"อิซาเบลิโน่ กราดิน" : แข้งผิวสีอุรุกวัยแรงบันดาลใจความเท่าเทียมในอเมริกาใต้

"อิซาเบลิโน่ กราดิน" : แข้งผิวสีอุรุกวัยแรงบันดาลใจความเท่าเทียมในอเมริกาใต้

"อิซาเบลิโน่ กราดิน" : แข้งผิวสีอุรุกวัยแรงบันดาลใจความเท่าเทียมในอเมริกาใต้
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ผลงานที่โดดเด่นในโคปา อเมริกา ได้ปลุกกระแสความเท่าเทียมกันในละตินอเมริกาในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จากปลายสตั๊ดของแข้งผิวสีผู้นี้

รอบเตียงคนไข้ในโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในกรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย ในวันที่ 17 ธันวาคม 1944 ถูกรายล้อมไปด้วยกลุ่มเด็กหนุ่มจากสโมสรเปนญารอล หลังทีมเพิ่งจะร่วมคว้าแชมป์ลีกอุรุกวัยสมัยที่ 15 มากที่สุดของประเทศ

พวกเขาเดินทางมาเยี่ยม อิซาเบลิโน กราดิน อดีตตำนานของสโมสร และทีมชาติอุรุกวัย และอุทิศชัยชนะครั้งนี้ให้แก่เขา สีหน้าของเขาวันนั้นสดใสกว่าที่เคย และดูมีชีวิตชีวามากขึ้น แม้ว่าร่างกายจะทรุดโทรมไปมากจากความเจ็บป่วยจากความยากจนในช่วงท้ายๆของชีวิต

 

21 ธันวาคม 1944 หรือ 4 วันหลังจากนั้น กราดิน ก็จากไปอย่างสงบ ทิ้งตำนานที่ไม่มีวันลืมไว้เบื้องหลัง และนี่คือเรื่องราวของเขา

โชคดีที่เกิดอุรุกวัย

ย้อนกลับไปในปี 1897 เด็กชายกราดิน ถือกำเนิดขึ้นในครอบครัวชนชั้นแรงงานในกรุงมอนเตวิเดโอ ประเทศอุรุกวัย เขาเป็นลูกหลานของชาวแอฟริกัน ปู่ของเขาคือส่วนหนึ่งของการค้าทาสแอฟริกัน ที่เดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลมาใช้แรงงานในอเมริกาใต้ในยุคบุกเบิก

 1

ในยุคนั้นได้เริ่มมีการเผยแพร่กีฬาฟุตบอลให้แก่ผู้คนในละตินอเมริกาแล้ว มันกำลังได้รับความนิยมในภูมิภาคนั้น แต่ชนชั้นนำในหลายประเทศพยายามยับยั้งการแพร่ขยายของมันสู่ชนชั้นล่างของสังคม อีกทั้งยังจำกัดสิทธิ์ด้วยการเลือกนักเตะสู่ทีมชาติโดยพิจารณาจากพื้นหลังทางสังคมด้วย  

แต่ไม่ใช่สำหรับอุรุกวัย ประเทศที่ถือว่ามีความก้าวหน้าทางสังคมมากที่สุดของอเมริกาใต้ในยุคนั้น พวกเขาเป็นประเทศแรกของโลกที่ก่อตั้งระบบรัฐสวัสดิการ รัฐบาลให้ความสำคัญกับระบบการศึกษา และอุดหนุนเงินลงทุนในด้านนี้ ต่างจากเพื่อนร่วมทวีป

นโยบายของรัฐทำให้เกิดการขยายตัวทางฟุตบอล เช่นเดียวกับชนชั้นทางสังคมถูกทำลายลง อย่างน้อยก็ในการแข่งขันฟุตบอล นักเตะถูกเรียกติดทีมชาติจากความสามารถล้วนๆ โดยไม่คำนึงถึงพื้นหลังทางสังคม ไม่ว่าจะยากดีมีจน ผิวขาวหรือผิวสีล้วนมีโอกาสด้วยกันทั้งสิ้น

“ในช่วงต้องของปลายศตวรรษอุรุกวัยได้นำระบบรัฐสวัสดิการมาใช้เป็นประเทศแรกของโลก และใช้เงินลงทุนเป็นจำนวนมากต่อการศึกษา สิ่งนี้ทำให้ฟุตบอลย้ายจากกลุ่มชนชั้นนำไปสู่ผู้อพยพที่หลั่งไหลเข้ามาจากอิตาลีและสเปน รวมไปถึงลูกหลานของชาวแอฟริกัน ที่บรรพบุรุษของพวกเขาถูกส่งไปทั่วมหาสมุทรแอตแลนติกเพื่อทำงานหนักในฐานะทาส” ทิม วิคกี อธิบายในบทความ Music meets football in South America

 2

กราดิน ก็เป็นคนหนึ่งที่ชื่นชอบฟุตบอล เขาฝึกฝนทักษะด้วยตัวเองจากการเล่นฟุตบอลในสนามรกร้าง หรือพื้นที่แคบๆ บริเวณท่าเรือ สถานที่ที่จำกัดเหล่านี้บ่มเพาะฝีเท้าของเขาให้โดดเด่น

จนอายุ 18 กราดิน ก็เข้าสู่วงการฟุตบอลเป็นครั้งแรก หลังได้ร่วมทีม เปนญารอล ทีมที่มีฐานที่มั่นอยู่บริเวณชานเมืองมอนเตวิเดโอในปี 1915 และได้ลงสนามให้กับทีมทันทีในปีแรกที่มาถึง

ด้วยฝีเท้าที่ยอดเยี่ยมทำให้ กราดิน ถูกเรียกติดทีมชาติในปีเดียวกัน ก่อนจะมีชื่อเป็นหนึ่งในขุนพลสู้ศึกโคปา อเมริกา 1916 การแข่งขันชิงแชมป์ระดับทวีปอย่างเป็นทางการครั้งแรกที่อาร์เจนตินา และนั่นก็เป็นจุดเริ่มต้นของตำนานอุรุกวัย

โคปา อเมริกาสร้างชื่อ

ในช่วงวัยเดียวกันฝีเท้าของกราดินดูจะแข็งแกร่งเกินไว เขามีทักษะที่แพรวพราว เท้าซ้ายอันทรงพลัง และสปีดที่ว่องไว เขาถูกเรียกติดทีมชาติครั้งแรกในปี 1915 ในเกมอุ่นเครื่องกับอาร์เจนตินา ก่อนที่ปีต่อมาเขาจะมีโอกาสได้ลงแข่งฟุตบอลรายการระดับนานาชาติเป็นครั้งแรก ในโคปา อเมริกา 1916 ที่อาร์เจนตินา

 3

การแข่งขันครั้งแรกของทัวร์นาเมนต์เมื่อปี 1916 ถูกจัดขึ้นเพื่อฉลองครบรอบ 100 ปี การประกาศอิสรภาพของอาร์เจนตินา โดยมี 4 ทีมร่วมชิงชัยคือเจ้าภาพ อาร์เจนตินา อุรุกวัย บราซิล และชิลี และแข่งขันแบบพบกันหมดหาทีมที่มีคะแนนมากที่สุด

อุรุกวัย ประเดิมสนามด้วยการพบกับชิลี กราดินถูกส่งลงสนามทันทีในเกมแรก และเขาก็ไม่ทำให้ผิดหวัง ซัดคนเดียว 2  ประตูช่วยให้บ้านเกิดถล่มทีมฝั่งทะเลแปซิฟิคไปอย่างขาดลอย 4-0

นอกเหนือจากประตูที่ทำได้และชัยชนะของทีม กราดิน ยังได้สร้างประวัติศาสตร์ขึ้นมาใหม่ เมื่อเขากลายเป็นนักเตะผิวสีคนแรกในประวัติศาสตร์ที่ได้ลงเล่นในทัวร์นาเมนต์ระดับนานาชาติ เช่นเดียวกับ ฮวน เดลกาโด แข้งผิวสีอีกคนของอุรุกวัย

 4

อย่างไรก็ดี เขากลับถูกเหยียดผิวจากคู่แข่ง เมื่อชิลีประท้วงว่าอุรุกวัยใช้ทาสแอฟริกาลงเล่น และมุ่งเป้าไปที่ กราดิน และ เดลกาโด แม้ท้ายที่สุดคำร้องของพวกเขาจะถูกตีตก แต่มันก็สะท้อนให้เห็นว่าสังคมอเมริกาใต้ชาติอื่น ยังคงไม่ยอมรับความเท่าเทียมกัน

อุรุกวัย ยังคงทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในอีก 2 นัดที่เหลือ พวกเขาปราบบราซิล 2-1 และเสมอกับอาร์เจนตินา 0-0 ในนัดสุดท้าย คว้าแชมป์ของการแข่งขันครั้งแรกได้สำเร็จ และเป็นจุดเริ่มต้นความยิ่งใหญ่ในโลกลูกหนังของทีม “จอมโหด” (ที่ต่อมาคว้าแชมป์โลกในการแข่งขันครั้งแรกในปี 1930) ในขณะที่กราดิน รั้งตำแหน่งดาวยิงสูงสุดของทัวร์นาเมนต์ ด้วยผลงาน 3 ประตูจาก 3 นัด

ปีต่อมา กราดิน ยังคงมีชื่อติดทีมชาติอุรุกวัย ในโคปา อเมริกา 1917 (ในสมัยก่อนการแข่งขันจะแข่งเป็นประจำทุกปี ก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น 2 ปีครั้งตั้งแต่ปี 1927 และ 4 ปีครั้งตั้งแต่ปี 1959) แต่ไม่ได้รับโอกาสลงสนาม ซึ่งท้ายที่สุดทีมสามารถป้องกันแชมป์ไว้ได้ แต่ถึงอย่างนั้นเขาก็ทำผลงานได้อย่างยอดเยี่ยมในนามสโมสร ที่ช่วยให้ทีมคว้าแชมป์ลีกเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปีได้สำเร็จ

ก่อนที่โคปา อเมริกา ครั้งต่อมาจะมีส่วนสำคัญที่ทำให้กราดินได้รับการยกย่องในฐานะวีรบุรุษ

สัญลักษณ์การปฎิวัติทางความคิด

โคปา อเมริกา 1919 เวียนมาจัดที่บราซิล หนึ่งในประเทศที่มีทาสชาวแอฟริกันมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก แม้พวกเขาจะประกาศกฎหมายห้ามค้าทาสมาตั้งแต่ปี 1888 แต่ความรู้สึกแบ่งแยกระหว่างคนผิวขาวและคนผิวสี ยังคงฝังรากลึกไม่เสื่อมคลาย

 5

ในสังคมบราซิลยุคนั้น คนผิวสีถือเป็นคนชายขอบของสังคม พวกเขาถูกริดรอนสิทธิเสรีภาพ แม้ว่าจะเกิดบนผืนแผ่นดินบราซิลก็ตาม เช่นเดียวกันสำหรับวงการฟุตบอล ไม่ว่าจะฝีเท้าเก่งกาจมากแค่ไหน แต่หากเป็นนักเตะผิวสี พวกเขาจะถูกมองข้าม และหมดสิทธิ์ติดธงรับใช้บ้านเกิด

ความรู้สึกไม่ยอมรับคนผิวสีไม่ใช่เฉพาะแค่คนของพวกเขาเท่านั้น แม้แต่คู่แข่งก็ไม่เว้น อันที่จริงภาพนักเตะผิวสีลงเล่นในการแข่งขันฟุตบอลระดับนานาชาติ เป็นเรื่องที่พบเห็นได้ยากในยุคนั้น การลงเล่นของ กราดิน ในทีมชาติอุรุกวัย จึงไม่ได้รับการยอมรับในบางส่วนของสังคมบราซิล โดยเฉพาะในหมู่ชนชั้นสูงและสื่อ การที่เขาทำผลงานได้โดดในโคปา อเมริกา 1919 ยิ่งทำให้เขาถูกเพ่งเล็งมากขึ้น

หนังสือพิมพ์บราซิลโจมตีกราดินและอุรุกวัยว่าเป็นพวกดุร้าย และเสียดสีทีมชาติอุรุกวัยโดยใช้การ์ตูนเป็นสื่อ เฮนดริก คราย อธิบายเหตุการณ์นั้นไว้ในหนังสือ Negotiating identities in modern Latin America ของตัวเองว่า

“นักประวัติศาสตร์ เลโอนาร์โด้ เปเรยร่า ชี้ให้เห็นถึงสิ่งที่สื่อจาก การิโอกา (Carioca) พยายามสื่อถึงฉันทามติของสาธารณชนชาวบราซิลว่า ทั้งคนดำคนขาวมีความเห็นตรงในเรื่องที่ไม่ควรให้นักเตะผิวดำเล่นเกมระดับนานาชาติ จากการที่หนังสือพิมพ์ฉบับหนึ่งลงข้อความ ‘คนดำในบราซิลไม่อยากที่จะมีผิวดำ’”

อย่างไรก็ดี เปเรยราเผยว่า แม้กราดินจะถูกโจมตีจากสื่อบราซิล แต่เขาก็ได้รับการต้อนรับอย่างดีจากชนชั้นล่างของสังคมบราซิล เขามักจะได้รับเสียงเชียร์จากกองเชียร์ของคู่แข่งที่เป็นชาวผิวสีอยู่เสมอ ซึ่งมันไม่เพียงเป็นการปฏิวัติทางความคิดในประวัติศาสตร์ของฟุตบอล แต่ยังรวมไปถึงประวัติศาสตร์ทางการเมืองและสังคมของบราซิลอีกด้วย

“กราดินสมควรได้รับการยกย่องในฐานะหนึ่งในผู้เล่นที่มีอิทธิพลมากที่สุดในประวัติศาสตร์ของเกม ผลงานของเขาที่บราซิลในโคปา อเมริกา 1919 สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนผิวสีท้องถิ่นเป็นอย่างมาก” วิคกี นักเขียนจาก BBC กล่าวในบทความ Music meets football in South America

กราดิน ไม่ได้เก่งกาจแค่ในสนามฟุตบอลเท่านั้น ฝีเท้าที่ว่องไวของเขายังเคยสร้างความลือลั่นไปทั่วทั้งทวีป ปี 1918 เขาคว้า 1 เหรียญทองจากการแข่งขันวิ่ง 400 เมตร และอีก 1 เหรียญทองแดงจากวิ่ง 200 เมตรในการแข่งขันกรีฑาชิงแชมป์อเมริกาใต้

 6

นั่นคือจุดเริ่มต้นในความสำเร็จของกราดินในสายนักวิ่ง เมื่อสามารถคว้าเหรียญทองได้ทั้ง 2 รายการในการแข่งขันวิ่ง 400 เมตรและ 200 เมตรในปีต่อมา แถมยังสามารถป้องกันแชมป์ได้อีกสมัยในกรีฑาชิงแชมป์อเมริกาใต้ 1920 และปิดฉากเหรียญสุดท้ายด้วยเหรียญทอง 400 เมตรในการแข่งขันเมื่อปี 1922

ความสำเร็จของกราดินทั้งฟุตบอลและกรีฑา ทำให้เขากลายเป็นฮีโร่ของประเทศ แฟนบอลยกให้เขาเป็นตำนานของทีมชาติอุรุกวัยและเปนญารอล เขาคือนักเตะที่เก่งที่สุดในยุคนั้น ในขณะเดียวกันก็เป็นนักวิ่งที่มีฝีเท้าฉกาจฉกรรจ์หาใครจะเทียบได้

“ชายผู้ทำให้คนต้องลุกจากเก้าอี้ เมื่อเขาเริ่มติดเครื่องด้วยสปีดที่น่าทึ่ง และการครองบอลที่ง่ายดายราวกับเดินอยู่” เอดูอาร์โด กาเลียโน อธิบายถึงตัวเขาในหนังสือ Soccer in Sun and Shadow

เขาได้กลายเป็นแรงบันดาลใจให้กับชาวผิวสีไม่เพียงแค่อุรุกวัย แต่ยังรวมไปถึงชนชาติในอเมริกาใต้ ฆวน ปาร์รา เดล เรโก กวีชาวเปรูถึงขั้นแต่งกลอนเพื่อเชิดชูเขา

“ว่องไว เก่ง เพรียว เคลื่อนที่ได้เร็ว บอบบาง และทำลายล้าง” ส่วนหนึ่งจากโคลงของ เรโก  

ทว่า ในทศวรรษที่ 1920 ชีวิตของเขาก็พลิกจากหน้ามือเป็นหลังมือ

อนาคตที่ดับสูญ

แม้ว่า กราดิน จะได้รับการยกย่องในฐานะฮีโร่ของประเทศ ทว่าหลังจากนั้นชีวิตเขาก็ถึงคราวหักเห หลังเปนญารอลไปลงแข่งนัดกระชับมิตรกับสโมสรอาร์เจนตินา ที่ทำผิดกฎด้วยการเป็นสมาชิกของสมาคมฟุตบอลสมัครเล่น ที่ไม่ได้รับการรับรองจากสมาคมฟุตบอลอาร์เจนตินา

 7

จากผลดังกล่าวทำให้เปนญารอล และ เซ็นทรัล อีกหนึ่งทีมที่ไปลงเตะกับทีมที่ผิดกฎถูกตัดออกจากการเป็นสมาชิกสมาคมฟุตบอลอุรุกวัย และไม่มีสิทธิ์ลงแข่งในลีกของสมาคมฯ ทำให้พวกเขาตัดสินใจก่อตั้งสมาคมฟุตบอลของตัวเองที่ชื่อว่า Federacion Uruguaya de Football (FUF) และสร้างลีกของตัวเองเพื่อลงแข่ง โดยมีทีมร่วมชิงชัยนับ 10 ทีม

อย่างไรก็ดี จากการเล่นในลีกที่ไม่ได้รับการรับรองจากสมาคมฯ ทำให้กราดิน เพื่อนร่วมทีม รวมไปถึงนักเตะจากเซ็นทรัล ไม่ถูกเรียกติดทีมชาติอีกเลยนับตั้งแต่นั้น กองหน้าผิวสี ต้องพลาดโอกาสลงเล่นให้กับ อุรุกวัย ในฟุตบอลโอลิมปิก 1924 ที่สุดท้ายเป็นเจ้าของเหรียญทองในครั้งนั้นอย่างน่าเสียดาย

กราดิน และทีมชาติกลายเป็นเส้นขนานนับตั้งแต่นั้น แม้ว่าในปี 1928 เขาจะถูกเรียกติดทีมชาติในโอลิมปิก แต่เขาก็ปฎิเสธโอกาสโดยให้เหตุผลว่านักเตะรุ่นใหม่น่าจะมีดีกว่าเขา แม้ว่าตอนนั้นกราดินเพิ่งจะอายุเพียง 31 ปีก็ตาม

สถานการณ์ของเขายิ่งเลวร้ายลงไปอีกเมื่อขัดแย้งกับบอร์ดบริหารเปนญารอล อันที่จริงเปนญารอล เป็นมากกว่าสโมสร มันคือชีวิตของกราดิน เขาอุทิศตัวด้วยการอยู่ช่วยทีม หลังจากถูกถอนสมาชิกของสมาคมฯ แม้ว่าจะไม่ได้เล่นให้ทีมชาติอีกแล้วก็ตาม แต่ท้ายที่สุดในการตัดสินใจครั้งที่ยากที่สุดของชีวิตเขาก็เป็นคนเลือกเดินจากไป

กราดิน ออกมาก่อตั้งทีมใหม่ที่ชื่อว่า โอลิมเปีย ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของทีม ริเวอร์เพลท อุรุกวัย (หลังจากไปยุบรวมกับ คาปูโร ในปี 1932) เขาลงเล่นให้ทีมอยู่ 7 ปีก่อนจะแขวนสตั๊ดไปในปี 1929 ด้วยวัย 32 ปี

 8

อย่างไรก็ดี แม้เขาจะประสบความสำเร็จอย่างมากมายทั้งในฟุตบอลและกรีฑา รวมไปถึงเป็นสัญลักษณ์แห่งการปฏิวัติของนักฟุตบอลผิวสีนับพันในการต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมในสังคม แต่เขาก็ไม่ได้รับการเหลียวแลนับตั้งแต่หันหลังให้กับวงการกีฬา

กราดิน ประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ในขณะที่สุขภาพก็ย่ำแย่ลงจากการใช้ร่างกายอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยสมัยเป็นนักกีฬา ความเจ็บป่วยทำให้เขาต้องอยู่อย่างโดดเดี่ยวในช่วงท้ายของชีวิต แต่ถึงกระนั้นเขาก็ไม่ได้รับการช่วยเหลือเลยทั้งจากเปนญารอล สโมสรเก่าหรือสมาคมฯ

“ราวกับว่าเปนญารอลได้ทอดทิ้งลูกชายของเขาหลังตัดความสัมพันธ์” ส่วนหนึ่งจากบทความ Isabelino Gradin The Uruguayan Hero Who Rose Above Racism And Slavery อธิบาย

ในตอนที่นักเตะเปนญารอล ไปเยี่ยมเขาที่โรงพยาบาล หลังจากคว้าแชมป์ ในปี 1944 ร่างกายและจิตใจของเขาย่ำแย่เต็มทีแล้ว นักฟุตบอลที่เคยทำให้กองหลังคู่แข่งหวั่นเกรงกำลังต่อสู้กับความตายทั้งที่อายุเพียงแค่ 47 ปี

กราดิน จากไปอย่างสงบในอีก 4 วันต่อมาหลังจากนักเตะเปนญารอลไปเยี่ยม และต้องรอถึง 65 ปีกว่าที่ชาวอุรุกวัยจะระลึกถึงเขา หลังรัฐบาลเมืองมอนเตวิเดโอ นำชื่อเขาไปตั้งในจตุรัสของเมือง

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ

อัลบั้มภาพ 8 ภาพ ของ "อิซาเบลิโน่ กราดิน" : แข้งผิวสีอุรุกวัยแรงบันดาลใจความเท่าเทียมในอเมริกาใต้

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook