ศึกที่ห้ามแพ้ : ข้อเสนอจากรัฐบาลเผด็จการที่ทำให้ อาร์เจนติน่า เป็นแชมป์โลกปี 78?

ศึกที่ห้ามแพ้ : ข้อเสนอจากรัฐบาลเผด็จการที่ทำให้ อาร์เจนติน่า เป็นแชมป์โลกปี 78?

ศึกที่ห้ามแพ้ : ข้อเสนอจากรัฐบาลเผด็จการที่ทำให้ อาร์เจนติน่า เป็นแชมป์โลกปี 78?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ทุกความสำเร็จและการเป็นที่หนึ่ง ล้วนเป็นสิ่งที่ยั่วยวนให้ได้สัมผัส แต่เมื่อทุกการแข่งขันมีผู้ชนะได้เพียงหนึ่งเดียว ย่อมมีคนที่อยากจะสู้ด้วยวิธีการที่แตกต่างและนอกกติกาเพื่อสร้างทางลัดไปสู่ความสำเร็จได้ง่ายที่สุด  และนี่อาจจะเกี่ยวกับสิ่งที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ … ฟุตบอลโลก 1978 ที่ อาร์เจนติน่า เป็นเจ้าภาพและเป็นแชมป์ในเวลาเดียวกัน

หนนี้นักเลงอยากเป็นแชมป์
ก่อนทีฟุตบอลโลก 1978 จะเริ่มเเข่งขันกัน อาร์เจนติน่า ยังไม่เคยประกาศตัวแบบจะๆ แจ้งๆ สักครั้งว่าพวกเขาคือโคตรบอลแห่งยุค กล่าวคือนอกจากรองแชมป์ในฟุตบอลโลกครั้งแรกเมื่อปี 1930 ที่แพ้ให้กับ อุรุกวัย แล้ว ทัพฟ้าขาวก็ไม่เคยผ่านรอบ 8 ทีมสุดท้ายเลย แถมยังเคยตกรอบคัดเลือกในปี 1970 อีกต่างหาก

แต่หนนี้พวกเขาเตรียมทีมมาอย่างดี ในฐานะเจ้าภาพถือว่าพร้อมสรรพ ทั้งแง่ของคุณภาพนักเตะและสต๊าฟโค้ช ฝั่งขุมกำลังรบนำโดย มาริโอ เคมเปส กองหน้าผู้ยิงกว่า 300 ประตูในระดับสโมสร และคู่หูในเกมรุกอย่าง เลโอปอลโด้ ลูเก้ ที่ยิง 75 ประตูภายในเวลา 3 ปีกับ ริเวอร์ เพลท ขณะกุนซือใช้ เซซาร์ หลุยส์ เมน็อตติ ผู้คลั่งไคล้เกมรุกจนเป็นที่มาถึงเกมบุกแบบดุดันตามสไตล์ละติน

อย่างไรก็ตามเรื่องราวนอกสนามไม่ได้พร้อมเหมือนกับรายละเอียดด้านคุณภาพของทีมแบบที่ได้กล่าวไป แต่ก็ไม่รู้ว่าบนความไม่พร้อมนี้จะส่งผลแง่บวกหรือแง่ลบให้กับทัพฟ้า-ขาวกันแน่?

ปี 1976 หรือ 2 ปีก่อนที่ฟุตบอลโลกจะมาเเข่งขันกันที่ อาร์เจนติน่า รัฐบาลของประธานาธิบดีหญิง อิซาเบล เปรอง ถูกรัฐประหารโดย นายพล ฮอร์เก้ ราฟาเอล วิเดลา ผู้นำทางการทหารของอาร์เจนติน่า

000_app2001113026755
การมีชาติเจ้าภาพที่ปกครองด้วยระบอบเผด็จการทหารสร้างความไม่พอใจให้กับชาติฝั่งยุโรปไม่น้อย ตลอด 2 ปีก่อนฟุตบอลโลกจะเเข่งขันที่นายพล วิเดล่า ปกครองประเทศ อาร์เจนติน่า มีสงครามกลางเมืองเกิดขึ้นเสมอ และยังมีเรื่องสงครามบริเวณพรมเเดนของประเทศที่ยังไม่มีความสงบเลย

นอกจากนี้ยังมีการกวาดล้างผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรงกัน ตลอด 7 ปีที่รัฐบาลทหารของนายพล วิเดล่าปกครอง อาร์เจนติน่า มีประชานชนถึง 30,000 คนที่หายสาบสูญไปในช่วงเวลาดังกล่าวที่ถูกเรียกกันแบบสากลว่า "สงครามสกปรก"

เหตุผลที่ประชาชนไม่พอใจก็เพราะรัฐบาลทหารนั้นไม่มีความชำนาญในการบริหาร ราคาสินค้าของอาร์เจนติน่าสูงขึ้นถึง 300% แต่รัฐบาลกลับแก้ปัญหาด้วยการลดค่าแรงของกรรมกร เพื่อส่งเสริมการลงทุนต่างชาติ ซึ่งนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาก็ได้รับสิทธิ์ไม่ต้องเสียภาษีและได้จ้างแรงงานในราคาถูก ทำให้ที่สุดแล้วบริษัทที่มีเจ้าของเป็นชาวอาร์เจนติน่าก็เจ๊งปิดกิจการไปตาม

1453931104_458651_1453932716_
นายพลวิเดล่าก็เหมือนๆ กับผู้นำของประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่มีความสนใจในกีฬาฟุตบอล ซึ่งทำให้เขาเต็มใจมากที่จะถลุงคลังของประเทศเพื่อปรับปรุงสนามให้พร้อมสำหรับการเเข่งขันในฟุตบอลโลก เพราะรู้ดีว่ากีฬาจะสามารถซื้อความพึงพอใจจากประชาชน และเปลี่ยนภาพลักษณ์อาร์เจนติน่าในสายตาชาวโลกได้  

บนความหวาดหวั่นเรื่องความปลอดภัยของการแข่งขันฟุตบอลโลก 1978 ทำให้หลายชาติพยายามจะคัดค้านและไม่อยากที่จะมาเเข่งในดินเเดนแห่งนี้ อย่างไรก็ตาม นายพล วิเดล่า และรัฐบาลทหารของอาร์เจนติน่าเอาหัวเป็นประกันว่าทุกอย่างจะต้องผ่านไปด้วยดีและฟุตบอลโลกครั้งนี้จะปลอดภัย 100% ซึ่งฟีฟ่าก็เชื่อและเคาะโต๊ะยืนยันว่าประเทศเจ้าภาพจะไม่มีการเปลี่ยนแปลง...

แม้ว่าหลังจากนั้น โอมาร์ แอ๊คติส ประธานคณะกรรมการจัดศึกฟุตบอลโลกปี 1978 ของอาร์เจนตินา ถูกลอบสังหารระหว่างเดินทางไปแถลงข่าวทางโทรทัศน์ ซึ่งคาดกันว่าเขากำลังจะพูดในสิ่งที่รัฐบาลไม่อยากจะฟังก็ตาม

14589973263240
ลุยไปถึงแชมป์เลย!
นี่คือรายการฟุตบอลโลกที่รวมนักเตะระดับท็อปไว้มากมาย เคนนี่ ดัลกลิช จอมทัพสก็อตแลนด์, เปาโล รอสซี่ ดาวยิงจาก อิตาลี, คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ จาก เยอรมันตะวันตก, ซิโก้ จาก บราซิล และ มิเชล พลาตินี่ จากฝรั่งเศส ต่างเดินทางมาร่วมโรมรันในฟุตบอลโลกฉบับอเมริกาใต้ ทว่าหนึ่งในสตาร์ชื่อดังที่สุดอย่าง โยฮัน ครัฟฟ์ ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันครั้งนี้

เจ้าของฉายา ‘นักเตะเทวดา’ และรางวัลบัลลงดอร์ 3 สมัยอย่าง ครัฟฟ์ ประกาศถอนตัวจากจากทัพอัศวินสีส้มก่อนการแข่งขันจะเริ่ม โดยมีการคาดเดากันถึงเหตุผลที่เขาไม่ยอมไปช่วยทีมชุดนี้ว่าเขาเป็นคนที่เกลียดระบอบเผด็จการ อย่างไรก็ตาม ครัฟฟ์เปิดเผยภายหลังว่าเป็นเพราะครอบครัวของเขาอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ปลอดภัยในเวลานั้น หลังมีโจรบุกบ้านของครัฟฟ์ในเมือง บาร์เซโลน่า เพื่อหวังเรียกค่าไถ่ แม้ที่สุดแล้วจะไม่มีเหตุการณ์รุนเเรงอะไรเกิดขึ้นเพราะโจรถูกจับได้ แต่ครัฟฟ์ก็ไม่ได้อยู่ในสภาพจิตใจที่พร้อมสำหรับฟุตบอลโลกครั้งนั้น

12
แต่ที่สุดเเล้วการเเข่งขันก็ดำเนินต่อไป แม้จะมีปัญหาบ้างแต่ก็แค่เล็กน้อย ส่วนผลงานในสนาม อาร์เจนติน่า สามารถเอาตัวรอดได้สบายๆ ด้วยการเป็นรองแชมป์กลุ่มต่อจาก อิตาลี และถีบ ฝรั่งเศส ตกรอบ

รอบแรกจบลงด้วยการได้ 8 ชาติที่เข้าสู่รอบต่อไป ณ เวลานั้นรอบ 8 ทีมสุดท้ายไม่ใช่การเเข่งขันเเบบน็อคเอาต์ แต่จะเป็นการแบ่ง 8 ชาติออกเป็น 2 กลุ่มโดยเป็นการแข่งขันแบบพบกันหมด ทีมใดเก็บแต้มได้มากที่สุดหรือเป็นแชมป์กลุ่ม ก็จะได้ไปเล่นในรอบชิงชนะเลิศทันที และสาย B ของ อาร์เจนติน่า นั้นมี บราซิล, โปแลนด์ และชาติบ้านใกล้เรือนเคียงอย่าง เปรู ณ ตอนนั้นทุกทีมล้วนเป็นบอลกระดูกแข็งทั้งสิ้น แม้แต่ เปรู ที่อาจจะไม่ได้รับการยกย่องในปัจจุบันก็ยังนำทัพโดย เตโอฟิโญ่ คูบิญาส ที่ยิงไปถึง 5 ประตู  

เกมรอบ 8 ทีมสุดท้ายเป็นไปอย่างเข้มข้น เมื่อ อาร์เจนติน่า และ บราซิล ทีมเต็งของกลุ่ม ลงเเข่งและเสมอกัน 0-0 ทำให้เกมกับ โปแลนด์ และ เปรู มีความหมาย

000_app2001101607712_1
เกมแรก บราซิล ชนะ เปรู 3-0 ขณะที่ อาร์เจนติน่า เอาชนะ โปแลนด์ 2-0 ด้วยประตูได้เสียที่เป็นรอง และ บราซิล ที่เเข่งในเกมสุดท้ายก่อนชนะโปแลนด์ไป 3-1 ทำให้เกมสุดท้ายของ อาร์เจนติน่า นั้นเป็นไฟต์บังคับที่จะต้องยิง เปรู ให้ชนะขาดถึง 4 ลูกขึ้นไปพวกเขาจึงจะได้เข้าชิงชนะเลิศ และทำให้นายพล วิเดล่า ได้อมยิ้มเมื่อเขาเห็นสิ่งที่อยากจะเห็น

ทันทีที่เกมชี้เป็นชี้ตายที่ใครมองว่าเป็นเรื่องยากเริ่มขึ้น อาร์เจนติน่า เดินเกมบุกแบบไม่เสียเวล่ำเวลา พวกเขายิงรวดเดียว 6 ประตูก่อนเกมจะเข้าสู่นาทีที่ 70 และจบเกมด้วยการเอาชนะ เปรู ไป 6-0 เข้าไปชิงชนะเลิศกับ ฮอลแลนด์ ที่เป็นแชมป์ของสาย A

ฮอลแลนด์ ในเวลานั้นอาจจะเก่งกาจแต่เมื่อไม่มี โยฮัน ครัฟฟ์ พวกเขาก็ไม่ใช่คู่แข่งที่ยากลำบากจนเกินรับมือสำหรับ อาร์เจนติน่า แม้จะต้องออกแรงเหนื่อย แต่ที่สุดแล้ว มาริโอ เคมเปส และพรรคพวกก็จัดการฝังทัพอัศวินสีส้มในช่วงต่อเวลาไป 3-1 คว้าแชมป์ได้ตามเป้า ประชาชนทั้งประเทศแห่งฉลองทั่วทั้งกรุงบัวโนส ไอเรส ขณะที่รัฐบาลทหารยืนขึ้นปรบมือสำหรับการชูถ้วยเวิลด์คัพสมัยแรก

15
มาถึงตรงนี้ดูเหมือนเส้นทางสู่แชมป์โลกของอาร์เจนติน่าจะสะดวกสบายไปเสียหมด แต่อย่าเพิ่งคิดอย่างนั้น เราอยากจะให้คุณได้ลองฟังคำคัดค้านของคนที่อ้างว่ารู้เบื้องลึกเบื้องหลังกันสักหน่อย

แต่ว่าเปรูแพ้จริงหรือ?
ในเกมตัดสินชะตาชีวิตของ อาร์เจนติน่า ที่พบกับ เปรู นั้น หากมองจากสกอร์ 6-0 ดูแล้วยังไงก็ขาดลอยหมดสิทธิ์ต่อต้าน

อย่างไรก็ตาม เปรู เริ่มเกมนี้ได้อย่างดุดัน พวกเขามีโอกาสยิงชนเสาไป 1 ครั้งในช่วงต้นครึ่งแรก ทว่าหลังจากก็ไม่ได้ตอบโต้อะไรอีกเลย แถมยังเปลี่ยนตัวนักเตะที่ดีที่สุดในทีมอย่าง โฮเซ่ เบลาสเกซ ออกในช่วงครึ่งหลังอีกต่างหาก

"มีบางสิ่งกำลังเกิดขึ้น ทีมของเราเปลี่ยนไป หลังเริ่มครึ่งหลังไป 10 นาทีตอนที่เราโดนนำไป 0-2 ผมถูกเปลี่ยนตัวออก … ไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่จะต้องเปลี่ยนตัวผม ผมคิดว่าผมเป็นคนสำคัญของทีมนะ แล้วแบบนี้คุณคิดว่ายังไงล่ะ" เบลาสเกซ กล่าวในภายหลัง

อาร์เจนติน่า ยิง 6 ประตูรวดโดยที่ เปรู ไม่มีโอกาสตอบโต้แม้แต่น้อย และน่าแปลกใจอยู่บ้างที่ เปรู ทีมนี้กลายเป็นหมูให้เคี้ยวแบบง่ายดาย ทั้งๆ พวกเขาคือทีมที่ชนะ สก็อตแลนด์ ชนะ อิหร่าน และยันเสมอกับ ฮอลแลนด์ ในรอบแรก

13
เคลาดิโอ คูตินโญ่ กุนซือของทีมชาติบราซิลผู้ผิดหวังเพราะ อาร์เจนติน่า แข่งทีหลังพวกเขาในเกมสุดท้ายทำให้กำหนดผลการแข่งขันล่วงหน้าได้ว่าจะต้องชนะ เปรู กี่ประตูจึงจะได้เข้าชิงชนะเลิศ นอกจากนี้เขายังสงสัยว่า รามอน กิโรก้า นายทวารของเปรูทีเกิดและโตในอาร์เจนติน่ามีอาการหวานเย็นปล่อยให้ผู้เล่นทัพฟ้า-ขาวยิงเข้าง่ายเกินไปหรือเปล่า

ยิ่งเมื่อได้เห็นนายพล วิเดล่า กับ เฮนรี่ คิสซิงเกอร์ เพื่อนซี้ของเขาที่เป็นอดีตรัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา เดินเข้าไปในห้องแต่งตัวของนักเตะเปรูก่อนเกม และมีข่าวลือว่าเขาเข้าไปเล่นเกมจิตวิทยากับคู่แข่ง แม้ว่าจะไม่ได้เป็นการข่มขู่อะไรแต่คำพูดของเขาว่าถึง "การเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของชาติละตินอเมริกัน"

… คำถามคือเขาพูดแบบนี้เพื่ออะไรกันแน่? แต่ที่แน่ๆ คือ เอ็คตอร์ ชัมปิตาซ กัปตันทีมของ เปรู ในตอนนั้นก็ยืนยันถึงเรื่องนี้ได้

"พวกเขาเข้ามาที่นี่เพื่อต้อนรับและเเสดงความยินดีที่พวกเรามาไกลถึงตอนนี้ และทิ้งท้ายด้วยประโยคที่ว่า 'หวังว่าเกมนี้จะเป็นเกมที่ยอดเยี่ยมเพราะมันเป็นเกมที่ประชาชนชาวอาร์เจนติน่าคาดหวังไว้มาก … ขอให้โชคดีนะทุกคน"

"หลังจากพวกเขาออกไป เราเริ่มมองหน้ากันเลิ่กลั่ก และเริ่มสงสัยว่าจริงๆ คำพูดแบบนี้เขาควรจะเอาไปพูดในห้องแต่งตัวของ อาร์เจนติน่า มากกว่า เขาจะมาพูดในห้องแต่งตัวของเปรูทำไม นั่นทำให้พวกเราเริ่มสงสัยอะไรบางอย่าง" กัปตันเปรูได้กลิ่นที่ไม่ชอบมาพากลก่อนเกมจะเริ่มขึ้น

14
เรื่องราวมันไม่จบแค่ข้อสงสัย เมื่อเรื่องนี้มีพยานปากเอกเกิดขึ้นในอีกหลายปีต่อมา และพยานรายนี้ได้แก่วุฒิสมาชิกของ เปรู ในช่วงเวลานั้นอย่าง เจนนาโร่ เลเดสม่า ยืนยันว่าเกมที่ อาร์เจนติน่า ถล่ม เปรู 6-0 ไม่ใช่การข่มขู่ ...

แต่มันคือการล็อกผลการเเข่งขันที่เกิดจากข้อตกลงทางการเมืองของรัฐบาลของทั้งสองฝั่งต่างหาก

เรื่องนี้ถูกเปิดเผยครั้งแรกในตอนที่นาย เลเดสม่า มีอายุ 80 ปี เขาเริ่มเล่าว่า ช่วงเวลาดังกล่าว ฟรานซิสโก้ เบอร์มิวเดซ ประธานาธิบดีเปรูในขณะนั้น ต้องการส่งนักโทษทางการเมือง 13 คนไปที่อาร์เจนติน่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของ ‘Operation Condor’ ปฏิบัติการกำจัดศัตรูทางการเมืองของรัฐบาลเผด็จการทหารในลาตินอเมริกา ซึ่งมีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุน

ในตอนแรกดูเหมือนทางอาร์เจนติน่าจะเป็นฝ่ายที่อิดออด แต่เมื่อมีสถานการณ์อื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง นายพล วิเดล่า ที่ถือไพ่เหนือกว่าจึงเดินเกมเรียกร้องในสิ่งที่ต้องการทันที

"เรามีข้อเสนอให้คุณ" … เขาบอกกับรัฐบาล เปรูเช่นนั้น

peru-argentina-1978
ข้อเสนอของ วิเดล่า คือ อาร์เจนติน่า พร้อมจะรับตัวนักโทษทางการเมืองของ เปรู ทุกคน นอกจากนี้ยังมีข่าวลือว่า อาร์เจนติน่า จะทำการขนส่งข้าวสาลีล็อตใหญ่มอบให้เป็นของสมนาคุณอีกด้วย

เพียงแต่มีข้อแม้ว่าฝั่งเปรูต้องยอมปล่อยให้นักเตะ อาร์เจนติน่า ยิงประตูในฟุตบอลโลกรอบ 8 ทีมสุดท้ายจนกว่าจะพอใจ และมีผลต่างที่มากพอจะทำให้ทัพฟ้า-ขาวเข้าไปเป็นคู่ชิงชนะเลิศของ ฮอลแลนด์

"วิเดล่า จำเป็นจะต้องคว้าแชมป์ฟุตบอลโลกให้ได้เพื่อลบภาพลักษณ์แสนชั่วร้ายของเขา และลบภาพลักษณ์ที่ชาวโลกมองอาร์เจนติน่าไม่ค่อยดี ดังนั้นเขาจึงเสนอรับตัวนักโทษทั้งหมดเพียงแค่ให้ อาร์เจนติน่า ได้ผลการเเข่งขันที่ต้องการ และกลบข่าวฉาวเหล่านี้ให้มิด" เลเดสม่า กล่าวให้การกับ โรเบอร์โต้ โอยาร์บิด ผู้พิพากษาประจำกรุงบัวโนส ไอเรส หลัง เบอร์มิวเดซ ถูกจับกุมและส่งตัวมาดำเนินคดีที่อาร์เจนติน่าข้อหาส่งตัวชาวต่างชาติข้ามแดนมาโดยผิดกฎหมาย

แม้จะไม่มีภาพปรากฎว่าวินาทีการเจรจาในเวลานั้นเป็นอย่างไร แต่ที่สุดเเล้วเชื่อว่ามันไม่ใช่การยอมรับด้วยความเต็มใจของ เปรู เท่าไรนักเพราะพวกเขาอยู่ในสภาพของการจำยอมมากกว่า

"เราถูกกกดดันหรือเปล่า? แน่นอนสิ แต่จะเรียกว่าเป็นการกดดันแบบไหนดีล่ะ มันเป็นแรงกดดันที่ส่งกันเป็นทอดๆ รัฐบาลอาร์เจนติน่าสู่รัฐบาลเปรู และจากรัฐบาลเปรูมาถึงผู้จัดการทีมและโค้ช" เลเดสม่า กล่าว

mundial-78-1
วันเวลายิ่งผ่านไปเรื่องแบบนี้ก็ถูกคายขึ้นมาทีละนิดทีละนิด จิ๊กซอว์ถูกต่อขึ้นเป็นรูปเป็นร่างในอีกหลายปีต่อมาเพียงแต่มันยังไม่สมบูรณ์แบบเสียที

สื่อใหญ่อย่าง Channel 4 มีโอกาสได้สัมภาษณ์ ดร.คิสซิงเกอร์ ผู้ถูกอ้างว่าเข้าไปในห้องแต่งตัวนักเตะเปรูในเวลานั้นพร้อมกับนายพล วิเดล่า เพื่อย้อนถามถึงเหตุการณ์ดังกล่าว แต่ คิสซิงเกอร์ ในวัย 90 กว่าๆ ตอบกลับมาสั้นๆ ว่า … “ไม่เหลือความทรงจำในห้องแต่งตัวของเปรูวันนั้นเเล้ว”

ส่วนอีกหนึ่งคนที่รู้เรื่องราวในวันนั้นดีที่สุดอย่างนายพล วิเดล่า ในวัย 85 ปีก็ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตในปี 2010 จากข้อหาทรมานและสังหารประชาชน 31 รายในช่วงที่มีการปราบปรามประชาชนอย่างหนักช่วงยุค 1970s ถึง 1980s โดยวิเดล่ายอมแสดงความรับผิดชอบที่ลูกน้องของตนทำไว้ในช่วง "สงครามสกปรก"

เรื่องราวอื้อฉาวมากมายในครั้งที่ยังมีอำนาจถือว่าเป็นเรื่องใหญ่ยิ่งกว่าคำสงสัยในเรื่องการเป็นตัวการโกงฟุตบอลโลก 1978 สิ่งที่โลกอยากรู้คือเขาทำอะไรกับประชาชนกว่า 30,000 ชีวิตที่หายสาบสูญไปในช่วงที่เขาเรืองอำนาจ ซึ่ง วิเดล่า เคยตอบคำถามนี้ไปแล้วว่า

16_1
"คนที่หายตัวไป ก็แค่ … นั่นแหละ สาบสูญไป พวกเขาไม่ได้มีชีวิตอยู่หรือตายแล้ว … พวกเขาสาบสูญ"

ระบอบการเมืองแบบทหารอาจจะทำให้ อาร์เจนติน่า สร้างประวัติศาสตร์คว้าแชมป์ฟุตบอลโลกครั้งแรกของพวกเขาได้ และ FIFA เองก็ยืนยันว่าไม่มีแผนที่จะสอบสวนข้อสงสัยนี้ย้อนหลังอีกด้วย

ขณะที่มุมมองของนักเตะ อาร์เจนติน่า ในชุดนั้นก็มีหลายคนที่บอกว่าผิดหวังที่มีการเเคลงใจสงสัยว่าแชมป์โลกของพวกเขาไม่โปร่งใส  แต่ก็ยืนยันว่าพวกเขาทำเต็มที่และไม่ได้ส่วนเกี่ยวข้องใดๆทั้งสิ้น

“มันไม่ใช่เรื่องยากอะไรเลยที่จะยิงประตู เปรู ... ผมเองไม่รู้นะว่า เปรู รู้เห็นเป็นใจอะไรกับเรื่องนี้หรือเปล่า แต่ที่แน่นอนที่สุดคือพวกเราทุกคนไม่รู้อะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้” เลโอปอลโด้ ลูเก้ หนึ่งในผู้ยิงประตูในเกมนั้นกล่าว

หนังสือพิมพ์ฉบับเช้าวันจันทร์ที่ 26 มิถุนายน ปี 1978 พาดหัวสรรเสริญทัพนักเตะฟ้า-ขาวทุกคนที่ช่วยสร้างประวัติศาสตร์ให้กับประเทศชาติ แต่ในความเป็นจริงถูกกำหนดโดยปัจจัยภายนอกหรือเปล่า? เรื่องนี้ไม่ใครตอบได้ และยังคงเป็นปริศนาโลกลูกหนังมาให้คนรุ่นหลังได้ถกเถียงกันจนถึงทุกวันนี้

แล้วคุณล่ะเชื่อแบบไหน?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook