ตำนานวิถีซามูไร : คิโมะ นาคานิจิ นักวิ่งที่วิ่งไม่หยุด 26 วันในลอนดอน มาราธอน

ตำนานวิถีซามูไร : คิโมะ นาคานิจิ นักวิ่งที่วิ่งไม่หยุด 26 วันในลอนดอน มาราธอน

ตำนานวิถีซามูไร : คิโมะ นาคานิจิ นักวิ่งที่วิ่งไม่หยุด 26 วันในลอนดอน มาราธอน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ความพยายามของนักวิ่งชาวญี่ปุ่นคนหนึ่งกลายเป็นเรื่องราวระดับตำนานของ ลอนดอน มาราธอน ในปี 1981 ซึ่งเป็นการจัดแข่งขึ้นครั้งแรก  

ภายใต้กรอบของความพยายามตามแบบฉบับชาวอาทิตย์อุทัย เมื่อรวมกับลีลาการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวโลกตะวันตก จึงบังเกิดเป็นเรื่องราวการวิ่งแบบไม่มีหยุดตลอด 26 วันของ คิโมะ นาคานิจิ

ความยิ่งใหญ่นั้นเกิดขึ้นจากอะไร เหตุใดเขาจึงไม่เข้าเส้นชัยเหมือนนักแข่งคนอื่นๆ ติดตามได้ที่นี่

ลอนดอน มาราธอน ปี 1981

ลอนดอน มาราธอน อันเลื่องชื่อนั้น จัดว่าเป็นหนึ่งในรายการวิ่งมาราธอนระดับเมเจอร์ที่นักวิ่งทั้งโลกรอคอยและตั้งใจฟิตซ้อมเพื่อไปเจอกับเหล่าของจริงจากทั่วทุกมุมโลกในรายการนี้ มีนักวิ่งระยะไกลผู้ยิ่งใหญ่มากมายได้พิสูจน์ตัวเองมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็น เอลิอุด คิปโชเก้ เจ้าของสถิติโลกมาราธอนคนปัจจุบัน, พอลล่า แรดคลิฟฟ์ อดีตเจ้าของสถิติโลกมาราธอนหญิงที่คงกระพันมานับสิบปี ฯลฯ พวกเขาเหล่านี้ถูกจดจำในฐานะความเร็วระดับเหนือมนุษย์ที่สามารถวิ่งมาราธอนได้ในเวลาแค่ราวๆ 2 ชั่วโมงเท่านั้น


Photo : home.bt.com

ในปี 1981 การแข่งขันลอนดอน มาราธอน ถูกจัดขึ้นเป็นครั้งแรกและมีผู้เข้าแข่งขันถึง 35,000 คน "นี่คือเทศกาลท้องถิ่นที่ยิ่งใหญ่ที่สุดเท่าที่โลกเคยเห็น คุณจะได้เห็นเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติสามารถเป็นหนึ่งเดียวกันภายใต้กรอบของการแข่งขันและความสนุกสนาน" คริสโตเฟอร์ แบรสเชอร์ อดีตนักวิ่ง และบรรณาธิการกีฬา หนังสือพิมพ์ ดิ ออบเซิฟเวอร์ และเป็นผู้ร่วมให้กำเนิดศึก ลอนดอน มาราธอน ว่าเอาไว้ราวกับเขารู้ว่าการแข่งขันครั้งนี้จะต้องมีเรื่องราวที่โลกต้องจดจำ

ลอนดอน มาราธอน มีหลายแง่มุมให้จดจำ มีผู้แพ้หลายคนที่สร้างเรื่องราวดีๆ ไว้ในรายการนี้ ทว่าไม่มีใครสร้างความทรงจำระดับตำนานได้มากกว่า คิโมะ นาคานิจิ นักวิ่งชาวญี่ปุ่นอีกแล้ว

คิโมะ นาคานิจิ เจ้าของหมายเลขหน้าอกเสื้อ 1991 เขามาไกลจากแดนอาทิตย์อุทัยเพื่อมาลงแข่งขันในรายการนี้โดยเฉพาะ อย่างไรก็ตามกำแพงภาษาถือว่าเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับชาวญี่ปุ่นตลอด และทุกวันนี้แม้จะดีขึ้นมาบ้างแล้ว แต่ชาวญี่ปุ่นก็ยังไม่พูดภาษาอังกฤษกันเท่าไรนัก


Photo : hoaxes.org

เหตุผลใหญ่ๆนั้นมีอยู่ 2 ข้อ นั่นคือ ญี่ปุ่นนั้นพ้นยุคที่จะต้องพึ่งบริษัทต่างชาติเข้ามาลงทุนไปแล้ว พวกเขากลายเป็นประเทศที่ส่งออกบริษัทไปลงทุนต่างชาติแทน และเมื่อเป็นเช่นนี้ ความที่เดิมเป็นประเทศแนวๆ อนุรักษ์นิยมด้วย เลยกลายเป็นว่าการศึกษาของประเทศญี่ปุ่นนั้นไม่ได้เน้นภาษาอังกฤษมากนัก

กำแพงภาษานี้เองที่ทำให้ คิโมะ นาคานิจิ รู้สึกว่าโลกที่เขาอยู่มันแคบมาก การเดินทางมาอังกฤษครั้งนี้ทำให้เขารู้ว่าการแข่งขันวิ่งมาราธอนที่ลอนดอนครั้งนี้ มีความแตกต่างจากที่เขาเคยเจอมาชนิดสวรรค์กับนรกเลยทีเดียว เพราะปกติแล้ว การวิ่งมาราธอนในญีปุ่นนั้นจะมีการ Cut Off หรือว่าการตัดตัวของผู้แข่งขันที่วิ่งช้า-วิ่งไม่ถึงเส้นชัยภายในเวลาที่กำหนด อยู่ที่ 7 ชั่วโมง แต่ที่อังกฤษ พอ นาคานิจิ เห็นกฎ Cut Off ของมาธอนครั้งนี้แล้วเขาก็ถอนหายใจเฮือกใหญ่ เพราะเมื่อเอามาเทียบกับระยะที่ต้องวิ่งแล้วเป็นอะไรที่เขาไม่คิดว่ามนุษย์คนไหนในโลกจะทำมันได้

นาคานิจิ สู้ตาย!

"คนญี่ปุ่นไม่ค่อยมากเรื่อง มารยาทของญี่ปุ่นมันไม่ใช่มารยาทที่ให้โวยวาย ไม่แสดงความไม่พอใจ พวกเขาถูกฝึกให้อดทนอดกลั้น พวกเขาถูกสอนเสมอว่าเวลาไปสถานที่ต่างต้องรับผิดชอบต่อสถานที่นั้น มันเป็นธรรมเนียมปฏิบัติทั่วๆ ไป เพราะว่าญี่ปุ่นใช้พื้นที่แชร์เยอะ เวลาไปใช้พื้นที่สาธารณะ มันไม่จำเป็นจะต้องเป็นแค่สนามฟุตบอล ไม่ใช่สนามบาส แม้กระทั่งสวนสาธารณะเวลาไปจัดปาร์ตี้กัน เวลาจัดเสร็จปุ๊บมันก็ต้องเก็บข้าวเก็บของทิ้งขยะ แยกขยะอะไรกัน มันเป็นสิ่งที่ถูกสอนมา และในปัจจุบันมันมีมารยาทตรงนี้อยู่” กฤตพล วิภาวีกุล นักศึกษาปริญญาเอกด้าน International Study มหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้กับ Main Stand


Photo : hoaxes.org

แน่นอนในเมื่อ นาคานิจิ เป็นชาวญี่ปุ่น จึงไม่แปลกนักที่เขาจะไม่โวยวายกฎที่เข้าไม่ค่อยจะเข้าใจ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็พร้อมจะรับมัน เมื่อคนอื่นทำได้ เขาก็ต้องทำได้ นี่คือสิ่งที่เรียกว่า "วิถีซามูไร"  ซึ่งในทางกีฬานั้นถูกตีความว่าคือการทำงานหนัก มีน้ำใจนักกีฬา และจิตวิญญาณในการต่อสู้นั่นเอง 26 ไมล์ หรือ 42.195 กิโลเมตร จาก สวนสาธารณะกรีนวิช สู่ พระราชวังบัคกิ้งแฮม เขาพร้อมจะพิสูจน์แล้ว

ในขณะที่เสียงปืน ณ จุดออกตัวดังขึ้น นาคานิจิ ออกวิ่งแบบสุดกำลังเหมือนกับคนอื่นๆ เหล่านักวิ่งตัวเต็งออกสตาร์ทด้วยการนำโด่งเหมือนเช่นเคย พวกเขาคิดจะวิ่งขึ้นนำและเข้าเส้นชัยแบบม้วนเดียวจบ แต่ นาคานิจิ ต้องวางแผนใหม่ให้ดี เขาต้องสำรองกำลังเพื่อระยะวิ่ง และระยะเวลาที่ถูกกำหนดไว้ ดังนั้นการวิ่งของเขาจึงช้ากว่าปกติที่เคยทำไว้มาก และหากจะถามว่ามากขนาดไหนมันมากจนขนาดที่ว่านักวิ่งระดับหัวแถวเข้าเส้นชัยไปหมดแล้ว ดิ๊ก เบียดส์ลี่ย์ นักวิ่งชาวอเมริกัน และ อิงเก้ ซิโมนเซ่น เข้าเส้นชัยด้วยการจับมือกันในเวลา 2 ชั่วโมง 11 นาทีและ 48 วินาที ขณะที่ฝ่ายหญิง จอยซ์ สมิธ นักวิ่งเจ้าถิ่นเข้าเส้นชัยไปด้วยเวลา 2 ชั่วโมง 29 นาที 57 วินาที่  

ใครจะเร็วแค่ไหนก็ช่างปะไร นาคานิจิ ไม่สนใจ เขาจะต้องทำให้สำเร็จตามแนวทางและแบบแผนที่เขาวางไว้ให้จนได้

ยิ่งช้ายิ่งน่าประทับใจ

ความเชื่องช้าของ นาคานิจิ ทำให้สำนักข่าวใหญ่อย่าง เดลี่ เมล์ ถึงกับลงรูปของเขาบนหน้าหนังสือพิมพ์ด้วยความเชิดชูในสปิริตที่ไม่ยอมแพ้ เขาได้กลายเป็นข่าวดังอย่างไม่รู้ตัวจากการวิ่งสไตล์ที่ตัวเองคิดค้นขึ้นมา นี่คือ 1 ในหลายครั้งที่ชาวญี่ปุ่นปฎิบัติในแนวทางของตัวเองจนทำให้ชาวโลกต้องคารวะ


Photo : hoaxes.org

ความประทับใจนั้นถูกพูดในช่วงเวลาดังกล่าว ทว่า 26 วันหลังจากนั้น มีรายงานว่า "คิโมะ นาคานิจิ" หายตัวไป และเมื่อสืบจากการเจ้าหน้าที่และผู้จัดการแข่งขันก็พบว่ารายชื่อของผู้เข้าเส้นชัยไม่มีชื่อของ นาคานิจิ แต่ชื่อของเขากลับไปปรากฎอยู่บนเอกสารรายชื่อของนักวิ่งที่ถูก Cut Off แทน

เดลี่ เมล์ เดินหน้าทำข่าวนี้ทันที พวกเขาตามหาตัว นาคานิจิ ไปทั่วลอนดอน และสิ่งที่พบมันทำให้พวกเขาตกใจปนกับประหลาดใจเพราะ นาคานิจิ ยังวิ่งอยู่บนถนน "แค่คนเดียว" ปราศจากนักวิ่งคนอื่นใดๆ ทั้งสิ้น จากปากคำของผู้เห็นเหตุการณ์เล่าว่าเขายังคงวิ่งและมุ่งมั่นต่อไปเพื่อจะเข้าเส้นชัยให้ได้ตามที่หวังไว้ตั้งแต่แรกและไม่มีทางที่เขาจะล้มเลิกความคิดนี้

"เขายังคงวิ่งอยู่ที่ไหนสักแห่งบนถนนในลอนดอน ด้วยความปรารถนาที่จะเข้าเส้นชัย" เดลี่ เมล์ รายงานเช่นนั้น

ทุกคนสงสัยมาก นี่มันมาราธอนประเภทไหนกันแน่ เหตุใดนักวิ่งคนนี้จึงยังไม่เข้าเส้นชัยแม้จะผ่านมาแล้ว 26 วัน แม้ฝันของเขาจะยิ่งใหญ่ แต่ฝ่ายจัดและทางเดลี เมล์ ไม่อาจจะเห็นเขาวิ่งต่อไปได้อีกแล้ว 26 วันเต็มๆ ที่เขาไม่ทำอะไรเลยนอกจาก วิ่ง,กิน,พัก - วิ่ง,กิน,พัก วนไปอยู่อย่างนี้ หากไม่มีใครหยุดเขา นาคานิจิ จะต้องตายเพราะร่างกายที่ไม่สามารถรับไหวแน่นอน

การกล่อมให้หยุดสำเร็จจนได้ และ "น่าจะ" เป็นไปอย่างยากลำบากเพราะ นาคานิจิ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ขณะที่เจ้าหน้าที่หลายคนก็พูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ดังนั้นทีมจัดจึงต้องพลิกแผ่นดินหาคนที่พูดภาษาญี่ปุ่นได้มาพูดกับเขาให้รู้เรื่องว่าเหตุใดคุณจึงไม่ยอมเข้าเส้นชัยแบบคนอื่นๆ และทำไมยังออกมาวิ่งนอกพื้นที่การแข่งขันเป็นเวลารวมถึง 26 วันกันแน่?

ความจริงปรากฎ

สุดท้ายแล้วมันก็เป็นจุดใต้ตำตอ ล่ามภาษาญี่ปุ่นกลับเป็นคนในที่อยู่แค่ใต้จมูกนี่เอง ทิโมธี่ ไบรอัน ผู้บริหารระดับบิ๊กของการจัด ลอนดอน มาราธอน พูดภาษาญี่ปุ่นได้ในระดับหนึ่งเพราะเคยศึกษามาประมาณ 2 ปี และเมื่อเขามาเห็นสภาพของ นาคานิจิ เขาแทบตาค้างด้วยความตกใจ ... ทั้งคู่รู้จักกันมาแล้ว และรู้จักกันในวันแรกของการแข่งกันก่อนที่จะปล่อยตัวนักวิ่ง

การเจอกับของ นาคานิจิ กับ ไบรอัน กลายเป็นกุญแจในการหาคำตอบของวิถีซามูไรที่แท้จริง พวกเขาคุยกันได้สัก ทิโมธี ก็เดินมาหาทีมนักข่าวด้วยสีหน้าเขินๆ พร้อมด้วยบทสัมภาษณ์ที่เป็นตำนานไม่แพ้กับการวิ่งไม่หยุด 26 วันของ นาคานิจิ

"ผมรู้สึกแย่มากเลย" ทิโมธี จั่วหัวไว้เช่นนี้ และเข้าสู่ใจความหลัก "คือผมเรียนภาษาญี่ปุ่นมา 2 ปี และนี่มันเป็นความผิดพลาดของผมเอง ผมแปลกติกาของลอนดอน มาราธอน เป็นภาษาญี่ปุ่นให้เขาผิดไป เขาเองก็ดันเข้าใจว่านี่คือการแข่งวิ่งข้ามจังหวัดเหมือนกับที่เขาเจอมาในญี่ปุ่น"

ภาพทั้งหมดวิ่งย้อนในตอนที่ก่อนปล่อยตัว นาคานิจิ ขอความช่วยเหลือจาก ทิโมธี ซึ่งตัวของ ทิโมธี ที่เป็นผู้จัดนั้นก็หวังดีอย่างที่สุด เขาอธิบายเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า "ฟังนะ คุณต้องวิ่งเป็นระยะเวลาทั้งหมด 26 วัน" ... ทั้งที่ความจริงแล้วเขาจะต้องบอกว่าเป็นการวิ่งภายในระยะทาง 26 ไมล์ จบประโยคเท่านั้นเท่านั้นเอง นาคานิจิ ก็เลยสู้แค่ตายจนถึงวันที่ 26 หลังการแข่งขัน ซึ่งเป็นช่วงที่ เดลี่ เมล์ ลงข่าวนี้ของเขาในคอลัมน์ Mail Exclusive

"นักวิ่งชาวญี่ปุ่นโชคร้าย วิ่งบนถนนอยู่คนเดียว" รูปของเขาปรากฎหราบนคอลัมน์พิเศษ พร้อมด้วยหน้าของคนก่อเรื่องที่ทำให้ ลอนดอน มาราธอน เป็นที่จดจำตั้งแต่ครั้งแรกอย่าง ทิโมธี่ ไบรอัน อยู่ในกรอบเล็กๆ

 ความจริงปรากฎ EP.2

การเล่นข่าวนี้เป็นการเล่นข่าวครั้งประวัติศาสตร์ของโลก เดลี่ เมล์ จัดการเสนอข่าวที่คนทั่วโลกต่างสนใจว่าความผิดพลาดระดับนี้เกิดขึ้นได้อย่างไร และนักวิ่งชาวญี่ปุ่นคนนี้แข็งแกร่งขนาดไหนจึงสามารถวิ่งได้ถึง 26 วันติดต่อกัน


Photo : www.flickr.com

เดลี่ เมล์ เลี้ยงข่าวนี้ไว้จนสุกงอม ก่อนจะเฉลยว่า "April Fool's Day!" (สุขสันต์วันโกหก) เรื่องทั้งหมดเป็นการยกเมฆขึ้นมาหลอกให้คนอ่านหลงเชื่อ และทำได้อย่างสนิทใจ หลายคนด่าผู้จัดที่แปลกฎมั่วซั่ว ขณะที่บางคนชื่นชมความมุ่งมั่นของ นาคานิจิ แต่ความจริงที่ซ่อนอยู่ในความจริงคือ "เราโกหกคุณ"

การหลอกทั้งโลกครั้งนี้สร้างตำนานให้ ลอนดอน มาราธอน ตั้งแต่ครั้งแรกที่จัดแข่ง และถูกสานต่อจนกลายเป็นสนามมาราธอนระดับเวิลด์คลาส ที่นักวิ่งทั่วโลกต่างอยากจะมาแข่งขันสักครั้งในชีวิต ยิ่งในทุกวันนี้ความสำคัญของรายการนี้ก็มากขึ้น เพราะการแข่งขันในปีที่ผ่านมา เจ้าชายวิลเลี่ยมส์และเจ้าหญิงเคท ดยุคและดัชเชสแห่งเคมบริดจ์ ก็ทรงมาเปิดการแข่งขันนี้ด้วย

จะด้วยอะไรก็ตามแต่การโกหกมีอยู่หลายแบบ แม้ เดลี่ เมล์ จะทำให้หลายคนเจ็บใจที่ตามอ่านมาจนถึงตรงนี้ แต่ก็ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าพวกเขาเข้าใจเลือกเรื่องราวชึ้นมาชี้นำได้อย่างร้ายกาจมาก และถ้าหากคุณจะโกรธ ก็ขอให้ไปโกรธ เดลี่ เมล์ … เพราะงานนี้ Main Stand ไม่เกี่ยว เราแค่หยิบเรื่องราวในอดีตมาเล่าก็เท่านั้น (ฮ่าๆ)

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook