"อิจิโร ซูซูกิ" : ความจริงอันแสนทรมานของนักเบสบอลประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

"อิจิโร ซูซูกิ" : ความจริงอันแสนทรมานของนักเบสบอลประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

"อิจิโร ซูซูกิ" : ความจริงอันแสนทรมานของนักเบสบอลประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อความหวังดีของพ่อที่สร้างอิจิโรกลายเป็นยอดผู้เล่น กลายเป็นหนามทิ่มแทงใจเขามาโดยตลอด

 

21 มีนาคม 2019 การแข่งขันเบสบอล MLB ระหว่าง ซีแอตเทิล มาริเนอร์ส และ โอคแลนด์ แอธเลติกส์ ในอินนิ่งที่ 8 ขณะที่ทั้งสองทีมยังเสมอกันอยู่ 4-4 อิจิโร ซูซูกิ ตำนานที่ยังมีลมหายใจของเบสบอลญี่ปุ่น ได้โบกมืออำลาแฟนในสนามโตเกียวโดม ที่เข้ามาชมกันอย่างแน่นขนัด นี่คือฉากท้ายๆ ในชีวิตนักเบสบอลของเขา

เอาท์ฟิลด์เตอร์วัย 45 ปีได้สวมกอดกับเพื่อนร่วมทีมและโค้ชทีละคน ยูเซ คิคุจิ พิชเชอร์ชาวญี่ปุ่นถึงกับกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่ เขาเดินออกไปทางด้านขวาของสนาม  ท่ามกลางเสียงปรบมือที่ดังกึกก้องและเสียงโห่ร้อง

 1

“ผมได้อะไรมากมายจากความฝันในเบสบอล ทั้งในญี่ปุ่น และในเมเจอร์ลีก” อิจิโรกล่าว

“ผมรู้สึกเป็นเกียรติ ที่ได้ยุติชีวิตอาชีพในลีกใหญ่ (MLB) ในที่ที่ผมเริ่มเล่น ที่ซีแอตเทิล และพอดีที่เกมสุดท้ายในฐานะอาชีพผมได้เล่นที่ญี่ปุ่นบ้านเกิดของผม”

การแข่งขันยังไม่จบ แต่สำหรับอิจิโร เส้นทางของเขาต้องหยุดไว้เพียงเท่านี้

นักเบสบอลที่เก่งที่สุดในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น

ในญี่ปุ่นไม่มีใครไม่รู้จักอิจิโร เขาปรากฏอยู่ในทุกพื้นที่สาธารณะ ทั้งหน้าหนังสือพิมพ์ นิตยสาร หนังสือ บิลบอร์ดโฆษณา หรือแม้กระทั่งในวิดีโอเกม ชายร่างเพรียวพร้อมแว่นตาดำกลายเป็นภาพจำของชาวญี่ปุ่นมานานหลายปี

 2

อิจิโรคือนักเบสบอลที่มีอิทธิพลมากที่สุดในยุคเฮย์เซย์ (ตั้งแต่ปี 1989-2019) เขาเริ่มต้นอาชีพกับ ออริกซ์ บลูเวฟ และสามารถช่วยทีมคว้าแชมป์โซนแปซิฟิคได้ถึง 2 ครั้ง รวมไปถึงเจแปนซีรีส์อีก 1 สมัย พร้อมคว้ารางวัลผู้เล่นยอดเยี่ยมแปซิฟิคลีก 3 สมัย ถุงมือทองคำ 7 สมัย รวมถึงติดทีมยอดเยี่ยม 7 สมัย

แม้จะย้ายมาเล่นในลีกใหญ่อย่าง เมเจอร์ลีกเบสบอล (MLB) ของสหรัฐอเมริกา ในปี 2001 แต่ก็ไม่สามารถต้านทานความยอดเยี่ยมของเขาได้ เพราะในปีแรกในสีเสื้อของ ซีแอตเทิล มาริเนอร์ส อิจิโร ก็สามารถประกาศศักดาคว้ามาได้ทั้งรางวัลผู้เล่นหน้าใหม่ยอดเยี่ยม และผู้เล่นยอดเยี่ยม (MVP) ซึ่งมีเพียง 2 คนในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำได้

 3

ตลอดช่วงเวลา 19 ปีในแดนลุงแซม อิจิโรได้กวาดรางวัลมาประดับตู้โชว์อย่างมากมาย ทั้งรางวัลถุงมือทองคำ 10 ฤดูกาลติดต่อกัน และ ติดทีมออลสตาร์ 10 ปีติดต่อกัน เขายังสามารถตีได้ถึง 3,000 ฮิตได้สำเร็จเมื่อปี 2016 ซึ่งเป็นสถิติที่หาได้ยากใน MLB มีเพียงแค่ 32 คนในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำได้ จนถูกตั้งฉายาจากสื่อว่าเรียกว่า “เครื่องจักรตีลูก” (Hitting Machine)

“ไม่ว่าสนามไหน เวลาไหน สถานที่ใด หรือสถานการณ์ใด ถ้าคุณขว้างมาอิจิโรจะตีมัน”  เลห์ มอนท์วิลล์ ของ Sports Illustrated กล่าว

เขายังเป็นเจ้าของสถิติอันดับ 1 ตีและขโมยเบสเฉลี่ยได้ดีที่สุดในประวัติศาสตร์มาริเนอร์ส รวมแล้วในชีวิตเขาตีได้ไปทั้งสิ้น 4,367 ครั้งโดยเป็นการตีได้ในญี่ปุ่น 1,278 และอเมริกา 3,089 ครั้ง และเป็น 1 ใน 7 ในประวัติศาสตร์ MLB ที่ตีได้อย่างน้อย 3,000 ครั้งและขโมยเบส 500 ครั้ง และร่วมคว้าแชมป์เวิลด์ซีรีส์ในนามทีมชาติญี่ปุ่นได้อีก 2 สมัย

 4

ผลงานของเขา ถึงกับทำให้นายกรัฐมนตรีของญี่ปุ่นกล่าวว่า “อิจิโร ทำให้ผมภาคภูมิใจในการเป็นคนญี่ปุ่น”

ความยอดเยี่ยมของเขาทำให้หนังสือพิมพ์และสถานีโทรทัศน์เกาะติดความเคลื่อนไหวของเขาตลอดที่เล่นอยู่ในต่างประเทศ เกมของมาริเนอร์ส จะถูกนำมาแพร่ภาพวันละ 2 ครั้ง ซึ่งสามารถดึงดูดผู้ชมได้มากกว่าเกมของทีมใหญ่อย่าง โยมิอุริ ไจแอนส์ เสียอีก

“เขาไม่ได้เป็นแค่นักเบสบอล (ในญี่ปุ่น) เขาเป็นเหมือนมาดอนนาและไมเคิล แจ็คสัน นักกีฬาที่ได้รับความนิยมคือชายคนนี้ เขายังคงยิ่งใหญ่ที่นี่ และอายุ 45 ปีแล้ว” ชิเงโตชิ ฮาเซงาวา อดีตเพื่อนร่วมทีมของเขากล่าว

และกุญแจสำคัญที่ทำให้อิจิโร เก่งกาจได้ถึงทุกวันนี้ก็คือความมีระเบียบวินัยที่ใครยากจะเลียนแบบ

ยึดมั่นในระเบียบและแบบแผน

อิจิโร รักในเบสบอล เขาอยู่กับมันมาตั้งแต่ 3 ขวบ และฝึกฝนตัวเองมาตลอดทุกวันโดยไม่มีวันหยุด แม้กระทั่งในช่วงปิดฤดูกาล และเดินทางกลับมาที่ญี่ปุ่น เขายังเช่าสนามและซ้อมตามเมนูฝึกราวกับเป็นกิจวัตรประจำวัน

 5

เขามักจะเริ่มต้นด้วยการวิ่ง 40 รอบสนาม ขว้างบอล 50 ครั้ง และต้อง 50 ครั้งพอดิบพอดี เขาทำแบบนี้เป็นประจำนอกจากอากาศจะหนาวเกินไปจนขยับร่างกายไม่ได้

ครั้งหนึ่งในช่วงปิดฤดูกาลเมื่อปี 2017 ดี กอร์ดอน อินฟิลเดอร์ของ ไมอามี มาร์ลินส์ เข้ามาที่สนามซ้อมเพื่อหาอะไรบางอย่าง เขาได้ยินเสียงไม้กระทบกับอะไรบางอย่างที่คอกซ้อมตี เขาจึงเดินเข้าไปดูก่อนจะเห็นอิจิโรกำลังซ้อมหวดไม้

“ผมหวังให้เขาเล่นต่อไป” กอร์ดอนหัวเราะก่อนกล่าวต่อ “เพราะว่าผมไม่อยากให้เขาตาย ผมเชื่อว่าเขาน่าจะตายหากไม่ได้เล่นต่อ อิจิโรจะทำอะไรถ้าไม่ได้เล่นเบสบอล”

อิจิโร เป็นคนที่มีแบบแผนในการดำเนินชีวิต เขาซ้อมหวดไม้ทุกคืนวันละ 10 นาทีก่อนนอน หรือตื่นขึ้นมาตอนตีหนึ่งเพื่อซ้อมหวดไม้คนเดียวถึงตีสี่ ราวกับว่าเขามอบทุกอย่างในชีวิตให้กับเบสบอลไปแล้ว

ไมค์ สวีนนีย์ เพื่อนสนิทของอิจิโรที่ซีแอตเทิลเล่าว่า วันหนึ่งในช่วงปิดฤดูกาล เขากับภรรยาไปเดินเล่นที่เซ็นทรัลพาร์ค นิวยอร์ค ไกลออกไปที่ลานทรายมีแบ็คดร็อปเก่าๆ ตั้งอยู่  เขาเห็นชายคนหนึ่งกำลังซ้อมขว้างลูกระยะ 300 ฟุต ชายคนนั้นขว้างได้รุนแรงและรวดเร็วจนเขาประทับใจ จึงตัดสินใจเดินไปดูใกล้ๆ ก่อนจะพบว่าชายคนนั้นคือ อิจิโร

เขาจริงจังในการเล่นเบสบอลมาก เขาเกลียดการไม่ได้ลงเล่น แต่สิ่งที่เขาไม่ชอบที่สุดคือการลงไปแล้วเล่นไม่ดี ในช่วงที่เขาฟอร์มตก ยูมิโกะ ภรรยาของเขาเล่าว่าเขามักจะตื่นมาร้องไห้กลางดึกเป็นประจำ  

อิจิโร เอาใจใส่และดูแลอุปกรณ์การเล่นของเขาเป็นอย่างดี  อิจิโรมีกล่องที่ทำจากวัสดุที่แข็งแรง เอาไว้เก็บไม้เบสบอลเพื่อรักษาความชื้น และใช้ลูกกลิ้งทำความสะอาดตู้ล็อคเกอร์ของตัวเองเป็นประจำ เขายังทำความสะอาดและขัดถุงมือเขาอยู่เสมอ และพกผ้าเช็ดหน้าลงไปที่ม้านั่งข้างสนามเพื่อเช็ดรองเท้าก่อนลงเล่น

 6

ในสมัยที่อิจิโรเล่นในกับนิวยอร์ค แยงกี้ส์ ผู้จัดการคลับเฮาส์เล่าว่า ราวปี 2012 อิจิโรเข้ามาคุยกับเขาอย่างจริงจัง และบอกว่ารู้สึกว่าใครสักคนมาทำอะไรกับล็อคเกอร์เก็บของของเขา ผู้จัดการกังวลมาก กลัวสิ่งมีอย่างนาฬิกาหรือเครื่องประดับจะหายไปจึงเข้าไปเช็ค อิจิโรชี้ไปที่ไม้เบสบอลของเขา และบอกว่ามันถูกขยับ ผู้จัดการถอนหายใจและบอกว่ามันน่าจะโดนขยับตอนที่เอาชุดแข่งที่ซักแล้วมาเปลี่ยนให้ แต่อิจิโรกลับบอกว่า “มันไม่ควรจะเกิดขึ้น” เขากล่าวด้วยรอยยิ้มแต่ดูจริงจัง

นับตั้งแต่วันนั้น เจ้าหน้าที่ของแยงกี้ส์ ไม่ได้ยุ่งกับล็อคเกอร์เก็บของของอิจิโรอีกเลย พวกเขาจะรอจนกว่าอิจิโรมาถึงและมอบสิ่งที่เขาต้องการให้กับมือ  

การเป็นคนมีแบบแผนเดิมๆ ยังส่งผลต่อชีวิตประจำวัน เขาเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อญี่ปุ่นว่าเขามักจะฟังเพลงเดิมซ้ำๆ เป็นเดือนๆ และกินแกงกะหรี่จากภรรยาก่อนแข่งอยู่เป็นปีๆ

 7

สื่อญี่ปุ่นที่เคยตามติดชีวิตของเขาเล่าว่า อิจิโรจะกินอุด้ง และขนมปังโทสต์ โดยแผ่นแรกจะใช้เวลาปิ้ง 2 นาทีครึ่ง แผ่นที่สองใช้เวลาปิ้ง 1 นาทีครึ่ง ซึ่งเขาได้คำนวนความร้อนที่หลงเหลือยู่ในขนมปังไว้แล้ว

เขาชื่นชอบซอสโจจอน ที่เอาไว้กินกับเนื้อ ครั้งหนึ่งภรรยาของเขาเอาซอสโจจอนที่เหลืออยู่มาผสมกับซอสซันโคเอน ที่แทบจะไม่ต่างกัน แต่อิจิโร ก็รู้ได้ทันที

สิ่งเหล่านี้สร้างให้อิจิโร กลายเป็นยอดนักเบสบอลของยุค ในสมัยพีคๆ การขว้างของเขาไม่มีที่ติและสมบูรณ์แบบ เช่นเดียวกับการตีของเขาที่ทำให้พิชเชอร์ใน MLB ต้องผวามานานหลายปี

และอิจิโรคงเป็นอิจิโรอย่างวันนี้ไม่ได้ หากไม่ได้ โนบุยูกิ พ่อของเขา

ผลผลิตจากชายที่เรียกว่า “พ่อ”

อิจิโร รู้จักเบสบอลตอนอายุ 3 ขวบจาก “โนบุยูกิ ซูซูกิ” พ่อของเขา โนบุยูกิ ใช้เงินเดือนสองเดือนซื้อถุงมือคู่แรกให้อิจิโร มันทำด้วยหนังสีมันวาว พ่อได้สอนลูกชายให้ทำความสะอาดและขัดถุงมือคู่นี้เป็นอย่างดี

“มันไม่ใช่ของเล่น มันคือเครื่องมือ” พ่อของอิจิโรกล่าว

 8

ทั้งคู่มักจะใช้เวลาร่วมกันด้วยการเล่นในสวนหลังบ้านเป็นประจำ โนบุยูกิ สอนให้ลูกชายหัดตีมือซ้าย เพื่อให้มีความสามารถที่หลากหลาย ทุกอย่างยังดูสนุกจนกระทั่งอิจิโรขึ้นชั้นประถม ที่ทำให้เขาต้องฝึกซ้อมเบสบอล 4 ชั่วโมงโดยไม่มีวันหยุด  

โนบุยูกิ สร้างอิจิโรขึ้นมาด้วยความเข้มงวด เขาเกิดในปี 1942 ซึ่งเป็นช่วงที่ญี่ปุ่นกำลังอยู่ในภาวะสงคราม และเติบโตขึ้นมาในสภาพที่บ้านเมืองพังพินาศด้วยระเบิด ผู้คนหิวโหย เกิดความขาดแคลน และรู้สึกอับอายจากความพ่ายแพ้สงคราม

การซ้อมของโนบุยูกิจึงเป็นไปด้วยความจริงจัง เขาคิดค้นเมนูฝึกให้อิจิโร ทุกวันพวกเขาจะไปซ้อมกันที่สวนสาธารณะใกล้บ้าน เริ่มต้นด้วยซ้อมขว้าง 50 ครั้ง ซ้อมตี 200 ครั้ง และซ้อมรับลูกตี 50 ครั้ง หลังจากนั้นตอนกลางคืน พวกเขาจะไปซ้อมตีลูกที่สนามตีลูกใกล้สนามบินนาโงยา เพื่อหวดลูก 250-300 ครั้งจากเครื่องยิงเบสบอล พวกเขาทำแบบนี้อยู่ 365 วันใน 1 ปี

“เบสบอลคือความสนุกของพวกเราสองคน” โนบุยูกิ กล่าว

 9

พ่อของอิจิโร พยายามเคี่ยวเข็ญอิจิโรอย่างหนัก ตอนอิจิโรขึ้นมัธยมปลาย เขาได้ไปเรียนที่โรงเรียนมัธยมเมเด็ง โนบุยูกิถึงขั้นไปกำชับกับโค้ชว่าห้ามชมอิจิโรเด็ดขาด ไม่ว่าลูกชายของเขาจะเล่นได้ดีแค่ไหน

“ไม่ว่าอิจิโรจะทำดีแค่ไหน ก็อย่าชมเขา เราต้องทำให้เขาแข็งแกร่งในระดับจิตวิญญาณ”

สิ่งนี้ได้ทำให้อิจิโร แข็งแกร่งอย่างไม่มีใครทัดเทียมได้ ในวันที่อิจิโรประสบความสำเร็จที่ญี่ปุ่น โนบุยูกิ ภูมิใจมากกับสิ่งที่เขาทุ่มเทให้กับลูกชายของเขาถึง ขนาดสร้างพิพิธภัณฑ์อิจิโรไว้ข้างบ้าน ภายในจัดแสดงสิ่งของของลูกชาย ตั้งแต่ของเล่นสตาร์วอร์สไปจนถึงถุงมือคู่แรก โดยเก็บค่าเข้าราว 350 บาท เขาเชื่อว่าลูกชายจะดังจึงสั่งให้ภรรยาเก็บข้าวของส่วนตัวของลูกเอาไว้

แต่นั่นคือสิ่งเดียวที่เหลืออยู่ภายใต้สายสัมพันธ์ของสองพ่อลูก

“เขาก็แค่โกหก”

แน่นอนว่าสิ่งที่ โนบุยูกิ ทำให้อิจิโร มันคือความทุ่มเทที่มอบให้กับลูก ด้วยความหวังว่าจะทำให้ลูกได้ดี และประสบความสำเร็จ เขาจึงฝึกอิจิโรด้วยความเข้มงวดมาโดยตลอด แม้ลึกๆ ในใจ อิจิโร จะเข้าใจจึงความปรารถนาดีที่พ่อมอบให้ แต่ในอีกมุมหนึ่งเขารู้สึกว่าพ่อทำกับเขามากเกินไป

 10

ตอนสมัยประถม เขาเคยเขียนเรียงความว่าในหนึ่งปี เขาได้เล่นกับเพื่อนๆ แค่ไม่กี่วัน ชีวิตนักเบสบอลของอิจิโร เริ่มต้นตั้งแต่เขาอยู่ป.3 และไม่เคยมีวันหยุดนับตั้งแต่วันนั้น  

“ผมเริ่มฝึกเบสบอลตั้งแต่อายุ 3 ขวบ และตั้งแต่ 3 ขวบจนถึง 7 ขวบ ผมเล่นเบสบอลเพียงครึ่งปีในแต่ละปีเท่านั้น แต่นับตั้งแต่ป.3 จนถึงทุกวันนี้ ผมฝึกเบสบอลอย่างหนักเป็นเวลา 360 วันในหนึ่งปี นั่นแปลว่า ผมจะมีเวลาเล่นกับเพื่อนได้เพียง 5-6 ชั่วโมงใน 1 อาทิตย์” ส่วนหนึ่งจากเรียงความของอิจิโร

อิจิโร ซูซูกิ มีชื่อเล่นในวงการว่า “อิจิโร” ซึ่งเป็นตัวตนการเป็นนักเบสบอลของเขา แต่เขามักจะพูดกับคนที่เชื่อใจว่า ในอดีตเขาเกลียดตัวตนนี้มาโดยตลอด

สมัยที่เล่นให้มาริเนอร์ส ฤดูกาลที่ 2 โรเบิร์ต ไวท์ติง นักเขียนชื่อดังที่รู้ลึกในวงการเบสบอลได้มีโอกาสไปสัมภาษณ์เขาถึงญี่ปุ่นตอนปิดฤดูกาล และถามเกี่ยวกับสิ่งที่พ่ออธิบายไว้ในหนังสือของโนบุยูกิเกี่ยวกับเรื่องราวการฝึกซ้อมอันสนุกสนานระหว่างสองพ่อลูก

เป็นครั้งแรกที่อิจิโร เปลี่ยนมาพูดภาษาอังกฤษ เขาพูดว่า “เขาก็แค่โกหก”

ทุกคนหัวเราะกับคำพูดของเขา แต่ไวท์ติงรู้ทันทีว่ามันไม่ใช่มุกตลก วันต่อมาผู้จัดการของอิจิโรได้เข้ามาขอร้องไวท์ติงไม่ให้เผยแพร่ข้อความดังกล่าว เนื่องจากการไม่เคารพพ่อถือเป็นสิ่งที่เสียมารยาทสำหรับชาวญี่ปุ่น นักเขียนชาวอเมริกันจึงเหลือไว้เพียงคำสัมภาษณ์ภาษาญี่ปุ่นที่อิจิโรบอกว่าพ่อของเขาก็แค่ทรมานเด็ก

“มันอาจจะสนุกสำหรับเขา แต่สำหรับผมมันเหมือนกับ Kyojin no Hoshi (การ์ตูนเบสบอลยอดนิยมที่เป็นเรื่องราวความยากลำบากของนักเบสบอลหนุ่มที่ประสบความสำเร็จจากการฝึกซ้อมอันเข้มงวดของพ่อของเขา) มันก็เป็นแค่การกลั่นแกล้งและผมก็เจ็บปวดจากมันมาก”

 11

ความสัมพันธ์ของพ่อลูกดำเนินมาจนถึงปี 2002 ก็ถึงคราวแตกหักจากปัญหาภาษี เดิมอิจิโร ปล่อยให้พ่อเขาเป็นผู้ดูแลเรื่องเงินและภาษีให้เขา แต่โนบุยูกิ กลับยื่นรายรับของอิจิโร ต่ำกว่าความเป็นจริง คดีอื้อฉาวนี้ทำให้อิจิโรต้องอับอายและสูญเงินไปราว 168,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 5 ล้านบาท) ที่ทำให้ โนบุยูกิและอิจิโรต้องกลายเป็นเส้นขนาน

ที่จริงแล้ว อิจิโรมักจะให้ความสำคัญกับอดีตของเขาอยู่เสมอ เขาสนิทกับ บั๊ค โอนีล อดีตดาวดังของนิโกรลีก (ลีกเบสบอลในอดีตของสหรัฐอเมริกาที่มีผู้เล่นเชื้อสายแอฟริกันเป็นหลัก) ตอนเล่นให้มาริเนอร์ส เวลาที่ทีมไปแข่งที่เมืองแคนซัส เขามักจะปลีกตัวไปพิพิธภัณฑ์นิโกรลีกเสมอโดยไม่ได้บอกใคร ตอนที่บั๊คเสียชีวิต เขาส่งดอกไม้ไปที่งานศพ และเซ็นเช็คส่วนตัวมอบให้พิพิธภัณฑ์

 12

อิจิโร มักจะไปเยี่ยมหลุมศพของคนที่เขาทำลายสถิติ เขาไปเยี่ยมหลุมศพของ จอร์จ ซิสเลอร์ ที่ตั้งอยู่ชานเมืองของเซนต์ หลุยส์ และ วิลลี คีเลอร์ ที่ควีนส์ ส่วนที่ญี่ปุ่น เขามักไปเยี่ยมหลุมศพแมวมองของคนที่ค้นพบเขา

ตอนที่ก่อตั้งบริษัท ที่อยู่สำรองของเขาคือหอพักของออริกซ์ ที่ตอนนี้ถูกทุบไปแล้ว เขาพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์ในอดีตไว้ เว้นแค่เพียงพ่อของเขาเอง

ตัวตนที่ลบเลือน (ไม่ได้)

ความขัดแย้งเรื่องภาษี ทำให้อิจิโร ตัดสินใจแยกทางกับพ่อของเขา คนที่เคยสอนเบสบอลให้เขาตั้งแต่อายุ 3 ขวบ ทุ่มเทเวลาให้โดยไม่เหน็ดเหนื่อย และปลุกปั้นเขาขึ้นมาจนกลายเป็นอิจิโรอย่างทุกวันนี้  

 13

ทุกครั้งที่ อิจิโร เดินทางกลับญี่ปุ่นเพื่อพักผ่อนในช่วงปิดฤดูกาล หรือเข้าร่วมอีเวนท์ที่จัดโดยสปอนเซอร์ เขาจะเดินทางไปเยี่ยมโยชิเอะ แม่ของเขาที่ไอจิ อยู่เสมอ แต่สำหรับพ่อ มันไม่เคยเกิดขึ้นอีกเลยนับตั้งแต่ความบาดหมางในตอนนั้น

แต่ถึงอย่างนั้น โนบุยูกิ ก็ยืนยันว่าเขาไม่เคยเสียใจในสิ่งที่เขาทำ และหากย้อนเวลากลับไปได้เขาก็จะทำแบบเดิมอีก

“มันเป็นทางเดียวที่จะประสบความสำเร็จ ที่ทรมานและต้องอดทน” พ่อของอิจิโรกล่าว

อย่างไรก็ดี แม้ว่าอิจิโร จะเกลียดสิ่งที่พ่อเขาทำต่อตัวเขามากแค่ไหน และตัดขาดความสัมพันธ์อย่างไร แต่สุดท้ายเขาก็ไม่สามารถละทิ้งตัวตนที่พ่อเขาสร้างขึ้นมาได้ ทุกวันนี้เขายังคงดูแลและขัดถุงมือเป็นอย่างดีเหมือนที่พ่อเคยสอนไว้ และฝึกฝนอย่างหนักจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ไม่ต่างไปจากอดีตที่เคยทำกับพ่อ

 14

ตัวตนของ “อิจิโร” ที่เขาไม่ชอบอาจจะเป็นสิ่งที่พ่อเขาสร้างขึ้นมาก็จริง แต่มันยังคงไหลเวียนอยู่ในตัวเขา ตราบจนถึงวินาทีสุดท้าย

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ

อัลบั้มภาพ 14 ภาพ ของ "อิจิโร ซูซูกิ" : ความจริงอันแสนทรมานของนักเบสบอลประวัติศาสตร์ของญี่ปุ่น

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook