ถอดรหัสทำไม "เม็กซิโก" ถึงมีนักมวยแชมป์โลกมากกว่า 250 คน?

ถอดรหัสทำไม "เม็กซิโก" ถึงมีนักมวยแชมป์โลกมากกว่า 250 คน?

ถอดรหัสทำไม "เม็กซิโก" ถึงมีนักมวยแชมป์โลกมากกว่า 250 คน?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“ทุกคนรู้จักเม็กซิโกจากการชกมวย นี่คือวัฒนธรรมของเชื้อชาตินักรบ”

คำกล่าวของโค้ชชาวเม็กซิกันรายหนึ่ง ไม่ผิดไปจากความคิดของคนทั้งชาติ กีฬามวยสากลถูกครองความเป็นหนึ่งโดยพวกเขามายาวนาน นักมวยชื่อดังอย่าง ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ, ซัลวาดอร์ ซานเชส, ฮวน มานูเอล มาร์เกวซ ล้วนมาจากดินแดนแห่งนี้

 

หากนับรวมกันแล้ว ดินแดนจังโก้มีแชมป์โลกประดับวงการมากกว่า 250 ราย พวกเขามาพร้อมกับสไตล์การชกที่แตกต่างไม่เหมือนใคร สร้างความยิ่งใหญ่ให้กับตัวเอง และเป็นแบบอย่างให้กับนักสู้ทั่วโลก จน คอร์เนอร์ แม็คเกรเกอร์ ถึงกับประกาศด้วยความภูมิใจว่า “กูสู้แบบเม็กซิกัน”

Main Stand จะพาไปพบกับเรื่องราวบนพื้นผ้าใบในประเทศเม็กซิโก เบื้องหลังดินแดนผลิตยอดนักชกฝีมือดีมากมาย ที่มวยสากล มีความหมายมากกว่าแค่กีฬา แต่ยังฝากรากลงลึกไปถึงระดับวัฒนธรรมและลมหายใจของชีวิต

เดินหน้าแบบเม็กซิกัน

เส้นทางบนพื้นผ้าใบของชาวเม็กซิกัน เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 1915 โดย มิเกล อังเกิล เฟเบิลส์ (Miguel Ángel Febles) หลังใช้เวลาหลายปีในการฝึกฝนวิชาหมัดมวยที่คิวบา เขากลับมายังบ้านเกิด และออกเดินทางไปทั่วประเทศ เพื่อขึ้นสังเวียนในทุกที่ที่เขาสามารถไปได้

 1

กล่าวกันว่า เฟเบิลส์ต่อยมวยทุกคืน เขาต้องคว้าชัยชนะเพื่อหาเงินเลี้ยงชีพ ด้วยเส้นทางแบบปากกัดตีนถีบ เฟเบิลส์ก้าวขึ้นมาเป็นแชมป์โลกจากสี่รุ่นน้ำหนักได้ ด้วยสไตล์การชกที่แตกต่างออกไป และถูกเรียกกันว่า “การชกรูปแบบเม็กซิกัน” (Mexican Style) หรือที่รู้จักกันในปรัชญา “ตามหาและทำลาย” (Seek and Destroy)

“นี่คือรูปแบบที่ได้รับการพัฒนาต่อกันมาหลายรุ่น นักชกอังกฤษเป็นพวกคลาสสิค ที่มักใช้เทคนิคต่างๆ กับการเคลื่อนไหวบนสังเวียน” เมาริซิโอ ซูไลมาน ประธานสภามวยโลก (WBC) ชี้ให้เห็นจุดเด่นของมวยเม็กซิกัน

“แต่นักมวยเม็กซิกัน คือนักสู้ พวกเขารุกเข้าไปหาคู่ต่อสู้ และพวกเขาใจกล้าเด็ดเดี่ยวที่สุด พวกเขาพร้อมโดนชก เพื่อแลกกับการได้ชกกลับ”

ด้วยแนวทางที่แตกต่าง พวกเขาประสบความสำเร็จบนเวทีมวยโลกอย่างรวดเร็ว ปี 1932 ฟรานซิสโก คาบาญาส ปาร์โดร (Francisco Cabañas Pardo) ก้าวมาเป็นนักมวยเม็กซิกันคนแรกที่คว้าเหรียญทองโอลิมปิก ในการแข่งขันที่เมืองลอส แอนเจลิส สร้างชื่อเสียงและรายได้มหาศาลให้กับตัวเอง

 2

ความสำเร็จดังกล่าวทำให้ กรุงเม็กซิโก ซิตี้ (Mexico City) กลายเป็นตักศิลาของวงการมวยเม็กซิกัน ผู้คนมากมายพากันสวมนวมขึ้นเวที หวังใช้ความสำเร็จจากกีฬาชนิดนี้ เป็นใบเบิกทางออกนอกประเทศ เพื่อหนีชีวิตอันแร้นแค้น จากผลกระทบของการปฏิวัติเม็กซิโก ในช่วงปี 1910’s ถึง 1920’s

“การต่อสู้เคยเป็นหนทางสู่ความก้าวหน้า และยังเป็นอยู่ในปัจจุบัน คนเราสามารถละทิ้งชนชั้นที่ต่ำกว่า เหมือนที่พวกเขาข้ามชายแดนไปหาชีวิตที่ดีกว่า พวกเขาทำผ่านการชกมวยเช่นกัน ใช้กีฬาเป็นตัวช่วย” ฮอร์เก โอคัมโป วิลเลกัส โค้ชฝึกสมรรถภาพ กล่าวถึงแรงผลักดันในตัวนักชกทุกคน

เมื่อสไตล์ดุดันบนสังเวียน ผสานเข้ากับชีวิตอันโหดร้ายนอกเวที นักชกเม็กซิกันจึงประสบความสำเร็จในวงการมากกว่าใคร จากรุ่นสู่รุ่น นักมวยสายเลือดใหม่ เดินตามรอยเส้นทางของรุ่นพี่ ด้วยเป้าหมายเดียว คือ ยกระดับชีวิตของตัวเองและครอบครัว

“ไม่ว่าเพราะโชคดีหรือโชคร้าย คนเม็กซิโกเป็นพวกเลือดร้อน และนักชกเม็กซิโกทุกคน ส่วนใหญ่มาจากครอบครัวที่ยากจน และเพื่อช่วยเหลือครอบครัวของคุณ คุณยอมตายบนสังเวียน เพื่อเอาเงินไปจุนเจือครอบครัว” ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ (Julio César Chávez) ตำนานนักมวยเม็กซิกัน ผู้คว้าชัยชนะมามากกว่าหนึ่งร้อยไฟต์กล่าว

“อะไรทำให้เรารุกไปข้างหน้าเสมอ เพราะนักชกทุกคนมาจากครอบครัวที่ยากจน เราทำมันเพื่อครอบครัว พวกเราถึงต้องเป็นนักรบ พวกเราชาวเม็กซิโก นั่นคือเหตุผลว่าทำไมนักชกเม็กซิกัน ถึงได้สู้สุดกำลังบนสังเวียน”

หมัดมวยฆ่ายาเสพติด

ในปัจจุบัน สายเลือดนักสู้แบบเม็กซิกันยังคงไหลเวียนในกรุงเม็กซิโก ซิตี้ มีโรงฝึกเปิดเพื่อสอนนักชกรุ่นใหม่มากมาย เปิดโอกาสให้ทั้งชายและหญิง โดยเฉพาะในย่านเสื่อมโทรมของเมืองที่เรียกว่า “เตปิโต” (Tepito) กีฬามวยสากลจึงเป็นมากกว่าใบเบิกทางสู่ความมั่งคั่งในชีวิต

 3

“มีความรุนแรง โจรขโมย และอาชญากรรมในทุกๆวัน คุณพบเห็นความรุนแรงเหล่านี้ได้ทุกที่ คนจากย่านนี้ต้องต่อสู้ดิ้นรนอย่างหนักเสมอ” ฮอร์เก เวรา (Jorge Vera) ครูฝึกมวยเล่าถึงชีวิตอันยากลำบากในเตปิโต

