คาตาโลเนีย vs เวเนซูเอล่า : เกมฟุตบอลของทีมไร้ชาติกับทีมไร้เงินที่อาจมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

คาตาโลเนีย vs เวเนซูเอล่า : เกมฟุตบอลของทีมไร้ชาติกับทีมไร้เงินที่อาจมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

คาตาโลเนีย vs เวเนซูเอล่า : เกมฟุตบอลของทีมไร้ชาติกับทีมไร้เงินที่อาจมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

หากมองจากสายตาของแฟนฟุตบอลและสโมสรลูกหนังต่างๆ สัปดาห์ทีมชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฟุตบอลนัดกระชับมิตร คือสิ่งที่พวกเขาอยากเห็นเป็นอันดับท้ายๆ อย่างไม่ต้องสงสัย

เพราะความจริงที่ไม่ว่าใครก็คงปฏิเสธได้ลำบากก็คือ วงการฟุตบอลยุคสมัยนี้ ล้วนถูกขับเคลื่อนด้วยฟุตบอลระดับสโมสรเป็นหลัก การหยุดพักเพื่อปล่อยผู้เล่นให้ไปร่วมทีมชาติจึงกลายเป็นการทำให้พลวัตรลูกหนังขาดตอน แถมยังเป็นความเสี่ยงต่อการที่ผู้เล่นจะบาดเจ็บจนพลาดโอกาสรับใช้สโมสรที่จ่ายค่าเหนื่อยให้อีกด้วย

ถึงกระนั้น เกมฟุตบอลทีมชาติก็มีอะไรที่แฟนบอลควรให้ความสนใจอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เกมนัดกระชับมิตร ที่แม้รูปเกมอาจจะไม่เป็นไปอย่างดุเดือดเหมือนเกมในทัวร์นาเมนต์อย่างเป็นทางการ แต่การได้เห็นชาติเล็กๆ มาเจอกับชาติใหญ่ๆ ก็ถือเป็นสิ่งที่ชวนให้ติดตามว่า เดวิด จะหาญสู้ โกไลแอธ ได้หรือไม่ อย่างเช่นที่ ทีมชาติไทย ได้โอกาสครั้งสำคัญในการเจอกับ อุรุกวัย แชมป์โลก 2 สมัย ในฟุตบอล ไชน่า คัพ ที่ประเทศจีน

 

แต่ในวันเดียวกับที่ทีมช้างศึกดวลกับทีมจอมโหดนั้นเอง การพบกันระหว่าง คาตาโลเนีย กับ เวเนซูเอล่า ซึ่งจัดขึ้นที่ประเทศสเปน ก็กลายเป็นอีกเกมที่ได้รับความสนใจจากสื่อและแฟนบอล โดยเฉพาะกลุ่มที่ติดตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย

ก็จะไม่น่าสนใจได้อย่างไร? ทีมหนึ่งคือตัวแทนจากแคว้นที่รัฐบาลสเปนขัดขวางสุดชีวิตเพื่อไม่ให้พวกเขาประกาศตนเป็นเอกราชได้สำเร็จ ส่วนอีกฝั่ง นอกจากจะประสบกับปัญหาทางการเงินแล้ว ยังเจอกับวิกฤติศรัทธาภายในประเทศจนตอนนี้มีรัฐบาล 2 ฝ่ายที่ท้าชนกันเอง

แล้วเหตุใด ทีมที่ไร้ชาติกับทีมที่ไร้เงินถึงโคจรมาพบกันได้ล่ะ?

ลูกหนังคาตาลัน

แต่ก่อนที่จะมาถึงเรื่องดังกล่าว หลายคนอาจสงสัยว่า "ทีมชาติคาตาโลเนีย" นั้นมีความเป็นมาอย่างไร? ซึ่งจากข้อมูลโดยสหพันธ์ฟุตบอลคาตาลันเองระบุว่า พวกเขาก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1900 เพื่อรวบรวมสโมสรต่างๆ ที่อยู่ในแคว้นคาตาลุนย่า ประเทศสเปน ให้มาอยู่ภายใต้กฎระเบียบเดียวกัน และเริ่มมีทีมฟุตบอลเป็นครั้งแรกในปี 1905

 1

ในช่วงแรก ทีมฟุตบอลคาตาโลเนียนั้นมีสถานะไม่ต่างจากสโมสรทั่วไปในประเทศสเปน เมื่อพวกเขาเลือกที่จะลงเตะกับสโมสรต่างๆ ทว่าการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญก็มาถึงในปี 1912 เมื่อคาตาโลเนียเลือกที่จะไปอุ่นเครื่องกับ ฝรั่งเศส ซึ่งแม้พวกเขาจะโดนถล่มย่อยยับ 0-7 ในการพบกันเมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ แต่ประวัติศาสตร์ใหม่ก็ได้เกิดขึ้นแล้ว เพราะนี่คือเกมระดับนานาชาติครั้งแรกของคาตาโลเนีย

แม้การที่แคว้นคาตาลุนย่าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศสเปนนั้น จะทำให้พวกเขาไม่ได้รับการรับรองจาก ฟีฟ่า ให้เป็นทีมชาติอย่างเป็นทางการ แต่ทีมชาติคาตาโลเนียก็มีโปรแกรมลงแข่งขันอย่างต่อเนื่อง แม้กระทั่งในช่วงที่ประเทศสเปนอยู่ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร โดย พลเอก ฟรานซิสโก้ ฟรังโก้ ที่ห้ามการแสดงออกของกลุ่มชาติพันธุ์ตามแคว้นต่างๆ ก็ตาม

ซึ่งหากไล่เรียงมาจนถึงปัจจุบันก็พบว่า แม้เกมในระดับนานาชาติของคาตาโลเนียจะมีไม่ถึง 50 นัด แต่หากรวมการแข่งขันในทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นการเจอกับทีมชาติ, สโมสร หรือทีมรวมแห่งแคว้น ตลอดช่วงเวลากว่า 100 ปี พวกเขาลงเล่นไปแล้วมากกว่า 200 นัดเลยทีเดียว

หมายตามานาน

อันที่จริง หากนำจำนวนนัดที่คาตาโลเนียลงเตะมาหารกับจำนวนปีในการมีอยู่ของทีมก็จะพบว่า พวกเขามีโปรแกรมเฉลี่ยเพียงละปี 2 ครั้งเท่านั้น ซึ่งสาเหตุสำคัญหลักๆ ก็คือ พวกเขาไม่ใช่ชาติที่ฟีฟ่าให้การรับรอง ทำให้ชาติอื่นๆ ที่มาเตะก็ไม่ได้คะแนนไปรวมใน ฟีฟ่า แรงกิ้ง เช่นเดียวกับการที่ไม่สามารถใช้ช่องว่างของฟีฟ่าเดย์ในการจัดโปรแกรมได้อย่างสะดวกนัก เนื่องจากสโมสรต่างๆ ไม่ยอมปล่อยตัวมาเล่นให้ ซึ่งกว่าที่สหพันธ์ฟุตบอลสเปนกับคาตาลันจะเจรจากันลงตัว และรับรองเกมของทีมชาติคาตาโลเนียให้สามารถแข่งขันในช่วงฟีฟ่าเดย์ได้ ก็ล่วงเลยมาจนถึงต้นปี 2019 นี้เอง

 2

ถึงกระนั้น ด้วยความที่ในแต่ละปีมีโปรแกรมการแข่งขันน้อย การลงสนามในแต่ละนัดของทีมชาติคาตาโลเนียจึงเป็นที่สนใจของแฟนฟุตบอลทั่วโลกอยู่เสมอ เพราะผู้เล่นที่ใช้ในการค้าแข้งนั้นไม่ใช่นักเตะโนเนมทั่วไป หากแต่เป็นนักเตะเชื้อสายคาตาลันระดับแนวหน้า ดีกรีลงเล่นให้กับทีมในลีกสูงสุดของแดนกระทิงดุอย่าง ลาลีกา ด้วยกันทั้งสิ้น ทว่าบางคนอาจจะมีคนที่เก่งกว่าขวางทางจนหมดโอกาสติดทีมชาติสเปน หรือบางคนก็เลิกเล่นให้กับทีมชาติไปแล้วนั่นเอง ซึ่งหากไล่เรียงชื่อนักเตะในปัจจุบันอย่าง ชาบี เอร์นานเดซ, เคราร์ด ปีเก้, โบยาน เกร์กิช, มาร์ก บาร์ตร้า แล้ว หากคาตาโลเนียได้รับการรับรองจากฟีฟ่า ก็จะกลายเป็นอีกชาติที่มีผู้เล่นที่น่ากลัวที่สุดชาติหนึ่งไปโดยปริยาย

ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้สหพันธ์ฟุตบอลคาตาลัน พยายามหาโปรแกรมแข่งขันให้เจอกับทีมชาติต่างๆ เท่าที่จะเป็นไปได้ ซึ่ง เวเนซูเอล่า ประเทศในทวีปอเมริกาใต้นั้นก็เป็นอีกหนึ่งประเทศที่ฝ่ายคาตาโลเนียให้ความสนใจ ถึงกับเคยส่งเทียบเชิญให้มาแข่งขันนัดกระชับมิตรกันมาแล้ว อย่างน้อยก็ครั้งหนึ่งแน่ๆ ในปี 2016

จริงอยู่ที่เวเนซูเอล่ามีปัญหาทางเศรษฐกิจ และต้องเดินทางมาแข่งขันในประเทศสเปนซึ่งเป็นที่ตั้งของแคว้นคาตาลุนย่า แต่เนื่องจากการที่ฝ่ายคาตาโลเนียเป็นผู้เชิญมา แน่นอน พวกเขาย่อมออกค่าใช้จ่ายให้อย่างเสร็จสรรพ จึงไม่น่าจะเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด

 3

ทว่าสถานการณ์ภายในแคว้นคาตาลุนย่าที่สำคัญมากๆ เรื่องหนึ่ง ทำให้สหพันธ์ฟุตบอลเวเนซูเอล่าตัดใจยอมปฏิเสธ … ปัญหาการขอแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นคาตาลุนย่านั่นเอง

"พวกเราตัดสินใจที่จะไม่ไปเล่นที่คาตาลุนย่า เพราะสถานการณ์ความขัดแย้งเรื่องการแยกตัวเป็นเอกราชของแคว้นนั้นรุนแรงมาก" ลอเรโน่ กอนซาเลซ ประธานสหพันธ์ฟุตบอลเวเนซูเอล่าเผย

"เราไม่ต้องการที่จะนำทีมชาติของเราไปยุ่งเกี่ยวกับปัญหาการเมืองภายในประเทศ เพราะปัญหาภายในของพวกเราเองก็มากพออยู่แล้ว"

กอนซาเลซยังคลายข้อสงสัยของกรณีที่ทีมชาติเวเนซูเอล่าเคยไปเตะกับทีมของแคว้นอื่นในสเปน อย่าง บาสก์ และ กาลีเซีย ในอดีต แต่ไม่ยอมที่จะเจอกับทางคาตาลุนย่าด้วยว่า สหพันธ์ฟุตบอลสเปนรับรองพวกเขาให้สามารถลงเตะกับฝั่งบาสก์และกาลีเซียได้ แต่สำหรับคาตาลุนย่า มันมีปัญหาเรื่องการเมืองภายในของสเปนอยู่นั่นเอง

กว่าจะได้เจอกัน

การเรียกร้องขอแยกตัวเป็นอิสระจากสเปนของแคว้นคาตาลุนย่า คือประเด็นสำคัญที่กลายเป็นปัญหาการเมืองภายในดินแดนแห่งคาบสมุทรไอบีเรียมาอย่างยาวนาน แม้ชาวคาตาลันจะเลือกที่จะดำเนินการด้วยสันติวิธี มีการลงประชามติ แต่รัฐบาลกลางสเปนก็ยืนกรานที่จะไม่รับรองการกระทำดังกล่าว เพราะรัฐธรรมนูญของสเปนระบุไว้ว่า "ประเทศสเปนเป็นหนึ่งเดียว มิอาจแบ่งแยกได้"

 4

ทว่าการจัดลงประชามติเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2017 ก็ได้กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญแห่งการแตกหัก เมื่อรัฐบาลกลางสเปนส่งเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าขัดขวางการลงประชามติ จนเกิดเหตุปะทะกับประชาชนและมีผู้ได้รับบาดเจ็บ ซึ่งแม้การลงประชามติจะยังดำเนินต่อไป และผลออกมาว่า ชาวแคว้นคาตาลุนย่าประสงค์ที่จะแยกตัวเป็นอิสระ แต่รัฐบาลกลางสเปนก็ปฏิเสธผลที่ออกมา โดยให้เหตุผลว่าการกระทำดังกล่าว ผิดกฎหมายมาตั้งแต่ต้น

ความวุ่นวายจากเหตุการณ์ดังกล่าว จนส่งผลให้มีผู้บาดเจ็บ และแกนนำคนสำคัญของฝ่ายเรียกร้องเอกราชถูกจับกุม กลายมาเป็นประเด็นทางการเมืองระหว่างประเทศทันที เมื่อ นิโคลาส์ มาดูโร่ ประธานาธิบดีเวเนซูเอล่า หยิบเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นบริบทเมื่อถูกสหภาพยุโรปยื่นคำขาดว่า ต้องรีบจัดการเลือกตั้งเพื่อยุติปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองและคลี่คลายปัญหาเศรษฐกิจโดยเร็วที่สุด

 5

"เรายืนยันว่า จะไม่ยอมรับการยื่นคำขาดของใคร และถ้าพวกเขาบังคับจริงๆ ผมจะประกาศว่า จะให้เวลาสหภาพยุโรป 7 วัน เพื่อรับรองเอกราชของคาตาโลเนีย มิเช่นนั้นก็จะมีมาตรการออกมาเช่นกัน เอาสิ จะเอาไหม?" นี่คือสิ่งที่มาดูโร่ยืนกรานกับสถานีโทรทัศน์ La Sexta

และวาทะของมาดูโร่ก็ไม่ใช่เพียงสิ่งที่กล่าวกันลอยๆ เมื่อ El Pais สื่อดังของสเปนได้เปิดเผยข้อมูลในช่วงที่มีการลงประชามติครั้งที่เกิดปัญหาของแคว้นคาตาลุนญ่าเมื่อปี 2017 บนโลกออนไลน์ซึ่งมีมากกว่า 5 ล้านข้อความ พบว่า กลุ่มผู้สนับสนุนแนวความคิดของ ฮูโก้ ชาเวซ อดีตประธานาธิบดีของเวเนซูเอล่าผู้ล่วงลับ รวมถึงชาวเน็ตซึ่งมีถิ่นฐานอยู่ในเวเนซูเอล่า คือผู้ที่ปั่นข่าวปัญหาของแคว้นคาตาลุนย่าเพื่อให้ประเทศสเปนมีภาพลักษณ์ในแง่ลบมากที่สุด

 6

แม้จะไม่มีการยืนยันจากทางสหพันธ์ฟุตบอลเวเนซูเอล่าและคาตาลันถึงสาเหตุของการเลือกกันและกันในการเล่นเกมกระชับมิตร แต่จากเรื่องราวที่เราได้กล่าวมาข้างต้นนี้ บางทีอาจจะเป็นคำตอบว่า เหตุใดทีมไร้ชาติกับทีมไร้เงินถึงได้มาเจอกัน จนกลายเป็นเกมของทีมชาติคาตาโลเนียนัดแรกในประวัติศาสตร์ที่จัดขึ้นในช่วงฟีฟ่าเดย์ก็เป็นได้ ...

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ

อัลบั้มภาพ 6 ภาพ ของ คาตาโลเนีย vs เวเนซูเอล่า : เกมฟุตบอลของทีมไร้ชาติกับทีมไร้เงินที่อาจมีการเมืองอยู่เบื้องหลัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook