ้วยแรกก็มาประดับที่ประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อยแล้วหลังจากทีมฟุตบอลหญิง เดินทางไปแข่งรอบสุดท้ายที่ประเทศเยอรมัน ก่อนจะคว้าแชมป์ด้วยการดวลจุดโทษชนะ สหรัฐอเมริกา ทีมอันดับ 1 ของโลกได้สำเร็จ 

ความสำเร็จในครั้งนั้นมากมายมหาศาลยิ่งกว่าถ้วยแชมป์ ญี่ปุ่น ประกาศต่อหน้าคนทั่วโลกอีกครั้งว่าหากพวกเขาคิดจะทำอะไรจริงและมีเวลาสำหรับการพัฒนาแล้วทั่วโลกจะต้องจับตาและให้ความเคารพพวกเขาอย่างที่สุด 20 ปีก่อน (ปี 1991) ทีมหญิงของญี่ปุ่นไปแข่งฟุตบอลโลกครั้งแรกและแพ้รวดยิงใครไม่ได้แถมเสียประตูมากที่สุด แต่ครั้งนี้หลายสิ่งเปลี่ยนไป ญี่ปุ่น คว้าแชมป์ด้วยเรื่องความฟิตของร่างกาย และการรู้เขารู้เรา สิ่งใดควรทำ และอะไรคือทีเด็ดในการเอาออกมาใช้ในการแข่งขัน  และท้ายที่สุดคือการเล่นแบบทีมเพลย์ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วมันตอบแทนด้วยตำแหน่งแชมป์ และผู้เล่นญี่ปุ่นก็ติดทีมยอดเยี่ยมของการแข่งขันในครั้งนี้ถึง 4 คน มากที่สุดในบรรดาทุกชาติที่เข้าแข่งขัน 

- 2012 โคเฮ อุจิมุระ คว้าแชมป์โลก+เหรียญทองโอลิมปิกยิมนาสติกบุคคลรวมอุปกรณ์ 4 ปีติดคนแรก

เป็นอีกครั้งที่เราอาจจะไม่ได้ยินชื่อของ โคเฮ อุจิมุระ มากนักเหมือนกับนักกีฬาชนิดอื่นๆ แต่นักยิมนาสติกรายนี้ถือว่าเป็นสุดยอดของมนุษย์โลกเลยทีเดียว โคเฮ อุจิมุระ เก่งจนได้ฉายาว่า "ซูเปอร์แมน" หลังจากคว้าแชมป์โลกยิมนาสติกสากลประเภทบุคคลชายมาแล้วถึง 6 ครั้งติดต่อกัน ขณะที่ในปีโอลิมปิก ซึ่งศึกชิงแชมป์โลกหลีกทางให้ "ซูเปอร์แมน" คว้าเหรียญทองโอลิมปิกยิมนาสติกบุคคลรวมอุปกรณ์ 2 ครั้งซ้อน เท่ากับว่าตลอดวงรอบโอลิมปิก 4 ปี โคเฮ อุจิมุระ คือนักยิมนาสติกชายเบอร์ 1 ของโลก แถมเขายังทำได้ถึง 2 ครั้ง นั่นคือการเป็นเบอร์ 1 มาตั้งแต่ปี 2009-2016 อีกด้วย 

- 2013 ชินจิ คางาวะ นักเตะญี่ปุ่นคนแรกคว้าแชมป์พรีเมียร์ลีก

วงการฟุตบอลญี่ปุ่นเดินหน้าอย่างไม่มีหยุดยั้ง หลังจากผ่านยุคมิลเลเนียมเป็นต้นมามีนักเตะหลายคนถูกส่งออกไปยังยุโรป และหนึ่งในคนที่ประสบความสำเร็จที่สุดคือ ชินจิ คางาวะ ดาวรุ่งที่ย้ายมาอยู่กับ โบรุสเซีย ดอร์ทมุนด์ ด้วยค่าตัวเพียง 350,000 ยูโร จาก เซเรโซ โอซาก้า และหลังจากช่วงเวลานั้นคือปีที่ดีที่สุดของ คางาวะ เพราะเจ้าตัวพาทีมคว้าดับเบิลแชมป์ในฤดูกาล 2011/12 ซึ่งผลงานดังกล่าวไปเข้าตา เซอร์ อเล็กซ์ เฟอร์กูสัน ดึงตัวมาร่วมทีมกับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ทันที   

แม้ช่วงเวลาที่โอลด์ แทรฟฟอร์ด จะไม่ประสบความสำเร็จมากนัก แต่ ชินจิ คางาวะ กลายเป็นผู้เล่นญี่ปุ่นคนแรกที่คว้าแชมป์พรีเมียร์ลีกร่วมกับปีศาจแดงในฤดูกาล 2012-13 นอกจากนี้เขายังเป็นผู้เล่นเอเชียคนแรกที่ยิงแฮตทริกในเกมพรีเมียร์ลีกได้อีกด้วย 

- 2018 นาโอมิ โอซากา นักเทนนิสคนแรกที่คว้าแชมป์แกรนด์ แสลม 

นาโอมิ โอซากา นักเทนนิสสาววัย 20 ปี เป็นลูกครึ่ง เฮติ-ญี่ป่น มีพื้นเพทางเทนนิสที่ดีตั้งแต่เด็กโดยได้เรียนกับโค้ช ซาช่า บาชิน ที่เคยเป็นติวเตอร์สร้างนักหวดระดับโลกอย่าง เซเรน่า วิลเลียมส์, วิคตอเรีย อซาเรนกา และ คาโรไลน์ วอซเนียคกี มาก่อน 

เส้นทางของ โอซากา ก่อนจะมาเป็นแชมป์นั้นถือว่าไม่ได้โปรยด้วยกลีบกุหลาบเพราะ  ญี่ปุ่น คือประเทศที่มีความเป็นชาตินิยมสูง หากไม่ใช่สายเลือดบูชิโดของแท้ก็มักจะไม่ได้เป็นที่ยอมรับมากนัก ดังนั้นการคว่ำผู้หญิงอันดับ 1 ของวงการเทนนิสอย่าง เซเรน่า วิลเลี่ยมส์ ในยูเอส โอเพ่นและกลายเป็นนักเทนนิสหญิงมือ 1 ของโลก จึงเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่และปลดแอกคำวิจารณ์ทั้งหมดที่เธอเคยได้เจอมาตลอด แถมยังมาคว้าแชมป์ ออสเตรเลียน โอเพ่น เมื่อต้นปี 2013 ทำให้ ณ ตอนนี้ นาโอมิ โอซากะ คือความหวังใหม่ของวงการเทนนิสญี่ปุ่นสำหรับการคว้าเหรียญทองใน โอลิมปิก ที่โตเกียว ในปี 2020 

จากสิ่งที่ได้กล่าวมาทั้งหมดจะเห็นได้ว่าเมื่อประเทศญี่ปุ่นได้เปลี่ยนเข้าสู่ยุค "เฮเซ" นั้นวงการกีฬาของพวกเขาเติบโตขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มีกีฬาหลายๆประเภทที่ก้าวไปเป็นที่ 1 ไม่ใช่แค่สำหรับทวีปเอเชียเท่านั้น แต่นักกีฬาญี่ปุ่นยังประสบความสำเร็จในฐานะแชมป์ระดับโลกมาแล้วทั้งสิ้น 

จริงๆแล้ว "เฮเซ" อาจจะเป็นแค่ช่วงเวลาที่ประจวบเหมาะกับความพีกของวงการกีฬาญีปุ่นเท่านั้น เพราะทุกอย่างทุกขั้นตอนในการพัฒนาของญี่ปุ่นมีการสร้างกรอบและร่างเส้นเอาไว้อย่างชัดเจน ทุกอย่างสัมพันธ์กันการ์ตูนและเกมสร้างแรงบันดาลใจให้กับนักกีฬา ขณะที่นักกีฬาก็พัฒนาตัวเองตามแผนที่วางไว้ เมื่อทุกฝ่ายจะร่วมกันจากจุดที่ 1 ไปยังจุดที่ 2 และจุดที่สาม เรื่อยไปจนถึงจุดสุดท้ายที่บรรลุเป้าหมาย เมื่อนั้นญี่ปุ่นมีสิทธิ์หวังที่จะเป็นที่ 1 ของโลกได้เสมอ ไม่ว่าจะอยู่ในยุคสมัยใดก็ตาม 

และเมื่อเข้าสู่ยุค “เรวะ” ญี่ปุ่นเองก็มี 2 งานใหญ่ในวงการกีฬารออยู่ทันที นั่นคือการเป็นเจ้าภาพ รักบี้ชิงแชมป์โลก 2019 ที่ยิงยาวตั้งแต่เดือนกันยายน-พฤศจิกายน รวมถึงมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน 2020 ที่กรุงโตเกียว วงการกีฬาของญี่ปุ่นจะพัฒนาก้าวไกลในยุคสมัยใหม่ที่เปิดฉากขึ้นแล้วเพียงใด เราคงต้องมาติดตามกัน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook