คาลตัน แอธเลติก : ทีมฟุตบอลของคนติดยาที่ไม่ต้องการ "แชมป์" และ "กำไร"

คาลตัน แอธเลติก : ทีมฟุตบอลของคนติดยาที่ไม่ต้องการ "แชมป์" และ "กำไร"

คาลตัน แอธเลติก : ทีมฟุตบอลของคนติดยาที่ไม่ต้องการ "แชมป์" และ "กำไร"
แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook

จะมีทีมฟุตบอลสักกี่ทีมบนโลกนี้ที่ก่อตั้งขึ้นมาด้วยจุดมุ่งหมายที่แปลกประหลาดอย่าง ไม่ต้องการแชมป์ และ ไม่ต้องการเงินรางวัล...

 

ทีมฟุตบอลจากหน่วยงานที่ไม่แสวงหาผลกำไร สมาชิกในทีมพวกเขาอาจจะเคยเป็นพวกขี้เมากินเหล้าข้างถนน หรือแม้แต่พวกขี้ยาที่ชีวิตอยู่ใกล้กับคุกแค่ปลายจมูก พวกเขาเหล่านี้แทบจะมองไม่เห็นโอกาสเดินไปทางไหนต่อแม้จะอยากกลับตัวกลับใจแค่ไหนก็ตาม และนั่นคือเหตุผลที่ว่าทำไม คาลตัน แอธเลติก จึงทำในสิ่งที่ยิ่งใหญ่ยิ่งกว่าการประสบความสำเร็จในการแข่งขัน และสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่ว่านั้นคืออะไรกันแน่?

หน้าที่จากโบราณกาล

ศาสนาทุกศาสนาล้วนมีคำสอนที่อยากจะให้ผู้ที่นับถือและปฎิบัติตนเป็นคนดี นั่นคือหน้าที่ของโบสถ์ คาร์ดรอสส์ ในสก็อตแลนด์ ซึ่่งหากย้อนอดีตไปสถานที่แห่งนี้คือโรงเรียนสำหรับเหล่านักบวชที่ใหญ่ที่สุดในยุโรป

 1

เมื่อเวลาเดินหน้าไปอย่างไม่หยุดยั้งหลายสิ่งบนโลกนี้ก็ต้องปรับตัว และ คาร์ดรอสส์ ก็เช่นกัน พวกเขาต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมที่เริ่มให้ความสำคัญกับศาสนาน้อยลงและให้กับความสำคัญกับปากท้องมากขึ้น ดังนั้นเพื่อให้องค์กรอยู่ได้ และยังสามารถทำหน้าที่เป็นสื่อกลางสร้างโอกาสให้กับสงคมในเวลาเดียวกัน พวกเขาจะเปลี่ยนจากศูนย์ฝึกนักบุญคาร์ดรอสส์ ให้ทันสมัยขั้นในฐานะสโมสรกีฬา คาลตัน แอธเลติก ในปี 1985

สืบเนื่องจากช่วงก่อนหน้าที่นี่ในยุค '60 ย่าน อีสต์ เอนด์ ของเมือง กลาสโกว์ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยสงครามแก๊งและคนเมาเดินกันเต็มท้องถนน และเมื่้อเวลาผ่านไปก็เริ่มมีเรื่องของยาเสพติดและเฮโรอีนเข้ามามากขึ้นเรื่อยๆ จึงทำให้ทีม คาลตัน ที่ก่อตั้งโดย เดวิด ไบรซ์ อดีตผู้ติดยาเสพติดทุกขนานที่อยากจะทำหน้าที่ชี้ทางสว่างให้กับเหล่าผู้หลงผิด และการทำเช่นนี้ไม่ต่างกับหน้าที่ของนักบวชเลย  

ตอนนั้น อีสต์ เอนด์ ฟอนเฟะเป็นอย่างมากเนื่องจากเป็นสังคมของชนชั้นกรรมกร ชาวเมืองเพศชายมีอายุเฉลี่ยไม่ถึง 70 ปี เพราะส่วนใหญ่นั้นเสียชีวิตไปก่อนวัยอันควรและแน่นอนว่าด้วยเหตุผลจากเหล้าและยาเสพติดแทบจะทั้งสิ้น

เกณฑ์ของการรับคนเข้าสู่ทีมนั้นง่ายมาก คือผู้เข้าสมัครต้องมีความตั้งใจที่จะเลิกยาเสพติดหรือแม้กระทั่งบำบัดอาการติดเหล้า โดยมีข้อแลกเปลี่ยนที่ไม่ใช่เงินนั่นคือเมื่อคุณเป็นสมาชิกของทีมแล้วจะต้องปฎิบัติตามกฎของทีมอย่างเคร่งครัด 1 ข้อ นั่นคือ "ห้ามยุ่งเกี่ยวกับสารเสพติดและพฤติกรรมผิดกฎหมายทุกชนิด" และหากใครไม่สามารถทำตามได้ คนๆ จะต้องออกจากทีมไปโดยไม่มีข้อแม้

 2

เอมอนด์ โดเฮอร์ตี้ หนึ่งในเจ้าหน้าที่ของ คาลตัน เล่าว่ากิจกรรมที่สมาชิกทุกคนจะได้รับคือการนั่งล้อมวงและบอกเล่าถึงปัญหาที่แต่ละคนเจอมาก ซึ่งร้อยทั้งร้อย พวกเขาต่างเป็นคนที่ถูกโลกภายนอกเกลียดชัง และพวกเขารู้ดีว่ามันเจ็บปวดแค่ไหนจนเป็นที่มาของคำว่า "ไม่ว่าเรื่องไหนก็ตามที่เกี่ยวกับยาเสพติด เรารู้ทุกเรื่อง" และที่เขากล้าพูดอย่างนั้นนั่นก็เพราะเขาคือเหล่าผู้บำบัดที่เข้ามายังศูนย์ฟื้นฟูผู้ติดยาเสพติดแห่งนี้ในปี 1991

เขาเสพยาเสพติดแทบทุกชนิดอาทิ กัญชา และ เฮโรอีน ตั้งแต่อายุ 13 ปี จนกระทั่งมากขึ้นเรื่อยๆแบบหยุดไม่ได้ ที่สุดแล้วตอนอายุ 17 ปี โดเฮอร์ตี้ ป่วยเป็นโรคตับอักเสบและร่างกายทรุดตัวลงเป็นอย่างมากจนลุกลามเพิ่มโรคเลือดเป็นพิษจากการใช้ยาปฎิชีวนะที่มากเกินไปอีกขนาน กระทั่งเมื่อรักษาตัวจนหายจากโรคแล้วและได้เข้ารับบำบัดเขาจึงรู้ว่าชีวิตนี้มีค่าแค่ไหน และแน่นอนว่าเขารู้ว่ายังมีอีกหลากหลายคนที่ต้องเจอชีวิตอย่างเขานั่นจึงทำให้เขาอุทิศตนทำงานเพื่อองค์กรที่ไม่แสวงหาผลกำไรแห่งนี้ เพื่อช่วยให้เยาวชนรุ่นหลังหลุดพ้นจากวงจรอุบาทว์

ณ คาลตัน แอธเลติก วิธีการทำให้สมาชิกในทีมสามารถเลิกยาให้เด็ดขาดได้ เกิดขึ้นด้วยการสร้างทีมฟุตบอล 5 คนขึ้นมา 1 ทีมและส่งแข่งขันระดับท้องถิ่นใน กลาสโกว์ ซึงเป็นวิธีที่พวกเขาเชื่อว่าจะได้ผลในแง่บวกที่จะทำให้เหล่าผู้ติดยาและเหล้าเลิกมันได้ง่ายขึ้น นอกจากนี้พวกเขายังวางโปรแกรมฝึกซ้อมอย่างจริงจัง และแน่นอนว่าที่ทำอย่างนั้นไม่ใช่เพราะตำแหน่งแชมป์แต่พวกเขาต้องการให้ผู้เล่นในทีมมีสุขภาพที่แข็งแรง, มีระเบียบวินัยในตัวเอง และรู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น

โด่งดังจากหนัง

ชื่อเสียงของสโมสรของคน (เคย) ติดยา ที่พลิกฟื้นคืนชีวิตใหม่ให้กับสมาชิกทุกคน ดังไปเข้าหูถึง แดนนี่ บอยล์ ผู้กำกับชื่อดังที่ขณะนั้นกำลังอยู่ในช่วงเตรียมงานสร้างเรื่อง Trainspotting สนใจเรื่องราวของทีมๆนี้เป็นอย่างมาก เพราะหนังของเขาเป็นเรื่องที่จะใช้ยาเสพติดเป็นตัวดำเนินเริ่มพอดิบพอดี

 3

Trainspotting ว่าด้วยเรื่องสังคมใน สหราชอาณาจักรยุค 1980-1990 ที่เติบโตในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสังคมอุตสาหกรรมไปสู่การเป็นสังคมเสรีนิยมสมัยใหม่ โดยตัวละครหลักเป็นกลุ่มวัยรุ่นที่ไม่มีที่ยืนในสังคม ไม่มีงานทำและถูกเรียกว่า "วันๆ ไม่ทำมาหากิน" จนกลายเป็นที่มาของคำว่า Trainspotting (ศัพท์แสลงมาจากการนั่งดูรถไฟวิ่งไปวิ่งมาไปวันๆ) พวกเขาต้องใช้ชีวิตไปกับ ยาเสพติด, เซ็กส์ และรวมถึงฟุตบอล  

ภาพยนตร์เรื่องนี้กลายเป็นหนังที่สร้างแรงกระเพื่อมในวงการเป็นอย่างมากจนถูกยกให้เป็นตัวแทนแห่งยุค '90 ที่มีความ "เรียล" ถึงขีดสุด และหนึ่งในเรื่องราวที่คนดูชื่นชอบคือการที่เหล่าตัวเอกที่นำเอาสิ่งที่ตรงกันข้ามอย่าง ยาเสพติด และ ฟุตบอล เข้ามาอยู่รวมเป็นเรื่องเดียวกัน และนั่นคือเหตุผลที่ทำไม ทีมงานและผู้กำกับจึงต้องเดินมาศึกษา "วิถีคนติดยา+ฟุตบอล" ที่ คาลตัน แอธเลติก แห่งนี้ จนกลั่นออกมาเป็นภาพยนตร์ที่ถูกกล่าวขานว่าเป็นหนังในสหราชอาณาจักรที่ดีที่สุดในรอบทศวรรษเลยทีเดียว

 4

ทีมผู้สร้างภาพยนตร์เรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากทีมฟุตบอลทีมหนึ่งในสก็อตแลนด์ ที่ไม่ได้สร้างสโมสรขึ้นมาเพื่อมีเป้าหมายเพื่อการเป็นแชมป์และมีความสำเร็จทางการตลาดเหมือนที่ทุกทีมทั่วโลกทำ แต่พวกเขามีจุดประสงค์ที่ยิ่งใหญ่กว่านั้นนั่นคือคุณค่าของการมีชีวิตอยู่ และนี่คือเรื่องราวของ คาลตัน แอธเลติก ทีมนี้

บอยล์ เล่าว่า การที่ภาพยนตร์ของเขาเล่าเรื่องเกี่ยวกับยาเสพติด และคนติดยาในหนังแทบจะทั้งเรื่อง ดังนั้นข้อมูลที่ได้จากสมาชิกของทีม คาลตัน ล้วนแต่เป็นข้อมูลของผู้ที่มีประสบการณ์จริงทั้งสิ้น และเหตุผลที่เขาใส่ฉากแข่งฟุตบอลไปในเรื่อง โดยเชิญทีม สถานบำบัด คาลตัน แอธเลติก เข้าไปด้วยนั่นก็เพราะว่ามันคือสิ่งจำเป็นที่จะนำเสนอทั้ง 2 มุ่ม เมื่อติดได้ก็ต้องเลิกได้เช่นกัน

 5

"สถานบำบัด คาลตัน แอธเลติก ถือว่าเป็นแรงบันดาลใจของเราอย่างแรงกล้า เรานำเสนอเรื่องการเสพยามันอาจจะทำให้คนอยากเสพมันมากขึ้น แต่เราก็แสดงความรับผิดชอบด้วยการเสนอทัศนคติที่ยืนยันว่าท้ายที่สุดมันคือสิ่งที่ทำไม่ได้ เราทำให้พวกเขาเห็นตอนเมา แต่ก็นำเสนอให้เห็นในสิ่งที่ตามมา และบางคนหนีจากวงจรนี้ได้ด้วยเหตุผลเดียวคือพวกเขาสามารถบริหารชีวิตของตัวเองได้ด้วยตัวเอง"

 6

คาลตัน แอธเลติก ไม่ใช่ภาพสถานบำบัดที่น่ากลัวอย่างที่ใครคิด ไม่มีการจับมัดล็อกกับเตียงในโรงพยาบาล การฉีดยาแปลกๆ เหมือนกับในหนัง พวกเขาเพียงแค่ต้องการคนที่มีความตั้งใจจะเริ่มเป็นสารตั้งต้น จากนั้นทุกฝ่ายจะช่วยกันจัดการให้ผู้เข้าร่วมโครงการบำบัดทุกคนสามารถปลดแอกตัวเองจากคำว่า "ขี้ยา" กลายเป็นประชากรที่มีคุณภาพของประเทศได้สำเร็จ

สร้างคนสร้างสังคม

ชื่อเสียงและวิธีการของ คาลตัน แอธเลติก ดูเหมือนจะเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นเรื่อยๆ พวกเขาช่วยผู้ติดยาเสพติดเลิกได้อย่างเด็ดขาดถึง 112 คนต่อปี

 7

พวกเขารู้ดีว่าการเลิกยานั้นยากเย็น แต่สิ่งที่ยากกว่าคือการกลับไปใช้ชีวิตในสังคมปกติของกลุ่มสมาชิก ที่มักจะถูกมองติดลบโดยคนภายนอก ดังนั้นพวกเขาจึงแนะนำทางเลือกหลายๆ ที่หลังเตรียมออกไปใช้ชีวิตอีกครั้ง ทั้งเรื่องการมองหาที่เรียน และการเข้าฝึกอบรมหลักสูตรหางานที่พร้อมจะให้โอกาสกับคนเคยเดินพลาดเหล่านี้

ขณะที่ตัวของสมาชิกทุกคนดูเหมือนจะรู้ความหมายของการมีชีวิตมากขึ้น และพวกเขาก็เปลี่ยนไปมากหลังจากได้เข้ามาเป็นหนึ่งในครอบครัวของ คาลตัน พวกเขากลายเป็นคนที่มีจุดมุ่งหมายในชีวิตมากขึ้น จากคนที่เคยผอมแห้งจะเดินยังแทบไม่ไหว แต่หลังจากเข้าบำบัดกับ คาลตัน แล้ว หลายคนออกมาเดินสายนักกีฬาเต็มตัว มีอดีตสมาชิกหลายคนทั้งชาย และ หญิง ที่เปลี่ยนตัวเองกลายมาเป็นนักวิ่งระยะไกล นอกจากนี้บางกลุ่มยังก้าวข้ามขีดจำกัดของตัวเองด้วยการเดินพิชิตเบสแคมป์ ซึ่งเป็นหนึ่งในเส้นทางสู่ยอดเขาเอเวอร์เรสต์มาแล้ว

 8

การไปถึงจุดที่ชีวิตนี้ไม่เคยคิดว่าจะไปถึงของกลุ่มสมาชิก คาลตัน แอธเลติก ทำให้มันกลายเป็นแรงบันดาลใจครั้งยิ่งใหญ่ พวกเขาเริ่มจากสิ่งง่ายๆ อย่างการนั่งล้อมวงระบายทุกข์ ซ้อมฟุตบอล และลงแข่งขันในระดับภูมิภาค สู่การก้าวข้ามขีดจำกัดที่แม้แต่ตัวเองยังไม่อยากจะเชื่อ

การปีนขึ้นภูเขาแต่ละก้าวไม่ต่างอะไรกับกับการสู้กับหลุมดำของชีวิตที่เกิดจากยาเสพติด พวกเขามีความคิดแค่ว่าหากเอาเวลาฝึกซ้อมร่างกายอย่างทุ่มเทเป็นระยะเวลา 2 ปีเพื่อภารกิจครั้งนี้จะทำให้พวกเขาไม่มีความรู้สึกอยากกลับไปดื่มเหล้าหรือเสพยาที่จะกลายป็นตัวบั่นทอนที่ทำให้ไปไม่ถึงฝัน และมันก็เป็นเช่นนั้นจริงๆ พวกเขาเรียนรู้ที่จะจัดการชีวิตได้ด้วยการสนับสนุนจากครอบครัวและการเอาชนะใจตัวเอง และคำถามทีเกิดขึ้นต่อจากนั้นคือ "ต่อไปเราจะไปปีนที่ไหนกันดี?"

 9

ไม่ใช่แค่ความสำเร็จในรายบุคคลเท่านั้น บริเวณ ฮอลลีวู้ด โบว์ลิ้ง อัลเลย์ ณ ย่านอีสต์ เอนด์ ที่กลาสโกว์ ซึ่งเคยเป็นแหล่งรวมตัวของเหล่านักพี้ยาและพวกขี้เมา กลับกลายเป็นสถานที่ที่เปล่งประกายจากกิจกรรมด้านการออกกำลังกายและการฝึกซ้อมที่หนักหน่วงไม่แพ้นักกีฬาอาชีพ นี่คือสิ่งที่เปลี่ยนไปอย่างมาก ภาพที่น่ารักที่สุดคือหลังจากผ่านการซ้อมที่หนักหนาแล้วพวกเขาจะมานั่งคุยกันอย่างสุภาพชน และภายในมือถือขวดโคล่าที่เย็นเจี๊ยบชื่นใจเท่านั้น  นั่นล่ะครับ ทุกชีวิตนั้นมีทางเลือกที่ดีเสมอ อยู่ดีว่าคุณเข้มแข็งพอจะเดินไปเส้นทางนั้น เหมือนกับเหล่าสมาชิก คาลตัน แอธเลติก หรือเปล่าเท่านั้นเอง

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ

อัลบั้มภาพ 9 ภาพ ของ คาลตัน แอธเลติก : ทีมฟุตบอลของคนติดยาที่ไม่ต้องการ "แชมป์" และ "กำไร"

แชร์เรื่องนี้
แชร์เรื่องนี้LineTwitterFacebook