เมื่อคุณเติบโตในย่านที่อันตรายที่สุดของ เม็กซิโก ซิตี้ ห้อมล้อมไปด้วยยาเสพติดและอันธพาล ค่ายมวยจึงไม่ต่างจากหลุมหลบภัย ให้ผู้คนมากมายพักพิงจากเรื่องเลวร้าย และสร้างทางเลือกใหม่ในชีวิตของพวกเขา

“ถ้าวันหนึ่งไม่มียิมแห่งนี้ในเตปิโต คนเหล่านี้มีความคิดอื่นอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าไม่มียิม แทนที่จะเข้ามาฝึกซ้อม พวกเขาก็หันไปทำเรื่องแย่ๆพวกนั้นแทน” ฮอร์เก เวรา กล่าวถึงความสำคัญของกีฬามวยในเม็กซิโก

“นี่เป็นกีฬาที่ช่วยให้พวกเขาก้าวไปข้างหน้า การชกมวยเป็นสิ่งวิเศษ หากคุณฝึกซ้อมอย่างเอาจริงเอาจัง คุณจะโดดเด่น นั่นคือสิ่งที่เตปิโตเป็น ย่านทรหดของผู้ชนะเลิศ”

สำหรับนักมวยจากเตปิโต พวกเขามองการชกบนสังเวียนมากกว่ากีฬา ทุกคนเดิมพันการต่อสู้ด้วยชีวิตและจิตวิญญาณ พวกเขาไม่เคยถอยหลังกลับหรือยอมแพ้ การถูกน็อคเอาต์บนเวที เหมือนกับความพ่ายแพ้ในชีวิตจริง นักชกจากย่านนี้จึงสู้จนตัวตายเท่านั้น นี่คือทางเลือกเดียวของพวกเขา

“เพราะประเทศนี้ยากจน ถึงแม้ว่ามันจะมีทรัพยากรธรรมชาติมากมาย แต่เมื่อพูดถึงเรื่องเงิน มีคนจนมากกว่าคนรวยในประเทศนี้ และนั่นทำให้พวกเขากระหายในชัยชนะ เพื่อดิ้นรนต่อไปข้างหน้าและไม่ยอมแพ้” คาร์ลอส ซาราเต อดีตนักชกระดับหอเกียรติยศ ชี้ให้เห็นจิตวิญญาณนักสู้ของชาวเม็กซิกัน

 4

สำหรับคนที่เคยผิดพลาด กีฬามวยคือเส้นทางล้างบาปของพวกเขา มิตชี อากวีลาร์ (Mitzi Aguila) กำลังไปได้สวยบนเส้นทางนักชกสมัครเล่น เธอชนะมาแล้ว 5 ไฟต์ และยังคงไร้พ่าย แต่ใครจะรู้ว่าเบื้องหลังความสำเร็จนี้ มีเส้นทางอันขื่นขมซ่อนอยู่

“ฉันพูดได้อย่างเปิดอกว่า เคยติดเหล้าและติดยามาก่อน ฉันเคยมองโลกในแง่ร้ายและทำเรื่องแย่ๆ” อากวีลาร์ย้อนให้ฟังถึงชีวิตที่เคยหลงผิดของเธอ

“ฉันมีปัญหาด้านอารมณ์ และมักจะเอามีดกรีดตัวเอง ฉันเคยสู้กับทุกคนมาก่อน เป็นคนไม่มีระเบียบวินัย หัวขบถ ไม่เคยสนใจใคร ฉันดื่มเหล้าเยอะมากเมื่อก่อน เพราะดื่มมาตั้งแต่อายุยังน้อย ฉันเล่นยาเสพติด ฉันเป็นคนเลว ชีวิตฉันไม่เคยมีอะไรดี”

หลังให้กำเนิดลูกชายสุดที่รัก อากวีลาร์ตัดสินใจเดินเข้าสู่เส้นทางใหม่ เพื่อเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเองให้ดีขึ้น สำหรับเธอ สิ่งนี้มีค่ามากกว่ากีฬาที่ต่อสู้เพื่อแย่งชิงความเป็นหนึ่ง เธอกำลังต่อสู้เพื่อช่วยชีวิตตัวเอง

“ฉันบอกตัวเองว่า ถ้าไม่เลิกเหล้าเลิกยา ฉันต้องกู่ไม่กลับแน่ หลายครั้งเลยที่ฉันเกือบตาย ต้องเข้าโรงพยาบาลเพราะเล่นยาเกินขนาด วันหนึ่งฉันมองลูกชายแล้วร้องไห้ ฉันคุกเข่าและอ้อนวอนต่อพระเจ้า ร้องไห้อย่างหมดหวัง”

ด้วยความช่วยเหลือจากครอบครัว อากวีลาร์ลุกขึ้นยืนได้อีกครั้งในฐานะนักชกไร้พ่าย เธอทำให้พ่อแม่และลูกชายภูมิใจ และสำคัญที่สุด เธอรักในเส้นทางของตัวเอง

“ตอนนี้ฉันจดจ่อกับการชกมวยมาก เพราะมันช่วยฉันไว้ ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไป” เธอเปิดเผยเรื่องราวผ่านสารคดี FightWorld

อีกด้านของสังเวียน

เรื่องราวของ มิตชี อากวีลาร์ ถือเป็นแรงบันดาลใจชั้นดีที่เราได้จากกีฬามวยในเม็กซิโก เธอคือผู้ชนะในทุกมิติของการต่อสู้ แต่สำหรับบางคน ความสำเร็จที่มากเกินอาจส่งผลร้ายอย่างคาดไม่ถึง และกลายเป็นผู้แพ้บนเส้นทางชีวิตของตัวเอง

 5

“คุณต้องเข้าไปอยู่บนสังเวียน และได้ประสบการณ์เดียวกันกับผม ถึงจะเข้าใจว่ามันรู้สึกยังไง ผมเต็มเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกต่างๆ แต่ในขณะเดียวกัน มันต้องแบกภาระความรับผิดชอบใหญ่หลวง เข้าใจไหมครับ คุณจะแพ้ต่อหน้าประชาชนไม่ได้” ฮูลิโอ เซซาร์ ชาเวซ ตำนานนักชกผู้ชนะมากกว่าร้อยไฟต์ บอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้น

“ผมยังคงชนะอย่างต่อเนื่อง แต่ผมเริ่มดื่มเหล้าและเล่นยาเสพติด โคเคนครับ จากนั้นชีวิตก็เริ่มถดถอย ผมชนะการชกได้นะ แต่ผมไม่ได้เตรียมความพร้อมอย่างที่เคยทำ ผมรู้ว่าไม่ช้าก็เร็ว สักวันผมต้องแพ้”

“ฉะนั้น ว่ากันตามเหตุผลแล้ว ชีวิตส่วนตัวของผมพังไม่เป็นท่า ด้านกีฬาผมก็คิดว่าเหมือนกัน ผมเป็นคนทำลายทุกอย่างเอง”

เรื่องที่ซาเวซเจอยังถือว่าเล็กน้อยมาก เมื่อเทียบกับ โรโดลโฟ กอนซาเลซ (Rodolfo González) อดีตนักมวยอาชีพ เจ้าของฉายา “เอล กาโต” (El Gato)

อดีตผู้ท้าชิงแชมป์โลกไลท์เวท และนักชกเจ้าของชัยชนะกว่าแปดสิบไฟต์ เขาพบว่าการชกมวยไม่ใช่ทางออกจากสังคมอันเลวร้าย แต่เป็นเส้นทางใหม่ให้เขาเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ

 6

“เพราะบางครั้งคุณไม่คิดให้มันถี่ถ้วน คิดแค่ว่าคงไม่มีอะไรเกิดขึ้นกับคุณ ผมไม่ได้ติดยาอะไรพวกนั้น แต่ผมยังติดเหล้า และมันกลับมาเล่นงานผม”

กอนซาเลซขึ้นสู่จุดสูงสุดด้วยวัยเพียง 16 ปี เขาคือดาวรุ่งที่น่าจับตาที่สุดของเม็กซิโก เจ้าของแชมป์ระดับประเทศ ก่อนก้าวขึ้นสู่การแข่งขันระดับโลกยาวนานกว่าสามปี

“ผมจำได้ว่า เขาถูกชื่นชมมากมายจากคนรอบข้าง เขาคือนักชกที่ถูกจับตาว่าจะดึงคนมากมายเข้าสู่สนาม และได้รับเงินเดือนก้อนใหญ่ มันน่าเสียดายจริงๆที่เขาไม่สามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านั้นมาได้” นาโช เบริสตาอิน ครูฝึกที่เก่งที่สุดของเม็กซิโก ย้อนรำลึกถึงอดีตลูกศิษย์รายนี้

เมื่อชีวิตเสเพลนอกสังเวียนกลับมาทำร้าย กอนซาเลซกลายเป็นคนตกอับไร้บ้าน เขาใช้ชีวิตข้างถนน เร่ร่อนไปทั่ว และต้องหาเงินจากการรับจ้างในโรงงาน ปั๊มน้ำมัน ล้างรถ หรือกวาดถนน ทำทุกอย่างเพื่อให้มีชีวิตรอดไปวันๆ

“ผมได้ยินเสียงเพลง และเห็นแสงไฟจากถนนว่าประตูเปิดอยู่ แต่เมื่อผมเข้าไปในนั้น ผมเห็นกองเลือดและคนนอนอยู่บนพื้น ผมพูดกับตัวเองว่า มันเกิดอะไรขึ้น จากนั้นผมวิ่งขึ้นไปบนบันได เจออีกสองคนนอนจมกองเลือดอยู่”

กอนซาเลซถูกจับในข้อหาฆาตกรรม และรับโทษจำคุก 42 ปี แม้จะยืนยันว่าไม่ได้ก่อคดีดังกล่าว แต่เขายอมรับว่า เหตุผลที่อยู่ในกรงขังทุกวันนี้ มาจากความผิดพลาดของตัวเอง

“ผมอยู่ที่นี่มาสิบปี และผมไม่อยากพูดถึงเรื่องนั้นอีก เพราะมันทำให้ผมละอายแก่ใจ เข้าใจไหมครับ ผมยังคงเจ็บปวดข้างในนี้”

การต่อสู้ที่ไม่มีวันจบ

แม้ล้มสักกี่ครั้ง ชีวิตยังต้องเดินต่อไป โรโดลโฟ กอนซาเลซ ผันตัวเป็นครูฝึกในเรือนจำ เขาเปิดสอนการชกมวยให้เพื่อนักโทษในเรือนจำ เพื่อช่วยเหลือทุกคนที่พร้อมกลับตัว และกลับไปสู่โลกภายนอกใช้ชีวิตให้ดีกว่าที่เคยเป็นมา

 7

“สิ่งที่ผมต้องการ สิ่งที่ผมขอพรจากพระเจ้าเสมอ คือขอโอกาสให้เป็นครูฝึกที่ดีที่สุดในประเทศ” กอนซาเลซเล่าถึงบทบาทใหม่ในชีวิตของตัวเอง

“พวกเขาขอความช่วยเหลือ พวกเขาอยากอาการดีขึ้น ผมจึงเริ่มฝึกพวกเขา ผมบอกว่าพวกคุณต้องพยายาม ไม่ใช่แค่ในฐานะนักมวย แต่ในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง พวกคุณต้องเลิกยาให้ได้ ถ้าทำไม่ได้ก็อย่ามาเสียเวลากับเรา”

“จนถึงตอนนี้ผมภูมิใจมาก เพราะนักมวยทุกคนที่ผมได้ฝึก ไม่เคยกลับเข้ามาอีก บางคนชกมวยต่อไป บางคนทำงานอื่นแทน ได้เห็นแค่นั้นผมก็ดีใจแล้ว”

 8

การชกมวยเพื่อบำบัดความประพฤติ ไม่ได้จำกัดไว้ให้เพศชายเท่านั้น เรือนจำซานตา มาร์ธา อะคาทิตลา (Santa Martha Acatitla) เปิดหลักสูตรกีฬามวยสากลในห้องคุมขัง เพื่อนำนักโทษที่มีประวัติความรุนแรง มาเรียนรู้กฎระเบียบ เพื่อฝึกฝนการเป็นพลเมืองที่ดีของสังคมต่อไป

“หญิงสาวเหล่านี้ได้ประโยชน์มากจากการชกมวย พวกเธอแข็งแกร่งและหุนหันพลันแล่น สิ่งนี้บรรเทาพฤติกรรมของพวกเธอ มันช่วยลดความรุนแรง มันทำให้พวกเธอเข้าใจว่า ความเคารพ ขีดจำกัด และเสรีภาพ คืออะไร” กลอเรีย มาเรีย เฮอร์นานเดซ กัวนา ผู้อำนวยการเรือนจำ ชี้ให้เห็นประโยชน์ของโครงการที่เธอจัดตั้งขึ้น

การชกมวยไม่ได้บรรเทาแค่ความรุนแรง บางครั้งมันกำจัดความเศร้าในจิตใจเช่นกัน สำหรับ ฮอร์เก เวรา กีฬาชนิดนี้ช่วยให้เขาลืมเรื่องราวเลวร้ายที่สูญเสียลูกชาย และเป็นกำลังใจให้เขาใช้ชีวิตต่อไปได้บนโลกใบนี้

“ลูกชายของผมถูกฆ่าบนถนนแห่งหนึ่งในเตปิโต โจรพยายามจี้รถของเขา เขาสู้กลับเลยถูกยิง เขาอายุยังน้อยครับ”

“แต่สิ่งต่างๆได้ผ่านไปแล้ว และชีวิตต้องเดินหน้าต่อ ความสุขและความเศร้าที่เรามีอยู่ข้างใน คุณต้องปล่อยมันไป มีสิ่งดีๆ ช่วงเวลาดีๆ ในชีวิตคุณ เช่นเดียวกับ ช่วงเวลาโศกเศร้าและผิดหวัง เจอกับมันทุกอย่าง แต่สุดท้ายเราอยู่ต่อไป เพราะนี่คือชีวิต ทุกคนต้องก้าวเดินต่อไป”

“ผมจะบอกอีกครั้งว่า การชกมวยเป็นสิ่งที่แสนงดงาม ถ้าคุณรักและทำมันมันด้วยใจ มันเป็นสิ่งสำคัญในชีวิตคุณได้”

สำหรับคนทั่วโลก ประเทศเม็กซิโกคือดินแดนแห่งแชมป์โลก หมายเลขหนึ่งของกีฬามวยสากล แต่สำหรับชาวเม็กซิกัน มวยสากล เปรียบเสมือนบทเรียนหนึ่งของชีวิต เป็นสิ่งที่มากกว่าการแข่งขัน พวกเขาอยู่บนสังเวียนที่ไร้กฎเกณฑ์ ไม่มีกรรมการ ไม่มีโอกาสให้ลงไปนอนนับแล้วลุกขึ้นใหม่อีกครั้ง

 9

วัฒนธรรมเหล่านี้ กลายเป็นแรงผลักให้นักชกชาวเม็กซิกันทุ่มสุดใจ มากกว่าชนชาติใดบนสังเวียนนี้  ตำแหน่งแชมป์โลกกว่า 250 ราย ไม่ใช่ความสำเร็จที่มากเกินไป บนสังเวียนการต่อสู้ ที่ไม่ต่างจากดิ้นรนเอาชีวิตรอด จากสภาพสังคมอันโหดร้ายของประเทศเม็กซิโก

“ผมรักการชกมวยเพราะมันได้สอนผม ตอนนี้ผมไม่ใช่แชมป์ในการชกมวยอีกต่อไป แต่ผมเป็นแชมป์ในชีวิตของตัวเอง” คาร์ลอส ซาราเต อดีตนักชกแชมป์โลกกล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ถอดรหัสทำไม "เม็กซิโก" ถึงมีนักมวยแชมป์โลกมากกว่า 250 คน?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook