ประตูสู่นรก: ฟุตบอลอิรักภายใต้การบัญชาของลูกชายซัดดัมที่โหดไม่แพ้พ่อ

ประตูสู่นรก: ฟุตบอลอิรักภายใต้การบัญชาของลูกชายซัดดัมที่โหดไม่แพ้พ่อ

ประตูสู่นรก: ฟุตบอลอิรักภายใต้การบัญชาของลูกชายซัดดัมที่โหดไม่แพ้พ่อ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“Do it or die” อาจจะเป็นคำเปรียบเปรย แต่ภายใต้รัฐบาลของซัดดัม ฮุสเซน มันมีความหมายตรงตามตัวอักษร

การยิงลูกโทษในนัดสำคัญ อาจจะเป็นสิ่งที่บีบหัวใจนักเตะมากที่สุด จนหลายคนเลี่ยงที่จะรับหน้าที่เป็นผู้สังหาร แต่ไม่มีใครเข้าใจความน่ากลัวของมันได้เท่ากับนักเตะอิรักในยุคที่ ซัดดัม ฮุสเซน ปกครองประเทศ

ครั้งหนึ่งในเกมนัดชิงชนะเลิศฟุตบอล แพน อาหรับ เกมส์ 1999 หลัง อิรัก เป็นฝ่ายไล่ตามตีเสมอจอร์แดน เจ้าภาพได้อย่างปาฎิหาริย์ 4-4 ทั้งที่โดนนำไปก่อนถึง 4-0 จนต้องตัดสินด้วยการดวลลูกโทษ ทว่าในตอนแรกแทบจะไม่มีนักเตะอิรักคนไหนกล้าจะรับหน้าที่นี้

เพราะพวกเขารู้ดีว่าหากพลาดลูกโทษ สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคืออะไร

อดีตจ้าวลูกหนังแห่งอาหรับ

หากเอ่ยถึงอิรัก หลายคนอาจจะนึกถึงประเทศแห่งสงคราม และชายชื่อว่า ซัดดัม ฮุสเซน ประธานาธิบดีจอมเผด็จการที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนาน ทว่าก่อนหน้านั้น พวกเขาถือเป็นหนึ่งในจ้าวลูกหนังแห่งตะวันออกกลาง


Photo : www.iraqi-football.com

จุดเริ่มต้นแห่งความรุ่งเรืองของสิงโตแห่งเมโสโปเตเมีย เริ่มต้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1960 เรื่อยมาจนถึงทศวรรษที่ 1980 ที่พวกเขาดาหน้าคว้าแชมป์ระดับภูมิภาคอย่างอาหรับคัพ (1964, 1966, 1985, 1988) และ กัลฟ์คัพ (1964, 1966, 1985, 1988) มาครองได้อย่างเป็นกอบเป็นกำ แถมยังเคยผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายที่เม็กซิโก ในปี 1986

พวกเขายังสามารถผลิตนักเตะขึ้นมาประดับวงการฟุตบอลเอเชียได้มากมาย ทั้ง ฮุสเซน ซาอีด เจ้าของดาวยิงตลอดกาลของทีมชาติอิรักด้วยผลงาน 78 ประตูจาก 127 นัด ราอัด ฮัมมูดี ผู้รักษาประตูจอมหนึบที่ติดทีมชาติเกิน 100 นัด ฟาเลาะห์ ฮัสซัน กองหน้าที่เคยได้รับความสนใจจากทีมในยุโรป และอาเหม็ด ราดี นักเตะประวัติศาสตร์ที่ยิงประตูแรกและประตูเดียวของอิรักในฟุตบอลโลก

หนึ่งในความสำเร็จของพวกเขาส่วนหนึ่งต้องยกเครดิตให้กับ อัมโม บาบา โค้ชระดับตำนานของอิรัก ที่แวะเวียนมาคุมทีมถึง 6 ครั้งตั้งแต่ปี 1978-1997 เขาคือคนพาทีมคว้าอันดับ 4 เอเชียนเกมส์ในปี 1978 ก่อนจะคว้าเหรียญทองในอีก 4 ปีถัดมา แถมยังพาอิรักผ่านเข้าไปเล่นในฟุตบอลโอลิมปิกที่เกาหลีใต้ในปี 1988 ได้อีกด้วย

อย่างไรก็ดี แม้อิรักจะครองความยิ่งใหญ่ของภูมิภาค แต่เบื้องหลังนั้นมีความจริงที่โหดร้ายซ่อนอยู่ และเริ่มเห็นผลของมันอย่างชัดเจนตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 เป็นต้นมา เพียงเพราะการมาถึงของชายที่ชื่อว่า อูเดย์ ฮุสเซน

นายกสมาคมฟุตบอลจอมซาดิสต์

เช่นเดียวกับประเทศเผด็จการทั่วไป ที่ผู้นำมักจะส่งคนหรือเครือญาติของตัวเองเข้าไปคุมตำแหน่งสำคัญของประเทศ ซัดดัม ก็เดินตามรอยนี้เช่นกัน เมื่อเขาส่ง อูเดย์ ฮุสเซน ลูกชายคนโต เข้าไปนั่งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิก และนายกสมาคมฟุตบอลอิรักในปี 1984 ด้วยวัยเพียง 20 ปี


Photo : www.thedrive.com

การรับตำแหน่งของอูเดย์ เกิดขึ้นหลังการครองอำนาจของซัดดัมเพียง 5 ปี เขามีนิสัยที่โหดร้าย ซาดิสต์ และเห็นความเจ็บปวดของผู้คนเป็นเรื่องสนุก แน่นอนว่าเขานำนิสัยนี้มาใช้กับคนที่อยู่ภายใต้การปกครองเป็นประจำ ไม่เว้นแม้แต่ฟุตบอล  

“ฟุตบอลในยุคของอูเดย์มันน่ากลัว และช่วงเวลาที่น่าสะพรึงล้วนเต็มไปด้วยความกดดันในแง่ลบต่อผู้เล่นและนักกีฬาทุกคน มันเป็นสถานการณ์ที่น่าหดหู่มาก” ซาอัด ควาอิส อดีตนักเตะทีมชาติอิรักกล่าว

ในสมัยที่เขาเรืองอำนาจ มีนักกีฬาจำนวนมาก ถูกข่มขู่ ทำร้าย และถูกลงโทษเพียงเพราะว่าพวกเขาพ่ายแพ้ในการแข่งขัน หนึ่งในการลงโทษที่ยอดนิยมที่สุดคือถูกจับขังคุก

ย้อนกลับไปในเกมแพน อาหรับเกมส์ 1999 หลังจากเสมอกัน 4-4 ในเวลาปกติ อิรักต้องการอาสาสมัคร 5 คนเพื่อมายิงลูกโทษ ความกลัวต่อความโกรธของอูเดย์ ทำให้มีคนกล้าออกมายิงเพียงแค่ 3 คน อับบาส ราฮิม คือหนึ่งในนั้น

“นักเตะหลายคนปฏิเสธแม้กระทั่งสัมผัสบอล แต่หลังจากนั้นเราก็ตระหนักว้า ถ้าไม่มีใครยอมยิงเราทั้งหมดต้องถูกลงโทษ” อับบาส บรรยายถึงเหตุการณ์ในวันนั้น


Photo : iraqfootball.me

โชคร้ายที่ อับบาส คือคนพลาดจุดโทษคนสุดท้าย ที่ส่งผลให้ทีมพ่ายไป 3-1 ทำได้เพียงแค่ตำแหน่งรองแชมป์ และทันทีที่เดินทางกลับถึงแบกแดก เขาถูกเรียกไปพบที่สำนักงานใหญ่ของคณะกรรมการโอลิมปิกของประเทศ โดยที่อูเดย์ ประมุขของกีฬาอิรักรอเขาอยู่ เขาถูกปิดตา และถูกทรมาน จากนั้นจึงนำไปขังคุกที่ Al Radwaniya ถึง 3 สัปดาห์

สิ่งนี้คือสิ่งที่อูเดย์กระทำกับนักเตะของเขาเป็นประจำ การขาดซ้อมก็เป็นอีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องมาอยู่ที่นี่ ไม่ว่าจะเหตุผลสำคัญอย่าง ลูกป่วยหรือญาติเสียชีวิต หากไม่มาซ้อมความหมายคือ “จำคุก” สถานเดียว และมันจะยิ่งโหดร้ายขึ้นไปอีกหากนักเตะคนนั้นทำความผิดร้ายแรง

ปี 2000 ยัสเซอร์ อับดุล ลาติฟ อดีตกัปตันทีมชาติ ถูกกล่าวหาว่าทำร้ายผู้ตัดสิน และถูกใบแดงในเกมระดับสโมสรที่กรุงแบกแดก เขาถูกส่งไปที่ Al Radwaniya และถูกจองจำในห้องขังขนาดเพียง 2 ตารางเมตร โดยมีหน้าต่างขนาดเล็กและกำแพงสูงขนาบข้าง

ผมและคิ้วของเขาถูกโกนจนเหี้ยน ท่อนล่างถูกเปลือย ไม่มีอาภรณ์ใดปกคลุม เขาถูกสั่งให้ดันพื้นต่อเนื่อง 2 ชั่วโมง หากแสดงอาการเหนื่อยล้า จะถูกผู้คุม 3 คนตีด้วยแส้ที่ทำมาจากสายไฟ

การทรมานแบบนี้ดำเนินไปเป็นเซ็ต เซ็ตละ 2 ชั่วโมง โดยพัก 1 ชั่วโมงระหว่างนั้น และจะตีเขาแรงขึ้นหากมีอาการเหนื่อย เขาถูกจองจำอยู่ที่นั่น 2 สัปดาห์ ก่อนจะถูกปล่อยตัว และนอนไม่หลับอีกเป็นเดือนๆหลังจากวันนั้น

“จริงๆแล้วที่อิรักมีคุกขนาดใหญ่ แต่ผมไม่มีทางเลือก พวกเขาขู่ผม ถ้าผมไม่มา พวกเขาบอกว่าจะตีผมซ้ำๆ และพิจารณาว่าผมเป็นศัตรูของระบอบการปกครอง ซึ่งมีความหมายมันคือความตาย” ลาติฟกล่าว

เครื่องกระตุ้น?  

“ความโหดร้ายของ อูเดย์นั้นไร้ขอบเขต ไม่ว่าใครก็จะไม่ปลอดภัยจากเขา นักแสดง นักกีฬา หรือนักข่าว เขาเกลียดพวกเราทั้งหมด เขาสนุกกับความเจ็บปวดของเรา เขาไม่เคยเจ็บอย่างที่เขาชอบดู เขาคือปีศาจ เลวร้ายกว่าพ่อของเขามาก” อาลี ริเยาะห์ หัวหน้ากองบรรณาธิการสำนักข่าว Al-Qadissiya กล่าว


Photo : thesefootballtimes.co

อูเดย์ เชื่อว่าการทรมานคือเครื่องมือในการกระตุ้นนักเตะ ทำให้นอกจากการสั่งจำคุกแล้ว เขามักจะข่มขู่นักเตะหากทำผลงานไม่ดี เขาขู่ว่าจะตัดขาผู้เล่น และเอาไปโยนให้สุนัขหิวโหยแทะเล่น หรือถึงขั้นโทรมาขู่นักเตะในระหว่างช่วงพักครึ่งของการแข่งขันทีมชาติก็เคยมาแล้ว

ตอนที่อิรักพลาดโอกาสเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลก 1994 รอบสุดท้าย เขาสั่งขังและโกนหัวผู้เล่นทั้งทีม และบังคับให้เตะบอลที่ทำมาจากคอนกรีตไปทั่วบริเวณเรือนจำ จากนั้นก็นำไปนอนคว่ำบนพื้นกรวดและลากไปตามพื้นจนเกิดเป็นแผลเต็มตัว สุดท้ายก็บังคับให้นักเตะกระโดดจากบันไดสูงราว 20 เมตรลงไปในบ่อน้ำเน่าเพื่อให้เกิดความเจ็บแสบ

“เขาเป็นอันธพาล เขาเรียกเรามาและขู่ว่าจะทำร้ายร่างกาย หรือส่งไปอยู่แนวหน้าในสงครามอิรัก-อิหร่าน” บาซิล จอเรส ตำนานของอิรักกล่าว

อูเดย์ ยังมีพฤติกรรมที่แปลกประหลาด เขามักจะอัดวิดีโอที่เขาทรมานคนเก็บไว้ หรือบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่าควรจะลงโทษแบบไหน เช่นหากนักเตะทำผลงานได้ไม่ดีก็ต้องตีที่เท้าเป็นต้น

แน่นอนว่า แม้กระทั่งนักเตะชุดประวัติศาสตร์ที่ไปเล่นฟุตบอลโลก 1986 ก็ไม่อาจรอดพ้น อิรัก ทำผลงานในเวิลด์คัพด้วยการพ่ายแพ้ 3 นัดติด และยิงได้เพียงลูกเดียว ทันทีที่กลับถึงบ้านพวกเขาก็ถูกลงโทษทันที ไม่เว้นแม้แต่ อาเหม็ด ราดี ดาวดังของทีม ที่เป็นนักเตะอิรักคนแรกที่ยิงประตูได้ในประวัติศาสตร์ฟุตบอลโลกก็ตาม

“ถ้าทีมแพ้ เขาจะส่งเราทั้งทีมเข้าคุก หรือโกนหัวเรา หรือบางครั้งก็ตบผู้เล่นในห้องแต่งตัว” ราดี กล่าว

เช่นเดียวกับ ลาอิต ฮุสเซน อดีตกองหน้าทีมชาติอิรัก เขาเป็นนักเตะที่ถูกลงโทษจากอูเดย์หลายครั้ง เขาเคยถูกสั่งขังในปี 1986, 1988, 1989, 1993, 1998 และ 2000


Photo : copa90.com

“เพราะว่าก่อนหน้านี้อิรักมักจะชนะการแข่งขันในระดับนานาชาติอยู่เสมอ อูเดย์จึงผิดหวัง และไม่รู้ว่าจะทำอย่างไร เขาคิดว่าถ้าเขาขังหรือทุบตีผู้เล่น มันจะทำให้พวกเขาแข็งแกร่งขึ้น และมันจะยิ่งหนักขึ้น และพยายามทำทุกอย่างเพื่อให้ทีมชนะ” ฮุสเซนอธิบาย

“เขาเป็นคนโหดร้ายสำหรับนักเตะทุกคน และไม่รู้อะไรเลยในชีวิตนอกจากการลงโทษและสั่งขัง แม้กระทั่งเจ้าหน้าที่เขาก็ไม่ยกเว้น” ฮัสซัน จัลลาบ อดีตนักเตะของ อัล นาจาฟ กล่าวเสริม

การลงโทษของอูเดย์ไร้ความปราณี และวนเวียนอยู่กับการไปแข่ง แพ้ ถูกลงโทษ ลงแข่ง แพ้ ถูกลงโทษ เป็นวงจรอุบาทว์ไม่จบไม่สิ้น ทางเดียวที่จะหนีรอดจากวงจรนี้คือการไปให้ไกลหูไกลตาเขา นั่นคือการหนีออกนอกประเทศ

ว่าแต่มันคือทางรอดจริงๆหรือ?

สัญญาทาส

ความโหดร้ายของอูเดย์ ทำให้นักฟุตบอลต้องตกอยู่ในชะตากรรมลูกไก่ในกำมือ พวกเขาสูญสิ้นอิสรภาพนับตั้งแต่เลือกมาเป็นนักฟุตบอล ทำให้หลายคนตัดสินใจหนีออกนอกประเทศ หรือเลิกเล่นด้วยวัยไม่มากนัก


Photo : english.alarabiya.net

“พวกเราพยายามหนีจากอูเดย์และตระกูลของเขา พวกเขาคุกคามเราอย่างไร้ศีลธรรม โหดร้าย โหดร้ายมากในจุดที่ผมไม่อยากเจอ ผมจึงตัดสินใจเลิกเล่นตอนกำลังรุ่งๆเพราะการปฏิบัติแบบนั้น ซึ่งอาจทำให้ผมโดนยิงที่เท้าซ้ายจากกองกำลังของพรรคบะอัธ” มามูด ฮุสเซน อดีตนักเตะทีมชาติอิรักกล่าว

เช่นเดียวกับ มาซิน ยาซีน ลูกพี่ลูกน้องของ ยาเซอร์ คาซิม ที่เล่าถึงวิธีที่พ่อทำให้เขาเลิกเล่นก่อนกำหนด เพื่อปกป้องลูกชายจากอูเดย์ เขาบอก IraqFootball.me ว่าเขากลับจากการฝึกซ้อมทุกครั้งด้วยความหวาดกลัว และเป็นห่วงความปลอดภัยของครอบครัว เนื่องจาก อูเดย์ มักจะไปซุ่มดูการฝึกซ้อมของทีม U18 และขู่นักเตะทุกคนว่าจะเอาชีวิต

“ผมมีอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าซึ่งทำให้ผมต้องพักรักษาตัว พ่อของผมใช้โอกาสนี้ขอร้องให้หมอปลอมแปลงรายงานทางการแพทย์และอ้างว่าผมมีอาการบาดเจ็บที่ข้อเท้าที่ทำให้เล่นต่อไปไม่ได้ เราใช้สิ่งนี้เป็นข้ออ้างเพื่อเลิกเล่น ไม่งั้นเขาก็ไม่ยอมให้ผมออกจากเกม”

แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะโชคดีเหมือนพวกเขา ฮาบิบ จาฟฟาร์ คือหนึ่งในนั้น เขามีโอกาสหนีจากความโหดร้ายนี้ หลังได้เซ็นสัญญากับทีมในลีกกาตาร์ด้วยสัญญา 5 ปี แต่โชคร้าย อูเดย์บังคับให้เขาเซ็นสัญญาแบ่งรายได้ 40 เปอร์เซ็นต์จากเงินเดือนของเขาให้อูเดย์ ไม่เช่นนั้นจะไม่ยอมให้ไปเล่นในต่างประเทศ  

เรตนี้เป็นราคามาตรฐานของนักฟุตบอลอิรักที่ไปค้าแข้งใน และแน่นอนว่าเขาไม่มีทางเลือก แม้จะได้ไปเล่นในต่างแดน แต่ก็ยังต้องอยู่ภายใต้ของอำนาจอูเดย์ ไม่จบไม่สิ้น

“เขาไม่ยอมให้เราหยุด หรือเลิกเล่น และเราก็ไม่สามารถเล่นได้ดีเพราะการข่มขู่ทั้งหมดเหล่านี้ มันคือการปฏิบัติอย่างโหดร้ายที่ทำให้เราเครียดมาก” จาฟฟาร์กล่าว

เผด็จการสิ้นอำนาจ

ซัดดัม ฮุสเซน ครองอำนาจจนถึงปี 2003 ก่อนจะถูกจับกุมโดยกองกำลังของสหรัฐฯ ในภารกิจบุกอิรัก เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2003 เขาถูกลงโทษด้วยการประหารชีวิตโดยการแขวนคอในวันที่ 30 ธันวาคม 2006 ปิดตำนานตระกูลฮุสเซนที่ปกครองประเทศมาอย่างยาวนานกว่า 20 ปี


Photo : www.motherjones.com

ส่วน อูเดย์ เสียชีวิตก่อนหน้านั้น หลังถูกกองกำลังสหรัฐฯ บุกเข้าโจมตี เขาและ คูเซย์ น้องชายถูกกระหน่ำยิงไม่ยั้ง และสิ้นใจในวันที่ 22 กรกฎาคม 2003  

การสิ้นอำนาจของอูเดย์ ถือเป็นการปลดปล่อยนักฟุตบอลในประเทศให้เป็นอิสระ เพราะหลังจากนั้นวงการฟุตบอลของอิรักก็พัฒนาอย่างก้าวกระโดด ราวกับว่าที่ผ่านมาโดนกดเอาไว้ พวกเขาคว้าทั้งอันดับ 4 ในฟุตบอลโอลิมปิก 2004 เหรียญเงินเอเชียนเกมส์ 2006 และ แชมป์เอเชียนคัพ 2007 มาครองได้สำเร็จ

“ต้องขอบคุณพระเจ้า วันนี้ผมรู้สึกว่าเราเป็นอิสระที่จะแสดงตัวตนด้วยฟุตบอล เมื่อก่อนเราทำแบบนี้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ทำได้แล้ว ผมรู้สึกเป็นอิสระ ผมรู้สึกว่าเรามีเสรีภาพ และเราจะให้มากกว่าที่เราเคยได้ในอดีต” ลาอิต ฮุสเซน ทิ้งท้าย

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook