"ดวงตา เตชะพิทักษ์ศาสน์" : จากนักมวยปล้ำหญิงไทยคนแรกสู่ดีไซเนอร์ชุดนักมวยปล้ำระดับโลก

"ดวงตา เตชะพิทักษ์ศาสน์" : จากนักมวยปล้ำหญิงไทยคนแรกสู่ดีไซเนอร์ชุดนักมวยปล้ำระดับโลก

"ดวงตา เตชะพิทักษ์ศาสน์" : จากนักมวยปล้ำหญิงไทยคนแรกสู่ดีไซเนอร์ชุดนักมวยปล้ำระดับโลก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ดวงตา เตชะพิทักษ์ศาสน์ หลายคนอาจรู้จักเธอในนาม “บลู โลตัส” นักกีฬาผู้จารึกประวัติศาสตร์ เป็นนักมวยปล้ำหญิงคนแรกของประเทศไทย ที่โด่งดังออกหน้าสื่ออยู่บ่อยครั้ง

 

แต่อีกด้านหนึ่งที่เหลือเชื่อยิ่งกว่าการเป็นนักมวยปล้ำหญิงไทยคนแรก คือการที่ดวงตา ได้รับโอกาสเป็นดีไซน์เนอร์ออกแบบชุดแข่งขัน ให้กับนักมวยปล้ำชื่อดังในสมาคมชั้นนำของประเทศญี่ปุ่น

วันนี้ Main Stand จะพาคุณไปรู้จักเรื่องราวอีกด้านของเธอ ที่รู้จักกันในนาม Tapla หรือ ตาปลา แฟนอาร์ตติสมวยปล้ำชื่อดังของหมู่แฟนต่างชาติที่ก้าวไกลไปออกแบบชุดให้นักมวยปล้ำระดับโลก ไปอยู่ต่อหน้าแฟนๆกว่าสองหมื่นคนมาแล้ว

ติดตามเรื่องราวของเธอ ไปพร้อมกันได้ที่นี่

แฟนอาร์ตไทยไกลระดับโลก

“เราเริ่มวาดรูปก่อน ชอบมาตั้งแต่เด็กแล้ว ส่วนเรื่องมวยปล้ำ เราพึ่งมาชอบตอนอยู่ม.สอง หรือม.สาม ด้วยความที่เราอยากเอาความชอบของเรามาอยู่ด้วยกัน เราเลยเริ่มวาดแฟนอาร์ต”

 1

ตาปลา หรือ ดวงตา เตชะพิทักษ์ศาสน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นในการลงมือทำแฟนอาร์ต ซึ่งมาจากความหลงใหลในสองสิ่งที่เธอรัก คือ การวาดภาพ และ มวยปล้ำ

ในช่วงเวลาที่ ตาปลา เริ่มต้นวาดแฟนอาร์ต สังคมออนไลน์ในรูปแบบต่างๆยังไม่ได้รับความนิยมเหมือนทุกวันนี้ เธอจึงเลือกเผยแพร่ผลงานผ่านทางเว็บบอร์ดมวยปล้ำที่รู้จักกันดีในนาม “เว็บน้าติง” และรับฟังติติงต่างๆ เพื่อพัฒนาทักษะจนแข็งกล้า

ก่อนต่อยอดเข้าสู่การเป็นนักวาดแฟนอาร์ตมืออาชีพ ด้วยการเอาผลงานไปลงในเว็บไซต์ดีเวียนอาร์ต จนไปเข้าตาค่ายมวยปล้ำอันดับหนึ่งของโลกอย่าง ดับเบิลยูดับเบิลยูอี (WWE)

“ช่วงแรกที่เราวาดแฟนอาร์ต WWE พึ่งเปิดแอพพลิเคชั่นของตัวเอง (WWE App) แล้วในนั้นมันจะมีส่วนหนึ่งที่เป็นการโชว์แฟนอาร์ต ผลงานของเราได้ขึ้นค่อนข้างบ่อย เราเลยเริ่มได้รับความนิยมในช่วงนั้น”

 2

แม้จะเข้าสู่วงการได้ไม่นาน แต่ตาปลาสร้างชื่อให้กับตัวเองได้อย่างรวดเร็ว ในฐานะนักวาดแฟนอาร์ตที่มีผลงานแตกต่างออกไปจากคนอื่น เมื่อเธอนำรูปการวาดภาพสไตล์ “การ์ตูนจิบิ” เข้ามาผสมกับภาพนักมวยปล้ำที่มีความดิบเถื่อน ทำให้เกิดผลงานที่เธอนำเสนอออกมา มีการเล่าเรื่องที่แตกต่างออกไป และได้รับการจดจำในวงกว้างอย่างรวดเร็ว

“เราพยายามใส่ความน่ารักลงไป ไม่ว่านักมวยปล้ำจะโหดแค่ไหน เราจะหากิมมิคที่น่ารักใส่ลงไปให้ แล้วพอเราใส่เนื้อเรื่องเวลาวาดรูปเข้าไป มันเป็นเรื่องที่คิดเอาเองก็ได้ แต่ถ้าคนดูมันเข้าใจว่าจะสื่ออะไร เขาก็จะชอบ เพราะมันน่ารัก มันฮา”

“เราว่าในการวาดแฟนอาร์ต ฝีมือก็สำคัญนะ แต่เรื่องของไอเดียและคอนเซปต์ในภาพ อันนั้นสำคัญกว่า เพราะงั้นเราจึงต้องหาให้ได้ว่า เรื่องราวในภาพจริงๆมันคืออะไร ตีมันออกมาให้ได้”

 3

เมื่อได้รับความนิยมมากจนมีแฟนคลับเป็นของตัวเอง ตาปลาจึงเปิดทวิตเตอร์เป็นช่องทางหลักในการเผยแพร่ผลงาน ก่อนตัดสินใจก้าวครั้งสำคัญ ด้วยการขยับการวาดแฟนอาร์ตจากงานอดิเรก ให้กลายเป็นอาชีพเสริม หารายได้เพิ่มให้กับตัวเอง

“เราเห็นคนอื่นเขารับจ้างวาดรูป เรารู้สึกว่า เออ น่าสนใจ ลองเปิดจริงจังบ้างดีกว่า เลยเดินเรื่องทำบัญชีเพย์แพล บวกกับตอนนั้นได้เมาส์ปากกามาด้วย เราเลยกล้าเปิดจริงจัง เพราะรู้สึกว่าเราทำงานได้เร็วขึ้น ลายเส้นดูเป็นมืออาชีพ หลังจากนั้นเราก็รับมาตลอด”

“เราคิดว่าการวาดแฟนอาร์ตแบบสม่ำเสมอ มันทำให้เราพัฒนาตัวเองขึ้น เราเลยกล้าทำตรงนี้เป็นอาชีพ ขณะเดียวกัน คนดูงานของเราก็เริ่มเห็นว่างานตรงนี้มันมีมูลค่า มันขายได้ เขาก็เลยกล้าซื้อ”

ผลงานของตาปลาที่ขายกับบรรดาให้กับผู้ที่สนใจ ไม่จำกัดว่าต้องเป็นภาพแฟนอาร์ตเท่านั้น เธอรับวาดภาพทุกรูปแบบตามที่ลูกค้าร้องขอ ไม่ว่าจะเป็น ภาพแฟนๆกับนักมวยปล้ำคนโปรด, วาดแบนเนอร์ให้กับเว็บไซต์ รวมไปถึงเรื่องง่ายๆอย่าง ภาพโปรไฟล์

 4

ก้าวสู่ โตเกียว โดม

“ตอนนั้นเราวาดแฟนอาร์ตให้ วิล ออสเพรย์ (Will Ospreay) กิมมิคของเขาคือ Ariel Assassin (นักฆ่ากลางอากาศ) เรานึกถึงเกม แอสซาซิน ครีด เลยคิดว่าถ้าเราชุดนักฆ่าแบบแอสซาซินมาให้เขาใส่ มันจะเป็นยังไง เราก็เลยวาดออกมา แล้วก็แท็กไปในทวิตเตอร์”

“หลังจากนั้น เขาก็ส่งข้อความมาหาเรา บอกว่า ความลับนะ ช่วยออกแบบชุดมวยปล้ำให้หน่อย”

 5

ตาปลา เล่าถึงช่วงเวลาที่เธอได้รับข้อเสนอจาก วิล ออสเพรย์ นักมวยปล้ำชาวอังกฤษจากสมาคม New Japan Pro Wrestling ซึ่งกำลังมองหาชุดพิเศษไปใส่ในศึกเรสเซิล คิงดอม (Wrestle Kingdom) อีเวนท์ประจำปีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของมวยปล้ำญี่ปุ่น ซึ่งจะมีผู้ชมไม่ต่ำกว่าสี่หมื่นคน

เมื่อข้อเสนอที่แสนจะท้าทายและปฏิเสธไม่ได้ เดินเข้ามาหาตัวเธอแบบเหลือเชื่อ ตาปลาเลือกรับทำงานดังกล่าว แม้จะไร้ประสบการณ์ และไม่ได้รับค่าจ้างแม้แต่บาทเดียว

แถมยังอยู่ในช่วงเวลาการศึกษาปีที่ห้าของการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ซึ่งสำหรับนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์แบบเธอแล้ว มันคือช่วงเวลาที่โหดหินที่สุดในชีวิต

“ตอนเริ่มทำชุดมวยปล้ำครั้งแรก ตอนนั้นยังเรียนอยู่ปีห้า เป็นตอนที่การทำโปรเจคต์จบยังไม่เดือด คือตอนนั้นเรารู้สึกว่า การเรียนมันเครียดมาก เราเลยแยกมาทำตรงนี้เป็นงานอดิเรก และเรามองว่ามันเป็นโอกาสใหญ่ ได้ทำชุดให้นักมวยปล้ำเลยนะ ถ้าไม่ทำก็บ้าแล้ว”

หลังตกลงรับงาน ตาปลาจึงได้เรียนรู้กับวิธีการสร้างสรรค์ผลงานที่แตกต่างออกไป เมื่อการทำชุดให้นักมวยปล้ำไม่สามารถใส่ไอเดียอย่างเต็มที่ได้เหมือนวาดแฟนอาร์ต เนื่องจากทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้รายละเอียดที่ฝั่งนักมวยปล้ำได้กำหนดมา และไม่เปิดช่องว่างให้ตาปลาได้แสดงความเป็นตัวเองเท่าใดนัก

“เราพยายามไม่ใส่การออกแบบของเราลงไปให้เยอะเกิน เพราะรายละเอียดทั้งหมด เขาบรีฟมาแล้วว่าต้องการชุดประมาณไหน เวลาทำงานเราต้องคุยกันตลอด เราส่งงานไป เขาฟีดแบกกลับมา เป็นแบบนี้เรื่อยๆ ประมาณ 4-5 รอบ”

“อย่างถ้าเขาบอกชุดนี้ ให้คงสไตล์ความเป็นแอสซาซินไว้ ใส่สีทองเยอะๆ มีสีอื่นแดง ดำ ม่วง ตัดกัน แล้วให้กางเกง ให้เป็นขาสั้น เราออกแบบมากกว่านี้ไม่ได้แล้ว เราต้องทำตามเขาบอก”

 6

แม้งานออกแบบชุดนักมวยปล้ำ จะเป็นงานที่ยากและไม่คุ้นชินเท่าไหร่สำหรับตาปลา แต่นั่นช่วงเวลาที่เธอรู้สึกกดดันและตื่นเต้นมากที่สุด เท่ากับตอนที่เธอได้เห็นชุดที่ส่งออกจากมือเธอบนกระดาษ กลายเป็นผลงานที่คนสวมใส่ได้จริง

“หลังจากออกแบบเสร็จแล้ว เขาเอาชุดนี้ไปตัดที่ญี่ปุ่น เพราะว่าเมืองไทยมันไม่มีร้านตัดชุดมวยปล้ำ เขาเลยต้องตัดที่นู่น ตอนเห็นของจริง เราเลยลุ้นมาก เพราะการทำตรงนี้ที่ยากที่สุดคือ เราได้แค่ออกแบบ แต่เราไม่รู้เลยว่าวัสดุที่ร้านมีอะไรบ้าง เราได้แค่ไกด์คร่าวๆ นี่คือความลำบาก พอมันไม่มีของ เราไม่รู้เลยว่าของจริงมันจะออกเป็นยังไง เราเลยออกแบบง่ายๆ ให้มันทำได้ไว้ก่อน”

“สุดท้าย คือเราเห็นของจริงก่อนเขาใส่ขึ้นปล้ำวันเดียว เราเลยคิดว่ามันจะใส่ได้จริงเหรอ ไม่ต้องแก้เลยเหรอ”

 7

อย่างไรก็ดี ทุกอย่างผ่านไปโดยไม่มีปัญหา ชุดมวยปล้ำตัวแรกของตาปลาได้ออกแบบอย่างเป็นทางการ ได้ขึ้นปล้ำต่อหน้าผู้ชม 26,192 คน ในศึกเรสเซิล คิงดอม ครั้งที่ 11 ที่โตเกียว โดม ถือเป็นก้าวแรกอันยิ่งใหญ่ที่ทำให้เธอได้ก้าวไปออกแบบชุดให้กับนักมวยปล้ำอีกหลายคนต่อมา

“หลังจากปล้ำเสร็จ เขาตอบเรากลับมาว่าโอเคเลยนะ แล้วเขาก็โพสลง ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม ว่าชุดนี้สวย ชุดนี้เราออกแบบให้เขา เราเลยเอาไปโฆษณาต่อเลยว่าว่าทำชุดมวยปล้ำให้ วิล ออสเพรย์ จริงๆเรียกว่าเราประกาศเลยดีกว่า หลังจากนั้นเราก็เดินหน้าทำชุดให้นักมวยปล้ำเลย”

เรียนรู้ความจริงของธุรกิจ

หลังได้ชิมลางการออกแบบชุดนักมวยปล้ำ ตาปลาตัดสินใจเดินหน้าบนเส้นทางนี้ต่อ ด้วยการรับงานใหม่จากลูกค้ารายเดิมอย่าง วิล ออสเพรย์ แต่สำหรับการทำชุดที่สอง เธอขยับคำใกล้ความเป็นมืออาชีพบนสายนี้มากขึ้น ด้วยการคิดค่าออกแบบอย่างเต็มตัว ไม่ใช่แค่แฟนคลับที่ออกแบบชุดฟรีให้นักมวยปล้ำอีกต่อไป

 8

“ชุดแรกเราไม่ได้มองเรื่องเงินเลย เรารู้สึกว่านี่มันเป็นโอกาส ลองคิดดูว่า ถ้ามีใครเสนองานแบบนี้ให้คุณ คุณก็ต้องทำ เพราะมันคือโอกาสใหญ่ ต่อให้ชุดที่เราทำจะอยู่แค่คู่เล็กๆ ออกมาปล้ำแปบเดียว แต่เมื่อเอาภาพมาเป็นเครดิตตัวเองได้ มันก็คุ้ม ชุดแรกที่เราทำเลยรู้สึกว่า ต่อให้ทำฟรีก็โอเค ถือเป็นค่าโปรโมตไป”

“ส่วนตัวที่สอง เราตั้งใจแล้วละว่าจะเก็บเงิน แต่ทางเขาตั้งข้อแม้มาว่า ถ้าชุดนี้ไม่ได้ทำ ก็ไม่จ่ายนะ สุดท้ายคือไม่ได้ทำจริงๆ เหมือนเขาน่าจะรู้ว่าอาจจะไม่ได้ใช้ เลยบอกบอกเรามาแบบนี้”

เพื่อกันไม่ให้เสียเวลาออกแบบฟรีเป็นครั้งที่สอง ตาปลาจึงเรียนรู้จากบทเรียนที่ได้รับ ด้วยการยื่นคำขาดไปยังบรรดาลูกค้า หรือ นักมวยปล้ำทั้งหลายว่า ต้องจ่ายเงินก่อนการว่าจ้างเท่านั้น ไม่หากไม่ทำตามเงื่อนไขดังกล่าว จะไม่มีการเริ่มลงมือวาดภาพออกแบบใดๆเด็ดขาด

“เราเข้าใจนะ ถ้าเขาจะไม่จ่าย แต่มันต้องเแฟร์กันทั้งสองฝ่าย ถ้าคุณอยากได้ดีไซน์สวย คุณก็จ่ายเรามา ไม่อยากได้ก็จบ อย่างมีเคสของนักมวยปล้ำคนหนึ่ง เขาเคยมาขอแฟนอาร์ตของเราไปทำเสื้อขาย เราบอกตรงๆเลยว่าไม่ให้ อยากได้จ่ายเงินมาก่อน เขาก็ไม่เอา แค่นั้น จบ”

“คือเราจำเป็นต้องปฏิเสธนะ เพราะนี่คืองานของเรา เรื่องนี้มันต้องแฟร์กับตัวเราด้วย” ตาปลา บอก

 9

ตาปลาคิดราคาผลงานออกแบบของเธอไว้ที่ 40 ดอลลาร์สหรัฐ หรือตีเป็นเงินไทยได้ประมาณ 1,200 บาท ถือเป็นจำนวนเงินที่วางเอาไว้ให้เป็นมาตรฐาน พยายามไม่ลดหรือเพิ่มให้มากไปกว่านี้ โดยเธอคิดเป็นราคาเดียวกันทั้งหมด ไม่ว่าจะออกแบบชุดมวยปล้ำให้ทั้งตัว หรือแค่ลายการ์ตูนบนเสื้อยืดธรรมดา

หากดูกันตามราคาเสื้อมวยปล้ำที่วางขาย ค่าแรงในการออกแบบของตาปลาถือว่าถูกมาก เพราะราคาสินค้าอยู่ที่ประมาณ 30 ดอลลาร์สหรัฐ หมายความว่าขายได้ตัวเดียวก็เกือบเท่าทุนค่าออกแบบ แต่ความจริงในสายตานักมวยปล้ำ เงินจำนวนนี้ถือว่าแพงมาก และทำให้เธอไม่สามารถเพิ่มมูลค่าของงานให้สูงขึ้นกว่านี้ได้

“นักมวยปล้ำบางคนจะรู้สึกว่าแพง ถ้าเราเพิ่มราคาให้มากกว่านี้ เขาก็ไม่ยอมจ่าย เรารู้สึกว่า บางคนที่ไม่จ้างเราก็เพราะไม่ยอมจ่ายด้วย แต่ที่เราคิดในมุมของนักมวยปล้ำคือ เขาต้องจ่ายทั้งค่าทำชุดอยู่แล้ว หากต้องมาจ่ายค่าออกแบบเพิ่ม พอรวมกันมันอาจจะเป็นเงินก้อนใหญ่ เท่าที่เคยถามมาคือ ชุดมวยปล้ำทั้งชุดราคาอยู่ที่แสนเยน เงินไทยก็ประมาณสองถึงสามแสนบาท”

“แต่เรื่องนี้ พอเรามาคุยกับคนไทยด้วยกัน เขาจะรู้สึกว่าถูกมาก เราเคยคุยกับ ดร.กอร์ (นักมวยปล้ำชาวสิงคโปร์) ตัวจริงเขาเป็นกราฟฟิคดีไซน์เนอร์ เขารับทำเสื้อด้วยเหมือนกัน เขาคิดราคาออกแบบเสื้อของเขาสามพันบาท เขาเลยบอกกับเราว่า แกทำเสื้อถูกมากเลยนะ”

 10

แม้จะได้ค่าตอบแทนไม่คุ้มเวลา แต่ตาปลายังมองว่างานออกแบบชุดนักมวยปล้ำ ให้ผลดีต่อตัวเธอมากกว่าผลเสีย เพราะนอกจากจะได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก เธอยังใช้มันเป็นประตูก้าวสู่การหารายได้ในช่องทางอื่นได้อีก

“เราคิดว่าการออกแบบชุดนักมวยปล้ำ มันต่อยอดได้จริงๆนะ หลังจากเราเรียนจบแล้ว เราเอาตรงนี้มาทำเป็นอาชีพเสริมจริงจัง คนสนใจในงานของเราเยอะเพราะเราบอกเขาได้ว่าเรามีประสบการณ์ตรงนี้อยู่”

งานที่รักมากที่สุด

ถึงจะสามารถก้าวไปสู่การออกแบบชุดให้นักมวยปล้ำอาชีพได้ ตาปลายังยืนยันว่างานที่เธอให้ความสำคัญมากที่สุดบนเส้นทางนี้ คือการวาดแฟนอาร์ต เนื่องจากเป็นงานที่เธอรักและได้ปลดปล่อยความเป็นตัวเองออกมามากที่สุด

 11

“แน่นอนว่าเราชอบแฟนอาร์ตมากกว่า เพราะแฟนอาร์ตเป็นตัวตนเราได้เต็มที่ มันตัดสินเลยว่าคนชอบงานของเราหรือเปล่า คือเราวาดไปเลย ไม่รู้ว่าพอผลงานออกมา มันจะโดนด่าหรือเปล่า แต่เมื่อคนชอบ คือเขาชอบที่ไอเดียเราจริงๆ ไม่ได้แบบเป็นไอเดียคนอื่นที่กำหนดมาให้”

“งานออกแบบชุดนักมวยปล้ำเหมือนเป็นงานเสริม แต่อันนี้คือความชอบเรา”

ไม่เพียงแค่เรื่องเหตุผลส่วนตัวที่ทำให้ตาปลารักงานวาดแฟนอาร์ต มากกว่าการออกแบบชุดให้นักมวยปล้ำ แต่ยังรวมไปถึงเรื่องความรับผิดชอบต่ออาชีพ ซึ่งถือเป็นข้อที่เธอจะละเลยไม่ได้เลย

“เรายังวาดแฟนอาร์ตเป็นหลักนะ เพราะว่าตอนแรกเราวาดแฟนอาร์ตก่อน แล้วแฟนคลับเข้ามากันเยอะ เราเลยกล้ารับงานส่วนนี้ตรงนี้เป็นอาชีพเสริม เราจึงไม่กล้าเลิกวาดแฟนอาร์ตไปเลย แล้วตั้งหน้ารับแต่งานอย่างเดียว เพราะถ้าทำแบบนั้น ฐานแฟนเราจะหายไป แล้วคนที่เคยชอบแฟนอาร์ตตรงนี้ จนยอมมาจ้างเราทำงาน มันก็จะหายไปด้วย”

“เพราะงั้น เราค่อนข้างให้ความสำคัญกับแฟนอาร์ต เราต้องแบ่งตารางเลยว่า เราต้องวาดงานแบบนี้ แฟนอาร์ตเราต้องออกทุกเดือน เพราะว่ามีคนบริจาคเงินให้เราด้วย เราเลยต้องวาด ยังไงก็ต้องวาดให้ได้ แต่ต้องไม่ฝืนนะ วาดแบบเป็นตัวเอง แค่หาช่วงเวลาว่าตอนนี้อะไรอะไรในชีวิตสำคัญกว่ากัน”

 12

“ตอนเราใกล้เรียนจบที่งานมันเยอะมาก เราไม่เอางานแฟนอาร์ตเลย เราเว้น เราไม่วาดเลย เพราะว่าอย่างที่บอก เราทำงานที่เก็บเงินชาวบ้าน ถ้าเรารับทำเขาจะทวงเราตลอด พอเราเจอความกดดันสองทาง สติแตกแน่ เราเลยพอดีกว่า เราเบรกไปสี่เดือนเลยตอนนั้น แล้วบอกคนบริจาคเงินให้เราว่า สี่เดือนนี้ไม่ต้องให้เงินมาก็ได้นะ เพราะว่าเราจะไม่วาดภาพเลย”

ปัจจุบัน ตาปลาทำงานเป็นนักออกแบบภายในให้กับบริษัทแห่งหนึ่ง  ควบคู่ไปกับการเปิดลงผลงานในเว็บไซต์พาทรอน (patreon) เพื่อรับบริจาคเงินจากแฟนคลับที่ชอบในผลงานของเธอ รวมถึงงานว่าจ้างวาดรูปทั่วไป ซึ่งสามารถหารายได้เสริมให้เธอได้จำนวนหนึ่ง แต่ยังห่างไกลจากคำว่าอาชีพหลักอีกมาก

ตาปลาฝันว่าวันหนึ่งหากเธอสามารถหารายได้มากพอจากงานที่เธอรักได้จริง จนเลี้ยงชีพตัวเองได้ในระดับที่ไม่ลำบาก เธอจะไม่ลังเลที่จะออกจากงานประจำที่ทำอยู่

“ถามว่างานออกแบบภายในที่ทำตอนนี้ มันตรงสายที่เรียนมาใช่ไหม มันก็ใช่ แต่ถามว่ามันใช่ความชอบเราไหม เราบอกเลยว่า ไม่ใช่ เราเลยคิดว่าถ้าเราสามารถวาดอะไรที่ชอบแบบนี้ แล้วหาเงินได้เยอะในระดับที่เลี้ยงตัวเองได้ เราจะมีความสุขมาก ถ้าเราทำได้ เราจะออกจากงานหลักเลย”

สร้างโลกสองใบ เพื่อวงการมวยปล้ำไทย

ไม่จำเป็นต้องคบแฟนซ้อนสองคน ถึงจะสร้างตัวตนใหม่ขึ้นมาให้โลกเห็นเป็นสอง แต่นักวาดแฟนอาร์ตอย่าง ตาปลา จำเป็นต้องแบ่งชีวิตเธอเป็นสองส่วนนเช่นกัน เมื่อเธอยังมีบทบาทบนเวทีมวยปล้ำ ในฐานะ บลู โลตัส นักมวยปล้ำหญิงคนแรกของไทยอยู่

 13

“เราพยายามบาลานซ์กันนะ เราพยายามทำในส่วนของนักมวยปล้ำให้ดี แล้วก็ทำในส่วนของแฟนอาร์ตให้ดีด้วย แต่เราจะไม่เอาสองอย่างนี้มารวมกัน คือความจริงทุกคนรู้จักเราในนาม บลู โลตัส แต่ไม่รู้จักเราในนาม ตาปลา ส่วนคนที่ติดตามแฟนอาร์ตของตาปลา ไม่รู้ว่าเราเป็นนักมวยปล้ำ”

การแบ่งตัวตนชัดเจนระหว่าง นักมวยปล้ำที่ชื่อ “บลู โลตัส” กับ นักวาดแฟนอาร์ต “ตาปลา” เป็นเรื่องที่เธอไม่สามารถเลือกว่าทำหรือไม่ทำก็ได้

เพราะเมื่อก้าวสู่อาชีพมวยปล้ำอาชีพ ซึ่งการรักษาคาแรกเตอร์เป็นเรื่องสำคัญ การแสดงด้านที่เป็นแฟนคลับคลั่งไคล้คนในวงการเดียวกันแบบออกนอกหน้า จึงถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่สามารถทำได้

“เราเอาทั้งสองอย่างมารวมกันไม่ได้ ด้วยความที่ด้านหนึ่งเราเป็นนักมวยปล้ำ เราไม่สามารถตามกรี๊ดนักมวยปล้ำคนอื่นได้”

“เรารู้สึกว่านักมวยปล้ำที่ไปตามวาดแฟนอาร์ตให้คนอื่น มันไม่เหมาะสม เรื่องนี้มันเป็นการรักษาคาแรกเตอร์ของเรา และมันคือสิ่งที่ไม่ควรทำอย่างยิ่ง เราเลยจำเป็นต้องแยกทั้งสองอย่างนี้ออกจากกัน และต้องทำให้ได้”

 14

แม้การเป็นนักมวยปล้ำจะโคตรยากและเบียดเบียนงานอีกด้านที่เธอรัก แต่ตาปลายืนยันว่าไม่เคยมีความคิดที่จะเลิกปล้ำ ตราบใดที่เธอยังรู้สึกว่างานของเธอ สามารถสร้างประโยชน์ให้กับวงการมวยปล้ำไทย และนำเสนอตัวตนของเราออกไปให้โลกได้รับรู้

“ถ้าเราสนุกไปกับการปล้ำด้วย แล้วเราสามารถทำงานวาดรูปได้อย่างเต็มที่ เราว่าเราทำมันได้ทั้งหมดนะ เพราะทั้งสองอย่าง มันมาจากความชอบมวยปล้ำของเรา เราแค่อยากให้มวยปล้ำดังมากกว่านี้”

ดังนั้น ทุกสิ่งที่ตาปลาทำอยู่ในเวลานี้ ทั้งการวาดรูปแฟนอาร์ต, ออกแบบชุดนักมวยปล้ำ หรือ ขึ้นแข่งขันจริงบนสังเวียนอาชีพ เพื่อประกาศให้โลกรู้ว่าประเทศไทยมีสังคมคนรักมวยปล้ำอยู่ ไม่ได้จางหายไปแบบที่ใครหลายคนคิด

“เราเป็นคนไทย เราอยากให้แฟนมวยปล้ำประเทศอื่น นักมวยปล้ำประเทศอื่น รู้จักว่าเมืองไทยก็มีมวยปล้ำนะ เราทำแฟนอาร์ตเพื่อแสดงให้เห็นว่า เราเป็นคนไทยที่วาดรูปมวยปล้ำได้ เราติดต่อกับนักมวยปล้ำได้ มีคนทักมาเต็มเลยว่า เป็นคนไทยเหรอ เจ๋งจัง เมืองไทยมีมวยปล้ำด้วยเหรอ”

“เราเป็นนักมวยปล้ำหญิงไทยคนแรก นำเสนอความเป็นไทยออกไป พอเวลาไปไปล้ำต่างประเทศ เราสามารถบอกโลกได้ว่ามีนักมวยปล้ำไทยแล้วนะ เราทำแฟนอาร์ตเพื่อแสดงให้โลกเห็นว่า เราเป็นคนไทย”

“สมมติว่ามีเราเป็นคนที่หนึ่ง มันอาจจะมีคนที่สอง คนที่สาม พอมันมีเยอะคิด เขาก็จะเห็นว่ามวยปล้ำเมืองไทยมันเริ่มโต มันน่าสนใจ คำพูดที่ว่าอยากดูมวยปล้ำไทย มันอาจจะมาจากแฟนที่เป็นแฟนมวยปล้ำเฉยๆ หรือค่ายมวยปล้ำก็ได้”

 15

อย่างไรก็ตาม ตาปลายอมรับว่ายังอีกไกล หากนักมวยปล้ำไทยจะโด่งดังเป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยส่วนหนึ่งที่เธอมองว่าปัญหาตรงนี้ยังเกิดขึ้น มาจากคนในประเทศเราเองที่ยังไม่ตระหนักรู้ถึงการมีอยู่ของมัน และไม่ประกาศออกไปมากพอเพื่อให้โลกรู้ถึงการมีอยู่ของวงการนี้

“เราคิดว่าที่วงการมวยปล้ำไทยมันมีปัญหา เพราะว่าเราไม่ทำให้คนอื่นรับรู้ถึงการมีอยู่ของเรา”

“ถ้าคนไทยกันไปคุยกันในทวิตเตอร์มากขึ้น ให้โลกรู้ว่ามันมีฐานคนชอบมวยปล้ำอยู่ในเมืองไทย เรารู้สึกว่า สักพักค่ายมวยปล้ำต่างประเทศจะเริ่มให้ความสนใจประเทศเราเอง เราต้องทำตัวให้ทุกคนรู้ว่าเรามีตัวตน”

แม้เป้าหมายที่เธอวาดฝันเอาไว้จะยังห่างไกล แต่ทุกวันนี้ ตาปลา ถือเป็นคนหนึ่งที่มีความสุขมากบนเส้นทางอาชีพของเธอ ไม่ใช่เพราะว่าเธอได้เป็นคนไทยคนแรกที่ออกแบบชุดให้นักมวยปล้ำ หรือ ได้เงินมหาศาลจากงานตรงนี้ แต่เป็นเพราะเธอได้ทำในสิ่งที่หลงรักในทุกวันของชีวิต

“เรามีความสุขมากกับสิ่งที่เราทำในตอนนี้ เพราะนี่คือความชอบของเรา แค่มีคนชื่นชอบผลงานเรา เราก็คิดว่าเราประสบความสำเร็จมากแล้ว”

“ถามว่าเราชอบตอนไหนมากที่สุด ตั้งแต่เราทำตรงนี้มา คือเวลาที่เอารูปเราไปลงที่ไหนก็แล้วแต่ แล้วมีคนจำได้ว่านี่คืองานของเรา ตอนนั้นเรามีความสุขมากที่สุด”

“เวลาคนพูดว่า นี่คือภาพของตาปลา เราชอบภาพของเขา อันนี้คือที่สุดแล้วอ่ะ เราเลยรู้สึกว่าเราประสบความสำเร็จแล้วละ ในฐานะที่แฟนอาร์ตติสคนหนึ่งจะทำได้”

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ

อัลบั้มภาพ 15 ภาพ ของ "ดวงตา เตชะพิทักษ์ศาสน์" : จากนักมวยปล้ำหญิงไทยคนแรกสู่ดีไซเนอร์ชุดนักมวยปล้ำระดับโลก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook