พรหมลิขิต : เหตุการณ์ที่ทำให้ มาราโดน่า เรียก ฟิเดล คาสโตร ว่า "พ่อ"

พรหมลิขิต : เหตุการณ์ที่ทำให้ มาราโดน่า เรียก ฟิเดล คาสโตร ว่า "พ่อ"

พรหมลิขิต : เหตุการณ์ที่ทำให้ มาราโดน่า เรียก ฟิเดล คาสโตร ว่า "พ่อ"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ฟิเดล คาสโตร อดีตประธานาธิบดีของคิวบา เสียชีวิตในวัย 90 ปี เมื่อปี 2016 ความตายของเขาเหมือนสัจธรรมชีวิตข้อหนึ่งนั่นคือคนเรามีสองด้านภายในคนเดียว และทุกคนบนโลกนี้ต่อให้ดีแค่ไหนก็หนีไม่พ้นความจริงที่ว่าเมื่อมีคนรักย่อมมีคนเกลียดเป็นธรรมดา

โลกเกิดปฎิกิริยาหลายรูปแบบกับข่าวนี้ หลายคนดีใจที่เห็นเขาตายซึ่งมีเหตุผลมาจากความเกลียดชัง เพราะเขามีประวัติการปกครองที่รุนแรงตามสไตล์ของกลุ่มฝ่ายซ้ายฝักใฝ่แนวทางสังคมนิยมสุดขั้ว ตำนานผู้นำแห่งคิวบามีประวัติการละเมิดสิทธิมนุษยชนยาวเหยียด ทำให้ผู้คนล้มตายมากมาย ขณะที่อีกกลุ่มก็เศร้าโศกเสียใจเพราะความรักและเคารพในสิ่งที่เขาทำโดยเฉพาะวีรกรรมการพาประเทศเล็กๆอย่าง คิวบา ต่อต้านอำนาจของชาติมหาอำนาจอย่าง สหรัฐอเมริกา ได้อย่างยาวนานด้วยแนวคิดและความเด็ดขาดของเขา

 

หนึ่งในคนที่เสียใจที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือ ดิเอโก้ มาราโดน่า ตำนานนักฟุตบอลของ อาร์เจนติน่า เขายอมรับว่าเขาแทบขาดสติในวันที่ได้รู้ข่าว และเมื่อบทสัมภาษณ์ของมาราโดน่าออกสู่สาธารณะชนทำให้คนทั่วโลกได้รู้บางสิ่งในความสัมพันธ์ของทั้งสองคน "เสือเตี้ย" เรียก "คาสโตร" ว่า “พ่อ” จากเหตุการณ์ที่ทำให้เขาได้กลับมามีลมหายใจและชีวิตที่ดีอีกครั้งหลังจากประสบความตกต่ำสุดขีด

"ผมได้เห็นทางโทรทัศน์แล้วมันน่าขยะแขยงมากที่ผู้คนฉลองเมื่อ ฟิเดล พบกับความตาย ตาเฒ่าคนนี้คือความเศร้าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในชีวิตของผม หลังจากการเสียชีวิตของ โตต้า (แม่ของ มาราโดน่า)" เขากล่าวถึงอิทธิพลของ ฟิเดล คาสโตร กับชีวิตของเขา ก่อนจะเล่าเรื่องเหตุผลที่เหตุใด 2 ชายจากต่างเเดนและต่างเชื้อชาติจึงกลายเป็น "พ่อ-ลูก" กันได้

พระเจ้าต่างยุค

การที่คนสองคนจะสามารถเรียกกันว่า "พ่อ และ ลูก" ได้แม้ว่าจะไม่ได้มีสายเลือดเดียวกันนั้นจำเป็นต้องมีความสนิทใจกันในระดับสูงมาก ซึ่งเป็นความสัมพันธ์ที่หาได้ยากสำหรับคนที่มีอาชีพเป็นนักการเมือง

 1

หนึ่งในเหตุผลที่สำคัญที่จะทำให้คนสองคนยกย่องกันได้ คือพวกเขาต้องมองอนาคตและมีอุดมการณ์ในแบบเดียวกัน และ ฟิเดล คาสโตร กับ มาราโดน่า มีความสัมพันธ์ที่ดูจะเข้าเค้าและมี DNA ที่คล้ายกันเป็นอย่างมากสำหรับเรื่องนี้ เพราะทั้งคู่คือนักสู้ขวัญใจรากหญ้าในดินแดนของตัวเอง

คาสโตร คือชาวคิวบาส่วนน้อยที่มีความรู้ ในยุค '50 เขาเป็นนักศึกษาที่ความคิดสุดโต่ง ในช่วงเวลาที่เขายังหนุ่ม คิวบา ปกครองโดย ฟุลเกนซิโอ บาติสตา ที่เดินขึ้นสู่ตำแหน่งประธานาธิบดีของคิวบา จากเหตุการณ์ "การลุกฮือของเหล่าทหาร" ในปี 1933 และกินระยะเวลาไปถึงปี 1944 จนหมดวาระแต่ก็ยังทำหน้าที่ในฐานะเบื้องหลังการเมืองของคิวบามาตลอด ก่อนจะทำรัฐประหารขึ้นมาปกครองประเทศอีกครั้งเมื่อปี 1952 และที่สำคัญ เขามีสหรัฐอเมริกาให้การสนับสนุนด้วย  

 2

ในยุคของบาติสต้านั้นประชาชนคิวบาสิ้นหวังถึงขีดสุด รัฐบาลเผด็จการของบาติสต้าคือรัฐบาลที่มีประวัติกดขี่คนคิวบาเพิ่มขึ้นและทำให้ประเทศเข้าสู่สถานะรวยกระจุก จนกระจาย ช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนห่างกันอย่างเห็นได้ชัด ขณะที่ตัวของเขาเองหาประโยชน์จากผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของคิวบา โดยการเจรจาความสัมพันธ์ผลประโยชน์สูงกับมาเฟียอเมริกา ผู้ควบคุมธุรกิจยาเสพติด การพนันและโสเภณีในกรุงฮาวานา ณ ยุคนั้นบริษัทขนาดใหญ่ข้ามชาติจากอเมริกาได้ลงทุนด้วยปริมาณเงินมหาศาลในคิวบา ก่อนจะขนเงินขนทองกลับไปจนทำให้ชาวรากหญ้าเจ็บหัวใจกับความรู้สึก “เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง แถมยังเอากระดูกมาแขวนคอ”

ความเหลื่อมล้ำทางสังคมทำให้เกิดกลุ่มปฎิวัติยุคใหม่ขึ้นนำโดยพระเอกของเรื่องนี้อย่าง ฟิเดล คาสโตร ที่เป็นเหมือนความหวังเดียวสำหรับชาวเมืองที๋โดนกดขี่จนโงหัวไม่ขึ้น ทีมของคาสโตรรวบรวมกลุ่มพลังมดประกอบด้วยพลเมืองหลายรูปแบบทั้ง นักศึกษา, ชาวไร่ และ เหล่ากรรมกร แต่อุดมการณ์เดียวกันนั่นคือพวกเขาเหล่านี้เกลียดระบบของบาติสตา เพื่อรอจังหวะที่จะปฎิวัติแม้ว่าจะต้องรุนแรงถึงขั้นนองเลือดก็ตาม

สุดท้ายแล้วคณะปฎิวัติของคาสโตรก็ทำสำเร็จ การพยายามทีละเล็กละน้อยประสบผลอย่างยอดเยี่ยมในปี 1959 และในวันที่คาสโตรได้ชัยชนะ ประชาชนนับล้านในประเทศคิวบากล้าออกมาเผชิญหน้ากับท้องฟ้าที่เปลี่ยนสี พวกเขาโห่ร้องด้วยความดีใจเหมือนเป็นสัญญาณบอกให้รู้ว่าหลังจากทนโดนหยามเกียรติมาอย่างยาวนาน บัดนี้เจ้าของฉายา "บาร์บูดอส" หรือไอ้หนุ่มไว้เครา ได้เข้ามาสร้างแสงแห่งความหวังให้กับประเทศเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 3

ขณะที่มาราโดน่านั้น แม้จะเกิดทีหลังเรื่องราวความยิ่งใหญ่และช่วงเวลาปฎิวัติของคาสโตร ทว่าการที่เขาเป็นเด็กสลัมในชานกรุงบัวโนสไอเรส ชีวิตเผชิญกับความยากจนมาตลอดในวัยเด็ก ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นนักฟุตบอลที่ถูกเรียกว่า "พระเจ้า" ในภายหลัง… อย่างไรก็ตาม มาราโดน่าก็เหมือนกับคาสโตร เขามีทั้งร่างพระเจ้าและร่างปีศาจในคนเดียวกัน คนรักเขาก็เยอะ คนเกลียดเขาก็ถือว่ามีไม่น้อยจากพฤติกรรมห่ามๆ อย่างการเสพยา และสไตล์การเล่นที่เก่งกาจแต่มักจะแฝงความสกปรกเข้าไปพร้อมๆกัน… ทว่าเขามีเหตุผลที่ต้องเป็นตัวร้ายในสายตาชาวโลก

ปี 1982 กองทัพอังกฤษโจมตีเกาะฟอล์คแลนด์ของอาร์เจนติน่า (ซึ่งอันที่จริงพวกเขาเป็นฝ่ายบุกเข้ายึดครองเกาะที่อยู่ภายใต้อาณัติของอังกฤษแต่เดิมก่อนเสียด้วย) แม้ในการรบนั้น มาราโดน่าจะไม่ได้สวมชุดทหารและถือปืนดวลกับอังกฤษเพราะติดภารกิจเล่นฟุตบอลโลก แต่เขาก็เอาเรื่องนี้เก็บมาคิดในใจและหาทางแก้แค้นในแบบฉบับของเขาเสมอ ซึ่ง 4 ปีให้หลังเขาก็ทำมันด้วยการใช้หัตถ์พระเจ้าใส่ทีมชาติอังกฤษ และเขี่ยทีมผู้ดีตกรอบก่อนที่อาร์เจนติน่าจะกลายเป็นแชมป์ฟุตบอลโลกในครั้งนั้น

 4

"เราพูดกันเสมอว่าฟุตบอลไม่เกี่ยวกับสงคราม แต่ความจริงไม่ใช่หรอก อังกฤษฆ่าเด็กๆชาวอาร์เจนติน่าเหมือนกับพวกเขาบดขยี้นกตัวเล็กๆ และสิ่งที่ผมทำคือการแก้แค้น"

สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นอาจเป็นเพราะมาราโดน่าต้องดิ้นรนผ่านชนชั้นและความไม่เท่าเทียมทางสังคม เขาพัวพันกับพวกมาเฟียนอกกฎหมายตลอดชีวิตค้าแข้ง ต่างกับนักฟุตบอลไอดอลคนอื่นๆ ที่เติบและโตมากับโลกเสรีนิยม อย่างไรก็ตามเขาสู้กับสิ่งที่เกิดขึ้นไม่ว่าจะในและนอกสนามและกลายเป็นผู้สร้างมาตรฐานใหม่ให้กับอาร์เจนติน่า ในยุคที่ถูกจัดว่าเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาก้าวขึ้นมาอยู่บนหน้าประวัติศาสตร์ของโลกฟุตบอลด้วยการเป็นแชมป์โลกถึงสองสมัย แม้มาราโดน่าจะเลิกเล่นฟุตบอลมาเเล้วกว่า 20 ปี แต่ความจริงคือชื่อของเขายังถูกมายกย่องและเปรียบเทียบในฟุตบอลยุคนี้เสมอ นั่นแสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเขาในโลกฟุตบอลที่ไม่ได้ลดน้อยถอยลงไปเลย...

จะเห็นได้ว่าทั้งคาสโตรและมาราโดน่า ถูกมองจากโลกภายนอกในฐานะตัวร้าย คาสโตรมักจะถูกนักวิจารณ์ทางการเมืองเรียกว่า "อาชญากรการเมือง" แต่อย่างที่ได้กล่าวไปข้างต้นว่าในคิวบานั้นตรงกันข้าม และการที่ประชาชนออกมาโห่ร้องสดุดีในวันที่เขาขึ้นเป็นใหญ่เป็นคำตอบที่ชัดเจนแบบไม่ต้องยกเมฆมากล่าวอ้าง ขณะที่มาราโดน่าเองก็ไม่ต่างกันสไตล์การเล่นและการวางตัวแบบขบถลูกหนังทำให้เขาถูกเกลียด ทว่าที่อาร์เจนติน่า ร้อยทั้งร้อย ผู้คนรักเขา และสิ่งที่ยืนยันได้คือวันที่อาร์เจนติน่า คว้าแชมป์โลกและประชาชนในประเทศออกมาปิดถนนและแห่ฉลอง คือการกระทำเดียวกับที่ชาวคิวบาทำกับคาสโตร... เพียงแค่เปลี่ยนจากเรื่องการเมืองเป็นเรื่องกีฬาเท่านั้นเอง

แนวคิดทางการเมือง

ฟิเดล คาสโตร เข้าปฎิวัติกองทัพบาติสต้าและสถาปนาตัวเองเป็นเผด็จการคนใหม่ที่ใช้นโยบายคอมมิวนิสต์ บวกกับสุนทรพจน์ต่อต้านจักรวรรดินิยมอเมริกามาปลุกใจคนในชาติ หวังกระตุ้นความรู้สึกรักชาติ และเกลียดชังอเมริกา เหมือนที่ตัวเขาเองก็รู้สึก ความสุดโต่งอยากโค่นระบบทุนนิยมและเชิดชูชาตินิยมทำให้คาสโตรมีนโยบายสาธารณสุขถ้วนหน้าและการศึกษาแบบให้กับผู้คนในประเทศ รวมถึงนโนบายการริเริ่มคณะแพทย์คิวบา จนประสบความสำเร็จด้านการแพทย์จนถึงวันนี้  

 5

ความใจเด็ดของและเถรตรงต่อแนวคิดคือสิ่งที่ติดตัวเขามาเสมอ เขาเคยท้าทายให้อเมริกามาโค่นเขาลงจากตำแหน่งให้ได้ ซึ่งที่สุดเเล้วเขาก็เอาตัวรอดมาโดยตลอด และได้ปกครองประเทศมายาวนานถึง 49 ปี จนได้รับการรับฉายาว่า "บุรุษที่อเมริกาฆ่าไม่ตาย" กลายเป็นต้นแบบของประเทศในแถบละตินที่ได้รับผลกระทบจากอเมริกามาโดยตลอด และไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าแนวคิดที่คิวบาส่งไปทั่วแถบอเมริกาใต้ก็เดินทางมาถึงอาร์เจนติน่า และสุดท้ายมันเข้าไปอยู่ในหัวใจของมาราโดน่าในวัยเด็กและฝังใจเสือเตี้ยมาจนทุกวันนี้

เรื่องเล่าของชายไว้เคราผู้ปลดแอกประชาชนคือเรื่องราวที่มาราโดน่าได้ยินและยกย่องมาตลอด นอกจากคาสโตรแล้ว เอร์เนสโต้ เช กูวาร่า นักปฎิวัติชาวอาร์เจนติน่าที่เป็นหนึ่งในทีมปฎิวัติคิวบาก็เป็นไอดอลของเขาเช่นกัน และตัวของมาราโดน่านั้นสักหน้าของคาสโตรไว้ที่ขาซ้ายที่ขาข้างที่ทำให้เขาครองโลกฟุตบอล ขณะที่ท่อนแขนข้างที่เขาทำแฮนด์ ออฟ ก็อด ในฟุตบอลโลก 1986 คือแขนที่มีรอยสักรูปหน้าของ เช กูวาร่า

 6

“เช กูวาร่า อยู่บนแขนของผม ถึงเวลาแล้วที่ชาวอาร์เจนติน่าที่ยิ่งใหญ่ที่สุดจะได้รวมกันเป็นหนึ่งเดียว” เขาพูดถึงรอยสักนั้น

การเมืองในอาร์เจนติน่านั้นมักจะเส้นไปที่เรื่องเกี่ยวกับชาตินิยม ซึ่งเมื่อมาเจอกับมาราโดน่าที่มีไอดอลอย่าง คาสโตร และ เช อยู่เเล้ว จึงทำให้เขามักจะออกมาพูดหรือแสดงทรรศนะเกี่ยวกับลัทธิชาตินิยมเสมอที่เขาคลั่งไคล้เสมอ

"อันดับ 1 ของนักปฎิวัติคือ เช กับ ฟิเดล" มาราโดน่ากล่าวถึงไอดอลของเขา "ถ้าวันหนึ่งกองทัพของเรามีภารกิจที่จะป้องกันประเทศของเรา เมื่อนั้นจะมีทหารที่ชื่อ มาราโดน่า ยืนอยู่แถวหน้าแน่นอนเพราะผมคือชาวอาร์เจนติน่า ทั้งตัวและหัวใจ"  นี่คือสิ่งที่เขาเคยกล่าวไว้ในช่วงวัยหนุ่ม... และในอีกหลายปีต่อมาเขาก็แสดงออกว่าสิ่งที่เขาพูดไปไม่ใช่เรื่องเล่นๆ และพูดเพื่อเอาใจใครเพียงอย่างเดียวเท่านั้น... มาราโดน่าพูดจริงทำจริง

 7

ครั้งหนึ่ง มาราโดน่าเคยประกาศตัวเป็นหนึ่งในผู้นำการชุมนุมประท้วงการประชุมเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีทวีปอเมริกา หรือ FTAA ในวันที่ 4-5 พฤศจิกายน 2007 การปรากฏตัวของเขาพร้อมกับการใส่เสื้อยืดที่มีข้อความว่า "Stop Bush" (หยุด จอช ดับเบิลยู บุช ประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาในขณะนั้น ซึ่งตัว S ถูกสกรีนเป็นตราสวัสดิกะ) ก็เป็นแรงดึงดูดให้ประชาชนชาวอาร์เจนติน่าจำนวนไม่น้อยมารวมตัวและแสดงความคิดเห็นคัดง้างต่อแนวคิดเรื่องการทำข้อตกลงเขตการค้าเสรีที่รัฐบาลอาร์เจนติน่าพยายามผลักดันให้เกิดขึ้น ซึ่งการชุมนุมครั้งนี้เป็นการแสดงพลังให้ผู้นำจากทั่วโลกได้รู้ว่า ประเทศในแถบละตินอเมริกาจะไม่ยอมตกอยู่ใต้เงาของสหรัฐอเมริกาอีกต่อไป โดยในการชุมนั้นครั้งนั้น มาราโดน่าได้ขึ้นเวทีปราศัยร่วมกับ ฮูโก้ ชาเวซ ประธานาธิบดีของเวเนซูเอล่าอีกด้วย

คงได้เห็นถึงความห่ามเชื่อมั่นในแนวคิดของตัวเองอย่างสุดโต่งกันไปแล้ว พวกเขาทั้งคู่ไม่กลัวที่จะเสนอความคิดทางการเมืองของตัวเองและเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ยิ่งสืบสาวราวเรื่องเข้าไปก็ยิ่งรู้สึกว่าทั้ง ฟิเดล คาสโตร และ ดิเอโก้ มาราโดน่า เหมือนกันอย่างไม่น่าเชื่อ และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไมโลกถึงต้องเหวี่ยงทั้ง 2 คนเข้าหากันในที่สุด

คุณช่วยผม...ผมช่วยคุณ

การมีแนวคิดทางการเมืองและจุดยืนในการใช้ชีวิตที่เหมือนกันทำให้ทั้ง มาราโดน่า และ คาสโตร กลายเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์ไปโดยปริยาย ในช่วงเวลาที่มาราโดน่าพาอาร์เจนติน่าคว้าแชมป์โลก คาสโตรที่เป็นผู้นำที่ให้ความสำคัญกับกีฬาในประเทศเป็นอย่างมากอยู่เเล้วจึงได้เชิญเสือเตี้ยมาเยือนคิวบา หลังจากนั้นมาความสัมพันธ์ของทั้งคู่ก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ประเทศแถบทะเลแคริบเบียนแห่งนี้ได้จัดงานต้อนรับมาราโดน่าบ่อยครั้งขึ้น และมาราโดน่าก็มักจะนำเสื้อหมายเลข 10 ของเขามาฝากคาสโตรเป็นของขวัญเสมอ

 8

อย่างไรก็ตาม ในช่วงปลายอาชีพค้าแข้งของเขานั้น หากยังจำกันได้มาราโดน่าเคยประสบปัญหาอย่างหนักในชีวิตจากการติดโคเคนจนร่างกายเข้าใกล้กับความตายมากที่สุด ตอนนั้นมีแต่คนคิดว่า "พระเจ้าวงการฟุตบอล" ไม่รอดแน่ และเมื่อนั้น ฟิเดล คาสโตร ก็พร้อมจะมอบขอบขวัญคืนให้กับเสือเตี้ยบ้าง

คาสโตรมั่นใจในเรื่องมาตรฐานทางการแพทย์ของของคิวบาที่มีความล้ำหน้าไม่แพ้ใคร พวกเขามีหมอมือดีหลายคนซึ่งมาจากนโยบายผลักดันด้านสุขภาพ ดังนั้น คาสโตรจึงเชื่อมั่นว่าหากมาราโดน่ามารักษาที่คิวบา เขาจะต้องหายและกลับมาใช้ชีวิตอย่างปกติได้แน่นอน ซึ่งก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ มาราโดน่าเดินทางมายังคิวบาและได้รับการดูแลอย่างเต็มรูปแบบภายใต้คำสั่งของผู้นำประเทศว่าคนไข้คนนี้ "ต้องรอด" จนที่สุดตำนานลูกหนังโลกก็กลับมามีชีวิตใหม่อีกครั้ง แม้จะดูบังเอิญแต่วงการแพทย์ของคิวบาที่คาสโตรผลักดันเพื่อประชาชนในประเทศถึงที่สุด สุดท้ายแล้วสิ่งนี้ก็ได้ช่วยชีวิตเพื่อนที่เขารักมากที่สุดคนหนึ่ง

มิตรไมตรีนี้ทำให้มาราโดน่ามีความสุขมากกับการใช้ชีวิต กิน-อยู่ ที่คิวบาหลังจากรักษาตัวจนหายดี เขาใช้เวลากับ ฟิเดล คาสโตร ที่คิวบาถึง 4 ปี และได้พูดคุยกันหลายเรื่องจนความสัมพันธ์และความเคารพที่เขามีต่อคาสโตรยิ่งใหญ่มากกว่าแค่เพื่อน

"ผมใช้ชีวิตที่คิวบา 4 ปี และตอนอยู่ที่นั่นผมจะโดน ฟิเดล ปลุกตอนตี 2 มานั่งคุยเรื่องต่างๆ ทั้ง กีฬา, การเมือง และเรื่องอื่นๆในโลกนี้" มาราโดน่าเล่าเรื่องสมัยเก่าก่อนระหว่างเขาและคาสโตรให้สื่อฟัง

 9

หลังจากกลับมาใช้ชีวิตในบ้านเกิด มาราโดน่าก็จัดรายการทอล์คโชว์ส่วนตัวของเขาที่ชื่อว่า "La Noche del 10" ซึ่งแขกรับเชิญที่เขาเคยเชิญมาออกรายการก็ไม่ใช่ใคร ฟิเดล คาสโตร ปรากฎตัวพร้อมกับใส่เสื้อหมายเลข 10 ของเขามานั่งพูดหลากหลายเรื่องราวที่เกิดขึ้น ราวกับว่ารายการนี้คือกระบอกเสียงที่มาราโดน่าจัดให้คาสโตรได้ใช้พื้นที่แสดงเจตจำนงของคิวบาที่ต้องการจะรักษาความมั่นคงในประเทศของตน และประเทศอื่นๆในละตินอเมริกา ด้วยการประกาศต่อต้านนโยบายขยายเขตการค้าเสรีที่อเมริกาพยายามทำข้อตกลงกับประเทศต่างๆในทวีปอเมริกา

ความสัมพันธ์แบบคุณช่วยผม และผมช่วยคุณดำเนินไปเรื่อยๆ ทั้งสองคนเป็นเพื่อนที่ดี เป็นสหายที่ให้ความเคารพซึ่งกันและดัน และเป็นเหมือนพ่อลูก แม้จะต่างสายเลือดก็ตาม

ปลายเดือนพฤศจิกายน 2016 มาราโดน่า ถูกเรียกตัวจากบัวโนสไอเรสมายังคิวบา เพื่อรับรู้ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นจาก ราอูล คาสโตร น้องชายของฟิเดล และผู้นำคนปัจจุบันของประเทศคิวบาเพื่อบอกข่าวว่า "ฟิเดล คาสโตร สิ้นใจเเล้ว" และเมื่อสิ้นสุดคำบอกเล่าจากราอูล มาราโดน่าที่เป็นชายผู้แข็งกร้าว ตกใจ, ร้องไห้ และเสียใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างขีดสุด

 10

"พวกเขาเรียกผมมาจากบัวโนสไอเรสและมันเป็นเรื่องที่น่าตกใจ ฟิเดล คือพ่อคนที่สองคนผม เมื่อเขามีเรื่องมีเหตุการณ์อะไรเขาจะโทรหาผมตลอด เรื่องใดที่ผมอยากจะเข้าร่วมด้วยเขาจะถามถึงผมเสมอ นี่คือสิ่งที่ผมจะไม่มีวันลืม"

"ผมจะไปคิวบาเพื่อบอกลา ฟิเดล คาสโตร ของผม เขาคือคนที่เปิดประตูสู่คิวบาในวันที่อาร์เจนติน่าปิดประตูใส่ผม"

มาราโดน่าว่าจบก็คาบซิการ์คิวบาอันเป็นเหมือนสัญลักษณ์ประจำตัวของ ฟิเดล คาสโตร ก่อนที่จะพ่นควัญและหลับตาเพื่อนึกถึงภาพวันเก่าๆที่เขามีร่วมกับพ่อคนที่สองของเขาคนนี้

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ

อัลบั้มภาพ 10 ภาพ ของ พรหมลิขิต : เหตุการณ์ที่ทำให้ มาราโดน่า เรียก ฟิเดล คาสโตร ว่า "พ่อ"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook