"จินัตสึ ซาเองุสะ" : สาวน้อยญี่ปุ่นที่เดินทางแบบ Backpacker มาฝึกตะกร้อที่ไทยเพียงลำพัง

"จินัตสึ ซาเองุสะ" : สาวน้อยญี่ปุ่นที่เดินทางแบบ Backpacker มาฝึกตะกร้อที่ไทยเพียงลำพัง

"จินัตสึ ซาเองุสะ" : สาวน้อยญี่ปุ่นที่เดินทางแบบ Backpacker มาฝึกตะกร้อที่ไทยเพียงลำพัง
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

คนหนึ่งคนจะต้องมีความรักในกีฬาชนิดหนึ่งมากแค่ไหน ถึงยอมแบกเป้ เดินทางข้ามประเทศด้วยตัวคนเดียว เพื่อมาร่ำเรียนวิชาต่างแดน กับกีฬาที่ยังเป็นกีฬากึ่งอาชีพ ไม่สามารถยึดเป็นอาชีพหาเลี้ยงตัวเอง

จินัตสึ ซาเองุสะ คือหญิงชาวญี่ปุ่นที่หลงใหลในกีฬาเซปักตะกร้อ ซึ่งความรักที่เธอมีในกีฬาชนิดนี้ มากพอที่จะทำให้เธอ ออกเดินทางมาฝึกวิชาตะกร้อ ณ ดินแดนโอ่งมังกร จังหวัดราชบุรี

 

เหตุผลใดที่ทำให้หญิงสาวผู้นี้กล้าท้าทายตัวเอง ออกเดินทางมาประเทศไทยเพียงลำพัง? ความรักของเธอในกีฬาตะกร้อมีมากแค่ไหน? ความยากลำบากที่เธอต้องพบเจอในฐานะนักตะกร้อที่ญี่ปุ่น ?

ติดตามเรื่องราวของ จินัตสึ ซาเองุสะ หญิงสาวที่เปี่ยมไปด้วยแพสชั่นในกีฬาตะกร้อ ไปพร้อมกับเรา ได้ที่นี่ 

กีฬาที่ยากที่สุดในชีวิต

ความชื่นชอบในวัยเด็ก ของหญิงสาวที่ชื่อ จินัตสึ ซาเองุสะ อาจไม่เหมือนผู้หญิงญี่ปุ่นทั่วไปเท่าใดนัก เพราะเธอชื่นชอบการเล่นกีฬาเป็นชีวิตจิตใจ เพราะกีฬาคือสิ่งที่ทำให้หญิงสาวผู้นี้ มีความสุขทุกครั้ง

 1

“ตอนแรกที่เริ่มเล่นก็เป็นกีฬาฟุตบอลกับวอลเลย์บอล เพราะว่ามีเพื่อนให้เล่นด้วยเยอะมากพอสมควรเลยค่ะ ส่วนตัวเป็นคนที่ชอบเล่นกีฬามาตั้งแต่เด็กแล้ว เพราะว่ามันทำให้เรารู้สึกสนุกและมีความสุขเวลาได้เล่นกีฬา”

ไม่ว่าจะเป็นกีฬาชนิดใด หากมีโอกาสให้จินัตสึได้ลองเล่น เธอพร้อมจะเปิดประสบการณ์ เพื่อหาความสนุกรูปแบบใหม่ให้กับชีวิตตัวเองเสมอ

กระทั่งจินัตสึ ได้เข้าศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัยวาเซดะ มหาวิทยาลัยชื่อดังของประเทศญี่ปุ่น เธอได้มีโอกาสลองเล่นกีฬาที่ไม่เป็นที่นิยมมากนักของชาวญี่ปุ่น กีฬาที่เธอไม่เคยรู้จักมาก่อน กีฬาที่ชื่อว่า “เซปักตะกร้อ”

“ตอนเล่นครั้งแรกรู้สึกทั้งชอบและก็ตกใจไปพร้อมๆกันค่ะ คือก่อนหน้านี้ไม่ว่าจะเล่นกีฬาชนิดไหน ลองหัดแป๊ปเดียว เล่นได้หมดเลยค่ะ แต่ตอนเล่นตะกร้อช่วงแรกๆ ทำอะไรไม่เป็นสักอย่าง แค่จะเดาะตะกร้อยังทำไม่ได้เลย”

“ความชอบในกีฬาตะกร้อ ก็เริ่มมาจากตรงนี้ เพราะว่าเราไม่เคยเล่นกีฬาอะไรที่มันยากขนาดนี้มาก่อน จนเรารู้สึกว่า มันมีกีฬาที่ยากขนาดนี้อยู่ด้วยเหรอ จึงเริ่มสนใจกีฬาตะกร้อมาตั้งแต่ตอนนั้น”

 2

ด้วยสายเลือดนักสู้บูชิโด ความยากในกีฬาตะกร้อไม่ได้ทำให้เธอรู้สึกท้อถอย หรืออยากเลิกเล่นกีฬาชนิดนี้ แต่กลับทำให้จินัตสึ ตั้งเป้าหมายในใจว่า สักวันเธอต้องเล่นกีฬาชนิดนี้ให้เก่งเหมือนกับกีฬาชนิดอื่นที่เธอเคยเล่นให้ได้

“ช่วงแรก พยายามฝึกเดาะลูกให้เป็นก่อนค่ะ ฝึกอยู่คนเดียว ฝึกเดาะลูกกับผนังซ้ำแล้วซ้ำเล่า พยายามทำให้ได้ หลังจากสามารถเดาะลูกเป็นแล้ว ก็เริ่มต้นฝึกเทคนิคต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เราเล่นตะกร้อได้เก่งมากขึ้น”

สำหรับจินัตสึแล้ว เธอรู้ดีว่ากีฬาที่เล่นเป็นทีมแบบตะกร้อ เธอไม่มีทางจะเก่งขึ้นได้ด้วยตัวคนเดียว ทำให้เธอพยายามหาเพื่อนและคนรอบข้างที่เล่นตะกร้อมาเป็นคู่ฝึกฝน จนกระทั่งได้มีโอกาสไปเข้าสโมสรตะกร้อของมหาวิทยาลัย เพื่อหาโอกาสฝึกฝนและพัฒนาฝีมือในการเล่นตะกร้อของตนเอง

“ที่ชมรมจะมีพวกรุ่นพี่นอกมหาวิทยาลัย ซึ่งเป็นนักกีฬาตะกร้อชายของทีมชาติมาเล่นอยู่ด้วยค่ะ เขาจะมาสอนการเล่นตะกร้อให้เราด้วย เราก็พยายามจะเรียนรู้จากเขาให้ได้มากที่สุด”

 3

จากที่เคยเล่นตะกร้อเพียงเพื่ออยากก้าวข้ามขีดความสามารถของตนเอง จินัตสึหลงรักในกีฬาชนิดนี้จนขอสมัครเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยไปแข่งขันชิงแชมป์ในประเทศ เมื่อช่วงเดือนมิถุนายน ปี 2014

แม้จะไม่สามารถชนะการแข่งขัน แต่ฝีเท้าของเธอก็เขาตาโค้ชทีมชาติญี่ปุ่นที่มาชมการแข่งขันครั้งนี้ และเรียกให้เธอติดทีมชาติทีมชาติญี่ปุ่นเป็นครั้งแรก ในเดือนสิงหาคมปีเดียวกัน กับรายการคิงส์ คัพ ครั้งที่ 29 ที่ประเทศไทย ซึ่งครั้งนั้นเป็นทัวร์นาเมนต์แรกของเธอ

ถึงจะไปในฐานะตัวสำรอง แต่จินัตสึได้รับประสบการณ์มากมายจากการแข่งขันมากมาย เธอได้มีโอกาสฝึกฝนกับรุ่นพี่ในทีมชาติ ได้ร่วมฝึกซ้อมกับนักตะกร้อต่างประเทศ ที่สำคัญเธอได้เห็นว่าโลกภายนอกยังมีนักตะกร้อที่เก่งอยู่มากเพียงใด

ด้วยใจ... ที่รักจริง

การออกไปพบเจอประสบการณ์ต่างประเทศ กลายเป็นแรงผลักดันให้กับจินัตสึ อยากที่จะฝึกฝนตัวเองเพื่อพัฒนาฝีเท้า ให้เป็นนักตะกร้อที่ดียิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามความต้องการที่จะเป็นนักตะกร้อ ในประเทศที่ไม่ได้นิยม และไม่ได้มีการสนับสนุนกีฬาชนิดนี้มากนัก ไม่ใช่เรื่องง่ายแม้แต่น้อย

 4

“ที่ญี่ปุ่นกีฬาตะกร้อไม่เป็นที่นิยมเลยค่ะ คือคนรู้จักน้อยมาก กีฬาตะกร้อที่ญี่ปุ่นไม่ใช่กีฬาอาชีพเลยด้วยซ้ำ ยังเป็นกีฬาสมัครเล่นอยู่”

“ปัจจุบันที่ญี่ปุ่นยังไม่มีลีกตะกร้อ มีแค่การแข่งขันชิงแชมป์ตะกร้อในประเทศปีละ 2-3 ครั้งเท่านั้น ถ้าพูดถึงเรื่องความพร้อมของกีฬาตะกร้อในญี่ปุ่นถือว่ามีน้อยค่ะ หากเทียบกับประเทศไทย เราขาดงบประมาณสนับสนุน เราไม่ได้มีรายได้จากการเป็นนักตะกร้อ นอกจากเบี้ยเลี้ยงตอนแข่งขันเท่านั้น”

“สถานที่ฝึกซ้อมเราก็ไม่มี เวลาเราจะซ้อมคนในสโมสรต้องรวมเงินกัน เพื่อไปเช่าโรงยิมมาเป็นที่ซ้อม โค้ชที่สอนวิชาตะกร้อให้พวกเราก็ไม่มีนะค่ะ เพราะโค้ชตะกร้อพวกเขาไม่ได้รับรายได้จากการทำหน้าที่ตรงนี้ สุดท้ายก็เลิกเป็นโค้ช ไปทำอาชีพอื่นกันหมด”

“ทุกวันนี้ การฝึกซ้อมของพวกเราก็คือช่วยเหลือกัน เรามีคนในสโมสรประมาณ 20-30 คน ทั้งผู้ชายและผู้หญิง เราจะช่วยกันฝึกซ้อมเพื่อพัฒนาฝีเท้าในการเล่นตะกร้อไปพร้อมๆกัน”

 5

“มีใจอย่างเดียวอาจไม่เพียงพอกับการล่าฝัน” คำพูดนี้ใช้ได้กับจินัตสึเช่นกัน เธอเองต้องหางานประจำทำควบคู่กันไปด้วยกับการเล่นตะกร้อ หลังจบมหาวิทยาลัย อย่างน้อยก็เพื่อมีเงินมาจุนเจือชีวิต เพื่อตามล่าฝันต่อไป  

เธอเป็นครูสอนด้านกายภาพ ตามวิชาความรู้ที่ได้เรียนมาในระดับมหาวิทยาลัย เหตุผลสำคัญที่เธอทำอาชีพนี้ เพราะต้องการให้ตัวเองมีเวลาว่างในช่วงเย็น เพื่อฝึกซ้อมวิชาตะกร้อให้ดียิ่งขึ้น หากเธอไปทำงานเป็นพนักงานออฟฟิศทั่วไป เธอคงไม่มีโอกาสได้เล่นตะกร้ออย่างฝัน อย่างที่เรารู้ๆ กันว่า ชีวิตพนักงานออฟฟิศที่ญี่ปุ่นเข้มข้นขนาดไหน…

“ทุกวันนี้ ฝึกเล่นตะกร้อประมาณ 4-5 วันต่อสัปดาห์ วันละ 3 ชั่วโมง เราพยายามจะหาเวลาฝึกตะกร้อให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ส่วนหนึ่งเพราะเราอยากจะเก่งขึ้น อีกส่วนหนึ่งเพราะเราสนุกเวลาได้เล่นตะกร้อด้วยค่ะ”

นอกจากการฝึกตะกร้อในสนามแล้ว หากมีเวลาว่าง จินัตสึยังใช้เวลาว่างไปกับการดูคลิปวิดีโอการแข่งขันตะกร้อรายการต่างๆ เพื่อหาทักษะที่จะนำมาฝึกใช้กับตนเอง

หนึ่งในคลิปที่ จินัตสึชอบ นำมาศึกษา คือคลิปบันทึกภาพการแข่งขันของผู้เล่นตะกร้อชาวไทย

แบกเป้ตัวคนเดียวสู่ดินแดนเมืองโอ่ง

ด้วยความรักและความฝันในกีฬาเซปักตะกร้อ ทำให้จินัตสึ ไม่เคยคิดหยุดพัฒนาตัวเองกับการเป็นนักกีฬาประเภทนี้ เธอพร้อมทำทุกทางเพื่อให้ตัวเองเป็นนักตะกร้อที่ดีขึ้น ซึ่งนั่นรวมไปถึงการออกเดินทางไปต่างประเทศเพียงลำพัง…

 6

2 ปีก่อนจินัตสึ เดินทางมาประเทศไทย...จากกรุงเทพฯ เธอเดินทาง พร้อมกระเป๋าเป้ติดตัวหนึ่งใบไปยังสโมสรตะกร้อราชบุรี ที่ห่างจากเมืองหลวงร่วม 2 ชั่วโมง สภาพทางเข้าที่ดูเปล่าเปลี่ยว แต่เธอเด็ดเดี่ยวไม่กลัวอะไรทั้งนั้น

“จินัตสึมาไทยครั้งแรกตอนเดือนมีนาคมปี 2017 พอดีรู้จักกับโค้ชเคอิโกะ ทากายามา ซึ่งเป็นอดีตผู้เล่นตะกร้อทีมชาติญี่ปุ่น และโค้ชเคอิโกะ เขารู้จักกับโค้ชพินพร คลองบุ่งคล้า ที่เป็นโค้ชอยู่ที่สโมสรตะกร้อราชบุรี แนะนำให้เราไปลองฝึกตะกร้อที่ประเทศไทยดู จะได้เก่งมากขึ้น”

“ตอนนั้นก็เดินทางมาที่ไทยคนเดียวเลยค่ะ บินมาคนเดียว มาถึงนั่งรถไฟฟ้าเพื่อไปเจอกับพี่สองคนที่มารับ แล้วพาไปส่งที่ราชบุรี ตอนนั้นก็นั่งรถไฟฟ้าเป็นครั้งแรกในเมืองไทยเลยค่ะ (หัวเราะ)”

“ถามว่ากลัวไหม ก็มีกังวลบ้างค่ะ ถึงจะเคยมาประเทศไทยก่อนหน้านี้หลายครั้ง แต่ก่อนหน้านั้นมาแข่งขันเป็นทีม มีโค้ชมีเพื่อนมาด้วย แต่นี่เป็นครั้งแรกที่มาประเทศไทยคนเดียว”

“ตัวเราเองก็ไม่รู้จักใครที่นี่เลย ตอนแรกก็เป็นกังวลเหมือนกัน เรื่องการปรับตัวการใช้ชีวิต” เธอกล่าว

 7

ไม่ใช่เรื่องง่ายกับฝ่าฟันความกังวัลในจิตใจเพียงลำพัง เพื่อออกเดินทางสู่ต่างแดน แต่จินัตสึไม่เคยลืมเหตุผลสำคัญที่ทำให้เลือกเก็บของออกเดินทางมาที่ดินแดนสยาม เพื่อเป้าหมายการเป็นนักตะกร้อที่เก่งกาจยิ่งกว่าเดิม

“ถึงจะมีความกังวลอยู่บ้างตอนมาที่ไทยใหม่ๆ แต่ไม่เคยมีความรู้สึกกลัวเลยนะค่ะ ที่จะต้องมาใช้ชีวิตอยู่คนเดียวในเมืองไทย”

“เพราะเราคิดอยู่ตลอดว่าเรามาที่นี่ทำไม เราอยากจะเก่งขึ้นเราเลยมาซ้อมที่สโมสรราชบุรี ถ้ามัวแต่กลัว มัวแต่เป็นกังวล เราคงไม่ได้ซ้อมกันพอดี”

“เพราะฉะนั้น มาอยู่ที่เมืองไทยเราคิดแค่ถึงเรื่องการซ้อม มุ่งมั่นอยากเป็นนักตะกร้อที่เก่งขึ้น แค่นี้ก็เพียงพอแล้ว เมื่อคิดแบบนี้แล้ว เรื่องอื่นก็ไม่มีอะไรที่ต้องรู้สึกเป็นห่วงหรือกังวลแล้วค่ะ”

“อีกอย่างคือทุกคนในสโมสรราชบุรีเป็นคนดีมาก พวกเขาคอยช่วยเหลือและดูแลเราเป็นอย่างดี ความกังวลที่มีเลยหายไป ที่สำคัญพอได้ลองกินอาหารไทยแล้ว อร่อยมากๆเลยค่ะ (หัวเราะ)”

หลังสลัดความกังวลในจิตใจ จินัตสึใช้เวลาตลอด 3 สัปดาห์ที่เธอฝึกซ้อมที่จังหวัดราชบุรี ด้วยระเบียบวินัย และความมุ่งมั่นตั้งใจอย่างยิ่ง เพื่อหวังตักตวงวิชาความรู้กลับไปที่ประเทศญี่ปุ่นให้ได้มากที่สุด

 8

“มาฝึกที่ประเทศไทย ได้พัฒนาตัวเองมากเลยค่ะ โดยเฉพาะในเรื่องของเทคนิคการเล่นต่างๆ ที่เราไม่เคยรู้มาก่อน คนไทยมีเทคนิคการเล่นตะกร้อเยอะ ซึ่งคนญี่ปุ่นไม่รู้”

“มาอยู่ที่นี่ได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง หลังจากกลับไปที่ญี่ปุ่น โค้ชก็ชมว่าเก่งขึ้นเยอะหลังมาฝึกที่ประเทศไทย”

เพราะฝีเท้าที่โดดเด่นขึ้นชัดเจน จินัตสึกลับมาฝึกที่สโมสรราชบุรีเป็นครั้งที่สอง ในเดือนสิงหาคม ปี 2017 เป็นระยะเวลาราว 1 เดือน ซึ่งคราวนี้เธอไม่ได้มาเพียงแค่คนเดียว แต่ยังพาเพื่อนร่วมทีมชาติ อย่าง ยูมิ คามาวาตะ มาร่วมฝึกซ้อมด้วย

จนในที่สุด จินัตสึได้รับเรื่องจากทีมชาติญี่ปุ่นให้เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งขันตะกร้อ ในรายการเอเชียนเกมส์ 2018 ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย

สิ่งที่สำคัญกว่าเงินตรา

“หลังจากนี้จินัตสึจะย้ายไปทำงานเป็นพนักงานบริษัทแล้วค่ะ ไม่รู้ว่าจะมีเวลาว่างไว้ซ้อมตะกร้อช่วงเย็นเหมือนเมื่อก่อนไหม ตอนนี้กำลังว่าง เลยรีบบินมาที่เมืองไทย เพราะตักตวงความรู้ให้ได้มากที่สุด” จินัตสึกล่าวถึงเหตุผลที่เธอมาฝึกซ้อมกับสโมสรราชบุรีเป็นครั้งที่สาม

 9

ถึงจะต้องลำบาก เดินทางไกลบินมาฝึกซ้อมที่ประเทศไทยถึง 3 ครั้ง แต่จินัตสึจังไม่เคยมองว่าเรื่องนี้เป็นปัญหา หรือความเหนื่อยยากของตัวเอง เพราะเธอมีเป้าหมายสำคัญที่ต้องการทำให้ได้ในอนาคต

“เราอยากติดทีมชาติญี่ปุ่น เป็นตัวแทนของประเทศไปแข่งเอเชียนเกมส์ 2026 ซึ่งจะจัดที่เมืองนาโกยา ในประเทศญี่ปุ่นบ้านเกิดของเรา เราอยากเล่นตะกร้อต่อหน้าผู้คนที่นั่น ที่สำคัญอยากจะคว้าเหรียญทองในบ้านเกิดให้ได้”

แม้การเล่นกีฬาเซปักตะกร้อในประเทศญี่ปุ่นยังเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะเป็นกีฬาที่ยังไม่มีค่าตอบแทนที่จะทำให้เธอเลี้ยงชีพตัวเองได้ด้วยกีฬาชนิดนี้ แต่กีฬาตะกร้อได้มอบความสุขทางใจมหาศาลที่ประเมินค่าไม่ได้ ให้กับผู้หญิงที่ชื่อ จินัตสึ ซาเองุสะ ซึ่งมีความหมายมากกว่าเงินตราหลายเท่าตัวนัก

“ตะกร้อให้อะไรหลายอย่างกับเรา โดยเฉพาะเรื่องของประสบการณ์ ตะกร้อทำให้เราได้ออกไปเจอคนต่างประเทศ ได้แข่งขันกับคนต่างชาติ ได้ออกเดินทาง ได้เจอคนดีๆมากมาย”

“ถ้าไม่ได้เล่นตะกร้อ เราคงไม่ได้เดินทางมาที่จังหวัดราชบุรี คงไม่ได้รู้จักกับคนที่นี่ ไม่ได้เจอกับมิตรภาพที่สวยงามแบบนี้”

“ทุกวันนี้ที่จินัตสึเล่นตะกร้อ ก็เพราะความรักล้วนๆ เราเคยเล่นมาหลายกีฬา แต่นี่คือกีฬาที่เรารักที่สุด เรารักในความยากของมัน ตะกร้อคือกีฬาที่ยากสุดๆเลยค่ะ”

“แต่ถึงจะยาก เราก็ยังสนุกทุกครั้งที่ได้เล่นตะกร้อค่ะ” จินัตสึจัง ทิ้งท้ายกับ Main Stand

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "จินัตสึ ซาเองุสะ" : สาวน้อยญี่ปุ่นที่เดินทางแบบ Backpacker มาฝึกตะกร้อที่ไทยเพียงลำพัง

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook