"ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ" : ผู้บุกเบิกจากแดนอาทิตย์อุทัยในวันที่ญี่ปุ่นยังไร้ลีกอาชีพ

"ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ" : ผู้บุกเบิกจากแดนอาทิตย์อุทัยในวันที่ญี่ปุ่นยังไร้ลีกอาชีพ

"ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ" : ผู้บุกเบิกจากแดนอาทิตย์อุทัยในวันที่ญี่ปุ่นยังไร้ลีกอาชีพ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

เมื่อพนักงานบริษัทไฟฟ้าต้องลาออกจากงานประจำ เพื่อไปแผ้วถางทางให้รุ่นน้องในดินแดนที่ยังไม่เคยมีใครในประเทศได้สัมผัส

บุนเดสลีกา ถือเป็นหนึ่งในลีกที่ได้รับความนิยมในหมู่แข้งชาวญี่ปุ่น ในฐานะหมุดหมายของการค้าแข้งในต่างประเทศ นับจนถึงปัจจุบันมีนักเตะจากแดนอาทิตย์อุทัย พาเหรดกันมาค้าแข้งในลีกแห่งนี้ถึง 31 ราย โดยในฤดูกาลนี้มีถึง 7 รายกระจายกันลงเล่นให้กับหลายทีมจากทั่วประเทศ

 

อย่างไรก็ดี หากย้อนกลับไปเมื่อราว 40 ปีก่อน ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ คือหนึ่งเดียวจากญี่ปุ่น ที่ต่อสู้อยู่ในลีกแห่งนี้ และนี่คือการผจญภัยในยุโรปของเขา ในฐานะผู้บุกเบิกจากแดนอาทิตย์อุทัย

พนักงานบริษัทไฟฟ้า

ท่ามกลางธรรมชาติที่เขียวขจี ล้อมรอบไปด้วยขุนเขา บนดินแดนที่ตั้งอยู่เกือบเหนือสุดของเกาะฮอนชู เกาะที่ใหญ่ที่สุดของญี่ปุ่น มีเมืองที่ชื่อว่า คาสุโนะ แห่งจังหวัดอาคิตะตั้งอยู่

 1

เมืองแห่งนี้มีประชากรเพียงแค่ราว 30,000 คน บนพื้นที่ที่คนส่วนใหญ่ทำการเกษตรเป็นอาชีพหลัก ทำให้เมื่อราว 40 ปีก่อน ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ ตัดสินใจออกจากบ้านเกิด โดยมีเพียงวุฒิมัธยมปลายติดตัว มุ่งหน้าเข้าสู่เมืองหลวงโตเกียวเพื่อหางานทำ

โชคดีที่ตอนนั้นเขาได้ทำงานในบริษัทไฟฟ้า ฟุรุคาวะ ที่ตั้งอยู่ชานเมืองของโตเกียว ซึ่งทำให้เขาได้มีโอกาสได้เล่นฟุตบอลที่เขารักกับทีมของบริษัท ที่กำลังโลดแล่นอยู่ในลีกสมัครเล่นที่ชื่อ เจแปน ซ็อคเกอร์ลีก

ด้วยฝีเท้าที่โดดเด่นเกินวัยทำให้ โอคุเดระ ได้รับโอกาสลงสนามไม่น้อย เขาลงเล่นให้ฟุรุคาวะ (ปัจจุบันทีมนี้คือ เจฟ ยูไนเต็ด จิบะ ในเจลีก 2) ไปถึง 24 นัดในสามฤดูกาล และให้ทีมยิงไปทั้งสิ้น 8 ประตู ทั้งที่เล่นในตำแหน่งกองกลาง และทำให้เขาถูกเรียกติดทีมชาติเป็นครั้งแรกในวัย 20 ปีพอดี

 2

โอคุเดระ ค่อยๆ สถาปนาขึ้นมาเป็นนักเตะคนสำคัญของฟุรุคาวะ พาทีมคว้าแชมป์ทั้ง เจแปน ซ็อคเกอร์ลีก, เอ็มเพอเรอร์คัพ และ ซูเปอร์คัพ ในขณะเดียวกัน เขาก็ได้กลายเป็นขาประจำในทีมชาติ และเป็นนักเตะที่ขาดไม่ได้ของทัพซามูไรบลู

อย่างไรก็ดี ฟุตบอลในประเทศญี่ปุ่นในตอนนั้น ยังเป็นกีฬาที่ไม่ค่อยมีคนสนใจ แม้ว่าทีมชาติญี่ปุ่น จะคว้าเหรียญทองแดงในโอลิมปิก 1968 แต่ความนิยมยังห่างไกลจากเบสบอลสุดกู่ ในขณะที่ลีกก็เป็นเพียงแค่ลีกสมัครเล่น สำหรับทีมบริษัทมาแข่งกันเพื่อความสนุกเท่านั้น

สถานะหลักของโอคุเดระ จึงเป็นเพียงพนักงานบริษัทไฟฟ้า ที่ใช้เวลาในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์ไปกับการเล่นฟุตบอลให้กับบริษัท การไปในยุโรปจึงเป็นแค่เรื่องเพ้อฝัน เพราะไม่มีลีกไหนจะสนใจนักเตะจากประเทศที่ยังไม่มีแม้แต่ลีกอาชีพ

 3

โอคุเดระ ยังคงก้มหน้าก้มตาเล่นฟุตบอลที่เขารักควบคู่ไปกับงานบริษัท ในขณะเดียวกันเขาถูกเรียกติดทีมชาติอยู่เป็นระยะ แต่ไม่มีครั้งไหนที่สำคัญไปกว่าการถูกเรียกติดทีมเมื่อปี 1977 ที่เปลี่ยนชีวิตเขาไปตลอดกาล

ค่ายเก็บตัวเปลี่ยนชีวิต  

เหตุผลสำคัญที่ทำให้กีฬาฟุตบอลยังไม่ได้รับความนิยมในญี่ปุ่นในตอนนั้น เนื่องจากทีมชาติญี่ปุ่น ไม่ได้มีผลงานที่โดดเด่นในระดับนานาชาติ พวกเขายังไม่เคยแม้แต่ผ่านเข้าไปเล่นในเอเชียนคัพรอบสุดท้าย ส่วนฟุตบอลโลก แทบไม่ต้องพูดถึง

 4

ฮิโรชิ นิโนะมิยะ กุนซือทัพซามูไรบลูที่เข้ารับตำแหน่งเมื่อปี 1976 ต้องการยกระดับมาตรฐานฟุตบอลญี่ปุ่นให้สูงขึ้น เขาจึงตัดสินใจพาแข้งทีมชาติเดินทางไปเข้าค่ายเก็บตัวถึงเยอรมัน โดยมี โอคุเดระ เป็นหนึ่งในทีมชุดนั้น

แผนการของนิโนะมิยะคือทันทีที่ถึงเยอรมัน เขาจะแบ่งนักเตะเป็นชุด ชุดละ 5 คน และกระจายกันไปร่วมซ้อมกับทีมในบุนเดสลีกาทั่วประเทศ ซึ่ง โอคุเดระ มี เอฟซี โคโลญจน์ เป็นจุดหมายปลายทางของเขา

“ฮิโรชิ นิโนะมิยะ โค้ชทีมชาติญี่ปุ่นในตอนนั้นสนิทกับ เฮอร์เนส ไวส์ไวเลอร์ โค้ชโคโลญจน์ และตอนนั้นญี่ปุ่นไปเล่นเกมกระชับมิตรที่เยอรมันตะวันตก” โอคุเดระให้สัมภาษณ์กับ Soccer Kings

“สิ่งที่เขาทำถ้าเป็นตอนนี้ไม่สามารถทำได้แน่นอน เขาแบ่งสมาชิก 20 คนออกเป็นสี่กลุ่มแล้วส่งไปให้ร่วมซ้อมกับทีมบุนเดสลีกาในช่วงปรีซีซั่น เพราะอย่างนั้นผมจึงได้ไปร่วมซ้อมกับโคโลญจน์”

 5

โคโลญจน์ในตอนนั้นคุมทีมโดย เฮอร์เนส ไวส์ไวเลอร์ ที่ต่อมากลายเป็นกุนซือระดับตำนานของเยอรมัน เขาเป็นผู้ปลุกปั้นนักเตะดังขึ้นมาประดับวงการมากมายทั้ง จุ๊ปป์ ไฮย์เกส, กุนเธอร์ เน็ตเซอร์ และ แบร์ตี้ โฟกส์

โอคุเดระ และเพื่อนทีมชาติญี่ปุ่น ร่วมซ้อมกับ โคโลญจน์ อยู่ระยะหนึ่ง ทว่าด้วยผลงานที่โดดเด่นเกินนักเตะญี่ปุ่นคนอื่น ทำให้ฝีเท้าของเขาไปเข้าตา ไวส์ไวเลอร์ อย่างจัง ก่อนจะได้รับการเสนอสัญญาโดยไม่ทันตั้งตัว ทว่ามันคือทางเลือกที่ยากที่สุดในชีวิตของเขา

ต้องพึ่ง JFA

ความรู้สึกแรกของโอคุเดระหลังรู้เรื่องสัญญาคือความไม่แน่ใจ แน่นอนว่าการได้เล่นในยุโรปมันยิ่งกว่าความฝัน แต่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีนักเตะญี่ปุ่นคนไหนที่ได้เล่นอาชีพมาก่อน แถมในวัย 25 ปี ก็ยังเป็นคำถามว่าสายเกินไปหรือเปล่าสำหรับนักเตะสมัครเล่นที่จะพัฒนาตัวเองขึ้นมาเทียบเท่ามาตรฐานของมืออาชีพ  

 6

ยิ่งไปกว่านั้น ต้องไม่ลืมว่าอาชีพหลักของเขาคือพนักงานบริษัทไฟฟ้า การไปเล่นในยุโรปหมายความว่าต้องลาออกจากงานประจำ เพื่อไปแสวงโชคในดินแดนที่ไม่คุ้นเคย และไม่รู้จะประสบความสำเร็จหรือเปล่า

“แน่นอนว่า (บุนเดสลีกา) คือความใฝ่ฝัน เพราะว่าผมคิดว่ามันไม่ใช่ระดับที่ทำได้ที่นี่ แต่ผมก็ไม่สามารถตัดสินใจได้ทันที ยังมีเรื่องแต่งงานกับภรรยา แล้วก็ยังมีต้นสังกัดอยู่ ก็เลยได้แต่พูดไปว่าหลังจากกลับไปปรึกษากันแล้ว จะติดต่อไปใหม่” โอคุเดระกล่าวกับ Soccer Kings

ท้ายที่สุดกลายเป็น สมาคมฟุตบอลญี่ปุ่น (JFA) ที่เป็นคนกลางที่ช่วยตัดสินใจในเรื่องนี้ พวกเขาช่วยกันพูดโน้มน้าวครอบครัวของโอคุเดระให้เข้าใจ และเจรจากับบริษัทไฟฟ้าฟุรุคาวะ ให้เก็บตำแหน่งของเขาไว้ ในกรณีที่ไม่ประสบความสำเร็จที่เยอรมัน

“หลังจากทีมได้ถามเรื่องราวกับกับนิโนะมิยะซัง ประธานบริษัทบอกว่าในฐานะบริษัทไฟฟ้าฟุรุคาวะ การไปค้าแข้งในต่างแดนน่าจะดีกับตัวนักเตะกว่า และโอกาสแบบนี้ไม่มีอีกแล้ว ไปเถอะ”

ในที่สุดโอคุเดระ ก็ตอบตกลงย้ายไปร่วมทีม โคโลญจน์ ในปี 1977 โดยต้นสังกัดใหม่จ่ายเงินชดเชยให้กับฟุรุคาวะ 75,000 ปอนด์ ทำให้เขากลายเป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรกในประวัติของบุนเดสลีกา และเป็นนักเตะสัญชาติซามูไรคนแรกที่ออกไปค้าแข้งในต่างประเทศ

แต่ในเวทีของมืออาชีพ นักเตะจากประเทศที่มีแต่ลีกสมัครเล่น และไม่เคยไปเล่นฟุตบอลโลกแม้แต่ครั้งเดียวคนนี้จะไหวแค่ไหน?

ไม่ใช่แค่ลงเล่น แต่ยังสร้างประวัติศาสตร์

หากพูดกันตามความเป็นจริง ยุโรปในตอนนั้นถือเป็นดินแดนที่ไม่รู้จักสำหรับชาวเอเชีย ทำให้ช่วงแรกโอคุเดระ ต้องเผชิญกับความยากลำบากทั้งเรื่องการปรับตัว ทั้งการสื่อสาร รวมไปถึงการใช้ชีวิตประจำวัน

 7

“ตอนที่มาถึงผมไม่รู้อะไรเลย ลำบากมาก ยิ่งไปกว่านั้น ครอบครัวของผมจะตามมาในอีกหนึ่งเดือน ผมก็เลยต้องหาบ้านไปทั่ว และรีบหาซื้อเฟอร์นิเจอร์ ตอนแรกผมต้องไปเรียนภาษาเยอรมัน เลยต้องไปเรียนที่โรงเรียนสอนภาษา แน่นอนว่าต้องไปซ้อมด้วย” โอคุเดระ ย้อนความหลังกับ Football Zone

“แม้ว่าอาจจะไม่ได้มีความรู้สึกกังวล แต่รู้สึกว่ามีสิ่งที่ต้องทำทันที ทำให้ผมรู้สึกกระสับกระส่าย จำได้ว่าเหมือนตอนนั้นสะสมความเครียดเอาไว้ด้วย”

และสิ่งสำคัญที่ทำให้โอคุเดระ ก้าวผ่านสิ่งนั้นมาได้คือความมุ่งมั่น เขาพยายามพิสูจน์ตัวเองในสนามซ้อม ไม่กี่สัปดาห์หลังการเซ็นสัญญา เขาก็ได้รับโอกาสลงสนามเป็นเกมแรกในนัดพบกับ ดุยส์บวร์ก และกลายเป็นนักเตะญี่ปุ่นคนแรกในประวัติศาสตร์ของบุนเดสลีกา  

“ตอนแรกคิดแค่ว่าต้องได้เล่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ตอนนั้นโคโลญจน์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นหนึ่งในทีมที่แข็งแกร่งที่สุดในยุโรป ก็เลยต่อสู้ด้วยความรู้สึกแค่ว่า ‘ฉันต้องเป็นสมาชิกของโคโลญจน์ทีมนี้’” โอคุเดระ กล่าวกับ Goal Japan

“แน่นอนว่ายิ่งเป็นเกมที่สำคัญความตึงเครียดจะเพิ่มมากขึ้น แต่ความเครียดที่ไม่ได้เล่นไม่เคยมีเลยนะ แทบจะไม่มีเลย  ตอนนั้นคิดแค่ว่า ‘ฟุตบอลไม่ใช่กีฬาที่เล่นคนเดียว’ ในฐานะทีมคิดแค่ว่า ‘ต้องชนะ’ ให้ได้ สิ่งนี้น่าจะขจัดความเครียดให้หมดไป”     

 8

ในฤดูกาลแรกของชีวิตนักเตะอาชีพ โอคุเดระ ได้รับโอกาสลงสนามไปทั้งสิ้น 24 นัด และทำไปถึง 6 ประตู โดย 2 ใน 6 ประตูเกิดขึ้นในสองนัดสุดท้าย ที่มีส่วนสำคัญทำให้โคโลญจน์ผงาดคว้าแชมป์บุนเดสลีกา ครั้งที่ 2 ในประวัติศาสตร์ เขากลายเป็นแข้งชาวญี่ปุ่นคนแรกที่ได้ชูถาดใบนี้ ก่อนที่เขาจะมีส่วนช่วยทีมคว้าแชมป์เดเอฟเบ โพคาล ในฤดูกาลนั้นอีกด้วย

แม้ปีต่อมาผลงานโดยรวมของทีมอาจจะไม่ได้ดีมากนัก แต่มันกลับเป็นฤดูกาลที่ลืมไม่ลงสำหรับโอคุเดระ นอกจากได้รู้จัก ปิแอร์ ลิตบาร์สกี ที่ต่อมากลายเป็นเพื่อนสนิทกันแล้ว เขายังทำให้คนทั่วยุโรปได้รู้จักนักฟุตบอลจากญี่ปุ่นมากขึ้น

ช่วงเวลาที่น่าจดจำของเขาเกิดขึ้นในเกมยูโรเปียนคัพ รอบรองชนะเลิศ ที่ โคโลญจน์ ต้องโคจรมาพบกับ น็อตติงแฮม ฟอเรสต์ ของ ไบรอัน คลัฟ นัดแรกที่อังกฤษ กลับเป็นผู้มาเยือนจากเยอรมันที่เป็นฝ่ายเซอร์ไพรส์ออกนำไปก่อน 2-0 แต่ก็โดนฟอเรสต์ยิงคืนสามประตูรวดให้สกอร์พลิกกลับมา 3-2

เกมทำท่าว่าจะจบลงด้วยชัยชนะของเจ้าบ้าน แต่ในช่วง 10 นาทีสุดท้าย จากจังหวะสวนกลับ โอคุเดระ ที่เพิ่งถูกส่งลงมาไม่ถึงนาที ได้บอลหน้ากรอบเขต ก่อนจะซัดด้วยขวาเต็มแรง บอลลอดตัว ปีเตอร์ ชิลตัน นายทวารทีมชาติอังกฤษของ ฟอเรสต์ เข้าไปตุงตาข่าย เป็นประตูตีเสมอให้โคโลญจน์ได้สำเร็จ

 9

แม้ท้ายที่สุด โคโลญจน์จะไปไม่ถึงฝัน หลังเปิดบ้านพ่าย 0-1 ในนัดสอง แต่ประวัติศาสตร์ก็ได้จารึกว่า โอคุเดระ คือนักเตะเอเชียคนแรกที่ยิงประตูได้ในยูโรเปียนคัพ แน่นอนว่าเขาคือคนญี่ปุ่นคนแรกที่ทำสถิตินี้อีกด้วย

โอเคุเดระ ยังคงทำผลงานได้ดีอย่างต่อเนื่องกับ โคโลญจน์ ในฤดูกาลถัดมา ลงเล่นไปทั้งสิ้น 38 นัด ยิงได้ 7 ประตู ช่วยให้ทีมไปถึงนัดชิงชนะเลิศเดเอฟเบ โพคาล แต่พลาดทำได้เพียงแค่รองแชมป์อย่างน่าเสียดาย

ทว่าเขาก็ต้องพบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ หลังการลาทีมไปของไวส์ไวเลอร์ ในปี 1980

ก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเอง

ในยุคของไวส์ไวเลอร์ โอคุเดระ ถือเป็นนักเตะที่ได้รับโอกาสลงสนามอย่างสม่ำเสมอ ตลอดการคุมทีมของโค้ชระดับตำนานเมืองเบียร์ กองกลางชาวญี่ปุ่นลงเล่นให้โคโลญจน์ไปทั้งสิ้น 91 นัดจาก 3 ฤดูกาล

 10

แต่แล้วการมาถึงของ คาร์ล ไฮนซ์ เฮ็ตเดอร์ก็อต กุนซือคนใหม่ที่มาแทนไวส์ไวเลอร์ช่วงปลายซีซั่น 1979-1980 ก็ทำให้สถานะของ โอคุเดระ เปลี่ยนไป เขาถูกส่งลงสนามแค่เพียง 3 นัด โดยเป็นเกมลีกเพียงนัดเดียว

กองกลางชาวญี่ปุ่น เข้าใจในสถานการณ์ของตัวเองดี หากปล่อยแบบนี้ไปเรื่อยๆ เขาคงจะถูกดองอยู่แค่ม้านั่งข้างสนาม หรืออาจจะไม่มีชื่อด้วยซ้ำ ทางเลือกที่ดีที่สุดในตอนนั้นคือการย้ายทีม และ แฮร์ธา เบอร์ลิน ที่ตอนนั้นอยู่ในบุนเดสลีกา 2 คือจุดหมายของเขา

“การมีอยู่ของโค้ช เฮอร์เนส ไวส์ไวเลอร์ ที่ดึงตัวผมมาเยอรมันมันสำคัญมาก เขาทั้งเข้าใจในตัวผม และเข้าใจใน ‘วิธีใช้งาน’ ผม” โอคุเดระกล่าวกับ Goal Japan

“แต่หลังไวส์ไวเลอร์ออกจากทีมไปผมลำบากมาก ตอนนั้นมีนักเตะต่างชาติอยู่แค่ 2 คน คาดเดาอะไรไม่ได้เลย มันเป็นสถานการณ์ที่อยู่นอกเหนือความคิด ผมจึงตัดสินใจย้ายไปเล่นกับแฮร์ธาที่อยู่ดิวิชั่น 2”

 11

เพชรก็ยังเป็นเพชรอยู่วันยังค่ำ แม้จะย้ายไปเล่นให้กับทีมใหม่ แต่โอคุเดระ ก็ใช้เวลาปรับตัวไม่นาน และก้าวขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญให้กับแฮร์ธา ช่วยให้ทีมจบในอันดับ 3 ของบุนเดสลีกา 2 ด้วยผลงาน 8 ประตูจาก 25 นัด

แม้ว่าทีมจะพลาดโอกาสเลื่อนชั้นไปอย่างน่าเสียดาย แต่ผลงานของเขาไปเข้าตาของ ออตโต เรห์ฮาเกล กุนซือหนุ่มในตอนนั้นของ แวร์เดอร์ เบรเมน ที่ชิงโควต้าเลื่อนชั้นมาจากแฮร์ธา ก่อนที่เขาจะได้กลับไปเล่นในบุนเดสลีกาอีกครั้งในสีเสื้อของเบรเมน

การย้ายมาเล่นให้กับเบรเมน ได้เปลี่ยนบทบาทของเขาไปอย่างสิ้นเชิง จากเดิมที่เล่นในตำแหน่งกองกลางตัวรุก โอคุเดระ ได้ถูกใช้งานในตำแหน่งฟูลแบ็ค เขาได้รับการยกย่องในฐานะแบ็คตีนหนัก

“อันที่จริงตอนแรกผมเป็นคนถนัดขวา แต่เท้าซ้ายผมเตะได้แรง เพราะว่าผมถนัดขวา ผมก็เลยเตะเท้าขวาด้วย แต่ลูกยิงเท้าซ้ายจะแรงกว่านะ ผมก็เลยได้เล่นแบ็คขวา หลังเปลี่ยนตำแหน่งตอนแรกก็สับสนเหมือนกันนะ แต่สนุกมากเลย”

ในขณะเดียวกันเขาได้ถูกเปลี่ยนไปเล่นในหลากหลายตำแหน่ง ซึ่งโอคุเดระ ก็ไม่ได้บ่น กลับกันมันยังทำให้เขากลายเป็นนักเตะสารพัดประโยชน์ และได้รับโอกาสลงสนามให้ทีมไปร่วม 255 นัด และมีส่วนช่วยทีมคว้ารองแชมป์บุนเดสลีกาได้ถึง 3 สมัย

“ตอนอยู่เบรเมน ปีแรกเล่นแบ็คขวา ปีสองเล่นหลายตำแหน่งมาก กลายเป็นพวกสารพัดประโยชน์ โดนบอกว่า ‘วันนี้เล่นสต็อปเปอร์’ ‘วันนี้เล่นกองหน้า’ นอกจากโกลก็เล่นมาแล้วทุกตำแหน่ง พูดได้ว่าเคยได้ประกบทั้ง ชา บุม กุน และ คาร์ล ไฮนซ์ รุมเมนิกเก้ มาแล้ว”   

 12

โอคุเดระ อยู่เล่นกับเบรเมนถึง 5 ฤดูกาล ก่อนจะตัดสินใจย้ายกลับไปเล่นในบ้านเกิดกับ ฟุรุคาวะ เขาคือนักเตะอาชีพคนแรกๆ ใน เจแปนซ็อคเกอร์ลีก และมีส่วนช่วยทีมคว้าแชมป์ เอเชียน คลับ แชมเปียนชิพ ได้ในฤดูกาล 1986 และตัดสินใจแขวนสตั๊ดในปี 1988 ก่อนจะได้รับการเชิดชูเกียรติบรรจุเข้าในหอเกียรติยศของสมาคมทีมชาติญี่ปุ่น และสมาพันธ์ฟุตบอลเอเชียเมื่อปี 2012 และ 2014 ตามลำดับ  

ผ่านมากว่า 40 ปีนับตั้งแต่ โอคุเดระ เหยียบเวทีบุนเดสลีกาเป็นครั้งแรก ถึงวันนี้มีนักเตะญี่ปุ่นมากมาย พากันย้ายไปค้าแข้งในลีกแห่งนี้กว่า 30 ราย และหากนับลีกระดับรองด้วยอาจจะสูงถึง 50 ราย

 13

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเขาคือผู้เปิดตลาดนักเตะญี่ปุ่นให้กลายเป็นที่รู้จักเวทียุโรปอย่างแท้จริง และเป็นจุดเริ่มต้นรวมถึงแรงบันดาลใจที่ทำให้นักเตะเลือดซามูไร พากันไปโชว์ฝีเท้าในตะวันตกอย่างไม่ขาดสาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้วงการฟุตบอลแดนอาทิตย์อุทัยพัฒนาขึ้นมาได้อย่างทุกวันนี้

อาจจะพูดได้ว่า “หากไม่มีโอคุเดระในวันนั้น ก็คงไม่มีฟุตบอลญี่ปุ่นอย่างในวันนี้” ก็เป็นได้

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ

อัลบั้มภาพ 13 ภาพ ของ "ยาสุฮิโกะ โอคุเดระ" : ผู้บุกเบิกจากแดนอาทิตย์อุทัยในวันที่ญี่ปุ่นยังไร้ลีกอาชีพ

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook