โฮปเวลล์โมเดล : "นู เมสตายา" สนามกีฬาที่ใช้เวลาสร้างแบบมาราธอน.. และยังไม่เสร็จ

โฮปเวลล์โมเดล : "นู เมสตายา" สนามกีฬาที่ใช้เวลาสร้างแบบมาราธอน.. และยังไม่เสร็จ

โฮปเวลล์โมเดล : "นู เมสตายา" สนามกีฬาที่ใช้เวลาสร้างแบบมาราธอน.. และยังไม่เสร็จ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงโครงการเมกกะโปรเจ็คท์ที่ไม่มีวันเสร็จ สำหรับคนไทยคงนึกถึง โฮปเวลล์ หรือโครงการระบบการขนส่งทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร ซึ่งที่สุดแล้วกลายเป็นโปรเจ็คท์ที่ Hopeless หรือไร้ความหวัง ไร้อนาคต เมื่อโครงการดังกล่าวถูกระงับการสร้าง กลายเป็นหนึ่งในมหากาพย์ "ค่าโง่" ที่รัฐบาลไทยต้องชดใช้เป็นมูลค่าหลายหมื่นล้านบาท

ส่วนชาวสเปนก็คงนึกถึง มหาวิหารซากราดาแฟมิเลีย ผลงานสุดวิจิตรของ อันโตนี เกาดี ที่ประสบความล่าช้าในการก่อสร้างเป็นเวลาร่วมศตวรรษ เพราะนับตั้งแต่เริ่มการก่อสร้างในปี 1882 จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะเสร็จ

 

แต่ 350 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองบาร์เซโลน่า ที่ตั้งของมหาวิหาร 18 ยอด กลับมีสนามแข่งขันฟุตบอลสนามหนึ่ง ที่แม้สโมสรเคยวาดฝันสวยหรูว่าจะเป็นการยกระดับทีมไปอีกขั้นเมื่อสร้างเสร็จ แต่ความจริงที่ปรากฎก็คือ อัครสังเวียนแข่งที่ว่ายังไม่มีทีท่าว่าจะสมบูรณ์ แถมเรื่องราวความล่าช้า ยังละม้ายคล้ายคลึงกับบางโปรเจ็คท์แถวๆ นี้อีกด้วย

นู เมสตายา… รังเหย้าใหม่ 7 ชั่วโคตรของ บาเลนเซีย นั่นเอง

ยกระดับทีม

เอสตาดิโอ เมสตายา ความจุ 49,500 ที่นั่ง ถือเป็นสนามที่ บาเลนเซีย มีประวัติศาสตร์และอยู่เคียงข้างช่วงเวลาแห่งความสำเร็จร่วมกันมาอย่างยาวนาน เมื่อเกียรติประวัติในฐานะแชมป์ของสโมสรที่เพิ่งมีอายุครบ 100 ปีในปี 2019 ทุกรายการ เกิดขึ้นในขณะที่พวกเขาใช้สนามแห่งนี้เป็นรังเหย้า รวมถึงยังเคยได้รับใช้ในฐานะสังเวียนแข่งขันฟุตบอลโลก 1982 อีกด้วย

 1

อย่างไรก็ตาม ด้วยความที่สนามแห่งนี้ถูกสร้างขึ้นมาตั้งแต่ปี 1923 ไม่ต้องสงสัยเลยว่า อะไรหลายๆ อย่างในสังเวียนแห่งความภาคภูมิใจนี้ย่อมเสื่อมสภาพและล้าสมัยไปตามกาลเวลา รวมถึงความชันของอัฒจันทร์ฝั่งเหนือที่เปรียบเสมือนจุดเด่น แต่ขณะเดียวกันมันก็สร้างความยากลำบากให้กับแฟนบอลทั้งทีมเหย้าและทีมเยือนในการเดินเข้าออกที่นั่ง "ไอ้ค้างคาว" จึงตัดสินใจว่า คงถึงเวลาแล้วที่จะต้องมีการเปลี่ยนแปลง

ถึงกระนั้น สิ่งที่บอร์ดบริหารคิด กลับแตกต่างจากสองทีมดังร่วมชาติอย่าง เรอัล มาดริด กับ บาร์เซโลน่า ซึ่งเลือกการปรับปรุงรังเหย้า เพราะ บาเลนเซีย ตัดสินใจที่จะสร้างสนามแข่งขันใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมด้วยความจุราว 75,000 ที่นั่ง โดยวางทำเลไว้ที่ 5 กิโลเมตรทางตะวันตกเฉียงเหนือของสนามแห่งเดิม

ส่วนชื่อสนามก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะชื่อ เมสตายา นั้นก็เพราะพริ้งและเป็นที่คุ้นหูแฟนๆ ดีอยู่แล้ว แค่เติมคำว่า นู ซึ่งแปลว่า ใหม่ ในภาษาสเปนไปข้างหน้า กลายเป็น นู เมสตายา หรือ เมสตายาแห่งใหม่ เท่านี้ก็เรียบร้อย

"ผมขอสัญญาตรงนี้เลยว่า เราจะมีสนามแข่งที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งในยุโรป และด้วยสภาพทางการเงินที่แข็งแกร่ง เราจึงมีเงินที่ยิ่งกว่าพอสำหรับงานนี้ และทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย" นี่คือคำมั่นสัญญาของ ฆวน โซแลร์ ประธานสโมสรผู้ริเริ่มโปรเจ็คท์และนำเสนอแผนงานเป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2006 ให้คำมั่นสัญญากับแฟนบอล

ทว่ามันกลับเป็นสัญญาที่ไม่มีทีท่าว่าจะเกิดขึ้นจริง…

ปัญหาถาโถม

การก่อสร้าง นู เมสตายา เริ่มต้นขึ้นเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2007 และมีแผนที่จะสร้างเสร็จภายใน 2 ปี เพื่อให้พร้อมเปิดใช้งานในฤดูกาล 2009/10 ซึ่งเป็นปีที่สโมสรจะมีอายุครบ 90 ปี

 2

แต่ลางร้ายก็เริ่มมาเยือนตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีถัดมา เมื่อนั่งร้านที่ใช้ในการก่อสร้างเกิดถล่ม ทำให้มีคนงานเสียชีวิต 4 ศพ ทว่านั่นยังไม่ใช่ปัญหาสำคัญที่สุด …

เพราะวิกฤติเศรษฐกิจโลกที่ตั้งเค้าก่อตัวขึ้นในปีเดียวกับที่เริ่มก่อสร้างสนาม ทำให้หลายประเทศในยุโรปประสบกับปัญหาอย่างหนัก และสเปนก็คือหนึ่งในชาติที่ได้รับผลกระทบ เมื่ออัตราการว่างงานของประชากรในประเทศสูงขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น เมกกะโปรเจ็คท์ต่างๆ ของรัฐบาลยังประสบความล่าช้าเนื่องจากขาดงบประมาณ

สนามบิน กาสเตยอน ทางตะวันออกของประเทศต้องเลื่อนการเปิดให้บริการเชิงพาณิชย์ถึง 4 ปี จากเดิมที่มีกำหนดเปิดใช้ในปี 2011 ขณะที่หมู่บ้านการเคหะฯ ในเมือง วัลเดลุซ ซึ่งตั้งอยู่ที่ 60 กิโลเมตรทางตะวันออกเฉียงเหนือของกรุงมาดริด ที่รองรับประชากรได้ราว 30,000 คน ก็ประสบปัญหาไม่ต่าง เมื่อบ้าน 75% ของโครงการสร้างไม่เสร็จ ทำให้ปัจจุบันมีสภาพเหมือนโครงการร้าง มีประชาชนย้ายเข้ามาอยู่เพียงราว 1,000 คนเท่านั้น … สภาพที่เกิดขึ้น แทบไม่ต่างอะไรกับที่ประเทศไทยต้องเจอในช่วงวิกฤติ “ต้มยำกุ้ง” ภาวะปัญหาเศรษฐกิจครั้งสำคัญ และเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้โครงการโฮปเวลล์ต้องล้มครืนเลยแม้แต่น้อย

ขนาดโปรเจ็คท์ของรัฐบาลยังเจอปัญหา ภาคเอกชนอย่างสโมสรฟุตบอลจะไปเหลืออะไร? ด้วยงบประมาณการก่อสร้างสูงถึงราว 300 ล้านยูโร โซแลร์จึงประสบปัญหาในการหาเงินเพื่อมาใช้จ่ายสำหรับเมกกะโปรเจ็คท์นี้ แม้หนึ่งในวิธีการแก้ปัญหา คือการขายผืนดินที่ตั้ง เมสตายา แห่งเดิมเพื่อระดมทุน แต่ด้วยวิกฤตเศรษฐกิจ ราคาอสังหาริมทรัพย์จึงดิ่งติดพื้นจนไม่มีกลุ่มทุนใดให้ความสนใจเลย

 3

ซ้ำร้าย วิกฤติทางการเงินที่เกิดขึ้นกับสโมสร ที่มีหนี้สินรวมกันมากกว่า 500 ล้านยูโร ยังส่งผลให้บาเลนเซียไม่มีเงินไปจ่ายค่าผืนดินที่ตั้งสนามใหม่ให้กับสภาเมืองบาเลนเซียได้ครบ จากราคาที่ดิน 45 ล้านยูโร "โลส เช" จ่ายเงินไปเพียง 28 ล้านยูโรเท่านั้น ทำให้ไอ้ค้างคาวมีสนามถึง 2 แห่งที่ไม่สามารถช่วยให้ทีมหลุดพ้นจากปัญหาหนี้สิน เมื่อสนามแห่งใหม่ยังจ่ายเงินไม่ครบตลอดจนยังสร้างไม่เสร็จ ขณะที่สนามเก่าก็ยังขายเพื่อเอาเงินไปโปะให้สนามใหม่ไม่ได้

และแม้โครงสร้างสนามจะถูกก่อสร้างแล้วจนเกือบเสร็จสมบูรณ์ แต่ด้วยหนี้ที่คงค้างกับบริษัทก่อสร้างถึง 50 ล้านยูโร ที่สุดแล้ว คู่สัญญาก็ไม่อาจรับมือไหวจนต้องหยุดงานก่อสร้าง แต่พวกเขาก็ไม่ยอมเสียเปรียบแต่อย่างใด เพราะแม้จะขนอุปกรณ์และคนงานออกจากพื้นที่จนเกือบหมด แต่บริษัทก่อสร้างยังคงส่งคนงานสลับสับเปลี่ยนจากที่มีอยู่มาที่สนาม 4 คนในทุกๆ วัน

สาเหตุก็เพื่อไม่ให้ฝ่ายบาเลนเซียใช้เป็นข้ออ้างได้ว่า บริษัทก่อสร้างทิ้งงาน ซึ่งจะพลิกสถานการณ์ให้ไอ้ค้างคาวได้เงินค่าปรับ แทนที่จะต้องเสียเงินให้กับบริษัทตามสัญญาที่เซ็นกันไว้

ห้ามเสียหน้า

สำหรับกลุ่มผู้บริหารแล้วการคุยโวถึงโครงการที่ นู เมสตายา จะเป็นสนามที่ใหญ่อันดับ 3 ในสเปนเป็นรองแค่ คัมป์ นู และ ซานติอาโก เบอร์นาเบว และย้ำให้แฟนๆ ใจชื้นว่าหากสนามนี้สร้างเสร็จ ไอ้ค้างคาวจะกลายเป็นหนึ่งในทีมมหาอำนาจที่พร้อมจะเทียบเคียง บาร์เซโลน่า และ เรอัล มาดริด

 4

อย่างไรก็ตามกฎของการเป็นคนใหญ่คนโตคือ “เมื่อโวแล้วต้องทำให้สำเร็จ” แม้ที่สุดแล้วพวกเขาจะเพ่งมองจากปัญหาหลากหลายที่ทำให้โครงการนี้ช้ากว่ากำหนด แต่อย่างน้อยๆ ขอให้ทำออกมาเป็นรูปเป็นร่างถือว่าเป็นอันใช้ได้ เพราะถ้าหากสัญญาที่กล่าวไว้เป็นแค่ลมปาก พวกเขาจะกลายเป็นเพียงพวกปลิงที่เข้ามาสูบเงินของสโมสรเท่านั้น การเซ็นสัญญาอนุมัติโครงการช่างน่าขัน เพราะผ่านการพิจารณาจากหลายฝ่าย แบบช่วยกันคิดแล้วคิดอีก แต่สุดท้ายก็คว้าน้ำเหลว หากเป็นเช่นนั้นมัจะเป็นเรื่องที่น่าอับอายและเสียเกียรติเป็นอย่างมาก “ไอ้พวกใส่สูทไร้สมอง” จะเป็นคำที่พวกเขาถูกตราหน้าไม่ตลอดชีวิต

ดังนั้นเริ่มแรกเรื่องราวจึงต้องนับ 1 จากเรื่องง่ายๆ และใช้ไม้อ่อนไปก่อน นั่นคือการขอประนอมหนี้สินจากแหล่งเงินทุน และขอลดดอกเบี้ย โชคดีมากที่ตอนนั้นผลงานในสนามของ บาเลนเซีย ยังพอหาเงินเข้าสู่ทีมได้ ด้วยการคว้าอันดับ 3 และรักษาพื้นที่ไปเล่นฟุตบอล ยูฟ่า แชมเปี้ยนส์ลีก ได้ ทำให้มีเงินก้อนเพื่อนำมาใช้โปะดอกเบี้ยที่เริ่มบานขึ้นเรื่อยๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุด บาเลนเซีย ได้รับการช่วยเหลือจากกลุ่มคน หรือ กลุ่มบริษัท ที่ไม่เปิดเผยชื่อให้เขามาช่วยเคลียร์เรื่องนี้ เดอะ การ์เดี้ยน เคยเขียนสกู๊ปใหญ่ถึงเรื่องดังกล่าวไว้และเรียก กลุ่มทุนไร้นามนี้ว่า “ความช่วยเหลือจากเพื่อนที่อยู่ในระดับสูง” และความช่วยเหลือนี้มาพร้อมกับประธานสโมสรคนใหม่ที่ชื่อว่า มาโนโล่ ยอเรนเต้

 5

ช่วงเวลานั้นเป็นช่วงเวลาที่ บาเลนเซีย ต้องใจแข็งเป็นอย่างมาก พวกเขาเกือบจะเสียนักเตะอย่าง ดาบิด ซิลบา, ฆวน มาต้า และ ดาบิด บีย่า เพื่อนำเงินที่ขายมาโปะหนี้เพิ่ม แต่ประธานยอเรนเต้ ยืนยันว่าไม่มีประโยชน์มากนักเพราะการขายนักเตะเหล่านี้ แทบจะไม่ช่วยในการปลดหนี้จำนวนมากกว่า 500 ล้านยูโรอย่างแน่นอน พวกเขาใช้คำว่า “พักโครงการ” เอาไว้ก่อน และสัญญาว่าจะหาวิธีนำเงินเข้าสโมสรให้ได้มากกว่านี้จึงจะกลับมาเริ่มโครงการอีกครั้งด้วยการนำทีมเข้าตลาดหลักทรัพย์โดยฝากฝังและเชื่อมือกับชายชาวอังกฤษที่ชื่อว่า ริชาร์ด เอลลิส ซีอีโอของ CBRE Group, Inc. บริษัท อสังหาริมทรัพย์เพื่อการพาณิชย์และบริษัทด้านการลงทุน เป็นบริษัท ที่ใหญ่ที่สุดในโลกมีสำนักงานตั้งอยู่ในมหานคร ลอส แอนเจลิส ของสหรัฐอเมริกา และดำเนินงานมากกว่า 450 สาขาทั่วโลก เข้ามาถือหุ้นในสโมสร  

เอลลิส จ่ายเงิน 92 ล้านยูโร สำหรับจำนวนหุ้นที่ถือ นอกจากนี้เขายังชักชวนให้แฟนๆ ของทีมซื้อหุ้นที่ราคา 720 ยูโร ต่อหุ้น โดยมีแฟนๆ ถึง 3,981 คนที่ควักเงินซื้อเพื่อช่วยทีมทั้งๆที่ไม่มีหลักประกันรับรองใดๆเลยในเวลานั้น แต่นั่นก็ทำให้ บาเลนเซีย ได้เงินมาอีก 18.7 ล้านยูโร  ทั้งหมดทำให้ บาเลนเซีย เลิกกังวลกับเรื่องสนามใหม่ที่หนี้จะงอกเงยได้ ขณะที่โครงการนั้นยังไม่ปิดเพียงแต่ว่า “พับเก็บไว้” เพื่อรอเวลาที่เหมาะสม

รุ่นสู่รุ่น

การเซ็นสัญญาและตกลงกันแบบไม่ละเอียดถี่ถ้วนทำให้ปัญหา นู เมสตายา ค้างคามาจนถึงปี 2014 ภาพที่ใครต่อใครเห็นคือสิ่งปลูกสร้างคอนกรีตที่สร้างค้างไว้และเริ่มจะเก่าลงตามเวลาเพราะมีอายุเกือบ 10 ปีแล้วนับตั้งแต่วันที่เริ่มโครงการ

 6

การเข้ามาของ ปีเตอร์ ลิม มหาเศรษฐีชาวสิงคโปร์ที่เข้ามาเป็นเจ้าของทีมเหมือนการต่อลมหายใจและให้ได้ลุ้นกันอีกเฮือกว่า นู เมสตายา จะได้แสดงตัวในฐานะฟุตบอลสเตเดี้ยมหรือไม่ ซึ่งตามธรรมดาของเจ้าของทีมใหม่นั้นต้องทำทุกอย่างเพื่อคะแนนนิยมอยู่แล้ว ซึ่ง ลิม เองก็เช่นกัน หลังจากได้รับตำแหน่งไม่นานเขาได้เข้าไปเยี่ยมชมสภาพ นู เมสตายา ที่สร้างทิ้งไว้ และเมื่อได้เห็นด้วยตาตัวเอง เจ้าตัวเปิดเผยว่าประทับใจตั้งแต่แรกเห็นกับว่าที่บ้านหลังใหม่แห่งนี้ นี่คือเรื่องที่น่าตื่นเต้นเหมือนกับการเปิดกล่องของขวัญแล้วมีเซอร์ไพรส์ซ่อนอยู่ภายใน ลิม รีบสั่งการ คริสเตียน ชไนเดอร์ หัวหน้าฝ่ายพัฒนาสนามเข้ามารับผิดชอบและสั่งให้เริ่มการต่อเติมเสริมสร้างใหม่อีกครั้งให้เร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามความจริงคือความจริง โครงการที่ไม่ได้คิดให้ละเอียดถี่ถ้วนก่อนสร้างย่อมเป็นสิ่งที่ไม่น่าลงทุนในสายตาของคนที่เป็นนักธุรกิจ  แม้จะพูดจาโปรยยาหอมไว้มากมาย แต่สุดท้าย นู เมสตายา ในยุค ปีเตอร์ ลิม ก็แทบไม่ได้เดินหน้าเลยแม้แต่ก้าวเดียว เพราะ ณ ช่วงปี 2014 ผลงานของ บาเลนเซีย ถือว่าผันผวนกว่ายุคก่อนๆที่เคยเป็น พวกเขาไม่ได้เล่นในแชมเปี้ยนส์ลีกอย่างสม่ำเสมอจึงทำให้เสียเงินก้อนโตไป นอกจากงานบริหารที่น่าปวดหัวแล้ว ปีเตอร์ ลิม ยังต้องรับหน้าทั้งความกดดันจากแฟนบอลอีกด้วย

รุ่นต่อรุ่นผ่านไปเหมือนกับโครงการ “โยนขี้” ไม่มีใครอยากสานต่อให้เสร็จ ความฝันที่วาดไว้และคุยโตเกินจริงคือสิ่งที่เกินมือจะทำให้เกิดขึ้นได้ กระทั่งในปี 2017 ปีเตอร์ ลิม ส่ง อนิล เมอร์ธี่ย์ เข้ามารับช่วงประธานสโมสรต่อ เขาจึงเริ่มยอมรับความจริงว่าการสร้างสนามใหญ่ระดับเกิน 70,000 ที่นั่ง และสร้างทีมให้เป็นแบรนด์มหาอำนาจของโลกคือเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ สุดท้ายเขายืนยันว่า นู เมสตายา ยังไม่ใช่โครงการที่ตายสนิท เพียงแต่ว่าต้องปรับปรุงและออกแบบใหม่เกือบทั้งหมดให้มีขนาดที่เล็กลง โดยตัดอัฒจันทร์ชั้น 3 ออก ทำให้เหลือความจุเพียงราว 55,000 ที่นั่ง และงบประมาณจากที่ปักธงไว้ที่ราวๆ 300 ล้านยูโร ต้องถูกลดลงให้สมเหตุสมผล ที่สุดแล้ว 100 ล้านยูโร คือตัวเลขที่เหมาะสมที่สุด

อย่างไรก็ตามยังมีในวงเล็บเพิ่มขึ้นคือ โครงการจะเดินต่อไปได้ก็ต่อเมื่อ บาเลนเซีย อยู่ในสภาพการเงินที่ดี และมีการระดมทุนเพื่อโครงการนี้โดยเฉพาะ ซึ่งฟังแล้วเหมือนง่ายแต่สุดท้ายแล้วก็ไม่ต่างจากยุคก่อนเท่าไรนัก แม้จะได้ลดดอกเบี้ยและพักชำระบางส่วนพวกเขายังมีหนี้ก้อนใหญ่ให้ต้องชดใช้อยู่ดี หน้าที่นี้เป็นของ Deloitte บริษัทตรวจสอบบัญชีแห่งใหญ่ที่สุดในโลกที่จะเข้ามาช่วยจัดการเรื่องดังกล่าว โดยสิ่งที่ Deloitte เสนอก็ไม่ต่างจากยุคเก่าเลยนั่นคือการขาย เมสตายา เก่า เพื่อนำเงินมาสร้าง นู เมสตายา ให้เสร็จ อย่างไรก็ตาม ความแตกต่างเล็กๆ จากครั้งแรกคือตอนนี้ตลาดอสังหาฯ ของสเปนนั้นเติบโตขึ้นพอที่จะตอบสนองนโยบายได้  

"เราเชื่อว่าตอนนี้ตลาดอสังหาริมทรัพย์มีการเติบโตมากพอที่จะบรรลุวัตถุประสงค์ของเรา Deloitte จะเป็นผู้นำการจัดการทั่วโลกของโครงการนี้เพื่อให้ตรงตามกำหนดเวลาของแผนงานยุทธศาสตร์ ตอนนี้เรากำลังทำงานเกี่ยวกับด้านเอกสารที่จะร่วมมือกับสภาเมืองในการดำเนินการเพื่อขอใบอนุญาตการแก้ไขและซ่อมแซม" ประธานสโมสร กล่าว 

คำพูดมากมาย... ความหมายเท่าเดิม

คำยืนยันจากผู้รับผิดชอบนั้นเมื่อเอามาเทียบกับความจริงแล้วมันยังดูค่อนข้างห่างไกล เพราะกำหนดเดิมของการใช้ นู เมสตายา คือเดือนพฤษภาคม ปี 2021 ซึ่ง ณ เวลานี้เหลือเวลาอีกแค่ 2 ปีเท่านั้น หากปรับปรุงไม่ทัน สร้างไม่เสร็จ โครงสร้างคอนกรีตอาจจะเสื่อมสภาพและจะแย่ขึ้นไปอีกหากปล่อยให้ล่าช้าออกไปแม้จะเพียงแค่ปีเดียวก็ตาม

 7

นี่คือโจทย์ที่ บาเลนเซีย ได้รับในปี 2017 ลองเดาสิครับว่าอะไรเกิดขึ้นหลังจากนี้...

ปัจจุบันผ่านมาแล้ว 2 ปี นับตั้งแต่วันที่ประกาศปรับเปลี่ยนโครงสร้าง แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ

"9 ใน 10 ของผู้คนในเมืองที่ผมถามพวกเขาว่าอยากจะย้ายสนามกันหรือไม่ พวกเขาบอกว่าไม่ ... ดังนั้นเมื่อมีคนถึง 90% ที่ไม่ต้องการย้าย ผมก็เชื่อว่าพวกเขามั่นใจและมันเป็นความคิดที่ดี" ท่านประธาน เมอร์ธี่ย์ เปิดหัวกันไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อเดือน มีนาคม ปี 2019 ที่ผ่านมา

คำพูดของเมอร์ธี่ย์ เพียงเท่านี้ทำให้เกิดความกังวลไปทั่วหัวระแหง มีข่าวลืออกมาจากทางสภาเมืองว่าโครงนี้อาจจะต้องถูกทุบทิ้งไปอย่างสิ้นเชิง ตอนนี้ บาเลนเซีย กำลังเดือดร้อนเพราะนายกเทศมนตรีตัดสินใจที่จะเรียกร้องให้พวกเขายื่นความจำนงที่ชัดเจนว่าจะเอาอย่างไรกันแน่กับเรื่องนี้ และที่สำคัญคือข้อเสนอจากทางสโมสรบาเลนเซีย ต้องเป็นข้อเสนอที่สมเหตุสมผลและมั่นคงด้วย

บาเลนซีย ยืนยันว่าพวกเขาจะไม่นำเสนอต่อสาธารณะอีกแล้ว และคาดว่าเดือนเมษายนนี้เองจะเป็นการตัดสินใจครั้งสำคัญที่สุดว่า นู เมสตายา จะออกมาในรูปแบบไหน

 8

ลองวิเคราะห์กันดูการแถลงโครงการครั้งนี้เป็นเหมือนการปิดเกมที่ยาวนานเท่านั้น ทุกอย่างดูจะแย่ลงเรื่อยๆ เมื่อปล่อยเวลาให้ล่วงเลยไป  ไม่ว่าใครเข้ามาบริหารก็มีแต่คำพูดมากกว่าการลงมือทำ การปรับขนาดจาก 70,000 ที่นั่งเหลือ 60,000 ที่นั่ง จนกระทั่งล่าสุดไม่ถึง 50,000 ที่นั่ง แสดงให้เห็นถึงอะไรบางอย่างโดยเฉพาะการแผนงานแบบขอไปที ไม่ประมาณตน และ ไร้ความรับผิดชอบที่ส่งต่อกันไปเรื่อยๆ จนไม่มีใครอยากเปลืองตัวเข้าไปสะสาง

ดูเหมือนว่า นู เมสตายา จะเดินตามรอยโครงการ โฮปเวลล์ เข้าไปทุกขณะ หากพวกเขาพับโครงการนี้และทุบคอนกรีตหมดสภาพทิ้ง การฟ้องร้องจะตามมาอย่างแน่นอน แม้ บาเลนเซีย จะหนีความรับผิดชอบในการสร้างสนามได้ แต่พวกเขาจะต้องเหนื่อยกับการขึ้นศาลว่าใครเป็นคนผิดสำหรับเรื่องนี้แน่ ...

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ โฮปเวลล์โมเดล : "นู เมสตายา" สนามกีฬาที่ใช้เวลาสร้างแบบมาราธอน.. และยังไม่เสร็จ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook