ฤทธิ์ริษยา : "ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง" กับการกระทำทุกวิถีทางอันแสนสกปรกเพื่อชัยชนะ

ฤทธิ์ริษยา : "ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง" กับการกระทำทุกวิถีทางอันแสนสกปรกเพื่อชัยชนะ

ฤทธิ์ริษยา : "ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง" กับการกระทำทุกวิถีทางอันแสนสกปรกเพื่อชัยชนะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เพื่อชัยชนะ คุณยอมทำได้มากแค่ไหน?

นี่คือหนึ่งในคำถามสุดคลาสสิกไม่ว่าจะกับเรื่องไหน การเรียน, การทำงาน, การเลือกตั้ง หรือแม้กระทั่ง การแข่งขันกีฬา ซึ่งแน่นอน ไม่มีใครอยากเป็นผู้แพ้ แม้เป้าหมายอาจต่างกัน ทุกคนต่างต้องการเป็นผู้ชนะทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าเป้าหมายนั้นคืออะไร จะชนะตัวเอง, ชนะเพื่อนที่ลงสนามเดียวกัน หรือแม้แต่กระทั่ง ชนะทุกๆ คนเพื่อนำเกียรติยศนี้มาสวมไว้บนศีรษะ

 

และเพื่อให้ไปถึงเป้าหมายนั้น แต่ละคนก็พร้อมทำได้ทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการซุ่มซ้อมอย่างหนัก, ศึกษาคู่แข่ง ทว่าสำหรับบางคน ความลุ่มหลงในชัยชนะอาจชักนำไปสู่ด้านมืด ทั้งการใช้สารกระตุ้น หรือดำดิ่งลึกสู่เส้นทางอาชญากรรม

ซึ่งเรื่องราวของ ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง อดีตดาวโรจน์สาวแห่งวงการฟิกเกอร์สเก็ต ก็ถือเป็นอีกหนึ่งที่เข้าข่ายดังกล่าวอย่างน่าเศร้า…

คู่แข่งแย่งมงกุฎ

ย้อนกลับไปในปี 1991 ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง ได้สร้างชื่อเสียงสนั่นวงการฟิกเกอร์สเก็ต เมื่อเธอคือผู้หญิงอเมริกันคนแรกในประวัติศาสตร์ที่สามารถทำท่า Triple Axel (กระโดดหมุนตัวกลางอากาศ 3 รอบ) ซึ่งเป็นท่าที่นักฟิกเกอร์สเก็ตหญิงน้อยคนนักจะทำได้ โดยทั่วทั้งโลก ณ ปัจจุบัน มีสตรีเพียง 9 คนเท่านั้นที่สามารถทำท่าดังกล่าวได้ในการแข่งขันจริง

 

การทำท่าที่น้อยคนนักจะสามารถทำได้สำเร็จ คือหนึ่งในเหตุผลสำคัญที่ทำให้ทอนย่าคว้าเหรียญทองในการแข่งขันฟิกเกอร์สเก็ตหญิงชิงแชมป์สหรัฐอเมริกาปีดังกล่าว ก่อนสามารถทำท่าดังกล่าวได้อีกครั้งในศึกชิงแชมป์โลกปีเดียวกัน แม้รายการดังกล่าวเธอจะได้เพียงเหรียญเงินก็ตาม

ทว่าปี 1991 กลับเป็นปีสุดท้ายที่ทอนย่าสร้างผลงานลือลั่นสนั่นวงการ เมื่อเธอประสบกับปัญหาฟอร์มตกในปีถัดๆ มา และในช่วงเวลาเดียวกันนั้นเอง แนนซี่ เคอร์ริแกน คู่แข่งร่วมชาติที่เธอเคยเอาชนะมาได้ กลับพัฒนาฝีมือจนก้าวขึ้นมาทาบรัศมี แถมยังแซงขึ้นหน้าเลยด้วยซ้ำ

 1

เพราะจากปี 1991 ที่คว้าอันดับ 3 ทั้งในศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ และโอลิมปิก แนนซี่สามารถเอาชนะทอนย่าได้แทบทุกหลังจากนั้น ปี 1992 คว้าเหรียญเงินศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ (ทอนย่าได้เหรียญทองแดง) ก่อนคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิกฤดูหนาวที่อัลแบร์วิลล์ ประเทศฝรั่งเศส (ทอนย่าได้เพียงอันดับ 4) ส่วนปี 1993 แนนซี่สามารถคว้าเหรียญทองศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นปีเดียวกับที่ฟอร์มของทอนย่ารูดกราว เข้าป้ายเพียงอันดับ 4 ในการแข่งขันคราวนั้น ก่อนหลุดทีมชุดสู้ศึกชิงแชมป์โลกในปีเดียวกัน

อันที่จริง ด้วยฝีมือและความเป็นคู่แข่งที่มีต่อกัน ทีมฟิกเกอร์สเก็ตของสหรัฐอเมริกาควรจะเป็นฝ่ายที่ได้ประโยชน์มากที่สุด เพราะด้วยการที่กีฬานี้ตัดสินด้วยคะแนนใครจะทำได้ดีกว่ากัน แถมทั้งสองคนยังลงแข่งในประเภทเดี่ยว เท่ากับว่าสหรัฐฯ มีนักกีฬาระดับท็อปถึง 2 คนที่พร้อมลงล่าเหรียญทองให้กับบ้านเกิด ทว่าการเป็นคู่แข่งของทั้งคู่กลับไปไกลกว่าแค่เรื่องในสนาม

 2

แม้ทอนย่าจะเป็นผู้หญิงคนแรกในสหรัฐอเมริกาที่สามารถใส่ท่า Triple Axel ซึ่งแนนซี่ไม่สามารถเลียนแบบตามได้ แต่ความสำเร็จในการแข่งขัน กลับทำให้แนนซี่เป็นดาวเด่นยิ่งกว่า หลายแบรนด์ดังต่างพร้อมใจกันเข้ามาเป็นผู้สนับสนุนให้ ไม่ว่าจะเป็น ซุป แคมป์เบลล์, นาฬิกา ไซโก้, เครื่องสำอาง เรฟลอน รวมถึงอุปกรณ์กีฬา รีบอค ทำให้ภาพลักษณ์ของแนนซี่บนหน้าสื่อไม่ต่างอะไรจาก America’s Sweetheart หรือสาวน้อยผู้เป็นที่รักของชาวอเมริกัน

สิ่งที่ทอนย่าเองก็หวัง แต่ยังไม่มีวี่แววว่าจะใกล้ความเป็นจริง...

เปรี้ยงเปลี่ยนชีวิต

ปฏิทินเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปี 1994 ซึ่งเป็นอีกปีสำคัญของเหล่านักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ต เพราะศึกใหญ่ที่สุดสำหรับพวกเขาอย่าง กีฬาโอลิมปิกฤดูหนาว เวียนมาบรรจบอีกครั้งที่เมืองลีลล์แฮมเมอร์ ประเทศนอร์เวย์ในเดือนกุมภาพันธ์

 3

ทว่าก่อนที่จะถึงตรงนั้น นักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตของสหรัฐอเมริกามีศึกใหญ่ไม่แพ้กันรออยู่ตรงหน้า นั่นคือศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ เปิดศักราชใหม่ในเดือนมกราคม ซึ่งทุกท่าที่ใช้ ทุกคะแนนที่ได้ ส่งผลสำคัญอย่างยิ่งว่าจะได้ไปแข่งโอลิมปิกหรือไม่ แน่นอน ด้วยความเป็นปฏิปักษ์ที่มีมาอย่างยาวนาน หลายคนจึงเชื่อว่าการต่อสู้ระหว่างทอนย่าและแนนซี่คงเป็นไปอย่างดุเดือด

กระทั่งเหตุการณ์ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับหนึ่งในสองคู่ปรับก่อนหน้าวันแข่งขันเพียงวันเดียวเท่านั้น …

6 มกราคม 1994 วันสุกดิบก่อนถึงศึกชิงแชมป์ ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง และ แนนซี่ เคอร์ริแกน ลงไปวาดลวดลายบนพื้นน้ำแข็งในการซ้อมตามปกติ แต่สิ่งที่ไม่ปกติก็ได้เกิดขึ้นหลังการซ้อมจบลง

 4

ระหว่างที่แนนซี่กำลังเดินนออกจากลานสเก็ตเข้าห้องแต่งตัว จู่ๆ ก็มีชายฉกรรจ์ลึกลับโผล่มา แล้วใช้ไม้กระบองตำรวจสีดำอันใหญ่หวดเข้าให้ที่เหนือเข่าขวา ข้างที่ใช้เป็นหลักในการทรงตัวหลังวาดลวดลายบนอากาศอย่างรุนแรง … แนนซี่ทรุดลงกับพื้น กุมเข่าร้องครวญครางพร้อมน้ำตานองหน้า "ทำไม ทำไมต้องเป็นฉัน ทำไม"

สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น กล้องถ่ายทอดสดได้เก็บภาพทั้งก่อนเกิดเรื่องและช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดไว้อย่างครบถ้วน จะขาดก็เพียงภาพในจังหวะที่เกิดการทำร้ายร่างกายขึ้นก็เท่านั้น

 

เริ่มสืบคดี และกรรมทันควัน

ความเจ็บปวดแสนสาหัสที่ได้รับทางร่างกายไม่ได้เป็นเพียงอย่างเดียวที่ทำให้แนนซี่ต้องร่ำไห้ เพราะสิ่งที่เธอได้รับกับอาการบาดเจ็บที่อาจร้ายแรงถึงขั้นขาหัก นอกจากจะทำให้เธอพลาดโอกาสลงป้องกันแชมป์แล้ว ยังอาจส่งผลให้ต้องพลาดโอกาสลงแข่งโอลิมปิก รายการสุดยอดปรารถนาของนักกีฬาทั่วโลก ทั้งๆ ที่ฟอร์มตลอดหลายปีที่ผ่านมาชี้ชัดแล้วว่า โอลิมปิกหนนี้มีลุ้นถึงเหรียญทอง

 5

ด้วยมูลเหตุดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจจึงได้ให้น้ำหนักกับ ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง ที่สามารถคว้าเหรียญทองในศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ ในวันต่อมาแบบไร้คู่แข่งมากเป็นพิเศษ ซึ่งรูปคดีก็ดูจะสาวถึงตัวได้ เพราะไม่กี่วันหลังจากนั้น เชน สแตนท์ ผู้ก่อเหตุ ตัดสินใจเข้ามอบตัว พร้อมให้การซัดทอดว่า เจฟฟ์ กิลลูลี่ อดีตสามีของทอนย่า และ ชอน เอ็คการ์ท บอดี้การ์ดของเธอ คือผู้จ้างวานให้เขากับ เดอร์ริก สมิธ อาของเชนร่วมก่อเหตุดังกล่าว นำไปสู่การจับกุมและเข้ามอบตัวของทุกคนในเวลาต่อมา

สำหรับทอนย่า เธอเลือกที่จะให้ความร่วมมือ เข้าให้การกับตำรวจตามหมายเรียกที่ได้รับ ซึ่งในช่วงเวลาดังกล่าว เธอยืนกรานหัวชนฝาว่า ไม่มีส่วนรู้เห็นกับทุกเรื่องที่เกิดขึ้น แถมยังให้การปกป้องสามีเก่าอีกด้วย

"ถึงฉันจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง แต่โดยรวมแล้วก็ยังคิดว่า ฉันเป็นคนดีอยู่นะ"

 6

ตัดภาพกลับมาที่แนนซี่ แม้การทำร้ายร่างกายครั้งดังกล่าวจะทำให้เธอพลาดโอกาสป้องกันแชมป์สหรัฐฯ แต่โลกก็ยังไม่โหดร้ายกับเธอจนเกินไป เมื่อผลเอ็กซเรย์จากแพทย์ยืนยันว่า ไม่มีกระดูกส่วนใดของขาที่แตกหัก มีเพียงรอยฟกช้ำขนาดใหญ่ตลอดจนอาการบวมอย่างรุนแรงเท่านั้น

และด้วยวิทยาการทางการแพทย์กับทีมหมอที่ช่วยกันรักษา ที่สุดแล้ว แนนซี่ เคอร์ริแกน สามารถฟื้นตัวกลับมามีชื่อติดทีมฟิกเกอร์สเก็ตของสหรัฐอเมริกาในโอลิมปิกฤดูหนาวปี 1994 ร่วมกับคู่ปรับอย่างทอนย่าได้แบบปาฏิหารย์

การกลับมาลงแข่งได้ถือว่าปาฏิหารย์แล้ว แต่ผลงานในสนามของแนนซี่ยิ่งถือว่าปาฏิหารย์กว่า เมื่อเธองัดฟอร์มเทพออกมาวาดลวดลาย แม้จะไม่สามารถเอาชนะ อ็อกซาน่า ไบอูล นักกีฬาจากยูเครนผู้คว้าเหรียญทองได้ แต่ก็สามารถคว้าเหรียญเงินมาครองได้สำเร็จ

 7

ขณะที่ทอนย่าซึ่งหมายมั่นปั้นมือว่าจะคว้าเหรียญทองที่รอคอยมาให้ได้ ถึงขั้นขู่ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากทางคณะกรรมการโอลิมปิกสหรัฐอเมริกาที่คิดถึงเรื่องการตัดชื่อออกจากทีม จนที่สุดแล้วก็ได้ไปแข่งที่นอร์เวย์นั้น กลับประสบปัญหาในเรื่องเชือกผูกรองเท้าระหว่างการเก็บคะแนนจนต้องขอเริ่มแข่งใหม่ ซึ่งส่งผลให้จังหวะต่างๆ เพี้ยนไปจากเดิม … ที่สุดแล้ว เธอเข้าป้ายเพียงอันดับ 8 เท่านั้น พร้อมกับเสียงซุบซิบจากผู้คนรอบข้างว่า "กรรมตามสนองทันควัน" เข้าแล้ว

ปิดคดี

ผลงานในสนามไม่สวยหรูอย่างที่หวัง กลับถึงสหรัฐอเมริกา เรื่องราวการสู้คดีก็ดูจะยิ่งแย่สำหรับทอนย่าเข้าไปใหญ่

 8

เพราะหลังจากสอบเครียด ที่สุดแล้ว เจฟฟ์ กิลลูลี่ อดีตสามีของทอนย่าที่เริ่มคบหากันตั้งแต่ปี 1986 ก่อนแต่งงานและหย่าร้างในปี 1993 แต่ยังมีสัมพันธ์อันดีต่อกัน ก็สารภาพอย่างสิ้นไส้ว่า เป็นผู้คิดแผนการทั้งหมดนี้เอง พร้อมกับซักทอดทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวพันกับคดีนี้ ซึ่งรวมถึงตัวทอนย่าเองด้วย

และเมื่อมีการคุ้ยหาหลักฐานจากกองขยะ ก็ได้เจอกับอีกหลักฐานสำคัญ นั่นคือ ตารางการฝึกซ้อมของนักกีฬาฟิกเกอร์สเก็ตที่ทอนย่ากับแนนซี่ต้องเข้าร่วมก่อนถึงศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ โดย เชน สแตนท์ สารภาพว่า อันที่จริงการลอบทำร้ายจะต้องเกิดขึ้นระหว่างการเข้าแคมป์ที่รัฐแมสซาชูเซตส์แล้ว แต่เนื่องจากหาตัวเหยื่อไม่เจอ เลยต้องเปลี่ยนมาลงมือที่สนามแข่งขันในเมืองดีทรอยต์แทน ซึ่งสิ่งที่น่าสนใจมากที่สุดก็คือ ผู้เชี่ยวชาญด้านลายมือวิเคราะห์แล้วเห็นว่า ตารางการซ้อมนั้นถูกเขียนด้วยตัวของทอนย่าเอง

ที่สุดแล้ว ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง ก็ต้องรับว่า เธอรับทราบแผนการร้ายของอดีตสามีจริง ถึงกระนั้น ก็ได้ให้การปฏิเสธ โดยระบุว่า ไม่ได้เป็นผู้สั่งการให้ลงมือทำแต่อย่างใด แถมยังบอกกับอดีตสามีด้วยว่า "ฉันเอาชนะด้วยฝีมือได้"

 9

ขณะเดียวกัน หลักฐานพยานต่างๆ ที่พบ ก็ไม่อาจชี้ชัดได้ 100% ว่าทอนย่ามีส่วนเกี่ยวข้องในการลอบทำร้าย ศาลจึงมีคำพิพากษาเมื่อเดือนมีนาคม 1994 ให้ปรับ 100,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ, ชำระค่าใช้จ่ายทางกฎหมาย 10,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ รวมถึงยินยอมบริจาคเงินให้กับองค์กร สเปเชี่ยล โอลิมปิก ของรัฐโอเรกอน 50,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ สรุปรวมต้องเสียเงินทั้งหมด 160,000 ดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ ยังถูกทำทัณฑ์บน 3 ปี, ทำงานรับใช้สังคม 500 ชั่วโมง และเข้ารับการทดสอบสภาพจิต ซึ่งนี่ถือเป็นบทลงโทษที่เบาที่สุดสำหรับทุกคนที่เกี่ยวข้องกับคดีนี้แล้ว เพราะคนอื่นๆ ถูกศาลสั่งจำคุกทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม การมีส่วนรู้เห็นกับแผนการดังกล่าวก็ทำให้เธอต้องพบกับบทลงโทษที่ร้ายแรงที่สุดบนเส้นทางนักกีฬา เดือนมิถุนายน 1994 สมาคมฟิกเกอร์สเก็ตสหรัฐอเมริกาตัดสินยึดเหรียญทองที่ได้รับในศึกชิงแชมป์สหรัฐฯ ปีดังกล่าว และแบนเธอ ห้ามยุ่งเกี่ยวกับวงการนี้อีกตลอดชีวิตไม่ว่าจะเป็นทั้งในฐานะนักกีฬาหรือผู้ฝึกสอนก็ตาม

"ด้วยหลักฐานพยานที่พบ คณะกรรมการทุกคนจึงมีข้อสรุปว่า ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง มีส่วนรู้เห็นและเกี่ยวข้องก่อนที่เหตุการณ์ดังกล่าวจะเกิดขึ้น ซึ่งเราพิจารณาเรื่องดังกล่าวจากหลักทางแพ่ง มิใช่อาญาแต่อย่างใด" วิลเลี่ยม ไฮเบิล ประธานของคณะกรรมการตัดสินเผยถึงเหตุผลที่นำมาซึ่งคำตัดสินดังกล่าว

หลังม่านควันจากคดีสุดอื้อฉาวนี้จบลง ทอนย่าที่ถูกแบนจากวงการฟิกเกอร์สเก็ตตลอดชีวิตตัดสินใจหาความท้าทายบนเส้นทางชกมวยสากลอาชีพสั้นๆ ก่อนมาลงเอยบนเส้นทางแห่งการเป็นเซเลบริตี้ ออกงานสังคมต่างๆ ถึงทุกวันนี้ ขณะที่แนนซี่ตัดสินใจเทิร์นโปรเป็นนักฟิกเกอร์สเก็ตอาชีพ ก่อนเข้าสู่วงการบันเทิงนับตั้งแต่แขวนรองเท้าจนกระทั่งปัจจุบัน

 10

เรื่องราวของความเป็นคู่ปรับที่นำมาซึ่งการทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะของ ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง ถูกนำมาถ่ายทอดเป็นภาพยนตร์ I, Tonya เมื่อปี 2017 โดยผ่านมุมมองของทอนย่าเป็นหลัก ทั้งสองคนยังคงความสัมพันธ์เย็นชาที่มีต่อกันจนถึงปัจจุบัน โดยแนนซี่เผยว่า เธอไม่คิดจะดูภาพยนตร์เรื่องดังกล่าวเลยด้วยซ้ำ แถมยังเผยด้วยว่า ตั้งแต่เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้น ก็ยังไม่เคยได้ยินคำขอโทษจากปากของอดีตคู่แข่งคนนี้เลยแม้แต่ครั้งเดียว

ถึงกระนั้น เรื่องราวที่นำไปสู่โศกนาฎกรรมบนเส้นทางนักฟิกเกอร์สเก็ตนี้ ก็ไม่ได้ติดค้างอยู่ในความคิดของ แนนซี่ เคอร์ริแกน อีกต่อไป เพราะเธอปล่อยวางเรื่องดังกล่าวไปตั้งนานแล้ว เหมือนอย่างที่เคยให้สัมภาษณ์กับ บ็อบ คอสตาส อดีตนักข่าวกีฬาของสถานีโทรทัศน์ NBC เมื่อปี 2014 ว่า

 11

"ไม่ว่าทอนย่าจะขอโทษฉันด้วยเรื่องใด ฉันก็เต็มใจรับคำขอโทษนั้น เพราะมันถึงเวลาแล้วที่ความบาดหมางนี้ต้องจบ เพื่อที่ทุกคนจะได้ก้าวต่อไปแล้วล่ะ"

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ

อัลบั้มภาพ 12 ภาพ ของ ฤทธิ์ริษยา : "ทอนย่า ฮาร์ดิ้ง" กับการกระทำทุกวิถีทางอันแสนสกปรกเพื่อชัยชนะ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook