Football War : เมื่อฟุตบอลกลายเป็นชนวนสงครามจนมีคนล้มตาย 3,000 คน

Football War : เมื่อฟุตบอลกลายเป็นชนวนสงครามจนมีคนล้มตาย 3,000 คน

Football War : เมื่อฟุตบอลกลายเป็นชนวนสงครามจนมีคนล้มตาย 3,000 คน
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

รู้แพ้ รู้ชนะ รู้อภัย คือคุณสมบัติของผู้ที่มีน้ำใจนักกีฬา แต่คำนี้ในยุคหนึ่งอาจจะใช้ไม่ได้กับบางประเทศในทวีปอเมริกากลาง

ฟุตบอล คือกีฬาที่เต็มไปด้วยมนต์เสน่ห์ ความสนุกในเกม และบรรยากาศที่น่าขนลุกบนอัฒจันทร์ ทำให้มันกลายเป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และมีผู้คนเฝ้าชมการแข่งขันในสนามและการถ่ายทอดสดนับหลายล้านคน

แต่ครั้งหนึ่ง ฟุตบอล กีฬาที่ดูเหมือนไม่พิษไม่มีภัย ซึ่งถูกนิยามให้เป็น “The Beautiful Game” นี้ ก็เคยเป็นชนวนสำคัญที่ทำให้เกิดสงครามระหว่างสองประเทศ จนมีผู้คนบาดเจ็บล้มตายหลายพันคน

 

เพื่อนบ้านที่ไม่ค่อยถูกกัน

หลังจากที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของสเปนมานานเกือบ 300 ปี เหล่าประเทศในทวีปอเมริกากลางก็ได้รับการปลดแอกในปี 1821 จากการประกาศอิสรภาพในนามของสหพันธ์สาธารณรัฐอเมริกากลาง

 1

สหพันธ์สาธารณรัฐอเมริกากลาง ดำรงอยู่ได้ไม่นานก็ถึงคราวล่มสลาย ทำให้แต่ละชาติต่างแยกตัวออกมาตั้งกันเป็นประเทศ ฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ สองประเทศที่มีดินแดนอยู่ติดกันก็เป็นหนึ่งในนั้น

แม้ว่า เอลซัลวาดอร์ จะมีพื้นที่เล็กกว่า ฮอนดูรัส เกือบห้าเท่า แต่ในช่วงปี 1969 ประชากรของพวกเขากลับมีมากกว่าเกือบ 7 แสนคน (ฮอนดูรัส 2.3 ล้านคน, เอลซัลวาดอร์ 3 ล้านคน) จนเกิดปัญหาประชากรล้นประเทศ และทางออกที่ดีที่สุดคือการอพยพไปหาแหล่งทำกินใหม่ในดินแดนเพื่อนบ้านอย่างฮอนดูรัส

ในช่วงต้นทศวรรษที่ 1960s มีชาวซัลวาดอร์ เป็นจำนวนถึง 300,000 คน อพยพกันมาเริ่มต้นชีวิตใหม่ในฮอนดูรัส พวกเขาเริ่มต้นด้วยการเป็นคนงานในโรงงาน ในขณะที่บางส่วนก็ทำอาชีพเพาะปลูก

การเข้ามาของผู้อพยพเริ่มสร้างความไม่พอใจแก่ชาวฮอนดูรัสซึ่งเป็นเจ้าของดินแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในชนบท จากการที่ชาวซัลวาดอร์ เข้ามาแย่งงานในชุมชนของพวกเขา ในขณะที่ผู้อพยพหลายคนสามารถลงหลักปักฐานถือครองที่ดินทำกินเป็นของตัวเอง

ก่อนที่พวกเขาจะสูญเสียที่ดินให้กับชาวต่างชาติไปจนหมด ชาวฮอนดูรัสที่ถือครองที่ดินขนาดใหญ่ได้รวมตัวกันก่อตั้งสหพันธ์เกษตรกรแห่งชาติ และองค์กรปศุสัตว์และเกษตรกรแห่งฮอนดูรัสขึ้นในปี 1966 เพื่อพิทักษ์ผลประโยชน์ของพวกเขา

พวกเขายังได้กดดันประธานาธิบดี ออสวัลโด โลเปซ อาเรยาโน ให้จัดการกับผู้อพยพ หนึ่งในนั้นคือโครงการโฆษณาชวนเชื่อที่บอกว่าชาวซัลวาดอร์ คือต้นตอของปัญหา ในขณะเดียวกัน มันยังได้สร้างความรู้สึกชาตินิยมแก่ชาวฮอนดูรัส ทำให้เกิดการไล่ทำร้าย ข่มขู่ หรือถึงขั้นฆ่าผู้อพยพชาวซัลวาดอร์

 2

ยิ่งไปกว่านั้นในปี 1969 รัฐบาลฮอนดูรัส ยังได้ออกกฏหมายปฏิรูปที่ดิน ยึดคืนที่ดินจากชาวซัลวาดอร์ และนำมาแจกจ่ายชาวฮอนดูรัส บีบให้ชาวซัลวาดอร์ที่ถูกยึดที่ดินต้องกลับประเทศตัวเอง สร้างให้เกิดความขุ่นเคืองในหมู่ชาวซัลวาดอร์

ในขณะที่ความสัมพันธ์ของสองประเทศกำลังตึงเครียดจนถึงที่สุด ราวกับโชคชะตาเล่นตลก เมื่อในเกมลูกหนัง ฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ ต่างต้องมาเจอกันเองเพื่อชิงตั๋วเข้าไปเล่นในฟุตบอลโลกรอบสุดท้าย ซึ่งมีเพียงแค่ใบเดียวสำหรับภูมิภาคนี้

ตั๋วฟุตบอลโลกเป็นเดิมพัน

ก่อนปี 1970 ทั้งฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ ต่างเป็นประเทศที่ไม่เคยสัมผัสกับฟุตบอลโลกรอบสุดท้ายมาก่อน ฮอนดูรัส ลงแข่งในรอบคัดเลือกมาแล้ว 2 ครั้งแต่ไม่สมหวัง ในขณะที่ เอล ซัลวาดอร์ มันคือฟุตบอลโลกรอบคัดเลือกครั้งแรกของพวกเขา

 3

ฮอนดูรัส ทำผลงานในรอบแบ่งกลุ่มรอบแรกได้อย่างร้อนแรง เริ่มด้วยการปราบ จาไมกา แบบไป-กลับทั้ง 2 เกม ก่อนจะมาเฉือนชนะคอสตาริกาในบ้าน 1-0 และบุกไปเสมอในเกมเยือนด้วยสกอร์ 1-1 คว้าแชมป์กลุ่มได้สำเร็จ

ส่วน เอล ซัลวาดอร์ ที่ไม่เคยมีประสบการณ์ในเวทีนี้มาก่อน ทำผลงานได้ไม่เลว เก็บชัยในบ้านในการพบกับซุรินาเม และ เนเธอร์แลนด์ แอนทิลส์ แม้นัดสุดท้ายบุกเขาจะบุกไปพ่าย ซูรินาเม แต่คะแนนที่ตุนไว้ ก็ดีพอที่จะทำให้เข้ารอบ

ทำให้ในเกมรอบรองชนะเลิศที่เตะกันแบบสองนัดเหย้าเยือน ฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ ที่มีปัญหากันอยู่ต้องโคจรมาพบกันเอง แน่นอนว่ามันจึงเป็นเกมที่เต็มไปด้วยความตึงเครียดและการเดิมพันสูงของทั้งสองฝั่ง  

6 มิถุนายน 1969 เกมนัดแรกที่เตกูซิกัลปา เมืองหลวงของฮอนดูรัส มันถูกเรียกว่าเกมแห่งสงครามจิตวิทยา เนื่องจากก่อนเกม แฟนบอลชาวฮอนดูรัส ต่างพากันไปรวมตัวกันหน้าโรงแรมที่นักเตะเอลซัลวาดอร์พักอยู่ พวกเขาพากันขว้างก้อนหิน ส่งเสียงโหวกเหวกโวยวาย และบีบแตรรถเสียงดังตลอดทั้งคืน ก่อกวนไม่ให้นักเตะของคู่แข่งหลับสนิท

และเหมือนว่าจะได้ผล เมื่อในเกมนัดแรก ฮอนดูรัสเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 1-0 จากประตูชัยในนาทีสุดท้ายของ เลโอนาร์ด เวลล์ ที่ทำให้พวกเขาเป็นฝ่ายได้เปรียบไปก่อนในนัดแรก

 4

แม้ฮอนดูรัสจะเป็นฝ่ายฉลองชัย แต่กลายเป็นเรื่องเศร้าของอีกฝั่ง เมื่อ เอมิเลีย โบยานอส แฟนบอลสาวของวัย 18 ปี เอล ซัลวาดอร์ ตัดสินใจจบชีวิตตัวเองลงด้วยการยิงตัวตาย หลังรับไม่ได้กับผลการแข่งขัน

และเธอก็ได้กลายเป็นตัวเร่งปฏิกริยาที่ทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศใกล้จะแตกหัก

แด่ “เอมิเลีย”

แม้เอมิเลีย จะเป็นแค่แฟนบอลคนหนึ่ง แต่การเสียชีวิตของเธอในช่วงเวลาแห่งความตึงเครียดนี้ได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการโฆษณาชวนเชื่อของเอล ซัลวาดอร์ El Nacional สื่อท้องถิ่นพาดหัวข่าวว่า “หญิงสาวรับไม่ได้ที่บ้านเกิดของเธอถูกทำลาย”

 5

เอมิเลีย ได้กลายเป็นเครื่องมือในการจุดกระแสความรักชาติของชาวซัลวาดอร์ ในขณะเดียวกันก็สร้างความเกลียดชังต่อชาวฮอนดูรัส และกล่าวหาว่าชัยชนะในเกมนัดแรก มีส่วนพรากชีวิตของเธอไป

งานศพของเธอถูกถ่ายทอดสดทางโทรทัศน์ไปทั่วประเทศ โดยมี ประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีเข้าร่วม เช่นเดียวกับนักเตะ เอล ซาวาดอร์ ที่เพิ่งถึงบ้านเกิดในตอนเช้า บนโลงศพของเธอถูกคลุมด้วยธงชาติ

หนึ่งสัปดาห์หลังจากเกมนัดแรก ฮอนดูรัส ต้องเป็นฝ่ายบุกมาเยือน เอล ซัลวาดอร์ วีรกรรมของแฟนบอลทีมเยือน ที่ทำไว้กับทีมพวกเขายังไม่เลือนหายไป บวกกับการเสียชีวิตของเอมิเลีย ยิ่งทำให้อุณภูมิความแค้นพุ่งสูงขึ้นไปอีก แน่นอนว่าแฟนบอลเอลซัลวาดอร์ ต่างรอที่จะตอบแทนอย่างสาสม     

แค่เพียงวันแรกที่ ฮอนดูรัส มาถึง แฟนบอลเอล ซัลวาดอร์เอาคืนด้วยการส่งเสียงโวยวายหน้าโรงแรมของคู่แข่ง ทำลายหน้าต่าง พร้อมกับ ขว้างปาไข่เน่าและหนูตายเข้าไปข้างใน

“ฝูงชนที่พากันตะโกนได้ทำลายหน้าต่างทุกบานของโรงแรม ขว้างปาไข่เน่า หนูตายและผ้าขี้ริ้วเหม็นๆ เข้าไปข้างใน” ริสซาร์ด คาปูสคินกี ผู้สือข่าวโปแลนด์อธิบาย   

ในตอนเช้าแฟนบอลยังรวมตัวกันเป็นทางยาวในเส้นทางจากโรงแรมถึงสนาม บางส่วนส่งเสียงด่าทอนักเตะของคู่แข่ง ในขณะที่บางส่วนถือรูปของเอมิเลียไว้เป็นเชิงกดดัน จนทำให้ฮอนดูรัสต้องใช้รถหุ้มเกราะขนนักเตะไปสนาม

สถานการณ์เริ่มย่ำแย่ลงทุกขณะ ทำให้ทางการต้องนำทหารมาตรึงกำลังไว้ทั้งในและรอบสนาม ก่อนที่เกมดังกล่าว เอล ซัลวาดอร์ จะเป็นฝ่ายเอาชนะไปได้ 3-0 ตามมาด้วยการเผาธงฮอนดูรัสเพื่อฉลองชัย

 6

แม้ทีมของพวกเขาจะคว้าชัย แต่หลายคนยังโกรธแค้นจากเกมนัดแรก แฟนบอลฮอนดูรัสจำนวนมากถูกทำร้ายจนถึงต้องส่งโรงพยาบาล สองในนั้นเสียชีวิต รถกว่า 150 คันของแฟนบอลทีมเยือนถูกเผาจนวอดวาย

“เราโชคดีมากที่เราแพ้ ไม่เช่นนั้นเราอาจจะตายไปแล้ว” มาริโอ กริฟฟิน โค้ชของฮอนดูรัสในตอนนั้น กล่าวหลังจากเดินทางกลับถึงประเทศ

อย่างไรก็ดี ความรุนแรงที่สองฝ่ายได้กระทำต่อกันได้กลายเป็นชนวนที่ทำให้เกิดสงครามในเวลาต่อมา 

สงคราม 100 วัน

ชาวฮอนดูรัส รู้สึกโกรธแค้นกับสิ่งที่แฟนบอลเอลซัลวาดอร์ กระทำต่อเพื่อนของพวกเขาในเกมนัดที่ 2 จึงตอบโต้ด้วยการไล่ทำลายและปล้นร้านค้าที่มีชาวซัลวาดอร์เป็นเจ้าของ

 7

“เมื่อนักเตะเดินทางกลับถึงเตกูซิกัลปา พวกเขาได้เล่าประสบการณ์ที่เกิดชึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน ความขุ่นเคืองของแฟนบอลจึงลุกเป็นไฟ” ดี เบลเวล นักเขียนชาวอเมริกันกล่าว

ชาวซัลวาดอร์ที่อยู่ในฮอนดูรัสหลายคนตกเป็นเป้าหมายในการถูกทำร้าย หลายคนถูกลากออกมาจากบ้านหรือที่ทำงาน บ้านของพวกเขาถูกปล้นและเผา ในขณะที่ผู้หญิงจำนวนหนึ่งถูกข่มขืน

รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ พยายามเรียกร้องให้รัฐบาลฮอนดูรัส เข้าควบคุมสถานการณ์ แต่ไร้ผล เมื่ออีกฝั่งนิ่งเฉย ทำให้ผู้คนชาวซัลวาดอร์เป็นจำนวนถึง 11,700 คนต้องอพยพหนีตายกลับประเทศ และส่วนมากต้องเดินเท้าข้ามพรมแดนที่ไม่รู้ว่าพวกเขาจะโดนดักทำร้ายเมื่อไร

อันที่จริง ทั้งสองทีมยังต้องลงเตะในนัดตัดสินที่สนามเป็นกลางที่ประเทศเม็กซิโก หลังต่างเอาชนะกันมาได้คนละนัด เนื่องจากในยุคก่อนนับเพียงแค่ผลแพ้ชนะ ไม่ได้นับประตูได้เสีย และเป็นเอลซัลวาดอร์เอาชนะไปได้ 3-2 ในช่วงต่อเวลาพิเศษ (ก่อนที่เอลซัลวาดอร์จะคว้าตั๋วไปเล่นฟุตบอลโลกครั้งแรกได้สำเร็จ)

ทว่าหลังเกมวันนั้น สิ่งสำคัญกว่าการได้เข้าชิงชนะเลิศของพวกเขา คือการที่รัฐบาลเอลซัลวาดอร์ประกาศตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับฮอนดูรัสทุกช่องทาง เพื่อตอบโต้การนิ่งเฉยของเพื่อนบ้านที่ปล่อยให้ประชาชนไล่ฆ่าและทำร้ายชาวซัลวาดอร์

“ฮอนดูรัสไม่ให้ความสำคัญที่จะยับยั้งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และมันแทบไม่ต่างกับการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ชาวเอลซัลวาดอร์ และฮอนดูรัสก็ดูเหมือนจะไม่ชดเชยกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชาวเอลซัลวาดอร์เลยซักนิด” นี่คือแถลงการณ์จากรัฐบาลเอลซัลวาดอร์

 8

14 กรกฎาคม 1969 ความสัมพันธ์ของตั้งสองประเทศถึงจุดแตกหัก เมื่อเอลซัลวาดอร์

ส่งเครื่องบินรบ F4U คอร์แซร์ และ C-47 ที่ติดตั้งระเบิด พร้อม P-51 มัสแตงเข้าไปในฮอนดูรัส ราว 5 โมงเย็น พวกเขาได้เปิดฉากโจมตีสนามบินทอนคอนติน ฐานที่มั่นกองทัพอากาศฮอนดูรัส ก่อนจะเข้าโจมตีเมือง เอล ปอย, อมาพาลา, โชลูเตคา, และ ซานตา โรซา เด โกปัน

พวกเขาได้ส่งกองกำลังภาคพื้นดินบุกเพื่อนบ้านในเช้าวันต่อมา โดยแบ่งออกเป็นสองกลุ่ม ทางตอนเหนือส่งรถถังหุ้มเกราะและพลเดินเท้า ส่วนภาคตะวันออก ส่งสรรพกำลังที่ใหญ่กว่าทั้ง อย่างรถถัง M3 สจ๊วต และปืนครก 105 มม. ก่อนจะบุกถึงเมืองหลวงได้ในช่วงค่ำของวันนั้น

“เอล ซัลวาดอร์ ได้ทิ้งระเบิดบริเวณชายแดนของฮอนดูรัสและสนามบินของในเตกูซิกัลปา คาดกันว่าเอลซัลวาดอร์ จะโจมตีอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีข้อตกลงหยุดยิงก่อนกำหนด” รายงานของข่าวกรองลับซีไอเอระบุ

อย่างไรก็ดี ฮอนดูรัส ก็แก้เผ็ดอย่างทันควัน พวกเขาตอบโต้ด้วยการส่งกองบิน เข้าโจมตีเมือง Ilopango ในซานซัลวาดอร์ ซึ่งเป็นสนามบินของกองทัพอากาศเอล ซัลวาดอร์ และเพื่อตัดกำลังด้านน้ำมันของเอลซัลวาดอร์ พวกเขาได้โจมตีโรงงานอุตสาหกรรมในเมือง Acajutla ซึ่งเป็นท่าเรือหลักของเอล ซัลวาดอร์ ทำลายถังเก็บน้ำมันจนหมดสิ้น รวมไปถึงยังทำลายท่าเรือในลายูเนียน ซึ่งเป็นโรงเก็บน้ำมันด้วย

และมันก็ได้ผล เมื่อเอล ซัลวาดอร์ ขาดแคลนเชื้อเพลิง ทำให้การโจมตีทางอากาศของพวกเขาต้องหยุดชะงัก ทว่าการโจมตีภาคพื้นดินยังคงดำเนินต่อไปท่ามกลางความโกรธแค้น

 9

ฮอนดูรัสนำเรื่องไปร้องต่อ องค์การนานารัฐอเมริกัน และขอให้ เอลซัลวาดอร์ หยุดยิง เอลซัลวาดอร์ จึงเรียกร้องให้ฮอนดูรัสจ่ายค่าชดเชยแก่พลเมืองของพวกเขาที่ถูกขับไล่ออกนอกประเทศ และรับประกันความปลอดภัยชาวซัลวาดอร์ที่อยู่ในฮอนดูรัส

ในที่สุดทั้งสองฝ่ายก็ตกลงหยุดยิงกันวันที่ 18 กรกฎาคม 1969 ซึ่งเท่ากับว่าการปะทะกันจบสิ้นในเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น แต่กองกำลังเอลซัลวาดอร์ ยังคงตรึงกำลังอยู่ในฮอนดูรัส จนกระทั่งวันที่ 2 สิงหาคม จึงถอนกำลังออกไป ถือว่าสงครามสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ

สงครามที่ไม่มีผู้ชนะ

“รัฐบาลทั้งสองพอใจ หลายวันที่ฮอนดูรัส และเอลซัลวาดอร์ ได้ขึ้นหน้าหนึ่งในสื่อโลก ถือเป็นโอกาสหนึ่งเดียวของประเทศเล็กๆ ที่จะได้รับความสนใจในระดับนานาชาติในวันที่พวกเขาตัดสินใจหลั่งเลือด นี่เป็นความจริงที่น่าเศร้า แต่มันก็คือความจริง” คาปูสคินกีกล่าว

 10

แม้จะกินเวลาเพียงแค่สี่วันแต่สงครามระหว่าง ฮอนดูรัส และ เอลซัลวาดอร์ สร้างความเสียหายให้แก่ทั้งสองประเทศไม่น้อย ชาวซัลวาดอร์ 900 คนต้องสังเวยชีวิต และอีก 300,000 คนต้องไร้ที่อยู่อาศัย ในขณะที่ ฮอนดูรัส ต้องสูญเสียพลเมืองและทหารรวมกันไปถึง 2,100 คน และอีกหลายพันคนต้องกลายเป็นคนไร้บ้าน

สงครามยังส่งผลกระทบต่อการค้า เมื่อตลาดกลางอเมริกาต้องถูกระงับไปถึง 22 ปี ที่ส่งผลกระทบในแง่ลบต่อเศรษฐกิจของอเมริกาใต้ และมีส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดความรุ่งเรืองของรัฐบาลทหารในภูมิภาคนี้

ส่วนเอลซัลวาดอร์ ไม่สามารถรับมือกับการไหลบ่าของประชากร ที่มีส่วนทำให้ประเทศแออัดมากขึ้นและผู้คนยากจน และเกิดสงครามกลางเมืองที่กินระยะเวลาถึง 12 ปี

แม้ว่าเอลซัลวาดอร์และฮอนดูรัส จะสามารถผ่านไปเล่นในฟุตบอลโลกอีกทีมละ 1 ครั้งและ 3 ครั้งตามลำดับ แต่พวกเขาก็ไม่สามารถหนีพ้นจากความเป็นประเทศยากจน ที่สงครามถือเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญที่ทำให้ประเทศเดินมาถึงจุดนี้

เพราะขึ้นชื่อว่าสงครามล้วนไม่มีใครเป็นผู้ชนะ และไม่มีใครเป็นผู้แพ้ มีแต่ผู้สูญเสียเท่านั้น

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ Football War : เมื่อฟุตบอลกลายเป็นชนวนสงครามจนมีคนล้มตาย 3,000 คน

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook