จะมาเล่นกีฬาหรืออยากจะตายข้างถนน? : "เดอะ แพนเธอร์ส" คลับของเด็กที่เริ่มคิดจะจับปืน

จะมาเล่นกีฬาหรืออยากจะตายข้างถนน? : "เดอะ แพนเธอร์ส" คลับของเด็กที่เริ่มคิดจะจับปืน

จะมาเล่นกีฬาหรืออยากจะตายข้างถนน? : "เดอะ แพนเธอร์ส" คลับของเด็กที่เริ่มคิดจะจับปืน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

สภาเขต เซ็นทรัลซิตี้ เมือง นิว ออร์ลีนส์ มีเรื่องจะต้องตัดสินใจ พวกเขากำลังจะอนุมัติงบประมาณเพื่อรากฐานของเมือง อย่างไรก็ตาม แม้จะสำคัญแต่ก็จำเป็นจะต้องมีการตรวจสอบ พวกเขาเดินไปยังสวนสาธารณะที่เคยมีทีมฟุตบอลถูกกระหน่ำยิง เพื่อถามคำถามกับเด็กน้อยในวัย 8-10 ขวบ “โตขึ้นหนูอยากเป็นอะไร?”

 

คำตอบที่ได้คือ “หนูอยากเป็นนักวิทยาศาสตร์, ครู, นักฟุตบอล, นักบาส” เด็กๆ ตอบด้วยสายตาเป็นประกาย ทว่าในเมืองต้องคำสาปแห่งนี้ไม่มีอะไรการันตีว่าพวกเขาจะมีชีวิตอยู่ถึงวันนั้น

ความไม่แน่นอนของชีวิต และการเห็นความตายเป็นเรื่องปกติ ทำให้ชายคนหนึ่งที่เสียญาติจนแทบหมดครอบครัว ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง และจุดเริ่มต้นในการสอนอเมริกันฟุตบอลให้กับเด็กๆ และลูกชายของเขา กำลังเป็นความหวังในเมืองที่เลวร้ายนี้...

เมืองต้องคำสาป

"อย่ายิงหนูเลย หนูแค่อยากเติบโต" นี่คือป้ายรณรงค์ลดความรุนแรงจากปัญหาระหว่างแก๊งในนิว ออร์ลีนส์ เหตุใดข้อความที่สะเทือนใจเช่นนี้จึงติดอยู่ตามที่ต่างๆ ราวกับอาชญากรรมเป็นเรื่องปกติกันแน่?

 1

นิว ออร์ลีนส์ ถือเป็นเมืองท่าที่สำคัญของสหรัฐอเมริกา และเป็นเหมือนเมืองแห่งคำสาปในเวลาเดียวกัน ในช่วง 200 ปีก่อน เมืองแห่งนี้เกิดเหตุโรคระบาดร้ายแรงจนมีชาวเมืองเสียชีวิตร่วม 10,000 คน แม้หลังจากนั้นชาวเมืองจะเริ่มก่อร่างสร้างตัวกันใหม่จนลืมตาอ้าปากได้ ทว่าสุดท้ายพวกเขาก็โชคร้ายอีกครั้ง

พายุเฮอร์ริเคน แคทรีน่า โจมตีสหรัฐอเมริกาในปี 2005 โดยเมืองที่รับผลกระทบที่สุดคือ นิว ออร์ลีนส์ รัฐลุยเซียน่า ที่แห่งนี้มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,000 คน และมีผู้ไร้ที่อยู่กว่า 1 ล้านคน ถือเป็นภัยธรรมชาติที่สร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐฯ

หลังจากภัยพิบัติครั้งนั้น นิว ออร์ลีนส์ พยายามจะสร้างเมืองขึ้นมาใหม่ หลายๆกิจการเกิดขึ้นพร้อมๆกับการช่วยเหลือของภาครัฐ อย่างไรก็ตาม ปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำระหว่างชนชั้นและสีผิว โดยเฉพาะย่านที่อยู่อาศัยของคนผิวสีและคนชนชั้นล่างยังไม่ได้รับการฟื้นฟูเท่าที่ควร

เมื่อความช่วยเหลือของรัฐมาไม่ถึง ชนชั้นล่างจึงไม่มีทางเลือก มีการเกิดกลุ่มแก๊งข้างถนนขึ้นมากมายในย่ายเสื่อมโทรม หลายแก๊งมีสมาชิกเป็นวัยรุ่นที่อาศัยตามบ้านร้างหรือรถพ่วง และแก๊งเหล่านี้ได้พยายามหาเครือข่ายเดินขายยาตามถนนไปเรื่อยๆ เมื่อวัยรุ่นเข้าแก๊งหมดแล้ว ต่อไปก็ถึงคิวของเด็กน้อยทั้งหลาย เรียกได้ว่าย่าน เซ็นทรัล ซิตี้ แทบจะไม่มีกฎหมายเลย

 2

สถิติที่ถูกบันทึกไว้ในปี 2012 ระบุว่า มีรายงานการฆาตกรรมถึง 193 คดี หรือคิดเป็นอัตราฆาตกรรมได้ที่ 53.5 ต่อประชาชน 100,000 คน ณ เมืองแห่งนี้เหมือนสถานที่ที่กลางวันเป็นกลางคืน กลางคืนเป็นกลางวัน ชีวิตในยามราตรีจะสุดเหวี่ยงมาก มีสถานที่อโคจรมากมาย จึงทำให้มีอันตรายแฝงอยู่ภายใต้ความสนุกสนานนี้ ขณะที่ฝั่งเจ้าหน้าที่นั้นต้องต่อสู้กับแก๊งอาชญากรรมที่เกี่ยวพันกับยาเสพติด และการใช้อาวุธปืนผิดกฎหมายอย่างต่อเนื่อง

"เราไม่มีโครงสร้างการแก้ไขอะไรเลย เราไม่มีสิ่งจำเป็นพื้นฐาน ไม่มีห้องปฎิบัติการของฝ่ายอาชญากรรม ไม่มีข้อสรุปทางนิติเวช... เราไม่มีอะไรเลย" จอห์น ไบรสัน อดีต ผอ.กรมตำรวจของ นิว ออร์ลีนส์ กล่าวถึงปัญหาในการจัดการอาชญากรรมในช่วงหลังจากถูกพายุเฮอร์ริเคนแคทรีน่า

"ผู้คนสิ้นหวังและร้องเรียกหายาเสพติด และพวกแก๊งก็จัดการหายาให้คนพวกนั้น เด็กๆกลายเป็นเครื่องมือของผู้ใหญ่ พวกเขาให้เด็กน้อยพกยาเสพติดเดินขายตามมุมถนนแบบไม่กลัวกฎหมาย" ด้วยเหตุนี้เองย่านเสื่อมโทรมของเมืองจึงถูกเรียกว่า "สามเหลี่ยมแห่งความตาย"

กาลเวลาผ่านไปหลายปี แต่ไม่ใช่ทุกคนที่อยากจะยอมรับกับปัญหานี้และปล่อยเลยตามเลย อย่างน้อยๆ คนที่เอาตัวรอดจากความตายวัยรุ่นอย่าง เอ็ดการ์สัน ชอว์น สก็อตต์ และ โคล้ด ดิ๊กสัน คือ 2 คนหนุ่มที่อยากให้เด็กๆ ในดินแดนแห่งความสุ่มเสี่ยงนี้ มีชีวิตที่ดีขึ้น หรืออย่างน้อยๆ ก็ไม่ต้องตายข้างถนน

รวมตัวคนเสียขวัญ

6 โมงเย็น ณ สวนสาธารณะเดวิส พาร์ค ของทุกวัน ผู้คนแถวนั้นจะพบกับชาย 2 คน กำลังตะโกนโหวกเหวกใส่เด็กน้อยกลุ่มใหญ่ที่อายุ 9-10 ปี ที่มีคุณสมบัติไม่ธรรมดา และพวกเขาทั้งคู่มีเหตุจำเป็นที่ต้องทำแบบนั้น

 3

"คุณอาจจะไม่ได้อาศัยอยู่ในชุมชนนี้หรอก แต่ผมสัญญาได้เลยว่าหากปัญหาอาชญากรรมในเด็กและเยาวชนไม่ถูกแก้ไข รับรองได้มันจะกลายเป็นคลื่นที่กระจายไปยังที่ต่างๆด้วยแน่นอน"

เอ็ดการ์สัน เป็นอดีตนักอเมริกันฟุตบอลที่ไม่ยอมให้สิ่งที่เป็นมากว่า 100 ปีในประวัติศาสตร์นิว ออร์ลีนส์ ดำเนินต่อไปโดยที่เขาไม่ทำอะไร เขาเริ่มสร้างทีมอเมริกันฟุตบอลสำหรับเด็กที่ชื่อว่า เดอะ แพนเธอร์ส ซึ่งข้าวของอุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกของเขาก็มาจากของบริจาคหลัง นิว ออร์ลีนส์ โดนเฮอร์ริเคน แคทรีน่า ซัดแทบจะทั้งสิ้น

สำหรับเด็กๆในเดวิส พาร์ค มันไม่สำคัญว่าพวกเขาเคยเจอกับความรุนแรงหรือไม่ หรือบ่อยแค่ไหน เพราะมันแทบจะเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้เลย ก่อนจะเติบโตกลายเป็นผู้ใหญ่พวกเขาไปงานศพของเพื่อนมากกว่างานแต่งงานด้วยซ่้ำไป เด็กๆที่นี่อยู่กับความอันตรายจนรู้สึกว่าไม่อันตราย เชื่อหรือไม่ด้วยวัยเพียง 9-10 ขวบ พวกเขาสามารถแยกเสียงออกได้สบายหากมีเสียงปัง! ดังขึ้นที่นอกหน้าต่าง... "เสียงพลุหรือเสียงปืน" เด็กๆขอเวลาเพียงเสี้ยววินาทีเท่านั้นก็บอกได้อย่างแม่นยำ นั่นแหละคือเหตุผลที่ว่าทำไม เดอะ แพนเธอร์ส จึงต้องถือกำเนิดขึ้น พวกเขาอยากให้กีฬาเปลี่ยนเด็กๆพวกนี้ และแสดงให้เห็นว่าหากเด็กพยายามมากพอ พวกเขาจะมีทางเลือกของตัวเองได้ไม่ใช่แค่การตายแบบหมาข้างถนน

เด็กๆในทีมทุกคนต่างมีความคิดฝังอกฝังสมอง เจแอร์ ลัคกี้ วัย 10 ขวบเห็นแม่ตายต่อหน้าขณะที่กำลังจะส่งเขาเข้านอนและโดนยิงผ่านหน้าต่าง ลูกกระสุนเฉี่ยวเขาไปนิดเดียวเท่านั้น ขณะที่ เอิร์ล วัตสัน จูเนียร์ เคยเห็นคนจ่อยิงแบบจะๆต่อหน้าต่อตาขณะที่เขาเดินไปโรงเรียน นี่คือตัวอย่างสิ่งที่สมาชิกในทีมเคยเผชิญ

 4

เด็กๆอาจจะหวาดกลัวและหลบซ่อนในตอนที่เขายังอยู่ในช่วงวัยนี้ ทว่าหากไม่มีใครจับมือพวกเขาและหาสิ่งที่รักอย่าง อเมริกันฟุตบอล พวกเขาเหล่านี้อาจจะโตขึ้นมาและใช้ชีวิตในช่วงวัยรุ่นไปกับการล้างแค้น สงครามระหว่างแก๊ง และเลวร้ายที่สุดคืออาจจะกลายเป็นอาชญากรตัวเอ้ที่สุดท้ายกลายเป็นผู้ทำร้ายคนบริสุทธิ์เสียเอง

หัวหน้าโค้ช สก็อตต์ รู้เรื่องนี้ดี การเลือกเดินทางผิดคือปัญหาของเด็กในท้องถิ่นแห่งนี้ ย้อนกลับไปในปี 1994 เขานั่งรอพี่ชายนำจักรยานมาให้ที่บ้าน ขณะที่พี่เขากำลังจะจอดและส่งมอบรถให้ พี่ชายของเขาก็ถูกยิงและนอนตายอยู่บนทางเท้า จากนั้นอีกไม่กี่วันลูกพี่ลูกน้องของเขาถูกยิงตายตรงร้านชำหัวถนน เขาไม่มีที่พึ่งใดๆทั้งสิ้น เพราะพ่อทิ้งครอบครัวไปตั้งแต่ยังเล็ก มีแต่เพื่อนเท่านั้นที่คอยอยู่ด้วยกัน ซึ่งท้ายที่สุดแล้วหลายคนตายเพราะกระสุนปืน หรือไม่ก็เข้าๆออกๆคุกเป็นประจำ

"ชีวิตที่นี่ลำบากมาก คุณจะต้องเป็นลูกผู้ชายเต็มตัวตั้งแต่อายุ 11 ปีเพื่อเอาตัวรอด" โค้ชสก็อตต์กล่าว

 5

สิ่งที่เปลี่ยนตัวเขาจากที่เคยคิดว่าเมืองนี้มีความเลวร้ายซ่อนอยู่ตามุมถนน กลับเป็นการลงมือทำเพื่อเปลี่ยนแปลงมัน เกิดขึ้นหลังจากที่ลูกชายของเขาเริ่มจะโตขึ้น ในวัย 5-6 ขวบ เด็กๆจะช่างพูดช่างเจรจา พวกเขาจะถามเสมอว่า "ทำไมคนนั้นต้องโดนเอามีดแทง" และ "เสียงปืนดังอีกแล้วฮะพ่อ" ราวกลับไม่มีอะไรเกิดขึ้น ดังนั้นเช้าวันถัดมา โค้ชสก็อตต์รีบออกจากบ้านแต่เช้าเพื่อไปยังสถานที่แห่งหนึ่ง

กำเนิด เดอะ แพนเธอร์ส

เขามุ่งหน้ามายังเดวิส พาร์ค และเดินเข้าไปหาผู้ดูแลสวนสาธาณะ และเปิดประเด็นเรื่องสร้างทีมและสถานที่เพื่อให้เด็กๆได้รู้สึกปลอดภัยและปล่อยใจไปกับการได้เล่นกีฬา

 6

"ผมเดินไปหา เจอโรม เทมเพิล อดีตโค้ชของทีมแพนเธอร์ส ผมบอกเขาว่าอยากจะทำฟุตบอลให้กับเด็กอายุ 9-10 ปี จากนั้นผมบอกสิ่งที่หวังไว้ นั่นคือเด็กๆจะต้องได้สิ่งที่ผมสอน เพื่อนำชีวิตไปต่อยอดและได้เรียนในระดับมหาวิทยาลัย"

แรกๆนั้น เขารวมเอาเด็กๆแถวบ้านรวมถึงลูกชายของเขาด้วย เขาเริ่มด้วยเด็กจำนวนเพียงแค่ 10 คน แต่หลังจากเริ่มโครงการไปได้ไม่นาน พ่อแม่ผู้ปกครองแถวนั้นก็เริ่มจะไว้ใจและเห็นถึงความตั้งใจจริง จนตอนนี้ทีมแพนเธอร์ส มีสมาชิกอยู่ในทีมทั้งหมดถึง 29 คนเลยทีเดียว

"ไม่มีอะไรดีไปกว่าการสอนฟุตบอลให้กับเด็กน้อยเหล่านี้ ตอนผมยังเด็ก ไม่มีใครหน้าไหนมาสอนผมเลย พวกเขามาหาผมเพราะฟุตบอล และเด็กๆก็มีส่วนที่ผลักดันให้ผมเดินหน้าต่อไป" โค้ชสก็อตต์กล่าว

นี่ไม่ใช่การสอนแบบขอไปที สก็อตต์ และ ดิกสัน เอาเด็กๆอยู่หมัด นกหวีดของพวกเขามีอำนาจ 1 ปรี๊ดเท่านั้น เด็กจะต้องหยุดและคอยฟังว่าพวกเขาจะพูดอะไร แม้จะเป็นการฝึกที่ดูจริงจังแต่มันก็มีความจำเป็นจะต้องทำแบบนี้เพื่อเสริมสร้างวินัยและการอยู่รวมกันในสังคมในอนาคตหากเด็กๆเหล่านี้โตขึ้น

ความยากไม่จบแค่การสอนเด็กๆหรอก เมื่อมีเด็กเยอะหมายความว่าพวกเขาจะต้องรับผิดชอบมากขึ้นด้วย ตลอด 3 ชั่วโมงในการฝึกซ้อม สก็อตต์ และ ดิกสัน ต้องคอยอ่านสถานการณ์รอบๆ 3 สนามไปด้วย เพราะ ณ เมืองแห่งนี้อะไรก็เกิดขึ้นได้เสมอ

 7

"ผมกำลังมองหาเด็กผู้ชายที่มีปืน ผมต้องจับตามองพวกเขาเสมอ ไม่ใช่แค่เพื่อเด็กๆในทีมเท่านั้น แต่เพื่อให้แน่ใจว่าลูกๆของผมจะปลอดภัยกับชีวิตที่นี่" สก็อตต์กล่าว

เรื่องความปลอดภัยคือสิ่งสำคัญที่สุดในเรื่องนี้ เขาพยายามเดินเรื่องไปยังสถานีตำรวจเขตเซ็นทรัล ซิตี้ เพื่อขอร้องให้ส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยดูสถานการณ์ระหว่างที่เด็กๆซ้อมกัน เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ในช่วงปี 2014 มีแก๊งขายกัญชาที่ชื่อว่า The Piff Gang เข้ามายิงวัยรุ่นสองคนตายคาสนามบาสเก็ตบอลของเดวิส พาร์ค มาแล้ว

สก็อตต์ และ ดิกสัน มั่นใจว่าเมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน สวนธารณะจะกลับมาปลอดภัยและกลายเป็นพื้นที่สำหรับทุกคนในเมืองอีกครั้ง ไม่ใช่ที่ซ่องสุมของพวกขี้ยาเหมือนเคย นั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม แพนเธอร์สจึงเป็นมากกว่าทีมฟุตบอล และในอนาคตเขาจะพยายามทำทีมในรุ่นอายุมากกว่านี้ เพื่อที่จะทำให้เมืองแห่งความตายเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นจากสร้างอาชญากร กลายเป็นการสร้างนักกีฬาชื่อดังที่อาจจะกลายเป็นแรงบันดาลใจของคนทั้งเมือง และเปลี่ยนความเลวร้ายนี้ได้ในท้ายที่สุด

"ผมยังจำได้ดีเลย ตอนที่ผมขอใช้พื้นที่ในเดวิส พาร์ค หลายคนตกใจถามผมว่า ไอ้สวนธารณะขี้ยานี่น่ะเหรอ? เดี๋ยวเด็กน้อยก็ถูกยิงตายหมดหรอก แต่ผมไม่กลัว ผมรู้ว่าจะทำยังไงกับสวนแห่งนี้ และสิ่งที่ผมต้องทำมันง่ายนิดเดียว เพราะถ้าไม่ใช่ผม ก็คงไม่มีใครคิดจะทำอะไรกับเรื่องนี้แน่นอน"

ทีมเปลี่ยนเมือง

จนถึงตอนนี้ เดอะ แพนเธอร์ส กำลังกลายเป็นที่สนใจของผู้คนในเขตเซ็นทรัล ซิตี้ หลายครอบครัวเอาใจช่วยให้ สก็อตต์ และ ดิ๊กสัน สร้างเมล็ดพันธุ์ดีๆที่ปรับเปลี่ยนสังคมที่เลวร้ายแห่งนี้

 8

สก็อตต์ไม่หยุดแค่การทำทีมเท่านั้น เขาใช้ความสำเร็จของแพนเธอร์สเป็นตัวอย่างเพื่อเดินเข้าไปยังสภาเมืองและเรียกร้องขอความช่วยเหลือจากส่วนต่างๆ เขาอยากให้เด็กๆเหล่านี้ได้รับการเยียวยาทางจิตใจ เพิ่มเงินสนับสนุนเพื่อให้ได้ดูแลเด็กในจำนวนที่มากขึ้น รวมไปถึงการขอผู้เชี่ยวชาญเรื่องโปรแกรมศึกษาระดับปฐมวัยและการจัดกิจกรรมสันทนาการ

"สวัสดีทุกท่าน สภาแห่งนี้จะพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องการเยียวยาความเจ็บปวดทั้งด้านร่างกายละจิตใจของทุกๆคนในชุมชมนี้ สิ่งที่เราจะทำมันจะสามารถสร้างความแตกต่างจาก 300 ปีที่รุนแรงกับพวกเรามาตลอด"

"บ่อยครั้งที่เราพูดถึงปัญหาของเด็กและเยาวชนในสภาแห่งนี้ แต่ตอนจบก็เหมือนเดิมทุกครั้ง นั่นคือความว่างเปล่า... แต่สิ่งที่พวกท่านกำลังจะเห็นมันจะเป็นสิ่งที่น่าประทับใจ และจะกลายเป็นความหวังของเด็กๆทุกคน"

เจสัน วิลเลี่ยมส์ หนึ่งในสมาชิกสภาเมืองกล่าวเริ่ม ก่อนจะส่งต่อให้กับโค้ชสก็อตต์ เผยสิ่งที่อยู่ในใจเสมอมา

"ผมเสียพี่ชาย เสียเพื่อน เสียญาติและคนในครอบครัว ไปหลายคนด้วยเหตุผลเดียวกัน นั่นคือลูกกระสุนปืน เรื่องนี้คือเรื่องใหญ่สำหรับชีวิตผม ผมกลัวที่จะต้องไปโรงเรียน ผมกลัวที่จะต้องไปงานศพ และผมรู้ดีว่าปมความเจ็บช้ำในแบบนี้เป็นอย่างไร เพราะผมก็ผ่านมันมา" โค้ชสก็อตต์เล่าถึงเหตุผลที่เขาต้องการร้องขอจากสภาเมือง

"ผมทำหน้าที่เป็นผู้พิทักษ์เด็กๆ ในช่วงเวลาไม่กี่ชั่วโมงที่พวกเขาได้ฝึกซ้อมกับผม ผมเริ่มฝึกเด็กๆ เพื่อให้พวกเขามีโอกาส และนำความรักกลับคืนมาสู่ทุกคน เพราะผมรู้ดีว่าบนท้องถนนของเซ็นทรัล ซิตี้ แทบไม่มีความรักเหลืออยู่แล้ว"

 9

การอภิปรายในสภาเมืองครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่แทบไม่มีเสียงคัดค้านใดๆจากผู้เข้าร่วมเลย ทุกคนในชุมชนต่างเห็นพ้องต้องกันและอยากจะช่วยเหลือสก็อตต์ ให้ทำสิ่งที่อยากทำให้สำเร็จ สำนักงานเด็กประจำเมืองนิว ออร์ลีนส์ ยกมือเห็นด้วย เพราะหากมีศูนย์เยาวชนที่เต็มรูปแบบในเมืองนี้ ปัญหาสุขภาพจิตอันเป็นปัญหาที่รัฐต้องให้บริการในภายหลังและต้องเสียงบประมาณไปมากก็จะลดลงด้วย

การวิจัยทางวิทยาศาสตร์บอกว่า หากเด็กๆได้รับเหตุการณ์ที่กระทบจิตใจอย่างรุนแรง สมองของพวกเขาจะเปลี่ยนแปลงวิธีการทำงานให้คิดและจดจำได้น้อยลง พวกเขาจะก้าวร้าวและฉุนเฉียวง่าย ดังนั้นหากไม่ได้รับการเยียวยา เด็กๆเหล่านี้ก็จะกลายเป็นความรุนแรงที่ยืดเย้อ ดังนั้น โครงการศูนย์พัฒนาเยาวชนและเยียวยาจิตใจของสก็อตต์ ผ่านฉลุยในครั้งนี้

ทีมเล็กของเด็ก 10 ขวบกำลังสร้างจุดเริ่มต้นครั้งใหม่ของเมืองใหญ่ที่เลวร้ายระดับท็อป 10 ของโลกแห่งนี้... ทุกสังคมที่ย่ำแย่ล้วนต้องการการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือจะมีใครคนใดคนนึงกล้าลุกขึ้น และเสียสละความสุขของตัวเอง เพื่อเริ่มต้นความแตกต่างที่หลายคนเฉยเมย

เดอะ แพนเธอร์ส กำลังอาละวาด เมื่อเด็กๆหันมาถือลูกอเมริกันฟุตบอลแทนการจับปืน นั่นหมายความว่าสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงกำลังมาถึงแล้ว

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ จะมาเล่นกีฬาหรืออยากจะตายข้างถนน? : "เดอะ แพนเธอร์ส" คลับของเด็กที่เริ่มคิดจะจับปืน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook