กฎ 46 : กติกาข้อที่ทำให้การ "ต่อยกัน" ในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเป็นเรื่อง "ถูกกฎ"

กฎ 46 : กติกาข้อที่ทำให้การ "ต่อยกัน" ในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเป็นเรื่อง "ถูกกฎ"

กฎ 46 : กติกาข้อที่ทำให้การ "ต่อยกัน" ในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเป็นเรื่อง "ถูกกฎ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ไม่ว่าจะในการแข่งขันกีฬาหรือแม้แต่ในสังคมคนธรรมดา "การชกต่อย ทะเลาะวิวาท" ที่มิได้เกิดขึ้นในกีฬาการต่อสู้ คือสิ่งที่ผิดกฎอย่างไม่ต้องสงสัย

ถึงกระนั้น กลับมีกีฬาหนึ่งที่มีกฎพิเศษซึ่งรับรองให้การต่อยกันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ นั่นก็คือ กีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง ดังที่เรามักจะเห็นกันอยู่บ่อยๆ ในช่วงภาพกีฬามันๆ หรือไฮไลท์เด็ดอะไรก็ตาม

 

ว่าแต่เหตุใด การดวลหมัดสุดเดือดถึงกลายเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ในกีฬาที่เล่นกันในสนามอันแสนเย็นยะเยือกได้ล่ะ?

เกมมันเดือดต้องปลดปล่อย

ภาพจำในสายตาคนทั่วไปเมื่อนึกถึงฮอกกี้น้ำแข็ง คือกีฬาที่เล่นกันอย่างรวดเร็วและรุนแรง มีการปะทะกันระหว่างผู้เล่นในเกมอยู่บ่อยครั้ง ด้วยสาเหตุดังกล่าว การชกต่อย ทะเลาะวิวาท จึงดูเป็นเรื่องธรรมดาสามัญของกีฬาบนลานน้ำแข็งชนิดนี้

 1

ไม่เพียงเท่านั้น อดัม กอปนิค นักเขียนจากนิตยสาร The New Yorker ยังได้เสนอทฤษฎีน่าสนใจเรื่องหนึ่ง ที่ดูจะสนับสนุนความเชื่อที่ว่า การทะเลาะวิวาทและความรุนแรงคือสิ่งที่ถือเป็นหนึ่งในดีเอ็นเอของกีฬาชนิดนี้

จากจุดเริ่มต้นของการจัดแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี 1875 โดยนักรักบี้ชาวแคนาดาเชื้อสายอังกฤษที่มองหากีฬาไว้เล่นในช่วงฤดูหนาว กอปนิคได้เปิดเผยหลักฐานว่า หลังจากนั้นไม่นาน กลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สก็อตแลนด์, ไอร์แลนด์ หรือแม้แต่ฝรั่งเศส ก็ได้ฟอร์มทีมขึ้นมาแข่งขัน และด้วยความเป็นอริทางชาติกำเนิดที่มีต่อกัน บวกกับธรรมชาติของกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง การต่อยตีจึงเกิดขึ้นในกีฬานี้ไปโดยปริยาย

 2

อย่างไรก็ตาม การทะเลาะวิวาทในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งก็ดูจะเริ่มเลยเถิดในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 เพราะมีเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทระหว่างการแข่งขันซึ่งลงเอยด้วยความตายอยู่เนืองๆ ไม่ว่าจะเป็นเหตุการณ์ในปี 1905 ที่ อัลซิเด ลอริน แทบจะเสียชีวิตในทันทีหลังถูก อัลเลน โลนี่ย์ ประเคนทั้งหมัดและไม้ตีใส่ระหว่างการแข่งขันของต้นสังกัดทั้งคู่ ซึ่งเป็นทีมคู่ปรับร่วมกรุงออตตาวา เมืองหลวงของแคนาดา หรือในปี 1907 ที่ โอเว่น แม็คคอร์ท บาดเจ็บปางตายหลังถูก ชาร์ลส์ มาสซอง ใช้ไม้ฮอกกี้ฟาดที่ศีรษะเพื่อเอาคืนแทนเพื่อนร่วมทีม

ด้วยเหตุดังกล่าว อดัม โปรโต ผู้เขียนหนังสือ Fighting the Good Fight: Why On-Ice Violence Is Killing Hockey จึงเป็นอีกคนที่สนับสนุนทฤษฎีของกอปนิค โดยมองว่า ความขัดแย้งทางเชื้อชาติที่ลามสู่สนามแข่ง คือหนึ่งในสาเหตุสำคัญของความรุนแรงบนลานน้ำแข็ง

จาก "กฎ 56" สู่ "กฎ 46"

แม้กีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น จนสามารถก่อตั้งเป็นลีกกีฬาอาชีพของทวีปอเมริกาเหนืออย่าง NHL ที่เป็นการแข่งขันระหว่างทีมในสหรัฐอเมริกากับแคนาดาในปี 1917 แต่ความรุนแรงในสนามที่อยู่คู่กับวงการมาอย่างยาวนาน ก็ได้ทำให้ฝ่ายจัดการแข่งขันเกิดความกังวล

 3

ทว่าวิธีการแก้ปัญหาของ NHL กลับเป็นอะไรที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในเมื่อไม่สามารถควบคุมไม่ให้เกิดการปะทะ จนเป็นชนวนเหตุแห่งการสาวหมัดใส่กันได้อยู่แล้ว ก็อนุญาตให้นักกีฬาสามารถระบายความอัดอั้นที่มีต่อกันได้ไปเลย

NHL จึงออก "กฎ 56" (Rule 56) ขึ้นในปี 1922 เพื่อกำกับควบคุมการต่อสู้ หรือ "ดวลหมัด" ไม่ให้ออกนอกลู่นอกทาง เพราะแทนที่ผู้เปิดศึกวันทรงชัยกลางสนามแข่งขันจะถูกกรรมการไล่ออกจากการแข่งขันไปเลย ผู้เล่นคนนั้นจะถูกสั่งให้ไปสงบสติอารมณ์ในคอกทำโทษ (Penalty Box หรือ Sin Bin) เป็นเวลา 5 นาที

โดยกฎสำหรับผู้เล่นที่ทนไม่ไหว เกิดอาการ "ร่างกายอยากปะทะ" นั้นก็ไม่ต้องทำอะไรให้มากความ สิ่งที่ต้องทำ คือพวกเขาจะต้อง "ทิ้ง" ทุกสิ่งที่อยู่ในมือ ไม่ว่าจะเป็นไม้ฮอกกี้หรือแม้แต่ถุงมือ เหลือแต่กำปั้นลุ่นๆ ก่อนเข้ามาซัดกันแบบตัวต่อตัว และเมื่อกรรมการเห็นว่าสมควรแก่เวลา ก็จะจับแยกแล้วเชิญคู่กรณีเข้าคอกทำโทษเป็นอันเสร็จพิธี

 4

ปัจจุบัน "กฎ 56" หรือที่มีชื่อเรียกในภาษาอังกฤษว่า "Fisticuffs" ได้ถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของ "กฎ 46" (Rule 46) ที่ว่าด้วยการต่อสู้ หรือ "Fighting" โดยเฉพาะ พร้อมกับเพิ่มรายละเอียดปลีกย่อยต่างๆ ซึ่งก็คือการเพิ่มบทลงโทษในเหตุอื่นๆ สืบเนื่องจากการต่อยกัน อย่างเช่น การถอดหมวกกันน็อกของตัวเองออกก่อนสาวหมัด ซึ่งผู้ตัดสินถือว่ามีเจตนาที่จะเข้ามาทะเลาะวิวาทโดยเฉพาะ เช่นเดียวกับการมีผู้เล่นคนอื่นนอกจากคู่กรณีเข้ามาร่วมวงด้วยเช่นกัน

โดย เคอร์รี่ เฟรเซอร์ อดีตผู้ตัดสินและเจ้าของสถิติลงชี้ขาดเกม NHL สูงสุดตลอดกาล ชี้แจงถึงสาเหตุว่า "ที่สุดแล้วมันก็เป็นเรื่องที่ทุกคนเข้าใจตรงกันครับว่า การทะเลาะวิวาทนั้นเป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย จริงอยู่ว่า NHL มีกฎที่เปิดช่องให้เรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่สุดท้ายแล้ว ผู้เล่นคนนั้นก็ต้องรับในผลที่จะตามมาอยู่ดี"

กำเนิด "มือวิวาท"

ด้วยความที่การต่อสู้ถูกบัญญัติไว้เป็นส่วนหนึ่งในกติกาการแข่งขันฮอกกี้น้ำแข็งของ NHL และลีกรองในอเมริกาเหนือ ทำให้แต่ละทีมต่างก็คิดแผนต่างๆ เพื่อให้เป็นฝ่ายที่ได้เปรียบในการแข่งขัน

 5

และกลยุทธ์ที่ใช้ประโยชน์จากกฎการต่อสู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพสุดๆ นั่นก็คือ แต่ละทีมจะมีผู้เล่นคนหนึ่งที่มีหน้าที่เป็น "มือวิวาท" หรือ "Enforcer" (จะเรียกว่า Fighter, Tough Guy หรือแม้แต่ Goon ก็ได้เช่นกัน) ซึ่งหน้าที่ในสนามก็ง่ายๆ… คอยกวนประสาทผู้เล่นดาวดังของทีมฝั่งตรงข้ามให้ตบะแตกจนเริ่มสาวหมัดใส่ตัวเองโดยเฉพาะ

แต่หากถามว่ากลยุทธ์ดังกล่าวช่วยให้ทีมได้เปรียบจริงหรือไม่? "ก็ไม่เชิง" อาจเป็นคำตอบที่ตรงที่สุด เพราะจากปกติที่ฮอกกี้น้ำแข็ง NHL ใช้ผู้เล่นลงสนามฝั่งละ 6 คนรวมผู้รักษาประตู การต่อยกันจนโดนส่งเข้าคอกลงโทษ จะทำให้มีผู้เล่นในสนามเหลือฝั่งละ 5 คนเท่ากัน ซึ่งก็ไม่ถึงกับทำให้เกิดข้อได้เปรียบเสียเปรียบนัก แต่ทั้งนี้ ตัวเอซ หรือมือหนึ่งของทีมก็ต้องระวังตัวอยู่ดี เพราะหากผู้ตัดสินมองว่าใครเป็น "ตัวปลุกปั่น" (Instigator) ให้เกิดการต่อยกัน ก็จะถูกห้ามลงสนามเพิ่มอีก 2 นาที และหากทำผิดกฎอะไรเพิ่ม ก็จะโดนโทษเพิ่มอีก

ซึ่งเมื่อถึงจุดนี้ ทีมก็มักจะตอบโต้ด้วยแท็คติก "ขิงก็รา ข่าก็แรง" คู่แข่งส่งมือวิวาทมา ฝั่งตัวเองก็ส่งมือวิวาทบ้าง เพื่อที่สุดท้ายแล้ว ทั้งคู่จะได้ต่อยกันจนถูกส่งเข้าคอกด้วยกันทั้งคู่ ถือเป็นการปกป้องมือหนึ่งของทีมไปด้วยในตัว

 6

ทว่าอีกเรื่องที่น่าสนใจไม่แพ้กันก็คือ นอกจากผู้เล่นมือหนึ่งแล้ว มือวิวาทยังถือเป็นอีกคนที่ดูจะเป็นที่นิยมชมชอบของบรรดาแฟนๆอยู่ไม่น้อย ซึ่ง จอห์น แบรนช์ จาก The New York Times ได้ชี้ถึงเหตุผลว่า

"'มือวิวาท' ซึ่งบางครั้งก็ถูกเรียกอย่างเหยียดหยามว่า 'อันธพาล' หรือเรียกให้ดีหน่อยก็เป็น 'ขาโหด' ดูจะเป็นผู้เล่นในแบบที่คนดูกีฬาฮอกกี้นำแข็งชื่นชอบนะ พวกเขามักถูกมองว่าเป็น 'ซูเปอร์ฮีโร่ของชนชั้นแรงงาน' ด้วยอัตตาที่พร้อมจะทำงานซึ่งอันตรายที่สุดเพื่อปกป้องผู้อื่น ไม่เพียงเท่านั้น พวกเขายังมีความเป็น 'เบี้ยล่าง' เพราะหากวัดที่ฝีมืออย่างเดียว อาจจะไม่มีโอกาสได้อยู่ในวงการนี้ แต่ความสามารถในการเปิดศึกวิวาทนี่แหละ ที่ทำให้พวกเขาอยู่ในวงการได้"

แนวโน้มเสื่อมถอย แต่ขาดไม่ได้?

แม้การสาวกำปั้นใส่กันในสนามจะเป็นที่ชื่นชอบของแฟนๆ แต่สิ่งที่น่าสังเกตไม่แพ้กันก็คือ เรื่องราวการทะเลาะวิวาทระหว่างการแข่งขันดูจะเป็นสิ่งที่พบเห็นได้น้อยลงเรื่อยๆแล้วใน NHL

 7

ข้อมูลจากเว็บไซต์ Hockey Fights ระบุว่า จากการต่อยกันระหว่างแข่งที่มีมากถึง 803 ครั้งตลอดฤดูกาล 2001-02 หรือเฉลี่ย 0.65 ครั้งต่อเกม สถิติดังกล่าวกลับลดลงอย่างน่าใจหายในอีกทศวรรษต่อมา โดยในฤดูกาล 2012-13 มีการต่อยกันระหว่างเกมเพียง 469 ครั้ง หรือ 0.38 ครั้งต่อเกมเท่านั้น

จอร์ดิน ตูตัว อดีตผู้เล่นใน NHL ที่มีชื่อเสียงเรื่องการเป็นมือวิวาท ยอมรับกับ Rolling Stone ว่า การต่อยกันระหว่างแข่งที่มีตัวเลขลดลงนั้นมีสาเหตุของมันอยู่ และแน่นอนว่า มันส่งผลกระทบต่อนักกีฬาสายท้าต่อยแบบเต็มๆ

"เกมฮอกกี้น้ำแข็งทุกวันนี้มันมีวิวัฒนาการขึ้นกว่าสมัยก่อนเยอะครับ แต่ละทีมจึงต้องการใช้งานผู้เล่นที่สามารถเล่นได้หลายรูปแบบด้วยเช่นกัน ซึ่งนั่นทำให้พวกเราเองก็ต้องปรับตัว ด้วยการฝึกทักษะเกมรุก เกมรับเพิ่มเติมด้วย จะอาศัยแรงเข้าว่าไม่ได้แล้ว"

ไม่เพียงเท่านั้น การเสียชีวิตของอดีตนักฮอกกี้น้ำแข็งที่มีประวัติการเป็นมือวิวาท ซึ่งมีการชันสูตรศพและค้นพบแล้วว่าสาเหตุสำคัญ คือการกระทบกระเทือนทางสมอง หรือ Concussion ที่เกิดขึ้นจากการต่อยกันในสนาม อย่างเช่นในกรณีของ เดเร็ก บูการ์ด ซึ่งเสียชีวิตเมื่อปี 2011 ด้วยอายุเพียง 28 ปีเท่านั้น ก็ส่งผลให้การต่อยกันในสนามเริ่มเป็นสิ่งที่หลายทีมเห็นว่าไม่ควรที่จะเกิดขึ้นบ่อยๆ เพื่อเป็นการเซฟนักกีฬาเองด้วย

 8

ถึงกระนั้น แกรี่ เบตต์แมน คอมมิสชันเนอร์ ผู้คุมอำนาจสูงสุดในศึก NHL ก็ได้แสดงทรรศนะกับทาง Sport Illustrated โดยเชื่อว่า วัฒนธรรมการต่อยกันที่ถูกกฎในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งก็จะยังคงมีอยู่ต่อไป

"การต่อสู้มันเป็นส่วนหนึ่งของกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง เพราะจะว่าไปมันก็เหมือนกับสิ่งที่ช่วยควบคุมให้ผู้เล่นอยู่ในความสงบได้ ไม่เพียงเท่านั้น การอนุญาตให้ต่อยกันยังเป็นการช่วยเซฟไม่ให้เกิดอาการบาดเจ็บเพิ่มเติมด้วย"

"ที่สำคัญคือ ไม่เคยมีนักกีฬาคนไหนที่เสียชีวิตระหว่างเกมจากการทะเลาะวิวาทตามกฎที่ NHL ว่าไว้ ดังนั้น ถ้ามันยังไม่ทำให้มีใครตาย หรือถ้ามีนักกีฬาต่อยกันจนตายระหว่างเกมของทีมจากแคนาดา มันก็ยังโอเค เพราะคนแคนาดาคุ้นเคยกับอะไรแบบนี้อยู่แล้ว แต่ถ้าเกิดมีคนตายจากการต่อยกันในเกมของทีมจากสหรัฐอเมริกาขึ้นมาเมื่อไหร่ ผมคงพูดสั้นๆ ได้เพียง 'งานเข้าเราแล้ว'"

 9

อย่างไรก็ตาม เราคงต้องขอกล่าวทิ้งท้ายว่า การต่อยกันที่ถูกกฎในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็ง มีเพียงเฉพาะในลีกอาชีพของทวีปอเมริกาเหนืออย่าง NHL หรือลีกรองเท่านั้น...

เพราะหากเรื่องดังกล่าวเกิดขึ้นในการแข่งขันรายการอื่นๆ อย่างเช่น การแข่งขันระดับมหาวิทยาลัย, ลีกอาชีพของทวีปอื่นๆ หรือแม้แต่ในมหกรรมกีฬาโอลิมปิก สิ่งที่จะเกิดขึ้นหลังจากเปิดศึกต่อยกัน คือการไล่ออกจากสนามสถานเดียวครับ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ กฎ 46 : กติกาข้อที่ทำให้การ "ต่อยกัน" ในกีฬาฮอกกี้น้ำแข็งเป็นเรื่อง "ถูกกฎ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook