สนามหญ้าและออฟฟิศ : ลูกน้องเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อได้หัวหน้าคนใหม่?

สนามหญ้าและออฟฟิศ : ลูกน้องเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อได้หัวหน้าคนใหม่?

สนามหญ้าและออฟฟิศ : ลูกน้องเปลี่ยนไปอย่างไรเมื่อได้หัวหน้าคนใหม่?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความเปลี่ยนแปลงของสิ่งที่มนุษย์ทุกคนต้องเจอ ไม่ว่าจะในสภาพแวดล้อมใดสิ่งนี้พร้อมจะเกิดขึ้นกับคุณในวันหนึ่งไม่ว่าจะเป็นการเปลี่ยนแปลงตามแบบแผน หรือการเปลี่ยนแปลงแบบกะทันหัน  

หนึ่งในกลุ่มบุคคลที่ต้องเผชิญกับความเปลี่ยนแปลงมากที่สุดคือกลุ่มพนักงานออฟฟิศที่ผูกชีวิตไว้กับนโยบายบริษัท ความเปลี่ยนแปลงกับชาวออฟฟิศถือว่ามีหลายรูปแบบทั้ง เปลี่ยนระบบการทำงาน, เปลี่ยนเพื่อนร่วมงาน, เปลี่ยนนโยบาย และที่สุดแล้วคือการเปลี่ยน "หัวหน้างาน" ตำแหน่งที่ส่งผลโดยตรงต่อชีวิตการทำงานว่าคุณจะ “ขึ้นสวรรค์” หรือ “ลงนรก” เมื่อเช้าวันจันทร์เดินทางมาถึง

การเปลี่ยนหัวหน้า ส่งผลกับพนักงานอย่างไร?  และหากลองเทียบกับชีวิตนักกีฬาแล้วมันเหมือนกันแค่ไหนติดตามได้ที่นี่

เครียด

การเปลี่ยนแปลงหัวหน้านั้นส่งผลต่อสภาพจิตใจลูกน้องแน่นอนไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง สำหรับการเปลี่ยนแปลงแบบฉับพลันนั้นสมาคมจิตวิทยาอเมริกัน (APA) พบว่าส่วนมากจะนำมาสู่ความเครียดให้กับพนักงานในทันที หนำซ้ำหากเจอกับการเปลี่ยนแปลงบ่อยๆ พวกเขาจะไม่แน่ใจในจุดยืนขององค์กร ซึ่งจากข้อนี้ก็จะก่อเกิดให้เป็นความเครียดสะสมและนำมาซึ่งปัญหาสุขภาพ สาเหตุหลักๆของการเสียสุขภาพ คือ พวกเขาจะสูบบุหรี่มากขึ้น ดื่มกาแฟมากขึ้น และ ทำงานนอกเวลามากขึ้น จนไม่มีเวลาพักผ่อนตามที่ควรจะเป็น และจากจุดนี้จะส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่นำมาซึ่งการทำงานที่ไม่มีประสิทธิภาพ

"การเปลี่ยนแปลงคือสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้สำหรับทุกองค์กร แต่เมื่อมันเกิดขึ้นผู้นำมักจะประเมินผลกระทบที่มีต่อพนักงานน้อยเกินไป" เดวิด บัลลาร์ด หัวหน้า APA กล่าว

สำหรับการเปรียบเทียบกับนักฟุตบอลที่เปลี่ยนโค้ชนั้นถือว่าอาจจะไม่ตรงกันเป๊ะๆไปเสียทุกเรื่องแต่ที่แน่ๆ การเปลี่ยนแปลงทุกครั้งจะต้องมีนักฟุตบอลได้ผลกระทบ บางคนเคยเล่นดีกลับเล่นแย่จากการโดนเปลี่ยนตำแหน่งหน้าที่ บางรายเคยเป็นตัวหลักก็โดนดรอปออก เพราะปรัชญาของเฮดโค้ชในการทำทีมเปลี่ยนไป  นักฟุตบอลก็เหมือนพนักงานออฟฟิศที่ต้องรับนโยบายจากโค้ชมาแสดงออกเป็นผลงานในสนาม ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่ได้ตั้งตัวย่อมเกิดความเครียดในเบื้องต้นแน่นอน แต่มันขึ้นอยู่กับพวกเขาจะปรับตัวกับสิ่งที่ต้องเผชิญได้หรือไม่?

อยากออก

พนักงานบางคนย่อมมีหัวหน้าในแบบที่พวกเขาชื่นชอบ ทว่าการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าหรือผู้นำบ่อยๆ จะทำให้ไม่สามารถคาดเดาได้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นจะนำมาซึ่งการทำให้พนักงานรู้สึกเชื่อใจนายจ้างและบริษัทน้อยลงทันที  เพราะในทุกครั้งของการเปลี่ยนแปลงภายในมีพนักงานถึง 28% ที่เชื่อว่า ณ ตอนนี้องค์กรพยายามปิดเหตุผลที่แท้จริงในการเปลี่ยนแปลงกับพวกเขาอยู่…. และสิ่งที่ตามมาคือพวกเขาจะรู้สึกถึงความไม่แน่นอนและสุดท้ายแล้วจะนำมาซึ่งความปรารถนาในการเปลี่ยนงานใหม่ที่มั่นคงและคิดว่าจะต้องเผชิญกับความเครียดน้อยกว่า…  อย่างน้อยๆก็ในแง่ของความรู้สึกก็ยังดี

มีหลายเหตุการณ์ในวงการฟุตบอลที่หลังจากมีการเปลี่ยน "เฮดโค้ช" แล้วนักฟุตบอลในทีมฟอร์มตกทันที เพราะความสนิทสนมและความสัมพันธ์กับโค้ชคนเก่าจนไม่อาจจะรับมือและเปิดให้กับโค้ชคนใหม่ได้ หรือแม้กระทั่งการมี "ลูกรัก" เกิดขึ้น กรณีศึกษาที่ชัดเจนที่สุดของการมาของ เมาริซิโอ ซาร์รี่ กุนซือของ เชลซี ที่ เชส ฟาเบรกัส ให้สัมภาษณ์ว่ามาพร้อมกับลูกรักอย่าง จอร์จินโญ่ และเปลี่ยนให้เขาจากที่เคยเป็นนักเตะตัวหลักกลายเป็นตัวสำรองอดทนจนต้องย้ายไปอยู่กับ โมนาโก ในท้ายที่สุด

อคติ

การเป็นหัวหน้าและลูกน้องคือตำแหน่งที่ต้องทำงานร่วมกันแบบร่วมหัวจมท้าย และจะทำเช่นนั้นได้คือต่างฝ่ายต่างต้องให้ความเคารพกันเสียก่อน อย่างไรก็ตามสิ่งนี้มันเกิดขึ้นได้ยากกับเหล่าพนักงานที่อยู่กับบริษัทมาอย่างยาวนานและยังเคยร่วมหัวจมท้ายมาหลายครั้ง พนักงานเหล่านี้จะมีท่าทีในเคารพหัวหน้าใหม่น้อยกว่าที่ควรจะเป็น หัวหน้าใหม่ คือ เด็กใหม่ ที่ยังไม่พิสูจน์อะไรเลยในสายตาของพวกเขา สิ่งที่ต้องทำให้เกิดขึ้นให้ได้ คือ ฝั่งหัวหน้าต้องมีศักยภาพในการทำงานเพื่อพิสูจน์ตัวเองว่าสมควรเป็นผู้นำ ส่วนตัวลูกน้องนั้นต้องปรับลดอคติ และเข้าใจในบทบาทของตัวเองด้วย

การเข้ามาคุมบาเยิร์น มิวนิค ของ คาร์โล อันเชล็อตติ ในช่วงก่อนหน้านี้ ที่สุดท้ายแล้วเขาก็ไม่สามารถเอาชนะใจนักเตะอย่าง โทมัส มุลเลอร์, ฟร้องค์ ริเบรี่ หรือแข้งซีเนียร์ในทีมที่อยู่กับสโมสรมาร่วม 10 ปีได้ จนทำให้ฟอร์มการเล่นของทีมตกรูดแบบไม่น่าเชื่อ จนสุดท้ายกลุ่มผู้บริหารก็เลือกเอานักเตะไว้และปลดเขาออกแทนก่อนที่ทีมจะเสียสปิริตไปมากกว่านี้....

อย่างไรก็ตามใดๆในโลกนี้ล้วนมี 2 ด้านเสมอ บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็นำมาสู่สิ่งใหม่ที่ดีกว่า และเหนือสิ่งอื่นใดคือเรื่องการปรับตัวของทั้งสองฝั่ง โดยเฉพาะฝั่งลูกน้องที่ต้องทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ไม่ใช่เพื่อองค์กร แต่เพื่อตัวของพวกเขาเองที่จะได้ทั้งประสบการณ์และความรู้มากกว่าสถานการณ์ปกติที่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง    

การปรับตัวที่ดีสำหรับการเปลี่ยนแปลงหัวหน้าคือ เหล่าลูกน้องต้องเปลี่ยนทัศนคติของตัวเองเช่นการมองปัญหาเป็นแรงจูงใจ การใช้การสื่อสารในการทำงานร่วมกันมากกว่าการคาดเดาจนทำให้สติเตลิดและเกิดความคิดด้านอคติได้ เพราะที่สุดแล้วต้องยอมรับว่าปัญหาของหัวหน้านั้นเป็นปัญหาโลกแตกไม่มีใครแก้ได้แบบหายขาด มันมีทุกที่มีทุกยุคทุกสมัย ดังนั้น เราต้องยอมรับความเป็นจริงในจุดนี้ก่อน ทุกปัญหาแก้ได้ด้วยตัวเราเอง แม้ว่าบางครั้งสาเหตุมันอาจจะไม่ได้มาจากเราก็ตาม  เพราะการเปลี่ยนงานเพื่อหนีปัญหากับหัวหน้าอาจจะทำให้เรารู้ว่าที่สุดแล้วปัญหาที่แม้จริงอาจจะเกิดมาจากตัวเราเองก็ได้

เช่นเดียวกันกับทีมนักเตะของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในเวลานี้ โดยเฉพาะหลังเกมที่แพ้ เอฟเวอร์ตัน 0-4 หลายสิ่งหลายอย่างในเกมมันแสดงให้เห็นว่าปัญหาเกิดขึ้นทุกหย่อมหญ้ากับทีมปีศาจแดงตอนนี้ ภาษากายของนักเตะแสดงออกถึงความไม่ทุ่มเท อีกทั้งรูปแบบการเล่นก็เป็นรองสุดกู่เรียกได้ว่าแพ้ทั้งหัวใจและแท็คติก สิ่งที่พวกเขาควรทำตอนนี้ไม่ใช่การโทษใครแต่ควรมองไปที่ตัวเองก่อนว่าปัญหาที่เกิดขึ้นนั้น แท้จริงมันเกิดจากอะไรกันแน่..   

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook