โศกนาฏกรรมที่ทำให้ "เมอร์เซเดส-เบนซ์" อำลาวงการความเร็วกว่า 3 ทศวรรษ

โศกนาฏกรรมที่ทำให้ "เมอร์เซเดส-เบนซ์" อำลาวงการความเร็วกว่า 3 ทศวรรษ

โศกนาฏกรรมที่ทำให้ "เมอร์เซเดส-เบนซ์" อำลาวงการความเร็วกว่า 3 ทศวรรษ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากพูดถึงวงการมอเตอร์สปอร์ตส์… เมอร์เซเดส-เบนซ์ น่าจะเป็นชื่อที่แฟนๆกีฬาความเร็วนึกออกเป็นอันดับต้นๆ จากผลงานความสำเร็จในสนามตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม กลับมีอยู่ช่วงเวลาหนึ่งที่พวกเขาตัดสินใจยุติบทบาทตัวเองจากวงการแข่งรถถึงกว่า 30 ปี ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้น ยานยนต์ตราดาวสามแฉกกำลังประสบความสำเร็จยิ่งใหญ่ในฐานะ แชมป์โลกรถสูตรหนึ่ง หรือ Formula 1

 

แน่นอน การตัดสินใจก้าวลงจากบัลลังก์ทั้งๆที่ยังนั่งในตำแหน่งสูงสุด ย่อมต้องมีสาเหตุหรือเหตุการณ์ซักอย่างที่ไปกระตุ้นให้เกิดการตัดสินใจเช่นนั้น… แต่มันเกิดอะไรขึ้นกันแน่ล่ะ?

ตำนานศรเงิน

จากรถยนต์คันแรกของโลกที่สร้างขึ้นโดย คาร์ล เบนซ์ นักประดิษฐ์ชาวเยอรมันเมื่อปี 1885 เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ได้เติบโตสู่การเป็นบริษัทผู้ผลิตรถยนต์ชั้นนำของโลกตั้งแต่ช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เป็นต้นมา

 1

และแน่นอน หนึ่งในวิธีที่จะบอกกล่าวความยิ่งใหญ่ของค่ายรถยนต์ได้ดีที่สุด ก็คือการส่งมันไปคว้าชัยในสนามแข่งขัน เบนซ์จึงได้เข้าร่วมการแข่งขันรถยนต์มาตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 1 หรือก่อนที่พันธมิตรทางยานยนต์ไม่ว่าจะจากฝั่งของ คาร์ล เบนซ์ และ ก็อตลีบ เดมเลอร์ จะจับมือรวมบริษัทเป็นหนึ่งเดียวภายใต้ชื่อที่คุ้นเคยในตอนนี้ (ชื่อ เมอร์เซเดส มาจากชื่อลูกสาวของ เอมิล เยลลิเน็ก นักธุรกิจผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จทางยอดขายในยุคแรกเริ่ม) เมื่อปี 1926 เสียอีก

แต่ช่วงเวลาที่เบนซ์สร้างตำนานความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเองในวงการความเร็ว เกิดขึ้นในยุค 1930s หรือยุคเดียวกับที่ "พระองค์เจ้าพีระ" พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าพีรพงศ์ภาณุเดช เริ่มสร้างชื่อในสนามแข่งขัน พร้อมกับเรื่องราวที่ทำให้พวกเขาเป็นที่กล่าวขานในชื่อ "ศรเงิน" หรือ "Silver Arrow"...

อันที่จริง รถยนต์จากค่ายเมอร์เซเดส-เบนซ์ รวมถึงค่ายอื่นๆในประเทศเยอรมนี จะใช้สีขาว ซึ่งเป็นสีที่ถือเป็นสัญลักษณ์ของแต่ละประเทศที่ส่งทีมแข่งขันยุคนั้น ทว่าในการแข่งขันรายการ Eifelrennen ที่สนามเนอร์เบิร์กริง เมื่อปี 1934 ก็ได้เกิดจุดเปลี่ยนสำคัญ เมื่อรถเบนซ์ที่ใช้แข่งขันรายการดังกล่าวเกิดมีน้ำหนักเกินกว่าที่กฎระบุ ทีมช่างจึงตัดสินใจขัดสีขาวที่พ่นไว้ออกจนเหลือแต่สีเงินของเหล็ก ทำให้ลดน้ำหนักลงมาตามเกณฑ์ได้พอดี มิหนำซ้ำ ยังสามารถคว้าชัยชนะในการแข่งได้อีก

 2

นับตั้งแต่นั้นมา รถยนต์สีเงินพะโลโก้ดาวสามแฉกก็กวาดชัยชนะในสนามแข่งรายการต่างๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 บังเกิด กิจกรรมการแข่งขันรถยนต์ทุกอย่างจึงต้องถูกยุติลง และเนื่องจากเยอรมนี ผู้นำฝ่ายอักษะเป็นฝ่ายแพ้สงคราม เบนซ์จึงต้องใช้เวลานานกว่าค่ายรถอื่นๆ ในการกลับสู่สนามแข่งอีกครั้ง

แต่เสืออยู่ที่ไหนก็ยังเป็นเสือ เพราะเมื่อเบนซ์กลับเข้าสู่สังเวียนความเร็วในการแข่งขันรถสูตรหนึ่งปี 1954 พวกเขาก็ประสบความสำเร็จในทันที... แค่สนามแรกที่ลงแข่งในประเทศฝรั่งเศส (แต่เป็นสนามที่ 4 ของฤดูกาล) ฮวน มานูเอล ฟานจิโอ ยอดนักซิ่งชาวอาร์เจนติน่าเจ้าของแชมป์โลกปี 1951 ที่เบนซ์ไปดึงตัวมาจากทีมมาเซราติกลางฤดูกาล ก็สามารถคว้าชัยชนะได้เลย พร้อมกับกวาดแชมป์เพิ่มอีก 3 สนาม เมื่อรวมกับอีก 2 สนามที่ทำได้กับทีมเก่า ฟานจิโอจึงคว้าแชมป์โลกสมัยสองของตัวเอง และเป็นแชมป์โลกครั้งแรกของเมอร์เซเดส-เบนซ์ ได้สำเร็จ ก่อนที่จะคว้าแชมป์โลกต่อเนื่องได้อีกในปี 1955

 3

แต่ในขณะที่กำลังอยู่บนจุดสูงสุดของโลกความเร็ว เมอร์เซเดส-เบนซ์ กลับตัดสินใจทำในสิ่งที่ช็อกคนทั้งวงการ เมื่อพวกเขาประกาศถอนทีมจากการแข่งขันรถยนต์ทุกรายการหลังจากฤดูกาล 1955 จบลง…

เหตุเกิดที่ เลอ ม็องส์

การถอนทีมจากการแข่งขันกีฬาต่างๆ โดยทั่วไปแล้วมักจะมีที่มาไม่กี่อย่าง หากไม่ใช่ความล้มเหลวที่มีมาอย่างต่อเนื่องจนไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ก็มักจะเป็นปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หรือไม่ก็ความอิ่มตัวของฝ่ายบริหาร

 4

ทว่าสำหรับ เมอร์เซเดส-เบนซ์ แล้ว การถอนตัวจากวงการความเร็วทุกรายการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง F1 ซึ่งพวกเขาเพิ่งเข้ามาสู่วงการเพียง 2 ปี และยังมีไฟกระหายความสำเร็จต่อไปเรื่อยๆนั้น แน่นอนว่านี่ไม่ใช่เรื่องปกติ

ปรากฎว่า การถอนตัวจากการแข่งขันรถยนต์ของ เมอร์เซเดส-เบนซ์ มีเบื้องหลังจากเหตุการณ์หนึ่ง ซึ่งหากอธิบายความสั้นๆด้วยคำเดียว สิ่งที่ตรงกับเรื่องที่เกิดขึ้นมากสุดคงหนีไม่พ้นคำว่า… โศกนาฏกรรม

เหตุการณ์ดังกล่าวต้องย้อนกลับไปถึงปี 1955 ในศึกเลอ ม็องส์ 24 ชั่วโมง ที่ประเทศฝรั่งเศส การแข่งขันรถยนต์แบบเอ็นดูรานซ์ แข่งความอึดทั้งคนและรถรายการใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งหลังจากการแข่งขันเปิดฉากได้เพียง 2 ชั่วโมง เหตุสลดก็บังเกิดขึ้น

 5

จังหวะดังกล่าว ไมค์ ฮอว์ธอร์น นักแข่งชาวอังกฤษจากทีมจากัวร์ ซึ่งกำลังนำการแข่งขันเพิ่งจะน็อกรอบ แลนซ์ แมคคลิน นักแข่งทีมอิสระเพื่อนร่วมชาติที่ใช้รถยนต์ออสติน ฮีลี่ย์ ได้สำเร็จ และด้วยการแข่งขันที่ยาวนานถึง 24 ชั่วโมง แน่นอน ไม่มีใครหรือรถคันไหนสามารถวิ่งรวดเดียวได้โดยไม่ต้องหยุดพัก ฮอว์ธอร์นจึงตัดสินใจเข้าพิทตามคำสั่งของทีมที่ให้ไว้เมื่อ 1 รอบก่อนหน้า

ประเด็นก็คือ เซอร์กิต เดอ ลา ซาร์ธ สังเวียนศักดิ์สิทธิ์แห่งศึกเลอ มองส์ ณ ปี 1955 ไม่ได้มีระบบความปลอดภัยเหมือนกับยุคนี้ เพราะในยุคสมัยนั้น พื้นที่ของพิทสต็อปที่รถแข่งจะเข้ามาจอดเปลี่ยนยาง เติมน้ำมัน รวมถึงซ่อมแซมและเปลี่ยนคนขับ คือเลนขวาสุดของแทร็ก ไม่ได้เป็นพื้นที่แยกออกมาต่างหาก เมื่อฮอว์ธอร์นหักเข้าขวาเพื่อเตรียมเข้าพิท แมคคลินที่ตามมาข้างหลังจึงต้องหักออกซ้ายเพื่อหลบรถข้างหน้า

 6

แต่สิ่งที่แมคคลินไม่ทันสังเกต เพราะรถแข่งในยุคนั้นไม่มีสิ่งที่เรียกว่า กระจกมองหลัง ก็คือ เบื้องหลังเขามีรถตามมาอีกหลายคัน และคันแรกที่ตามมาก็คือ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ของ ปิแอร์ เลอเวค นักซิ่งชาวฝรั่งเศส ที่กำลังเหยียบคันเร่งมิดเพื่อหมายแซงแมคคลินขึ้นไปพอดี…

โกลาหลและสยองขวัญ

โครม!

 7

ด้วยความเร็วกว่า 200 กิโลเมตร/ชั่วโมง เมอร์เซเดส-เบนซ์ ของเลอเวค หลบไม่ทัน สอยท้าย ออสติน ฮีลี่ย์ ของแมคคลินเข้าเต็มๆ… ตัวเลอเวคไม่มีโอกาสได้ตอบสนองใดๆทั้งสิ้น นอกจากยกมือขึ้นเพื่อให้รถคันที่ตามหลัง ซึ่งมี ฮวน มานูเอล ฟานจิโอ อยู่ในกลุ่มดังกล่าวระวังตัวเท่านั้นเอง  

และด้วยการออกแบบของผู้ผลิตที่ให้ส่วนท้ายของ ออสติน ฮีลี่ย์ คันดังกล่าวลาดลงเพื่อช่วยในเรื่องของอากาศพลศาสตร์ รถเบนซ์จึงไม่ใช่แค่พุ่งประสานงา แต่เป็นการปีนท้ายคันข้างหน้าจนลอยสู่อากาศทันที

สิ่งที่ตามมาหลังจากนั้น คือรถพุ่งเข้าใส่กำแพงเตี้ยๆที่กั้นระหว่างตัวแทร็กกับกลุ่มคนดู ด้วยความเร็วขนาดนั้นมันจะไปเหลืออะไร?… เมอร์เซเดส-เบนซ์ ตัวแรงของเลอเวคกระแทกกำแพงที่ว่าอย่างรุนแรงจนรถระเบิดฉีกเป็นชิ้นๆ เศษซากกระจายไปคนละทิศละทาง แต่จุดหมายกลับเป็นสิ่งเดียวกัน คือพุ่งใส่คนดูทั้งที่ยืนอยู่ขอบสนามและบนแกรนด์สแตนด์

 8

จิมมี่ พริกเก็ต ทหารชาวอเมริกัน หนึ่งในผู้ชมเลอ ม็องส์ คราวนั้นได้บันทึกภาพเหตุการณ์หลังจากอุบัติเหตุดังกล่าว... จากสิ่งที่เกิดขึ้นผ่านสายตา ดูเหมือนคำอธิบายเหตุการณ์นี้สำหรับเขามีได้แค่คำเดียวเท่านั้น

นี่ยังกับเขตสงครามชัดๆ

ศพผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับบาดเจ็บกระจัดกระจายไปทั่วบริเวณ ผู้คนต่างวิ่งหนีเอาชีวิตรอด ขณะที่บางคนซึ่งยังครองสติได้ ก็พยายามช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บอย่างสุดความสามารถ

 9

ถึงกระนั้น การช่วยเหลือและกู้ซากก็เป็นไปอย่างยากลำบาก ต้องใช้เวลา 2 ชั่วโมงกว่าที่เหตุวุ่นวายข้างสนามจะเริ่มสงบ มีการแยกศพผู้เสียชีวิตคลุมด้วยผ้าห่มและผู้ได้รับบาดเจ็บออกจากกัน ขณะที่เพลิงผลาญเมอร์เซเดส-เบนซ์ จนแทบไม่เหลือซาก

ทว่าคำให้การของผู้อยู่ในเหตุการณ์คนอื่นๆ อาจทำให้คุณช็อกยิ่งกว่าเดิม เพราะสิ่งที่พวกเขาเห็นและถ่ายทอดให้นักข่าวฟังคือ เศษชิ้นส่วนที่กระจายออกมาจากรถพุ่งปลิดชีพแฟนกีฬาความเร็วที่ไม่รู้อีโหน่อีเหน่แบบไม่สนว่าใครเป็นใคร พวกเขาเห็นฝากระโปรงรถพุ่งบั่นศีรษะของผู้เคราะห์ร้ายไปหลายรายราวกับกิโยติน เครื่องประหารที่ปลิดชีวิตอาชญากรมาแล้วนักต่อนักในอดีตกาล

ปิแอร์ เลอเวค เสียชีวิตทันทีในจังหวะที่ เมอร์เซเดส-เบนซ์ ของเขาพุ่งกระแทกกำแพง ก่อนที่ผู้ชมอีก 83 รายจะเสียชีวิตจากเศษซากและเปลวเพลิง และมีผู้บาดเจ็บเกือบ 180 คน ส่วน แลนซ์ แมคคลิน คนที่ถูกชนท้าย ไม่ได้รับบาดเจ็บใดๆ แต่รถก็เสียหายหนักจนต้องออกจากการแข่งขันในภายหลัง

สิ่งที่น่าแปลกใจก็คือ แม้จะเกิดเหตุการณ์วุ่นวายจนมีผู้เสียชีวิตมากมายเช่นนี้ ฝ่ายจัดการแข่งขันเลอ ม็องส์ กลับตัดสินใจให้ดำเนินการแข่งต่อจนจบเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น

นิตยสาร LIFE เปิดเผยว่า กว่าที่นักแข่งของทีมอื่นๆจะรู้ว่าเกิดอะไรขึ้นก็กินเวลาไปหลายวัน เพราะสนามที่ใช้แข่งเลอ ม็องส์ ในสมัยนั้นมีความยาวถึง 13.4 กิโลเมตร ประกอบกับเทคโนโลยีการสื่อสารที่ไม่ทันสมัย พวกเขาจึงไม่มีโอกาสรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นในทันที

 10

อย่างไรก็ตาม จอห์น ฟิตซ์ ชาวอเมริกัน ทีมเมตของเลอเวคก็มาทราบจากนักข่าวหลังเกิดเหตุไม่กี่ชั่วโมงว่า เกิดอุบัติเหตุร้ายแรงขึ้นจนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สิ่งที่เขาทำคือ ไปพูดคุยกับผู้มีอำนาจในทีมเมอร์เซเดส-เบนซ์ ให้ถอนตัวจากการแข่ง โดยให้เหตุผลว่า บาดแผลที่นาซีเยอรมันสร้างไว้กับชาวฝรั่งเศสในสงครามโลกครั้งที่สอง มันก็สาหัสจนยากที่จะเยียวยาอยู่แล้ว "การที่มีผู้เสียชีวิตชาวฝรั่งเศสจำนวนมากในการแข่งขันครั้งนี้ เรื่องที่ทีมเยอรมันจะคว้าชัยคงไม่ใช่สิ่งที่เหมาะสม"

หลังจากนั้น บอร์ดบริหารของทีมเมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็เรียกประชุมด่วนเป็นเวลาหลายชั่วโมง ก่อนจะได้ข้อสรุปให้รถทุกคันที่เหลืออยู่ถอนตัวจากศึกเลอ ม็องส์ ในปีนั้น ก่อนจะตัดสินใจถอนทีมโรงงานจากการแข่งขันรถยนต์ทุกรายการหลังจากฤดูกาล 1955 จบลง

 

นี่ถือเป็นเหตุโศกนาฏกรรมในการแข่งขันรถยนต์ที่ทำให้เกิดความสูญเสียมากที่สุดตลอดกาล ต่างฝ่ายต่างโบ้ยหาความรับผิดชอบ สื่อฝรั่งเศสโบ้ยให้ ไมค์ ฮอว์ธอร์น ผู้ชนะการแข่งขันในปีนั้นว่าเป็นผู้ผิดจากการปาดหน้ารถคันอื่นเข้าพิทในระยะกระชั้นชิด ขณะที่ตัวฮอว์ธอร์นโบ้ยให้ แลนซ์ แมคคลิน เป็นฝ่ายผิด ส่งผลให้อีกฝ่ายฟ้องศาลกลับ

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าจากโศกนาฏกรรมที่เลอ ม็องส์ คือ การแข่งขันรถยนต์ในสมัยนั้น ไร้ซึ่งความปลอดภัย เมื่อรถแข่งคือลูกระเบิดเคลื่อนที่ที่พร้อมจะระเบิดได้ทุกเมื่อหากเกิดการชนแรงๆ เช่นเดียวกับผู้ชมที่แทบจะไม่มีอะไรปกป้องพวกเขาเลย แถมระบบการกู้ภัยยังไม่ได้มาตรฐานอีก

อนุสนธิจากเหตุการณ์ดังกล่าว คือการสังคายนาระบบความปลอดภัยครั้งใหญ่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับสนามแข่งขันศึกเลอ ม็องส์ ครั้งต่อมา ฝ่ายจัดการแข่งขันตัดสินใจขยายแทร็กให้กว้างขึ้น ก่อนตัดสินใจสร้างพื้นที่พิทสต็อปออกจากพื้นที่แทร็กอย่างเป็นกิจจะลักษณะในอีก 15 ปีต่อมา

คืนชีพ

ตามความเข้าใจของคนทั่วไป การหายหน้าจากวงการความเร็วกว่า 30 ปี น่าจะส่งผลให้องค์ความรู้ในการพัฒนารถยนต์เพื่อการแข่งขันด้อยลงตามกาลเวลา แต่เหตุใด เมอร์เซเดส-เบนซ์ ถึงกลับมาได้อย่างแข็งแกร่ง และยิ่งไปกว่านั้น ในช่วงเวลาที่พวกเขาถอนตัว ยังมีรถแข่งจากค่ายดาวสามแฉกอยู่ในสนามอีกล่ะ?

 11

คำตอบก็คือ ในช่วงเวลาที่เบนซ์เลิกส่งทีมแข่งในสนาม สำนักแต่งอิสระนามว่า AMG ได้ซื้อรถยนต์เมอร์เซเดส-เบนซ์ ไปทำการโมดิฟายและส่งลงแข่งในรายการต่างๆ ตั้งแต่ช่วงปลายยุค 1980s เป็นต้นมา เบนซ์จึงใช้ผลงานของ AMG เป็นสารตั้งต้นในการเตรียมความพร้อมของตนเพื่อหวนคืนสู่วงการอีกครั้ง เริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้กับทีมแข่งรถสปอร์ตในปี 1985 ก่อนที่จะประกาศกลับมาอย่างเต็มตัวด้วยการส่งทีมโรงงานลงแข่งศึกชิงแชมป์ทัวริ่งคาร์ของเยอรมนี หรือ DTM ในปี 1989... โดยพันธมิตรสำคัญในการส่งทีมลงแข่งก็คือ AMG ซึ่งเบนซ์ได้ตัดสินใจเทคโอเวอร์เข้ามาเป็นแผนกเพิ่มสมรรถนะรถให้กับบริษัทอย่างเต็มตัวในปี 1999

 12

หลังจากนั้น เบนซ์ก็ได้ขยับคืบคลานเข้าสู่การแข่งขันรายการต่างๆทั่วทุกมุมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รถสูตรหนึ่ง เริ่มตั้งแต่การเป็นผู้ผลิตเครื่องยนต์ให้ทีมแข่งเลือกไปใช้งานตั้งแต่ปี 1994 ก่อนที่พวกเขาจะประสบความสำเร็จ คว้าแชมป์โลกได้หลายสมัยในการสนับสนุนทีมแม็คลาเรน ก่อนที่พวกเขาจะตัดสินใจหวนคืนวงการ F1 ด้วยการส่งทีมแข่งเองอย่างเต็มตัวในปี 2010

 13

และหลังจากที่ลองผิดลองถูกในช่วงแรก... เมอร์เซเดส-เบนซ์ ก็ได้กลับมาเป็นเจ้าแห่งวงการรถสูตรหนึ่ง ด้วยการคว้าแชมป์โลกมาตั้งแต่ปี 2014-2018 และยังคงเป็นเบอร์ 1 แบบไร้ผู้ต่อกรกระทั่งทุกวันนี้

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ โศกนาฏกรรมที่ทำให้ "เมอร์เซเดส-เบนซ์" อำลาวงการความเร็วกว่า 3 ทศวรรษ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook