การถ่ายเลือด : วิธีโด๊ปสุดพิสดาร สำหรับนักกีฬาที่ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ

การถ่ายเลือด : วิธีโด๊ปสุดพิสดาร สำหรับนักกีฬาที่ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ

การถ่ายเลือด : วิธีโด๊ปสุดพิสดาร สำหรับนักกีฬาที่ทำทุกอย่างเพื่อชัยชนะ
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

ขึ้นชื่อว่า “การใช้สารกระตุ้น” … ไม่ว่าวิธีการใดหรือใช้สารตัวไหน แทบทุกคนคงเห็นตรงกันว่า มันเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเหมาะสมด้วยกันทั้งนั้น

เพราะความมุ่งมั่นและพยายามกับการฝึกซ้อมอย่างยาวนานของนักกีฬา แทบจะกลายเป็นสิ่งไร้ค่าทันที เมื่อมีใครสักคนในสนามแข่งใช้วิธีลัดเพื่อก้าวสู่ชัยชนะ

แต่ถึงแม้จะเป็นสิ่งที่ไม่ถูกไม่ควร เราก็ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การใช้สารกระตุ้นนั้นมีวิวัฒนาการที่ไม่หยุดยั้ง เพราะจากยุคเริ่มแรกซึ่งใช้วิธีการง่ายๆ อย่างการใช้ คาเฟอีน หรือ แอมเฟตามีน ซึ่งคนไทยน่าจะคุ้นเคยในชื่อของ ยาบ้า การโด๊ปก็ได้มีวิวัฒนาการด้วยการนำสารใหม่ๆ เข้ามาใช้เพื่อเสริมประสิทธิภาพเมื่อกาลเวลาผ่านไป

ถึงตรงนี้ หลายคนคงนึกถึง สเตียรอยด์ สารกระตุ้นสุดคลาสสิกที่มีการใช้กันอยู่ทุกยุคทุกสมัย แต่สิ่งที่เรากำลังจะพูดถึงต่อไปนี้ เชื่อว่าหลายคนคงนึกไม่ถึงแน่ว่ามันจะสามารถเอามาใช้เป็นสารกระตุ้นได้

สิ่งนั้นคือ “เลือด” นั่นเอง ...

เพื่ออึดถึงต้องโด๊ป
เลือด ถือเป็นหนึ่งในสารประกอบภายในตัวร่างกายที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพราะหน้าที่ของมันคือลำเลียงออกซิเจนไปยังส่วนต่างๆ ของร่างกาย โดยมี เม็ดเลือดแดง เป็นพาหนะสำคัญ

ยิ่งเม็ดเลือดแดงมีปริมาณมากเท่าไหร่ ปริมาณออกซิเจนที่จะถูกลำเลียงสู่กล้ามเนื้อส่วนต่างๆ ของร่างกายก็ยิ่งมีมากขึ้นเท่านั้น ซึ่งนั่นหมายถึง นักกีฬาคนนั้นจะมีความอึดมากขึ้นตามไปด้วย

จริงอยู่ที่การเลือกรับประทานอาหารที่มี ธาตุเหล็ก, ทองแดง, กรดโฟลิค, วิตามินเอ, วิตามินซี, วิตามินบี 12 รวมถึงการงดสูบบุหรี่และดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ คือสิ่งที่ช่วยเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงในร่างกายให้เพิ่มขึ้นได้ แต่ก็ไม่อาจเพิ่มปริมาณเม็ดเลือดแดงให้เพิ่มขึ้นมากๆ ได้ในเวลาอันสั้น … นี่จึงถือเป็นสาเหตุสำคัญที่หลายคนตัดสินใจที่จะโด๊ป

moblood3
อันที่จริง การ “โด๊ปเลือด” หรือ Blood Doping นั้นมีอยู่หลายวิธี ทั้งการใช้ EPO หรือ อีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ฮอร์โมนที่ช่วยในการสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง ซึ่งแม้ร่างกายจะสามารถสร้างเองได้ แต่หลายคนก็ตัดสินใจที่จะฉีดเข้าไปเพิ่มเติมเพื่อเร่งกระบวนการให้ได้เร็วและมากขึ้น เช่นเดียวกับการฉีดสารสังเคราะห์ที่มีสรรพคุณใกล้เคียงกัน

แต่วิธีการใดๆ ก็ตาม คงไม่พิสดารเท่ากับวิธีโด๊ปด้วย “การถ่ายเลือด” อีกแล้ว …

ถ่ายเลือดโด๊ป
การโด๊ปด้วยวิธีการถ่ายเลือด หรือ Blood Transfusion นั้น จะว่าไปก็มีขั้นตอนคล้ายคลึงกับการบริจาคโลหิตที่เราๆ คุ้นเคยเป็นอย่างมาก เริ่มต้นด้วยการนำเลือดออกจากร่างกายประมาณ 1-4 ยูนิต (เลือด 1 ยูนิตมีปริมาณ 450 มิลลิลิตร) ในช่วงเวลาหลายอาทิตย์ก่อนเริ่มการแข่งขัน หลังจากนั้นก็จะแยกนำส่วนพลาสม่ากับเม็ดเลือดแดงออกจากกัน โดยนำส่วนของเม็ดเลือดแดงมาแช่เย็นเก็บไว้ ก่อนที่จะนำกลับมาฉีดเข้าสู่ร่างกายใหม่อีกครั้ง ซึ่งโดยทั่วไปจะนำมาฉีดในช่วง 1-7 วันก่อนการแข่งขัน

ทั้งนี้ การถ่ายเลือดโด๊ปเองก็สามารถแบ่งแยกได้เป็น 2 แบบ แบบแรกคือ การโด๊ปเลือดโดยใช้เลือดของตนเอง หรือ Autologous อีกแบบคือการโด๊ปโดยใช้เลือดของคนอื่น หรือ Homologous ซึ่งจะใช้คนที่มีกรุ๊ปเลือดตรงกัน

วิธีแรกถือเป็นการถ่ายเลือดโด๊ปที่ดูจะมีความเสี่ยงน้อยที่สุด เพราะเลือดที่ใช้ก็เป็นเลือดของตัวเอง ทำให้ความเสี่ยงที่จะเกิดโรคแทรกซ้อนนั้นมีน้อยมาก แต่ข้อเสียคือ ต้องใช้ระยะเวลาในการเตรียมการนาน การใช้เลือดคนอื่นโด๊ปจึงกลายเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันเลย ถึงกระนั้น ความเสี่ยงของการใช้เลือดคนอื่นโด๊ปก็มีมากกว่าตามไปด้วย เพราะการถ่ายเลือดมาจากคนอื่น สามารถเพิ่มความเสี่ยงของการที่ผู้รับเลือดจะติดเชื้ออย่าง ไวรัสตับอักเสบบี, ไวรัสตับอักเสบซี หรือแม้กระทั่ง ไวรัส HIV ที่สามารถลุกลามสู่การเป็นโรคเอดส์ได้

moblood5
และถึงแม้การโด๊ปเลือดจะช่วยเพิ่มเซลล์เม็ดเลือดแดงในระยะเวลาอันสั้น ทำให้นักกีฬามีความอึดในการซ้อมและการแข่งขันมากขึ้น แต่มันก็ถือเป็นเรื่องดาบสองคม เพราะวิธีการดังกล่าวก็ส่งผลให้เลือดข้นขึ้น ทำให้หัวใจต้องทำงานหนักกว่าเดิม จนส่งผลให้อาจเกิดภาวะลิ่มเลือด รวมถึงเกิดภาวะหัวใจล้มเหลว และเส้นเลือดในสมองแตกได้ เช่นเดียวกับอาจส่งผลให้เกิดภาวะภูมิแพ้, ไข้หวัด รวมถึงผื่นและลมพิษได้เช่นกัน

สู่สิ่งต้องห้าม
ประวัติศาสตร์ของการถ่ายเลือดโด๊ปนั้นมีขึ้นตั้งแต่ปลายยุค 1960 ซึ่งในยุคแรกๆ วิธีการดังกล่าวเองก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่ผิดกฎแต่อย่างใด

อย่างไรก็ตาม เรื่องราวอื้อฉาวที่นักกีฬาใช้การโด๊ปเลือดเพื่อเสริมสร้างความอึดก็มีมาโดยตลอด ทั้งในกรณีที่ คาร์โล มานินก้า นักวิ่งระยะไกลจากฟินแลนด์ถ่ายเลือดโด๊ปถึง 2 ไพน์ ก่อนคว้าเหรียญรางวัลวิ่ง 5,000 และ 10,000 เมตรในโอลิมปิก 1980 รวมถึงในวงการจักรยาน ซึ่งมีทั้งเหตุการณ์ที่ จุ๊ป โซเตเมลก์ ซึ่งใช้วิธีการถ่ายเลือดจนเข้าเส้นชัยเป็นอันดับ 2 ศึก ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ปี 1976 และ ฟรานเชสโก้ โมเซอร์ ในการทำสถิติ Hour Record (ปั่นจักรยานบนลู่ให้ได้ระยะทางไกลที่สุดในเวลา 1 ชั่วโมง) ปีเดียวกัน

ที่สุดแล้ว คณะกรรมการโอลิมปิกสากล หรือ ไอโอซี จึงได้มีมติให้การถ่ายเลือดโด๊ปเป็นสิ่งที่ผิดตั้งแต่ปี 1985 เป็นต้นมา ซึ่งแม้ตอนแรกจะไม่ได้มีผลการทดสอบและวิจัยเพื่อยืนยันชัดเจน แต่หลักฐานทางการแพทย์ที่ได้กล่าวไปข้างต้นก็ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า คำสั่งแบนของ IOC คือสิ่งที่ถูกต้องแล้ว

moblood2
ถึงกระนั้น เรื่องราวสุดอื้อฉาวและน่าเศร้าในการโด๊ปเลือดก็มีให้ได้ยินเป็นระยะ เมื่อในรอบ 25 ปีที่ผ่านมา มีนักกีฬาจักรยานในทวีปยุโรปราวๆ 20 คนต้องจบชีวิตลงด้วยเหตุดังกล่าว รวมถึงการจับการโด๊ป โดยเฉพาะในวงการจักรยานอาชีพที่มีให้เห็นเป็นระยะ ซึ่งเรื่องราวที่อื้อฉาวที่สุดคงหนีไม่พ้นกรณีของ แลนซ์ อาร์มสตรอง ตำนานวงการจักรยานผู้พิชิตโรคมะเร็ง ที่จัดโปรแกรมการโด๊ปเลือดอย่างเป็นระบบในยุค 1990-2000 แห่งความยิ่งใหญ่ของเขา ซึ่งรายงานขององค์กรต่อต้านการใช้สารกระตุ้นของสหรัฐอเมริกา หรือ USADA ที่ตามสืบเรื่องนี้มานานระบุว่า นี่ถือเป็นกระบวนการโด๊ปที่ซับซ้อนที่สุดเท่าที่เคยเจอมา

“เป้าหมายในการชนะ ตูร์ เดอ ฟรองซ์ ทำให้เขาต้องพึ่งพาทั้ง EPO, ฮอร์โมนเทสโทสเตอโรน ตลอดจนการถ่ายเลือดอย่างหนักหน่วง แต่สิ่งที่โหดเหี้ยมที่สุดก็คือ เขาจัดการให้เพื่อนร่วมทีมทุกคนต้องโด๊ปตามอย่างเพื่อสนับสนุนเป้าหมายที่ตั้งไว้อีกด้วย” ข้อสรุปในรายงานการสืบสวนนี้ คือหนึ่งในหลักฐานและเหตุผลสำคัญที่ทำให้ แลนซ์ อาร์มสตรอง ถูกริบเกียรติประวัติและเหรียญรางวัลที่เคยได้เกือบทั้งหมดในปี 2012 ซึ่งรวมถึงตำแหน่งแชมป์ตูร์ 7 สมัย ก่อนที่เจ้าตัวจะต้องออกมารับสารภาพอย่างสิ้นไส้ในเวลาต่อมา

moblood4
การจับนักกีฬาสายโด๊ปเลือดยังมีให้ได้ยินเป็นระยะๆ รวมถึงเหตุการณ์เมื่อต้นเดือนมีนาคม 2019 ซึ่งนอกจาก แม็กซ์ เฮาเก้ นักสกีครอสคันทรี่ชาวออสเตรียจะโดนตำรวจคนบ้านเดียวกันจับได้คาเข็มแล้ว ยังสามารถขยายผลจับนักกีฬาในประเภทอื่นๆ ได้อีกหลายราย ซึ่งสิ่งที่ แอนดรูว์ ยัง โค้ชสกีของ แม็กซ์ เฮาเก้ เผยหลังทราบข่าวว่าลูกศิษย์ของเขาถูกจับจากการโด๊ปเลือด คงสามารถตอบแทนความรู้สึกที่คนในวงการกีฬาซึ่งฝึกซ้อมอย่างหนักและถูกต้องตามกติกา มีต่อนักกีฬาที่ใช้สารกระตุ้นได้ดีที่สุดแล้ว

“มันน่ารังเกียจมากกับสิ่งที่เขาทำ … มันไม่ดีเลย ผมไม่รู้ว่าเขาทำทำไม ไม่มีใครเขายอมรับเรื่องแบบนี้ในวงการเราหรอก ผมไม่เกลียดอะไรเขาหรอกนะ แต่ผมไม่อยากเห็นเขากลับมาแข่งขันอีก … คุณโกง คุณก็จบ”

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook