7 วัน 3,430 กิโล : อาสา’ตานี ทีมฟุตบอลที่อยากบอกทุกคนว่า "เราก็คนไทยเหมือนกัน"

7 วัน 3,430 กิโล : อาสา’ตานี ทีมฟุตบอลที่อยากบอกทุกคนว่า "เราก็คนไทยเหมือนกัน"

7 วัน 3,430 กิโล : อาสา’ตานี ทีมฟุตบอลที่อยากบอกทุกคนว่า "เราก็คนไทยเหมือนกัน"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

“มันเป็นความเคยชินที่คนปัตตานีเจอมาตลอด เวลามีคนถามว่า ‘เป็นคนปัตตานี เอาระเบิดมาด้วยไหม?’ พวกเราหยุดเรียน 1 สัปดาห์มาที่นี่ เพื่อต้องการบอกให้ทุกคนฟังว่า ‘เราก็คนไทยเหมือนกันนะ’ ไม่ใช่คนที่น่ากลัวอะไร”

ประโยคหนึ่งจากวงสนทนายามดึกของ “อนันต์ - อาดือนัน มามะ” ประธานชมรมอาสาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี ที่บอกกับเราถึงเหตุผลในการเดินทางจากบ้านเกิด พร้อมกับพี่ๆเพื่อนๆในชมรมเกือบ 30 ชีวิต  มาทางรถไฟ เป็นระยะทางกว่า 1,715 กิโลเมตร

เพื่อมาแข่งขันฟุตบอลเท้าเปล่า “ห้วยไร่ คัพ” ครั้งที่ 1 ที่อำเภอวานรนิวาส จังหวัดสกลนคร ที่จัดขึ้นโดยศิลปินลูกทุ่งชื่อดัง “ก้อง ห้วยไร่”

 

คำพูดที่ออกมาจากน้ำเสียงที่อ่อนโยน ติดสำเนียงทองแดงแบบคนใต้ และแววตาที่จริงใจของ อนันต์  ทำให้เราสัมผัสได้ถึงความตั้งใจ ของน้องๆ จากชมรมอาสาพัฒนาชุมชนฯ มอ.ปัตตานี

แม้พวกเขาจะต้องหยุดเรียนเป็นเวลา 1 สัปดาห์ เพราะต้องใช้เวลาเดินทาง ไป-กลับ ระยะทางรวมแล้วประมาณ 3,430 กิโลเมตร แต่เป้าหมายที่ต้องการบอกเล่าอะไรบางอย่างแก่ผู้คนในสังคม กลับสำคัญกว่านั้น

และนี่คือเรื่องราวของทีมฟุตบอลสมัครเล่นจาก จังหวัดปัตตานี ที่ไม่ได้มาเตะฟุตบอลเพื่อหวังเป็นแชมป์...

“พกระเบิดมาหรือเปล่า?”

หากนับตามปีที่ก่อตั้ง ชมรมอาสาพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี หนึ่งในชมรมที่เก่าแก่ของสถานศึกษาที่ตั้งอยู่ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ กำลังเข้าสู่ปีที่ 41

 1

ชมรมแห่งนี้ มีเจตนารมณ์ที่ก่อตั้งเพื่อทำกิจกรรมกับชุมชน สังคม รวมถึงสานสัมพันธ์ระหว่างนักศึกษาภายในสถาบัน โดยมีคำขวัญที่ว่า “เชื่อมั่น ศรัทธา อาสา’ตานี”  มีศิษย์เก่ามากมายจากรั้ว มอ.ปัตตานี ที่เคยผ่านชมรมแห่งนี้ หนึ่งในนั้นคือ สุทธิพงษ์ ธรรมวุฒิ ประธานและผู้ก่อตั้ง บริษัท ทีวีบูรพา จำกัด, พิธีกรรายการ “คนค้นฅน”

กิจกรรมของ ชมรมอาสาพัฒนาชุมชนฯ ส่วนใหญ่ เป็นการลงพื้นที่ออกไปทำค่ายในภาคใต้ โดยแบ่งออกเป็น 3 ค่ายหลักๆ ได้แก่  1.ค่ายสายใย ที่จัดขึ้นเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างรุ่นพี่กับรุ่นน้องในมหา’ลัย 2.ค่ายปันรัก ที่เป็นค่ายที่ออกไปจัดกิจกรรมเพื่อเด็กๆ และเยาวชน 3.ค่ายสร้าง คือค่ายที่ลงไปทำกิจกรรมร่วมกับชุมชน

“เมื่อก่อนผมเป็นคนที่ไม่ค่อยกล้าพูดเท่าไหร่ พูดกับคนหมู่มากไม่ค่อยเป็น แต่หลังจากเข้ามาอยู่กับชมรมก็มีคนบอกผมว่า ผมพัฒนาขึ้น เพราะชมรมของเรามีระบบการจัดการที่ไม่เหมือนกับชมรมอื่น ในการออกค่ายทุกครั้ง ทุกคนจะต้องสลับปรับเปลี่ยนหน้าที่ ไม่มีใครได้ทำหน้าที่เดียวตายตัว ทำให้เราได้เรียนรู้การทำงานหลากหลายรูปแบบ ได้แก้ไขปัญหาตามหน้างาน” อาดือนัน มามะ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะสังคมวิทยา ที่ดำรงตำแหน่งประธานชมรม กล่าวเริ่ม

 2

“อย่างค่ายนี้ ผมอาจเลือกลงตำแหน่งเป็น ฝ่ายสันทนาการ ค่ายต่อไป ผมอาจไปเรียนรู้ตำแหน่ง เหรัญญิก หรือไปทำฝ่ายศิลป์ ก็ได้ จะไม่มีใครได้ทำหน้าที่เดียวจนจบปี 4 เหมือนชมรมอื่น ทุกคนต้องได้เรียนรู้หลายๆตำแหน่ง”

“เราได้หลักคิดหนึ่ง ที่ส่งต่อกันมาจากรุ่นพี่ ก็คือ เวลาเราออกค่ายอาสา ไม่ใช่เราไปเพื่อพัฒนาคนอื่น หรือไปพัฒนาชุมชน แต่เราไปค่ายอาสาเพื่อพัฒนาตัวเอง ผ่านการเรียนรู้จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้น ดังนั้นก่อนที่เราจะคิดถึงเรื่องการพัฒนาคนอื่น เราต้องเริ่มจากการพัฒนาตัวเองก่อน”

ความกล้าที่จะออกไปเรียนรู้ ชีวิตจริง และความเป็นอยู่ของผู้คนในสังคม ตามพื้นที่ต่างๆ เพื่อมาพัฒนาตัวเอง ดูเหมือนเป็นธรรมชาติที่ติดตัวเด็กๆในชมรม พวกเขาเล่าให้เราฟังว่า ที่ชมรมจะมีวัฒนธรรมหนึ่งที่เด็กทุกคนจะได้เรียนรู้ ผ่านการ “โบกรถ” ไปทำค่ายและกิจกรรมต่างๆ

สัน - อนุศร หมัดศรี  นักศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ และ รองประธานชมรมอาสาพัฒนาชุมชน อธิบายให้ฟังถึง วัฒนธรรมการโบกรถ และสิ่งที่พวกเขาได้รับระหว่างการเดินทางด้วยวิธีนี้

“สิ่งที่ผมชอบมากอย่างหนึ่งของชมรม คือการโบกรถ ปกติเวลาเราออกค่ายต่างจังหวัด ก็ใช้วิธีการโบกรถ เพื่อสำรวจเส้นทาง และเป็นวิธีการที่ประหยัดค่าใช้จ่าย อีกอย่างเราได้เรียนรู้ผู้คน และได้เห็นน้ำใจของคนใช้รถใช้ถนน อย่างสมมุติ จากปัตตานีไปจังหวัดสตูล บางทีอาจต้องต่อรถ 7-8 คัน แต่บางครั้งอาจโชคดีโบกคันเดียวถึงเลย”

“การที่เขาได้ช่วยเหลือเรา ก็ทำให้เขารู้สึกดี สบายใจ เหมือนได้ทำบุญไปในตัว เพราะจุดหมายที่เราไปก็คือการออกไปทำค่าย เพื่อช่วยเหลือชุมชนต่อไป ใจจริงตอนแรกอยากโบกรถมา จ.สกลนคร ด้วยซ้ำ”

 3

ความสัมพันธ์ของพี่ๆ น้องๆ เพื่อนๆ รวมถึงศิษย์เก่าของ ชมรมอาสา’ตานี จึงค่อนข้างเหนียวแน่น นอกเหนือจากชักชวนกันไปกินน้ำชา เพื่อพบปะพูดคุยกัน อีกหนึ่งกิจกรรมที่คนในชมรมยุคนี้ นิยมกัน คือ ชวนกันไปเตะฟุตบอลตามรายการต่างๆ ภายในจังหวัดและพื้นที่ใกล้เคียง

วันหนึ่ง ก้อง ห้วยไร่ ได้โพสต์ข้อความลงบนเฟซบุคส่วนตัวว่า มีความประสงค์อยากจัดศึกฟุตบอล ห้วยไร่ คัพ ครั้งที่ 1 ที่จังหวัดสกลนคร โดยจะเปิดรับสมัครทีมจากทั่วประเทศ

ชมรมอาสา มอ.ปัตตานี มีความสนใจอยากร่วมรายการนี้ และโชคดีที่ทาง ศิลปินชื่อดังให้การตอบรับทีมฟุตบอลสมัครเล่นจาก จังหวัดปัตตานี เข้าร่วมศึกฟุตบอลเท้าเปล่ากลางทุ่งนา

 4

“ปกติพวกผมในชมรม ก็ชอบไปเตะฟุตบอลด้วยกันอยู่แล้ว พอเห็นพี่ก้อง จัดรายการแบบนี้ ก็คิดว่าน่าสนใจดี เพราะพวกเรายังไม่เคยไปลงชุมชนในพื้นที่ภาคอีสาน หลังจากนั้นก็ได้พูดคุยกับพี่ก้อง เขาก็อยากให้เรามาเตะรายการนี้ เพื่อบอกเล่าสิ่งดีๆที่ปัตตานีให้ทุกคนฟัง”

“พี่ก้องเข้าใจพวกเรา มันเป็นความเคยชินที่คนปัตตานีเจอมาตลอด พอเขารู้ว่าเราเป็นคนปัตตานี ก็จะมีคนถามว่า ‘เอาระเบิดมาด้วยไหม?’ เราจึงมีความตั้งใจที่อยากมาพูดคุย แลกเปลี่ยนความคิดซึ่งกันและกันว่า ปัตตานีบ้านเราก็มีสิ่งดีๆนะ พวกเราก็เป็นคนไทยเหมือนกัน สามารถไปมาหาสู่กันได้ พวกเราไม่ได้น่ากลัว ก็เลยตัดสินใจกันว่าจะมาเตะฟุตบอลที่นี่ ช่วงก่อนออกเดินทางก็วางแผนแล้วว่าต้องหยุดเรียน 1 สัปดาห์ เพราะการเดินทางค่อนข้างไกล ไกลที่สุดตั้งแต่เราทำค่ายกันมา และใช้เวลาไป-กลับถึง 7 วัน” อาดือนัน มามะ ประธานชมรมอาสา’ตานี กล่าว

1,715 กิโลเมตร

หลังได้รับการยืนยันจาก “ก้อง ห้วยไร่” ว่า ชมรมอาสาสมัครพัฒนาชุมชน มอ.ปัตตานี ได้เป็น 1 ใน 32 ทีมประจำการแข่งขันครั้งนี้ ขั้นตอนต่อมาที่น้องๆ ในชมรมทำ คือ การวางแผนการเดินทาง ซึ่งก็มีทางเลือกหลากหลายรูปแบบทั้ง รถตู้, รถทัวร์, โบกรถยนต์-สิบล้อ, หรือนั่งรถมาต่อเครื่องบิน

 5

สุดท้ายการเดินทางที่ 30 กว่าชีวิตของ ชมรมอาสา’ตานี เลือก คือ การนั่งรถไฟจากสถานีโคกโพธิ์ จ.ปัตตานี มายังกรุงเทพมหานคร เพื่อต่อรถไฟจากเมืองกรุงไปยัง จ.อุดรธานี จุดนัดหมายที่ฝ่ายจัดการแข่งขัน ห้วยไร่ คัพ รอต้อนรับ เพื่อนำพวกเขาขึ้นรถยนต์มุ่งสู่ จ.สกลนคร ตามแผนที่วางไว้ ต้องใช้เวลาในการเดินทางขาไปนานถึง 3 วัน ระยะทาง 1,715 กิโลเมตร

เท่ากับว่าพวกเขาจะต้องกินนอนบนขบวนรถไฟอย่างน้อย 2 คืน โดยมีรุ่นพี่ที่สำเร็จการศึกษาไปแล้ว ของชมรมนำโดย ธาดาพงษ์ สำเภาศรี ชาวจังหวัดนครปฐม มาช่วยดูแลและร่วมเดินทางกับน้องๆ ตั้งแต่เริ่มขึ้นรถไฟที่ จ.ปัตตานี จนถึงวันกลับ

 6

“ผมคิดว่านี่เป็นการเดินทางที่ยากลำบากสุดของพวกเราแล้ว” อนุศร หมัดศรี รองประธานชมรม กล่าวเริ่ม “เหตุผลที่เลือกรถไฟ เพราะเรามากันหลายคน น่าจะประหยัดเรื่องค่าใช้จ่ายได้มากพอสมควร เพราะเราไม่ได้มีงบมาทำค่าย ถ้านั่งรถตู้ก็อาจจะสบายเกินไป ไม่ได้เรียนรู้ความยากลำบาก ไม่ได้เห็นชีวิตผู้คนทั่วไปที่เขาใช้รถไฟ ไม่ได้มีปฏิสัมพันธ์กับผู้โดยสารรอบข้าง”

“ในแผนที่ร่างไว้ เราต้องใช้เวลาประมาณ 3 วัน มันทั้งเหนื่อยและลำบากมากจริงๆ โดยเฉพาะคืนแรกที่รถไฟกำลังเข้าจังหวัดประจวบฯ  จะนอนก็นอนไม่หลับ เพราะเก้าอี้เล็กมาก จนมาเห็นว่า ชาวบ้านที่เขาโดยสารรถไฟ เขาเหยียดตัวนอนใต้ที่นั่ง เราก็ต้องใช้วิธีการแบบเดียวกับเขา มันไม่สนุกหรอก ลำบากมาก แต่คิดอีกมุมก็เป็นการฝึกความอดทนให้ตัวเอง ขนาดชาวบ้านที่เขาโดยสารรถไฟบ่อยๆ เขายังทนได้ เราที่ไม่ค่อยได้เดินทางทางรถไฟ ก็ต้องทนให้ได้”

 7

เวลา 11 นาฬิกา ของการเดินทางวันที่ 2 ม้าเหล็กจากปัตตานี เคลื่อนตัวมาถึงสถานีหัวลำโพง 30 ชีวิตจากชมรมอาสาสมัครพัฒนาชุมชน มอ.ปัตตานี มีเวลาขยับตัวเล็กน้อย เพื่อไปพบปะ รับประทานกับรุ่นพี่ของชมรม ที่อยู่ในกรุงเทพ ก่อนออกเดินทางจากเมืองหลวง เที่ยวขบวน 20.00น. ไปยัง จ.อุดรธานี

 8

“ระหว่างทางผมถามพี่ๆ เขาตลอดเลยว่า ระหว่างปัตตานีมากรุงเทพ กับ กรุงเทพไปอุดรฯ เส้นทางไหนใกล้กว่ากัน แต่พอรถไฟมาถึงสถานีสุดท้าย ที่อุดรฯ ความรู้สึกเหนื่อยทั้งหมดที่มีมา มันหายไปเลย และยิ่งประทับใจที่พี่ก้อง ให้เกียรติต้อนรับเรา ด้วยการให้คนขับรถ นำรถแวนส่วนตัวที่แกใช้ออกคอนเสิร์ต มารับพวกเราถึงสถานีเพื่อพาไปสกลนคร” อาดือนัน มามะ ปธ.ชมรมอาสา’ตานี เผยถึงความรู้สึกที่เดินทางมาถึงจุดหมายที่ตั้งใจไว้ ในวันที่ 3 ของการเดินทาง

 9

ระหว่างที่รถยนต์ส่วนตัวของ ก้อง ห้วยไร่ กำลังพา มิตรสหายจาก จ.ปัตตานี มายังบ้านเกิดของตนเอง สายตาของ อนุศร หมัดศรี รองประธานชมรมฯ มองเห็นถึงสภาพภูมิศาสตร์ที่แตกต่างกันของภาคอีสาน และภาคใต้ ในฤดูร้อน รวมถึงสิ่งที่เหมือนๆกันของคนสองภูมิภาคนี้ ที่เขาได้สัมผัสด้วยตาและใจของตัวเอง

“ผมไม่คิดว่าที่ สกลนคร จะแห้งแล้งขนาดนี้ เพราะที่ปักษ์ใต้บ้านผม ยังพอได้เห็นภูเขา ต้นไม้ ไม่เคยเห็นพื้นที่แห้งแล้งถึงขนาดที่ ต้นไม้ตายหมด ทำให้ได้รู้ว่าคนที่นี่เขาใช้ชีวิตยากลำบากเหมือนกัน”

“แต่ผมก็ประทับใจมาก ชาวบ้านที่นี่ให้การต้อนรับเราดีมาก อำนวยการความสะดวกหลายๆอย่างให้เรา มาถึงก็ทำส้มตำให้กินกัน ที่เซอร์ไพรส์คือชาวบ้านไม่รู้ว่าเราไม่กินหมู ก็ใส่แคปหมูลงมาด้วย เราทุกคนนั่งจ้องหน้ากัน ทำไงต่อดี แม่ครัวก็เชียร์ให้เรา ‘กินเลย กินเลย’ เราจึงอธิบายให้เขาฟังว่า เรากินแคปหมูไม่ได้ เขาก็เข้าใจ พวกเราได้เรียนรู้วัฒนธรรมหลายอย่าง จากคนที่นี่ และได้เห็นว่าคนไทยไม่ว่าจะอยู่ภูมิภาคไหน ก็มีน้ำใจให้กันไม่แตกต่างกันเลย”

 10

หลังจากการภารกิจเสร็จ ทีมชมรมอาสา’ตานี เปลี่ยนชุดมาลองซ้อมเตะฟุตบอลกันในสนามที่เป็นคันนา รวมถึงได้มีโอกาสพูดคุยกับชาวบ้าน และ ก้อง ห้วยไร่ อย่างเป็นกันเอง ในช่วงเย็น

พอตกกลางคืน ทีมชมรมอาสาฯ ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา  ก่อนเข้าเตนท์นอน บริเวณข้างๆสนาม เพื่อพักผ่อนเอาแรง ก่อนวันรุ่งขึ้นที่การแข่งขันจะเริ่มต้นขึ้น

ถนนมิตรภาพ

บ่ายโมงตรงจนถึงสี่โมงเย็น คือ ช่วงเวลาที่ ชมรมอาสาสมัครพัฒนาชุมชน มอ.ปัตตานี ลงทำการแข่งขันรอบแบ่งกลุ่ม จำนวน 3 นัด

 11

ในทุกๆนัดก่อนการแข่งขันจะเริ่มต้น เมื่อโฆษกประกาศเรียกชื่อทีม “อาสา’ตานี’ ชาวบ้านที่อยู่สนามรอบๆ (มีแข่ง 4 สนาม) จะเคลื่อนตัว มาดู ทีมจากปัตตานี ลงเตะ พร้อมกับปรบมือและช่วยส่งเสียงเชียร์”

ขณะที่ในช่วงก่อนเขี่ยลูกเริ่มเกม และหลังจบเกม สิ่งที่ ทีมชมรมอาสาฯ ทำสม่ำเสมอ คือ การเดินไปขอบคุณ ยกมือไหว้กองเชียร์ ส่วนในช่วงเกมการแข่งขัน คนที่เหลือของชมรมฯ ทั้งหญิงและชาย ที่ไม่ได้ลงไปเตะฟุตบอล ก็จะร้องรำทำเพลงส่งเสียงเชียร์ ทำให้บรรยากาศการแข่งขัน ดูอบอุ่นมากกกว่าเดิม

 12

“ตอนแรกก็นึกว่าเขาจะเตะกันขำๆ ที่ไหนได้เขาเล่นกันจริงจังมากเลย แต่ก็รู้สึกสนุกที่ได้มาประลองฝีเท้ากับคนที่นี่ ยิ่งเห็นฟีดแบกที่คนดู เขาตั้งใจมาเชียร์เรา ก็รู้สึกว่าตัวเองไม่ได้โดดเดี่ยวเลย เหมือนทุกคนที่นี่ เขาเห็นถึงความตั้งใจของเรา เป็นอะไรที่น่าประทับใจมาก”

“เรามาที่นี่ไม่ได้คาดหวังว่าต้องเป็นแชมป์อยู่แล้ว แต่เราก็ซ้อมมาก่อนแข่งนะ เพราะเราไม่ได้มองว่า การเป็นแชมป์ คือเป้าหมายหลักที่เราเดินทางมาแข่งที่นี่”

“แต่เป้าหมายที่แท้จริงของเรา คือการสร้างความสัมพันธ์โดยใช้ฟุตบอลเป็นตัวเชื่อม เราได้เพื่อนๆ พี่ๆ อีกมากมาย หลังแข่งเสร็จ ทุกทีมที่เจอเรา ต่างพูดเหมือนกันหมดว่า เขาดีใจที่ได้เห็นเรามาแข่งรายการนี้ ก็ได้ทำความรู้จัก พูดคุยแลกเปลี่ยน เพราะกีฬาฟุตบอล” อาดือนัน มามะ ประธานชมรม กล่าว

 13

ผลการแข่งขันนัดแรก ชมรมอาสา’ตานี เสมอกับ ธาตุทองอำนวยวิทย์ ทีมโรงเรียนสมัยมัธยมฯ ของ ก้อง ห้วยไร่ ด้วยสกอร์ 2-2 ก่อนพ่าย ต้มขาไก่​ใส่บักขามเปียก ในนัดที่ 2 ขาดลอย 7-0 ปิดท้ายรอบแบ่งกลุ่มด้วยการเสมอทีม SCP 1-1 ประตู ตกรอบห้วยไร่ คัพ ครั้งที่ 1 และไม่ได้แข่งขันต่อในวันรุ่งขึ้น

แต่แทนที่ พวกเขา ที่เดินทางมาไกล 1,700 กว่ากิโลเมตร จะรู้สึกผิดหวังกับการที่ต้องตกรอบการแข่งขัน ในมุมมอง อนุศร หมัดศรี รองประธานชมรมฯ เขากลับไม่ได้รู้สึกแบบนั้น

 14

“ถ้าเป็นการแข่งขันฟุตบอลรายการอื่นๆ เราก็คงเสียใจที่ตกรอบ แต่รายการนี้ เราไม่ได้รู้สึกเสียใจเลยที่ตกรอบแรก ถ้าเทียบกับสิ่งที่เราได้รับ ทั้งการเรียนรู้วิถีชีวิต วัฒนธรรมใหม่ๆ ได้มิตรภาพ ได้รู้จักผู้คนเพิ่มขึ้น ความรู้สึกเสียใจก็หายไปเลย ถึงแม้เราจะเดินทางมาไกล แต่เรารู้สึกว่ามันคุ้มค่ามากตั้งแต่ก่อนเดินทางด้วยซ้ำ เพราะเราได้ประสบการณ์หลายอย่าง แบบที่เราไม่เคยได้มาก่อน”

 15

ช่วงบ่ายวันที่ 2 ของการแข่งขัน ทีมชมรมอาสาฯ กำลังขนข้าวของ เก็บที่พัก เพื่อเตรียมทางอีกสามวัน กลับสู่ภูมิลำเนา

ระหว่างนั้นเอง ช่วงเวลาประมาณครึ่งชั่วโมง ก้อง ห้วยไร่ พร้อมด้วยภรรยา เบล - ขนิษฐา เบ้าหล่อเพชร เดินถือกล่องรับบริจาค จากกองเชียร์และคนรอบๆงาน เพื่อเป็นค่ารถให้ ชมรมอาสาฯ ซึ่งก็ได้เงินมาเป็นจำนวนประมาณ 8,000 บาท มอบให้ผู้มาเยือนเป็นน้ำใจ ก่อนแยกย้ายจากกัน

 16

เรื่องราวการเดินทางของ ทีมชมรมอาสาสมัครพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี จึงไม่ได้มีใจความสำคัญอยู่ที่ว่า พวกเขาใช้เวลาเดินทางกี่วัน ผ่านระยะทางเท่าไหร่ หากแต่สิ่งที่เป็นใจความสำคัญ คือ กลับเป็นสิ่งที่พวกเขาต้องการสื่อสารมันออกมาให้สังคมได้เห็น ผ่านการเล่นฟุตบอล

ที่ไม่ว่าอยู่แห่งหนตำบลใด หากเราอยู่บนแผ่นดินไทยผืนเดียวกัน เราทุกคนก็คือคนไทยเหมือนกัน ที่สามารถสร้างมิตรภาพ ความสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน เรียนรู้ ยอมรับความแตกต่าง และเคารพซึ่งกันและกันได้

 17

“ผมชอบประโยคหนึ่งที่พี่ก้อง พูดกับพวกเราว่า ถนนมิตรภาพ เมื่อก่อนมันเป็นเพียงแค่ชื่อถนนเท่านั้น แต่การที่พวกเราเดินทางมาจากภาคใต้มายังภาคอีสาน วันนี้พวกเราได้สร้างให้ถนนมิตรภาพ ไม่ได้เป็นแค่ชื่อถนนอีกต่อไป  เพราะมันคือถนนมิตรภาพที่แท้จริง ที่เกิดขึ้นจากความร่วมมือร่วมใจของพวกเราคนไทย” อาดือนัน มามะ กล่าวทิ้งท้าย

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ

อัลบั้มภาพ 17 ภาพ ของ 7 วัน 3,430 กิโล : อาสา’ตานี ทีมฟุตบอลที่อยากบอกทุกคนว่า "เราก็คนไทยเหมือนกัน"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook