"บรูไน" รวยอันดับต้นๆของโลก แต่ทำไมไร้ตัวตนในโลกกีฬา?

"บรูไน" รวยอันดับต้นๆของโลก แต่ทำไมไร้ตัวตนในโลกกีฬา?

"บรูไน" รวยอันดับต้นๆของโลก แต่ทำไมไร้ตัวตนในโลกกีฬา?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพูดถึงบรรดามหาเศรษฐีบนโลกกีฬา หลายคนคงนึกถึงข่าวการเทคโอเวอร์สโมสรมากมายจากบรรดาผู้มั่งคั่งทั้งหลายจากตะวันออกกลาง เช่น กาตาร์ หรือ ยูเออี พวกเขาเหล่านี้นำเม็ดเงินมหาศาลจากธุรกิจน้ำมัน ลงมาพัฒนาวงการกีฬาทั้งในและนอกประเทศ จนสร้างชื่อเสียงและผลงานให้ประจักษ์ไปทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม ในบรรดาชื่อของชีคและเศรษฐีทั้งหลาย เราไม่เคยเห็นรายใดมาจากประเทศเพื่อนบ้านอย่าง “บรูไน” เลย ทั้งที่พวกเขาเต็มไปด้วยศักยภาพทางการเงินและความมั่งคั่ง จนสามารถเนรมิตรความสำเร็จในโลกกีฬาให้เกิดขึ้นได้ในพริบตา แบบมหาอำนาจน้ำมันชาติอื่น

 

เหตุใดเศรษฐีหมายเลขหนึ่งแห่งภูมิภาคอาเซียน จึงไม่สามารถสร้างชื่อในวงการกีฬา จนไร้ตัวตนแม้กระทั่งการแข่งขันระดับภูมิภาค ทั้งที่เม็ดเงินมหาศาลรอใช้จ่ายแบบไม่อั้น เพื่อพัฒนาศักยภาพนี้ของพวกเขาให้ทัดเทียมกับนานาประเทศ Main Stand จะพาคุณไปดูสิ่งที่อยู่เบื้องหลังนโยบาย และคำตอบจากความล้มเหลวด้านกีฬาของประเทศบรูไน 

ราชาการค้าและการปกครอง

บรูไน หรือ บรูไนดาลุสซาลาม คือหนึ่งในสิบเอ็ดประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยบรูไนถือเป็นรัฐอิสระอายุน้อย หลังได้รับเอกราชจากการเป็นอาณานิคมของประเทศอังกฤษ เมื่อปี 1984 หรือ 35 ปีที่แล้ว และยังปกครองด้วยระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์

 1

ถึงจะเป็นประเทศขนาดเล็ก และจำนวนประชากรไม่มาก บรูไนสามารถสร้างความแข็งแกร่งให้กับประเทศได้อย่างรวดเร็ว ภายใต้การนำของ สมเด็จพระราชาธิบดีฮัจญี ฮัสซานัล โบลเกียห์ มูอิซซัดดิน วัดเดาละห์ สุลต่านผู้ดำรงตำแหน่งเป็นทั้งประมุข, นายกรัฐมนตรี, รัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม, รัฐมนตรีกระทรวงการคลัง, รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศและการค้า และ ผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพบรูไน

แม้สุลต่านฮัสซานัลจะมีอำนาจรวมถึงทรัพย์สินในมือล้นฟ้า  พระองค์ได้เล็งเห็นว่าการสร้างความเป็นอยู่ที่ดีให้แก่ประชาชน จะช่วยสร้างความมั่นคงของระบอบการปกครองมีความเสถียรภาพ แผนสวัสดิการต่างๆถูกนำออกมาใช้ เพื่อรับประกันความเป็นอยู่ของพลเมืองในประเทศ โดยค่าใช้จ่ายจากนโยบายพัฒนาประเทศ มีแหล่งเงินทุนมาจากทรัพย์สินส่วนตัวของราชวงศ์ 

ไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลบรูไนยังกลายมาเป็นสถาบันที่มีการจ้างงานมากที่สุดของประเทศ ประชากรร้อยละ 25 ทำงานอยู่ในธุรกิจก๊าซธรรมชาติและน้ำมันของราชวงศ์ ซึ่งเป็นรายได้หลักเกือบ 100 เปอร์เซ็นต์จากทั้งหมด และเพื่อหลีกเลี่ยงจากปัญหาเงินเฟ้อ บรูไนจึงไม่มีการเรียกเก็บภาษีบุคคลธรรมดา ช่วยให้ประชากรมีรายได้ต่อหัวอยู่ที่ 51,760 เหรียญสหรัฐ ขณะที่รัฐบาลมีเงินทุนสำรองระหว่างประเทศสูงถึง 1,563 ล้านเหรียญสหรัฐ

 2

อย่างไรก็ตาม จากการที่บรูไนยังคงใช้การปกครองแบบรัฐดั้งเดิม และไม่ปฏิรูปสภาพทางการเมืองของประเทศ ทำให้อำนาจศูนย์กลางในการกำหนดทิศทางพัฒนาบ้านเมือง ยังคงไว้ที่องค์สุลต่าน เราจึงเห็นได้จากข่าวที่ออกมาถึงกฎหมายที่ยังคงเคร่งครัดในขนบธรรมเนียมดั้งเดิม และข้อบังคับทางศาสนาที่จะเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ตามความตั้งใจของสุลต่านฮัสซานัล ที่สนับสนุนอุดมการณ์ราชาธิปไตยอิสลามมลายู ซึ่งสถาบันกษัตริย์รับบทเป็นผู้พิทักษ์ศาสนาอิสลาม

ด้วยเหตุนี้ นโยบายใดก็ตามที่องค์สุลต่านทรงเล็งเห็นว่าไม่มีความสำคัญต่อการพัฒนาประเทศ จะไม่มีการหว่านเม็ดเงินมหาศาลลงไปให้ศูนย์เปล่า ดังเช่นนโยบายสื่อบันเทิงและกีฬา ทั้งสองด้านอยู่ภายใต้การบริหารงานของกระทรวงวัฒนธรรม เยาวชน และ กีฬา ซึ่งทุ่มงบประมาณทั้งหมดไปกับการพัฒนาให้ประชากรพูดภาษาท้องถิ่นมากขึ้น

อ่อนแอแต่ไม่แคร์
 
ปัญหาที่เกิดขึ้นเมื่อรัฐบาลบรูไนละเลยสนับสนุนวงการกีฬา คือการจัดการอย่างไร้ระเบียบที่เกิดขึ้นในองค์กรต่างๆ จนเปิดให้มีการคอร์รัปชั่นตามมา เดือนธันวาคม ปี 2008 เกิดข่าวใหญ่โด่งดังไปทั่วโลก เมื่อสำนักงานตำรวจหลวงบรูไน มีคำสั่งให้ยุบสมาคมฟุตบอลแห่งชาติ หลังพบเจอปัญหาการคอร์รัปชั่นของผู้บริหาร จากการไม่แจ้งงบประมาณประจำปีให้รัฐบาลได้ทราบพร้อมแก้ปัญหาแบบลวกๆ ด้วยการตั้งสมาคมฟุตบอลใหม่ ซึ่งให้แฟนฟุตบอลบริหารกันเองแบบตามมีตามเกิด

 3

อย่างไรก็ตาม เรื่องวุ่นวายที่เกิดขึ้นไม่จบลงแค่นั้น เมื่อสมาคมฟุตบอลบรูไนที่ถูกยุบไปโดยรัฐบาล เป็นหนึ่งในสมาชิกที่ได้รับรองอย่างเป็นทางการจากฟีฟ่า และการจัดการกับองค์กรเหล่านี้ด้วยกฎหมายภายในประเทศ ถือเป็นเรื่องผิดกฎข้อบังคับเกี่ยวกับการเมือง เมื่อมีการแทรกแซงจากรัฐบาลโดยไม่ผ่านการตรวจสอบจากฟีฟ่า บรูไนจึงถูกแบนจากวงการฟุตบอล ทั้งในระดับทีมชาติและสโมสรทันที 

หลังปัญหาถูกทิ้งค้างเอาไว้กว่าสองปี เดือนพฤษภาคม ปี 2011 โทษแบนจากฟีฟ่าของบรูไนถูกยกเลิก หลังยอมคืนสถานะให้สมาคมฟุตบอลอีกครั้ง แต่ได้มีการปรับเปลี่ยนเรื่องการบริหาร จากเดิมที่ประชาชนจัดการ ให้เปลี่ยนมาขึ้นตรงกับรัฐบาลแทน โดยประธานสมาคมเป็นคนในราชวงศ์อย่าง เจ้าชายซูฟรี โบลเกียห์ เพื่อเป็นการรับรองกับทั้งฟีฟ่าและคนในชาติว่า กีฬาที่ได้รับความนิยมอันดับหนึ่งของประเทศบรูไน จะไม่ถูกทิ้งขว้างอีกต่อไป

 4

ลีกฟุตบอลอาชีพของบรูไน หรือ บรูไน ซุปเปอร์ลีก จึงถูกตั้งขึ้นในปี 2012 เป็นครั้งแรกที่พวกเขามีลีกอาชีพของตัวเอง และได้การรับรองจากฟีฟ่า โดยก่อนหน้านั้น พวกเขาต้องฝากสโมสรของตัวเองไปเล่นยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ทีมดีพีเอ็มเอ็ม เอฟซี ซึ่งลงเล่นอยู่ในศึกมาเลเซีย ซุปเปอร์ลีก ก่อนย้ายไปเล่นยัง เอสลีก สิงค์โปร์ เมื่อสมาคมฟุตบอลส่งเอกสารลงแข่งขันในลีกเสือเหลืองไม่ทันในปี 2008 (ซึ่งภายหลังฟีฟ่ามองว่าเรื่องนี้เป็นเหตุผลแท้จริงในการยุบสมาคมฟุตบอลจากรัฐบาล ที่ไม่พอใจหลังเห็นทีมฟุตบอลเดียวของประเทศต้องเกิดปัญหา จากความผิดพลาดในการบริหารขององค์กรนอกรัฐบาล)

แม้ส่วนกลางจะลงมาจัดการบริหารเอง เพื่อลดปัญหาต่างๆที่เคยเกิดขึ้นในวงการกีฬา แต่งบประมาณที่อัดฉีดลงไปยังน้อยไม่ต่างจากเดิม ทีมชนะการแข่งขันบรูไน ซุปเปอร์ลีก จะได้รับเงินรางวัลราวสามแสนบาท เพิ่มมากขึ้นจากตอนเป็นลีกกึ่งอาชีพแค่เท่าตัว และน้อยกว่าเงินรางวัลของศึกไทยลีกซึ่งแชมป์จะได้รับเงินรางวัล 10 ล้านบาท แบบไม่เห็นฝุ่น

เมื่อผลตอบแทนทางธุรกิจไม่เย้ายวน การลงทุนจากภายนอกก็เงียบเหงา สโมสรส่วนใหญ่ของบรูไน จึงถูกบริหารจากหน่วยงานรัฐ ยกตัวอย่างเช่น สโมสรฟุตบอลกองทัพ หรือ เอ็มเอส เอบีดีบี แชมป์ลีกสี่ฤดูกาลซ้อนของบรูไน ซุปเปอร์ลีก พวกเขาไม่มีนักเตะต่างชาติในทีมแม้แต่คนเดียว แถมรังเหย้าของพวกเขาอย่าง สนามบันดาร์ เสรี เบกาวัน ยังมีความจุเพียง 2,500 คน

5

ผลกระทบจากความอ่อนแอภายในลีก ทำให้การแข่งขันระดับนานาชาติด้อยลงตามไปด้วย สโมสรจากบรูไนยังคงไม่ได้รับโควตาอัตโนมัติให้ลงแข่งขันศึกเอเอฟซี คัพ ส่วนผลงานของทีมชาติแย่ยิ่งกว่า บรูไนเคยเข้าแข่งขันรายการระดับเมเจอร์แค่ครั้งเดียว คือศึกอาเซียนคัพ ปี 1996 พวกเขาเอาชนะฟิลิปปินส์ 1-0  มันเป็นการคว้าชัยครั้งแรกในทัวร์นาเมนต์ฟุตบอลใหญ่ของทีมชาติบรูไน และเป็นครั้งสุดท้ายของพวกเขาจนถึงทุกวันนี้

อาเซียน > ตะวันออกกลาง

 6

หากมองแบบผิวเผิน เหตุผลหลักที่การกีฬาของบรูไนไม่สามารถก้าวไปแสดงตัวตนในระดับโลกได้ น่าจะมาจากการรวมอำนาจศูนย์กลางไว้ที่องค์สุลต่าน และเหตุผลทางศาสนา รวมถึงขนบธรรมเนียมดั้งเดิมและศาสนา ซึ่งก่อให้เกิดข้อจำกัดมากมาย ทำให้ไม่มีการลงทุนจากรัฐบาล ซึ่งต้องรับคำสั่งตรงลงมาจากประมุขของประเทศ ให้มีการเทเม็ดเงินมหาศาลลงไปในธุรกิจกีฬาต่างๆ

อย่างไรก็ตาม การปกครองของบรูไนในระบอบที่ใกล้เคียงกับปิตุลาธิปไตย ไม่อาจคงอยู่ได้ หากไร้การยอมรับจากประชาชน จึงหมายความว่า หากประชาชนบรูไนต้องการผลักดันไปยังรัฐบาล เพื่อก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายทางกีฬา ตอบรับตามยุคสมัยที่เปลี่ยนไปของโลกภายนอก เรื่องดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ในระยะเวลาไม่กี่ปี 

เหมือนครั้งที่ฟีฟ่าบีบให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในสมาคมกีฬาฟุตบอลของบรูไนมาแล้ว ขณะเดียวกัน เมื่อมองไปยังชาติฝั่งตะวันออกกลาง ทั้ง สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์, กาตาร์ หรือ ซาอุดิอาระเบีย ซึ่งล้วนเป็นมหาอำนาจในโลกฟุตบอลสมัยใหม่นั้น พวกเขาต่างเป็นรัฐอิสลามที่ใช้การปกครองระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ข้อบังคับทางศาสนาและขนบธรรมเนียม กลับไม่ใช่อุปสรรคให้เกิดขีดจำกัดในการพัฒนากีฬาของประเทศ เหมือนอย่างที่บรูไนเป็นอยู่ในตอนนี้ 

 7

ดังนั้น การเปรียบเทียบความสำเร็จด้านกีฬาของบรูไน เข้ากับรัฐอิสลามอื่นในตะวันออกกลาง จึงก่อให้เกิดคำถามว่าทำไมทั้งสองฝั่งถึงแตกต่างกันขนาดนั้น ทั้งที่มีระบอบการปกครองคล้ายกัน และมีเงินทุนจากรัฐบาลมากมายมหาศาลไม่แตกต่าง แต่ความจริงที่เกิดขึ้นคือ คนส่วนใหญ่มองพลาดไปในเรื่องนี้ บรูไนไม่เคยใช้ประเทศกลุ่มตะวันออกกลางเหล่านั้น เป็นแบบอย่างในการพัฒนาประเทศเลย พวกเขาเลือกเดินตามความสำเร็จของเพื่อนบ้านในภูมิภาคอาเซียน รัฐขนาดเล็กที่สร้างปาฏิหาริย์เอเชียตะวันออกให้เกิดขึ้น ประเทศที่มีชื่อว่า สิงคโปร์

ปี 1960 คนสิงคโปร์มีรายได้เฉลี่ยเพียง 428 ดอลลาร์ต่อปี ต่ำกว่าประเทศยากจนอย่าง ตรินิแดดและโตเบโก และ เวเนซุเอลา แต่ในอีกห้าปีถัดมา รายได้ต่อหัวของพวกเขาทะยานขึ้นมาเป็น 52,960 ดอลลาร์ แซงหน้า สหราชอาณาจักร และ แคนาดา เรียบร้อย ด้วยนโยบายพัฒนาอุตสาหกรรม และสร้างรัฐวิสาหกิจให้มีบทบาททางการค้าเป็นอันดับหนึ่งของประเทศ

ด้วยเหตุนี้ บรูไนซึ่งเป็นน้องใหม่ที่ตั้งขึ้นตามหลังสิงคโปร์กว่า 20 ปี จึงเลือกเอาโมเดลของเพื่อนบ้านรายนี้เป็นแบบอย่าง พวกเขาเดินหน้าสู่การพัฒนาภาคอุตสาหกรรม ตามความเหมาะสมจากการเป็นประเทศขนาดเล็ก สร้างธุรกิจหลักให้มาจากภาครัฐ และประสานความสัมพันธ์ระหว่างราชวงศ์กับประชาชนเข้าด้วยกัน  โดยใช้นโยบายสวัสดิการที่สร้างเป็นอยู่ที่ดีให้กับคนในชาติ

 8

ดังนั้น แนวทางด้านกีฬาของบรูไน จึงเดินตามนโยบายของเพื่อนบ้านรายนี้ที่วางเอาไว้ รัฐบาลสิงคโปร์ไม่เคยสนับสนุนให้คนในชาติเป็นนักกีฬา เพราะมองว่าอาชีพเหล่านี้ ไม่สามารถสร้างงานและมูลค่าที่ดีให้กับคนในประเทศได้ บรูไนจึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่ใจนโยบายกีฬาตามไปด้วย ตามที่สิงคโปร์ให้เห็นแสดงให้เห็นแล้วว่าการเรื่องดังกล่าว ไม่สัมพันธ์กับความเจริญก้าวหน้าของประเทศ และการรักษาความั่นคงของระบอบการปกครองในชาติ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เมื่อเราได้เห็นบรูไน ยื่นข้อเสนอส่งทีมฟุตบอลมาเล่นยังศึกไทยลีก เพราะมันมีรูปแบบคล้ายกับตอนที่สิงคโปร์ ยื่นข้อเสนอให้ต่างประเทศส่งทีมเข้ามาแข่งขันในศึกเอสลีก ซึ่งถือเป็นนโยบายหลอกๆว่าจะพัฒนาการกีฬาของประเทศ ก่อนล้มพับไปแบบไม่เป็นท่าในเวลาอันสั้น

แนวทางที่ไม่เปลี่ยนแปลง

อีกด้านหนึ่งอันเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้กีฬาในประเทศบรูไนไม่เติบโต เนื่องจากประชาชนในชาติเองที่ไม่เห็นความสำคัญของเรื่องดังกล่าว ซึ่งเป็นผลพวงจากความมั่งคั่งที่มากเกินไปของพวกเขา ผู้คนเลือกผ่อนคลายความเครียดหลังการทำงาน ด้วยการช็อปปิ้งตามห้างสรรพสินค้า และการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยในห้องแอร์ขนาดใหญ่ ดูจะมีความสุขมากกว่าตะโกนจนคอแห้งในสนามกีฬากลางแจ้งเป็นไหนๆ

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อไหร่ที่ชาวบรูไนเกิดเบื่อจากการเดินห้าง หรืออยากใช้เวลายามว่างไปกับกิจกรรมแบบใช้พลังกาย รัฐบาลเองก็มีแผนรองรับไว้แล้วเช่นกัน พวกเขามีนโยบายที่เรียกว่า “บันดาร์ กูเชอเรีย” คือการไม่อนุญาตให้รถยนต์วิ่งบนถนนทั้งหมดในเมือง เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้คนออกมาเดินเท้าและปั่นจักรยาน เปลี่ยนเมืองอันมั่งคั่งจากการค้าขาย ให้กลายพื้นที่สาธารณะของทุกคน สร้างความแน่นแฟ้นแก่ชุมชน และรวมผู้คนกับวัฒนธรรมเข้าด้วยกัน

 9

เมื่อประชาชนไม่ต้องการ เรื่องกีฬาจึงถูกจัดการโดยเบ็ดเสร็จจากรัฐบาลและราชวงศ์ แต่ไม่ใช่ทุกคนในคณะปกครองที่จะมองมองข้ามเรื่องนี้ เจ้าชาย ฟาอิก โบลเกียห์ หลานชายแท้ๆ ของสุลต่านฮัสซานัล ไม่เพียงจะเป็นแฟนฟุตบอลตัวยง แต่กลายเป็นนักฟุตบอลขึ้นมาเลยจริงๆ แถมยังเซ็นสัญญากับ เลสเตอร์ ซิตี้ เป็นที่เรียบร้อย ควบกับตำแหน่งนักฟุตบอลที่รวยสุดในโลก เหนือดาวดังระดับตำนานอย่าง ลีโอเนล เมสซี และ คริสเตียโน โรนัลโด เสียอีก

"ผมเริ่มเล่นฟุตบอลมาตั้งแต่ผมจำความได้ และตั้งแต่วัยเด็กผมมีความสุขเสมอเวลาออกไปอยู่บนสนาม และมีลูกบอลอยู่กับเท้าของผม"

"พ่อแม่ของผมให้การสนับสนุน และพยายามช่วยให้ผมประสบความสำเร็จในการเป็นนักฟุตบอลอาชีพ พวกเขาฝึกฝนผมทั้งทางด้านจิตใจ และร่างกายมาตั้งแต่ช่วงวัยเด็ก ดังนั้นผมต้องบอกว่าพวกเขาเป็นแบบอย่างที่ดีของผม"

 10

แม้จะรักการเป็นฟุตบอลจากใจ แต่หากไร้การสนับสนุนจากครอบครัว ฟาอิก โบลเกียห์ คงหมดหวังในการเป็นนักฟุตบอล เขาได้รับการแต่งตั้งเป็นกัปตันทีมชาติ ทั้งที่วัยเพียง 20 ปี และยังเล่นอยู่ในทีมสำรองของสโมสร เนื่องด้วยเหตุผลที่ไม่ต้องบอกก็รู้ว่าทำไม ส่วนการเซ็นสัญญาของฟาอิกกับทัพจิ้งจอกสยาม ชัดเจนว่าเป็นเรื่องนอกสนามมากกว่าผลประโยชน์บนพื้นหญ้า

เมื่อรัฐบาลและประชาชนบรูไน สามารถก้าวไปด้วยกันได้อย่างมีความสุข ตามนโยบายสวัสดิการดั้งเดิมที่วางโครงร่างกันมาตั้งแต่ก่อตั้งประเทศ ทั้งสองฝ่ายไม่มีความจำเป็นต้องปรับตัวใดๆ ไปตามกระแสโลกภายนอก กระแสการหว่านเม็ดเงินลงสู่ธุรกิจกีฬา ในสายตาของพวกเขาจึงไม่ต่างอะไรไปกับการใช้เงินอย่างฟุ่มเฟือยไร้ประโยชน์ ประเทศแห่งนี้จึงไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลไปกับการพัฒนากีฬา ตราบใดที่ความมั่นคงของระบบอบการปกครอง และความสุขในชีวิตประจำวันของพลเมืองบรูไน ยังคงเดินไปตามที่เป็นอยู่ในตอนนี้

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "บรูไน" รวยอันดับต้นๆของโลก แต่ทำไมไร้ตัวตนในโลกกีฬา?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook