"ไบรอัน คลัฟ" : ชายทรนงกับการลาออกที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก

"ไบรอัน คลัฟ" : ชายทรนงกับการลาออกที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก

"ไบรอัน คลัฟ" : ชายทรนงกับการลาออกที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

แม้จะยิ่งใหญ่สักเพียงใด แต่สัจธรรมข้อหนึ่งที่ไม่ว่าใครก็มิอาจหลีกเลี่ยงได้เลยก็คือ มีขึ้น ย่อมมีลง มีอำนาจ ย่อมเสื่อมอำนาจ มีมั่งมี ย่อมมีเสื่อมถอย เป็นธรรมดาโลก

วงการกีฬา อย่างวงการฟุตบอลก็เช่นกัน หลายสโมสรเคยเป็นเพียงทีมโนเนม แต่สามารถพัฒนาผลงานสู่ความยิ่งใหญ่ได้ ขณะที่หลายทีมเคยยิ่งใหญ่ระดับสร้างตำนาน แต่ปัจจุบันกลับตกอับชนิดไม่เหลือสภาพความเกรียงไกรเมื่อครั้งเก่าก่อน

 

และเมื่อทีมประสบกับความตกต่ำฉันใด ผู้จัดการทีม หรือบางที่อาจเรียกว่า เฮดโค้ช ก็มักจะเป็นรายชื่ออันดับต้นๆ เสมอที่จะต้องรับผิดชอบกับสิ่งที่เกิดขึ้น บางคนยอมที่จะถูกปลดเพื่อแลกกับค่าชดเชย ขณะที่บางคนเลือกที่จะยอมก้าวลงจากตำแหน่งด้วยตัวเอง

และ ไบรอัน คลัฟ ก็คือหนึ่งในกลุ่มคนที่ขอรักษาศักดิ์ศรีไว้ แม้มันจะนำมาซึ่งความเจ็บปวดก็ตาม...

ตำนานปากตะไกร

เมื่อพูดถึง ไบรอัน คลัฟ แฟนบอลแทบทุกคนคงยอมรับโดยดุษฎีว่า นี่คือหนึ่งในกุนซือสัญชาติอังกฤษที่ดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา เพราะผลงานชิ้นโบว์แดงของเขา คือการปั้นทีมจากจุดตกต่ำ สู่จุดสูงสุด โดยเริ่มแจ้งเกิดด้วยการนำ ดาร์บี้ เคาน์ตี้ ที่อยู่ในดิวิชั่น 2 เดิม ณ วันที่เริ่มคุมทีมเมื่อปี 1967 เลื่อนชั้นสู่ ดิวิชั่น 1 ลีกสูงสุดในอีก 2 ปีถัดมา ก่อนสร้างเซอร์ไพรส์ด้วยการคว้าแชมป์แบบหักปากกาเซียนในปี 1972

 1

ทว่าความสัมพันธ์สุดร้าวฉานกับบอร์ดบริหาร ตลอดจน ปีเตอร์ เทย์เลอร์ ผู้เป็นมือขวาคู่ใจ ได้นำมาซึ่งจุดแตกหักกับทีม "แกะเขาเหล็ก" ในฤดูกาลต่อมา แถมในปี 1974 เจ้าของฉายา "กุนซือปากตะไกร" ยังเจอกับช่วงเวลาวิกฤติที่สุดในชีวิต เมื่อเขาไม่สามารถซื้อใจผู้เล่นของ ลีดส์ ยูไนเต็ด ได้ จนผลงานของทีมยูงทองที่เป็นแชมป์ลีกตกต่ำ และโดนปลดภายในระยะเวลาเพียง 44 วัน (เรื่องราวในห้วงเวลาดังกล่าวถูกนำมาถ่ายทอดเป็นหนังสือ The Damned Utd ในปี 2006 และสร้างเป็นภาพยนตร์ The Damned United ในปี 2009)

ถึงกระนั้น คลัฟก็สามารถกลับมาแจ้งเกิดอีกครั้งได้สำเร็จ แถมครั้งนี้ ยังเจิดจรัสกว่าเดิมอีกด้วย กับการรับงานคุมทีม น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ในปี 1975 ซึ่งขณะนั้น ทีมยังอยู่ในดิวิชั่น 2 ก่อนที่คลัฟ และเทย์เลอร์ซึ่งเคลียร์ปัญหาใจกลับมาร่วมงานกันอีกครั้ง จะพาทีม "เจ้าป่า" เลื่อนชั้นในปี 1977 และหักปากกาเซียน คว้าแชมป์ดิวิชั่น 1 ได้ทันทีในปี 1978 แต่เท่านั้นยังไม่พอ เพราะฟอเรสต์สามารถต่อยอดความสำเร็จได้อย่างขจรขจาย ด้วยการคว้าแชมป์ ยูโรเปี้ยนคัพ ฟุตบอลสโมสรถ้วยใหญ่ของยุโรปได้ถึง 2 ปีซ้อน ในปี 1979 และ 1980 อีกด้วย

 2

แม้ ปีเตอร์ เทย์เลอร์ คู่หูคู่บุญจะตัดสินใจอำลาสโมสรไปในช่วงกลางปี 1982 ซึ่งถือเป็นการตัดสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองไปโดยปริยาย แต่ฟอเรสต์ในยุคของคลัฟเองก็ยังคงยืนหยัดในลีกสูงสุดของอังกฤษในยุคนั้นอย่างมั่นคง เมื่อเขาสามารถทำทีมจบในครึ่งบนของตารางมาได้โดยตลอด

แต่ใครจะคิดว่า สายลมแห่งการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในวงการฟุตบอลอังกฤษ จะนำมาซึ่งฉากสุดท้ายในฐานะผู้จัดการทีมของคลัฟอย่างไม่ทันตั้งตัว…

การเปลี่ยนแปลงอันยุ่งเหยิง

ปี 1992 วงการฟุตบอลอังกฤษเกิดความเปลี่ยนแปลงระดับพลิกหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อสโมสรในลีกสูงสุดตัดสินใจแยกตัวออกจาก ฟุตบอลลีก องค์กรผู้ควบคุมการแข่งขันฟุตบอลลีกในอังกฤษ เพื่อก่อตั้งลีกใหม่ในชื่อ พรีเมียร์ลีก โดยมีจุดประสงค์สำคัญคือ เพื่อที่แต่ละสโมสรในลีกสูงสุด จะได้รับทรัพย์จากลิขสิทธิ์ถ่ายทอดสดเพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นมา

 3

แน่นอนว่า การเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ส่งผลดีต่อทุกทีมที่ได้ลงเล่นในลีกสูงสุด ณ ตอนนั้นอย่างแท้จริง ทว่าเค้าลางฤดูกาลอันวุ่นวายของฟอเรสต์ก็ได้ก่อตัวขึ้นในเวลาเดียวกัน

เรื่องราวทั้งหมดเริ่มขึ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม ปี 1992 ระหว่างที่ฟุตบอลดิวิชั่น 1 (เดิม) ฤดูกาลสุดท้ายกำลังดำเนินอยู่ เมื่อ มัวริซ โรวาร์ธ ประธานสโมสรถูกจับกุมในข้อหาฉ้อโกง จนต้องส่งไม้ต่อให้ เฟรด รีชเชอร์ รับหน้าที่ต่อ ก่อนที่ เดส วอล์คเกอร์ เซนเตอร์แบ็กดีกรีทีมชาติอังกฤษ จะถูก ซามพ์โดเรีย คว้าตัวไปร่วมทีมด้วยราคาเพียง 1.5 ล้านปอนด์ หลังจบฤดูกาล 1991/92 ซึ่งฟอเรสต์พลาดแชมป์ลีกคัพ โดยแพ้ให้กับ แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ในรอบชิงชนะเลิศ

ทว่านั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของความพินาศในตลาดซื้อขายนักเตะช่วงปิดฤดูกาล เมื่อ ดาร์เรน วาสซอลล์ ที่ได้รับการคาดหมายว่าจะขึ้นมายึดตัวจริงแทนวอล์คเกอร์ ก็ดับอนาคตตัวเองด้วยการไปมีปัญหากับคลัฟในสนามซ้อม จนถูกขายออกจากทีม แถมสโมสรยังไม่สามารถหาผู้เล่นหน้าใหม่มาทดแทนได้ ทำให้ฟอเรสต์มีผู้เล่นหน้าใหม่เข้าสู่สโมสรในฤดูกาล 1992/93 ซีซั่นแรกของพรีเมียร์ลีกเพียงคนเดียว นั่นคือ เรย์ แม็คคินน่อน ซึ่งเล่นเป็นกองกลาง

ฤดูกาลอันดิ่งเหว

16 สิงหาคม 1992 ฟอเรสต์ลงสนามเกมแรกของศึกพรีเมียร์ลีกฤดูกาลแรก แม้พวกเขาจะไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของเกมเปิดฤดูกาลอย่างเป็นทางการซึ่งเกิดขึ้น 1 วันก่อนหน้า แต่เกมที่เปิดบ้านพบ ลิเวอร์พูล นั้น คือเกมแรกในประวัติศาสตร์พรีเมียร์ลีกที่มีการถ่ายทอดสด ซึ่งพวกเขาสามารถคว้าชัยได้ด้วยสกอร์ 1-0 โดยที่ เท็ดดี้ เชอริงแฮม เป็นผู้ยิงประตูชัย

 4

เกมและประตูดังกล่าวดูจะเป็นเรื่องดีๆ เพียงไม่กี่อย่างที่เกิดขึ้นกับทีมเจ้าป่าในฤดูกาล 1992/93 เพราะให้หลังเพียงสัปดาห์เดียว เชอริงแฮมก็ถูก ท็อตแน่ม ฮ็อทสเปอร์ ดึงตัวไปร่วมทีมด้วยค่าตัว 2.1 ล้านปอนด์

การสูญเสียดาวยิงอันดับต้นๆ ของทีม ส่งผลให้ผลงานของฟอเรสต์ค่อยๆ ดำดิ่งตามไปด้วย เมื่อการขาดแคลนศูนย์หน้าในการทำประตู กลายเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้ทีมเจ้าป่าพ่าย 4 นัดรวดในเดือนกันยายน… ฟอเรสต์ ดิ่งสู่โซนตกชั้นตั้งแต่นั้น ซึ่งพวกเขาไม่สามารถตะเกียกตะกายหนีออกไปได้อีกเลย

ไม่เพียงแต่ผลงานในสนามจะดิ่งลงเหว ปัญหาในส่วนของผู้เล่นก็ยังถาโถมอย่างไม่หยุดหย่อน เมื่อ แม็คคินน่อน ไปก่อปัญหาความรุนแรงภายในบ้านจนเป็นเหตุให้ได้รับบาดเจ็บที่เข่า สโมสรสั่งปรับค่าเหนื่อย 1 สัปดาห์ในเดือนพฤศจิกายน ถัดจากนั้นเพียงเดือนเดียว รอย คีน กองกลางดาวรุ่งพันธุ์ดุของทีมก็ไปมีเรื่องในงานปาร์ตี้จนถูกจับ แม้จะไม่ถูกตั้งข้อหาจนต้องขึ้นโรงขึ้นศาลก็ตาม ก่อนที่จะไปก่อเหตุซ้ำที่บาร์ในเดือนมีนาคม 1993 จนถูกปรับอีก 5,000 ปอนด์

 5

แม้แต่ตัวของคลัฟเองก็ยังมีส่วนกับเรื่องราวความวุ่นวายที่รายล้อมสโมสร เมื่อกุนซือปากตะไกรเกิดตบะแตกเมื่อถูกแฟนบอลด่าทอจากผลงานที่ดิ่วเหวไม่หยุดหย่อน จนทำ V-Sign สัญลักษณ์แห่งการดูถูกเหยียดหยามขั้นรุนแรงของชาวอังกฤษใส่แฟนบอล… เมื่อผลงานสุดย่ำแย่ในสนาม และปัญหาการติดสุราเรื้อรังที่นับวันยิ่งจะส่งผลต่อสุขภาพของคลัฟเองมากขึ้นเรื่อยๆ บอร์ดบริหารของฟอเรสต์จึงตัดสินใจนัดประชุมวิสามัญ เพื่อลงมติว่า คลัฟสมควรได้รับความไว้วางใจต่อไปหรือไม่?

ซึ่งแม้เขาจะรอดจากการถูกฝ่ายบริหารอัปเปหิจากสโมสรได้ แต่แฟนๆ ทีมเจ้าป่าหลายคนก็รู้สึกว่า กุนซือที่ดีที่สุดตลอดกาล ผู้นำสโมสรสู่ความยิ่งใหญ่คนนี้ ไม่สมควรที่จะอยู่กับทีมอีกต่อไป…

สมควรแก่เวลา

ผลงานสุดโหลยโท่ยในสนาม, การไม่สามารถควบคุมผู้เล่นให้อยู่กับร่องกับรอย รวมถึงปัญหาส่วนตัวของผู้จัดการทีม แม้มันจะไม่เพียงพอกับการทำให้คลัฟถูกปลด แต่สำหรับแฟนๆ หลายคน เท่านี้ก็เกินพอที่จะทำให้เขาหมดความชอบธรรมแล้ว

 6

จากที่คลัฟคือ "บุคคลผู้ไม่อาจแตะต้องได้" ในทีมฟอเรสต์ด้วยผลงานที่เคยสร้างในยุค 70s - 80s เข้าสู่ยุค 90s เสียงเชียร์ที่เคยกระหึ่มเริ่มถูกแซมด้วยเสียงขับไล่ ป้ายข้อความแสดงความเทิดทูนเริ่มแปรเปลี่ยนเป็นป้ายที่ขอให้เขาออกจากสโมสรไป หากเปรียบเทียบกับเหตุการณ์ร่วมสมัย ความรู้สึกดังกล่าวก็ไม่ต่างอะไรกับที่แฟนๆ ของ อาร์เซน่อล มีให้กับ อาร์แซน เวนเกอร์ ในช่วงบั้นปลายของการคุมทีม

สิ่งเดียวที่ต่างจากกรณีของเวนเกอร์คือ กระแสไล่คลัฟจากแฟนๆ ทีมเจ้าป่า เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงเวลาเพียงฤดูกาลเดียวที่สุ่มเสี่ยงต่อการตกชั้นเท่านั้นเอง…

"ผมว่ามันเป็นเรื่องที่น่าละอายมากเลยนะ" พ่อค้าขายเบอร์เกอร์หน้า ซิตี้ กราวด์ รังเหย้าของฟอเรสต์ ซึ่งไม่เปิดเผยชื่อเผยกับทาง Daily Mail "นี่คือฤดูกาลแย่ๆ ครั้งแรกในรอบ 5-6 ปีหลังเท่านั้นเอง แต่ทุกคนก็เรียกร้องให้คลัฟลาออกแล้ว ให้โอกาสเขาแก้ตัวหน่อยเถอะ ผมว่าทีมกลับมาได้แน่"

ขณะที่แฟนบอลฟอเรสต์อีกคนซึ่งขอสงวนออกนามเช่นกันเปิดใจว่า "แค่ปีเดียวมันไม่อาจตัดสินได้หรอกว่าเขาคือผู้จัดการทีมสุดห่วย เพราะคลัฟคือสิ่งที่ดีที่สุดที่พระเจ้าเคยประทานให้ชาวเมืองน็อตติ้งแฮมเลยนะ และผมก็นึกไม่ออกเหมือนกันว่าถ้าไม่มีเขา เราจะอยู่อย่างไร"

 7

ทว่าหากทุกสิ่งย่อมมีจุดจบฉันใด ฉากสุดท้ายของคลัฟกับฟอเรสต์ก็ย่อมมาถึงในสักวันเช่นกัน เพียงแต่มันมาถึงเร็วกว่าที่คาดไว้ไม่น้อย…

26 เมษายน 1993 ไบรอัน คลัฟ ประกาศว่า ตัวเขาจะขอก้าวลงจากตำแหน่งผู้จัดการทีมน็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ และอำลาวงการลูกหนังหลังจบฤดูกาลที่กำลังดำเนินอยู่ ปิดฉาก 28 ปีในการคุมทีม รวมถึง 18 ปีกับทีมเจ้าป่าไว้แต่เพียงเท่านี้น

"การเกษียณคือหนึ่งในเรื่องที่ผมคิดมาตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา แต่เรื่องดังกล่าวก็เหมือนกับผู้หญิงที่มันต้องใช้เวลาคิดให้รอบคอบ" เจ้าตัวเผยถึงเหตุผล "ผมอยู่กับวงการฟุตบอลมาถึง 41 ปีทั้งในฐานะนักเตะและผู้จัดการทีม ซึ่งหลายคนก็คิดว่า เวลาของผมคงเหลือไม่มากแล้ว"

"จริงอยู่ที่การตัดสินใจหยุดพักและนั่งนับเงินบำนาญเป็นอะไรที่ง่าย แต่ที่ยากก็คือ ช่วงเวลาไหนต่างหากที่เหมาะสมที่สุดกับการก้าวจากไป ผมคุยกับทั้งภรรยาและเพื่อนร่วมงานอยู่หลายชั่วโมงถึงเรื่องนี้ ซึ่งผมก็ต้องยอมรับว่า เรื่องต่างๆ ที่เกิดขึ้นมันไม่ได้เป็นคุณกับผมเท่าไหร่นัก คือถ้าทุกอย่างมันดีกว่านี้ ผมก็คงรู้สึกดีกว่านี้ แต่ผมคงไม่หนุ่มไปกว่านี้อีกแล้วล่ะ"

ฉากสุดท้าย

เมื่อข่าวการอำลาตำแหน่งของคลัฟออกสู่สาธารณะ ความคิดที่ว่าบอร์ดบริหารของสโมสรพยายามบีบให้คลัฟต้องรับผิดชอบจากทั้งผลงานของทีมและปัญหาส่วนตัวก็กลายเป็นข่าวลือที่ดังกระหึ่มทันที ทว่าบอร์ดบริหารก็ได้ออกมาปฏิเสธ พร้อมยืนยันว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือกันมาสักระยะ และนี่คือทางออกที่สวยงามที่สุดของทุกฝ่ายแล้ว

 8

แต่แม้สถานการณ์ภายในสโมสรจะชัดเจน การประกาศก้าวสู่ยุคใหม่ก็ไม่ได้ช่วยให้ทีมเจ้าป่าทำผลงานได้ดีขึ้นแต่อย่างใด… ที่สุดแล้ว น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ก็ตกชั้นอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 พฤษภาคม 1993 หลังพ่ายคาบ้านต่อ เชฟฟิลด์ ยูไนเต็ด 0-2

ที่เจ็บปวดที่สุดก็คือ เกมดังกล่าวเป็นเกมนัดสุดท้ายของคลัฟ ที่จะได้คุมทีมในรังซิตี้ กราวด์ เนื่องจากเกมนัดสุดท้ายของฤดูกาลนั้น ฟอเรสต์จะต้องออกไปเยือน อิปสวิช ทาวน์

ในวันนั้น ตำรวจเมืองน็อตติ้งแฮมแนะนำให้นักเตะและทีมสตาฟฟ์ทุกคนรีบออกจากสนามให้เร็วที่สุด เพื่อป้องกันเหตุการณ์ที่แฟนบอลอาจบุกลงมาทำร้ายเพื่อระบายความผิดหวัง ซึ่งแทบทุกคนก็ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้น ยกเว้นเพียง 2 คน... ไบรอัน คลัฟ กุนซือของทีม และ ไนเจล คลัฟ ลูกชายซึ่งเล่นในตำแหน่งศูนย์หน้าให้กับทีม ผู้เผยถึงเหตุผลที่ไม่เชื่อคำแนะนำของตำรวจว่า นี่คือโอกาสเดียวที่พวกเขาจะได้แสดงความขอบคุณแฟนๆ ที่ให้การสนับสนุนมาโดยตลอดทั้งในวันที่ดีและวันอันเลวร้าย

สิ่งที่ตำรวจคาดการณ์ไว้เป็นจริงอยู่เรื่องหนึ่ง นั่นคือแฟนบอลฟอเรสต์ไม่ยอมออกจากสนามอย่างที่คาดไว้ แต่สิ่งที่ผิดคาดก็คือ พวกเขาอยู่ต่อไม่ใช่เพื่อหวังระบายความอัดอั้น แต่เพื่อแสดงความเคารพต่อกุนซือผู้นำทุกสิ่งทุกอย่างมาให้กับสโมสรแห่งนี้เป็นครั้งสุดท้าย

 9

กุนซือปากตะไกรในเสื้อโปโลสีแดง กับสเวทเตอร์สีเขียวที่คุ้นตาแฟนบอลมาตลอดหลายปี เดินวนรอบสนามเพื่อรับการขอบคุณจากแฟนบอล เช่นเดียวกับแฟนๆ ที่ตะโกนเพื่อแสดงความรัก, เคารพ และอำลากุนซือผู้นี้เป็นครั้งสุดท้าย ซึ่งที่สุดแล้ว สาวกทีมเจ้าป่าก็กระโดดจากอัฒจันทร์ลงมายังพื้นสนามจนได้ ทว่าอย่างที่ได้กล่าว... พวกเขาลงมาเพื่อใกล้ชิดกับผู้จัดการทีมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของสโมสรเป็นครั้งสุดท้าย โดยที่ไม่มีปัญหากระทบกระทั่งแต่อย่างใด

ไบรอัน คลัฟ จากโลกนี้ไปอย่างไม่มีวันกลับด้วยวัย 69 ปี เมื่อปี 2004 หลังต่อสู้กับโรคตับแข็งและมะเร็งที่ช่องท้องมานานหลายปี การจากไปของเขา ทำให้แฟนบอลของ ดาร์บี้ และ น็อตติ้งแฮม ฟอเรสต์ ที่เป็นอริร่วมย่าน อีสต์ มิดแลนด์ ต้องร่ำไห้ มีประชาชนต้องการไว้อาลัยเป็นครั้งสุดท้ายในพิธีศพอย่างล้นหลามกว่าหมื่นคน จนต้องย้ายสถานที่ไปจัดในสนามไพรด์ พาร์ค รังเหย้าของหนึ่งในทีมที่เคยสร้างชื่อ ทั้งสองสโมสรจัดแข่งเกมกระชับมิตร ไบรอัน คลัฟ โทรฟี่ เป็นประเพณีมาตั้งแต่ปี 2007 จนกระทั่งทุกวันนี้

 10

เขาอาจจะสร้างเรื่องราวอื้อฉาวไว้มาก แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า ผลงานในระดับสโมสรนั้น โดดเด่นจนเป็นที่ยอมรับของแฟนบอลทุกภาคส่วน ซึ่งสิ่งที่ แบร์รี่ เดวี่ส์ อดีตนักพากย์ของ BBC ที่เป็นสักขีพยานในวันสุดท้ายของคลัฟที่ซิตี้ กราวด์ กล่าว คงสรุปนิยามของผู้ชายที่ได้รับการขนานนามว่า "กุนซืออังกฤษที่เก่งที่สุดที่ไม่เคยได้คุมทีมชาติอังกฤษ" ได้ดีที่สุด...

"ไม่ว่าเขาจะล้มเหลว หรือมีข้อบกพร่องสักเพียงใด ไบรอัน คลัฟ คือชายที่มีส่วนอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนวงการฟุตบอลให้เป็นไปในทางที่ดีเสมอ"

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ "ไบรอัน คลัฟ" : ชายทรนงกับการลาออกที่ไม่ต้องรอให้ใครมาบอก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook