เมื่อแฟนบอลเป็นคนทำทีม : "วัดโบสถ์ ซิตี้" สโมสรลูกหนังบ้านๆ ที่เต็มไปด้วยความน่ารัก

เมื่อแฟนบอลเป็นคนทำทีม : "วัดโบสถ์ ซิตี้" สโมสรลูกหนังบ้านๆ ที่เต็มไปด้วยความน่ารัก

เมื่อแฟนบอลเป็นคนทำทีม : "วัดโบสถ์ ซิตี้" สโมสรลูกหนังบ้านๆ ที่เต็มไปด้วยความน่ารัก
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“เราวาดฝันมาโดยตลอดว่า อยากมีทีมฟุตบอล ในแบบที่เราต้องการ ไอ้ที่เราบ่นๆกันตอนเป็นแฟนบอลว่าสโมสรควรทำอย่างนู้นอย่างนี้ พอลงมาทำทีมกันจริงๆ แล้วเราจะสามารถทำได้ไหม?”

ในโครงสร้างของสโมสรฟุตบอลอาชีพ “เจ้าของทีม” กับ “แฟนบอล” ดูเหมือนจะเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลกันพอสมควร เพราะต่างคนต่างมีหน้าที่ บทบาท ความสำคัญต่อสโมสรในมุมที่แตกต่างกันออกไป

 

แต่นั่นไม่ใช่กับ “หนูนาจอมโหด” วัดโบสถ์ ซิตี้ ทีมฟุตบอลอาชีพขนาดเล็ก ในระดับออมสิน ลีก โซนภาคเหนือ ที่ก่อร่างสร้างทีม บริหารจัดการสโมสร โดยกลุ่มแฟนฟุตบอลชาวจังหวัดพิษณุโลก แบบร้อยเปอร์เซนต์ ไร้อำนาจ บารมี จากนักการเมือง นักธุรกิจใหญ่โต หรือผู้มีอิทธิพลในพื้นที่เลย

ทุกอย่างเกิดขึ้นจากแฟนบอลที่อยากทำทีมฟุตบอลในอุดมคติ ที่หวังจะสร้างบรรทัดฐานใหม่ๆ ให้กับวงการลูกหนังไทย และทำในสิ่งที่แฟนบอลหลายๆคน อาจเคยคิดไว้ให้เกิดขึ้นจริง

กำเนิด หนูนาจอมโหด

เราเดินทางมายัง สนามฟุตบอลภายใน กองบิน 46 จังหวัดพิษณุโลก เพื่อพบกับ  “ปิยะ ไกรทอง” อดีตประธานแฟนคลับสโมสรฟุตบอลพิษณุโลก เอฟซี ที่ปัจจุบันผันตัวเองมาร่วมก่อตั้งทีมฟุตบอล วัดโบสถ์ ซิตี้ ทีมน้องใหม่ที่เพิ่งเลื่อนชั้นมาเล่นในฟุตบอลลีกอาชีพเป็นปีแรก

 1

ระหว่างที่ วัดโบสถ์ ซิตี้ กำลังอุ่นเครื่องกับ พิษณุโลก ยูไนเต็ด ทีมระดับศึกอเมเจอร์ลีก (TA) ตามคำเชิญของทีมสมัครเล่นที่อยู่ร่วมจังหวัด เรากวาดสายตาไปทั่วสนาม กลับมองไม่เห็น ผู้บริหารสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ จนต้องเอ่ยปากถามนักฟุตบอล

“พี่ไกรอยู่ตรงนู้นครับ…” เสียงจากนักเตะวัดโบสถ์ ซิตี้ ที่ชี้ไปยังข้างสนาม สายตาเราจึงได้เห็นว่า ผู้บริหารรายนี้ นั่งอยู่บริเวณอัฒจรรย์เหล็กเก่าๆ ข้างสนาม พร้อมกับกำลังพูดคุยเล่นกับกลุ่มแฟนบอลวัดโบสถ์ ซิตี้ อย่างสนุกสนาน จนแทบจะแยกไม่ออกว่าคนไหนคือเจ้าของทีม คนไหนคือแฟนบอล?

บ้างก็วิจารณ์การเล่นของนักเตะในสนาม สลับกับการพูดคุยสัพเพเหระ เรื่องตลกเฮฮา จากเรื่องหนึ่งไปสู่อีกเรื่องหนึ่ง แล้วก็ต่อไปอีกเรื่องหนึ่ง ผลัดกันเล่าผลัดกันคุยหลายเรื่อง

จนเราได้ทราบว่า แนวคิดที่อยากแยกตัว ออกมาทำทีมฟุตบอลใหม่ อยู่ในความคิดของ แฟนบอลพิษณุโลก เอฟซี กลุ่มนี้มานานแล้ว เพียงแต่ยังไม่มีโอกาสได้เริ่มทำเสียที

“ระยะหลังๆฟุตบอลพิษณุโลก ซบเซาไปมาก แฟนบอลก็ลดน้อยลงไม่เหมือนเมื่อก่อน เราอยากเห็นบรรยากาศเก่าๆกลับมาอีกครั้งหนึ่ง” ปิยะ ไกรทอง เริ่มเกริ่นเข้าเรื่อง

 2

“ปัญหาของ พิษณุโลก เอฟซี ที่ผ่านมาตลอดระยะเวลาสิบกว่าปีก็มาจากเรื่องการเมือง ที่นี่การเมืองแข่งขันกันสูง อีกอย่างตำแหน่งนายก (นายก อบจ.) ก็ไม่นิ่ง เรียกว่าเปลี่ยนหน้าทุกสมัย”

“ถ้าคนทำทีมมีอำนาจก็ดีไป แต่ถ้าอำนาจไปอยู่ฝั่งตรงข้ามก็ลำบากหน่อย อย่างเช่นเรื่องการใช้สนามก็จะโดนแกล้งบ้างอะไรบ้าง หรือในช่วงเลือกตั้งคนทำทีมก็จะทุ่มจนผลงานดี แต่พอเลือกตั้งเสร็จก็ไม่ค่อยเอา ผมคิดว่า ทีมควรไปได้ไกลกว่านี้ถ้าไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง”

“อย่างตอนที่เฮียทิ้ว (ภูษิต พิศาลก่อสกุล) บริหารทีม ก็ทำท่าว่า เราเลื่อนชั้นจากดิวิชั่น 2 ไปเล่นดิวิชั่น 1 ผลงานเริ่มต้นก็ดีด้วย เราอยู่อันดับ 4 และมีลุ้นที่จะเลื่อนชั้นไปเล่นไทยลีกด้วย แต่หลังจาก เฮียทิ้ว ที่ลง ส.ส. ในปีนั้น แต่ กกต. ไม่รับรอง ผลงานสโมสรก็ดิ่งลงทันที จนเราตกชั้นในที่สุด เท่ากับว่าผลงานและทิศทางของทีม ต้องอิงกับการเมืองในเวลานั้นๆด้วย บางปีก็เอาจริง บางปีก็ไม่เอา”

“ส่วนใหญ่ทีมฟุตบอลก็มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ อย่างทีมจังหวัดก็ต้องดึงนักการเมืองเข้ามาทำ จังหวัดไหนได้นักการเมืองที่เอาจริงหน่อยก็ดีไป แต่ถ้าไม่ใช่ ทีมก็ล่มได้เลยอย่างที่เห็นๆกัน ก็เห็นจะมีแต่นักการเมืองที่มีอำนาจบารมี และเป็นการเมืองแบบเบ็ดเสร็จในจังหวัด ที่ทำทีมแล้วออกมาดี เพราะไม่มีปัญหาขัดแย้งในพื้นที่ พวกเราก็เลยอยากมีทีมฟุตบอลที่ไม่ต้องอิงการเมือง”

 3

ความไม่ต้องการเห็น “การเมือง” เกี่ยวข้องกับทีมฟุตบอลอาชีพ เป็นเหตุผลหนึ่ง ที่แฟนบอลเริ่มมีการพูดคุยกันว่าอยากจะเห็น ทีมฟุตบอลที่บริหารจัดการ โดยไม่มีเรื่องการเมือง และจะพยายามไม่ให้มีนักการเมืองเข้ามาหาผลประโยชน์จากทีมฟุตบอลทีมนี้ เพื่อให้สโมสรได้ก้าวสู่การเป็นทีมฟุตบอลอาชีพอย่างแท้จริง

72 ชั่วโมงก่อนปิดลงทะเบียนสโมสร เข้าร่วมการแข่งขัน ไทยแลนด์ อเมเจอร์ ลีก 2018  กลุ่มแฟนคลับ พิษณุโลก เอฟซี ก็ตัดสินใจทำในสิ่งที่พวกเขาคิด ด้วยการส่งทีม “วัดโบสถ์ ซิตี้” เพื่อลุ้นตั๋วเลื่อนชั้นขึ้นมาเล่นลีกอาชีพ

“สโมสรนี้เริ่มเกิดจากการนั่งคุยเล่นๆกันนี่แหละ… กลุ่มแฟนบอลก็คิดว่าเราควรจะมีทีมเชียร์ในฟุตบอลอเมเจอร์ลีก ในช่วงฟุตบอลลีกอาชีพปิดฤดูกาล ทีแรกที่คุยกันก็แค่จะส่งทีมแข่งเล่นๆ แบบสนุกสนาน ให้มีทีมเชียร์เท่านั้น”

“พอเราตัดสินใจส่งทีมเข้าร่วมแข่งแล้ว ก็ทำการหานักเตะ และโค้ชที่จะมาแข่งขันอเมเจอร์ลีก ตอนนั้นเองก็ฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ถ้าไหนๆก็จะทำทีมแล้ว ก็ทำแบบจริงจังไปเลยละกัน”

หลังจากเริ่มฟอร์มทีมขึ้นมาใหม่ พวกเขาเริ่มก็คิดหาฉายาที่เข้ากับสโมสร วัดโบสถ์ ซิตี้ และใครจะคิดว่าฉายา “หนูนาจอมโหด” ที่สโมสรใช้เป็นฉายาอย่างเป็นทางการ มีต้นกำเนิดมาจากการพูดคุยเล่นกันในวงเหล้า

“ตอนที่เราคุยกันเรื่องฉายาทีม ก็คิดว่าจะเอาสัตว์อะไรมาใช้นำหน้าคำว่า จอมโหด ดี คือเราจะใช้ จอมโหด เพราะมันคล้องจองกับ วัดโบสถ์ พอดีแฟนบอลคนหนึ่งตะโกนขึ้นมาว่า หนูนา สิ น่าจะเป็นจังหวะที่เห็นคนไปจับหนูนาเดินผ่านมาพอดี”

“ตอนแรกก็หัวเราะกันอย่างสนุกสนานกับความคิดของน้องคนนั้น ว่า หนูนา มันโหดตรงไหน แต่ไอ้หนูนา นี่แหละทำให้คนในวงหัวเราะ และมีรอยยิ้ม มันก็เข้ากับพวกเราดี สุดท้ายเราก็ใช้ หนูนาจอมโหด” 

ทีมฟุตบอลในอุดมคติของแฟนบอล

วัดโบสถ์ ซิตี้ ลงทำการแข่งขันในฟุตบอล ไทยแลนด์ อเมเจอร์ ลีก โซนภาคเหนือ ก่อนจบทัวร์นาเมนต์ด้วยตำแหน่งรองแชมป์โซน ทำให้พวกเขาได้รับสิทธิ์ผ่านเข้ามาเล่นลีกอาชีพ ในศึก ออมสิน ลีก (T4) ฤดูกาล 2019

 4

ช่วงเวลานี้เอง บทบาทของ ปิยะ ไกรทอง และเหล่าแฟนคลับที่แยกตัวออกมาสร้างทีม ต้องเริ่มต้องหันมาลงรายละเอียดในการสร้างสโมสรแห่งนี้ ซึ่งแนวทางที่พวกเขาวางไว้ก็มีความแตกต่างกับ ทีมฟุตบอลอาชีพทั่วไป

เพราะทุกๆนโยบาย แนวทาง หรือสิ่งที่พวกเขาต้องการ ไม่ใช่ถ้วยแชมป์ หรือเป็นทีมที่ยิ่งใหญ่ระดับประเทศ แต่พวกเขาอยากทำฟุตบอลในอุดมคติ ที่แฟนบอลอยากเห็น ซึ่งอะไรก็ตามแต่ที่พวกเขา เคยรู้สึกไม่ชอบสมัยเป็นกองเชียร์ ก็จะไม่มีทางนำมาใช้ยามตัวเองเป็นผู้บริหารทีม

“นโยบายของทีมเรา คนทำทีม จะไม่เข้าไปก้าวก่ายการทำงานของสตาฟโค้ช ผมว่าแฟนบอลส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยชอบให้ผู้บริหารทีมไปยุ่งกับการทำงานของโค้ชสักเท่าไหร่หรอก”

“แต่พวกเขาก็ได้แค่บ่น พูดกันเองเท่านั้น ไม่มีสิทธิ์มีเสียงอะไร พอเรามาทำทีมฟุตบอลก็ไม่อยากให้มีเรื่องแบบนี้ ก็คิดว่าปล่อยให้โค้ชทำงานอย่างสบายใจดีกว่า แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะปล่อยปะละเลยนะ หากโค้ชขาดเหลืออะไรก็ขอให้แจ้งมา”

ในขณะที่ประธานสโมสรหรือผู้มีอำนาจสูงสุดของทีมฟุตบอลอื่นๆ มักจะปรากฏตัวอยู่ที่ซุ้มม้านั่งสำรองข้างสนาม หรือไม่ก็นั่งเท่ๆ อยู่ที่โซน วีไอพี บน อัฒจันทร์ แต่ผู้บริหารของสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ เลือกที่จะมาร้องเพลงเชียร์ร่วมกับแฟนบอลของทีมเป็นอีกหนึ่งสิ่งที่กองเชียร์เห็นเป็นภาพชินตาของสโมสรแห่งนี้

“คงจะเป็นเพราะว่าผมมาจากกลุ่มแฟนบอลด้วยล่ะ ชอบตะโกนร้องเพลงเชียร์ทีมมากกว่า แต่เอาจริงๆนะ ผมว่าไม่มีประโยชน์หรอกที่จะไปนั่งข้างสนาม ยิ่งเราไม่ใช่นักการเมือง อยู่ข้างสนามผู้ตัดสินก็ไม่ได้เกรงใจอะไรหรอก ตอนทีมแข่งขึ้นไปเชียร์บนอัฒจันทร์กับแฟนบอลสนุกกว่าเยอะเลย” ปิยะ ไกรทอง กล่าวเริ่ม

 5

“แต่จะบอกว่า เราไม่ยุ่งเลยก็คงไม่ใช่ เรามี 2 อย่างที่ ขอร้องกับทีมสตาฟฟ์โค้ช อย่างแรก เราเป็นทีมที่มาจาก กลุ่มแฟนบอล เราต้องการเห็นฟุตบอลที่ดูแล้วสนุก ดังนั้นโค้ชที่ทำงานกับเราต้องทำบอลสไตล์เอ็นเตอร์เทน ผลแพ้ชนะว่ากันอีกเรื่องหนึ่ง จะมีวิธีการเอาชนะคู่แข่งอย่างไร จะเปลี่ยนใครลงเล่นหรือจัดตัวแบบไหน ก็เป็นหน้าที่ของโค้ช เราไม่ยุ่ง”

“ผมว่าแฟนบอลทุกทีมก็อยากดูบอลเอ็นเตอร์เทนทั้งนั้น อย่างตอนที่เราเป็นแฟนบอลแล้วทีมเล่นบอลน่าเบื่อ เราก็ไม่ชอบ แต่ก็ต้องทนดู เชียร์กันไป​ พอเราได้มาทำทีมเราก็สามารถเลือกได้ว่าจะให้ทีมเล่นในลักษณะอย่างไร เราก็แค่โยนโจทย์ไปให้โค้ชเท่านั้นเอง”

“อีกเรื่องที่เราเน้นมากก็คือ การโดนใบเหลืองแบบไม่จำเป็น เช่นด่าผู้ตัดสิน ถอดเสื้อดีใจ หรืออะไรเล็กๆน้อยๆที่ไม่น่าโดน เรากำชับเรื่องนี้กับโค้ชทุกครั้ง ซึ่งถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้บ่อยๆ ก็แสดงว่าทีมงานโค้ชละเลย เราต้องมีมาตรการ นอกนั้นเราก็แทบไม่ยุ่งอะไรเลยเรื่องในสนาม”

บริหารสโมสรแบบแฟนบอล เพื่อแฟนบอล

“3-4 เดือนที่ผ่านมาตั้งแต่เราเข้าสู่ระบบอาชีพ ยอมรับว่าขาดทุนเยอะ อย่างที่บอกว่าสปอนเซอร์ไม่ได้หาง่ายเหมือนกับทีมที่มีนักการเมืองเป็นเจ้าของ” ผู้บริหารวัดโบสถ์ ซิตี้ เผยอุปสรรคปัญหาที่ทีมฟุตบอลอย่างพวกเขาเจอ

 6

แน่นอนว่าไม่ง่ายเลยสำหรับ แฟนคลับกลุ่มหนึ่ง ที่ผันตัวเองมาทำหน้าที่เป็น ทีมบริหารสโมสร เพราะฟุตบอลอาชีพต้องอาศัยเงินลงทุนมากพอสมควร

ซึ่งแนวคิดหนึ่งที่ แฟนบอลอย่างที่พวกเขาคิดมาตลอด จึงถูกนำมาใช้บริหารทีมแห่งนี้ ในการสร้างนักฟุตบอลเยาวชน เพื่อให้สโมสรอยู่ได้อย่างยั่งยืน รวมถึงเป็นอีกหนึ่งแหล่งรายได้ ตามครรลองที่ฟุตบอลอาชีพควรจะเป็น ไม่ใช่หวังแค่มีเจ้าของทีมกระเป๋าหนักมาทุ่มทุน

“ดังนั้นวิธีเดียวที่เราจะอยู่รอดในระบบอาชีพ คือ การมีรายได้ที่มั่นคง วัดโบสถ์ ซิตี้ พยายามจะทำฟุตบอลอาชีพให้เหมือนต่างประเทศ ที่รายได้หลักมาจากแฟนบอล และการขายนักเตะ”

“จริงๆก็เป็นความคิดมาตั้งแต่ตอนเป็นแฟนบอลแล้ว เราชอบพูดกันว่าเราควรปั้นนักเตะมาใช้งานหรือไม่ก็นำเงินเข้าสโมสร พอได้มาบริหารทีมจริงๆ เราก็ทำในสิ่งที่เราอยากเห็นอยากให้เป็น”

“แม้เราจะเพิ่งเริ่มต้น ยังไม่ได้เริ่มระบบอคาเดมี่อย่างจริงจัง แต่ตอนนี้ เราปล่อยนักเตะเยาวชนไปให้กับทีมอื่นได้แล้ว 1 คนได้ค่าตัวมา 3 หมื่นบาท จำนวนเงินอาจจะไม่มาก แต่นี่คือรายได้ก้อนแรกที่เข้าสู่สโมสรจากการขายนักเตะ สำหรับผมถือว่าเป็นนิมิตรหมายที่ดี เพราะเรามีนักเตะดาวรุ่งอีกหลายคนที่เซ็นไว้ และก็พยายามให้สตาฟโค้ชปั้นให้เก่ง”

 7

พวกเขาอาจไม่ได้มีประสบการณ์ และองค์ความรู้ในการบริหารจัดการสโมสรกีฬาอาชีพมากนัก เพราะที่ผ่านมา บุคลากรในสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ ก็ล้วนเป็นกลุ่มคนที่มาจากบนอัฒจันทร์กองเชียร์ หาใช่นักบริหาร หรือนักการเมือง

แต่ความตั้งใจ ความเอาใจใส่ และความพยายามก็ทำให้ ผู้บริหารของวัดโบสถ์ ซิตี้ ฟันฝ่าอุปสรรคไปได้  ปิยะ ไกรทอง บอกกับเราว่า สโมสรมีการประชุมหารือพูดคุยถึงปัญหาต่างๆ อย่างน้อย สัปดาห์ละ 1 ครั้ง เพื่อหาจุดที่ต้องนำไปแก้ไข โดยเฉพาะเรื่องแฟนบอลที่พวกเขาให้ความสำคัญอย่างมาก

“ฟุตบอลอาชีพมันต้องก่อให้เกิดรายได้ เพื่อให้สโมสรเลี้ยงตัวเองได้ นั่นคือสิ่งที่ผู้บริหารทีมฟุตบอลต้องทำ และให้ความสำคัญกับสิ่งนี้ งานของเราก็คือการทำอย่างไรให้สโมสรมีรายได้เข้ามา”

“สโมสรจะอยู่ได้ แฟนบอลคือปัจจัยสำคัญ หากไม่มีแฟนบอล ทำทีมฟุตบอลก็รอวันเจ๊งได้เลย ผมมาจากแฟนบอล รู้ว่าความต้องการของแฟนบอลคืออะไร ฟุตบอลก็เหมือนการแสดง หากโชว์ดี ดูแล้วสนุก คนก็อยากเข้าสนาม”

“นอกจากนโยบายที่เรากำหนดว่าทีมจะต้องเล่นบอลให้สนุก เราก็ยังต้องสร้างบรรยากาศ การเข้ามาเชียร์บอลในสนามให้มีความสุขไปด้วย เวลาแฟนบอลมาสนามแล้วมีความสุขเขาก็อยากกลับมาอีก”

 8

สองเกมแรกที่ วัดโบสถ์ ซิตี้ ได้เล่นเป็นเจ้าบ้านพวกเขา มีแฟนบอลเข้ามาชมเกมอยู่ราวๆ 500-600 คนโดยเก็บค่าบัตรผ่านประตูเพียงคนละ 50 บาทเพื่อนำรายได้ไปบริหารจัดการทีมต่อไป

สิ่งหนึ่งที่เป็นเรื่องที่ท้าทายแฟนบอลเช่นพวกเขาก็คือ การขยายฐานแฟนคลับ เพื่อให้สโมสรมีรายได้เพิ่มขึ้น ในจังหวัดที่มีสโมสรหลายแห่งเกิดขึ้นที่นี่

“เราพยายามเพิ่มจำนวนแฟนบอลเข้าสู่สนาม ตอนนี้ก็มีราวๆ 500-600 คน รายได้จากการขายตั๋วก็ยังไม่พอหรอก แค่เช่าสนามก็จะหมดแล้ว แต่หากเราเพิ่มจำนวนแฟนบอลให้ขึ้นหลักพันคนได้ ก็น่าจะทำให้คล่องตัวมากกว่านี้ ที่สำคัญเมื่อแฟนบอลมาชมฟุตบอลก็ต้องอุดหนุนสินค้าสโมสรติดไม้ติดมือกลับไปด้วย เป็นอีกหนึ่งช่องทางการหารายได้เข้าสู่ทีม”

“ถึงเราจะแยกตัวออกมา แต่แฟนบอลส่วนใหญ่ในจังหวัดพิษณุโลก ก็ยังเชียร์ พิษณุโลก เอฟซี อยู่ โชคดีที่พวกเขาก็มาเชียร์เราด้วย เว้นแต่เกมที่เจอกันเท่านั้นที่แยกกันออกไป หรือแม้แต่วันที่พิษณุโลก เอฟซี เตะ แฟนบอลวัดโบสถ์ ก็รวมตัวกันไปเชียร์​รวมไปถึงพวกผมด้วย ก็ยังไปเชียร์เหมือนเดิม เรายังเป็นแฟนบอลพิษณุโลก เอฟซี อยู่ อาจจะมีแซวกันบ้างเป็นสีสันของฟุตบอล”

“ตอนนี้ก็ไม่น่ามีปัญหา แต่ถ้านานไปก็ไม่แน่ ดังนั้นเราต้องฉีกหนีพิษณุโลก เอฟซี เพื่อก้าวไปเล่นในลีกที่สุดกว่า หรือไม่ พิษณุโลก ก็ต้องหนีเราไป ไม่อย่างนั้นเกิดปัญหาแน่นอน และเมื่อมีปัญหา การเมือง ก็จะเข้ามาเกี่ยวข้องเหมือนเดิม เราไม่อยากให้เป็นเช่นนั้น”

“พิษณุโลก เป็นจังหวัดที่ผู้คนคลั่งไคล้ฟุตบอล แต่ก็ยังมีอีกหลายคนที่ยังไม่เข้ามาดูฟุตบอลในสนาม เราต้องเอาคนกลุ่มนี้เข้าสู่สนามให้ได้ โจทย์ของเราก็คือ ทำอย่างไรให้พวกเขาเข้ามา และพอเข้ามาแล้วก็ต้องประทับใจ อย่างน้อยๆก็ต้องมีรอยยิ้มกลับออกไป”

 9

อีกหนึ่งแผนงานในอนาคนอันใกล้ก็คือ รังเหย้าของตัวเอง ที่กำลังมีแผนเนรมิตสร้างขึ้นที่ อำเภอวัดโบสถ์ จังหวัดพิษณุโลก ที่เดินทางห่างออกไปจากตัวเมืองเพียง 30 กิโลเมตร ซึ่งนี่ก็เป็นอีกหนึ่งเหตุผลว่าทำไม สโมสรแห่งนี้ถึงต้องชื่อ วัดโบสถ์ ซิตี้

และเมื่อรังเหย้าที่อำเภอวัดโบสถ์ สร้างเสร็จทีมก็เตรียมย้ายที่ตั้งไปอยู่ที่นั้น พร้อมกับเตรียมรุกคืบแผนการตลาดขั้นตอนต่อไป

“จริงๆเราก็ดูเอาไว้หลายที่ พอดีหนึ่งในกลุ่มแฟนบอลทำอคาเดมี่อยู่ที่อำเภอวัดโบสถ์ โดยการปรับที่นาให้เป็นสนามฟุตบอลให้กับเด็กๆในพื้นที่ได้เล่น เราก็คิดว่าจะเข้ามาปักหลักปักฐานอยู่ที่นั้น ชื่อทีมก็เลยเป็น วัดโบสถ์ ตามที่ตั้งของทีมเรา”

“พอเราย้ายไปที่วัดโบสถ์ นอกเหนือจากการหารายได้เข้าสู่สโมสร เราก็จะทำให้ผู้คนในพื้นที่วัดโบสถ์ มีรายได้จากทีมฟุตบอลของเราด้วย ทีมฟุตบอลของเราต้องสร้างงาน สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน เราต้องทำให้คนวัดโบสถ์ ซิตี้ เป็นส่วนหนึ่งของ ชุมชน แต่ต้องไม่มีผลประโยชน์แอบแฝงของ นักการเมืองผมว่าชื่อ วัดโบสถ์ ถ้าทำดีๆ แบรนด์นี้ขายได้แน่นอน”

ไม่ต้องการพลังการเมือง แต่ต้องการพลังใจ

ตกช่วงเย็นใกล้หัวค่ำ ปิยะ ไกรทอง ผู้บริหารของสโมสร พาเราขึ้นรถยนต์นั่งมายัง บริษัท เอชทูเอช สปอร์ต ดีไซน์ จำกัด ที่ซึ่งในขณะนั้น ทีมงานมีเดีย กำลังไลฟ์สดรายการของสโมสรผ่านทางเฟสบุ๊ก

 10

เวลานั้นเอง ประธานที่ปรึกษาสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ เริ่มแนะนำทีมงานมีเดียให้เรารู้จักทีละคน จนมาถึงชายคนหนึ่งที่กำลังวุ่นวายกับเตรียมสายไว้ จัดอุปกรณ์ถ่ายทอดสด

“นั้นไง...ประธานสโมสร” ปิยะ ชี้นิ้วไปยังผู้ชายคนนั้น ก่อนพูดขึ้นว่า “เขา (ทนงศักดิ์ น้อยกอ ประธานสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้) ก็มาจากแฟนบอลพิษณุโลก เอฟซี เหมือนกัน เราใช้วิธีการโหวตเลือก ซึ่งมติของกลุ่มพวกเรา เลือกให้เขาเป็นประธานสโมสร”

“เพราะเราต้องการเลี่ยงที่จะไม่ให้นักการเมืองเข้าถึงตัวประธานสโมสร ก็เลยเลือกคนที่เป็นที่รู้จักน้อยที่สุดมาเป็น เพื่อตัดปัญหาอื่นๆด้วย เช่น เวลาใครมาถามว่าประธานคือใคร เราก็บอกชื่อไป ก็ไม่ค่อยรู้จักหรอก”

“จริงๆ เคยมีผู้ใหญ่มาขอติดชื่อเป็นประธานเฉยๆ เราก็ตอบไปว่าที่ประชุมได้เลือกประธานไว้แล้ว อีกอย่างพอพวกนักการเมือง รู้ว่าตำแหน่งประธานไม่ได้เป็นฝ่ายการเมืองขั้วตรงข้ามหรือว่าคู่แข่งทางการเมือง เขาก็ไม่สนใจอะไรแล้ว” ปิยะ ไกรทอง อธิบายเพิ่มเติมถึงสาเหตุที่สโมสรเลือก ทนงศักดิ์ น้อยกอ เข้ามาเป็นประธาน ซึ่งขณะที่เล่าให้เราฟังก็วุ่นกับการทำงานไปด้วย

 11

นอกจากฉายาสโมสรที่ติดหูแฟนบอลเกือบทั่วประเทศแล้ว ผลงานของพวกเขาก็ยังกำลังดีวันดีคืน เมื่อเกาะในกลุ่มหัวตารางของ ออมสิน ลีก (T4) โซนภาคเหนือ มีลุ้นไปเล่นรอบแชมเปี้ยนลีก

นั่นทำให้ สโมสรแห่งนี้ กลายเป็นทีมเนื้อหอมในสายตานักการเมืองจังหวัดพิษณุโลก ที่อยากจะเข้ามาสนับสนุนและมีส่วนร่วมกับทีม แต่แนวทางที่ชัดเจนของสโมสรว่าจะทำทีมโดยไร้นักการเมือง ก็ทำให้ ผู้บริหารสโมสรอย่าง ปิยะ ต้องบอกปฏิเสธข้อเสนอเหล่านั้นไป

“ยอมรับว่าหนักใจที่ต้องตอบปฏิเสธไป แต่เราได้คุยและตกลงกันในกลุ่มแล้วว่า ทีมเราจะไม่มีนักการเมือง เข้ามาเกี่ยวข้อง หรือมีบทบาทในทีม ไม่ว่าจะระดับไหนก็ตาม ไม่ง่ายนะที่จะฉีกตัวหนีออกมาได้”

“ทีมเราจะพยายามไม่ให้นักการเมืองเข้ามามีบทบาทกับทีม ไม่ว่าจะเป็นนักการเมืองระดับไหน เราก็ต้องหนีให้ได้ ไม่ใช่ง่ายๆนะที่จะฉีกตัวหนีออกมาได้”

เมื่อสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ เลือกที่จะใช้การบริหารทีมโดยที่ไม่มี “นักการเมือง” เข้ามาเกี่ยวข้อง พวกเขาก็ยอมรับวา อาจต้องเจอปัญหาอะไรบ้างในการทำฟุตบอลอาชีพ ทั้งในและนอกสนาม

“วันที่เราตั้งธงว่าจะไม่เอาการเมืองเข้ามาในทีม ก็รู้อยู่แล้วว่าจะต้องเจอกับอะไรบ้าง และก็เป็นอย่างที่คิดจริงๆ” ปิยะ ไกรทอง เริ่มเผยถึงปัญหาที่สโมสรเจอในการก้าวมาทำทีมฟุตบอลอาชีพ

“ไม่มีนักการเมือง เราก็เหมือนทีมไม่มีอำนาจ ไม่มีบารมี เราเสียใบเหลืองง่ายมากเมื่อเทียยกับทีมอื่นๆที่มีนักการเมืองหนุนหลัง หรือเรื่องต่างๆในการทำทีม เราแทบไม่ได้รับความเอ็นดูหรือเกรงใจจากฝ่ายจัดการแข่งขันเลย”

“สิ่งที่สโมสรทำผิดระเบียบของการจัดการแข่งขัน เราถูกปรับทันที ขณะที่ทีมที่มีผู้ใหญ่เป็นนักการเมืองทำผิดเหมือนเรา ก็จะถูกเตือนหรือทำเป็นไม่รู้ไม่ชี้ จะบอกว่าทีมเราเสียงไม่ดังก็คงไม่ผิดนัก”

“หากทีมเรามีนักการเมือง ผู้ตัดสินก็ต้องเกรงใจเราบ้าง แต่เมื่อเราเลือกแล้วก็ต้องสู้ในแบบของเรา หากมืองอีกมุมก็เป็นเรื่องดี เพราะเป็นการบีบบังคับให้ทีมเราปฎิบัติตามระเบียบของฝ่ายจัดทุกอย่าง หากเรายังถูกปรับถูกลงโทษในเรื่องเล็กๆน้อยๆเช่นนี้ ก็แสดงว่าเรายังไม่เป็นมืออาชีพ”

 12

ประธานที่ปรึกษาสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ เผยถึงปัญหาที่เจอ ไม่ใช่เพียงแต่เรื่องในสนาม การไม่มีนักการเมือง ก็ทำให้งานนอกสนามเป็นไปด้วยความยากลำบาก โดยเฉพาะการหาสปอนเซอร์เข้าสู่ทีม ยิ่งเป็นทีมฟุตบอลที่ไม่ได้ใช้ชื่อจังหวัด บรรดาร้านค้าหรือผู้ประกอบการในจังหวัดก็ไม่ได้สนใจอะไรมากนัก

หรือแม้แต่การสร้าง รังเหย้าของตัวเอง ในพื้นที่อำเภอวัดโบสถ์ ก็ต้องหยุดชะงักไปจากเรื่องที่ดินที่จะใช้ก่อสร้างที่ยังมีปัญหาอยู่ หากสโมสรมีนักการเมืองเข้ามาหนุนหลังหรือวิ่งเข้าทางผู้หลักผู้ใหญ่ให้ช่วยเหลือเรื่องดังกล่าว ปัญหาที่กำลังเผชิญอยู่ ก็คงไม่มีปัญหาเหมือนทุกวันนี้

“สปอนเซอร์ส่วนใหญ่ที่มาสนับสนุนทีมฟุตบอลก็บารมีการเมืองทั้งนั้น แตะไหล่ ช่วยหน่อยนะ ก็ได้แล้ว ผู้ประกอบการในจังหวัดก็เกรงใจ แต่ทีมเราเอกชนร้อยเปอร์เซนต์ ก็หายากหน่อย ยังดีที่หลังๆก็มีคนมาช่วยบ้าง”

“ไม่ใช่ว่านักการเมืองเข้ามาแล้วไม่ดีนะ แต่ถ้าเป็นจังหวัดที่เป็นการคุมอำนาจทางการเมืองแบบเบ็ดเสร็จก็ดี ไม่ต้องเจอปัญหาขั้วการเมืองตรงข้ามเล่นงาน ยกตัวอย่าง ครั้งหนึ่ง เชียงราย ยูไนเต็ด ก็เคยเจอปัญหาเรื่องการใช้สนาม อบจ. จากขั้วการเมืองตรงข้ามกัน ปัญหาเช่นนี้หลายๆทีมก็เคยเจอ ส่วนทีมเราที่ไม่มีเรื่องการเมืองเข้ามาก็ไม่น่าจะเจอเรื่องแบบนี้ ผมว่านี่คือข้อดีสำหรับการที่ฟุตบอลไม่มีการเมือง”

เจตนารมณ์ของสโมสรวัดโบสถ์ ซิตี้ ที่ไม่ต้องการ “การเมือง” เข้ามามีบทบาทต่อสโมสรฟุตบอลอาชีพนั้น เป็นจุดยืนหนึ่งที่แสดงให้ สโมสรขนาดเล็กทีมอื่นๆในเมืองไทยได้เห็นว่า ถึงไม่มีนักการเมือง สโมสรฟุตบอลก็สามารถเดินไปข้างหน้าได้ 

และไม่ว่าในอนาคต สโมสรฟุตบอลวัดโบสถ์ ซิตี้ จะประสบความสำเร็จหรือไม่ ? จะทดต่อแรงเสียดทานได้นานแค่ไหน แต่อย่างน้อยๆ พวกเขา ก็กล้าที่จะลงมือทำทีมฟุตบอลในแบบฉบับของ “แฟนบอล” ให้เกิดขึ้นจริง

 13

“ยอมรับว่าเหนื่อยบ้างกับสิ่งที่พวกเรากำลังทำอยู่ แต่มันก็มีความสุขที่ได้ทำ เพราะนี่คือสิ่งที่เราวาดฝันมาโดยตลอด ว่าจะมีทีมฟุตบอลในแบบที่เราต้องการ ไอ้ที่เราบ่นๆกันตอนเป็นแฟนบอลว่าสโมสรควรทำอย่างนู้นอย่างนี้ เราก็ได้ทำกับทีมวัดโบสถ์ ซิตี้”

“จะได้รู้สักทีว่ามุมมองของแฟนบอล หรือสิ่งที่แฟนบอลคิด นั้นเมื่อมาลงมือทำกันจริงๆ จะทำได้อย่างที่คิดหรือเปล่า”

“ผมเชื่อว่าฟุตบอลที่ไม่มีการเมือง มันต้องไปได้ดี เพราะเราเข้าใจสิ่งที่แฟนบอลต้องการมากที่สุด”

“นักฟุตบอลอาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่สุดของ กีฬาฟุตบอล แต่สำหรับฟุตบอลอาชีพ แฟนบอล ก็สำคัญไม่แพ้กับนักฟุตบอลที่อยู่ในสนาม” ปิยะ ไกรทอง เผย

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ เมื่อแฟนบอลเป็นคนทำทีม : "วัดโบสถ์ ซิตี้" สโมสรลูกหนังบ้านๆ ที่เต็มไปด้วยความน่ารัก

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook