ทำไม "แมนนี่ ปาเกียว" ต้องไปขอฝึกวิชากับ "เฟร็ดดี้ โรช" ?

ทำไม "แมนนี่ ปาเกียว" ต้องไปขอฝึกวิชากับ "เฟร็ดดี้ โรช" ?

ทำไม "แมนนี่ ปาเกียว" ต้องไปขอฝึกวิชากับ "เฟร็ดดี้ โรช" ?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แมนนี่ ปาเกียว คือนักชกแชมป์โลกที่ใครก็ต้องรู้จักต่อให้ไม่ได้คลั่งไคล้วงการหมัดมวยก็ตาม อย่างไรก็ตาม คุณเคยสงสัยหรือไม่ว่านักชกที่ว่ากันว่าดีที่สุดหากเทียบกันปอนด์ต่อปอนด์แบบเขาต้องไปเรียนวิชาจากใครเพื่อเพิ่มพูนเชิงมวย ลบจุดอ่อน เพิ่มจุดเเข็ง?

 

นี่คือเรื่องราวของ "ครูมวย" ของ แมนนี่ ปาเกียว ที่ไม่ใช่นักชกชื่อดัง ไม่เคยเป็นแชมป์โลก เคยทำงานเซลขายของผ่านโทรศัพท์ และป่วยเป็นโรคพาร์คินสัน แต่กลับสอนคนอย่างปาเกียวให้เป็นแชมป์ 8 รุ่นน้ำหนักได้... ทำไม แมนนี่ ปาเกียว ต้องไปขอฝึกวิชากับ เฟร็ดดี้ โรช? และเขาได้อะไรจากนักมวยไร้ชื่อคนนี้บ้าง? ติดตามกับ Main Stand ได้ที่นี่

ผู้เชี่ยวชาญทางด้านทฤษฎี

ย้อนกลับไปเมื่อ 40 ปีก่อน พอล โรช นักชกชาวอเมริกันเลี้ยงลูกในเเบบฉบับของคนเลือดนักสู้ ลูกชายทั้ง 5 จากทั้งหมด 7 คนของตระกูลโรช จึงต้องถูกฝึกมวยทั้งหมด ลูกชาย 2 คนแรกที่ชื่อว่า โจอี้ และ เป๊ปเปอร์ ได้เลือดนักสู้มาเต็มๆ ทั้งคู่คือความภูมิใจของพอล ผู้เป็นพ่อ แต่ลูกคนที่ 3 ที่ชื่อว่า เฟร็ดดี้ แตกต่างจากพี่ของเขาทั้งสองคน เพราะไม่เก่งเท่า และเขากลายเป็นที่ดูถูกของพ่อและคนในครอบครัวเสมอ นั่นจึงทำให้ เฟร็ดดี้ เติบโตพร้อมกับแรงขับที่อยากจะเก่งกาจแซงหน้าพี่ๆให้ได้

 2

30 ลิขิตฟ้า 70 ต้องฝ่าฟัน อาจจะเป็นประโยคที่ใช้ปลุกใจคนที่เกิดมาไม่ได้มีพรสวรรค์ให้สู้ต่อไปเพื่อความสำเร็จ แต่ในโลกของมืออาชีพที่ต้องการสร้างความยิ่งใหญ่ คนที่มีความพยายามอย่างเดียวไม่ได้การันตีว่าจะเดินไปถึงเป้าหมายได้...

เฟร็ดดี้ โรช มีฝีมือในเชิงหมัดมวยในระดับหนึ่ง เขาคือมวยสายทฤษฎีแน่น ศึกษามาเยอะเพราะต้องการกลบจุดอ่อนที่มี อย่างไรก็ตาม ความไร้พรสวรรค์ทำให้เขาไม่ประสบความสำเร็จในการเป็นแชมป์เลยแม้แต่รุ่นเดียว หนำซ้ำช่วงบั้นปลายยังแพ้เป็นว่าเล่นจนต้องประกาศแขวนนวมไปพร้อมๆ กับการเป็นโรคพาร์คินสัน

"ใช่ ผมเคยคิดจะฆ่าตัวตาย ตอนที่นอนรอการรักษาพาร์คินสันที่โรงพยาบาลและสู้กับความคิดตัวเองในชั่วขณะ ผมมองไปที่หน้าต่างแล้วอยากกระโดดตึกตาย แต่ก็คิดได้ว่าการลงไปกระแทกปูนซีเมนต์คงเป็นอะไรที่โคตรเจ็บแน่ๆ" ไม่รู้ว่าพูดจริงหรือพูดเล่น แต่นี่คือบทสนทนาระหว่าง เฟร็ดดี้ กับนักประสาทวิทยา

ชีวิตหลังการแขวนนวมยากลำบากตามสูตรนักมวยที่ไม่ได้มีชื่อเสียง เขาไม่ได้มีรายได้มากมายนัก แถมเงินเก็บก็เกลี้ยงจนไม่เหลืออะไร เฟร็ดดี้ต้องผันไปทำอาชีพเป็นเซลขายของผ่านการคุยโทรศัพท์ และแน่นอนมันไม่ใช่ตัวเขาเลย

สิ่งเดียวที่เขารู้คือ "มวย" เพราะถูกเลี้ยงมาแบบนั้น และหลงรักสิ่งนั้นสุดหัวใจไปเสียเเล้ว เฟร็ดดี้ใช้เวลาทั้งชีวิตศึกษาสิ่งที่นักมวยทั่วไปไม่ทำกัน เขาชอบศึกษาการออกหมัดของนักมวยคนอื่นๆ และเจาะลึกไปจนถึงขั้นการใช้ชีวิต การหลับ การกิน หรือที่ปัจจุบันเรียกว่าวิทยาศาสตร์การกีฬา... สิ่งเหล่านี้ เฟร็ดดี้ รู้จักมันในเบื้องต้นมาตั้งแต่ยุค '80 เเล้ว นั่นจึงทำให้เขากลายเป็นผู้ปราดเปรื่องทางทฤษฎีในชนิดที่หาตัวจับยาก และจะมีประโยชน์อะไรที่เขาจะเอาทักษะเหล่านี้ไปใช้ในการเป็นคนรับโทรศัพท์ เขาจึงหันกลับไปสู่เส้นทางหมัดมวยอีกครั้ง เพียงแต่เปลี่ยนบทบาทจากคนขึ้นชกเอง เป็นคนที่ให้คำแนะนำกับคนอื่น

 3

เขากลับไปที่โรงยิมของ เอ็ดดี้ ฟุตช์ เทรนเนอร์ผู้โด่งดังของอดีตแชมป์โลกเฮฟวี่เวทและไม้เบื่อไม้เมาของ มูฮัมหมัด อาลี อย่าง โจ เฟรเซียร์   

"ผมมาสมัครงานครับ!" นักเลงจากแมสซาชูเซ็ตต์ กล่าวกับฟุตช์ ก่อนจะบอกเล่าสิ่งที่เขาอยากทำและสิ่งที่เขาเคยผ่านมา ที่สำคัญที่สุดคือเขาแสดงให้ฟุตช์รู้ว่าหากรับเขาเข้าเป็นเทรนเนอร์ในยิมแห่งนี้เหล่านักมวยในค่ายจะได้รับรู้กับหลายสิ่งที่พวกเขาไม่เคยรู้   

ฟุตช์ถึงกับยอมรับเขาเข้าทำงานทันทีจากการสัมภาษณ์ในครั้งเดียว โดยเริ่มจากการทำงานฟรีแบบไม่จ่ายค่าจ้าง แต่ก็ทนเข้มได้ไม่นาน เขาก็มอบของขวัญ เฟร็ดดี้ โรช ด้วยการให้ตำแหน่งแรกแบบกระโดดข้ามหัวเทรนเนอร์คนอื่นในค่าย กับการเป็นมือขวาของฟุตช์ทันที หลังจากนั้นเขาก็เพิ่มพูนทฤษฎีให้แน่นยิ่งขึ้นด้วยการซึบซับประสบการณ์การเคียงคู่กับฟุตช์ กล่าวคือมันคือการเอาศาสตร์มวยยุคเก่าของฟุตช์ มารวมกับศาสตร์มวยยุคใหม่ที่เขาศึกษาเข้ามาไว้ด้วยกัน จนเกิดเป็นสไตล์การชกแบบไม่เหมือนใคร ไม่บู๊เกินไป ไม่แท็คติกจ๋าจนน่าเกลียด และนี่คือหนึ่งในเหตุผลที่ว่าทำไมนักชกอย่าง ปาเกียว จึงยืนระยะได้ยาวนานแม้ผ่านมาเเล้วกว่า 20 ปี

 4

สไตล์การฝึกสอนของโรช ทำให้เขาก้าวหน้าในการงานขึ้นเป็นอย่างมาก จนได้เครดิตว่าเป็นผู้ฝึกสอนของ ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า, ไมค์ ไทสัน, เบอร์นาร์ด ฮ็อปกินส์ รวมถึงคนอื่นๆอีกมากมาย

หลังจากกลายเป็นเทรนเนอร์ที่เริ่มทีชื่อเสียง เฟร็ดดี้ ตัดสินใจจะออกมาสร้างยิมของตัวเอง โดยใช้ชื่อว่า "ไวล์ด การ์ด ยิม" แต่แรกนั้น เอ็ดดี้ ฟุตช์ แนะนำว่าอย่าทำเลยเพราะมันยุ่งยาก ทว่าอุดมการณ์ของเฟร็ดดี้นั้นแรงกล้ามาก เขาอยากจะสร้างยิมด้วยการใช้ปรัชญา "สังเวียนแห่งความฝัน" เป้าหมายหลักคือการสร้างนักชกอย่าง ไมค์ ไทสัน และ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด คนต่อไปให้ได้

ถนัดเรื่องลบจุดอ่อน เพิ่มจุดเเข็ง

เป้าหมายหลักคือการสร้างนักชกอย่าง ไมค์ ไทสัน และ ชูการ์ เรย์ เลียวนาร์ด คนต่อไป อาจจะเห็นภาพไม่ชัดนักแต่ โรชยิม ได้สร้าง แมนนี่ ปาเกียว คนแรกแบบฉบับออริจินอลด้วยตัวของเขาเอง

 5

บ่ายที่ร้อนระอุในปี 2001 ทีมงานนักชกจากประเทศฟิลิปปินส์เดินทางมายังโรงยิมของเขา นำโดยผู้จัดการ ร็อด นาซาริโอ ที่มากับชายร่างเล็กสูงเพียบ 166 เซ็นติเมตร ที่เอาชนะทุกคนในฟิลิปปินส์ได้ทั้งหมด และมองหาใครบางคนที่จะยกระดับเขาสู่พร้อมกับหยุดอยู่ด้านหน้าของ เฟร็ดดี้ แล้วบอกว่า "นักมวยคนนี้คือลูกค้าของคุณ" และ เฟร็ดดี้ โรช จำได้ดีว่าหนุ่มร่างเล็กคนนี้มีแววตั้งแต่แรกเห็น "ผมจำได้เลยตอนนั้นผมคิดว่า ไอ้หมอนี่มันนักสู้ตัวจริง ผมรู้เลยว่าเขาจะต้องเก่งแน่"

ณ ตอนนั้น ปาเกียว เป็นมวยซ้ายและมีน้ำหนักประมาณ 122 ปอนด์ การมาที่นี่ถือว่าเป็นการมาตั้งไข่ครั้งแรกในอเมริกา แม้เก่งในบ้านเกิด แต่เขาไม่มีชื่อเสียงในแดนลุงแซม ทว่าเขามีทักษะติดตัวสามารถได้รับการขัดเกลา ประสบการณ์ในการสร้างนักระดับแชมป์โลกมาเเล้วทำให้เฟร็ดดี้รู้ทันทีว่าสิ่งที่ปาเกียวต้องทำคือความเร็ว เพราะมันคือหัวใจสำคัญของนักมวยทุกรุ่น โดยเฉพาะรุ่นเล็กอย่างปาเกียว เขาเริ่มสอนเรื่องการสร้างไดนามิกในการชก (การเคลื่อนไหวและไม่หยุดนิ่ง)

จุดมุ่งหมายของ เฟร็ดดี้ ชัดเจนมาก เขาถูกชะตา ปาเกียว เข้าเต็มเปา เพราะ ปาเกียว เป็นคนหนุ่มที่เชื่อฟังในสิ่งที่เขาพูดและปฎิบัติตามอย่างเคร่งครัด เคมีทั้งสองคนเข้ากันมากจนเฟร็ดดี้ ตั้งใจจะเปลี่ยนให้ ปาเกียว เป็นสัตว์ร้ายบนสังเวียนด้วยการเติมอาวุธใหม่เข้าไปอีก จากที่ ปาเกียว หนักแต่หมัดซ้าย เขาเลยเคี่ยวเข็ญปาเกียวอย่างหนักเพื่อทำให้หมัดขวาของ ปาเกียว หนักหน่วงเทียบเท่ากัน

"รู้สึกดีมากที่มีเขาเป็นเทรนเนอร์ ผมเชื่อใจเฟร็ดดี้อย่างที่สุด ผมมั่นใจในการตัดสินใจของเขาด้วย" ปาเกียวกล่าวถึงความสัมพันธ์ของทั้งคู่  

 6

หลายปีผ่านไปความสัมพันธ์ของทั้งเป็นมากกว่า เทรนเนอร์ และ ลูกศิษย์ แล้ว โรช ไม่เคยหยุด สั่งให้ ปาเกียว ลองฝึกอะไรที่ไม่เคยฝึกลบจุดอ่อนที่ตัวเองมี ขณะที่ ปาเกียว เองก็เป็นนักมวยที่แสดงออกบนเวทีและทำให้ เฟร็ดดี้ ได้รู้อะไรใหม่ๆเหมือนกัน

ครั้งหนึ่งเขาสังเกต ปาเกียว ขึ้นซ้อมอยู่บนเวที ในจังหวะประจันหน้าที่จะต้องบวกกัน ปาเกียว กลับโยกฉากออกข้างและโจมตีนักมวยอีกคนจากอีกทางที่ไม่มีใครคิดไว้ จึงทำให้ โรช รู้ทันทีว่านี่แหละคือตัวแทนของมวยยุคใหม่ ที่หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้าตรงๆและใช้จังหวะที่ประจวบเหมาะเพื่อลดการสูญเสียพลังโดยใช่เหตุ

เหนือสิ่งอื่นใดคือทุกไฟต์ที่ชกจบลงไป เฟร็ดดี้ โรช จะเป็นคนที่คอยดูเทปและวิเคราะห์การชกของ ปาเกียว ว่าทำได้ดีแค่ไหน ขาดอะไรไปบ้าง และจะสามารถทำสิ่งที่ดีอยู่เเล้วให้ดีกว่าเดิมได้อย่างไร เฟร็ดดี้ โรช ปรับเปลี่ยนสไตล์การชกจนยอดมวยเอเชียชาวฟิลิปปินส์จนโด่งดังไปทั่วโลก ส่งให้ ปาเกียว สร้างสถิติเป็นแชมป์โลกได้ถึง 8 รุ่น เอาชนะศึกใหญ่มาเเล้วทั้ง ออสการ์ เดอ ลา โฮย่า, ริคกี้ ฮัตตัน, มิเกล ค็อตโต้ และ ฮวน มานูเอล มาร์เกซ และ 7 จาก 8 ครั้งที่คว้าแชมป์ ปาเกียว มี เฟร็ดดี้ โรช คอยสั่งการในมุมของเขา

ยิ่งกว่าโค้ชคือห่วงใย

หน้าที่เทรนเนอร์กับนักชกส่วนใหญ่บนโลกนี้คือการสอนกันเรื่องเชิงหมัด เชิงมวย ใน 1 วันมี 24 ชั่วโมง และคน 2 คนนี้จะพบกันแค่ในช่วงเวลางานเท่านั้น ต่างฝ่ายต่างพยายามทำให้ดีที่สุดภายใต้ความเป็นมืออาชีพ... อย่างไรก็ตาม เฟร็ดดี้ โรช กับ แมนนี่ ปาเกียว มีความสัมพันธ์กันที่ดีเหลือเชื่อ พวกเขาสนิทกันจนเรียกได้ว่าชี้นกเป็นไม้ชี้ไม้เป็นนก ทุกเรื่องของปาเกียว ไม่ว่าจะเรื่องของการใช้ชีวิตและสุขภาพ เฟร็ดดี้ ดูแลให้ทั้งแบบไม่ต้องคิดเงินเพิ่ม

 7

เฟร็ดดี้ ไม่ได้แค่อ่านทางมวยของ ปาเกียว เท่านั้น เขายังสังเกตว่านักมวยของเขามีอาการเป็นอย่างไรบ้างในการชกแต่ละไฟต์ ในการซ้อมแต่ละครั้ง หากปาเกียวอ่อนแรงหรือออกอาการที่เกิดจากการโหมร่างกายเกินไป เฟร็ดดี้ จะเป็นคนแรกที่เตือนและสั่งหยุดการซ้อมให้พักผ่อนทันที

สาเหตุที่เป็นชั้นนั้นเพราะเขารู้ดีถึงอันตรายของการเป็นนักชกที่นานเกินไป โรคพาร์คินสันของเขาเกิดจากการโดนชกอย่างหนักหน่วงมาตั้งแต่เด็กจนโต และมันทำให้เขาเกือบฆ่าตัวตาย หากเขาไล่บดไลบี้ให้ปาเกียวทำในสิ่งที่เหนือกว่าสมรรถภาพทางร่างกาย เราอาจจะไม่ได้เห็นความยิ่งใหญ่ของ ปาเกียว เหมือนทุกวันนี้ก็ได้ และโชคยังดีทื่ เฟร็ดดี้ วิเคราะห์แล้ววิเคราะห์อีกแต่ก็ยังไม่เห็นสัญญาณที่น่าเป็นห่วงจากปาเกียวเลย

"เวลาคือสิ่งที่ไล่ตามหลังพวกเราทุกคน แมนนี่ อาจจะไม่ต่อเนื่องเท่าที่เขาเคยเป็นมา เเต่การทำงานของเขายังคงมั่นคงและฝึกฝนอย่างหนัก ผมรู้ว่ามันไม่ง่ายอย่างสมัยหนุ่มสำหรับเขา แต่ขาของปาเกียวดูจะยังเเข็งแรงดี สเต็ปการเดินสาวเท้าของเขายังดูโอเคแบบเหลือๆเลยทีเดียว" เขาคอยวิเคราะห์ปาเกียวในช่วงเวลาที่อายุเริ่มมากขึ้นด้วยความเป็นห่วงเสมอ

 8

คนที่สนิทกันที่แท้จริงแล้วไม่ได้วัดกันแค่ตอนอยู่ด้วยกันเท่านั้น หากยังจำกันได้ในช่วงปี 2017 ทั้งสองคนผิดใจกันเรื่องที่ ปาเกียว หันมาทำงานเป็นนักการเมืองในฟิลิปปินส์มากขึ้นจนเรื่องความฟิตและเชิงมวยที่เคยมีมาตรฐานตกลงไป ซึ่ง เฟร็ดดี้ เองก็พยายามเตือนด้วยความหวังดีว่าไม่ควรจับปลาสองมือ การเป็น ส.ส. หรือแม้แต่ ส.ว. จะทำให้ชีวิตนักมวยของเขาสั้นลง และมันยิ่งเห็นภาพชัดขึ้นในไฟต์ที่ ปาเกียว พบกับ เจฟฟ์ ฮอร์น นักชกชาวออสเตรเลีย ณ เวลานั้นเขาดำรงตำแหน่ง ส.ว. ไปพร้อมๆกันนั่นจึงทำให้ ปาเกียว ทำงานทั้งมวยและการเมืองถึงวันละ 18 ชั่วโมง นั่นเป็นเหตุผลที่ทำให้ ปาเกียว พ่าย ฮอร์น อย่างสุดเซอร์ไพรส์

"ไฟต์นั้น แมนนี่ เริ่มยกแรกได้ดีมาก เขาเกือบจะคว่ำ ฮอร์น ได้ในยกที่ 9 พอหลังจากหมดยกนั้นผมบอกกับเขาว่า "เอาล่ะ แมนนี่ ฉันขอแบบเมื่อตะกี้อีกซักยก เราเอาหมอนั่นลงแน่... ปากของเขาบอกโอเคพร้อมแล้ว แต่ความจริงคือเขาทำมันเหมือนเดิมไม่ได้" เฟร็ดดี้ เล่าถึงวันที่ ปาเกียว แรงตกลงไปจากงานสายการเมือง

 9

"ผมบอกเขาไปหลายครั้งแล้วว่าการเป็น ส.ว. กับนักมวยมันเอามารวมกันไม่ได้ ผมบอกเขาไปตรงๆนะว่า แมนนี่ แกอาจจะเจ็บปวดหน่อยนะที่ฉันต้องบอกอย่างนี้ แต่แกต้องเลือกอย่างใดอย่างหนึ่งและทิ้งอีกหนึ่งอย่างไปเสีย" เฟร็ดดี้ เล่าถึงประโยคที่เขาคุยกับ ปาเกียว ครั้งสุดท้าย... หลังจากนั้น ปาเกียว ก็เดินแยกจากเขาไปโดยไม่ตอบอะไรสักคำ และทั้งคู่ก็แยกทางกัน  

จากปี 2001 ถึงปี 2017 ไม่มีช่วงเวลาไหนที่ เฟร็ดดี้ ปล่อยให้ ปาเกียว ต้องเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็นการเสี่ยงที่จะแพ้หรือเป็นการเสี่ยงที่จะใช้ชีวิตในทางที่ผิดพลาด ตั้งแต่วันที่เป็นนักชกเงินแสนเปลี่ยนมาเป็นนักชกไฟต์พันล้าน เฟร็ดดี้ อยู่ข้างเขาเสมอ

คนอย่าง เฟร็ดดี้ โรช มีแค่คนเดียว

ปาเกียว ออกห่างจาก เฟร็ดดี้ เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยทั้งสองคนไม่คุยกันเลย ในช่วงเวลานั้นเขาพยายามแล้วที่จะหาเทรนเนอร์คนใหม่ทั้งที่เป็นชาวฟิลิปปินส์และต่างชาติ แต่สุดท้ายแล้วช่องว่างที่ เฟร็ดดี้ ทิ้งไว้ก็ไม่เคยถูกเติมเต็มเสียที

 10

โดยในเดือนเดือนกรกฎาคมของปีที่แล้ว ของการชิงแชมป์รุ่นเวลเตอร์เวต สมาคมมวยโลก (WBA) ที่ "ว่าง" เป็นครั้งแรกที่ปาเกียวขึ้นชกโดยที่มุมไม่มีเทรนเนอร์คู่ใจอย่าง เฟร็ดดี้ โรช คอยแก้เกมการชกให้ แม้จะชนะน็อก ลูคัส แมตธิสเซ่ แย่งแชมป์โลกจากเจ้าของตำแหน่งชาวอาร์เจนไตน์มาได้ แต่สุดท้าย ปาเกียว ก็เรียกหา เฟร็ดดี้ อีกครั้ง สายตรงจากมะนิลากริ๊งมายัง ลอส แอนเจลิส ปลายสายเป็นเสียงของแชมป์โลกผู้ยิ่งใหญ่ แม้จะยังไม่อาจเลิกเล่นการเมืองได้ แต่เขายอมเลิกทิฐิและเป็นฝ่ายชักชวนสหายเก่าด้วยตัวเอง

"เฟร็ดดี้ ผมจะชกกับ เอดี้ โบรเนอร์ และอยากให้คุณมาเป็นเทรนเนอร์หน่อย" ปาเกียว พูดมาเพียงประโยคเดียวเท่านั้น และสำหรับคนที่สนิทกันยิ่งกว่าหน้าที่และเป็นเหมือนครอบครัว เฟร็ดดี้ ตอบรับคำทันที "เมื่อไหร่วะ" แค่นี้ก็เพียงพอที่จะทำให้เขากลับมาเป็นเทรนเนอร์ให้ ปาเกียว อีกครั้งแบบไร้เงื่อนไขใดๆทั้งสิ้น ปาเกียว บินมายัง อเมริกา เพื่อกลับมาฝึกซ้อมในยิมของ เฟร็ดดี้ โรช ที่เคยสร้างชื่อให้กับเขาอีกครั้ง หนนี้เป็นการคัมมิ่งโฮมที่อบอุ่นอย่างที่สุด

“ถือเป็นเรื่องดีที่ได้เขากลับมาและทุกอย่างเป็นปกติ เราเข้ากันได้ดีจริงๆ เราไม่ได้พูดคุยกันเลยร่วม 2 ปี เขาไม่ได้มาอเมริกา และผมก็ไม่ได้ไปฟิลิปปินส์ เรามีการหารือร่วมกัน ทุกอย่างกลับมาเป็นอย่างที่เคยเป็น มันไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง เขายังคงให้ความเคารพอย่างแท้จริงและเขาจะยิ้มเสมอเมื่อเห็นผม และรอการตัดสินใจของผมตลอดเวลา” โรชเผย หลังความสัมพันธ์ทั้งคู่กลับมาเหมือนเดิม

 11

"พวกเขาเหมือนคู่รักที่แต่งงานกัน" จัสติน ฟอร์จูน โค้ชด้านความแข็งแกร่งและความฟิตของ ปาเกียว ว่าถึงความสัมพันธ์ 2 สองคู่หูต่างเชื้อชาติ "2 ปีที่ผ่านมามันเหมือนกับการทดลองแยกกันอยู่เฉยๆเท่านั้นแหละ บอกตรงๆสำหรับแมนนี่แล้วไม่มีใครมาแทน เฟร็ดดี้ ได้ และแน่นอนหากแมนนี่มีความสุข ผมก็มีความสุขกับการตัดสินใจของเขาด้วย"

การกลับมาของ เฟร็ดดี้ นั้นดีอย่างไรน่ะหรือ? ง่ายนิดเดียวเพราะ ปาเกียว ในวัย 40 ปี ฟิตขึ้นกว่าเดิมและได้รับสไตล์ให้บู๊น้อยลงกว่าสมัยหนุ่มๆเพื่อเซฟแรงเอาไว้ให้สามารถยืนครบยกได้ และผลการชกกับ โบรเนอร์ ก็ตอบได้เป็นอย่างดี เพราะ ปาเกียว ไล่ต้อน โบรเนอร์ ที่อายุเพียง 29 ปีแบบจนเจียนอยู่เจียนไปหลายหน ถึงแม้จะน็อคไม่ลงแต่ก็ชนะขาดลอยด้วยสกอร์ 117-111, 116-112, 116-112 รักษาแชมป์โลก WBA รุ่น 147 ปอนด์ ไว้ได้อย่างไม่ยากเย็น  

"เฟร็ดดี้ รู้เกี่ยวกับผมดีที่สุด นี่และคือยอดโค้ชมวยที่ดีที่สุดในโลก" เหนือยกี่ครั้ง ลำบากกี่หน โกรธกันจนไม่พูดคุย แต่ที่สุดเเล้ว แมนนี่ ปาเกียว ก็ยอมรับความจริงข้อนี้แบบไร้ข้อโต้แย้งใดๆ...

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ทำไม "แมนนี่ ปาเกียว" ต้องไปขอฝึกวิชากับ "เฟร็ดดี้ โรช" ?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook