ทำไม "จอร์แดน" ยังทำรายได้มากกว่า เลบรอน, เคอร์รี่, ฮาร์เด้น?

ทำไม "จอร์แดน" ยังทำรายได้มากกว่า เลบรอน, เคอร์รี่, ฮาร์เด้น?

ทำไม "จอร์แดน" ยังทำรายได้มากกว่า เลบรอน, เคอร์รี่, ฮาร์เด้น?
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

3 เทพแห่งวงการบาสเก็ตบอล NBA ในเวลานี้อย่าง เลบรอน เจมส์, สเตปห์ เคอร์รี่ และ เจมส์ ฮาร์เด้น มีรายรับต่อปีในจำนวนที่ไม่ใช่เล่น... อย่างไรก็ตามกลับเทียบไม่ได้หากเอามาเปรียบกับตำนานอย่าง ไมเคิล จอร์เเดน ที่รีไทร์จากวงการบาสเก็ตบอลมาเเล้วเกือบ 20 ปี

 

นิตยสารฟอร์บส์ ยืนยันว่า ณ เวลานี้ คิง เจมส์ มีรายได้ต่อปี ทั้งค่าเหนื่อย, เงินรางวัล และเงินจากสปอนเซอร์รวมกันอยู่ที่ 88.7 ล้านดอลลาร์, เคอร์รี่ ได้ 79.5 ล้านดอลลาร์ ขณะที่ ฮาร์เด้น นั้นทำเงินได้เพียงแค่ปีละ 43 ล้านดอลลาร์ เท่านั้น… พวกเขายังต้องเดินอีกไกลมากกว่าจะเทียบรายรับของ MJ ที่ทำได้ในเวลานี้

เหตุใดเสือเฒ่าที่พื้นที่บนหน้าสื่อมีไม่เท่านักบาสฯสมัยใหม่ กลับมีเงินที่งอกเงยขึ้นจนเต็มกระเป๋าใช้กี่ชาติก็ไม่หมดระดับ 1.9 พันล้านเหรียญ ติดตามเรื่องราวของความร่ำรวยและมั่งคั่งของพระเจ้าแห่งวงการ NBA ได้ที่นี่

จากนักกีฬาที่ร่ำรวยที่สุด ถึงอดีตนักกีฬาที่ร่ำรวยที่สุด...

จอร์เเดน นั้นประกาศรีไทร์จากวงการบาสเก็ตบอลตั้งแต่ปี 2003 และในฐานะพระเจ้า, G.O.A.T หรืออะไรก็ตาม แน่นอนว่าเขาได้ค่าตอบแทนสูงตั้งแต่สมัยยังเป็นผู้เล่น ย้อนกลับไปในสมัยที่ยังอยูกับ ชิคาโก้ บูลส์ นั้น จอร์เเดน ทำเงินต่อปีได้ราว 90 ล้านดอลลาร์ ซึ่งก็ถือว่ามากโขสำหรับยุคนั้น อย่างไรก็ตามสิ่งที่ทำให้เขาเหนือกว่านักกีฬาคนอื่นๆไปอีกระดับนั่นคือการต่อยอดในวันที่เลิกเล่น

 1

อย่างที่เราทราบกันดี จอร์เเดน ถือเป็นนักกีฬาแม่เหล็กที่ค่าย ไนกี้ ใช้ชูโรงตลอด และกว่าที่ ไนกี้ จะได้ลายเซ็นของ จอร์เเดน มานั้น พวกเขาต้องยื้อกับแบรนด์ดังอย่าง อาดิดาส และ คอนเวิร์ส อยู่นาน เมื่อได้ลายเซ็นมาเเล้วจึงเป็นช่วงเวลาที่รองเท้าซิกเนเจอร์ของจอร์เเดนจะออกมาถล่มตลาดสปอร์ตแวร์ นั่นคือ "แอร์ จอร์เเดน" ที่ขายดิบขายดีจนกลายเป็นรุ่นระดับตำนาน และท้ายที่สุดก็ถูกแยกไลน์ออกมาเป็นแบรนด์ย่อยของ ไนกี้ จนได้ ซึ่งใช้โลโก้ “จัมป์แมน” ของ จอร์เเดนเป็นจุดขาย และโลโก้ดังกล่าวมีมูลค่ากว่า 100 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว ซึ่งทุกวันนี้ยังคงเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและกำลังก้าวข้ามไปถึงฟุตบอลในยุโรปโดยเป็นสปอนเซอร์ให้กับทีมดังอย่าง ปารีส แซงต์-แชร์กแม็ง เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว

จะเห็นได้ว่าส่วนของการเดินเกมการตลาดของจอร์เเดน ต่างกับนักกีฬาทั่วไป นักกีฬาชื่อดังหลายคนมักจะได้สัญญาจากรองเท้า แต่ จอร์เเดน ได้ส่วนแบ่งจากการขายและขยับก้าวเข้าไปเป็นพาร์ทเนอร์ของแบรนด์ทรงอำนาจอย่าง ไนกี้ เลยทีเดียว ปัจจุบันแบรนด์ลูกอย่าง แอร์ จอร์เเดน สร้างรายได้ให้กับ ไนกี้ บริษัทแม่ ถึงปีละ 3 พันล้านดอลลาร์ หักค่าใช้จ่ายต่างๆ MJ ได้ส่วนแบ่งมาถึงปีละ 100 ล้านดอลลาร์เลยทีเดียว เท่านี้ก็รวยกว่าเหล่าสตาร์ดังแห่ง NBA ในปัจจุบันแล้ว

การลงทุนมีความเสี่ยง... แต่คุ้ม

นอกจากการเป็นเสือนอนกินกับแบรนด์รองเท้าที่ติดลมบนอยู่แล้ว จอร์เเดนยังกระโดดใส่การลงทุนกับสิ่งที่เขาถนัดอีกด้วย นั่นคือการซื้อทีมบาสเก็ตบอล NBA อย่าง ชาร์ล็อตต์ บ็อบแค็ทส์ ทีมที่ไม่ได้มีประวัติศาสตร์ยิ่งใหญ่อะไร แถมยังไม่เคยเข้ารอบเพลย์ออฟเลยแม้แต่ครั้งเดียว

 2

แรกเริ่มเดิมทีนั้น จอร์แดน ได้ซื้อหุ้นของ ชาร์ล็อตต์ บ็อบแค็ทส์ ไว้ตั้งแต่ปี 2006 แล้ว ก่อนที่จะค่อยๆทยอยขยับจำนวนหุ้นขึ้นมาเป็นอันดับ 2 หลังจากที่ โรเบิร์ต แอล แจ็คสัน หุ้นส่วนใหญ่เปิดโอกาสให้เขาเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการถือหุ้นใหญ่ด้วยการมอบหน้าที่ให้ จอร์เเดน เป็น Managing Member of Basketball Operations หรือ “ผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการบาสเก็ตบอล”

ในปี 2010 จอร์เเดน ซื้อหุ้นเพิ่มด้วยจำนวนเงินทั้งหมด 175 ล้านดอลลาร์ และเเสดงความต้องการที่จะเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ของทีม จนกระทั่งมีการเคลียร์กับเจ้าของเดิมอย่าง โรเบิร์ต แอล. แจ็คสัน ลงตัวขณะที่ NBA ก็เคาะโต๊ะให้เขาก้าวขึ้นมาเป็นเจ้าของทีมอย่างเป็นทางการในปี 2014 และในตอนนี้ ชาร์ล็อตต์ บ็อบแค็ทส์ เปลี่ยนชื่อเป็น ชาร์ล็อตต์ ฮอร์เน็ตส์ ซึ่งเป็นชื่อที่ทีมประจำเมืองนี้เคยใช้ในอดีต (ก่อนย้ายไปอยู่เมือง นิวออร์ลีนส์ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น นิว ออร์ลีนส์ เพลิแกนส์) เป็นที่เรียบร้อยเเล้ว ขณะที่ จอร์เเดน กลายเป็นชาวแอฟริกัน-อเมริกัน คนแรกที่ที่เป็นเจ้าของทีมใน NBA อีกด้วย

 3

แม้ผลงานของ ฮอร์เน็ตส์ จะไม่ดี แต่ผลประกอบการกลับทะยานขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงหลังมานี้รายรับขั้นต่ำของทีมใน NBA ด้านการถ่ายทอดสดถูกเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ โดยในฤดูกาล 2014-15 ทีมฮอร์เน็ตส์ที่เคยเป็นทีมอันดับ 3 จากท้าย มีเพียง เมมฟิส กริซลี่ส์ และ นิว ออร์ลีนส์ เพลิแกนส์ เท่านั้นที่ต่ำกว่า กลับขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 17 จึงทำให้ได้ส่วนแบ่งด้านลิขสิทธิ์มากขึ้น ว่าง่ายคือเมื่อมูลค่าแฟรนไชส์ของ NBA เพิ่มขึ้น ฮอร์เน็ตส์ก็มีรายรับที่มากขึ้นเป็นเงาตามตัว และจากธุรกิจการบริหารทีมนี้เองที่ทำให้จอร์เเดนถูกเรียกว่าเศรษฐีเต็มตัว เพราะมันสร้างรายได้ให้เขามาเเล้วกว่า 1 พันล้านดอลลาร์นับตั้งแต่เข้ามาซื้อทีม

ด้วยเหตุนี้ จึงไม่แปลกที่เขาจะมีเงินไปต่อยอดในธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งเมื่อปี 2018 จอร์แดนก็ขยายอาณาเขตการลงทุนของตัวเองสู่ทีมอีสปอร์ตส์ โดยเลือกลงทุนใน Team Liquid ทีมระดับแนวหน้าของโลกซึ่งมี แมจิค จอห์นสัน อดีตคู่ปรับในสนามยุค 80 เข้ามาลงทุนแล้วก่อนหน้า และด้วยความที่ธุรกิจนี้กำลังโต แนวโน้มความสำเร็จจึงแจ่มชัดเหมือนเช่นเคย

ค่าขนมเล็กๆ น้อยๆ

แม้จะกลายเป็นนักธุรกิจแบบเต็มตัวเเล้วแต่ MJ ก็ยังไม่ทิ้งลายตำนานนักบาส เพราะปัจจุบันเขาถือว่าเป็นอดีตผู้เล่นที่สามารถรักษาสภาพร่างกายให้ดูดีได้แทบจะไม่แตกต่างกับวันที่ยังโลดเเล่นอาชีพอยู่เลย และเมื่อบวกเข้ากับคาแร็คเตอร์ของซูเปอร์สตาร์ ทำให้จอร์เเดนยังเก็บกินกับงานพรีเซนเตอร์สินค้าได้อย่างสบายๆ อีกหลายชิ้นเช่นแบรนด์เสื้อผ้าสำหรับบุรุษที่ก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 1909 อย่าง Hanes, เครื่องดื่มเกลือแร่อย่าง Gatorade, แบรนด์การ์ดนักกีฬาสำหรับสะสมอย่าง Upper Deck รวมถึงขายลิขสิทธิ์ให้กับค่ายเกม 2K เพื่อเป็นเจ้าเดียวเท่านั้นที่สามารถนำชื่อและตัวของ MJ ไปโลดแล่นในเกมได้ จนทำให้ส่วนนี้เขาทำเงินได้อีกปีละราวๆ 100 ล้านดอลลาร์เป็นอย่างน้อย

 4

ทั้งหมดทั้งมวลที่กล่าวมาทำให้จอร์เเดนมีทรัพย์สินหลังหักลบกลบหนี้ทุกอย่างเเล้วอยู่ที่ 1.9 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งนับว่าเป็นการเพิ่มรายรับได้อย่างก้าวกระโดดภายในระยะเวลาไม่กี่ปี จนที่สุดเเล้วนิตยสารฟอร์บส์ ยืนยันว่า MJ กลายเป็นบุคคลที่ร่ำรวยที่สุดในลำดับที่ 455 ของประเทศสหรัฐอเมริกา และเป็นอดีตนักกีฬาที่มีรายรับสูงที่สุดในโลกอีกด้วย

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ

อัลบั้มภาพ 4 ภาพ ของ ทำไม "จอร์แดน" ยังทำรายได้มากกว่า เลบรอน, เคอร์รี่, ฮาร์เด้น?

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook