ชนวนเหตุปลิดชีพ : อิทธิพลข่าวเจาะจาก The Sun ที่ทำให้นักฟุตบอลต้องตาย?

ชนวนเหตุปลิดชีพ : อิทธิพลข่าวเจาะจาก The Sun ที่ทำให้นักฟุตบอลต้องตาย?

ชนวนเหตุปลิดชีพ : อิทธิพลข่าวเจาะจาก The Sun ที่ทำให้นักฟุตบอลต้องตาย?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากเอ่ยชื่อถึง The Sun สำหรับคนไทยคงจะนึกถึงวงดนตรีร็อกระดับตำนาน แต่สำหรับในต่างประเทศนั้น คงเป็นอย่างอื่นไปไม่ได้นอกจาก หนังสือพิมพ์ที่มียอดขายสูงสุดในอังกฤษ

และเมื่อพูดถึงหนังสือพิมพ์หัวสีเจ้านี้ บางคนอาจนึกถึง สื่อมือฉมังด้านการสืบสาวข่าวฉาว, "สาวหน้า 3" ที่ออกมาโชว์โฉมแบบอล่างฉ่าง, เจ้ากรมข่าวลือตลาดซื้อขายนักเตะ หรือแม้แต่บาดแผลทางประวัติศาสตร์กับความจริงอีกด้านของ "โศกนาฏกรรมฮิลล์สโบโร่" ที่นอกจากจะถูกประณามจากครอบครัวของผู้วายชนม์ในการใส่สีตีไข่แล้ว ยังทำให้ The Sun เป็นหนังสือพิมพ์ต้องห้ามประจำเมืองลิเวอร์พูลไปตลอดกาล

 

แต่กาลครั้งหนึ่ง หนังสือพิมพ์ชื่อกระฉ่อนหัวนี้กลับเคยถูกกล่าวหาว่า มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้ จัสติน ฟาชานู นักฟุตบอลอาชีพคนแรกของอังกฤษที่เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์ ต้องตัดสินใจปลิดชีพตัวเองในเวลาต่อมา… แต่ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นความจริง หรือมีสาเหตุอื่นอยู่เบื้องหลังด้วยกันแน่?

ดาวรุ่งที่ค่อยๆร่วง

อันที่จริง หากจะพูดถึงชีวิตของชายที่ชื่อ จัสติน ฟาชานู… คำว่า "จากดินสู่ดาว" คงจะเหมาะกับการนิยามอยู่ไม่น้อย เพราะจากการเป็นลูกของผู้อพยพ (พ่อเป็นชาวไนจีเรีย ส่วนแม่เป็นชาวกายอานา ประเทศเล็กๆ ในแถบแคริบเบี้ยน) ที่ประสบกับปัญหาการหย่าร้างจนต้องไปอยู่ในสถานสงเคราะห์ ตัวเขาและ จอห์น น้องชาย ก็สามารถฝ่าฟันอุปสรรคต่างๆ จนก้าวสู่การเป็นนักฟุตบอลอาชีพได้ทั้งคู่

 1

ซึ่งหลังจากที่เริ่มต้นอาชีพการค้าแข้งกับ นอริช ซิตี้ พร้อมกันในปี 1978 จัสตินดูจะมีเส้นทางที่รุ่งโรจน์กว่าจอห์นเสียด้วยซ้ำ เมื่อเขาสร้างชื่อด้วยการคว้ารางวัลประตูยอดเยี่ยมแห่งปี 1980 จาก BBC จากประตูสุดสวยที่ยิงใส่ลิเวอร์พูล จนพาตัวเองติดทีมชาติอังกฤษชุด U21 ได้สำเร็จ ก่อนจะกลายเป็นนักฟุตบอลผิวดำคนแรกที่มีค่าตัวถึง 1 ล้านปอนด์ เมื่อ ไบรอัน คลัฟ คว้าตัวไปร่วมทีม น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในปีถัดมา

 

ทว่าการย้ายไปอยู่กับทีมเจ้าป่านี้เองที่กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการหล่นถอย เมื่อข่าวลือเรื่องพฤติกรรมส่วนตัวของเขาอย่างหนึ่งเกิดเป็นที่ไม่ถูกใจของกุนซือปากตะไกรอย่างแรง

สิ่งที่ว่าไม่ใช่การเมาหัวราน้ำ, โดดซ้อม หรือแม้กระทั่งสูบบุหรี่… แต่คือการไปเที่ยวไนต์คลับและบาร์เกย์ รสนิยมความหลากหลายทางเพศซึ่งยังไม่เป็นที่ยอมรับในยุค 1980s

อันที่จริง ตัวของจัสตินเองก็พยายามหลบซ่อนพฤติกรรมส่วนตัวนี้ไว้ไม่ให้ใครรู้ แต่ที่สุดแล้วก็มีคนรู้จนได้ ซึ่งรวมถึง ไบรอัน คลัฟ เจ้านายของเขา ที่เปิดเผยถึงเรื่องดังกล่าวผ่านอัตชีวประวัติของเจ้าตัวเองเมื่อปี 1995 ว่า

"พอผมรู้ถึงเรื่องดังกล่าวก็ถามกับจัสตินว่า 'นี่ไอ้ลูกชาย ถ้าแกอยากได้ขนมปังควรจะไปที่ไหน?' เขาก็ตอบกลับมาว่า 'ก็ร้านขายขนมปังไงครับ' ผมก็ถามต่อ 'ถ้าอยากได้ขาแกะล่ะ?' 'ก็ร้านขายเนื้อ' แล้วผมก็ถามว่า 'งั้นทำไมแกถึงชอบไปเที่ยวไอ้บาร์เกย์นั่นจังวะ?'"

 2

เรื่องดังกล่าวส่งผลให้ จัสติน ฟาชานู กลายเป็นลูกชังของ ไบรอัน คลัฟ ทันที เมื่อกุนซือปากตะไกรตัดสินใจสั่งให้จัสตินแยกซ้อมเดี่ยว ยิ่งบวกกับผลงานในสนามที่ยิงได้เพียง 3 ประตูจากเกมลีกที่ลงสนามไป 32 นัดในฤดูกาล 1981/82 ที่สุดแล้ว ฟอเรสต์ก็ตัดสินใจเลหลัง เริ่มจากให้ เซาธ์แฮมป์ตัน ยืมตัวในช่วงต้นฤดูกาล 1982/83 ก่อนขายให้กับ น็อตต์ส เคาน์ตี้ คู่ปรับบ้านใกล้เรือนเคียงแบบไม่แยแสด้วยค่าตัวลดกระหน่ำซัมเมอร์เซลล์ 150,000 ปอนด์ หรือ 1 ใน 10 ของราคาที่ซื้อมาเมื่อ 1 ปีครึ่งก่อนหน้า

และกราฟชีวิตของเขาก็เริ่มดิ่งหัวลงนับแต่นั้น…

ความลับที่ไม่ลับอีกต่อไป

นับจากวันที่ถูก น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ขายทิ้ง ชีวิตการค้าแข้งของ จัสติน ฟาชานู หากไม่วนเวียนอยู่กับ "โยโย่ทีม" หรือทีมที่ขึ้นๆ ลงๆ ระหว่างลีกสูงสุดกับลีกรองของอังกฤษ ก็มักจะลงเอยด้วยการไปค้าแข้งในต่างแดนเสียเป็นส่วนใหญ่

 3

ไม่เพียงเท่านั้น อาการบาดเจ็บที่เข่าซึ่งได้รับตอนสมัยอยู่กับ ไบรท์ตัน แอนด์ โฮฟ อัลเบี้ยน ก็ได้ทำให้สปอตไลท์ที่สื่อและแฟนบอลเคยสอดส่องใส่เขาค่อยๆหายไป สวนทางกับจอห์น น้องชายที่กลายเป็นหนึ่งในสมาชิกของวิมเบิลดัน ชุด "เครซี่แก๊ง" ซึ่งสร้างผลงานช็อกโลกด้วยการล้มลิเวอร์พูล คว้าแชมป์เอฟเอคัพปี 1988

ทว่าในปี 1990 วงการฟุตบอลของอังกฤษก็ต้องเจอกับเรื่องช็อก เมื่อหนังสือพิมพ์ The Sun ตัดสินใจขึ้นพาดหัวข่าวหน้า 1 ด้วยเรื่องราวของในวงการกีฬา และด้วยธรรมเนียมปฏิบัติของสื่อเจ้านี้ที่ชอบนักกับการขายข่าวฉาวแล้ว เรื่องที่เป็นไฮไลท์คงไม่ใช่เรื่องดีตามสายตาของคนทั่วไปในสังคมแน่

ซึ่งความจริงก็ดูจะใกล้เคียงกับสิ่งที่หลายคนคิด เมื่อพาดหัวข่าวถูกตีพิมพ์ว่า "นักเตะค่าตัว 1 ล้านปอนด์ยอมรับ 'ผมเป็นเกย์'"

 4

เนื้อหาข้างในคือบทสัมภาษณ์สุดเอ็กซ์คลูซีฟที่จัสตินเปิดเผยกับ The Sun เป็นที่แรกว่า เขามีรสนิยมรักคนเพศเดียวกัน มิหนำซ้ำยังเปิดเผยด้วยว่า เคยมีความสัมพันธ์กับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของอังกฤษที่แต่งงานแล้ว โดยทั้งคู่เจอกันที่บาร์เกย์ ก่อนลงเอยด้วยการมีเพศสัมพันธ์ในที่สุด

และชีวิตการค้าแข้งของเขาก็ดิ่งลงเหวลงนับแต่นั้น...

เมื่อเงินซื้อให้พูดได้?

ย้อนกลับไปในยุค 1990s ต้องยอมรับว่า การเปิดเผยรสนิยมทางเพศที่หลากหลายนั้นไม่ใคร่จะเป็นสิ่งที่ผู้คนในสังคมจะเปิดใจเท่าไหร่นัก เพราะวงการฟุตบอลอังกฤษเพิ่งจะผ่านพ้นยุคที่มีการเหยียดผิวอย่างรุนแรงได้ไม่นาน อีกทั้งรสนิยมทางเพศในรูปแบบดังกล่าวยังถูกสร้างภาพให้เป็นสิ่งที่น่ากลัวจากการที่คนในสังคมยังไม่รู้ถึงเรื่องราวดังกล่าวอย่างกระจ่างแจ้ง

 5

และหากจะว่ากันตามตรง The Sun เองก็ไม่ได้ทำตัวเป็นสื่อมวลชนที่ดีเท่าไหร่นัก เมื่อพวกเขาเลือกที่จะใส่สีตีไข่ในเรื่องความสัมพันธ์ทางเพศจนเกินจริง แถมยังใช้เงินเข้าล่อเพื่อให้พูดในสิ่งที่สื่อต้องการขายข่าวอีกด้วย โดยมีรายงานว่า The Sun จ่ายเงินให้ จัสติน ฟาชานู 20,000 ปอนด์เพื่อให้เปิดเผยถึงรสนิยมทางเพศดังที่กล่าวมา

แต่คำถามก็คือ เงินนั้นซื้อคนอย่างจัสตินให้พูดได้จริงรึเปล่า?

The Independent สื่ออีกรายของอังกฤษรายงานว่า อันที่จริงแล้ว จัสตินเป็นฝ่ายที่ต้องการเงินเอง โดยเขาได้ติดต่อกับเอเย่นต์นักเตะชื่อ อีริก ฮอลล์ เพื่อให้ช่วยประสานงานถึงการขายข่าวกับสื่อ โดยเรียกเงินไว้ที่ 20,000 ปอนด์ เพื่อที่จะนำเงินส่วนนี้ไปเปิดบาร์เกย์ในเมืองโตรอนโต้ ประเทศแคนาดา ซึ่งเขาเพิ่งย้ายสัมมะโนครัวไปค้าแข้งที่นั่นในช่วงเวลาดังกล่าว

เรื่องราวที่ The Independent กล่าวอ้างอาจจะยากต่อการพิสูจน์ แต่ที่พิสูจน์ได้แน่ๆว่าคือเรื่องจริงก็คือสิ่งที่จัสตินเปิดเผยด้วยตัวเองว่า จอห์นผู้เป็นน้องชายเคยเสนอเงินเป็นจำนวนถึง 75,000 ปอนด์ มากกว่าที่ได้จาก The Sun หลายเท่าเพื่อให้ปิดปากไม่ต้องออกมาพูดเกี่ยวกับเรื่องนี้ แต่ก็เป็นอย่างที่ทุกท่านทราบไปแล้วว่า เขาบอกปัดข้อเสนอดังกล่าวไปอย่างไม่ใยดี

 6

เรื่องราวการเปิดเผยตัวตนอีกด้านของ จัสติน ฟาชานู จึงได้นำมาซึ่งความสัมพันธ์อันแตกสลายกับสมาชิกในครอบครัว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับน้องชาย รวมถึงอนาคตบนเส้นทางของการเป็นนักฟุตบอล ดังที่ จอห์น มาร์แชลล์ ซึ่งได้สัมภาษณ์พิเศษจัสตินให้กับนิตยสาร Gay Times เมื่อปี 1991 สรุปว่า

"The Sun ได้สาวไส้เรื่องราวความสัมพันธ์ทางเพศสุดหวือหวาของจัสตินกับสมาชิกสภาฯที่ไม่เปิดเผยชื่อ, นักฟุตบอล รวมถึงนักร้องดังมาขาย ซึ่งที่สุดแล้ว ความหวือหวาที่ว่าก็ไม่ใช่เรื่องจริงแต่ประการใด และแม้เขาจะได้เงินจากการขายข่าวมาไม่น้อย แต่กลับมีคนที่พร้อมจะจ่ายให้มากกว่าเพื่อปิดเรื่องให้เป็นความลับต่อไป ซึ่งเขาได้ปฏิเสธ"

"อย่างไรก็ตาม เขาเองก็ไม่ได้เตรียมใจที่จะรับแรงสะท้อนที่ตามมาทั้งกับชีวิตและอาชีพนักฟุตบอล ซึ่งเรียกได้ว่าเป็น 'ความเสียหายอันหนักหน่วง' เพราะถึงเขาจะฟิตสมบูรณ์ ก็ไม่มีสโมสรใดให้สัญญานักเตะแบบเต็มตัวนับแต่นั้นเป็นต้นมา"

ขอตายเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์

แม้การออกมาเปิดเผยถึงรสนิยมทางเพศจะทำให้ต้องสูญเสียโอกาสที่จะโลดแล่นในเกมฟุตบอลอาชีพระดับสูงไป แต่ จัสติน ฟาชานู ก็ยังคงใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้แม้ชื่อเสียงของเขาจะเริ่มเงียบหาย จนแขวนสตั๊ดไปเมื่อปี 1997 ก็ตาม

 7

สิ่งที่กล่าวมาข้างต้น ทำให้ข้อกล่าวหาที่ว่าการทำข่าวของ The Sun มีส่วนทำให้จัสตินตัดสินใจฆ่าตัวตายด้วยการแขวนคอเมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 1998 จึงดูไม่สมเหตุสมผล ซึ่งเมื่อสืบสาวราวเรื่องไป ก็ทำให้เราได้พบกับเรื่องจริงที่น่าเศร้าอีกประการ

ย้อนกลับไปในเดือนมีนาคม 2 เดือนก่อนเหตุสลด... มีเด็กหนุ่มวัยรุ่นอายุ 17 ปีคนหนึ่งกล่าวหาว่า จัสติน ฟาชานู ได้ล่วงละเมิดทางเพศกับเขา ซึ่งสิ่งที่เลวร้ายที่สุดของการที่เกิดคดีนี้ขึ้นก็คือ การแสดงออกถึงพฤติกรรมรักร่วมเพศคือสิ่งผิดกฎหมายของรัฐแมรี่แลนด์ ประเทศสหรัฐอเมริกา ถิ่นพำนักของเขาในขณะนั้น

และเมื่อมีข่าวว่า ทางตำรวจเตรียมตั้งข้อหาทำร้ายร่างกายกับข่มขืน ซึ่งหากถูกตัดสินว่าผิดจริง ก็อาจต้องรับโทษจำคุกสูงถึง 20 ปี เจ้าตัวจึงตัดสินใจบินกลับอังกฤษทันทีในเดือนถัดมา ก่อนจะตัดสินใจจบชีวิตของตนในที่สุด ซึ่งหลังจากนั้นไม่นาน ตำรวจก็พบจดหมายลาตายของจัสติน ใจความว่า...

"การเป็นเกย์ที่มีตัวตนในสังคมนั้นถือเป็นเรื่องยาก แต่ทุกคนต่างก็เจอกับเรื่องราวยากลำบากในชีวิตอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ฉะนั้นผมคงบ่นอะไรไม่ได้"

"ผมขอยืนยันว่า ผมไม่ได้ข่มขืนเด็กหนุ่มคนนั้น เพราะเขาเต็มใจที่จะมีเพศสัมพันธ์กับผมเอง แต่กลับทวงเงินในเช้าวันถัดมา พอผมไม่ให้ เขาก็พูดว่า 'งั้นเดี๋ยวได้เห็นดีกัน'"

"ถึงตรงนี้เชื่อว่าหลายคนคงมีคำถามว่า แล้วทำไมต้องหนี? ก็เพราะบางครั้งความยุติธรรมมันก็ไม่ได้ยุติธรรมไปซะตลอดไง และด้วยความที่เป็นเกย์ ผมจึงรู้สึกว่าไม่น่าจะได้รับการพิจารณาตัดสินคดีความอย่างยุติธรรมแน่ๆ"

"ผมเข้าใจดีว่า ด้วยตัวตนที่เป็นก็เหมือนกับถูกตัดสินให้มีความผิดกลายๆอยู่แล้ว ดังนั้นผมจึงไม่ต้องการที่จะให้เพื่อนๆและครอบครัวต้องลำบากใจอีกต่อไปแล้วล่ะ"

 8

การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ จัสติน ฟาชานู นำความโศกเศร้ามาให้กับครอบครัวและญาติมิตร ซึ่งอดีตเพื่อนร่วมทีมอย่าง ลีรอย โรซีเนียร์ หรือแม้แต่ จอห์น ฟาชานู ผู้เป็นน้องชายยังยอมรับว่า แม้จะไม่ค่อยเห็นด้วยนักกับการออกมาเปิดตัวถึงรสนิยมทางเพศของจัสติน แต่พวกเขาก็ควรทำอะไรได้มากกว่านี้

"จริงอยู่ที่ผมไม่ใช่พวกที่จะปรักปรำใคร และจะไม่มีวันเป็นเช่นนั้น แต่ในตอนนั้นก็ต้องยอมรับว่าผมเองก็ไม่ลงรอยกับพี่ชายด้วยจริงๆ" จอห์น ฟาชานู กล่าวถึงพี่ชายผู้จากไป

"หลังเหตุการณ์ดังกล่าว ผมเคยนอนคิดถึงเรื่องนั้นอยู่ทั้งคืนว่าควรทำอะไรได้มากกว่านี้ไหม? คำตอบคือ ใช่ แต่ผมไม่อยากที่จะยึดติดกับเรื่องนี้อีกแล้ว เพราะพวกเราร้องไห้มาเกือบ 20 ปีให้กับการจากไปของเขา ผมว่ามันถึงเวลาที่จะต้องยุติเรื่องราวแล้วล่ะ"

 9

การจากไปอย่างไม่มีวันกลับของ จัสติน ฟาชานู ถือเป็นโศกนาฏกรรมที่ดูจะหาคนผิดได้ยาก เพราะไม่ว่าจะเป็นสื่อมวลชนอย่าง The Sun ตลอดจนค่ายอื่นๆ, ครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนพ้อง ดูจะมีส่วนเกี่ยวพันกับการตัดสินใจจากโลกนี้ก่อนเวลาอันควรด้วยกันทั้งสิ้น ถึงกระนั้น การเสียชีวิตของเขาก็ส่งแรงกระเพื่อมต่อสังคม ทำให้วงการลูกหนังเปิดใจยอมรับกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

ซึ่งแม้จะยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย แต่ด้วยเหตุนี้เอง ชื่อของ จัสติน ฟาชานู จึงอยู่ในใจของคนลูกหนังผู้เรียกร้องความเท่าเทียมกันทางเพศไปตลอดกาล

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ ชนวนเหตุปลิดชีพ : อิทธิพลข่าวเจาะจาก The Sun ที่ทำให้นักฟุตบอลต้องตาย?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook