ตำนาน Flying Finn : เหตุใดฟินแลนด์ถึงเป็นดินแดนสร้างยอดฝีมือโลกความเร็ว?

ตำนาน Flying Finn : เหตุใดฟินแลนด์ถึงเป็นดินแดนสร้างยอดฝีมือโลกความเร็ว?

ตำนาน Flying Finn : เหตุใดฟินแลนด์ถึงเป็นดินแดนสร้างยอดฝีมือโลกความเร็ว?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงดินแดนแห่งวงการความเร็ว หรือ มอเตอร์สปอร์ตส์ หลายๆ คนคงนึกถึง หลายประเทศในทวีปยุโรป ไม่ว่าจะเป็น สหราชอาณาจักร, เยอรมนี รวมถึงประเทศที่อยู่ข้ามซีกโลกอย่าง สหรัฐอเมริกา และ ญี่ปุ่น

หากมองหาความเชื่อมโยงของประเทศเหล่านี้ ข้อหนึ่งที่ทุกคนคงเห็นตรงกันก็คือ ทุกประเทศที่กล่าวมาต่างมีอุตสาหกรรมยานยนต์ระดับแนวหน้า มีบริษัทผู้ผลิตรถยนต์มากมาย เช่นเดียวกับสนามแข่งขันระดับโลก

ถึงกระนั้น กลับมีประเทศในแถบยุโรปเหนือแห่งหนึ่ง ซึ่งเป็นดินแดนที่มีขนาดเล็กกว่า และจำนวนประชากรที่น้อยกว่าประเทศไทยเสียอีก ยิ่งไปกว่านั้น ยังเป็นประเทศที่ไม่มีสนามแข่งรถที่สามารถใช้จัดแข่งรถสูตรหนึ่งได้เลยแม้แต่สนามเดียว (คายมี่ริง สนามแข่งมาตรฐาน FIA เกรด 1 แห่งแรกของประเทศจะพร้อมใช้งานในปี 2020) แต่กลับมีนักแข่งรถระดับแชมป์โลก รวมถึงนักซิ่งฝีมือดีประดับวงการมากมาย

แล้วเหตุใด ฟินแลนด์ ถึงได้เป็นดินแดนที่สร้างยอดฝีมือแห่งโลกความเร็วได้ถึงเพียงนี้กันล่ะ?

รวดเร็วเหมือนโผบิน

เมื่อพูดถึงประเทศฟินแลนด์ คำหนึ่งที่แฟนกีฬามักจะได้ยินอยู่เสมอเวลากล่าวถึงประเทศนี้ก็คือคำว่า "Flying Finn" ซึ่งเป็นคำที่ใช้ยกย่องนักกีฬาชาวฟินแลนด์ว่า มีความรวดเร็วว่องไวเหมือนนกที่โผบิน


Photo : asiangiant.wordpress.com

และเมื่อพูดถึงคำนี้ แทบทุกคนมักจะนึกถึงนักซิ่งแห่งโลกความเร็ว ไม่ว่าจะเป็นสายทางเรียบอย่าง รถสูตรหนึ่ง หรือ F1 รวมถึงสายทางฝุ่นอย่าง แรลลี่ชิงแชมป์โลก หรือ WRC แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่า วงการมอเตอร์สปอร์ตส์ ไม่ใช่วงการแรกที่มีการนำคำว่า "ฟลายอิ้ง ฟินน์" มาใช้ …

ประวัติศาสตร์ยุคเริ่มแรกของคำว่า ฟลายอิ้ง ฟินน์ ต้องย้อนกลับไปถึงปี 1912 โดยคนแรกที่ถูกเรียกขานในชื่อดังกล่าวคือ ฮันเนส โคเลห์ไมเน่น นักวิ่งระยะกลางและระยะไกลที่คว้าได้ถึง 3 เหรียญทองในมหกรรมกีฬาโอลิมปิกปี 1912 ที่กรุงสต็อกโฮล์ม ก่อนที่จะมีนักกรีฑาอีกหลายรายที่สืบทอดตำนาน ไม่ว่าจะเป็น พาโว นูร์มิ และ วิลเล ริโตล่า

ส่วนวงการมอเตอร์สปอร์ตส์นั้น คำว่า ฟลายอิ้ง ฟินน์ ถูกนำมาใช้เป็นครั้งแรกในยุค 1960s กับนักแข่งรถแรลลี่ โดยมี เราโน่ อัลโตเน่น และ ติโม มาคิเนน เป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกเรียกขานด้วยคำดังกล่าว ก่อนจะถูกขยายวงในการเรียกขานนักซิ่งชาวฟินแลนด์ในเวทีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น รถสูตรหนึ่ง หรือกระทั่ง มอเตอร์ไซค์ทั้งทางเรียบและทางฝุ่น

แม้อันที่จริง ยังมีการเรียกขานชื่อดังกล่าวกับนักกีฬาในประเภทอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นวงการฟุตบอลกับ เชฟกี คูกี หรือวงการเทนนิสกับ ยาร์คโค่ นีมิเน่น แต่หากพูดถึงคำว่า ฟลายอิ้ง ฟินน์ กับวัฒนธรรมกีฬาร่วมสมัย … มอเตอร์สปอร์ตส์ คือกีฬาที่จะถูกนึกถึงเป็นอันดับแรก

ชาติชั้นนำโลกความเร็ว

อันที่จริง หากย้อนดูประวัติศาสตร์ของการแข่งขัน F1 แล้วก็จะพบว่า ฟินแลนด์มิใช่ชาติที่สร้างนักแข่งดีกรีแชมป์โลกได้มากที่สุดแต่อย่างใด แต่เป็นสหราชอาณาจักรที่มีแชมป์โลกเยอะที่สุดถึง 10 คน ขณะที่ฟินแลนด์มีเพียง 3 คน ประกอบด้วย กีกี้ รอสเบิร์ก, มิก้า ฮัคคิเนน และ คิมี่ ไรค์โคเน่น เท่านั้น


Photo : www.motorsportimages.com

แต่หากนำจำนวนแชมป์โลกมาเปรียบเทียบกับจำนวนประชากรล่ะ? สถิติที่เกิดขึ้นถือว่าน่าสนใจอย่างยิ่ง เพราะจากประชากรของฟินแลนด์ในปี 2017 ซึ่งอยู่ที่เพียงราว 5.5 ล้านคน เท่ากับว่าฟินแลนด์มีแชมป์โลกรถสูตรหนึ่ง 1 คน ต่อประชากรราว 1.8 ล้านคน น้อยกว่าสหราชอาณาจักรที่มีแชมป์โลก 1 คนต่อประชากรถึงราว 5.5 ล้านคนเลยทีเดียว

ส่วนวงการแรลลี่โลกนั้น ฟินแลนด์คือเบอร์ 1 ของโลกอย่างแท้จริง เมื่อประเทศนี้มีแชมป์โลก WRC ถึง 7 คน (มาร์คคู อาเลน, อารี วาตาเน่น, ฮันนู มิคโคล่า, ติโม ซาโลเน่น, ยูฮา คันคูเน่น, ทอมมี่ มาคิเนน, และ มาร์คุส โกรนโฮล์ม) สูงที่สุดตลอดกาล และเมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว ค่าเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1 แชมป์โลกต่อประชากรราว 780,000 คนเท่านั้นเอง

คราวนี้ เรามาดูสัดส่วนของจำนวนนักแข่งต่อประชากรของประเทศบ้าง ซึ่งฟินแลนด์ก็ยังคงเป็นประเทศที่มีสัดส่วนนักแข่งต่อประชากรอันดับต้นๆ ของโลกอยู่ดี โดยในโลก F1 ซึ่งฟินแลนด์มีนักแข่งตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบันรวม 9 คน เฉลี่ยประชากรราว 610,000 คน ต่อนักแข่ง 1 คน ขณะที่โลกของ WRC ซึ่งฟินแลนด์มีนักแข่งมากถึง 42 คนนั้น มีค่าเฉลี่ยประชากรอยู่ที่ราว 131,000 คน ต่อนักแข่ง 1 คน ซึ่งถือเป็นอันดับ 2 ของโลกเลยทีเดียว

ธรรมชาติที่ต้องปรับตัว

จากตัวเลขสถิติ ตลอดจนนักแข่งชื่อดังสัญชาติฟินแลนด์ที่ปรากฎสู่สายตาแฟนกีฬาความเร็วอย่างไม่ขาดสาย ฟินแลนด์ จึงถือเป็นหนึ่งในชาติที่สร้างยอดฝีมือแห่งโลกความเร็วได้ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

ซึ่งการจะหาถึงเหตุผล บางทีเราคงต้องเริ่มต้นด้วยภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศเล็กๆ ในยุโรปเหนือเลยทีเดียว ...


Photo : apexonlineracing.com

ข้อมูลจากหน่วยงานทางด้านคมนาคมของประเทศฟินแลนด์ระบุว่า โครงข่ายถนนที่โยงใยไปทั่วประเทศนี้มีความยาวรวมกันอยู่ที่ราว 454,000 กิโลเมตร ทว่ามีทางหลวงเส้นใหญ่เพียง 78,000 กิโลเมตร และถนนชุมชนท้องถิ่นราว 26,000 กิโลเมตรเท่านั้น เท่ากับว่า ถนนส่วนบุคคล ซึ่งส่วนใหญ่มีสภาพเป็นลูกรัง รวมถึงถนนที่ตัดผ่านป่าเขาลำเนาไพรของประเทศมีมากถึงราว 350,000 กิโลเมตรเลยทีเดียว

ไม่เพียงเท่านั้น ฟินแลนด์ซึ่งมีที่ตั้งค่อนไปใกล้ขั้วโลกเหนือ ยังมีฤดูหนาวที่ยาวนานเอามากๆ เมื่อหิมะของประเทศนี้ตกอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ยาวไปจนถึงเดือนพฤษภาคมของปีถัดไปเลยทีเดียว


Photo : fcauthority.com

และนั่นคือคำตอบที่ คิมี่ ไรค์โคเน่น นักแข่งชาวฟินแลนด์คนล่าสุดที่คว้าแชมป์โลก F1 ตอบกับสื่อมวลชน เมื่อถูกถามว่า เหตุใดคนฟินแลนด์ถึงมีฝีมือการขับรถที่เก่งกาจนัก พร้อมกับเสริมด้วยว่า

"ถ้าอยากมีชีวิตรอดในฟินแลนด์ สิ่งหนึ่งที่ต้องมีเลยคือฝีมือการขับรถ เพราะถนนที่นี่ไม่เพียงแต่ขรุขระเท่านั้น แต่ยังลื่นเอามากๆ อีกด้วยล่ะ"

ไม่ใช่แค่กีฬา แต่คือวิถีชีวิต

ด้วยสภาพภูมิประเทศที่ส่วนใหญ่มีแต่ถนนลูกรัง แถมยังเงียบสงบถึงขั้นสงัด ขาดการดูแลรักษาจากทางการ รวมถึงสภาพอากาศที่มีฤดูหนาวเป็นส่วนใหญ่ ทำให้ทักษะการขับรถ กลายเป็นสิ่งสำคัญมากๆ ในการดำรงชีวิตที่ฟินแลนด์อย่างที่คิมี่ว่าไว้

ซึ่งหลายคนที่เติบโตสู่เส้นทางนักแข่งรถอาชีพ รู้จักกับเครื่องจักรที่ชื่อว่า "รถยนต์" ตั้งแต่ตีนเท่าฝาหอยเลยทีเดียว


Photo : www.roadex.org

"ครั้งแรกที่ได้ 'ขับ' รถเนี่ย รู้สึกตอนนั้นผมจะอายุซัก 2 ขวบได้" มิก้า ฮัคคิเนน แชมป์โลกรถสูตรหนึ่ง 2 สมัย เริ่มร่ายผ่านบล็อกที่เขียนให้กับทีมแม็คลาเรน ต้นสังกัดที่นำเขาสู่จุดสูงสุด "คือแทบทุกบ้านที่ฟินแลนด์ มักจะมีกระท่อมเล็กๆ เอาไว้ไปพักช่วงวันหยุดในชนบท ซึ่งของที่บ้านผม มันต้องเข้าถนนส่วนบุคคลไปพอสมควรเหมือนกัน พ่อก็ให้ผมขึ้นมานั่งบนตัก แล้วก็คุมพวงมาลัยเลย"

ซึ่งฮัคคิเนนเองก็เห็นตรงกับคิมี่ว่า ภูมิประเทศและภูมิอากาศ ถือเป็นสิ่งสำคัญมากที่ช่วยขัดเกลาทักษะการซิ่งของคนฟินแลนด์ เพราะอาการของรถที่แสดงออกจะเป็นการสอนให้แต่ละคนรู้เองว่า จังหวะไหนควรเบรก จังหวะไหนควรเหยียบคันเร่งเพื่อให้รถไปต่อได้อย่างรวดเร็ว และสามารถต่อยอดไปสู่การเป็นนักแข่งอาชีพได้ง่ายขึ้น

และเมื่อพูดถึงการเริ่มต้นบนเส้นทางนักแข่งอาชีพนั้น หลายคนอาจจะนึกถึงรถโกคาร์ท ซึ่งก็เป็นกีฬาที่ได้รับความนิยมในดินแดนแห่งนี้ แต่สำหรับคนฟินแลนด์ที่อาจจะไม่มีทุนทรัพย์ พวกเขายังมีการแข่งขันที่เรียกว่า Folk Racing ซึ่งเป็นการจับเอารถเก่าๆ มาลงสนามแรลลี่ครอส โดยไม่จำกัดประสบการณ์นักแข่ง จะเป็นรุ่นใหญ่วัยเก๋า หรือเด็กมัธยมก็สามารถลงสนามได้ นี่คือสิ่งที่ช่วยให้ประเทศฟินแลนด์สามารถสร้างนักแข่งเข้าสู่วงการได้มากขึ้น


Photo : www.carkeys.co.uk

ขณะเดียวกัน สังคมของนักแข่งรถอาชีพในฟินแลนด์ยังเป็นไปอย่างเกื้อกูลกัน เมื่อนักแข่งรุ่นพี่จะคอยให้ความช่วยเหลือนักแข่งรุ่นน้องอยู่เสมอ เพื่อให้พวกเขาสามารถสร้างฝีมือยืนหยัดในวงการได้ ซึ่งตัวของ มิก้า ฮัคคิเนน เองก็ยอมรับว่า แชมป์โลก F1 รุ่นพี่อย่าง กีกี้ รอสเบิร์ก นั้น มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการผลักดันเขาสู่ตำแหน่งแชมป์โลก ซึ่งเขาเองก็ได้นำประสบการณ์ ถ่ายทอดให้กับ คิมี่ ไรค์โคเน่น จนสามารถคว้าแชมป์โลกตามรอยได้เช่นกัน

Sisu … คติสร้างชาติเจ้าความเร็ว

แม้ปัจจัยทางด้านสภาพแวดล้อม รวมถึงวิถีชีวิตจะมีส่วนอย่างยิ่งที่ช่วยให้ชาวฟินแลนด์มีฝีมือการซิ่งอันฉกาจฉกรรจ์ แต่ ศาสตราจารย์ มัตติ อูร์ริล่า อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยากีฬา ได้ชี้ให้เห็นถึงอีกแง่มุมที่น่าสนใจ โดยเผยว่า บาดแผลทางประวัติศาสตร์เองก็มีส่วนที่หล่อหลอมให้คนฟินแลนด์เข้าถึงโลกแห่งความเร็วได้อย่างถึงแก่น


Photo : www.vwvortex.com

"ชาวฟินแลนด์นั้นลุ่มหลงในเทคโนโลยีมากเลยนะ ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะบาดแผลทางประวัติศาสตร์ที่ฟินแลนด์ต้องจ่ายค่าปฏิกรรมสงครามให้กับสหภาพโซเวียต (ฟินแลนด์เคยอยู่ร่วมกับฝ่ายอักษะในช่วงต้นสงครามโลกครั้งที่ 2 และเปิดศึกกับสหภาพโซเวียต ก่อนเปลี่ยนข้างมาอยู่กับฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงบั้นปลาย) ทำให้ทุกคนรู้ว่า แค่เกษตรกรรมอย่างเดียวไม่อาจช่วยให้ชาติอยู่ได้อีกต่อไป พวกเราก็เลยต้องพัฒนาความรู้ทางด้านวิศวกรรมไปด้วย"

แต่สิ่งสำคัญที่สุดซึ่งแทบทุกคนเห็นตรงกันว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งต่อการก้าวขึ้นเป็นยอดฝีมือในโลกของเร็วของคนฟินแลนด์นั้น คือคำสั้นๆ … "Sisu"

ว่าแต่ ซีซู นี้มันคืออะไร? อันที่จริงคำนี้ดูจะหานิยามที่จำเพาะเจาะจงโป้งเดียวจบได้ลำบาก แต่หลายๆ ฝ่าย รวมถึง มหาวิทยาลัยฟินแลนเดีย สถาบันอุดมศึกษาในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีต้นกำเนิดจากกลุ่มผู้อพยพจากฟินแลนด์ในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 ให้ความหมายอย่างยืดยาวไว้ว่าเป็น "ความตั้งใจ, ความมุ่งมั่น, ความขยัน และการแสดงออกอย่างเป็นเหตุเป็นผลยามเจอกับสถานการณ์ที่คาดเดาไม่ได้"


Photo : www.autosport.com

มหาวิทยาลัยฟินแลนเดียยังขยายความไว้ด้วยว่า "ซีซู ไม่ใช่ความกล้าหาญเพียงชั่วขณะ แต่เป็นความสามารถในการรักษาความกล้าหาญนั้นไว้ตลอด ซึ่งแม้แต่เราเองก็ยอมรับว่า ยังไม่มีคำใดที่สามารถอธิบายความได้อย่างสมบูรณ์แบบเสียทีเดียว แต่ ซีซู คือคำที่สามารถใช้นิยามชาวฟินแลนด์และบุคลิกของพวกเขาได้ตรงที่สุด เพราะนี่คือปรัชญาที่สะท้อนว่า สิ่งใดที่ต้องทำ ก็จำเป็นที่จะต้องทำ ไม่ว่ามันจะต้องแลกมาด้วยสิ่งใดก็ตาม"

ลักษณะนิสัยของชาวฟินแลนด์นี้เอง ที่ทำให้ มิก้า ซาโล่ อดีตนักแข่งรถสูตรหนึ่งมองว่า นี่แหละ คือสิ่งที่ทำให้เขารวมถึงคนบ้านเดียวกันสามารถก้าวไปถึงจุดสูงสุดแห่งโลกความเร็ว เพราะไม่เพียงแต่พวกเขาจะเร็วเท่านั้น แต่ยังมีความเยือกเย็นสุดๆ จนฉายา "Iceman" หรือ มนุษย์น้ำแข็ง ก็มักจะเป็นอีกสิ่งที่อยู่คู่กับนักแข่งชาวฟินแลนด์เช่นเดียวกัน


Photo : thisdayinmotorsporthistory.blogspot.com

"ลักษณะความคิดของคนฟินแลนด์เช่นนี้กลายเป็นสิ่งที่ดีสำหรับโลกความเร็ว เพราะหนึ่งในหลักสำคัญของ ซีซู ก็คือ 'อย่ายอมแพ้' ... เรายอมรับว่าพวกเราเป็นคนที่ดื้อรั้น, ขี้อิจฉา และเห็นแก่ตัว ดังนั้น สิ่งที่คุณจำเป็นต้องทำ คือทำให้ดีด้วยตัวเอง ดีกว่าที่จะเห็นคนอื่นทำดีกว่า ถึงกระนั้น อีกสิ่งสำคัญคือ ทุกคนดูจะใจเย็นเอามากๆ ส่งผลให้เกิดความผิดพลาดน้อยไปด้วย ซึ่งผมเองก็อธิบายไม่ถูกเหมือนกันว่าทำไม แต่ผมเองก็เป็น เพราะสิ่งเร้าอารมณ์ต่างๆ ไม่อาจส่งผลกับสิ่งที่ผมทำได้เลย"

แล้วคนทั่วไปจะสามารถฝึกฝนเพื่อให้มี ซีซู เช่นเดียวกับคนฟินแลนด์ได้หรือไม่? เรื่องดังกล่าว เอมิเลีย ลาห์ติ นักพูดที่ศึกษาค้นคว้าถึงหลักคิดของคำว่า ซีซู ให้คำแนะนำว่า ทุกคนก็สามารถพัฒนาทัศนคติเฉกเช่นเดียวกับชาวฟินแลนด์ได้ โดยมีวิธีฝึกคือ ลองวิ่งระยะไกล, ทำความเข้าใจความสามารถของตน ตลอดจน ศึกษาประวัติศาสตร์ของบุคคล เพื่อเป็นแรงผลักดันในการพัฒนาขีดจำกัดไปให้สุดขอบยิ่งกว่าเดิม

การปรับตัวกับสภาพภูมิประเทศและภูมิอากาศที่ไม่เป็นใจ, วัฒนธรรมความลุ่มหลงในยานยนต์ตั้งแต่อายุยังน้อย, บาดแผลทางประวัติศาสตร์ ตลอดจน ซีซู ลักษณะนิสัยเฉพาะของประชากร ทั้งหมดเหล่านี้คือสิ่งที่หล่อหลอมให้ชาวฟินแลนด์สามารถพัฒนาฝีมือการขับรถได้อย่างฉกาจฉกรรจ์

และเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้ ฟินแลนด์ กลายเป็นดินแดนที่สร้างยอดฝีมือแห่งโลกความเร็วอย่างแท้จริง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook